อย่าไปหลงเชื่อว่าฟินแลนด์เป็นเมืองทอง
นรก ก็มีจริงเหมือนกัน
นี่คือสิ่งที่ ไพรสันติ จุ้มอังวะ หรือ พี่ไหว อายุ 53 ปี และ ธีรศักดิ์ ภักดีนพรัตน์ หรือ พี่ตั้ม อายุ 44 ปี และ สองแรงงานชาวไทย ยืนยันกับ De/code เมื่อพูดถึงประสบการณ์เก็บผลไม้เยี่ยงทาสในฟินแลนด์ปี 2565 และ 2556 จนเบอร์รีป่ากลายเป็นปรากฏการณ์ ‘เบอร์รีเลือด‘ จากปากคำของแรงงานไทยที่ไปด้วยความหวังว่าจะเก็บเงินในประเทศโลกที่หนึ่ง เพื่อกลับมาเลี้ยงชีพตนและครอบครัวในประเทศโลกที่สามมลายหายไปจนสิ้น เมื่อการจ้างงานไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นใต้จมูกกระทรวงแรงงาน… อีกครั้ง
หลายคนคงเคยเห็นประกาศรับสมัครแรงงานเก็บผลไม้ป่าโกยเงินแสนที่ประเทศฟินแลนด์ และสวีเดนผ่านหน้าผ่านตากันบ้าง แต่สำหรับใครที่ไม่รู้จัก เราก็ขออธิบายให้ฟังตรงนี้ว่า งานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ เป็นโควตาส่งออกแรงงานไทยสู่ยุโรปด้วยความร่วมมือของประเทศต้นทาง และกระทรวงแรงงาน ในการเปิดตลาดใหม่ให้แรงงานไทย ได้สร้างรายได้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเวลาเดียวกัน
ดังนั้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย ไม่สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนที่มีแต่จะสูงขึ้นในไทย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวทีไร งานเก็บเบอร์รีนี้ได้กระแสล้นหลามทุกครั้งที่มีการประชาสัมพันธ์ โดยคนไทยจากทั่วสารทิศต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก รวมไปถึงแรงงานทั้งสองคนที่มาเล่าประสบการณ์ให้เราฟังในวันนี้ด้วย
โดย พี่ไหว เป็นแรงงานจากภาคอีสาน ที่ประสบกับพิษเศรษฐกิจจนอ่วม หนี้สินท่วมหัวยากจะหาทางออก จากปัญหาซ้ำซากที่รัฐทิ้งไว้ในบ้านเกิด จึงได้ตัดสินใจไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์เมื่อปี 2556
“ช่วงกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นช่วงว่างงาน ตัวเฮามีหนี้มีสินเลยคิดว่าสิไปหาตังค์ไสมาใช้หนี้สิน พอดีมีคนที่เขาเคยไปเก็บผลไม้ฟินแลนด์-สวีเดน เพิ่นว่าสองเดือนก็ได้เงินมา ก็เลยสิลองไปดู” พี่ไหว กล่าว
ไพสันติ จุ้มอังวะ
ในขณะที่ พี่ตั้ม คือ แรงงานคนหนึ่งที่มองหาช่องทางการหาเลี้ยงชีพเพื่อยกระดับชีวิตของตนไม่ต่างจากใคร การย้ายถิ่นฐานชั่วคราวไปเก็บเบอร์รีป่าในหลังเกิดวิกฤตการณ์โควิดนี้ จึงเป็นเหมือนโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นชีวิตในศักราชใหม่
“เรารู้ว่าค่าเงินยูโรมันสูงกว่าบ้านเรา มีข่าวคราวว่าถ้าไปหางานทำก็จะได้เงินเยอะ ซึ่งมันก็จริง คนแถวบ้านเขาก็ไป แต่เขาไปในนามที่ญาติการันตี ไม่ได้ผ่านบริษัท เราก็คิดว่าไปกับบริษัทก็คงไม่ต่างกัน” พี่ตั้ม ว่า
ธีรศักดิ์ ภักดีนพรัตน์
แต่ในความเป็นจริง ชีวิตของแรงงานเก็บผลไม้ป่ากลับไม่ได้โปรยไปด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่เปรย
ติดลบล่วงหน้า ติดลบวนไป
