ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นจากการจัดการผู้เห็นต่าง (ประชาชน) ในประเทศเมียนมา อาเซียน ในฐานะความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เมื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมากำลังถูกบังคับให้เงียบหาย เกิดอะไรขึ้น และผู้นำในภูมิภาคอาเซียนกำลังทำอะไรกันอยู่
De/code ชวนอ่านเอกสารหลุดของอาเซียนเผยข้อเสนอเอาใจรัฐบาลเมียนมา เพื่อคงสภาพการณ์เดิม (status quo) เอาไว้ จาก Fortify Rights ในขณะที่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำไมผู้นำภูมิภาคถึงยังเห็นชอบต่อการคงสภาพการณ์ความรุนแรงนี้เอาไว้ และเอกสารหลุดฉบับนี้ แสดงให้เห็นถึงนิยามของอาเซียนต่อรัฐบาลทหารไว้ว่าอย่างไร
ผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ควรปฏิเสธข้อเสนอที่จะคงการมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบของรัฐบาลทหารเมียนมาในทุกการประชุมอาเซียน เว้นแต่การประชุมสุดยอดผู้นำและการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์กำลังกล่าวถึง
โดยข้อเสนอดังกล่าวปรากฏในเอกสารที่หลุดออกมา บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะพิจารณาเอกสารดังกล่าว รวมถึงร่วมกันตัดสินใจเลือกข้อเสนอแนะที่จะนำเสนอต่อบรรดาผู้นำอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดประจำปีในวันนี้ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา
“ผู้นำอาเซียนต้องเล็งเห็นความเป็นจริงว่า การมีรัฐบาลทหารเป็นต้นเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ใช่ทางออก” แพททริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว
“ความพยายามเอาอกเอาใจรัฐบาลทหารเช่นนี้ จะยิ่งส่งผลให้การก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศยืดเยื้อมากขึ้น สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนในเมียนมา และส่งผลกระทบด้านลบต่อวิกฤตในระดับภูมิภาค การมีอยู่ของรัฐบาลทหารถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่เป็นภัยคุกคามตามที่กล่าวมา”
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้รับเอกสารภายในของอาเซียนที่หลุดออกมา จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการเจรจาระหว่างรัฐภาคีอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา มีรายงานว่าสำนักงานประธานอาเซียน ซึ่งคือกัมพูชา ได้มีการจัดเตรียมเอกสารไม่ลงวันที่ขึ้น ภายหลังการประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาทั้งสิ้น 11 หัวข้อ ซึ่งในจำนวนนี้ มีเนื้อหาเรื่องการประเมินภาพรวมของสถานการณ์ในเมียนมาที่คลุมเครือ (เช่นข้อความว่า “ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธทุกฝ่ายถือเป็นข้อกังวลสำคัญ”) รวมทั้งข้อสั่งการโดยทั่วไปและข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป
เอกสารดังกล่าวไม่มีการกล่าวถึงเหตุรัฐประหารของรัฐบาลเมียนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้มีนักโทษการเมืองกว่า 12,000 คน และไม่ได้ระบุถึงการโจมตีของรัฐบาลทหารต่อประชากรพลเรือนทั่วประเทศที่มี การบันทึกข้อมูลไว้อย่างดี แต่อย่างใด
พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะปฏิวัติในเมียนมา ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้ อาเซียนได้มีข้อตกลงที่จะไม่เชิญตัวแทนของรัฐบาลทหารเมียนมามาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยทางอาเซียนยอมรับให้มีผู้เข้าร่วมเฉพาะที่เป็นตัวแทนจากเมียนมา “ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ในประเด็นนี้ เอกสารหลุดซึ่งฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้รับมายอมรับว่ายังคงมีการใช้นโยบายนี้ต่อไป อย่างไรก็ดี เอกสารนี้ชี้แจงว่า “ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีอื่น ๆ จะยังคงสภาพเดิมต่อไป” หมายความว่า จะมีการยอมให้ตัวแทนรัฐบาลทหารเข้าร่วมในการประชุมเหล่านี้
ข้อสองในเอกสารชี้แจงว่า “จะยังคงยึดมั่นต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนต่อไป” และจะขอให้สำนักเลขาธิการอาเซียน “จัดทำร่างแผนการดำเนินงาน”
ข้อแปดของเอกสาร ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใดคนหนึ่ง ได้กล่าวถึง “แนวทางการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์แบบย้อนกลับ” ซึ่งมีการขยายความในเอกสารว่าหมายถึงการที่อาเซียน “พยายามที่จะแสวงหาจุดร่วมระหว่างแนวทางคู่ขนานของฉันทามติ 5 ข้อ และโรดแมป 5 ข้อ”
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้นำเสนอ โรดแมป 5 ข้อ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อเป็นแผนที่มางัดข้อกับ ฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน ซึ่งรัฐบาลทหารให้ความเห็นชอบสามเดือนก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนมีเนื้อหาเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษของอาเซียนเพื่อประสานงานการเจรจา ให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้มีทูตพิเศษเดินทางไปเยือนเมียนมา หลังมีการรับรองแผนที่ว่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่ายได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวแทบจะทันที ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ในโรดแมป 5 ข้อของรัฐบาลทหาร มีกำหนดวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า จะจัด “การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยในระบบหลายพรรคที่เสรีและเป็นธรรม” ภายหลังการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลทหาร
นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาได้ดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างจากการปกครองของตนอย่างเป็นระบบ
ในช่วงหกเดือนแรกหลังรัฐประหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์และ Schell Center คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล ได้เผยแพร่บันทึกข้อมูลอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่กระทำโดยกองทัพและตำรวจในเมียนมา ซึ่งมีทั้งการสังหาร การคุมขัง การทรมาน การประหัตประหาร และการบังคับให้สูญหาย ในความพยายามที่จะรวบอำนาจ นับตั้งแต่ทำรัฐประการ รัฐบาลทหารได้ออกจับกุมบุคคลกว่า 16,000 คนอย่างเป็นระบบ ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมา (AAPP)
ขณะนี้ ยังคงมีผู้ถูกคุมขังอยู่กว่า 12,000 คน นักโทษการเมืองเหล่านี้ประกอบด้วยผู้นำด้านความคิด สมาชิกภาคประชาสังคม นักการเมืองที่สำคัญ ผู้ทำงานสาธารณสุข และข้าราชการ ซึ่งต่างเคยมีบทบาทในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์และ Schell Center ได้บันทึกข้อมูลการคุมขังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าว และแกนนำภาคประชาสังคม รวมถึงการคุมขังและการทำให้สูญหายของเจ้าหน้าที่ของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD) หลายคน
ตามรายงานข่าวของสื่อ จวบจนเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้สังหารสมาชิกพรรค NLD ไปเกือบ 50 คน ในจำนวนนี้ เป็น สส.อย่างน้อยสามคน และจับกุมสมาชิกพรรคอีกเกือบ 900 คนนับแต่ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม รัฐบาลทหารเมียนมาได้ยุติข้อตกลงชั่วคราวที่จะระงับการใช้โทษประหาร ซึ่งบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ และได้ประหารชีวิตนักโทษการเมืองสี่คน โดยในจำนวนนี้ มีเพียว เซยาทอ สส.พรรคเอ็นแอลดี และอู จอมินยู นักกิจกรรมอาวุโสเพื่อประชาธิปไตย หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อโก จิมมี
องค์การสหประชาชาติ รายงานว่า ตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนในเมียนมาจำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และทรัพย์สินของพลเรือนกว่า 28,000 แห่งได้ถูกทำลายลง
“แผนของรัฐบาลทหารที่จะจัดเลือกตั้งปีหน้าถือเป็นเรื่องน่าตลกโดยสิ้นเชิง และประชาคมระหว่างประเทศก็ควรมองแผนดังกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าขบขันด้วยเช่นกัน” แพททริก พงศธรกล่าว “ผู้นำอาเซียนต้องปฏิเสธแผนใด ๆ ที่จะร่วมมือกับรัฐบาลทหาร ซึ่งได้พุ่งโจมตีประชากรชาวเมียนมาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ”
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นสัญญาณความแตกแยกในอาเซียนอีกอย่างหนึ่งคือ ได้มีการนำ แถลงการณ์ประธานความยาวสองหน้า จากการประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ฉบับเดิมออกจากเว็บไซต์ของอาเซียน และแทนที่ด้วย ข้อความสามย่อหน้าที่สั้นกว่ามาก แทน ถ้อยแถลงที่ถูกดัดแปลงดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง “ปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และมีกรอบเวลาชัดเจน” เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามฉันทามติ 5 ข้ออีกต่อไป ซึ่งตรงนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาของ แถลงการณ์ประธานฉบับเดิม นอกจากนี้ ข้อความใหม่ยังไม่มีระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอย่างการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีกด้วย
ในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องล้อรับไปกับนโยบายเอาอกเอาใจเช่นนี้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน อาเซียนได้แต่งตั้งให้รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยสื่อของรัฐบาลทหารอย่าง Global New Light of Myanmar และตามรายงานขององค์กร Justice for Myanmar แม้ว่ากองทัพอากาศของรัฐบาลทหารได้กระทำการโจมตีทางอากาศต่อประชากรพลเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นการประชุมเพื่อประสานงานระหว่างกองทัพอากาศภายในภูมิภาค
อาเซียนควรยุติการมีส่วนร่วมของรัฐบาลทหารเมียนมาในทุก ๆ การประชุมของระบบอาเซียน ยกเลิก “ฉันทามติ 5 ข้อ” ต่อเมียนมาที่ประสบความล้มเหลว และกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองประชากรพลเรือนในประเทศ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้
โดยมาตรการฉุกเฉินดังกล่าว ควรครอบคลุมถึงข้อตกลงในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในเมียนมา อนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดน และข้อตกลงให้มีการประสานงานกับรัฐภาคีสหประชาชาติอื่น ๆ เพื่อปิดกั้นไม่ให้กองทัพเมียนมาเข้าถึงอาวุธ เทคโนโลยีสงครามที่ใช้งานได้ทั้งทางพลเรือนและทหาร เชื้อเพลิงอากาศยาน แหล่งเงินทุน และปฏิเสธไม่ให้กองทัพได้รับการยอมรับทางการเมือง ณ เวลานี้ อาเซียนจำเป็นต้องร่วมมืออย่างเปิดเผยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ
“รัฐบาลทหารเมียนมาได้รื้อทำลายความพยายามของอาเซียนในทุกขั้นตอนของวิกฤตครั้งนี้” แพททริก พงศธรกล่าว
ข้อมูลและภาพปกจาก Fortify Rights