ฝนตกตอนเลิกงาน จะกลับบ้านก็กลับไม่ได้เพราะน้ำท่วม
เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการน้ำในกรุงเทพมหานคร แต่โลกกำลังส่งสัญญานเตือนเราถึงสิ่งกำลังจะเจอ ว่านี่คือ สภาวะอากาศสุดขั้ว (Weather Extremes)
De/code ชวนมองปัญหาน้ำรอระบายในเมืองหลวงภายใต้สภาวะอากาศสุดขั้ว กับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพราะน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ คือผลพวงจากธรรมชาติที่ย่ำแย่ลงทุกวัน และโจทย์สำคัญที่กรุงเทพฯ ต้องตอบให้ได้มากกว่าทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม คือเราเตรียมรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้ว ที่ถี่ขึ้นทุกวัน อย่างไร
ไม่ได้แก้ หรือแก้ไม่ได้
“เรื่องแรกที่เราต้องทำความเข้าใจ ไม่ว่ายังไง กายภาพของกรุงเทพฯ มันเอื้อให้น้ำท่วมอยู่แล้ว”
ผศ.ดร.สิตางศุ์ ตอบคำถามว่าเพราะอะไร ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ถึงเป็นปัญหาที่จัดการแก้ไขไม่ได้สักที
ด้วยภูมิประเทศของกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ อีกทั้งเกือบจะติดทะเล น้ำที่เข้ามา มีทั้งน้ำที่ไหลจากทางภาคเหนือและน้ำทะเลหนุนสูง กรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำเหล่านี้ไปโดยปริยาย
หากย้อนดูประวัติศาสตร์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเมืองเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำในกรุงเทพฯ รอการระบายอยู่เสมอ
ตั้งแต่ปี 2460 สมัยรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีกิจกรรมการแข่งเรือและในปี 2526 เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม จนได้มีภาพของเรือวิ่งแข่งกับรถเมล์อยู่กลางถนน หรือในปี 2554 ที่น้ำท่วมมากที่สุดในกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์น้ำท่วมในกรุงเทพฯเหล่านี้ ยิ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่อาจารย์กล่าวมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“เรามีการจัดการน้ำที่เปลี่ยนไปทุกยุคทุกสมัย จนเมื่อเข้าสู่ยุคที่การขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ กว้างมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเรามีปัญหาในเรื่องของการจัดวางผังเมือง พูดกันตามตรง เราไม่ได้สนใจแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินขนาดนั้น อย่างที่เราเห็นว่ากรุงเทพมหานครในทุกวันนี้ บางตึกนึกจะขึ้นตรงไหนก็ได้ นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำในกรุงเทพฯ ระบายช้า”
ตามปกติเมื่อมีการขยายตัวของเมือง สิ่งที่ต้องตามมาคือรูปแบบของการวางผังเมือง แต่กรุงเทพฯ เราขาดการวางผังเมืองที่ดี นั่นทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร ช่องทางการระบายน้ำของกรุงเทพฯ จึงถูกปิดด้วยโครงสร้างของตึกที่ผุดขึ้นมามากมาย
ผศ.ดร.สิตางศุ์ เล่าถึงช่องทางการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบัน ช่องทางที่เมืองหลวงใช้ในการระบายน้ำเป็นหลัก คือท่อระบายน้ำและคลอง
ยุคที่การขยายตัวของเมืองยังไม่มาก กรุงเทพฯ หรือบางกอก เรามีทุ่งนาหรือที่ดินพวกนี้ในการปล่อยน้ำ นอกจากนี้เรายังมีคลองรองรับน้ำเหมือนกัน แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปทุ่งนาเหล่านี้กลายเป็นตึก ที่รองรับน้ำก็หายไปหนึ่ง เมื่อรวมกับคลองอีกหลายจุดที่ถูกถมเป็นการสร้างตึก จุดรองรับน้ำดั้งเดิมของเราก็หายไปเรื่อย ๆ
การระบายน้ำในเมือง เริ่มต้นจากท่อระบายน้ำ ถึงแม้ว่าปัญหาท่ออุดตันจากคราบน้ำมันและขยะจะเป็นปัญหาใหญ่ที่คนสังเกตกันได้ทุกครั้งเมื่อน้ำท่วม แต่ปัญหาของท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีปัจจัยเรื่องของขยะเพียงอย่างเดียว