พี่ตั้ม: “ค่าใช้จ่ายของเรามันเริ่มตั้งแต่ค่าสมัคร ค่าเดินทางไปอบรม ไปนู้นไปนี่ ของใช้ก็ต้องเตรียม นั่นคือค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทีนี้เราก็กู้หนี้ยืมสินบริษัทอีก ก็เป็นค่าใช้จ่าย เงินก้อนโตขึ้นมาอีก ส่วนค่าใช้จ่ายที่ฟินแลนด์ บริษัทไม่ได้แจ้งเป็นตัวเลขว่าจ่ายค่าบ้าน ค่านั่นนี่เท่าไร แต่บอกว่ามีค่าบ้าน ค่าน้ำมัน ค่าใช้รถ ซ่อมรถ พอเราไปถึงถึงเอาตัวเลขขึ้นมาโชว์ นั่นแหละ ราคามันสูงเกินไป”
พี่ไหว: “เฮาสิจ่ายค่าวันกลับก่อนในช่วงเดือนธันวาคม พอพฤศจิกายนเริ่มหาคนมา เดือนธันวาเฮาต้องจ่ายแล้วสองหมื่นบาท จ่ายช่วงเดือนมีนา ถ้าเฮาไปกะจ่ายค่าตวดโฮกพันนึง ค่าวีซ่า 3,000 บาท ช่วงเมษายนไผสิไปเงินสดกะต้องวางเงินสดให้บริษัทอีก 50,000 บาท ถ้าไผบ่มีเงินสดก็กู้ ธกส.”
ในส่วนนี้ พี่ไหวเล่าให้เราฟังว่า ทางบริษัทจะส่งใบการันตีว่าคนงานแต่ละคนไปเก็บผลไม้ประมาณ 60 วัน จะได้เงินวันละ 4,000 บาท รวมแล้วราว 200,000 บาท เมื่อหักหนี้สินแล้วจะเหลือ 130,000 บาท ดังนั้น ธกส.ต้องออกเงินกู้ให้แรงงานคนนั้น 50,000 บาท ทว่าเมื่อปัญหาผุดขึ้นมา นายจ้างเบี้ยวค่าจ้าง เชิดหายไป ธกส.กลับมากดดันแรงงานซะงั้น
“เวลามีปัญหานายจ้างบ่จ่ายเงินให้เฮา ธกส.ก็มาไล่บี้นำเฮา ทั้ง ๆ ที่ ธกส.บอกวาเซือเขา เซือวาสิได้เงินมาทอนี้แล้ว แต่วาพอมาอีหลีแล้ว ธกส.วาเฮาเป็นผู้กู้สัญญาโดยตรง 9 ปีนี่มีตั้งหลายคนจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย กู้มาห้าหมื่นหกหมื่น บางคนรวมแล้วห้าหมื่นเจ็ดพัน รวมจ่ายดอกเบี้ยต่อปีไป มันเลยเป็นซี่” พี่ไพ ว่า
ด้านพี่ตั้มก็ยังบอกกับเราอีกว่า การชี้แจงค่าใช้จ่ายที่หักแรงงานก็ไม่โปร่งใสเช่นเดียวกัน โดยทางบริษัทจะมีกราฟแท่งแนวนอนที่แสดงยอดหนี้ของแรงงานแต่ละคน โดยหากขึ้นสีแดง จะหมายถึง ไม่ปลอดภัย และหากขึ้นสีเขียว คือ หมดหนี้ ทว่าเมื่อคิดเงินออกมา คนที่ติดลบ 2,000 ยูโร กลับมีเงินเหลือ 50-100 ยูโร ในขณะที่แรงงานอีกคนนึงติดลบ 200 ยูโร แต่พอสรุปยอดกลับติดลบซ้ำซ้อนอีก
“รายละเอียด มันไม่โปร่งใส มันไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก อีกเรื่องนึง คือ เขาไม่แจ้งให้เราทราบเลยว่าเก็บผลไม้ได้เท่าไร ยอดได้เท่าไร อย่างน้อยต้องเป็นรายสัปดาห์ว่าเก็บผลไม้ได้เท่านั้น เท่านี้ เขามาแจ้งช่วงระยะสองสัปดาห์ สามสัปดาห์สุดท้าย ซึ่งเราทำอะไรไม่ทันแล้ว มันใกล้หมดฤดูกาลแล้ว” พี่ตั้ม ว่า
มหกรรมโฆษณาชวนเชื่อแห่งชาติ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้งสองตัดสินใจทำการใหญ่ และลงทุนทุ่มสุดแรงในการไขว่คว้าหาอนาคตที่ดีกว่าในต่างแดนนี้ เป็นเพราะว่าการเดินทางไปเก็บเบอร์รีป่านั้นผ่านหน่วยงานรัฐอย่าง กระทรวงแรงงาน
“เฮื่องความมั่นใจกะคือ หนึ่ง มันผ่านกระทรวงแรงงาน ละกะมั่นใจในตัวเองด้วยวาสามารถเฮ็ดงานได้ จะไปแบบใด๋ รูปแบบใด๋ ขอให้ผลไม้เก็บหรือวา… บ่นั่นกะคือสิ่งที่เฮาสามารถสิเอาได้ แต่ผู้อื่นกะยังได้ กะเลยไป คึดแบบนั่น”
พี่ไหว อธิบาย นอกจากนี้ หากพูดถึงเรื่องภาพฝันที่ปรากฏบนโฆษณาเชิญชวน กับสิ่งที่เจอในความเป็นจริงก็ยังต่างกันลิบลับเสียจนน่ากลับมาฉุกคิดอีกครั้งว่า เหตุใดสิ่งเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นใต้จมูกกระทรวงแรงงานกัน?
