BCG ในเวที APEC 2022 ผู้ล่าอาณานิคมทางสภาพภูมิอากาศ? - Decode
Reading Time: 4 minutes

ในวาระการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ APEC 2022 ประเทศไทยมีนโยบายสำคัญที่อยากผลักดันอย่าง BCG (Bioeconomy Circular Economy และ Green Economy) ภายใต้ท่าทีและถ้อยแถลงการณ์ที่จริงจังต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก แล้วความจริงใจที่ซ่อนอยู่ภายใต้เอกสารเหล่านี้ มากน้อยแค่ไหน

De/code ชวนจับตามองการประชุมนานาชาติ APEC 2022 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย ผ่านวงเสวนา “วิพากษ์แผนปฏิบัติการ BGC ในเวที APEC2022 เพื่อผลประโยชน์ใคร?” จัดขึ้นโดย FTA Watch และภาคี ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งแวดล้อมที่แปรปรวนและผลกระทบในรอบด้านที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ท่าทีของผู้นำทั่วโลกและอุตสาหกรรมใหญ่ ผลประโยชน์ในครั้งนี้ จะตกอยู่ที่ใคร

ในวันที่ไทย คือถังขยะโลก

“พออ่านแผนปฏิบัติการ BCG ที่ดูสวยหรู จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของชนชั้น ทั้งรัฐ เอกชน รวมถึงภาควิชาการ แต่มีอีกหลายสิ่งที่ BCG ไม่ได้พูดถึง โดยเฉพาะประชาชน” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดประเด็นตั้งคำถามต่อแผนปฏิบัติการนี้ที่ตัว C (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน

ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่าน หลังจากที่เราเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ปริมาณของขยะพลาสติกที่ เพิ่มมากขึ้น จาก 10,000 ตันต่อปี พุ่งทะยานเป็น 500,000 ตันต่อปี และในแผนปฏิบัติการ BCG กลุ่มประเทศที่ทำ FTA กับประเทศไทย หลังจากที่จีนปิดประเทศไม่รับขยะนำเข้า ส่งผลให้ไทยกลายเป็นบ่อรองรับขยะจากทั่วโลก ในแง่ของเศรษฐกิจหมุนเวียน นี่คือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนจริงหรือ?

เพ็ญโฉม เน้นจุดไปที่ CE คือการแปลงของเสียและสิ่งตกค้างที่เป็นมลพิษ ให้เป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ได้หรือเป็นประโยชน์ 

“เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่ของใหม่ที่พึ่งมาพูดกันในปีสองปี ญี่ปุ่นคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2540 กว่า ๆ และพยายามที่จะมี Hub อยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น”

เพ็ญโฉมฉายภาพให้เห็นถึงประเทศใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ไม่รับขยะนำเข้า ด้วยการพยายามกำจัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ไทยเปรียบเสมือนถังขยะโลก โดยการส่งออกขยะ ทั้งประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ระบุต่อว่า ถ้าการเจรจา BCG ในครั้งนี้สำเร็จ ประเทศไทยเองที่จะเป็นคนเปิดรับขยะจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่า การรับขยะเหล่านี้เข้ามา ตามมาซึ่งมลพิษที่จะเกิดกับประชาชนบริเวณใกล้เคียง รวมถึงโรงขยะไฟฟ้า ที่จะนำขยะแปลงเป็นพลังงาน ซึ่งจะสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมไปทั่วประเทศ

“จากแผนภาพสำรวจของ Interpol ไม่ว่าจากซีกยุโรปเองหรือจากซีกอเมริกา ต่างเบนเข็มมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น ขยะพลาสติกนำเข้าในบ้านเราที่พุ่งไปถึง 500,000 ตัน เป็นไปได้ยังไง รวมถึงโรงงานกำจัดขยะในประเทศจีน ที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็กำลังจะเข้ามาตั้งในประเทศไทยมากขึ้น”

ในปี 2553 ถึง 2563 โรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกระจุกรวมตัวอยู่ที่ปริมณฑลของกรุงเทพและในบริเวณ AEC

“ปัญหาที่ไม่พูดถึงเลยคือปัญหาของโรงงานรีไซเคิลพลาสติก โรงงานเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก” เพ็ญโฉมได้ยกตัวอย่างของการสร้างโรงงานรีไซเคิล ต่อชาวบ้านตำบลธาตุทอง จังหวัดชลบุรี ในเขตปลอดอากร ซึ่งไม่ต้องทำตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด การเข้าไปอยู่ในเขตปลอดอากร จะสามารถทำให้นำเข้าขยะรีไซเคิลเหล่านี้เข้ามาได้ในประเทศไทย