ท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯนั้น เป็นระบบท่อเดี่ยว กล่าวคือ เราใช้ท่อระบายน้ำริมถนนกับท่อระบายน้ำเสียจากบ้านเรือนเป็นท่อเดียวกัน อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในปีนี้ เมื่อมารวมกับน้ำเสียจากบ้านเรือนในกรุงเทพมหานคร ยิ่งอุดตันด้วยขยะและคราบน้ำมัน จึงเป็นภาพรวมของการที่ท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งน้ำที่ไหลมาจากท่อระบายน้ำจะลงมาสู่คลอง จากที่เป็นไปได้ยากแล้ว เพราะการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการวางผังเมืองที่ไม่ดีของเมืองหลวง ทำให้คลองต่าง ๆ นานา ไม่สามารถรองรับน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีก หลายรูปแบบการจัดการน้ำที่เราใช้ ยังเป็นของเก่าที่ไม่เปลี่ยนตามยุคสมัย
“อุโมงค์ระบายน้ำของเรามันไม่ได้ต่างจากการสร้างคลองซ้อนคลองอีกที กรุงเทพฯ ต้องใช้ระบบการสูบน้ำ ซึ่งกว่าจะสูบน้ำจากอุโมงค์เพื่อไปปล่อยที่เจ้าพระยาได้ ก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำที่มีความแรงและจำนวนที่มากพอในทุกพื้นที่”
เมื่อมองถึงการจัดการน้ำใน กทม. สิ่งที่อาจารย์บอกว่าเรากำลังแก้ปัญหาผิดที่ ในเมื่อแต่ละพื้นที่สามารถรองรับน้ำได้ต่างกัน รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ไม่เท่ากัน การใช้ระบบรูปแบบการจัดการเดียวกัน จึงไม่ใช่ทางออกที่เราพึงใช้
“ไม่ใช่ว่าเราจัดการปัญหาไม่ได้หรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไปต่างหาก” ผศ.ดร. สิตางศุ์ กล่าว
ปัญหาที่เรามองเห็น แต่ไม่เตรียมรับมือ
แต่การจัดการน้ำ ไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่เราต้องรับมือ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้นและเรายังไม่มีความพร้อมจะรับมือมันคือ สภาวะอากาศสุดขั้ว ต่างหาก
ฝนตกหนักกว่าปกติ น้ำท่วมฉับพลัน อากาศหนาวในหน้าร้อน ปรากฎการณ์เหล่านี้กำลังบอกว่า โลกนี้กำลังไม่ปกติ และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังพบเจอ
ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมในปากีสถาน ไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่น หรือกระทั่งไฟป่าที่ออสเตรเลีย หิมะตกหนักในรัสเซีย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศต้องเจอภัยธรรมขาติหนักที่สุดในรอบ 10-30 ปี ซึ่งภัยเหล่านี้มีผลมาจากสภาวะอากาศสุดขั้ว
สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเหล่านี้ เกิดจากความแปรปรวนของโลก หลังจากที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมกันมานานและยังคงปล่อยต่อไป กลายเป็นภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบสาหัส ซึ่งจะทวีหนักขึ้นเมื่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในกลุ่มประเทศที่เปราะบาง ซึ่งจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หนักขึ้นไปอีก
“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ในเรื่องของ Climate change คือเรากำลังเจอกับลานีญาอยู่ ซึ่งเราเจอตั้งแต่ปีที่แล้ว” อาจารย์กล่าวต่อว่า ซึ่งปรากฎการณ์ลานีญานี้เอง คือสิ่งที่ทำให้ปริมาณฝนมีมากกว่าปกติ
ผศ.ดร.สิตางศุ์เล่าว่า การคาดการณ์ปริมาณฝนนั้น จะใช้รูปแบบของการคำนวณย้อนหลัง เพื่อที่จะเทียบสถิติว่าปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา มีมากน้อยเท่าไร
ในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ใช้ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 5 ปี ในการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน แต่ในวันที่สภาพอากาศของโลกวิกฤตขึ้นทุกที ทำให้การคาดการณ์ยิ่งยากขึ้นไปอีก