พี่ไหว: “เขาโฆษณามาเนอะวา ถ้าบ่มีผลไม้เก็บในจุดนี้ เขาสิย้ายแหล่ง ย้ายแคมป์ให่ ให่ไปเก็บในแคป์ใหม่ ที่อยู่กะดี เป็นที่อยู่อาศัยกะสิดีนำเนอะหนา แต่เวลาเฮาไปจริง ๆ กะคือ ไปหาผลไม้จังซี่กะแบบค่ายนี้บ่มี แต่เวลาขอย้าย เขาสิบ่ให้ย้ายม่อง เพราะวาค่ายมันเป็นเรื่องยุ่งยากที่สิย้าย เฮากะจำเป็นต้องออกไปหาผลไม้ไกล ๆ จากแคมป์ จากเคยหาร้อยกิโล กะต้องระยะสองร้อย สามร้อยโลแทนเพราะวามันย้ายแคมป์บ่ได้ตามที่เขาเคยโฆษณา”
“ที่อยู่อาศัยเฮานอนห้องน้อย ๆ ประมาณห้องเฮือนน้อยเฮา นอนหกคนเจ็ดคน กะต้องนอน และกะเฮ็ดกับเข่าในห้อง ละบางห้องกะเป็นห้องโถงแหน่ จังซี่กะนอนยี่สิบสามสิบคน นอนเรียง ๆ กันไป ห้องน้ำกะประมาณห้องหนึ่ง สองห้อง คนเยอะ ๆ กะต้องรอกัน“
พี่ตั้ม: “ของผมคล้าย ๆ โฆษณาชวนเชื่อ มากกว่า คนอื่นที่ญาติเขาการันตีไป เขาก็ได้เงินจริง แต่ทีนี้ทางบริษัทเขาก็พูดลักษณะเดียวกัน ก็คือว่า ถ้าไป ผลไม้มันเยอะ ใครไปก็เก็บได้ แต่ละปีอย่างน้อยคุณก็ได้เงินแสนกลับบ้านในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน เราก็บอกว่าเราไม่รู้จักพื้นที่ป่านะ เขาบอกว่าจะมีคนเก่าช่วยพาไป แต่จริง ๆ แล้ว เราไปมันกลับไม่มี เราเริ่มเอง หาเองใหม่ ผมก็เลยมองว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อ”
“ซึ่งพอไปแล้ว ผลไม้ที่เก็บได้มันก็น้อย พอมาเอามาชั่งก็ไม่บาลานซ์กับเงินที่เขาจะหักเราต่อวัน เราเก็บผลไม้มาได้ 30 ยูโร แต่เราต้องโดนเขาหักวันละ 28.92 ยูโร นี่คืออีกสาเหตุที่ทำให้รายได้ติดลบด้วย” พี่ตั้ม ว่า
พี่ไหว: “อีกอย่างคือเขาสิบอกเฮาวา ผลไม้ราคาสูง บอกเฮาวาสิรับซื้อทอนั่นทอนี่ โตแทนบริษัทเพิ่นบอกฮันหนา เพิ่นว่าสิซื้อโตหมากดำสิซื้อ 1.8 ยูโรซี่ โตหมากแดงสิซื้อ 1.4 ยูโร ประมาณนี้ แต่เวลาเฮาไปจริง ๆ แล้ว เขาสิเฮา 1.2 ไม่ก็ 1.3 ยูโร ละบาดนี่ในส่วนที่มันจะมีใบการันตีวา เท่านี่โล เท่านั่นโล ได้กี่พัน ๆ เขาสิเอามาอ้างเฮาน่ะ”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อ้างไว้กับความเป็นจริงก็ไม่เป็นดั่งที่คาดไว้อีกครั้ง เพราะยามยืนยันราคา ‘เบอร์รีเลือด’ เปื้อนเหงื่อ กลับไม่ตรงกับที่บริษัทการันตีไว้ ที่มาในรูปของคำกล่าวอ้างที่ว่า ราคาผลไม้ย่อมขึ้นลงตามท้องตลาดอยู่แล้ว
