“ในความคิดเราคิดว่า Gap year เป็นคำที่สวยหรูมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ให้เวลาตัวเองค้นหาตัวเองและสิ่งที่ชอบจริง ๆ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถ Gap year ด้วยเหตุผลนี้ได้จริง ๆ” วรลักษณ์ กล่าว
จากประโยคดังกล่าวที่วรลักษณ์กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เหตุใดคำว่า Gap year กลายเป็นโอกาสสำหรับทุกคน แต่กลับกลายเป็นคำที่สวยหรูและเพ้อฝันสำหรับบางคน
De/code สัมภาษณ์วรลักษณ์ คล้ายจินดา เจ้าของโพสต์ที่พูดถึงบทสนทนาระหว่างครอบครัวของเธอ ทำให้เธอ(เกือบ)ได้ gap year เพราะฐานะทางการเงินของบ้านเธอไม่มีทุนพอที่จะเรียน แต่เธอก็ฝืนที่จะตัดสินใจเรียน เนื่องจากฐานะของเธอการที่จะกลับเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องยากสำหรับฐานะทางการเงินของเธอ และ ชนชนก แก้ววัน ผู้ที่ตัดสินใจ gap year เพราะความไม่แน่ใจในคณะที่เธอจะเข้า แต่เมื่อเธอได้กลับเข้ามาสอบในรั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้ง กลับพบเจอกับเกณฑ์ที่ไม่เอื้อสำหรับ Gap year
ขั้วตรงข้ามของการค้นหาตัวเองเป็นรอง การเงินเป็นหลัก
หากเราไปดูงานวิจัยเกี่ยวกับ Gap year ของ American Gap Association ร่วมกับ Temple University พบว่า แรงจูงใจสำหรับการ Gap year ของนักศึกษาที่เลือกที่จะ Gap year คำตอบอันดับต้น ๆ คือ การได้หาประสบการณ์ชีวิตด้วยตนเอง (92%) เพื่อเดินทางและสัมผัสวัฒนธรรมอื่น (85%) และเพื่อพักจากเส้นทางการเรียนวิชาการ (82%) โดยผลลัพธ์ที่บรรลุเป้าหมายมีผลสำเร็จมากถึง 98% อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองประมาณ 96% และยังเพิ่มทักษะการสื่อสารระหว่างผู้อื่นราว 93%
นอกจากนี้ผลสำรวจจากผล GPA โดย Robert Clagett อดีตคณบดีฝ่ายธุรการที่ Middlebury College พบว่า นักศึกษาที่ตัดสินใจ Gap year มักจะทำผลงานได้ดีกว่าในวิทยาลัยโดยมี 0.1 ถึง 0.4 มีผลเชิงบวกที่คงที่ตลอดระยะเวลาสี่ปี โดยอาจจะมีผลมาจากการเรียนรู้ การพักผ่อน และการเตรียมพร้อมเข้าสู่วิทยาลัยจากการ Gap year ทำให้ความกดดันจากการก้าวเท้าเข้าสู่มหาวิทยาลัยน้อยลง อีกทั้งยังอาจมีการวางแผนเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนหรือการปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ทำให้ Gap year เป็นทางเลือกที่หลายคนควรเข้าถึงได้
แต่นั้นก็อาจจะยังเป็นเพียงแค่ฝัน เพราะ Gap year ก็จำเป็นต้องใช้เงิน โดยผลลัพธ์จากการหาประสบการณ์ การเดินทางหรือการสัมผัสวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็อาจต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลัก มักจะมีโปรแกรมสำหรับ Gap year เช่น การแลกเปลี่ยน งานจิตอาสาในต่างประเทศ เป็นต้น ที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายมากถึงหลักแสนเลยทีเดียว แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมนี้เพื่อ Gap year แต่ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าหาประสบการณ์จากการเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้ Gap year ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่หลายคนต้องจำยอมด้วยฐานะทางการเงินของตัวเอง
“ตอนแรกเราก็จะได้ Gap year เหมือนกัน เพราะฐานะทางบ้านเขาค่อนข้างมีปัญหาทางการเงิน แต่เราก็เลือกที่จะเข้าเรียนต่อ บ้านเราเป็นฐานะปานกลางเกือบน้อย เลยคิดว่าครอบครัวที่ฐานะแบบนี้ การศึกษาที่ดีก็ถือเป็นโอกาส เพื่อที่เราจะสามารถเสริมฐานะครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย ถ้าคนที่ฐานะอย่างเราพักการเรียนเอาไว้ แล้วออกมาทำงาน มันยากที่จะกลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง เมื่อไหร่ที่เราออกไปทำงานหาเงินได้ สำหรับบางครอบครัวเขาไม่ปล่อยให้คนที่หาเงินได้ออกไปเรียนหรอกค่ะ เราก็เลยคุยกับทางบ้าน ฝืนแล้วก็ทำงานเก็บเงินเพื่อเรียนต่อให้ได้” วรลักษณ์ กล่าว
กิจกรรมสำหรับการ Gap year พอแบ่งได้เป็น 4 แบบ ได้แก่ การเป็นอาสาสมัคร การท่องเที่ยวซึมซับวัฒนธรรมอื่น ๆ การหาประสบการณ์ของตัวเอง และการทำงานเพื่อหาเงินเรียนต่อ แต่สิ่งที่คนรายได้น้อยอาจไม่สามารถทำได้ คือ การซึมซับวัฒนธรรมอื่น ๆ คือ การท่องเที่ยวซึมซับวัฒนธรรมอื่น ๆ ในที่นี้อาจไม่ใช่แค่การไปต่างประเทศ แต่รวมถึงการไปต่างจังหวัดด้วย ซึ่งก็ล้วนต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำสิ่งนี้ โดยถึงแม้ว่าพวกเขาอาจจะเก็บเงินสำหรับค่าใช้จ่ายนี้ แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับเรียนต่อสำหรับพวกเขาก็สำคัญมากเช่นกัน ทำให้หลายคนเลือกที่จะละทิ้งการหาประสบการณ์หรือการค้นหาตัวเอง เพื่อที่จะนำเงินนั้นไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนอย่างที่วรลักษณ์กล่าวข้างต้น
12 ปีที่(ไม่)เจอสิ่งที่ใช่
“ระบบการศึกษาใน 12 ปีนั้นได้ให้อะไรเราบ้าง ให้โอกาสอะไรเราบ้าง นอกจากเรียนกับการบ้านที่เยอะ ถึงแม้การศึกษาในบางประเทศอาจเรียนเยอะ แต่ก็มีช่วงเวลาให้นักเรียนได้ลองเข้าชมรม ได้ลองทำงานพิเศษที่เขาอยากจะทำ
ในขณะที่ประเทศไทยเราให้ความสำคัญน้อยมากกับชมรมที่มีเพียงแค่คาบเดียวต่อสัปดาห์ และจำนวนชมรมก็ยังไม่หลากหลายเท่าที่ควร อีกทั้งกว่านักเรียนจะเลิก อย่างต่ำในตอนที่เราเรียนอยู่ก็เลิกเรียน 5 โมงเย็น กลับมาก็มีการบ้าน ทำให้ไม่มีแรงที่จะทำอะไรแล้ว จะให้เราเอาเวลาไหนไปทำสิ่งที่เราอยากทำ
จึงทำให้การ Gap year เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กไทยที่เขาจะมีเวลาได้ลองทำในสิ่งที่เขาไม่เคยได้ลองทำ ทำให้ตัดสินได้ง่ายขึ้นเวลาไปลงคณะสาขาที่ชอบจริง ๆ แต่ก็ต้องแลกมากับต้นทุนสำหรับการ Gap year และการฝ่าฟันทัศนคติของผู้ใหญ่บางคนยังสำคัญกับนักเรียนไทยอยู่”
