อากาศสุดขั้ว รัฐรวมศูนย์สุดขีด - Decode
Reading Time: 2 minutes

แพร่หลาย รวดเร็ว รุนแรง 

รหัสแดงที่โลกต้องเผชิญ เมื่อความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นทุกวันจนกลายเป็น สภาวะอากาศสุดขั้ว (Weather Extremes) ที่ไม่ว่าจะมองในแง่อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตก ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือน้ำทะเลสูงขึ้นก็สาหัสไม่แพ้กัน 

ทว่าใครหลายคนก็ยังมองเป็นเรื่องไกลตัว

ด้วยเหตุนี้ De/code จึงร่วมถอดรหัส และพูดคุยหลังไมค์ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายในงาน Dialogue Forum 2 l Year 3: Weather Extremes? สภาวะอากาศสุดขั้ว? เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเสริมความเข้าใจ ให้คนในสังคมรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ที่สั่งสมมาหลายต่อหลายปี

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เผยแพร่รายงานจากการสรุปส่วนแรกของรายงานประเมินครั้งที่ 6 รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2021: พื้นฐานวิทยาศาสตร์กายภาพ 

ซึ่งระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า อิทธิพลของมนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบภูมิอากาศ” ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสภาพอากาศแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น มหาสมุทรอุ่นขึ้น ธารน้ำแข็งบนภูเขาและขั้วโลกจะละลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบหรือหลายร้อยปีต่อจากนี้ 

นอกจากนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในทศวรรษหน้า โดยทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ไม่สามารถย้อนกลับได้ในเวลาหลายร้อยถึงหลายพันปี เว้นแต่จะมีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลอย่างทันทีเท่านั้น

“1.1  ํc เราเจอไต้ฝุ่นโนรูแล้ว 1.5  ํc ไหน ก็ต้องดูกันต่อไป” 

รศ.ดร.เสรี กล่าว ก่อนอธิบายต่อว่า มีการตั้งเป้าหมายระยะสั้นในระดับสากลว่า ต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 50% ภายในปี 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันหน้าไปมองประเทศมหาอำนาจกลับพบว่า ประเทศใหญ่อย่างอินเดีย และจีนออกตัวว่าจะใช้ถ่านหินให้มากที่สุดในปี 2030 ในขณะที่เยอรมนีเองก็กลับมาใช้ถ่านหินเช่นกัน

“50% ที่ว่าจะลดตัดไปได้เลย มหาอำนาจทั้งหลายเขาไม่เอาด้วย ส่วนไทยเราปล่อยไม่ถึง 1% หรอก”

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการกระทำร่วมกันของคนทั้งโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีบทบาทในการเร่งหรือลดความรุนแรงที่กำลังเกิดนี้เท่ากัน

แล้วใครต้องรับผลกรรมนี้?

ก็คนทั้งโลกอยู่ดีนั่นแหละ

มรสุม ร้อน แล้ง รุมเร้ายังพอมีทางออก

นอกจาก น้ำท่วม ที่ไทยรู้จักกันดีและยังคงเผชิญกันอย่างต่อเนื่องแล้ว ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ก็เป็นผลมาจากสภาวะอากาศสุดขั้วเช่นเดียวกัน ถ้าอย่างนั้นคำถามถัดมาก็หนีไม้พ้นว่า หากลงมือแก้ปัญหาสภาวะอากาศสุดขั้วด้วยการเริ่มที่ตัวเองตอนนี้ (ที่แลดูแล้วมีความหวังเพียงริบหรี่ที่จะเกิดขึ้นได้) จะเห็นผลทีก็อีกห้าสิบปี หรือศตวรรษข้างหน้า แล้วเราจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้นี้อย่างไรกัน

โดยภายในส่วนนี้ รศ.ดร.เสรี ระบุว่า บทเรียนจากปี 2554 ถือเป็นกับดักสำหรับภัยน้ำท่วมปี 2565 และปีต่อ ๆ ไปเพราะเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมนั้นแตกต่างกัน และไม่อาจนำมาเทียบกันได้

“อย่าไปติดกับดักปี 2554″ รศ.ดร.เสรี ว่า “ตอนนี้น้ำน้อยกว่าแต่น้ำท่วมเป็นเพราะว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว เรายกถนน สร้างคันกันนั้น พอน้ำไม่มีที่อยู่ก็ลงแม่น้ำ คนอยุธยาบอก ‘ผมก็ตายสิ’ ก็ตายจริง ๆ แล้วปีนี้อยุธยาไม่ยิ่งตายเหรอ”

ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้ามคือ ปัญหาภัยพิบัติที่ใดก็ล้วนสร้างความเสียหาย และควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ไม่ใช่เพราะว่าน้ำจากพื้นที่เหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร แต่เพราะทุกพื้นที่ต่างมีประชนชนอาศัยอยู่ รวมไปถึงจังหวัดที่ถูกเรียกว่า พื้นที่รับน้ำ ที่ไม่มีใครอาสาว่าขอเป็น ทว่าบางครั้งก็ชินชา จนหลงลืมไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หมุนรอบเมืองหลวงไทยเพียงอย่างเดียวเสียหน่อย

และนี่จึงเป็นอีกครั้ง และอีกครั้งที่เราและหลากผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะสามารถช่วยแก้นานาปัญหาที่แต่ละท้องที่ต้องเจอได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“นี่คือหลักการเลยนะ ท้องถิ่นเป็นเจ้าของพื้นที่ ดังนั้นเจ้าของพื้นที่ต้องรู้ดีที่สุด เมื่อเหตุการณ์เกิด เขาได้รับผลกระทบคนแรก ก่อนเหตุการณ์จะไป เขาก็ได้ผลกระทบนานที่สุด เพราะฉะนั้นเจ้าของพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม”

รศ.ดร.เสรี กล่าว พร้อมระบุว่า การที่หน่วยงานส่วนกลางส่งคนเข้ามาดูแลเพียงปีสองปีแล้วไป ไม่สามารถเรียนรู้ปัญหาเชิงลึกได้เท่าคนในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ใช้ชีวิต และเติบโตในท้องถิ่นนั้นเอง

“ถ้ามีการเลือกตั้งจะดีแน่ สังเกตจากหลายประเทศ เพราะว่าการเลือกตั้งจะทำให้เขาเลือกคนที่มาดูแลทุกข์สุขเขา ซึ่งส่งมาเขาก็ดูแลนะ แต่มาแล้วก็ไป มันต่างกัน” รศ.ดร.เสรี ย้ำ

นอกจากนี้ การจัดการโดยชุมชนที่เกิดจากการร่วมมือของหน่วยงานย่อยอย่างท้องถิ่น และประชาชน จะนำไปสู่เป้าหมาย 3 อย่าง ประการแรก คือ สามารถช่วยตัวเองได้ กล่าวคือ ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และสามารถรับมือกับภัยพิบัติใด ๆ ด้วยตนเองได้ หากว่าน้ำจะมา ข้อมูลในมือท้องถิ่นต้องมีครบถ้วนชัดเจน เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อลดแนวโน้มความเสียหายตั้งแต่ต้นลม ประการต่อมา เมื่อช่วยตัวเองได้ย่อม มีเวลาไปช่วยคนอื่น ช่วยชุมชน จนสามารถบรรลุไปยังเป้าหมายประการสุดท้าย คือ ช่วยประเทศได้ ในท้ายที่สุด

“จะบรรลุสามอย่างนี้ประชาชน และท้องถิ่นมีความสำคัญ”

รศ.ดร.เสรี ยืนยัน และหวังว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะถูกดำเนินการ เพื่อป้องกันสิ่งที่ป้องกันได้ รับมือสิ่งที่รับมือได้ และไม่ให้ความเสียหายใด ๆ ต้องเกิดขึ้น ทั้งที่เรารู้ทันอย่างเต็มอกอีกต่อไป