“แต่เวลาเฮาสิเซ็นหนังสือ มันสิมีหนังสือโตนึงที่เฮาบ่ได้เบิ่งเลย มันสิเอาออกมาอ้างวาคุณเซ็นลงไปแล้ว ว่าผลไม้สิขึ้นลงตามตลาด พอเฮาเบิ่ง เฮาวาอันนี้บ่ได้เซ็นจักเถือ แต่วาเบิ่งแล้วเป็นลายเซ็นเฮา เฮาเลยคึดว่ามันยัดไส้ตั๋วนั่น บาดนี่ใคร ๆ ก็วามันสิซื้อบาทแปดสิบซี่ สี่สิบบาท สามสิบ มันก็เฮ็ดได้ เพราะวามันเอาหนังสือนี่มาอ้าง อ้างวาเฮาเซ็นมาแล้ว วาเฮาได้รับรู้แล้ววาราคาขึ้นลงตามท้องตลาด“
แรงงานทิพย์
อีกหนึ่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับทั้งสองคือ การทำงานเกินเวลา จนการเก็บเบอร์รีป่ากลายเป็นโรงงานนรกโดยสมบูรณ์
พี่ไหว: ผมกะบ่รู้ว่ากฎหมายเพิ่นให้ท่อใด๋ แต่วาตอนสิเฮ็ดงานต้องตื่นตีสาม ตื่นมาฮุงเข่าฮุงน้ำ ละกะเฮ็ดกับเข่าเพือทีสิออกไปข้างนอกเนอะ กลับบ้านสองทุ่มมืด ๆ สองทุ่มกว่าเฮาสิมาซั่งผลไม้ กว่าจะได้ซั่ง กว่าสิได้อาบน้ำนอนกะต้องรอคิว
พี่ตั้ม: ของพี่แกยังได้กลับเร็ว แต่ของผมตื่นมาไม่ได้ทำกับข้าว ตีสี่กว่า ๆ ตีห้าเราต้องออกไปแล้ว เวลากลับคุณต้องกลับให้เร็วที่สุดคือสี่ทุ่ม ห้าทุ่มกลับถึงแคมป์ กว่าจะช่างผลไม้เสร็จ ก็ตีหนึ่งตีสองกว่าจะได้นอน นอนได้แค่หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมงก็ต้องลุก
ในส่วนนี้ เราจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์ทางการของกระทรวงเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการจ้างงานของฟินแลนด์ (Ministry of Economic Affairs and Employment of Finland) ซึ่งระบุว่า ระยะเวลาการทำงานทั่วไปในประเทศฟินแลนด์ต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ดังนั้นจะบวก ลบ คูณ หาร นอน นั่ง ตีลังกาดูกันยังไง ก็เห็นชัดอยู่ ๆ ว่าเกิน
แล้วทำไมทางการฟินแลนด์ถึงปล่อยให้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกัน?