รวมถึงกลุ่มจังหวัดในแถบ AEC นี้ยังได้รับผลกระทบจากลักลอบนำของเสียเข้าไปทิ้งจำนวนมาก ทั้งน้ำเสีย ขยะติดเชื้อ ขยะทั่วไป กลายเป็นว่า นอกจากประชาชนจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโรงงานรีไซเคิลขยะแล้ว พวกเขายังต้องเป็นผู้รับกรรมจากการผลักดัน เศรษฐกิจหมุนเวียน เหล่านี้อีกด้วย

โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น โรงงานผลิตสารไดออกซิน จากการสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 44 แห่ง สารไดออกซินเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งความผิดปกติของทารก โรคมะเร็ง เป็นพิษต่อตับมนุษย์ และการหยุดชะงักของระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย. มีการแก้ประกาศกฎกระทรวงให้สามารถนำพลาสติกที่เสียหาย บุบ สามารถนำมาบรรจุอาหาร เครื่อมดื่มได้ และประกาศนี้เองก็ได้สร้างความสงสัยในวงเสวนาและประชาชนทั่วไป ว่าพลาสติกเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ได้จริงหรือ จากที่ไม่เคยนำมาใช้ได้มาก่อน

จากผลกระทบในการติดตั้งโรงงานขยะ มาจนถึงการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ นี่เป็นสิ่งที่ BCG ไม่ได้กล่าวเอาไว้ เมื่อการจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติก ที่เรารวมถึงทั่วโลกผลักดันกันมาอย่างยาวนาน หรือว่าหลังจากนี้ประเทศไทยอาจจะเจอปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่าจากระบบของขยะเหล่านี้ และประชาชนไม่ได้รับรู้กระบวนการเหล่านี้เลย

อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การยกวาระ BCG เข้าไปในการประชุม APEC ในครั้งนี้ส่อถึงเจตนา 3 เรื่องใหญ่ 

เรื่องที่หนึ่งคือการฟอกเขียว ของอุตสาหกรรมในประเทศยักษ์ใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามของความยั่งยืนระดับโลก เรื่องที่สองคือการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเหล่านี้ได้พบกับพาร์ทเนอร์เพื่อที่จะขยายธุรกิจของตัวเอง และเรื่องที่สาม คือการสร้างความชอบธรรมให้กับบริษัททำลายสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ธุรกิจเหล่านี้จะกระทำ ย้อนแย้งต่อข้อตกลง BCG

วิฑูรย์อธิบายต่อว่า แผนปฏิบัติการ BCG ถูกสอดแทรกอยู่ในคำขวัญที่ 3 ในการประชุมครั้งนี้ คือ Balance เขาได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วเนื้อในของมันคือการเอื้อให้กับทุนใหญ่ในการที่จะฟอกเขียว

วิฑูรย์ ได้ตีความหมายของคำขวัญ APEC 2022 ไว้ดังนี้

Open – ผลักดันการเปิดเสรี การค้า/ลงทุน FTAPP และอื่น ๆ ของกลุ่มธุรกิจ วิฑูรย์ได้กล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังคงดำเนินการผลักดัน CPTPP ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาคประชาชนอีกด้วย

Connect – รื้อฟื้นการเดินทางและความเชื่อมโยงหลัง COVID-19 เดินหน้าเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

Balance – อ้างความสมดุล ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ฟอกเขียวธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ในข้อนี้เอง คือสิ่งที่กล่าวอ้างถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวิฑูรย์มองว่า นอกจากจะไม่เกิดความยั่งยืนแล้วยังเร่งให้สิ่งแวดล้อมพังทลายเร็วขึ้นทุกขณะ

“ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่ได้อยู่กับเราต่อไป แต่แผนปฏิบัติการ BCG จะอยู่กับเราต่อไปถึงปี 2570 ในรายชื่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG นี้เอง ทำไมถึงมีเอกชนเข้ามาร่วม บางกลุ่มทุนมีรายชื่อของเลขาเข้ามาอยู่ด้วย มันไม่เป็นการเอื้อประโยชน์จนเกินไปหรือ” วิฑูรย์กล่าว

