ความเหงาในความคิดของหลายคนอาจจะคิดว่า เป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่วขณะหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วความเหงาอยู่ลึกภายในใจของหลาย ๆ คน และยังพูดโยงกับความเป็นทุนนิยมที่มักจะทำให้เราหลอกตัวเองว่า “ไม่เหงาหรอก” ต่อให้เราเหงาแค่ไหนทุนนิยมก็มักเรียกร้องให้เราไม่เหงา
เพราะการลดความเหงามีราคาที่ต้องจ่าย เช่น การออกไปข้างนอกเพื่อลืมความเหงาก็ต้องพ่วงมากับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือการหาแฟนที่หลายคนบอกเป็นวิธีการคลายความเหงาได้ดีระดับต้น ๆ ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่เราอาจต้องจ่ายให้กับแอปต่าง ๆ หรือการไปทำความรู้จักนอกสถานที่เพื่อกระชับความสัมพันธ์มากขึ้น ทำให้หลายคนก็มักหลอกตัวเองว่า “ฉันไม่เหงาหรอก” เพราะหากเหงาก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปด้วย
De/code พูดคุยกับคนวัยทำงานทั้งสองคน บุปผา กล่อมรักษา อายุ 25 ปี เกิดที่กรุงเทพ เธอทำงานเป็นพนักงานอิสระ เงินเดือนประมาณหลักหมื่น และลักษณะงานพบเจอผู้คนหลากหลายแบบ สาเหตุของความเหงา คือ อยู่คนเดียวนาน ๆ ไม่ได้พูดคุยกับใคร แต่พอได้ออกได้ออกไปข้างนอกก็รู้สึกคลายความเหงา
ปรียานุช สมร่าง อายุ 28 ปี เป็นคนต่างจังหวัดที่ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพ เธอเป็นพนักงานประจำที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับงาน เงินเดือนประมาณหลักหมื่น สาเหตุของความเหงา คือ การอยู่คนเดียว ความห่างไกลจากครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด และเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน
นอกจากนี้เราได้ไปพูดคุยกับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับทางแก้ไขราคาของการบรรเทาความเหงา สามารถมีทางเลือกหรือทางแก้ในเชิงของรัฐสวัสดิการอะไรได้บ้าง
แลกเปลี่ยนความเหงากับเงินตรา
จากงานวิจัยเรื่อง ความเหงากับทุนนิยม โดยณัฏฐญา เมฆสมณะศักดิ์ มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องมิติรายได้กับความเหงาว่า ผู้ที่รายได้มากจะมีระดับคะแนนความเหงาโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุนนิยมได้สร้างลัทธิบริโภคนิยม โดยทำให้คนรู้สึกว่า “รายได้ที่มากขึ้นจะสร้างความสุขให้มากขึ้นตามมา” อีกทั้งการมีรายได้ที่มากขึ้นเปิดโอกาสให้สามารถนำไปบริโภคหรือซื้อสินค้า เพื่อกำจัดความเปลี่ยวเหงาในจิตใจไปได้ หรือเพื่อทดแทนความสัมพันธ์หายไปจากบุคคลรอบข้างได้อีกด้วย ต่อมาเราได้ถามความเห็นของทั้งสองคนคิดว่า การลดความเหงามีราคาที่ต้องจ่ายอย่างไร?