“พอเกิดปัญหามา สหภาพแรงงานเขาสิประเมินวาสถานะเฮาเป็นหยัง แล้วสถานะเฮาบ่อแมนคนงานเลย สิเป็นแคนักท่องเที่ยว พอเป็นแค่นักท่องเที่ยวเขาก็ปฏิเสธเฮาวาบ่แมนคนงานของเขาสิมาเรียกร้องสิทธิ์อิหยังนี่กะคือบ่ได้”
พี่ไหว กล่าว ก่อนอธิบายว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้ว บริษัทกับกระทรวงแรงงานไทยยืนยันกับตนก่อนไปว่าตนเป็นแรงงานของบริษัท ทว่าเมื่อไปฟ้องศาลที่ฟินแลนด์กลับแพ้คดี โดยศาลระบุว่าคนไทยที่เก็บเบอร์รีเป็น นักท่องเที่ยว หาใช่คนงานไม่
“ทุกมื้อนี่ผมมองวากรมแรงงานเฮ็ดถืกให้เป็นผิด เฮ็ดผิดให้เป็นถืก เฮ็ดให้คนงานไปได้ คล้ายๆ จังไปฟินแลนด์น่ะ ในนี่ในอยู่เมืองไทยบอกว่าไปแล้วก็แรงงานของบริษัทนี่ แต่เวลาเฮาไปอยู่จริง ๆ แล้วมันเกิดปัญหา เกิดปัญหาอยู่พี้ เรียกร้องอยู่พุ่น ไปขึ้นศาลฟินแลนด์ 2 มิถุนายน 2560 4 ปีหลังจากฟ้องร้องเขาไว้ เขาก็ตัดสินให้เฮาแพ้คดีเพราะปฏิเสธทุกอย่างวาเฮาบ่แมนคนงานเขา มันเสียเปรียบเขาม่องนี่ บ่มีปัญญาสิเรียกร้องหยังได้เลย”
เมื่อกลับไทย พี่ไหวก็ได้เดินทางไปฟ้องคดีค้ามนุษย์กับ DSI ทว่าวันเวลาล่วงเลยมากกว่า 9 ปี แล้ว กลับยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เสียที…
จดหมายเปิดผนึกจากแรงงาน
“ในวันที่เซ็นสัญญาที่จะไปทำงาน ผมได้อ่านดูหนังสือฉบับหนึ่งเขาบอกว่า “ห้ามพนักงานมีการชุมนุมเรียกร้องใดใดทั้งสิ้นกับบริษัท” แล้วก็ให้เราลงชื่อรับทราบ ผมเลยมองว่า เออ มันคงมีอะไรที่ไม่โปร่งใสอยู่ มันมีเล่ห์เหลี่ยม และมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น”
นี่คือสิ่งไม่ปรกติที่พี่ตั้มประสบพบเจอด้วยตนเอง ดังนั้นพี่ตั้มจึงอยากเสนอกับกระทรวงแรงงานให้เปลี่ยนวิธีจัดหางาน คือ ให้รัฐเป็นคนส่งแรงงานไปเองโดยตรง หรือหากมีต้องผ่านบริษัท กระทรวงแรงงานจำเป็นต้องมีวิธีที่จะคัดกรองที่ดีกว่าเก่า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเห็นในวันนี้ยังห่างจากคำว่าโปร่งใสอยู่ไกลโข
ด้านพี่ไหวก็ทิ้งท้ายไว้สั้น ๆ ในฐานะแรงงาน ถึงกระทรวงแรงงานว่า ท้ายที่สุดแล้วกระทรวงฯ ต้องกลับมาขบคิดกับตนเองว่า จะยืนหยัดและปกป้องคุ้มครองสิทธิ์แรงงานอย่างเต็มที่ และปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ที่มีไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอนาคตได้อย่างไรบ้าง โดยตนก็มีข้อเสนอแบบเป็นรูปธรรมให้นำไปพิจารณาเช่นกัน
“ฝากถึงกรมแรงงาน พยายามเฮ็ดในสิ่งที่ถืกต้อง แบบวาประกันราคาผลไม้ ประกันไปเลยวาแต่ละปีคุณต้องบอกวาปีละทอนั่นทอนี่ บริษัทที่จัดส่งเอาให้ดีกว่านี่ บ่แมนวาเอาไปแล้วเขาสิเอารัดเฮาจังได๋กะได้ คิดอยากขึ้นก็ขึ้น คิดอยากลงก็ลงของเฮา คิดอยากเฮ็ดแบบได๋กะคนงานก็เฮ็ดจังซี่หนา ขอให้กรมแรงงานพิจารณาม่องนี่นำให้ส่งก็ส่งให้รับก็รับเลย เขาเฮ็ดอยู่แล้ว ถ้ามันสิเฮ็ด”
เพราะปรากฏการณ์ ‘เบอร์รีเลือด’ นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่ยืดเยื้อยาวนาน และคลุมเครือให้เป็นเรื่องของเมื่อวานมาหลายปี โดยที่ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ว่าจะหน้าเก่า หรือใหม่ก็ต่างไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็นกันทั้งสิ้น และผู้ที่สามารถหยุดวงจรนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เต็ม ๆ