เมื่อการเก็บเบอร์รีป่าที่หวังได้เงินแสน อาจกลายเป็นการตีตั๋วเที่ยวเปล่า ซ้ำร้ายยังเกิดหนี้พอกจากการไปใช้แรง ทั้งในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน
De/code งัดแงะเปิดกล่องเก็บเบอร์รี เมื่อการทำงานของ คนงานเก็บเบอร์รีป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ไม่ได้รับความเป็นธรรม และปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ความเสียหายนับ 10 ปีของแรงงานเก็บเบอร์รีป่าในต่างแดน ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้มีผู้เสียหายอีกและเราจะสร้างความเป็นธรรมให้กับแรงงานพลัดถิ่นเหล่านี้อย่างไรได้บ้างในอนาคต
15 ชั่วโมง ตลอด 68 วัน
วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 กลุ่มคนงานที่เดินทางไปเก็บสตรอเบอรีฟาร์มและเก็บผลไม้ป่าในฤดูกาลเบอร์รีในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมต่อประธานกรรมาธิการการแรงงาน นายสุเทพ อู่อ้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เพื่อเยียวยาและบรรเทา พร้อมเร่งจัดการปัญหานี้ ที่มีผู้เสียหายซ้ำซ้อนหลายปี
จรรยา ยิ้มประเสิรฐ ผู้ประสานงานกลุ่ม ACT4DEM ให้ข้อมูลในฐานะที่เธอได้ติดตามและประสานงานช่วยเหลือผู้เสียหายในเรื่องนี้มาหลายปี และปีนี้ก็เป็นอีกครั้ง ที่มีผู้เสียหายจากการเก็บเบอร์รีในคราบของการค้ามนุษย์ มีผู้เสียหายจำนวนหลักหลายร้อยที่ลงนามในการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในครั้งนี้
จรรยากล่าวว่า ในบรรดากลุ่มบริษัทนายหน้าที่จัดหาคนงานในช่วงฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ (เดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคม) เหล่านี้ไม่ได้มีบริษัทไหนดีที่สุด หลายบริษัทต่างขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบคนงานเหมือนกัน แต่หนึ่งในบริษัทเหล่านั้น ที่จรรยาตั้งข้อสังเกตถึงกลไกที่ได้มาซึ่งโควต้าจำนวนคนงานและถูกฟ้องร้องมาตลอดหลายปี คือเครือข่ายของนายหน้าคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า ‘ทุเรียน’ ซึ่งบริษัทในเครือของทุเรียน ในปีนี้มีผู้มาร้องเรียนจำนวนเยอะที่สุด
ทุเรียนหรือนางสาวกัลยากร พงษ์พิศ เป็นผู้ประสานงานจัดหาคนงานไปเก็บเบอร์รี่ตามโควต้าของ 3 บริษัทได้แก่ Kristo&Kumppanit OY, Polarica OY ในประเทศสวีเดน และ Kiantama OY ในประเทศฟินแลนด์ ในปัจจุบัน ทุเรียน ถูกจับกุมในข้อหาฐานต้องสงสัยค้ามนุษย์แรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า รวมถึง CEO บริษัท Polarica OY นายจุกกา คริสโต ถูกจับกุมฐานต้องสงสัยค้ามนุษย์ โดยตำรวจกลางฟินแลนด์
จรรยาเล่าว่า กระบวนการหลอกลวงคนงานนี้ เริ่มต้นด้วยการพูดปากต่อปากของกลุ่มที่เรียกว่าหัวคิว ซึ่งจะเป็นคนชักชวนให้คนมาร่วมอบรมและไปเก็บเบอร์รีป่าด้วยกันได้ ซึ่งหัวคิวนี้เองหากหาโควต้าได้ครบ ก็จะได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแคมป์เก็บเบอร์รี ก็จะได้รับเงินเดือน แตกต่างจากสัญญาของคนงานเก็บเบอร์รีคนอื่น ๆ ที่ค่าแรงนั้นจะแปรผกผันตามปริมาณเบอร์รีที่เก็บได้ ซึ่งอัตราค่าแรงที่ทุเรียนประมาณและบอกกล่าวกับคนงานในวันอบรม อย่างต่ำคือเงินหลักแสน ชาวบ้านส่วนใหญ่หลงเชื่อและตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการต่อ ๆ มา
“แรงงานหลายคน หลังจากหลงเชื่อคำพูดของนายหน้า คือการเซ็นสัญญา มันไม่ต่างจากสัญญาเลือด ในกระบวนการนี้ผู้อบรมจำนวนหลายร้อย ต้องเซ็นสัญญาให้เสร็จภายในครึ่งวัน จากการเร่งรัดของเจ้าหน้าที่ในองค์กร รวมถึงชาวบ้านหลายส่วนหลงเชื่อและไม่ได้อ่านเอกสารให้ดีเสียก่อน จึงเซ็นเอกสารเหล่านี้ และไม่ได้รับสำเนาเอกสารสัญญาคืน” จรรยาเล่าถึงกระบวนการนายหน้า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหานี้