หัวใจสำคัญหลังจากในแง่ของเศรษฐกิจชีวภาพ(Bioeconomy) คือการปลดล็อกเสนอกฎหมาย ที่จะเป็นตัวขัดขวางต่อแนวทางของ BCG ที่ภาครัฐต้องการผลักดันจริง ได้แก่

1.เตรียมแก้กฎหมายพันธุ์พืช เพื่อประโยชน์บริษัท เร่งผูกขาดสายพันธุ์ แก้นิยามพันธุ์พืช เพื่อหลบเลี่ยงการขออนุญาต/แบ่งปัน

2.เตรียมเสนอกฎหมายให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอขึ้นมาอีกครั้ง

3.ส่งเสริมเอกชนปลูกป่าในที่ดินรัฐ 3.2 ล้านไร่ พร้อมลดภาษี/ได้คาร์บอนเครดิต

4.ปรับปรุงภาษีสรรพสามิตแอลกอฮอลล์แปรสภาพ แก้ข้อจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เอื้ออุตสาหกรรมน้ำตาล/สุรา เกษตรกรรายย่อยและประชาชนไม่อยู่ในสมการ

การปลดล็อกเสนอกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีพื้นที่ติดกับป่า ซึ่งกำลังจะถูกนำไปปลูกเป็นป่าเชิงพาณิชย์อย่าง การทำคาร์บอนเครดิต มากกว่าป่าใช้สอยที่เป็นความมั่นคงทางอาหารของพวกเขา

“ในขณะที่รัฐบอกว่า การปลูกป่าแบบไร่หมุนเวียนนั้น คือการทำลายธรรมชาติแล้วไปสนับสนุนการปลูกป่าเชิงพาณิชย์ สิ่งที่พวกคุณทำกันคือการทำลายความหลากหลายความมั่นคงทางอาหาร”

เมื่อการปลูกป่า อาจเป็นแค่การฟอกเขียว ไม่ได้เป็นการลดทอนการปล่อยปริมาณคาร์บอนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้มากขึ้น ซ้ำร้ายยังคงลดทอนความั่นคงทางอาหารของประชาชน ทำไมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงเป็นแค่ตัวเลข และเหตุใด แผน BCG คือการยิ่งขโมยทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวมมาใช้เพื่อกลุ่มทุน

เบื้องลึก เบื้องหลังกระบวนการ “ฟอกเขียว”

ในขณะที่การปลูกป่าหรือการสร้างพลังงานสะอาด เพื่อทดแทนการปล่อยของเสียของอุตสาหกรรมน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริง การซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงจำนวนตัวเลข เพราะการคำนวนเครดิตเหล่านี้ไม่เหมือนตัวเลขในธนาคาร มีปัจจัยรอบด้านที่ไม่สามารถทำให้ตัวเลขของการสร้างและทำลายนี้ชัดเจนเท่าที่ควร

“BCG เป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งในการฟอกเขียวครั้งใหญ่ของโลก” ดร.กฤษฏา บุญชัย ผู้ประสานงาน Thai Climate Justice For All ชี้ให้เห็นว่าทำไมการฟอกเขียวใน BCG คือเรื่องที่เราต้องนำมาคุยกัน เพื่อให้เห็นต้นตอของปัญหาในระบบทุนนิยมนี้

ดร.กฤษฎาเล่าถึงที่มาของคาร์บอนเครดิต เริ่มต้นจากการที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้ไม่รู้ปัญหาโลก ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของโลกอาจสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 องศา ซึ่งจะสร้างผลกระทบตั้งแต่สภาพอากาศและธรรมชาติที่แปรปรวน ตั้งแต่ ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินแห้งแล้ง อย่างที่เราเห็นจนเกือบจะเป็นเรื่องปกติ ที่ภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก จนไปถึงผลกระทบของวงจรการเกษตร ที่จะส่งผลให้อาหารการกินของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเคย

การนั้น Technocrat ต่าง ๆ จึงได้คิดวิธีที่จะให้บริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการใช้กลไกทางการตลาดของผู้บริโภคมากำหนด หากสินค้าใดมีป้ายกำกับหรือโฆษณาว่าลดโลกร้อน คนซื้อจะยินยอมที่จะควักกระเป๋ามากยิ่งขึ้น รวมถึงกดดันนักการเมืองและรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศฝั่งยุโรป ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

จากแนวคิดมาสู่มาตรการ ที่จะให้บริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก อย่าง อุตสาหกรรมภาคพลังงานและอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ จึงได้เกิดเป็นคาร์บอนเครดิต ที่จะให้อุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ รับผิดชอบในส่วนของคาร์บอนที่ตัวเองปล่อยไปในแต่ละปี

คาร์บอนเครดิต จึงมุ่งเน้นในที่เรื่องของตัวเลข มากกว่าที่จะมารับผิดชอบต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมของกลุ่มทุนต่าง ๆ

ดร.กฤษฎา ระบุว่า การฟอกเขียวเหล่านี้คือการสร้างความชอบธรรมในการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการจัดการของเสียที่ตนเองปล่อยมามากนัก เรื่องนี้จึงมีนัยสำคัญ ถ้าหากการตกลงครั้งนี้สำเร็จ อาจเกิดผลกระทบในการไม่รับผิดชอบอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

การกำหนดสิทธิในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเกิดขึ้น กำหนดว่าโควต้าใครปล่อยเท่าไหร่ หากปล่อยเกินโควต้าต้องลดลง การที่ลดได้หมายถึงลดใช้สิทธิทำให้โลกร้อนซึ่งมีต้นทุนพอสมควร แต่สามารถได้ประโยชน์ชดเชยด้วยการขายสิทธินั้นให้กับคนอื่น กลายเป็นว่าผู้ก่อมลพิษไม่ได้จ่ายเพื่อแก้มลพิษของตัวเอง แต่ผู้ก่อมลพิษกลับได้เงินจากการขายสิทธินั้นให้กับผู้ก่อมลพิษคนต่อไป

การปลูกป่าในรูปแบบของการสร้างพื้นที่สีเขียวในคาร์บอนเครดิต คือการที่เอกชนไปเสนอรัฐ ในการที่จะลงทุนกับการปลูกป่าเพื่อที่จะได้คาร์บอนเครดิตมา ซึ่งองค์กรที่ควบคุมและสนับสนุนเรื่องคาร์บอนเครดิตในบ้านเราคือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

พื้นที่ป่าเหล่านั้น ส่วนมากมักจะเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ที่เอกชนมาร่วมลงทุนกับชุมชน ต้องเป็นการลงทุนใหม่ไม่เกิน 3 ปี และปลูกป่าระยะยาวไม่เกิน 10 ปี

ถ้าหากมองการปลูกป่าระยะยาวภายในช่วงเวลา 10 ปี มีแต่พืชเชิงเดี่ยวเท่านั้นที่โตพอจะวัดผลต่อการดูดซับคาร์บอนที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ผลิตออกมาได้ “ซึ่งที่เขาปลูกกันเป็นส่วนใหญ่เพื่อที่จะให้มันโตเร็วคือพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งป่าเชิงเดี่ยว ก็จะไปทำลายหน้าดิน ท้ายที่สุด พื้นที่นั้นก็ต้องกลับมาฟื้นฟูกันอีก”

ปัญหาที่ตามมาคือผลประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตที่ชาวบ้านพึงจะได้รับ กลับน้อยกว่าที่เอกชนได้ สิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนถูกลดลง และกลายเป็น ลูกจ้างปลูกป่า แทน

“เมื่อทุกกลุ่มทุนอ้างว่าคาร์บอนเป็นกลางแล้ว สังคมก็จะลืมถามถึงมลภาวะที่พวกเขาได้ปล่อยไปและยังคงสร้างอยู่ จากการผลกระทบทั้งหมดทั้งมวลมันจะส่งผลถึงประชาชนที่ต้องเป็นคนรับชะตากรรมและจบด้วยรูปแบบเดิม ๆ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความยากจน”

“และในอนาคตกลุ่มทุนเหล่านี้ จะกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสีเขียว ทั้งโซล่าร์ รถไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชีวมวล ผ่านเวทีระดับใหญ่เช่นนี้ พวกเขาจะได้ทั้งหมดนี้ไปจากการที่พวกเขากล่าวว่า คาร์บอนเป็นกลาง เพราะพวกเขาเนื้อตัวเป็นสีเขียวแล้ว” ดร.กฤษฎากล่าว

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า หากเราต้องการลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 (จาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าลดลงเป็น 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เราจะต้องจํากัดเพดาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เพิ่มสูงสุดภายในปี 2568 (ไม่เกิน 368 ล้านตัน) และต้องลดลงหลังจากนั้น (เหลือ 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573) 

ตามแผนภายใต้ฉากทัศน์นี้ประกอบด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงาน การเพาะปลูกข้าวที่ปล่อยมีเทนตํ่า การส่งเสริมก๊าซชีวภาพจากมููลสัตว์ ไปจนถึงนโยบาย 30@30 (30%ของยานยนต์เป็น zero emission vehicles) การทยอยปลดระวางยานยนต์สันดาปภายใน เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคการขนส่ง การใช้แบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานหมุุนเวียน โดยคาดหวังว่าทั้งหมดนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้รวมกัน 222 ล้านตัน

พร้อมตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า “การซื้อคาร์บอนเครดิตเหล่านี้ เข้าข่ายการล่าอาณานิคมในยุคโลกภิวัฒน์หรือไม่ การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขเพื่อมีอิทธิพลต่อประเทศใดประเทศหนึ่งโดยกลุ่มชนชั้นนำของประเทศร่ำรวย ข้ออ้างที่ว่าจะช่วยหลีกเลี่ยงการพังทลายของสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นการล่าอาณานิคมทางสภาพภูมิอากาศกันแน่”

เศรษฐกิจผูกขาด ไร้เงื่อนไข

หนึ่งในคำขวัญของการประชุม APEC 2022 ครั้งนี้คือการเชื่อมต่อโลกใหม่อีกครั้งหลังจากการเผชิญหน้ากับ COVID-19 หลายปีที่ผ่านมา 

ทว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทย ประสบปัญหากับภาวะวัคซีนขาดแคลน ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงยารักษาโรค แล้วหลังจากนี้ทิศทางของการเข้าถึงยารักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมีผลจากสภาพภูมิกาศเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เรายืนอยู่ตรงไหน

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิการเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “ในเนื้อหา FTA หลายฉบับมีการพูดถึงการรัดกุมของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น ซึ่งมันหมายถึงการผูกขาดตัวยาเหล่านี้ และส่งผลต่อการซื้อยารักษาโรคเหล่านี้ในราคาที่สูง”

ในขณะที่ก่อนเราเข้าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreements on TradeRelated Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) เราสามารถผลิตยาเอง 70 % และนำเข้า 30 % แต่วันนี้ เราต้องนำเข้ายาเป็นจำนวน 70 % แต่ผลิตเองได้เพียง 30 % 

ในช่วง COVID-19 ยังแสดงให้เห็นถึงภาวะที่ประเทศร่ำรวยกว้านตุนวัคซีนเป็นจำนวนมาก โดยที่ประเทศยากจนไม่สามารถเข้าถึงยารักษาเหล่านี้ เฉลิมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งบริษัทยาข้ามชาติ พยายามเอาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาผูกขาดวัคซีน ทำให้ผู้ผลิตรายอื่น ไม่สามารถผลิตมาแข่งในตลาดเพื่อลดราคาลงได้

“แต่เวที APEC พยายามจะกล่าวถึงการลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมันย้อนแย้งกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา 2 ปี ประเทศร่ำรวยในกลุ่ม APEC เองก็เป็นตัวการที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำนี้” เฉลิมศักดิ์กล่าว

พอมองในแผนปฎิบัติการ BCG ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องภูมิปัญญาชุมชนอย่าง สมุนไพร และยุทธศาสตร์ที่ 3 ข้อ 3.3 สาขายาและวัคซีน นั้นทำให้กระบวนการพูดคุย BCG  นี้เอง ย้อนแย้งกับท่าทีของคณะเจรจา FTA ของการยอมรับเงื่อนไขสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น รวมถึงรัฐบาลไม่กล้าใช้มาตรการยืดหยุ่นในกฎหมาย เพื่อผลิตหรือนำเข้ายาในราคาที่ไม่แพง

ข้อกังวลต่อ BCG และ APEC ยังส่งผลถึงบุคลากรทางการแพทย์และความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชน ในการที่จะต้องแบกรับและได้สวัสดิการในการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่ถดถอยลงจากข้อตกลงนี้

ในการประชุม APEC 2022 ครั้งนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วม จึงสำคัญว่าทิศทางหลังจากนี้ในระดับนานาชาติ ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือกระทั่งการเข้าถึงยารักษาโรค เพราะสิ่งเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง

กระบวนการ BCG จะเป็นเพียงช่องว่างให้กลุ่มทุนเข้ามากอบโกยผลประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามจะสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวหรือแผนพัฒนาเพื่อยกระดับประเทศชาติ และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง