เมื่อระบบราชการของบุคลากรทางการแพทย์ป่วย ข้อมูลจาก สธ. กรอบอัตรากำลังในปี 2565-2569 ประเทศไทยกำลังขาดบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างน้อย 62,531 คน หากเปรียบเป็นร่างกาย ก็เหมือนสุขภาพที่ย่ำแย่ขึ้นทุกวันและยังไร้ยารักษาให้หายขาด
เสียงของบุคลากรที่อยู่ในสายอาชีพนี้ ทั้งอดีตแพทย์โรงพยาบาลรัฐและอดีตพยาบาลวิชาชีพ ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนแรงกาย-ใจในระบบนี้ต่อไปได้ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า
ทางออกของบุคลากรทางการแพทย์ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อคนในอยากออกและคนนอกยังมีอัตราที่จะเข้ามาน้อยลง
คนป่วยไปหาหมอ หมอป่วยไปหาใคร?
ถึงจะผ่านพ้นมาไม่นาน แต่มายาคติของหมอผู้เสียสละได้สลักลึกลงไปท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลายคนแทบไม่รู้ว่า เทวดา-นางฟ้าชุดขาวเหล่านี้ ถูกนับให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีชั่วโมงการทำงานมากเกือบที่สุดในโลก
นพ.ศุภณัฐ โสภณอุดมสิน อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือมายาคติเหล่านี้ไม่ได้แต่เชิดชูหมอ-พยาบาลแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ในขณะที่ค่าแรงของพวกเขากลับอยู่ขั้วตรงข้ามกับเนื้อหางานที่ได้รับ
“เป็นหมอ-พยาบาล ต้องห้ามเก่ง ถ้าเก่งจะต้องทำงานหลายอย่าง อย่างเราอยู่อายุรเวช ถ้าเขาเห็นว่าเราทำงานเร็ว ทำงานขยัน เขาให้ไปจับแผนกอื่น ๆ เพิ่มเลยนะ มันไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจ แต่งานที่มีในมือกับสัดส่วนของบุคลากรในโรงพยาบาลมันต่างกันอยู่แล้ว และการโอเวอร์โหลดงานที่มากขึ้น มันส่งผลกระทบต่อหมอ ทั้งด้านจิตใจและด้านร่างกายมาก ๆ” นพ.ศุภณัฐกล่าวต่อว่า นอกเหนือจากนี้บางครั้ง มีเพื่อนบางคนที่ประจำอยู่แพทย์เฉพาะทางกลับต้องมารับหน้าที่ข้ามสายที่ตนถนัด นั้นถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดต่อคนไข้
บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีอัตราชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ราว ๆ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานในสายงานนี้ตามสากลจะอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นพ.ศุภณัฐ ให้ความคิดเห็นว่า ชั่วโมงการทำงานที่มากนั้นว่าเป็นปัญหาแล้ว แต่ค่าแรงที่ได้กลับมา ในมุมมองของตนรวมถึงเพื่อนรวมอาชีพอีกจำนวนมากมองว่า ไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ต้องแลก
“อย่างหมอก็จะตกอยู่ที่ 280 บาทต่อวัน พยาบาลก็จะลดลงมาเหลือ 220 บาทต่อวัน ผู้ช่วยพยาบาลหรือตำแหน่งอื่น ๆ ก็จะลดลงมาอีก บางครั้งคนนอกมองเข้ามาว่าชั่วโมงการทำงานที่เยอะมันก็ต้องได้โอทีมากสิ แต่เอาเข้าจริง ค่าโอทีชั่วโมงละ 30-60 บาท มันแทบจะไม่ครอบคลุมภาระที่เรามีอยู่เลย”
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามักจะเห็นข้อพิพาท ทั้งที่ปรากฎเป็นคลิปวิดีโอหรือกระทั่งข้อความ บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีท่าทีที่ไม่ดีต่อคนไข้หรือประชาชนที่เข้ารับการรักษา นพ.ศุภณัฐกล่าวว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากภาระงานที่เยอะ จนบางทีตกหล่นในด้านการควบคุมอารมณ์ไปบ้าง รวมถึงความกดดันที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย-จิตใจ