จากที่วรลักษณ์เล่ามานั้น เธอยังต้องเจอกับความคิดของคนในครอบครัวที่ทำให้เด็กคนหนึ่งที่ต้องการหยุดพักเพื่อค้นหาตัวเอง เพื่อทดแทนเวลาที่หาไม่เจอใน 12 ปีที่เรียนในโรงเรียน แต่ผู้ใหญ่บางส่วนกลับมองว่าเป็นการเสียเวลา ทำให้เด็กบางคนต้องแบกรับหากเรียนจบมัธยมแล้วต้องเข้ามหาวิทยาลัยเลย โดยอาจไม่ได้สนใจว่า ได้เรียนคณะที่ชอบจริง ๆ หรือเปล่า หลังจากนั้นก็เรียนจบก็ต้องทำงานเลย จนสุดท้ายในชีวิตของเด็กเหล่านั้นอาจไม่ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบเลย
การกลับเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยกลายเป็นเรื่องยากสำหรับการหยุดเพื่อค้นหาตัวเอง ซึ่งชนชนก ค้นพบปัญหาจากการ Gap year ในไทยเกี่ยวกับเกณฑ์การรับสมัครของมหาวิทยาลัย โดยหลังจากที่เธอได้ Gap year เธอพบว่า คณะที่เธอต้องการจะเข้าศึกษา กลับสมัครไม่ได้เนื่องจากเธอไม่ผ่านเงื่อนไขการรับสมัคร เพราะเธอสำเร็จการศึกษาในปี 2563 แต่เกณฑ์ที่คณะกำหนดกลับเป็นปี 2564 เป็นเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจโพสต์เรื่องราวในโซเชียลมีเดียรวมทั้งส่งอีเมล์ไปสอบถามเกณฑ์สมัครกับคณะดังกล่าว ซึ่งก็หได้คำตอบว่า เรื่องคุณสมบัติในการสมัคร TCAS รอบ 3 ทางวิทยาลัย ได้เปิดรับ TCAS จำนวน 4 รอบ ซึ่งในรอบอื่น ๆ เปิดรับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษาในทุก ๆ ปี โดยที่รอบ 3 ใช้คะแนนสอบเป็นสำคัญ จึงจำเป็นต้องใช้คุณสมบัติดังกล่าว ผู้สมัครยังสามารถติดตามข่าวสารสำหรับการรับสมัครในรอบ 4
เหตุผลดังกล่าวทำให้เธอมองว่า “ไม่ยุติธรรมหรือเปล่า สำหรับการกำหนดเกณฑ์แบบนี้ ทั้งที่เราแค่หยุดไป 1 ปี เพื่อค้นหาตัวเอง แต่คณะที่ฝันไว้กลับไม่รับสมัครก็ทำให้เรารู้สึกช็อกเหมือนกัน”
ต่อมาเธอได้ตัดสินใจไปเลือกคณะอื่นแทน เพราะหากเธอไปต่อในรอบ 4 ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า เธอจะสามารถเข้าคณะนี้ที่เธอหวังได้ ทำให้เธอต้องยอมทิ้งความฝันในการเข้าคณะนี้ไปเข้าคณะอื่น ๆ ที่คล้ายกันแทน แต่ก็อาจมีบางคำถามว่า ทำไมเธอถึงไม่เช็กเกณฑ์คะแนนก่อน โดยชนชนกได้ให้เหตุผลว่า
“มีการแจ้งเกณฑ์ในช่วงที่ใกล้ ๆ รับสมัคร พอเราไปเช็กถึงได้รู้ว่าเราไม่เข้าเกณฑ์”
อยากให้ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้กำหนดเกณฑ์การรับสมัคร เปิดรับคำว่า Gap year มากขึ้น ให้เป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังอยากให้มหาวิทยาลัยแจ้งเกณฑ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะก็มีบางคนจากโพสต์ที่เธอได้เล่าเรื่องนี้ ที่ดรอปเพื่อเข้าคณะนี้ แต่กลับไม่สามารถเข้าได้เนื่องจากเกณฑ์ที่กำหนดปีการจบการศึกษา ทำให้เธอไม่รู้สึกแฟร์กับสิ่ง ๆ นี้ อีกทั้งค่านิยมผู้ใหญ่มักคิดว่า การที่เด็กจะ Gap year ก็มักจะไม่กลับมาในระบบการศึกษา แต่ในความจริงแล้วนั้นปัจจัยอาจไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเอง แต่เกิดจากกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยหรือฐานะทางการเงินที่ไม่เอื้อให้พวกเขากลับมา
หากเราเทียบกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทั้งเกณฑ์การรับสมัครที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ่อยเหมือนกับประเทศไทย เช่น ประเทศอังกฤษที่ใช้ผลคะแนน A-Level ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2494 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการปรับหลักสูตรของบางวิชาในบางปี แต่ก็ยังน้อยกว่าไทยที่มีการปรับเปลี่ยนระบบจาก Entrance ในปี 2504-2548 เปลี่ยนเป็น Admission ในปี 2549-2560 จนถึงปี 2561 ที่ใช้ระบบ TCAS และในปี 2565 TCAS ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบจาก GAT/PAT/วิชาสามัญ เปลี่ยนเป็น TGAT/TPAT/A-Level ทำให้เด็กไทยกังวลกับเกณฑ์การสอบอย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น การกลับมาเข้าสู่มหาวิทยาลัยในไทยก็มีความยากลำบากด้วยเช่นกัน อย่างกรณีที่ระเบียบมหาวิทยาลัยหลายแห่ง กำหนดให้นักศึกษาลาพักการศึกษาได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปีการศึกษา โดยที่ต้องจ่ายค่ารักษาสถานภาพนักศึกษาตั้งแต่ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถลาพักการศึกษาได้ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี ทำให้เด็กบางคนที่อยากไปค้นหาตัวเอง หรือจำเป็นต้องออกเนื่องจากไม่มีเงินทุนในการเรียน ก็อาจต้องแบกรับความลำบากในการอยู่ต่อหรือการกลับเข้ามาในมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยหากเราไปดูมหาวิทยาลัยในสหรัฐ เช่น Harvard/Stanford/University of North Carolina at Chapel Hill/Tufts University ฯลฯ และในบางมหาวิทยาลัยให้เงินสนับสนุนสำหรับ “Gap year” เช่น Tufts University มีค่าใช้จ่ายสำหรับการ Gap year ให้สำหรับนักเรียนมากถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่านั้น
จากเหตุผลที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมด ทำให้การที่เด็กไทยคนหนึ่งจะตัดสินใจ Gap year เป็นไปไม่ได้จริงสำหรับทุกคน จากงานวิจัยเกี่ยวกับการ Gap year ในสหรัฐอเมริกา โดย The American Gap Association แสดงให้เห็นว่า 61% ของคนที่ตัดสินใจ Gap year มาจากครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีสูงกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุผล เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับโปรแกรม Gap year มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 8,000-16,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่า Gap year ไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเหล่านี้ แต่โปรแกรมเหล่านี้ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับ Gap year อย่างเห็นได้ชัดทั้งประสบการณ์จากการใช้ชีวิตในที่ต่างวัฒนธรรม ทักษะการติดต่อกับผู้คน หรือแม้กระทั่งความรู้และประสบการณ์บางอย่างที่หาไม่ได้ในประเทศตัวเอง นอกจากนี้หากไม่ Gap year ในต่างประเทศ ก็อาจยังต้องมีต้นทุนในการดำรงชีวิตระหว่างวันทั้งค่ากิน ค่าเดินทาง หรือค่าพัฒนาทักษะ ทำให้การ Gap year กลายเป็นสิทธิพิเศษที่หากไม่มีต้นทุนสำหรับ Gap year มากพอ ก็อาจต้องเลิกคิดที่จะ Gap year
อ้างอิง