ซิกข์ปัญจาบ เดินทางสู่ความเท่าเทียม - Decode
Reading Time: 4 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

พื้นที่ไร้วรรณะและปราศจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ในศาสนา

ชีวิตในอินเดียเข้าสู่เดือนที่ 4 ผมตัดสินใจออกเดินทางไปยังภูมิภาคอินเดียเหนือ รถไฟจากเมืองปูเน่ที่ผมพักอาศัย เคลื่อนออกจากชานชาลา ตลอดระยะเวลาที่โดยสารรถไฟในอินเดีย ลบคำสบประมาทถึงความล้าหลังไม่พัฒนาของรถไฟอินเดียที่เคยเห็นตามภาพ 

รถไฟอินเดียมีแอปติดตามที่แสดงผลแม่นยำ ทั้งระยะเวลาการเดินทาง 21 ชั่วโมงที่ระบุในตั๋ว รถไฟอินเดียก็ทำเวลาถึงที่หมายเมืองชัยปุระได้ตรงต่อเวลา ไม่มีคลาดเคลื่อนแม้แต่นาทีเดียว ระบบรถไฟอินเดียมีประสิทธิภาพมากกว่าเมืองไทย ในเรื่องการตรงต่อเวลาและการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้งานได้จริง

จากเมืองชัยปุระผมเดินทางเข้าสู่เมืองชานดิการ์ มะนาลีตามลำดับ ประเทศอินเดียเพียงแค่เดินทางข้ามรัฐ ความแตกต่างที่พบเจอราวกับว่าเรากำลังเดินทางข้ามประเทศ ผู้คน อาหาร สภาพแวดล้อม ภาษา เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินเทรกกิ้งที่เทือกเขาหิมาลัย ผมเดินทางย้อนกลับมาที่เมืองชานดิการ์ เมืองหลวงของรัฐปัญจาบ  เมืองนี้เป็นเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1966 โดยสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส เป็นเมืองขนาดเล็กที่สะอาด และชื่อว่ามีผังเมืองสวยงามที่สุดเมืองหนึ่งในอินเดีย มีประชากรราว 1.2 ล้านคน

จากเดิมที่ผมตั้งใจว่าจะต่อรถไปที่เมืองนิวเดลี และอัคราตามลำดับเพื่อไปชมทัชมาฮาล แต่อาเพ (Abhay Brar) ชายอินเดียผู้นับถือศาสนาซิกข์ที่อาศัยอยู่ในรัฐปัญจาบ ส่งข้อความมาผ่านแอป Counchsuffing แอปที่ผมใช้ระหว่างการเดินทางเพื่อพูดคุยกับคนในท้องถิ่นในเมืองที่ผมเดินทางไปถึง

อาเพชวนผมไปเที่ยวหมู่บ้านของเขา ตั้งอยู่ในเมืองขนาดเล็กแห่งหนึ่งในรัฐปัญจาบที่มีชื่อว่า เมืองมุกสา (Sri Muktsar Sahib) เมืองดังกล่าวอยู่ห่างจากชายแดนปากีสถาน 50 กิโลเมตร รัฐปัญจาบเป็นถิ่นกำเนิดและอยู่อาศัยของชาวซิกข์ 90% ของประชากรในรัฐปัญจาบคือชาวซิกข์

“ผู้ก่อตั้งศาสนาซิกข์เกิดในรัฐปัญจาบ แต่ถ้าดูตามแผนปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศปากีสถาน เพราะหลังจากปี ค.ศ. 1947 ที่อังกฤษคืนเอกราชให้อินเดีย อังกฤษได้ขีดเส้นแบ่งผ่าครึ่งรัฐปัญจาบ ส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในอินเดียแต่อีกส่วนหนึ่งนั้นกลายเป็นดินแดนของปากีสถาน”

อาเพยังได้อธิบายต่อว่า เหตุการณ์แบ่งแยกดินแดนครั้งนั้น ทำให้สถานที่สำคัญของศาสนาซิกข์หลายแห่งตกไปอยู่ในเขตปากีสถาน ทั้งมีชาวซิกข์บางส่วนที่ยังคงตกค้าง อาศัยอยู่ในดินแดนปากีสถานหลังการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

การแบ่งแยกดินแดนครั้งนั้นคาดว่าประมาณ 2 แสนถึง 2 ล้านคนเสียชีวิต ผู้หญิงหลายหมื่นคนถูกข่มขืนและลักพาตัว บ้านถูกปล้นและมีการเผาหมู่บ้าน มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝั่ง จากฝั่งผู้อพยพชาวซิกข์และฮินดูที่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ฝั่งประเทศอินเดีย และฝั่งชาวมุสลิมที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ปากีสถาน

โดยตามประวัติศาสตร์นั้นศาสนาซิกข์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยคุรุนานัก

(Guru Nanak) เป็นผู้ก่อตั้งศาสนา ตามประวัติชีวิตกล่าวว่าคุรุนานัก ปฏิเสธเรื่องระบบวรรณะ และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยมีคำกล่าวหนึ่งของเขาที่กล่าวว่า “ไม่มีฮินดู ไม่มีมุสลิม” 

โดยในช่วงที่กำเนิดศาสนาซิกข์นั้นก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ ในดินแดนที่คือประเทศอินเดียปัจจุบันเกิดความขัดแย้งกันระหว่างศาสนาอิสลามและฮินดู ศาสนาซิกข์จึงเปรียบเสมือนทางเลือกให้ผู้คนได้มีตัวเลือกการนับถือที่มากกว่าแค่ศาสนาอิสลาม หรือฮินดู

ข้อมูลในปี 2022 ระบุว่า มีจำนวนชาวซิกข์อาศัยอยู่ในอินเดียทั้งสิ้น 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.72% โดยเมื่อเทียบกับชาวฮินดูและชาวมุสลิม ที่มีสัดส่วนประชากร 79.8% และ 15% ตามลำดับ

ในมุมมองคนต่างชาติเช่นผมที่มาอาศัยอยู่ที่อินเดีย หลายครั้งก็ถูกความเป็นใหญ่ด้วยจำนวนผู้คนของศาสนาฮินดู บดบังการรับรู้วัฒนธรรมของผู้คนส่วนน้อยในอินเดีย ผ่านเทศกาล ผู้คน และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ผูกติดกับศาสนาฮินดู ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถทำความเข้าใจความเป็นอินเดีย ผ่านมุมมองอื่นที่ไม่ใช่ฮินดู

ครั้งนี้ผมจึงพาตัวเองเข้าไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวซิกข์ เหล่าผู้คนที่มีบุคลิกเงียบขรึม ท่าทางไม่ค่อยเป็นมิตรเมื่อแรกพบ ชาวซิกข์เป็นใคร พวกเขามีความคิดความเชื่อเป็นอย่างไร?

สวดถึงพระเจ้า ทำงานให้หนัก แบ่งปันผู้คน 

ผมเดินทางจากเมืองชานดิการ์เมืองหลวงของรัฐปัญจาบ โดยรถบัสใช้เวลา 4 ชั่วโมงมาถึงเมืองมุกสา อาเพยืนรอรับผมอยู่ที่ท่ารถบัส ทั่วทั้งเมืองล้วนเต็มไปด้วยชาวซิกข์ อาเพขับรถจากตัวเมืองไปสู่บ้านของเขา สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนา แทบไม่มีการเพาะปลูกอย่างอื่นให้ได้เห็น รัฐปัญจาบเป็นอีกหนึ่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์ 

อาเพเล่าให้ฟังว่าผลผลิตข้าวของรัฐปัญจาบ รัฐบาลอินเดียจะเป็นคนรับซื้อไว้ จึงไม่แปลกใจว่าตลอดสองข้างทางตามหมู่บ้าน เราจะเห็นแต่บ้านหลังใหญ่ ๆ เพราะผลผลิตทางการเกษตรขายได้ราคาดี ลบภาพหมู่บ้านในชนบทต้องยากจน