และด้วยระบบราชการที่ฝังแน่น การเติบโตของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีตำแหน่งที่ไต่เต้าเหมือนราชการส่วนอื่น แต่จะเพิ่มด้วยฐานเงินเดือนและอายุงาน แน่นอนว่ามีเรื่องของระบบอาวุโสเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ตัดใจและออกไปหาโรงพยาบาลเอกชน
“ที่เราเคยเจอมาก็มีทั้งการไม่ทำงานของหมอคนเก่า ๆ เขาก็นั่งเฉย ๆ แล้วก็กลับบ้าน ที่หนักเลยคือตอนเราเข้าไปใหม่ ๆ เราเคยรวมตัวกันฟ้องร้องแพทย์อาวุโสคนหนึ่งในเรื่องของการลวนลามทางเพศ ทั้งเพื่อนเรารวมถึงรุ่นน้องที่มาฝึกงาน แต่สุดท้ายระบบมันไม่ตรวจสอบหมอคนนี้ มีผู้หญิงหลายคนที่เขาต้องทนกับความเจ็บปวดนี้ ทั้ง ๆ ที่คนกระทำเรียกตัวเองว่าหมอ”
ภาวะหมดไฟ ที่กำลังลุกลามบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ นพ.ศุภณัฐ และบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายคนเลือกที่จะออกจากโรงพยาบาลรัฐรวมถึงเปลี่ยนเส้นทางนี้ไป นี่อาจเป็นสัญญานเตือนถึงความถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นต้องมีบุคลากรเหล่านี้เป็นคนขับเคลื่อน
งบ-บุคลากรมีน้อย กรุณาใช้สอยอย่างประหยัด
ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐจะหันหน้าเข้าสู่โรงพยาบาลเอกชนกันมากขึ้น อดีตพยาบาลวิชาชีพอย่าง สุวิมล นัมคณิสรณ์ จากกลุ่ม Nurses Connect กล่าวว่าปัจจุบัน มีคนในสายงานนี้จำนวนมากเลือกที่จะไปปฏิบัติงานที่ต่างประเทศมากขึ้น
สุวิมลเล่าต่อว่า ในปัจจุบันประเทศอังกฤษมีนโยบายที่จะรับบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วโลกมาทำงานในประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองของทางอังกฤษก่อน จากภาวะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อังกฤษตระหนักถึงปัญหาของระบบสาธารณสุขของตัวเอง
ประเทศอังกฤษมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ที่ราว ๆ 300,000 คน พยาบาลประมาณ 500,000 คน ในขณะที่ของไทยมีหมออยู่ประมาณ 30,000 คน และพยาบาลอยู่ที่ 180,000 คน ในอัตราประชากรที่ใกล้เคียงกัน แต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์กลับห่างกันลิบลับ
ยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราแพทย์ต่อประชากรตามหลักสากล ที่แพทย์ 1 คนต่อประชาชน 1,500 คน ตัวเลขแพทย์ในสังกัดทั่วประเทศจะอยู่ที่ แพทย์ 1 คนต่อ ประชาชน 4,200 คน
ถึงอย่างนั้นก็มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะอยู่ต่อในประเทศ แต่ต้องการยกระดับในสายงานของตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
สุวิมลซึ่งอดีตเคยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในสายปฏิบัติงาน เล่าถึงปัญหาของการจะออกไปศึกษาต่อในสายงานนี้ ในขณะเดียวกัน ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถทำงานและศึกษาต่อไปด้วยได้ นั่นทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในสายปฏิบัติงาน ไม่สามารถที่จะเติบโตทั้งในด้านของความรู้และอัตราเงินเดือนที่มาขึ้น