ปรียานุชตอบเราว่า “ปกติเราเป็นคนชอบออกไปข้างนอก ชอบออกไปเจอผู้คน ใช้จ่ายเงินเพื่อแลกกับความเหงา เพราะชอบไปทำกิจกรรม แล้วพอไปทำกิจกรรมข้างนอก ค่าใช้จ่ายมันก็จะสูงอยู่แล้ว ปกติเราไปตามคาเฟ่ตามรีวิว ไปถ่ายรูปต่าง ๆ อยากให้มีรูปได้มีความเครียดจากที่เราได้ทำงานด้วย ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความเหงา แล้วเพื่อนก็แยกย้าย ไม่ค่อยได้เจอเพื่อนด้วย พอจะออกไปทำกิจกรรมข้างนอกมันก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นมาด้วย
โดยเรามีค่าใช้จ่ายโดยรวมเพื่อลดความเหงาประมาณ 3,000-6,000 บาทต่อเดือน เราใช้เงินแลกกับความเหงา แต่เงินมีจำกัดมากเลย แก้ปัญหาได้บางส่วน พอเราใช้เงินแก้ปัญหากับความเหงาของเราแล้ว เงินมันก็จะค่อย ๆ หมด แล้วเราก็จะมีความเครียดมากขึ้น แล้วก็จะเหงาใหม่อีกครั้ง”
“เกือบทุกอย่างที่สามารถลดความเหงาได้ไม่ว่าจะเป็นการออกไปทำกิจกรรมข้างนอกก็ต้องเสียค่าเดินทาง ค่าเข้าสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่การอยู่บ้านก็ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ค่าสมัครสตรีมมิ่ง ก็ล้วนเป็นความจำเป็นที่ต้องจ่ายเพื่อลดความเหงา โดยเรามีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอินเทอร์เน็ตต่อเดือนราคา 1,500 บาทขึ้นไป ค่าเดินทางโดยประมาณ 250 บาทต่อวัน ค่าท่องเที่ยว 500 บาทต่อวัน สมมุติเราออกไปเที่ยวข้างนอก 4 ครั้งต่อเดือน ค่าใช้จ่ายต่อเดือนรวมค่าอินเทอร์เน็ตก็จะอยู่ที่ประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน”
บุปผา กล่าว
จากประเด็นข้างต้น หลายคนก็เสนอทางแก้ว่า “ถ้าเหงาก็หาแฟนสิ” แล้วการหาแฟนสักคนหนึ่งก็มีค่าใช้จ่ายที่ยังต้องจ่ายอยู่ โดยหากเราดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาแฟนก็จะแยกแบ่งสองพาร์ท ได้แก่
หากเราใช้แอปพลิเคชันในการหาแฟนอย่างจริงจัง ก็อาจต้องเสียเงินเพื่อซื้อแพคเกจและสิทธิพิเศษของแอปนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาแฟนให้เร็วและเพิ่มขึ้นได้ เช่น
Tinder Gold ราคา 369 บาทต่อเดือน
Coffee Meets Bagel ราคา 769 บาทต่อเดือน
Bumble ราคา 499 บาทต่อเดือน
และหากเราอยากจะสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก็อาจต้องออกไปพบปะเจอกันข้างนอก ก็จะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณในการไปเดตสมมุติในหนึ่งวัน ดังนี้
ค่ารถไฟฟ้าจากสถานีบางแคไปสถานีสวนจตุจักรไปกลับราคา 84 บาท
ค่าอาหารหนึ่งมื้อประมาณ 200 บาท
ค่ารถเมล์เดินทางไปพิพิธภัณฑ์ไปกลับจากสถานีสวนจตุจักรประมาณ 40 บาท
ค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ราคาประมาณ 250 บาท
โดยการเป็นเดตในสถานที่ดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 574 บาท ซึ่งหากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่จำนวนเงิน 331 มีจำนวนเงินต่างกันถึง 243 บาท ซึ่งราคาค่าในการไปเดตในหนึ่งวันนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงค่าเดตในหนึ่งวันเท่านั้น แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายหากเรามีความเหงา แล้วต้องการจะคลายเหงาด้วยการออกไปข้างนอกตามที่บุปผาได้เคยกล่าวไว้ข้างต้น ก็จำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายโดยประมาณข้างต้นเช่นกัน
คิดว่าวิธีการแก้ปัญหานี้สามารถแก้ปัญหาความเหงาหรือความรู้สึกโดดเดี่ยวได้จริงเปล่า
อาจารย์ษัษฐรัมย์ตอบเราว่า “ผมไม่สามารถฟันธงได้ว่ามันแก้ความเหงาได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ผมน่าจะสรุปได้ คือ ระบบทุนนิยมผลักดันให้เราแสวงหาความอบอุ่นในโลกที่ไม่มีความอบอุ่น เหมือนกับเราจุดไม้ขีดไฟท่ามกลางหิมะ หวังว่าไม้ขีดไฟจะทำให้เราหายเหน็บหนาวได้ ก็อาจทำให้เราหายเหน็บหนาวได้เช่นกัน
