การชะลอโครงการเขื่อนแม่โขงในพื้นที่ทางตอนบนของแม่น้ำโขงตอนล่าง หลังเกิดข้อกังวลถึง ผลกระทบรอบด้านจากโครงการ ทั้งธรรมาภิบาลในการบริหารทรัพยากรของประเทศ และเส้นเขตแดนอธิปไตย
แต่รัฐบาลกลับเร่งรัดตัดสินใจอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการทำสัญญา Power Purchase Agreement กับผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งถูกเปรียบเสมือนเครื่องการันตีการเดินหน้าโครงการถึง 3 โครงการด้วยกัน ทั้งเขื่อนปากแบง, เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนปากลาย
De/code ชวนฟังและอ่านใจความสำคัญของวงเสวนา เขื่อนแม่โขง, ค่าไฟ, ใครต้องการไฟฟ้า? ณ SEA-Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565
เราจำเป็นต้องมีไฟฟ้าจากเขื่อนจริงหรือ เมื่อพลังงานสะอาดเหล่านี้ อาจสร้างผลประโยชน์ในวงเล็ก แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยังเกี่ยวโยงถึงบิลค่าไฟที่ขึ้นอย่างไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง
ไฟฟ้าเกิน ‘จำเป็น’ บิลค่าไฟเกิน ‘วงเงิน’
อ.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think forward center ระบุว่า การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ Power Development Plan (PDP) จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงของระบบไฟฟ้ากับต้นทุนของค่าไฟ
แผน PDP คือแผนจัดทำประเมินปริมาณไฟฟ้าเพื่อให้มีปริมาณที่พอใช้ต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่สถานการณ์ที่เรากำลังเจอในปัจจุบัน นอกจากปริมาณไฟฟ้าจะมากเกินความต้องการจากการพยากรณ์ปริมาณไฟฟ้าของแผน PDP คือประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับค่าไฟที่เพิ่มมากขึ้น
สถิติและค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้าปี 2565 ประเทศไทยควรมีกำลังการผลิตไฟฟ้า(ความต้องการสูงสุดบวกกับกำลังการผลิตสำรอง 15%) ทั้งหมด 38,153 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปีนี้เรามีความต้องการสูงสุดจริงอยู่ที่ 33,177 เมกะวัตต์ แต่เรากลับมีการผลิตไฟฟ้าจริง 51,040 เมกะวัตต์ หรือเกือบเท่าตัวของความต้องการที่คาดการณ์ไว้
อ.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think forward center
อ.เดชรัต ได้ฉายภาพจำนวนโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 17 โรงงานที่ปิดใช้งานไปแล้ว ทว่า การปิดใช้งานเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลไฟฟ้าที่ผลิตออกมา ซึ่งนั่น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟต่อหน่วยมีราคาที่สูงขึ้น
แผน PDP 2022 ซึ่งมีการจะกำหนดใช้ตั้งแต่ปี 2565-2580 มีเป้าหมายหลักที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล ในประเด็นของการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แผนพัฒนาฉบับนี้มีข้อแตกต่างจากฉบับอื่น ๆ ตรงที่มีการบรรจุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเขื่อน คืออีกหนึ่งช่องทางในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบพลังงานน้ำ และไทยมีแผนที่จะรับซื้อพลังงานทดแทนหมุนเวียนเหล่านี้มากขึ้น
เมื่อเราพูดถึงพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด พลังงานน้ำอย่าง เขื่อน ซึ่งดูจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการไม่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง เฉกเช่นเดียวกับ พลังงานถ่าน(เหมืองถ่านหิน) ทว่า เขื่อนเองก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คน และเขื่อนต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงก็เป็นหนึ่งในนั้น
มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2580 จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงสุดอยู่ที่ 8,335 MW ทว่าเมื่อดูแผน PDP จะพบว่ารัฐบาลได้วางแผนให้ภาคอีสานมีกำลังการผลิตสำรองผ่านเขื่อนแม่โขงสูงถึง 16,302 MW หรือคิดเป็น 95% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติที่กำหนดสำรองไว้ที่ 15% เท่านั้น
ตัวเลขของปริมาณไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนในการดูแล ชัดเจนแล้วว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการผลักดันในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า มีข้อสังเกตที่น่าฉุกคิดหลายส่วน ว่าการพัฒนาและการก่อสร้างเหล่านี้ ทำเพื่อใครกันแน่?
ลมใต้ปีกบริษัทสัญชาติไทย ปัญหา(ร่วม)ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ท่ามกลางการผลักดันและการศึกษาในปัจจุบัน เขื่อน ไม่ได้ถูกพูดถึงในฐานะการกักเก็บน้ำหรือผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อม และเขื่อนเองก็เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
เมื่อเขื่อนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำ หน่วยงานที่ดูแลจัดการด้านน้ำอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) คิดเห็นอย่างไรต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการเร่งรัดสร้างเขื่อนเพื่อรับซื้อพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
“การสร้างเขื่อนนั้นไม่ได้มีเพียงจุดประสงค์เพื่อสร้างไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องการเกษตร หรือบรรเทาอุทกภัยให้กับคนในประเทศ” ฉวี วงศ์ประสิทธิพร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สนทช. กล่าวถึงความจำเป็นในการสร้างเขื่อน
ฉวี วงศ์ประสิทธิพร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สนทช.
เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประสบปัญหาที่ภัยแล้งและอุทกภัยมาตลอด ซึ่งปัจจุบันทวีหนักขึ้นด้วยผลกระทบจากสภาวะอากาศสุดขั้ว
ปัญหาในการจัดการเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศ ซึ่งเราจัดอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจะประกอบด้วย สปป.ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา หรือในชื่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Council) ซึ่งจะมีระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่า PNPCA หากพูดถึงในด้านระเบียบปฏิบัติจะพบว่า ใช้หลักการ PNPCA ต่อด้วยกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ซึ่งไม่ใช่กระบวนการตันสินใจว่าอนุญาต หรือไม่อนุญาต ให้ดำเนินการก่อสร้าง แต่เป็นกระบวนการแบ่งปันข้อมูล และร่วมกันกำหนดมาตรการในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
และเป็นส่วนสำคัญที่ฉวีอธิบายว่า เราถึงไม่สามารถยื่นมือเข้าไปจัดการได้มากนัก
“เพราะมันเป็นข้อตกลงแบบนี้ สิ่งที่เราทำได้คือประเมินข้อมูลในฐานะผู้บริการวิชาการ นอกเสียจากว่าเขาจะทำแล้วเกิดผลกระทบจนเราต้องไปฟ้องศาลโลก ซึ่งเราก็ไม่อยากให้ไปถึงตรงนั้น”
ในขณะที่เขื่อนส่วนใหญ่ เป็นการก่อสร้างโดยบริษัทเอกชน ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงอย่างนั้น PNPCA ที่เป็นการปรึกษาหารือเพื่อลดผลกระทบ แต่ในฐานะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งการสร้างเขื่อนเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบรอบด้านแน่นอน ประเทศไทยเรามีอำนาจในการเจรจามากน้อยแค่ไหน
“ทั้ง 3 เขื่อนที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง 3 เขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้าแล้วขายให้ใคร คำตอบก็คือขายให้ประเทศไทยนี่แหละ มันเลยกลับไปคำถามที่ว่า แล้วทำไมเราถึงไม่สามารถเจรจาเพื่อยุติผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งทางด้านปริมาณไฟฟ้าเกินความจำเป็น หรือความเสียหายต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม”
ศิริกัญญา เล่าต่อว่า ในระเบียบ PNPCA ของทุกเขื่อนสิ้นสุดก่อนที่จะมีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นเขื่อนที่สร้างผลกระทบมากที่สุดเขื่อนหนึ่งต่อผู้คนในลุ่มน้ำโขง “มันยังมี Question mark ตัวใหญ่ ว่าเราสร้างเขื่อนขึ้นมาทำไม และเป็นบริษัทสัญชาติไทยด้วย”
“ในขณะที่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของเขื่อน ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับรัฐ เท่ากับว่าคู่สัญญานี้คือเอกชนและกฟผ. ทำไมเราถึงไม่สามารถกล่าวอะไรได้มากนัก อีกทั้งยังการออกมาชี้แจ้ง ทั้งในเรื่องของ EIA หรือกระบวนการต่าง ๆ ยังปกป้องความลับของเอกชนอีกด้วย” ศิริกัญญา กล่าว
ศิริกัญญา ในฐานะของประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากเขื่อนต่อแม่น้ำโขงหลายโครงการ นอกเหนือจากรัฐและเอกชน จะต้องมีความตรงไปตรงมาต่อการก่อสร้างสิ่งกีดขวางธรรมชาตินี้ บริษัทเอกชนควรมีการหลักวางเงินประกัน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชุมชน หรือผู้อาศัยในบริเวณหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น
ศิริกัญญา ต้นสกุล ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
“ถ้าเอกชนต้องวางหลักประกัน ผ่านการประเมินผลกระทบเหล่านี้ เขาสามารถตีตัวเลขออกมาได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เองจะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น หากเกิดผลกระทบอะไร เอกชนจะต้องเป็นรับผิดชอบ การก่อสร้าง การประเมินจะชัดเจนมากขึ้นด้วย”
มีกระบวนการตรวจสอบ วิเคราะห์ผลกระทบหรือแค่พิธีกรรม
หลังจากการสู้คดีในกรณีเขื่อนไซยะบุรี การจะดำเนินการสร้างเขื่อนใด ๆ จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการ PNPCA ก่อน ทว่า ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้ง/ผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มองเห็นว่ากระบวนการนี้ แท้จริงแล้ว เป็นการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งเท่านั้น
“ถึงทุกเขื่อนจะผ่าน PNPCA แต่เราก็ยังมีคำถามว่า มันผ่านจริง ๆ ใช่ไหม โดยเฉพาะในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” จากการทำงานของเธอ ยังคงมีการคัดค้านและเสียงร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ที่ยังกังวลถึงการเปลี่ยนไปของแม่น้ำโขง ซึ่งเขื่อนที่ผ่าน ๆ มาได้สร้างผลกระทบไปแล้ว