กล่าวได้ว่าชาวซิกข์เป็นกลุ่มคนที่ล้วนมั่งคั่ง มีฐานะ ปัจจัยหนึ่งเพราะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ แต่อีกปัจจัยหนึ่งอาเพกล่าวว่า เพราะชาวซิกข์นับตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของเขา ล้วนออกเดินทางไปสร้างฐานะที่ประเทศแคนาดา ทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมถึงที่ไทยเองก็มีชาวซิกข์ถึง 70,000 คน

“ชาวซิกข์โดยส่วนใหญ่ จะเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะรายได้และคุณภาพชีวิตดีกว่าการอยู่ที่อินเดีย พวกเขาจะเริ่มจากการทำงานรับจ้างทั่วไป จากนั้นจึงค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป จนมีธุรกิจของตัวเอง”

อาเพกล่าวพร้อมเล่าเรื่องราวของตัวเอง ตอนนี้เขาก็กำลังยื่นขอวีซ่าเพื่อไปประเทศโปรตุเกส หลังจากได้รับวีซ่าแล้ว เขาจะเดินทางไปทำงานที่โปรตุเกส 2 ปี เพื่อให้ได้ Permanent Resident (ผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร)  โดยหลังจากได้แล้ว เขาก็จะเปลี่ยนไปทำงานที่รายได้ดีขึ้น และเป้าหมายสุดท้ายคือการมีธุรกิจของตัวเอง

แต่การทำเช่นนี้ได้ ใช่ว่าจะมาจากน้ำพักน้ำแรงเพียงอย่างเดียว อาเพได้รับการช่วยเหลือจากญาติของเขา ที่ตอนนี้ลงหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศโปรตุเกสแล้ว โดยญาติของอาเพได้ช่วยเขาตั้งแต่การหางานทำ ที่พักอาศัยและเงินทุน สิ่งนี้สะท้อนหลักคำสอน 3 สิ่ง ที่ชาวซิกข์ใช้เป็นหลักในการดำเนินรอยตามศาสดา

1.Nam japna ชาวซิกข์ต้องระลึกถึงพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา โดยพระเจ้าสำหรับชาวซิกข์นั้นหมายถึงผู้สร้างทุกสิ่งในจักรวาลขึ้นมา

2.Kirt Karna การประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ โดยอาเพกล่าวเสริมว่าข้อนี้หมายรวมถึงต้องทำงานให้หนักด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถธำรงรักษาศาสนาได้ ก็ต่อเมื่อท้องได้กินอิ่มและมีทรัพยากรเพียงพอในการดำรงชีวิต

3.Vand Chhakna คือการแบ่งปันและช่วยเหลือปกป้องผู้อื่น โดยเฉพาะการปกป้องชุมชนและผู้คนที่อ่อนแอกว่าตนเอง  โดยหลักคำสอนดังกล่าว ยังส่งผลให้เกิดอีกหนึ่งค่านิยมให้กับชาวซิกข์เรื่องการเป็นทหารให้กับกองทัพอินเดีย  

ก่อนที่ผมจะเดินทางมาถึงเมืองมุกสา แมนดี้เพื่อนชาวฮินดูที่เจอกันที่เมืองชานดิการ์กล่าวว่า ชาวซิกข์เป็นกลุ่มคนที่มักได้รับการยกย่องในอินเดียว่ามีความกล้าหาญ โดยเขายกเรื่องราว Battle of Saragarhi หนึ่งในเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอินเดียมาเล่าให้ผมฟัง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1897 ในระหว่างที่จักรวรรดิอังกฤษปกครองอินเดีย โดยในพื้นที่เขตชายแดนยังคงมีการต่อต้านของชนเผ่าพื้นเมือง โดยชาวอัฟกันต้องการยึดพื้นที่ของพวกเขากลับมา

ชาวอัฟกันประมาณ 10,000 – 12,000 คน ยกทัพมาถึงเมือง Saragarhi ที่มีทหารอินเดียสังกัดจักรวรรดิอังกฤษ ทั้งหมด 21 คนเป็นชาวซิกข์  พวกเขาเลือกที่จะไม่หลบหนีทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้ แต่ตัดสินใจต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูยึดป้อมปราการได้ ทหารอัฟกันบอกให้พวกเขายอมจำนน แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งในที่สุดทหารอัฟกันก็สามารถพังประตูเข้าไป ผลสุดท้ายทหารชาวซิกข์ทั้ง 21 คนเสียชีวิต ในขณะที่ทหารอัฟกันเสียชีวิตทั้งหมดโดยประมาณ 450 คน 

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ Kesari ที่โด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วอินเดีย

เมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้าน Kauni อาเพพาผมเดินไปตามทางในหมู่บ้าน จนไปถึงบ้านของมายันดะ ทหารอินเดียเพื่อนของอาเพ ภายในบ้านของเขา ผมสะดุดตาเข้ากับรูปถ่ายของมายันดะในชุดทหารพร้อมพ่อแม่ ภรรยาและลูกน้อยของเขา การเป็นทหารคือความภาคภูมิใจของครอบครัว ทั้งมายันดะยังบอกว่า อาชีพทหารเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีสวัสดิการที่ดี ในอินเดียไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่ใช้การสมัครรับคัดเลือก และการจะผ่านเกณฑ์ได้บรรจุเป็นทหารในอินเดียนั้นการแข่งขันค่อนข้างสูง หลายครั้งผมมักจะเห็นทหารในอินเดียโพกหัวและมีหนวดเครายาวเฟื้อย เป็นสัญลักษณ์ว่าทหารเหล่านั้นคือชาวซิกข์

ชาวซิกข์มีความเชื่อเรื่องการไม่ตัดขนที่งอกขึ้นตามร่างกาย โดยจากมุมมองทางจิตวิญญาณ อาเพบอกว่า เพราะเส้นผมหรือขนเป็นส่วนสำคัญในการทำสมาธิหรือสวดบูชา ถือเป็นการเคารพต่อความสมบูรณ์แบบที่พระเจ้าสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ชาวซิกข์จะทำการมัดผมและผูกผ้าโพกหัวเพื่อไม่ให้สิ่งสำคัญเหล่านี้หายไปจากตัวเขา

“ชาวซิกข์ทำสมาธิกับพระเจ้าด้วยขนทุกเส้นของร่างกาย” อาเพกล่าว

แต่ก็มีชาวซิกข์หลายคนที่อาศัยอยู่ตามต่างประเทศ ถูกล่วงละเมิดสาเหตุจากการมัดผมที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากบุคคลอื่น  

ในปี ค.ศ. 2007 Umair Ahmed ชาวปากีสถานวัย 18 ปีบังคับตัดผมของ Harpal Vacher เด็กชายซิกข์วัย 15 ปี ในโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา 

ในปี ค.ศ. 2009 Resham Singh นักเรียนชาวซิกข์ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียถูกวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งพยายามจะถอดผ้าโพกศีรษะและตัดผมของเขา 

ในปี ค.ศ.  2010 Basant Singh เยาวชนชาวซิกข์ในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ตื่นขึ้นมาในหอพักพบว่าผมของเขาถูกตัดไป 50 ซม.

การจะเลือกรักษาเส้นผมหรือตัดเส้นผมในปัจจุบันของชาวซิกข์จึงทางเลือกส่วนบุคคล อาเพเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำการ “เกศ” (Kesh) หรือปล่อยให้เส้นผมงอกตามธรรมชาติ ในหมู่บ้าน Kauni เองก็มีร้านตัดผมไว้ให้บริการให้กับคนในชุมชน

ค่ำคืนแรกในหมู่บ้าน Kauni ผ่านพ้นไป เช้าวันที่ 2 อาเพพาผมไปดูกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นในคุรุทวารา (Gurdwara) หรือวัดของชาวซิกซ์ อาคารสีขาวรูปร่างหน้าตามีความคล้ายคลึงกับมัสยิด เมื่อก้าวเท้าเข้าไปต้องทำการล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อน ภาพแรกที่เห็นคือเสาธงสูงตระหง่าน อาเพกล่าวว่าเสาต้นนี้จะทำให้ผู้คนสามารถเห็นคุรุทวาราแต่ไกล ช่วยให้ผู้คนที่หิวโหย สามารถเดินเข้ามากินอาหารที่คุรุทวาราได้ โดยไม่แบ่งแยกว่าจะนับถือศาสนาอะไร ความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมเป็นอีกหนึ่งหลักคำสอนของศาสนาซิกข์

ไม่มีใครอยู่สูงกว่าใครในศาสนาซิกข์

อาเพเล่าให้ผมฟังว่า การกำเนิดขึ้นของศาสนาซิกข์ส่วนหนึ่งเพราะว่าคุรุนานัก ผู้ก่อตั้งศาสนาซิกข์ มองเห็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในศาสนาดั้งเดิมอย่างเช่นอิสลามหรือฮินดู มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ มีการจำกัดบทบาทหน้าที่ของเพศหญิง นำความแตกต่างเรื่องเพศมากำหนดสิ่งที่สามารถทำได้หรือไม่ได้ 

ศาสนาซิกข์กลับเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ถือว่าชายและหญิงมีความแตกต่างกันโดยเพศสภาพ แต่สิ่งนี้ไม่หมายถึงความเหนือกว่าของเพศใดเพศหนึ่ง ในศาสนาซิกข์ไม่มีตำแหน่งใดในที่สงวนไว้สำหรับผู้ชาย ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมในการสวดมนต์และทำหน้าที่ในทางศาสนาได้เฉกเช่นเพศชาย 

หลักคำสอนในคุรุครันถสาหิพ  (Guru Granth Sahib) ชาวซิกข์นับถือพระคัมภีร์นี้เป็นศาสดาของพวกเขา หลังจากการเสียชีวิตของคุรุศาสดาทั้ง 10 คนและไม่มีการแต่งตั้งคุรุศาสดาที่เป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่ให้ยึดถือหลักคำสอนของคุรุครันถสาหิพ โดยในหน้า 473 นั้นได้กล่าวไว้ว่า

“เพราะครรภ์จากผู้หญิงพวกเราจึงได้มีรูปร่างและเกิดขึ้นมา ถึงผู้หญิงที่พวกเราได้หมั้นหมายและแต่งงาน ผู้หญิงคือเพื่อนของเราและจากผู้หญิงเราถึงได้มีครอบครัว เหตุใดจึงเรียกผู้หญิงว่านางมารร้าย ผู้หญิงผู้ที่ให้กำเนิดผู้นำของโลก? ถ้าปราศจากผู้หญิงที่แห่งนี้ก็ไม่มีสิ่งใด”

อาเพพาผมเข้าไปร่วมการสวดมนต์ช่วงเช้าในคุรุทวาราร่วมกับชาวซิกข์เกือบนับร้อยคน ชายและหญิงต่างนั่งกระจัดกระจายปะปนกันไป เมื่อพวกเขาทำการสวดมนต์ในช่วงเช้าเสร็จ ทุกคนจะเดินไปรับประทานอาหารร่วมกันที่โรงอาหาร โดยถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกคนจะต้องนั่งพื้นโดยเสมอภาคกัน อาหารวันนั้นมีจาปาตี(Chapatti) ขนมปังแผ่นแบนแบบอินเดียทำจากแป้งสาลี ดาล(Dal) เมนูแกงถั่วที่ทำการต้มกับเครื่องเทศรสชาติเผ็ด ๆ เค็ม ๆ และขนมหวานคีร์ (Kheer) เมนูพุดดิ้งที่ทำมาจากข้าว นม และน้ำตาลโตนด โดยคนที่มาทำอาหารและแจกจ่ายอาหารให้กับผู้คน คือเหล่าอาสาสมัครคนในชุมชนที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา 

บทเรียนจากซิกข์ปัญจาบ

หลังจากกินข้าวที่คุรุทวารา ผมและอาเพพากันไปเดินเล่นในหมู่บ้าน สิ่งหนึ่งที่พบคือหมู่บ้านล้วนเต็มไปด้วยคนเฒ่าคนแก่ และเด็กเล็กที่เดินทางไปโรงเรียน วัยหนุ่มสาวและวัยทำงานบางส่วนยังคงอาศัย และหางานทำอยู่ในพื้นที่ใกล้บ้านหรือในเมือง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาเพกล่าวว่า พวกเขาเหล่านั้นล้วนไปตั้งหลักใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ และเป็นการไปใช้ชีวิตทำงานที่ไม่ได้ตีตั๋วกลับ คือลงหลักปักฐานได้รับสถานะพลเมืองอยู่ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

อาเพพาผมเข้าไปที่บ้านญาติคนหนึ่งของเขา บ้านขนาดใหญ่ที่คน 7-10 คน สามารถพักอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสะดวกสบาย กลับเหลือเพียงแค่ คนชราหญิงชาย 2 คน และหลานชายรุ่นราวคราวเดียวกันกับอาเพ 1 คนที่คอยดูแล โดยญาติพี่น้องคนอื่นล้วนไปใช้ชีวิตกันอยู่ที่ประเทศแคนาดากันหมดแล้ว อาเพเล่าให้ฟังว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตัวหลานชายเองก็จะเดินทางไปแต่งงานกับแฟนสาวที่แคนาดา ส่วนคนชรา 2 คน ทางญาติที่แคนาดาก็กำลังวางแผนให้เขาทั้งสองนั้น มาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่นั่น

สำหรับชาวซิกข์รวมถึงคนอินเดีย ที่อยู่ในวัย 20-30 ปีการไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในต่างแดน เป็นเหมือนเรื่องปกติที่ผมพบเห็นคนรู้จัก เพื่อนฝูง ต่างมีแผนในชีวิตไม่ต่างกัน เรียนในสาขาที่เป็นที่นิยมของตลาดแรงงาน ฝึกภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่ว ทำวีซ่า และเดินทางไปทำงานต่างแดน ถือเป็นค่านิยมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอินเดีย ณ ขณะนี้

“ถ้าได้ไปโปรตุเกสแล้วใครจะเป็นคนอยู่ดูแลพ่อแม่”

ผมถามอาเพในวันสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาเพก็จะเดินทางไปตั้งหลักชีวิตที่โปรตุเกส 

“ครอบครัวฉันชินแล้วกับการที่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เพราะตอนเรียนฉันก็พักอาศัยอยู่ต่างสถานที่กับครอบครัวมาตลอด” อาเพกล่าวให้ผมฟัง แต่ตอนนั้นกับตอนนี้ก็แตกต่างกันด้วยเงื่อนไขอายุของพ่อแม่ของเขา ที่แก่ชราลงไปทุกที

“ตั้งใจทำงาน 2 ปี ได้สถานะพลเมือง ต่อจากนั้นก็คงกลับมาเยี่ยมพ่อกับแม่ได้”

อาเพกล่าวกับผม สำหรับชาวซิกข์คงไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่เลือกชีวิตด้วยเส้นทางนี้ แต่ชาวซิกข์ ต่างออกเดินทางไกลบ้าน พวกเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ก็เชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อทางศาสนา

ชีวิตตลอด 3 วันประสบการณ์ในหมู่บ้านชาวซิกข์ ทำให้ยิ่งเข้าใจว่าอินเดียเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล และเต็มไปด้วยความหลากหลาย เป็นความหลากหลายที่มากกว่าสิ่งที่ผมเจอมาทั้งชีวิต มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการจะยอมรับและเข้าใจความหลากหลาย ที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเห็นและเป็นมาตลอดชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย 

แต่เมื่อเราเปิดใจยอมรับเข้าไปเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันด้วยความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์หรือด้วยสิ่งใด เราล้วนเชื่อมโยงกันได้ด้วยความเป็นคน บนพื้นฐานความเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ดังคำกล่าวของศาสนาซิกข์ที่กล่าวว่า 

“Accept all humans as your equals, and let them be your only sect.” 

“ยอมรับมนุษย์ทุกคนให้เท่าเทียมกัน และขอให้พวกเขาเป็นพวกเดียวกันกับคุณ”

อ้างอิงข้อมูลจาก

Findeasy

discovergurunanak

Wikipedia