นอกจากนี้ยังเล็งเห็นอีกว่า ของไทยเราเองยังเป็นสายวิชาการที่เน้นผลงานทางวิชาการอย่างการตีพิมพ์วิจัย เพื่อจะได้รับการยกระดับให้การโรงพยาบาลหรือตัวสถานศึกษา ด้วยเงื่อนไขและงบประมาณการสนับสนุนที่ไม่คุ้มค่าต่อผู้สนใจเรียนต่อ จึงทำให้สายงานนี้กลายเป็นต่อยอดได้ยาก
ไม่ใช่แค่บุคลากรน้อย และค่าแรงของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐไม่คุ้มค่ากับชั่วโมงการทำงาน งบที่จะมาจุนเจือในด้านสาธารณสุขก็น้อยเช่นกัน
ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณ 153,940 ล้านบาท นับเป็นลำดับที่ 8 ของงบราชการทั้งหมด สุวิมลกล่าวว่า เพียงแค่ตัวเลขลำดับงบที่อยู่ในช่วงกลาง ๆ ของบัญชี ชี้ชัดว่าประเทศไทยยังไม่เล็งเห็นถึงคุณค่าของระบบสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรที่อยู่ในสายงานไปจนถึงรัฐสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า
“คำว่างบน้อยมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ว่า ไม่มีเงินจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ แต่มันรวมไปถึงตัวยาที่จะจ่ายให้กับประชาชน ตัวยาบางตัวของเราคือต่างประเทศเขาไม่ใช้กันแล้ว แต่เรายังต้องจ่ายยาแบบนี้ให้กับคนไข้อยู่ แค่เพราะว่ามันถูกและโรงพยาบาลที่ได้รับงบอันน้อยนิดนี้สามารถจ่ายไหว”
ที่สำคัญ งบประมาณเหล่านั้นไม่ถูกทำให้โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน สุวิมลกล่าวว่าปัญหานี้เป็นตั้งแต่กระทรวงไปจนถึงหน่วยโรงพยาบาล ในเมื่องบประมาณที่ได้มาอาจมีจำนวนจำกัด แล้วทำไมเราถึงไม่สามารถลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายได้ เราเสียเงินจำนวนมากไปกับกิจกรรมที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้กันมาตลอด
สุวิมลกล่าวถึงกระแสการช่วยเหลือโรงพยาบาลต่างจังหวัดด้วยกิจกรรมการกุศล เธอเองมองว่า มันไม่สำคัญที่เมื่อโรงพยาบาลนั้น ๆ ได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปแล้วจะยกระดับคุณภาพสุขภาพของประชาชนได้ดีขนาดนั้น การกระจายงบด้วยตัวยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและบุคลากรที่มีจำนวนและคุณภาพมากขึ้น นั่นถึงจะทำให้เราเข้าใกล้กับระบบสุขภาพที่ดีต่างหาก
รับยาช่องถัดไป เงื่อนไขสู่ระบบสาธารณสุขที่ดี
ถึงปัจจุบันทั้ง นพ.ศุภณัฐและสุวิมล จะเลือกเดินออกมาจากปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขา แต่ทั้งคู่ยังคงมองเห็นและอยากให้ทุก ๆ คนที่มีชื่อนำหน้าว่า ประชาชน ได้รับการดูแลและการเข้าถึงที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
“มันเป็นความเหลื่อมล้ำแบบซ้อนทับกันหลายชั้นมาก ๆ ที่ใครสักคนจะเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดีได้ต้องแลกมาด้วยเม็ดเงิน อย่างนี้แล้วคนจนก็ต้องรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างเดียวหรือ ไม่สามารถเข้าถึงตัวยา การผ่าตัด การรักษาอื่น ๆ ที่มีคุณภาพได้เลยหรือ” นพ.ศุภณัฐกล่าว
สุวิมลให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ พรบ.ข้าราชการพลเรือน ซึ่งส่วนนี้เอง เป็นส่วนสำคัญที่เธอมองเห็นว่า เมื่อเกิดปัญหา บุคลากรทางการแพทย์ต้องยิงตรงไปที่ข้าราชการเพียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ปัญหานี้เป็นเรื่องของการกดขี่แรงงาน