ซึ่งจุดนี้เป็นทั้งช่องโหว่และความเสียเปรียบของผู้เสียหาย กลายเป็นว่าผู้เสียหายเหล่านี้ไม่ต่างจาก รู้ว่าเขาหลอก แต่ก็เต็มใจให้เขาหลอก และกระบวนการหลอกลวงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับบริษัทนายหน้าในเครือข่ายของทุเรียนเพียงอย่างเดียว จากการสอบถามกับผู้เสียหายรายอื่น ก็ประสบกับรูปแบบการหลอกลวงนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ คำพูดที่เป็นเหมือนโฆษณาชวนเชื่อจากผู้ประสานงาน ยังผสมผสานด้วยการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงหักกับรายได้จากเบอร์รีที่เก็บได้ ซึ่งมีปัจจัยเสริมที่จะทำให้เก็บเบอร์รีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้ง พิษสภาวะจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ที่คนงานต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
ความหวังในเงินแสน แลกมาด้วยกับการต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ทั้งค่ากิน ค่านอน ค่าเดินทาง รวมไปถึงหลายครอบครัว ต่างกู้หนี้ยืมสินมาก่อน เพราะรู้ว่าหลังจากกลับมาแล้วจะมีเงินไปใช้แน่นอน กลายเป็นว่านอกจากไม่ได้เงิน ยังเป็นหนี้ เหนือไปกว่านั้นคือทั้งร่างกายและจิตใจต่างบอบช้ำจากการโดนใช้แรงงาน 15 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด 68 วัน ใน 1 ฤดูกาล
และด้วยคำที่ว่า ‘นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์นี้’ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำอะไรอยู่ และปัญหาของเรื่องนี้อยู่จุดไหนกันแน่
บางที่เป็นนักท่องเที่ยว บางที่เป็นแรงงาน
อธิบดีกรมการจัดหางาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญข้อสัญญาของแต่ละฝ่าย ทั้งในฝั่งผู้ประสานงาน นายจ้าง และฝั่งคนงาน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน
ถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม
“ทางฝั่งผู้ประสานงานเหล่านี้ มันเข้าใจได้ว่าเขามาทำธุรกิจ แน่นอนมันต้องหวังผลกำไร แต่บางทีเขาหวังผลกำไรมากเกินไป จนมันกลายเป็นการเบียดเบียนคนงานเหล่านี้ มันต้องตกลงกันให้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ทางฝั่งคนงานเอง จากการสอบถามของทางกรมการจัดหางาน คนเหล่านี้เป็นส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีจำนวนอยู่ประมาณ 216 คนหรือคิดเป็น เกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด เราในฐานะคนกลางของทั้ง 2 ฝั่งเราต้องมอบความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย มันเลยกลายเป็นว่าทำไมคนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้ เพราะสัญญาแต่ละที่ ไม่เหมือนกัน”
คนงานส่วนมาก ได้ตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการเก็บเบอร์รีป่าเหล่านี้ ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะผู้ประสานงานได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเวลากว่า 10 ปี ถ้าหากให้กระทรวงแรงงานหรือกรมการจัดหางานเป็นผู้ดูแลการส่งคนงานไปทำงานที่ต่างแดนเองเลย จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่
นายไพโรจน์กล่าวว่า ปัจจุบัน วิธีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีอยู่ด้วยกัน 5 วิธี
1. การไปทำงานต่างประเทศด้วยการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง โดยคนหางานติดต่อนายจ้างต่างประเทศด้วยตนเอง นายจ้างต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ
2. การไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง คนหางานติดต่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน (ตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/prd/ipd) วิธีนี้คนหางานต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานผู้จัดส่งตามกฎหมาย
3. การไปทำงานต่างประเทศโดยกรมการจัดหางานจัดส่ง กรมการจัดหางานได้จัดทำบันทึกความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล รวมทั้งมีการจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศภายใต้ระเบียบกรมการจัดหางาน เช่น ไต้หวัน มาเก๊า มาเลเซีย