สถิติสภาพภูมิอากาศที่มีบันทึกไว้ของประเทศไทยมีเพียงย้อนไม่เกิน 120 ปี และถ้าเป็นสถิติปริมาณน้ำฝนนั้น มีย้อนหลังแค่ 60 ปี นั่นทำให้เราเห็นภาพรวมของน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกลได้ยากขึ้น
แต่ธรรมชาติอาจไม่ได้รอเราให้พร้อมเสมอไป
กลไกธรรมชาติ ที่มนุษย์คาดเดาไม่ได้
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พูดถึงแนวคิดของการหมุนเวียนของธรรมชาติ ที่ชุดวิจัยหลายชิ้นกล่าวว่า จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เรากำลังเจออยู่ไม่ใช่อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น แต่โลกกำลังเย็นลงต่างหาก เมื่อถึงจุดหนึ่ง โลกจะทำการคูลดาวน์ตัวเอง
ถึงอย่างนั้น สภาวะอากาศสุดขั้วหรือภาวะโลกร้อน ก็มีต้นเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ อาจารย์เล่าถึงแนวคิด ที่นักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่า การที่ฝนตกหนักนั้น เป็นเพราะโลกกำลังจัดระบบตัวเองใหม่ ซึ่งเป็นกลไกของธรรมชาติที่พยายามจะทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลง
และการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ในทุกวันนี้ป็นการเร่งกลไกธรรมชาติ นั่นทำให้สิ่งที่เราพบเจอมาเร็วขึ้น รุนแรงขึ้นต่างหาก
“สมัยก่อนเราอาจจะเห็นเรื่องโลกร้อน น้ำแข็งละลาย แต่สิ่งที่เราพบเจอกันมากขึ้นในทุกวัน มันเป็นเรื่องของฝุ่น มันเป็นเรื่องของพายุ มันเป็นเรื่องของไฟป่า มันเปลี่ยนรูปแบบที่เราเจอและเราไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกันมัน ทั้ง ๆ ที่ต่างประเทศเขามองเรื่องนี้กันไปนานแล้ว”
สำหรับประเทศไทยเอง ถึงแม้เราจะไม่พบเจอปรากฎการณ์ไฟป่าเป็นบริเวณกว้างแบบออสเตรเลีย หรือพายุหิมะที่ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถออกไปไหนได้เหมือนทางยุโรป แต่ฝุ่น PM 2.5 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นหลักฐานยืนยันอีกชิ้น ที่โลกกำลังบอกกับเราว่าการปล่อยของเสียเหล่านี้กำลังย้อนคืนมาสู่มนุษย์แล้ว
เมื่อมองน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครกับสภาวะอากาศสุดขั้วที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก นั่นคือน้ำที่ไหลลงมากองที่กรุงเทพฯ กำลังมีมากขึ้นและมีเพิ่มช่องทางในการเข้ามา
แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง นอกจากปริมาณที่จะไหลลงมากองที่กรุงเทพฯ มากขึ้น รวมถึงระบบการจัดการน้ำที่ไม่สามารถจัดการได้เต็มประสิทธิภาพ จากการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสภาพท่อ คู คลองที่มีอยู่ก็ตาม คือค่าน้ำฝน ทั้งในแง่ของปริมาณและความเข้มข้น
อาจารย์กล่าวต่อการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ว่า
“เราสามารถรองรับน้ำฝนอยู่ที่ 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงนั้น เพียงแค่ฝนตก 30 มิลลิเมตร/ชั่วโมง น้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ ในหลายจุดแล้ว”
สภาวะอากาศสุดขั้ว จะเป็นกลไกรักษาตัวเองของธรรมชาติจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ยืนยันได้ในวันนี้ มันกลายเป็นภัยธรรมชาติที่นับวันยิ่งคาดเดาได้ยากขึ้น
หากอนาคตภาวะโลกรวนเหล่านี้ยังทวีหนักขึ้น สิ่งที่เราต้องพบเจอ อาจไม่ใช่แค่น้ำหลากมาจากทางภาคเหนือเหมือนอย่างปี 2554 แต่อาจเป็นปริมาณฝนที่เข้มข้นและมากขึ้น น้ำทะเลที่หนุนสูงจากน้ำแข็งที่ละลายด้วยภาวะโลกร้อนมากขึ้น นั่นเท่ากับว่าน้ำจะไหลมากองสู่กรุงเทพฯ ถึง 3 ทาง อาจารย์มองว่า การจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครในเวลานั้น ไม่มีทางที่จะจัดการได้ทันแน่นอน
ย้ายเมืองหลวง ย้ายความเสี่ยง?
อย่างที่ ผศ.ดร.สิตางศุ์ ได้กล่าวไป ว่ากรุงเทพมหานครนั้น มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มต่ำ และเอื้อต่อการที่น้ำจะท่วม เพราะจริง ๆ อาจไม่ใช่ว่าเราไม่แก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหาน้ำท่วมมันไม่สามารถแก้ไขได้ต่างหาก เพราะทั้งผังเมือง การระบายน้ำ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและแก้ไขได้ยาก รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย หากกรุงเทพมหานคร ต้องการจะรื้อผังเมืองใหม่
กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นเมืองแห่งเดียวที่พบว่า เมืองหลวงนี้เสี่ยงที่จะจมน้ำไปเรื่อย ๆ จากการคาดการณ์และผลวิจัยของหลายสำนัก แต่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างประเทศอินโดนีเซีย ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ประชุมรัฐสภา ได้ผ่านกฎหมายตั้งเมืองหลวงใหม่ ย้ายจากกรุงจาการ์ตา ไปผืนป่าในจังหวัดกาลีมันตัน บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งเมืองหลวงใหม่จะมีชื่อว่า “นูซันตารา”
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราเคยมีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไป จ.เพชรบูรณ์ จนมายุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปศึกษาการย้ายเมืองหลวง เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรรถติด โดยแผนการศึกษามีการเสนอ อ.บ้านนา จ.นครนายก และขยายเชื่อมกับ อ.หนองแค จ.สระบุรี
แต่ในเมื่อที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองโตเดี่ยว ความเจริญทั้งหลาย ทั้งงาน ทั้งการศึกษา รวมไปถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็มารวมอยู่ที่เมืองหลวงแห่งนี้หมดแล้ว คำถามคือเราสามารถย้ายเมืองหลวงได้จริงหรือ ถึงแม้ว่ากรุงเทพฯ จะเสี่ยงจมน้ำขึ้นทุกขณะ
ด้าน รศ.ดร.สิตางค์ มองว่ากรุงเทพมหานคร มีโอกาสที่เสี่ยงจะจมน้ำจริง แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น คือเราต้องตัดสินใจว่ากรุงเทพฯ จะเอายังไงต่อมากกว่า
อาจารย์กล่าวต่อว่า พอพูดถึงการย้ายเมืองหลวง หลาย ๆ คนอาจจะมองมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ด้วยประวัติศาสตร์หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อมองโอกาสต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มหรือลดลงก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดการ เพราะการย้ายเมืองหลวงเหล่านี้มีระยะเวลาของมันในการจัดการ เพราะวันหนึ่งอาจถึงคราวที่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ทันแล้ว
“ส่วนตัวอาจารย์เลยมองประเด็นที่ว่า ถ้าจะย้ายคือต้องดูว่าเราจะย้ายไปที่จังหวัดไหน แล้วจะเอายังไงกับกรุงเทพฯต่อ เป็นเมืองท่าไหม เป็นเมืองเศรษฐกิจ หรือถ้าจะอยู่ต่อคือเราจะอยู่กันแบบไหน คือเราก็พัฒนาเรื่องอื่นกันไป หรือว่าเราจะจัดการผังเมืองใหม่ ซึ่งมันต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ”
What if กรุงเทพมหานครยังคงเป็นเมืองหลวง
ถ้าหากต้องการจะให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงต่อไป ผศ.ดร.สิตางศุ์กล่าวว่า สิ่งที่เราจะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง คือเรื่องของการแก้ไขระบบที่เป็นอยู่
ประเด็นแรกคือการแก้ไขผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรุงเทพฯ มีพื้นที่ระบายน้ำหลักอย่างท่อและคูคลองต่าง ๆ แต่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เราไม่ได้ใส่ใจกันมานาน จนปัจจุบันมีบ้านเรือนขึ้นเต็มไปหมด การขอเวนคืนพื้นที่เพื่อที่จะสร้างการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพมันก็ทำได้ยากเพราะบางชุมชนก็อยู่อาศัยหลายชั่วอายุคนแล้ว
“ถึงเราจะผลักดัน Street food ให้เป็น Soft power แต่กลุ่มนี้ก็เป็นปัญหาที่เราต้องเข้าไปประสานงานเช่นกัน ดังที่เห็นในข่าวเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ที่มีพ่อค้าน้ำเต้าหู้เทน้ำเต้าหู้ทิ้งลงท่อ ซึ่งพอไปกองอยู่ในท่อจะเกิดเป็นคราบไขมันต่าง ๆ ยังไม่นับรวมถึงการปล่อยน้ำเสียหรือน้ำมันใช้แล้วโดยร้านค้าเหล่านี้ มันก็ต้องเกิดจากการที่ภาครัฐบังคับใช้ข้อบังคับต่าง ๆ มันเป็นการสร้างความเข้าใจ หลังจากนั้นมันจึงเกิดการตระหนักรู้“ ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว
สิ่งสำคัญคือ ในเมื่อแต่ละพื้นที่ สามารถรองรับน้ำฝนได้ไม่เท่ากัน รวมถึงการจัดการน้ำที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการให้แต่ละพื้นที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมของตนไป โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว จะทำให้การระบายน้ำเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงท่อระบายน้ำในภาพใหญ่ ที่ กทม. ต้องเปลี่ยนระบบที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว
อาจารย์กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการขุดลอกท่อ ซึ่งจะจัดการปัญหาคราบไขมันและขยะที่อุดตันท่อนั้น กรุงเทพมหานครจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบท่อระบายน้ำ เพื่อที่จะให้น้ำสามารถไหลและระบายได้ดีขึ้น รวมไปถึงการใช้เครื่องสูบน้ำ การหาพื้นที่ระบายน้ำ การคิดแบบครบวงจร ตั้งแต่การไม่สร้างขยะ การเพิ่มการระบายน้ำที่ดี รวมถึงมาตรการจัดการน้ำต่างหาก ที่จะทำให้กรุงเทพฯ รับมือกับน้ำท่วมได้ดีขึ้น
เรื่องเหล่านี้จึงต้องย้อนกลับมาดูที่ภาครัฐ กลุ่มที่มีสิทธิ์และอำนาจในการที่จะติดสินใจว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปยังไง
สภาวะอากาศสุดขั้ว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
“พอมองภาพรวมของการจัดการน้ำในกรุงเทพฯ รวมไปถึงประเทศไทย มันไม่ใช่หน่วยงานใดต้องมาจัดการฝ่ายเดียว มันต้องมีการบูรณาการของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่บ้านเรายังไม่สามารถทำได้สักที”
ถึงปรากฎการณ์โลกร้อน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกรวนหรือสภาวะอากาศสุดขั้ว จะมีการถูกพูดถึงในเมืองไทยมาเป็นระยะเวลานาน แต่การสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงความใส่ใจที่ภาครัฐจะกำหนดทิศทางเหล่านี้ให้กับประชาชน ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สำเร็จเสียที
ตัวอย่างที่อาจารย์ยกมา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยของเสีย ภาคธุรกิจเน้นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ไปจนถึงประชาชนลดการใช้พลาสติก เราจะเห็นมิติที่ทุก ๆ ฝ่ายจะต้องมาทำการร่วมมือ เพื่อลดภาวะโลกรวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“บอกได้ยากว่าใครจะขยับก่อน แต่การขยับเหล่านี้แน่นอนว่า ถ้าตัวใหญ่ไม่ขยับก่อนยังไงตัวเล็กก็ไม่มีทางขยับตาม ซึ่งมันก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าถ้าหากภาครัฐไม่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจ การแก้ปัญหานี้ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ”
อาจารย์สิตางศุ์กล่าวว่าการเปรียบเทียบการจัดการน้ำของต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลี ก็ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในประเทศไทย “อย่างของที่ญี่ปุ่นคืออุโมงค์เขาใหญ่กว่ามาก ของเราไม่ได้ใหญ่ถึงขนาดนั้น รวมถึงการระบายน้ำของเขามันมีในแง่ของน้ำที่ละลายจากหิมะ บ้านเราก็ต้องมีวิธีจัดการในแบบของบ้านเรา เพราะแต่ละพื้นที่มันมีลักษณะไม่เหมือนกัน”
การรับมือจากน้ำที่ไหลมาจากต่างจังหวัด ประเทศไทยเรายังคงวนอยู่กับการจัดการน้ำแบบเดิม ๆ ทั้งการสร้างเขื่อน สร้างพนัง หรืออื่น ๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาแบบนี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในประเทศไทยได้มีประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะอากาศสุดขั้ว ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นอีก
คำถามที่อาจารย์เน้นย้ำที่สุด คือรัฐจริงใจแค่ไหน ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้?
อาจารย์กล่าวว่า เราจะเห็นการปลูกต้นไม้ ทำโครงการต่าง ๆ มากมาย แต่มาถึงการจัดการที่เป็นปัญหาจริง ๆ รัฐกลับทำอะไรน้อยกว่าการประชาสัมพันธ์โครงการของตน
ถึงแม้ปัญหาเหล่านี้จะมีเผยแพร่อยู่เต็มหน้าฟีดในโลกโซเชียลมีเดีย แต่ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมหลายคนยังมองว่า เป็นปัญหาที่ไม่ได้กระทบอย่างรวดเร็ว ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่สามารถรอเพื่อที่จะให้ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับเราโดยทันทีที่เกิดขึ้น
“ไม่ถึงกับต้องเทียบของต่างประเทศ เอาแค่มาตรฐานของเรา รัฐยังไม่มีความจริงใจมากพอ ถามว่ามันมีกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนตรงนี้อยู่ไหม ก็มี แต่มันไม่มากพอ มันเลยเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องไปพร้อม ๆ กัน”
การที่มีสื่อปรากฎมากมายในช่วงเวลาที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะเมืองหลวงแห่งนี้คือศูนย์รวมแห่งอำนาจ แต่เมื่อเรามองถึงต้นสายปลายเหตุของมันจริง ๆ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการระดับท้องถิ่นในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลกลาง ทั้งการจัดการน้ำที่ไม่ตรงจุดและล้าหลัง การจัดการน้ำตามธรรมชาติ ทั้งน้ำจากภูเขาและทะเล ล้วนเป็นผลจากการไม่ตระหนักถึงสภาวะอากาศสุดขั้วนี้เท่าที่ควร
ฉากทัศน์เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเร่งลงมือและให้ความสำคัญ เพราะธรรมชาติอาจไม่ให้เวลาเรานานขนาดนั้น
น้ำท่วมอาจเป็นสิ่งที่เราเห็นตามข่าวจนชินตา แต่สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะพื้นที่ไหนของประเทศ นั่นหมายถึงการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก ทั้งเงินในการเยียวยา เงินในการซ่อมแซม และบางครั้งอาจหมายถึงชีวิต
ปัญหาที่เราต้องหาทางออกและเร่งแก้ไขในตอนนี้ คือเราจะรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้วเหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะ ’พายุโนรู’ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศฟิลิปปินส์และกำลังจะเข้าผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้น เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะใส่ใจและเตรียมแผนรับมือเรื่องพวกนี้ได้ดีแค่ไหน
ท้ายที่สุดคนที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น ก็คือพวกเราทุกคน
สภาวะอากาศสุดขั้วจึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่ใหม่สำหรับเรา เพราะสัญญานเตือนจากโลกที่ถี่มากขึ้นทุกวัน กำลังบอกอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เรากำลังเจอไม่ใช่เรื่องปกติ