“สิ่งหนึ่งที่สังคมเรายังไม่ชิน และผู้มีอำนาจกลัว คือการรวมตัวกันของแรงงาน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์เองก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่หลาย ๆ คนไม่ได้ตระหนักว่าพวกเขาก็เป็นแรงงานเหมือนกัน เพราะถ้าหากพวกเรารวมตัวกันได้จริง ๆ เราจะเป็นคนต่อรองได้เยอะ” สุวิมลกล่าว
ถึงเวลาที่ต้องดันเพดานของห้องแล็บในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศให้สูงขึ้น เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์เองที่มีน้อย แต่สุวิมลยังกล่าวอีกว่า นักศึกษาแพทย์ที่จะเข้าสู่สายงานนี้ก็ลดลงด้วยเช่นกัน
“เรื่องแรกที่อยากให้ปรับ คือการทำให้ค่าแรงมันคุ้มค่ากับเนื้องาน เราเข้าใจว่าปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์มันไม่พอ แต่คุณเลือกที่จะบีบให้พวกเขาอยู่ไม่ได้ด้วยค่าแรงที่น้อยกว่าที่ไหนบนโลก อย่าทำให้ระบบมันต้องคัดคนทำงานออกเลย เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน” นพ.ศุภณัฐกล่าว
เมื่อค่าแรงพ่วงมาพร้อมประเด็นของชั่วโมงการทำงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีการปรับชั่วโมงทำงานหรือค่าแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นจะค่อย ๆ ทำให้การปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ มีคุณภาพที่ดีขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.ศุภณัฐ ยังกล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่เขาผ่านมาคือการประเมินบุคลากรในโรงพยาบาลทั้งหมดให้เหมือนเอกชน ปัจจุบันระบบราชการในโรงพยาบาลรัฐไม่ได้เอื้อให้คนอยากทำงาน เพราะสามารถอยู่ไปเรื่อย ๆ ได้ การประเมินด้วยความโปร่งใส วัดจากผลงาน สิ่งนี้จะส่งผลดีกับทุกฝ่ายมากที่สุด
ทางด้านสุวิมล เล็งเห็นถึงการขับเคลื่อนบุคลากรทางการแพทย์ในฐานะของกลุ่มแรงงานกลุ่มหนึ่ง ลบมายาคตินางฟ้า-เทวดาชุดขาว การขับเคลื่อนระบบสุขภาพถ้วนหน้าต้องมาพร้อมสวัสดิการที่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ
“สิ่งที่เราอยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือการเลือกว่าใครควรได้รับการรักษามาตรฐานอย่างไร โดยอ้างอิงจากเงินในกระเป๋าของพวกเขา ไม่ว่าใครก็ควรได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ควรเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ และควรได้รับสวัสดิการและการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม”
ไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นปัญหาที่สุวิมลเห็นว่า เกิดปัญหาไม่ว่ายุคสมัยไหน การกระจายงบประมาณและจัดการอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เป็นขั้นพื้นฐานที่เราจะเข้าถึงระบบสุขภาพถ้วนหน้าได้ใกล้เคียงมากที่สุด
ปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขก็ยังได้งบเป็นลำดับกลาง ๆ จากกระทรวงทบวงกรมทั้งหมด เงินจำนวนแสนล้านอาจดูเป็นเงินจำนวนมาก แต่อาจไม่มากพอที่จะสร้างการเข้าถึงระบบสุขภาพที่คุณภาพให้กับประชาชนทั้งประเทศ
เพราะวันหนึ่งเราทุกคน อาจเป็นคนนั้น คนที่ต้องการการรักษาที่มีคุณภาพ ต้องการยาที่มีประสิทธิภาพ และทั้งหมดนี้อาจไม่สามารถเป็นจริงได้ หากยังไม่มี บุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