ซึ่งการเดินทางด้วยวิธีกรมการจัดหางานจัดส่งนี้ คนหางานไม่ต้องเสียค่าบริการ แต่เสียเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าตรวจสอบประวัติการเข้าเมือง (กรณีประเทศมาเลเซีย) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าวีซ่าทำงาน เป็นต้น
4. การไปทำงานต่างประเทศโดยนายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ นายจ้างในประเทศไทยที่ติดต่อธุรกิจหรือไปลงทุน กลุ่มทุนต่าง ๆ ที่ไปประมูลงาน หรือรับเหมางานในต่างประเทศได้ และมีความจำเป็นต้องนำลูกจ้างของตนเองไปทำงาน ณ ประเทศที่มีธุรกิจของตนเองอยู่ สามารถขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศต่อกรมการจัดหางาน และเดินทางผ่านด่านตรวจคนหางาน
5. การไปทำงานต่างประเทศโดยนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ นายจ้างในประเทศไทยที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศ หรือมีการร่วมลงทุนกับต่างประเทศต้องการส่งลูกจ้างไปเรียนรู้ เพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาฝีมือ เพื่อกลับมาปรับปรุงการทำงานหรือกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน
ซึ่งกระทรวงแรงงานในกรณีของคนงานเก็บเบอร์รีป่าในฟินแลนด์และสวีเดน เป็นผู้อนุญาตจากฝั่งไทย โดยมีผู้ประสานงานจากบริษัทเป็นคนจัดหาคนงานไปทำงาน ในวิธีที่ 1 แต่ค่าตอบแทนนั้นแตกต่างตามสัญญาและกฎหมายของแต่ละประเทศต้นทาง
“การกำหนดรูปแบบให้กรมการจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางานจะต้องได้รับมอบหมายจากนายจ้างหรือรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ให้ดำเนินการ การให้กรมการจัดหางานเป็นผู้ประสานโดยตรงของแรงงานทั้งหมด จึงทำได้ยาก” นายไพโรจน์กล่าว
ในกรณีของคนเก็บเบอร์รีป่า ซึ่งเป็นรายได้เสริมที่จะให้คนงานได้หาเงินมาจุนเจือครอบครัวนั้น กลุ่มที่ประสบปัญหาหลัก ๆ คือกลุ่มที่ไปประเทศฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือกลุ่มที่ไปประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากการไปทำงานของกลุ่มนี้ จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายส่วน รวมถึงรายได้ที่จะได้รับ เป็นระบบ ยิ่งทำมากยิ่งได้มาก ไม่ได้มีการเซ็นสัญญารายได้ขั้นต่ำ เหมือนกับทางฝั่งประเทศสวีเดน
คนงานที่ไปทำงานในประเทศฟินแลนด์ ไปทำงานในวีซ่าท่องเที่ยวและคนงานที่ไปทำงานในประเทศสวีเดน จะมีการจ้างงานในรูปแบบระบบ ลูกจ้าง-นายจ้าง นี่จึงเป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากปัญหานี้
เพราะเหตุนี้ จึงเป็นรูปแบบที่ทางกระทรวงแรงงานและกรมการจัดหางาน ให้เหตุผลว่าไม่สามารถเข้าไปจัดการได้มากนัก เพราะต้องอิงกฎเกณฑ์ตามประเทศที่คนงานไปเก็บเบอร์รี
นั่นทำให้รูปแบบของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะแค่หน่วยงานของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดการร่วมที่ต้องจัดการของประเทศไทยและประเทศต้นทาง
เพราะคนงานทุกกลุ่ม ต้องได้รับการคุ้มครอง
แต่ละปีมีแรงงานชาวไทยเดินทางไป เก็บเบอร์รีป่าและผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาล ในฟินแลนด์และสวีเดน ราว 5,000-8,000 คน ผ่านช่องทางที่นายจ้างบริษัทผลไม้ติดต่อเอง นายหน้า และโครงการระหว่างรัฐบาล จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน คนไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ฤดูกาลปี 2563 ระหว่าง ก.ค.-ก.ย. แบ่งเป็นสวีเดน 3,200 คน และฟินแลนด์ 2,014 คน ส่งเงินกลับประเทศกว่า 618 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 นี้ มีคนงานไปประเทศสวีเดน 5,300 คน และประเทศฟินแลนด์ 3,662 คน
การไปเก็บเบอร์รีป่าแต่ละปี แต่ละบริษัทจะต้องได้รับโควต้าจากประเทศต้นทาง และได้รับการอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน จรรยากล่าวว่า ปัญหาในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่หน่วยงานของประเทศไทยที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงส่วนเดียว แต่ประเทศต้นทางจะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะเงินจากการเก็บเบอร์รีป่านี้ หมุนเวียนในประเทศต้นทางไม่ต่ำกว่า 9 หลักต่อปี