แต่ถ้าเราต้องการกำจัดความหนาวในระยะยาวมากขึ้น เราก็คงใช้ไม้ขีดไฟไม่ได้ เราก็ต้องหากลไกของเทคโนโลยีการจัดสรรต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงเตาผิงได้ ผมเปรียบเทียบว่า การที่เราทำให้สังคมเท่าเทียมกันมากขึ้น คนเข้าถึงสวัสดิการได้มากขึ้น คนก็จะเวลาว่างมากขึ้น ก็จะสามารถไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย”
จากที่อาจารย์ษัษฐรัมย์ได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น สาเหตุของความเหงาหรือความรู้สึกโดดเดี่ยวจริง ๆ แล้วคืออะไร
“ปัญหาที่ทำให้เรารู้สึกว่าความเหงาหรือความโดดเดี่ยว ที่มาจากความรู้สึกแปลกแยก จะมีคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่แบกรับ แบกรับความเหงา ความแปลกแยก มากกว่าคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจหรืออำนาจทางการเมือง อันนี้จะไม่ใช่ความเหงาหรือแปลกแยกในสภาวะปกติ เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ มันสามารถเชื่อมโยงได้กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ปัญหานี้สามารถแก้ไขในเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งก็เกิดจากมนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตของตัวเองได้ คนต้องทำงานหนัก คนก็มีราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้น เพื่อที่เราจะมีชีวิตที่ปกติ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก ซึ่งมันก็เกิดจากเงื่อนไขไม่ว่าจะเป็นทางการศึกษา ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงดูบุตร ค่าใช้จ่ายเรื่องการวางแผนการเกษียณ ค่าใช้จ่ายสำหรับคนส่วนใหญ่นี้ส่งผลต่อความแปลกแยก”
โดยทางแก้ไขของอาจารย์ษัษฐรัมย์ ได้เสนอให้มีการเพิ่มสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กล่าวมาข้างต้น ให้ได้รับสิทธิ์กันอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ในปัจจุบันคนจำเป็นต้องทำงานเสริมไม่ว่าจะงานที่สองหรือมากกว่านี้ก็ตาม ก็เกิดจากสาเหตุรายได้ไม่พอจากทั้งค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในเรื่องขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยนั้นไม่ได้รองรับขนาดนั้น ทำให้จากการที่คนจำเป็นต้องทำงานเยอะขึ้น
ดังนั้นก็ต้องเพิ่มมาตรการเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพ ถ้าคนมีทั้งรายได้เพียงพอ เวลาว่าง และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รองรับอย่างทั่วถึง ก็จะส่งผลดีในเรื่องของสุขภาพจิตของคน โดยเฉพาะในเรื่องความโดดเดี่ยวจากความรู้สึกแปลกแยกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
Public Space ไม่ใช่ตัวเลือกแรก
“สำหรับเราไม่ค่อยได้ไปเท่าไหร่ เพราะเราคิดว่ามันไม่ค่อยมีอะไรทำ ไปมันก็ไปนั่งเฉย ๆ เราว่าเพิ่มกิจกรรมเข้าไปก็น่าจะดี บางทีนั่งเฉย ๆ มันไม่มีอะไรทำไง ถ้ามีพวกดนตรีในสวน มันก็จะแบบมีอะไรนั่งทำ มีอะไรให้ดูมันก็จะแก้เขินไปด้วย และสำหรับเราก็ชอบเสียงเพลง อยากให้มีเพลงตามสวนสาธารณะด้วย อาจจะไม่ต้องถึงขนาดจ้างนักร้องทุกที่ แค่เปิดเพลงตามเสา ให้มีเสียงเพลงเพลิน ๆ คลอในสวนสาธารณะไปด้วยคงจะดี”
บุปผาได้เสริมเกี่ยวกับเรื่องอยากให้ภาครัฐดูแลและพัฒนาสวนสาธารณะให้ดีกว่านี้ ทำต้นไม้หรือหญ้าให้ดี มีกิจกรรมเสริมเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เธออยากให้สวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่ครบครันไม่ว่าจะออกกำลังกาย นั่งเล่น หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้คนไม่ใช่มาสวนสาธารณะเพียงเพื่อออกกำลังกาย แต่เป็นสถานที่ที่สำหรับทุกคนที่ต้องการปล่อยใจมาสนุกเพื่อคลายความเครียดและความเหงา
จากที่บุปผาได้กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ หากเราไปดูพื้นที่สาธารณะของไทย ส่วนใหญ่ในไทยก็มักมีแต่สวนสาธารณะ แต่การเป็นพื้นที่สาธารณะมีความหมายที่กว้างกว่านั้น เช่น Chicago river walk เป็นทางเท้าเลียบน้ำกึ่งพื้นที่สาธารณะ ตั้งอยู่ที่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำ Chicago ดาวน์ทาวน์ เริ่มตั้งแต่ lake shore drive ไล่ยาวไปจนถึง franklin st. ทั่วบริเวณรายล้อมไปด้วยพื้นที่สาธารณะ ภัตตาคาร ที่นั่งอเนกประสงค์ และบริการเรือให้เช่า
พื้นที่สาธารณะที่มีประวัติยาวนานนี้เพิ่งผ่านการออกแบบใหม่เพื่อปรับปรุงและขยับขยายขนาดเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาโดยมีขนาดเพิ่มขึ้นถึงกว่า 6 บล็อกถนน Chicago river walk เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำที่ไม่ทำลายทัศนียภาพโดยรวมของแม่น้ำ และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้ชาวเมืองในเวลาเดียวกัน
แต่เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับพื้นที่สาธารณะของไทยนั้น ก็ยังไม่ได้หลากหลายมากเท่าไหร่ ทำให้การที่เราจะไปพบปะใครสักคน เพื่อคลายความเหงาก็อาจจะต้องมีตัวเลือก ห้างสรรพสินค้าเป็นตัวเลือกอันดับแรก แต่อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่คนเลือกที่คนอยากไปจริง ๆ แต่เพราะไม่มีที่ไหนจะไปแล้ว อีกทั้งการไปห้างสรรพสินค้ามีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าการไปพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว
แต่ความสะดวกสบายในเรื่องการเดินทางหรือคุณภาพสถานที่ของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งก็ค่อนข้างดีกว่าพื้นที่สาธารณะ ทำให้การที่หลายคนมักจะไปห้างสรรพสินค้าบ่อยกว่าพื้นที่สาธารณะ เพราะพื้นที่สาธารณะยังไม่ตอบโจทย์และยังหลากหลายไม่พอสำหรับผู้คน เลยทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นตัวเลือกสุดท้ายของหลาย ๆ คน
แล้วหากเราไปถามในมุมมองของอาจารย์ษัษฐรัมย์คิดว่า Public Space แบบไหนที่จะสามารถเข้าถึงได้ทุกคน?
“ทุกเมืองต้องจัดการคือทำถนนให้เล็กลง ถนนที่รถวิ่งไฮเวย์ควรทำเป็นถนนคนเดินมากขึ้น มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ยิ่งจำนวนถนนกิโลเมตรต่อประชาชนมากเท่าไหร่ จำนวนเพื่อนและคนรู้จักก็จะน้อยลง โอกาสที่จะมีทุนทางสังคมที่จะทำให้เขาเปลี่ยนงาน ทำงานที่มีรายได้สูงมากขึ้น หรือการทำธุรกิจอะไรต่าง ๆ ก็จะน้อยลง ถ้าถนนเล็กลง รถสาธารณะอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีพื้นที่ที่ทำให้คนสามารถเชื่อมถึงกันได้อันนี้ถือว่า The best of Public Space”
เพราะถ้าแค่ออกจากหน้าหมู่บ้าน คอนโด หรือบ้านตัวเอง ก็ไม่มีฟุตบาทให้เดินแล้ว ต้องเรียกวินมอเตอร์ไซต์หรือแท็กซี่ไปรถไฟฟ้า ผมเลยมองว่าตรงนี้เป็นปัญหา เราก็ยังไม่ต้องคิดถึงการทำ Public Space แบบสิงคโปร์ เราควรพัฒนาถนนหรือฟุตบาทให้เข้าถึงทุกคนก่อน
โควิดตัวเร่งปฏิกิริยาของความเหงา
ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ทำให้ความเหงาของคนยิ่งมากขึ้น โดยจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า คนสหรัฐกว่า 36% กำลังรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยในกลุ่มคนหนุ่มสาวเหงามากขึ้นถึง 61% ในขณะที่แม่บ้านมีสัดส่วนอยู่ที่ 51% และทั่วโลกจำเป็นต้องล็อกดาวน์ ทำให้หลายคนจำเป็นต้องห่างกัน และสิ่งที่ตามมาคือความเหงา แล้วสำหรับปรียานุชโควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาความเหงาเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า
ปรียานุชบอกกับเราว่า “โควิดเป็นสิ่งที่ทำให้อยากออกไปข้างนอกมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมันมีการถูกล็อกดาวน์มาก่อน แต่ก่อนเราไม่ต้องออกไปแล้วกังวลอะไร แต่พอมีโควิดเข้ามาก็มีความระแวงมากขึ้น ช่วงที่มีโควิดใหม่ ๆ เราไม่ออกไปไหนเลย แล้วมันก็ทำให้เราเก็บกดมาก ๆ ว่า แบบฉันไม่ออกไปเจอใครไม่ได้เลย ดูซีรีส์ก็เบื่อความเครียดก็มากขึ้นไม่รู้จะทำอะไร บางทีก็เหม่อ ๆ มันถึงจุดที่เรารู้สึกไม่ไหวแล้ว มันควรออกไปข้างนอกบ้าง”
นอกจากนี้อาจารย์ษัษฐรัมย์ยังได้เสริมว่า “โควิดสองปีที่ผ่านมา มันทำให้เห็นสภาพปัญหาที่มันเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็เด่นชัดมากขึ้น เราก็ทราบว่าในช่วงวิกฤตโควิดคนรวยก็จะรวยมากขึ้น คนกลาง ๆ ก็จะจนลง แต่คนจนก็จะจนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นภาพชัดเจนมากว่าคนถูกแบ่งแยกออกจากกัน ต้นทุนในการมาเจอกันสูงขึ้น ต้นทุนในการที่เราจะไปพักผ่อนก็มีราคาที่สูงขึ้น
ถ้าย้อนไปสองสามปีก่อนเป็นคนที่เริ่มทำงานหรือคนชนชั้นกลางเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ยังมีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนใช้ชีวิตกับครอบครัวได้บ้าง แต่พอโควิดเรานึกถึงก็จะมีแต่พวกโรงแรมระดับพรีเมี่ยมที่สามารถเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ได้ ทำให้กักตัวหรือการเดินทางข้ามจังหวัด หรือต่อไปการเดินทางไปต่างประเทศต้องมีเงินที่สามารถกักตัวได้ เพราะฉะนั้นเวลาว่างต่าง ๆ ของมนุษย์ต้นทุนสูงมากขึ้นเลย กลายเป็นว่าเรื่องที่เราเคยทำได้ในช่วงโควิดสองปีที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องที่คนรวยเท่านั้นที่ทำได้ ที่ผ่านมาก็จะเป็นคนที่มีรายได้สูงที่วางแผนกักตัวท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ อันนี้เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ”
โดยอาจารย์ษัษฐรัมย์ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยอันหนึ่งที่เกี่ยวกับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่สุด คือ New Jobber ในช่วงอายุประมาณ 23-28 ปี การเข้าถึงเครือข่ายทางสังคมถูกจำกัดให้น้อยลง
ต่อมาอาจารย์ได้ยกตัวอย่างในปัจจุบันหลังโควิด คนรุ่นใหม่มีเวลาที่จะไปไร้สาระน้อยลงมา เวลาว่างถูกทำให้ต้องไปเสริมทักษะตัวเอง เพื่อที่จะอยู่ได้ในสังคมที่มีทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนหลังจากโควิด ทำให้โควิดเป็นสิ่งเร่งปฏิกิริยาของความโดดเดี่ยวและการเผชิญหน้าต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย
“ก็จะมีวาทกรรมหนึ่งที่พูดถึงว่า ทุกคนก็เหงาเหมือนกัน แม้แต่ชนชั้นนำก็เจอเหมือนกัน เวลาที่เราวิจารณ์ชนชั้นนำเขาก็มีความทุกข์เหมือนกัน อาจจะในเรื่องธุรกิจหรือการทำงานหนักจากการบริหารลูกน้อง ทุกคนต่างก็เหงาเหมือนกัน มันเป็นหนึ่งในวาทกรรมเราอยากวิจารณ์หรือความไม่พอใจในความเหงา
เพราะจริง ๆ ทุกคนแม้กระทั่งนายทุน เจ้าสัว เศรษฐี คนมีอำนาจ ก็ล้วนเหงาแล้วทุกข์เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วเวลาเราพูดถึงความโดดเดี่ยวและความไร้ตัวตนของคน 99% เป็นเรื่องความเป็นความตาย คนที่โดดเดี่ยวจากการต้องไปกู้นอกระบบเพื่อเป็นค่านมให้ลูก หรือคนแก่ที่ดูผู้ป่วยติดเตียงหรือตายายดูแลกันเอง ความโดดเดี่ยวตรงนี้มันรุนแรงกว่าที่ชนชั้นนำพยายามบอกว่ามันเหมือนกัน” อาจารย์ษัษฐรัมย์ กล่าวทิ้งท้าย
Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน
เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565