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้ง/ผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
ส.รัตนมณีกล่าวเสริมว่า จังหวัดที่แม่น้ำโขงไหลผ่านมีอยู่ 8 จังหวัด แต่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น แท้จริงแล้วรับฟังกี่จังหวัดและมันครอบคลุมแล้วจริง ๆ หรือยังที่จะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างประชาชน ได้มีสิทธิอยู่อาศัยโดยไม่ต้องรับผลกระทบด้านลบจากการสร้างเขื่อน
รวมถึงก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามฟ้องร้องดำเนินคดีจากภาคประชาชน และได้ผลออกมาว่าประชาชนเป็นฝ่ายแพ้ เพราะค่าไฟและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อนถูกแยกเป็นคนละเรื่องกัน
ส.รัตนมณี เล่าถึงความเจ็บปวดจากคำพิพากษา เมื่อผู้มีอำนาจในประเทศนี้ยังมองไม่เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้ว ต่อการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างทุกวันนี้
“ถ้าหากการสร้างเขื่อนลาว ซึ่งเป็นประเทศบนสุดของกลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ถ้าหากประเทศอื่น ๆ ในฐานะผู้อยู่ท้ายน้ำ ต่อต้านในการสร้างเขื่อน แต่ทำไมเราถึงไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่การสร้างเขื่อน มันส่งผลกระทบต่อพื้นที่นั้น ๆ ชัดเจน”
จากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็น ประชาชนซึ่งเป็น The แบกของเรื่องนี้ มากไปกว่านั้น หากการสร้างเขื่อนทำให้เกิดร่องน้ำที่เปลี่ยนไป นี่อาจหมายถึงอธิปไตยเขตแดนของไทยที่จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ด้านครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวเสริมว่า หากเป็นในอดีตเมื่อนานมาแล้ว เขื่อนอาจจะเป็นนวัตกรรมที่ดูล้ำสมัย แต่ในปัจจุบัน ผลกระทบจากทั่วโลกก็คัดค้านการสร้างเขื่อน เช่นเดียวกับครูตี๋ที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ
“อย่างเขื่อนปากแบงที่ห่างไปจากบ้านเราแค่ 97 กิโลเมตร มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่พังจากการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว มันส่งผลกระทบความมั่นคงทางอาหารของคนแถวนั้นด้วย ชาวบ้านก็ไม่มีที่ทำกิน ต้องย้ายอพยพไปที่อื่น”
ที่สำคัญ น้ำในลุ่มน้ำโขงอาจเกิดการเอ่อล้นหรือ น้ำเท้อ ขึ้นมา ครูตี๋มองว่าประเด็นนี้คือเรื่องที่น่ากลัว เพราะอาจทำให้ร่องน้ำซึ่งเป็นสัญลักษณ์เขตแดนเปลี่ยนไป และนั่นอาจหมายถึงการเสียอธิปไตยของประเทศไทย
ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ
“พอน้ำเท้อขึ้นมา จากที่บริเวณนี้มันท่วมอยู่แล้ว มันจะหนักกว่าเดิม ทั้งท่วมที่ทำกิน ท่วมที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีทั้ง 27 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบนี้ ซึ่งทุกวันนี้พวกเขายังไม่รู้เรื่องกันเลย” ครูตี๋ กล่าว
ส.รัตนมณีตั้งคำถามต่อการกำกับภาคเอกชนของเราเองได้ จากการที่ไปลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งการลงทุนจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกหลายภาคส่วนในประเทศด้วย เธอเน้นย้ำ ว่าทำไมเราถึงจะทำไม่ได้หรือไม่ต้องการที่จะทำกันแน่
“เรามีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ขอฝากไปถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนสำหรับดูแลกิจการพลังงานทั้งหมด ซึ่งสัญญาซื้อไฟอยู่ในหน้าที่ มันมีกำกับไว้หรือเปล่า ว่าการซื้อไฟจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าประเทศไทยเราอยู่ตรงไหนในเขื่อนของแม่น้ำโขง”
จากปัญหาการแบกภาระค่าไฟที่เราไม่ได้ใช้ เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้อีกยาวไกล ในสายตาของวิทยากรที่มาร่วมพูดคุยในวงเสวนานี้ ปัญหาที่ชัดเจนตรงหน้า หลังจากนี้คงต้องมารอดูว่า ภาครัฐจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะยกให้บริษัทเอกชนกลายเป็น MVP ในสังเวียนนี้หรือประชาชนต้องกลายเป็น The แบกต่อไป ในอีก 1 สัปดาห์ 1 เดือน หรือ 1 ปี บิลค่าไฟที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ คงเป็นคำตอบให้เรา
รับชมวงเสวนาเขื่อนแม่โขง, ค่าไฟ, ใครต้องการไฟฟ้า? ที่นี่
เครดิตภาพปก AFP