จรรยากล่าวต่อว่า เมื่อครั้งกรณี กลุ่มคนงานจากบริษัท Ber-ex เรียกร้องที่ประเทศฟินแลนด์ ก็เคยแพ้คดี จรรยากล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดจากการที่วีซ่าของแรงงานเป็นวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งไม่สามารถครอบคลุมสวัสดิการของคนงานเหล่านี้ เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนจุดด่างพร้อยของฟินแลนด์ ที่ครั้งหนึ่งคนงานที่เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม
ท้ายที่สุดการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ทั้งการประสานงานจากหลายฝ่าย ทั้งคนงาน ผู้ประสานงานชาวไทยและชาวฟินแลนด์ รวมถึงการสอบสวนของตำรวจฟินแลนด์ การสอบสวน การแฝงตัวเพื่อค้นหาข้อมูล หลักฐานที่มากพอจะยืนยันว่า คนงานเหล่านี้ถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงปฎิบัติและเชิงสัญญา ท้ายที่สุดคนงานเหล่านี้ก็ได้รับการเยียวยาและได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม
“เรื่องนี้มันควรต้องประสานกันทั้ง 2 ฝั่ง คือทางไทยเราก็ต้องกวดขัน สร้างกฎเกณฑ์และตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้นอีก มันควรมีมาตรการที่จะตรวจสอบโดยที่ไม่ใช่ว่าคุณไปลงพื้นที่พร้อมคณะต้อนรับ อย่างของกรณีฟินแลนด์ เขาส่งคนไปแอบสืบจนได้ข้อเท็จจริง การค้นหาข้อเท็จจริงว่าสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเป็นอย่างไรมันควรจะทำกันแบบนี้”
ที่สำคัญ จรรยากล่าวว่า การอุดรอยรั่วของปัญหานี้ สามารถจบได้ที่ประเทศไทยเอง “อย่างที่อธิบดีกรมคุ้มครองแรงงานได้พูดไป เรื่องนี้ปีหน้าต้องยุติ มันเป็นปัญหาที่ระบบของการจ้างงาน”
การแก้ปัญหาของระบบ จรรยาเสนอว่า ควรที่จะหยุดสัก 1 ปี เพื่อระบบมันชะงัก คล้ายกับการหยุดงานเพื่อที่จะทำให้ข้างบนนั่นเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงาน ทั้งในแง่ของสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ทางฟินแลนด์หรือประเทศต้นทางอื่น ๆ จะต้องหามาตรการที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้อีก ไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการเยียวยาย้อนหลังถึงกรณีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียหายทุกราย
ถึงเวลา ล้างคราบเลือดออกจากผลเบอร์รี
“หลังจากการฟ้องร้องในคดีค้ามนุษย์ในปี 2559 หลายฝ่ายตระหนักได้ว่าปัญหานี้เริ่มลุกลามและเริ่มให้ความสนใจกับปัญหานี้อย่างจริงจัง” จรรยากล่าว
ถึงแม้ตัวเลขของผู้เสียหายจากประเทศฟินแลนด์จะมีจำนวนเพียง 216 คนและประเทศสวีเดน มีจำนวน 185 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำการประเมินจากคนงานที่เดินทางไปทำงานเก็บเบอร์รีป่าในประเทศฟินแลนด์และสวีเดนในปี 2565 เพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จำนวน 400 กว่าคนผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประชาชนที่ต้องหาเงินจากช่วงว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยวในประเทศไทย ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่จริง และมันส่งผลกระทบต่อชีวิตของครอบครัวคนงานเหล่านี้
ปัจจุบัน หลังจากการยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม กรมการจัดหางานอยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลการร้องทุกข์ ของแรงงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2565 ที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมาตรฐาน ต่ำกว่า 30,240 บาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง และค่าใช้จ่ายขณะทำงานในฟินแลนด์ ได้แก่ ค่าเช่ารถ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของแรงงาน นายไพโรจน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีแรงงานจำนวนหนึ่งได้รับเงินเยียวยาในจำนวนดังกล่าวไปแล้ว
รวมถึงกรมการจัดหางานอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง เพื่อกำหนดมาตรการการจัดส่งแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์ในฤดูกาลปีต่อไป
โดยมาตรการในประเทศไทย ประกอบด้วย
1. การเร่งผลักดันรูปแบบการไปเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์ ให้เป็นรูปแบบนายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน
2. กำหนดสัญญาจ้างงานให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
3. การกำหนดรายจ่ายก่อนเดินทางและค่าใช้จ่ายในต่างประเทศอย่างชัดเจน
4. กำหนดมาตรการแจ้งรายชื่อผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจพาลูกจ้างไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ และมาตรการอื่น ๆ หากมีความจำเป็น เช่น โรคระบาด ภัยสงคราม
และสำหรับมาตรการในต่างประเทศ เช่น การประกันราคาขั้นต่ำของผลไม้ในฟินแลนด์ การจัดที่พักอาศัยและอาหารที่ถูกหลักสุขอนามัย และการกำหนดโควตาแรงงานที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล
ถึงแม้จะเป็นรายได้ขั้นต่ำ จากการไปทำงานระยะเวลาร่วมสามเดือนของคนงานจะอยู่ที่ 30,000 บาทโดยประมาณ แต่ทางออกที่แท้จริงคือการแก้ไขสัญญาที่ไม่มีหลักค้ำประกัน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานในรูปแบบของการค้ามนุษย์
“เราต้องมีความเข้มงวดกันมากกว่านี้ แรงงานที่ไปก็เป็นพี่น้องคนไทย เป็นคนเหมือนเราทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าไปแล้วต้องทำงานเป็นวัวเป็นควาย งานหนักควรจะมีกรอบที่ไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนพวกเขาเหล่านี้” จรรยากล่าว
จรรยาได้มีข้อเสนอซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาของคนงานเก็บเบอร์รีป่า ไว้ 3 ข้อหลัก ๆ
1. การทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย คนงานเหล่านี้พึงจะได้รับการปฎิบัติในการทำงาน ทั้งอิงหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน จรรยายกตัวอย่างการออกค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับคนงานในการไปเก็บเบอร์รี ไม่ใช่ให้คนงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายส่วน
2. หลักค้ำประกันบริษัท ทั้งในแง่ของการประกันรายได้ และหากเกิดเหตุอะไรแรงงานสามารถมาร้องเรียนได้หากไม่ได้รับความเป็นธรรม
3. การสร้างมาตรการระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทาง เม็ดเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท ที่หมุนเวียนเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศต้นทาง ปฎิเสธไม่ได้ว่าคนงานเหล่านี้คือมีส่วนในการช่วยเหลือให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า สวัสดิการ มาตราการ และการรับประกันว่าพวกเขาจะได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นเรื่องแรกที่จรรยาเห็นว่า ควรมีให้กับพวกเขา
ถึงแม้กระแสการร้องเรียนของคนงานเก็บเบอร์รีป่าในฟินแลนด์และสวีเดนในปีนี้ จะถูกพัดโหมจนเป็นที่พูดถึงของสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อย่าลืมไปว่า ฤดูกาลเก็บเบอร์รีในอีก 1 ปีที่จะมาถึง จะเกิดการแก้ไขหรือไม่ มาตรการที่จะไม่ให้แรงงานเหล่านี้ต้องเสียเปรียบ เพราะทั้งข้อเสนอของจรรยาและกรมการจัดหางาน ก็มีส่วนคล้ายกันหลายส่วน จึงเป็นหลักฐานชี้ชัดว่า เราได้เห็นและเข้าใจร่วมกันว่าปัญหาคืออะไร
แรงงานไทยเหล่านี้ ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นคนเก็บเบอร์รีป่าได้เก่ง จากทักษะอาชีพดั้งเดิมเมื่ออยู่ประเทศไทย เพราะความเก่งและทักษะเฉพาะจึงเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม ไม่ใช่หาช่องโหว่ในการเอารัดเอาเปรียบ จากฝั่งผู้ประสานงานและบริษัทต้นทาง รวมถึงหน่วยงานรัฐประเทศใดก็ตาม
ภาพปกจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน