หากใครทำงานอยู่ในช่วงปี 2540 พวกเขาต้องพบเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักที่สุดในประเทศไทยอย่าง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในทวีปเอเชีย
สำหรับวัยทำงานตอนต้นในปัจจุบัน ราว ๆ พวกเขาอายุประมาณ 10 ขวบ ในปีค.ศ. 2010 คือปีที่พวกเขาได้สัมผัสกับฟุตบอลโลกครั้งที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง
แต่เด็กที่อยู่ใน Generation Alpha กลุ่มช่วงอายุที่ถูกกล่าวว่า จะเป็นมนุษย์กลุ่มที่ฉลาดและแปลกใหม่ที่สุด จากการที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีมากมาย ในขณะเดียวกัน ถ้าเด็กเหล่านี้เกิดในปี 2557 เท่ากับว่าพวกเขา เกิดมาพร้อมกับรัฐประหารของไทยครั้งที่ 13 ภายใต้การยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่ากับว่าตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน พวกเขายังอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลจากการรัฐประหาร
วันนี้ (24 สิงหาคม 2565) กับปมนายกฯ 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5:4 รับคำร้องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และ สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา คาดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
De/code ชวนอ่าน 8 เรื่องราว จาก 8 สาขาอาชีพ ตั้งแต่นักวิชาการ ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในการเมือง ไปจนถึงพนักงานร้านชำและลูกหนี้ กยศ. 8 ปีที่ผ่านมาของพวกเขาเป็นอย่างไร ระยะเวลากว่า 2,921 วันในการบริหาร ควรไปต่อหรือพอแค่นี้
“นอกจากคุณจะไม่ช่วยเหลือพวกเขาแล้ว คุณยังมาซ้ำเติมกันอีก ทั้ง ๆ ที่คุณควรจะมาถามเขาด้วยซ้ำ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง”
พี่ขาวหรือ ขาว ชาญเชี่ยว เป็นคนสุรินทร์ เกิดมาพร้อมพันธุกรรมที่ทำให้มีลักษณะเป็นคนผิวเผือก ส่งผลให้ตาแพ้แสงและระบบประสาทที่ส่งภาพจากตาไปยังสมองผิดปกติ ทำให้พี่ขาวมองเห็นได้เพียงเลือนรางและมีปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยที่สูงขึ้น
เมื่อจบ ป.6 จึงเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนนวดแผนไทยที่ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน จนได้วุฒิฯ เทียบเท่า ม.3 และทำงานนวดกับทางศูนย์ฯ เรื่อยมาเพื่อหารายได้ส่งให้พ่อที่เป็นอัมพฤกษ์อยู่ที่ต่างจังหวัด แต่อาชีพนี้จำเป็นต้องยุติลงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านนวด
“พอเกิดโควิดร้านต้องปิดตามนโยบายของรัฐ ตอนนั้นมืดแปดด้านไม่รู้จะไปทำอะไร นวดก็ไม่ได้ถ้าถูกจับขึ้นมาจะถูกยึดใบประกอบโรคฯ คนตามองไม่เห็นมันไม่มีอาชีพอะไรให้เลือกมาก นอกจากโดนสั่งปิดร้านนวดแล้ว ห้องที่เราเช่าเขาก็จะขอคืน เราไม่รู้จะทำยังไง เลยโทรไปปรึกษากับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เขาให้หวยมาขาย 500 ใบ ในราคาโควต้าผู้พิการ”
ด้วยต้นทุนราคาหวยจากสมาคมคนตาบอดที่ต่ำกว่าท้องตลาด ทำให้พี่ขาวได้ค่าส่วนต่างประมาณ 9 บาท 80 สตางค์ต่อใบ รวม ๆ แล้วมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 4,000-4,500 บาท ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
“ส่วนต่างที่ว่า ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจจะพอประคับประคองไปได้ แต่สำหรับคนพิการ ต้นทุนตรงนี้คือเราต้องรวมค่าเดินทางที่มากกว่าคนทั่วไป อย่างคนอื่น เขาสามารถนั่งรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้า รถสาธารณะต่าง ๆ แต่เราต้องนั่งรถโดยสารส่วนตัว อย่างพวกแท็กซี่ ราคามันต่างกันตั้งเท่าไหร่แล้ว”
“ยิ่งตอนช่วงโควิดนะเจ็บปวดมาก ก่อนมาขายหวยเราเปิดร้านนวดอยู่ใต้คอนโด ทำคนเดียว วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่เขตบอกต้องเสียภาษีเพราะมีลูกน้อง เราก็บอกไปว่ามาเก็บเราได้ยังไงในเมื่อร้านนี้เราทำคนเดียว ไม่ได้จ้างใครเพิ่ม”
“เจ็บปวดที่ว่า นอกจากที่เขาจะไม่ได้ลงมาช่วยเราแล้ว เขายังมาเอาเปรียบเราอีก คุณควรจะต้องมาถามด้วยซ้ำ ว่าเราเป็นยังไงบ้าง ขาดเหลือตรงไหน ไม่ใช่ว่ามาถามเรื่องเก็บภาษีที่เราไม่ต้องจ่าย”
ถึงแม้ว่าพี่ขาว พึ่งจะเข้าสู่วงการตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในโควต้าผู้พิการ ของสมาคมผู้พิการแห่งประเทศไทย ได้เพียงเกือบ 3 ปี ถึงอย่างนั้น ภาพของผู้พิการสูงอายุ ที่ยังต้องเข้ามาทำงานในเมืองกรุง เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า 8 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ประเทศไทย กำลังมีปัญหา
“มันพูดยากนะ ว่าครบแปดปี สองวาระนี้เขาจะไปหรือไม่ แต่เราเข้าใจและเชื่ออย่างหนึ่งว่า เวลาคนมีอำนาจมาก ๆ มันไม่ใช่ว่าสูงและหาทางลงไม่เจอ แต่มันพยายามที่จะหาวิธีไม่ให้ตัวเองต้องลงต่างหาก”
ความเจ็บปวดของพี่ขาว คือการกดทับที่ยิ่งทับซ้อนลึกลงไปของคนไทย แปดปีที่ผ่านมาอาจเป็นจุดเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่สำหรับพี่ขาวและผู้พิการรวมถึงตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลอีกหลายคน นี่คือความเจ็บปวดชั่วชีวิต ที่ยังต้องดิ้นรนต่อไป
“มันเป็น 8 ปีที่ไม่ใช่เพื่อคน 99% แต่เพื่อคน 1% คือ นายทุน นายพล และเผด็จการ” ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงาน
“8 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดเลย คือ เราเป็นรัฐเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตย และมันน้อยลงเรื่อย ๆ มันส่งผลถึงคุณภาพชีวิตประชาชนหลายด้าน ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นมาเกือบ 10 ปี หรือแทบไม่ขึ้นเลย ยังเป็น 15,000 บาทต่อเดือน 300บาท/วัน แทนที่จะกลายเป็น 20,000/เดือน 700บาท/วัน หรือ 1,000 บาท/วัน”
“ขณะที่ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งค่าเดินทาง ข้าวปลาอาหาร น้ำมัน วันหยุดของเราก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ตามกฎหมายอย่างต่ำ 6 วันต่อปีก็ไม่ได้เพิ่มเป็น 10 วัน 15 วัน”
นี่คือภาพชีวิตแรงงานช่วง 8 ปีที่ผ่านมาในสายตาของ “แชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง” จากสหภาพคนทำงาน เขาในฐานะแรงงานคนหนึ่งที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน แชมป์บอกว่า ช่วงเวลา 8 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือทำหลาย ๆ อย่างให้ดีขึ้นได้ แต่นั่นไม่ได้เกิดกับชีวิตแรงงาน หรือ คนทำงาน ที่เป็นคนส่วนใหญ่ 99% ของประเทศ แต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งกลับเกิดขึ้นกับกลุ่มคนเพียง 1%
“เวลาตั้ง 8 ปี มันน่าจะทำอะไรได้เยอะ ที่ผ่านมาไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เขาบอกว่ามันโต อาจจะไม่ได้สะท้อนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งมันไม่เพิ่มแถมยังน้อยลงด้วย ผ่านการขาดทุนด้านเวลา 8 ปี ชีวิตคนสั้นลงไปแล้ว การที่เราจะมีโอกาสมีความสุข แต่ชีวิตของเราหายไปแล้ว 8 ปี ขณะเดียวกันก็เห็นว่า คนที่รวยคน 1% เนี่ย ก็สามารถที่จะผูกขาด และสร้างกำไรได้มากขึ้น หลายคนรวยขึ้น บางคน 5 ปี ก็ติดอันดับเศรษฐีจากผลประโยชน์ที่ได้จากการรัฐประหาร”
สำหรับชีวิตแรงงานของแชมป์เอง เขาบอกว่าเคยทำงานที่ได้เงินเดือนเริ่มต้นจาก 18,000 บาท ไปจนถึง 30,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่รู้สึกว่ามีชีวิตที่ดีในกรุงเทพฯ แต่แชมป์เองก็มีความโชคดีแตกต่างจากแรงงานส่วนใหญ่ 2 อย่าง คือ 1) แชมป์อยู่ในครอบครัวข้าราชการ เป็นอาชีพที่มีสวัสดิการ ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนควรมีสิทธิได้รับไม่ว่าจะเป็นใคร และ 2) คำว่าประชาธิปไตยในที่ทำงาน แชมป์บอกว่า เมื่อเขารู้จักคำนี้ ทำให้เขาเริ่มต้นกิจการของตัวเอง (เพจ PUD) ที่มีโมเดลการทำงานที่มี “ประชาธิปไตย” ในที่ทำงาน 100% ทำให้เขามีวันทำงานลดลง มีรายได้เพิ่มจากเดิม 4-5 เท่า และมีเวลาไปทำงานเคลื่อนไหว
“จริง ๆ ควรพอตั้งแต่รัฐประหาร 2549 หรือว่ารัฐประหาร 2534 แต่พลังของคนฝั่ง 99% ของประชาชน คนทำงานมันไม่ได้ถูก orgazined ไม่ได้ถูกจัดตั้ง เราถูกวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน ถูกทุนนิยมครอบ และแข่งกันเองในทางเศรษฐกิจ ส่วนในทางการเมืองมีปรากฎการณ์ตาสว่าง แต่ก็ควรตาสว่างในทางเศรษฐกิจด้วย เพราะในทางเศรษฐกิจ และในที่ทำงานมันก็มีเผด็จการอยู่เหมือนกัน”
“ตาสว่างจากเจ้า ก็ต้องตาสว่างจากเจ้าสัวนายทุนด้วย”
“เขามีศาล มีกองทัพ มี สว. มีอำนาจทุกอย่างที่ทำให้เขาไปต่อได้ นี่คืออำนาจของเขา ถามว่าฝั่งเรา ฝั่งแรงงานที่บอกว่า พอเหอะเรามีอำนาจอะไร เรามีอำนาจในฐานะคนทำงาน ถ้าเราจัดการกันได้ ถ้าสังคมไม่มีพวกเรา 99% ต่อให้เขามีศาล มีกองทัพ เขาไม่สามารถมากวาดถนน มาทำงานในโรงงานได้ เขาไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจทั้งหมดมันขับเคลื่อนได้ เขาไม่สามารถรักษาคนในโรงพยาบาลได้ เขาไม่สามารถมาสอนคนได้ทั้งประเทศ มันคือพวกเราทั้งนั้นที่ทำให้สังคมนี้มันไปต่อได้ แต่เราแค่ไม่รู้ว่าเราจะใช้อำนาจนั้นอย่างไร”
“วิธีแก้ คือ ไม่ใช่เรารอให้เขาแก่ตาย หรือออกไป แต่คือการรวมตัวกันไล่ เริ่มจากรู้ก่อนว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เพื่อต่อรอง และไล่ให้ออกไป”
“ไทยกำลังแข่งขันกับนานาประเทศ เราต้องสร้างประเทศให้เข้มแข็งในทุก ๆ มิติ เราอยากได้ผู้นำที่มีความรู้ความสามาถ ที่กำกับราชการและไม่ใช่คล้อยตามราชการ มันถึงเวลาแล้ว 8 ปีมันเพียงพอแล้ว ที่จะพิสูจน์ว่า ไม่ได้ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ต้องสงสารประเทศ ถ้าจะอยู่ต่อไป”
สมชัยศรี สุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย อธิบายไล่เรียงตั้งแต่แรกว่า รัฐบาลใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ถือว่าเป็นรัฐบาล 2 ประเภท ใน 2 ช่วงเวลา คือ 1) 4 ปีเศษกับการเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และ 2) 3 ปีเศษ กับการเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บนกติการที่ไม่เป็นธรรรม ที่ถูกสร้างมาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งทำให้เขาได้เปรียบในการต่ออำนาจ ภายใต้เสื้อที่เป็นประชาธิปไตย
ใน 4 ปีแรก ของการเป็นรัฐบาลมาจากรัฐประหาร มีจุดเริ่มต้นที่อ้างเหตุความไม่สงบทางการเมือง บอกว่าสังคมเกิดความขัดแย้ง และเป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยกลไกของรัฐ และเป็นเรื่องจริงระดับหนึ่ง เพราะรัฐบาลไม่อยู่ในสถานะที่ควบคุมอะไรได้เลย และอยู่ภายใต้การกดดันของผู้ชุมนุม
ซึ่งอาจเกินขีดความสามารถที่ทำได้ ผู้นำเหล่าทัพที่มีอำนาจตอนนั้นคิดที่จะทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงมากขึ้น หรือเป็นส่วนหนึ่งในการรัฐประหารหรือไม่นั้น ยังต้องหาคำตอบและข้อเท็จจริง
“หลายเรื่องเกิดการยืนยันว่า คล้าย ๆ เป็นเช่นนั้น เช่น คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดว่ามีการประสานมาตลอด”
การระบุว่าต้องการมาลดความขัดแย้งในสังคม สมชัยมองว่า ความขัดแย้งยังคงอยู่ เพราะวิธีไม่ใช่วิธีการที่สร้างการปรองดองสมานฉันท์ แต่เป็นการใช้อำนาจที่ทำให้ฝ่ายนึงได้เปรียบและอีกฝ่ายนึงเสียเปรียบ ขณะที่ความพยายามจะนำสังคมไปสู่ความสงบนั้น สมชัยบอกว่า ได้ผล แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
“ผมถือว่าได้ผล เพราะคุณใช้วิธีการถืออาวุธเข้ามาทำให้เกิดความสงบ แต่มันเป็นเพียงชั่วคราว ตราบใดที่มีอาวุธ คุณก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมคุณได้ อันนี้เกิดขึ้นจริง แต่ชั่วคราว”
ขณะที่ความพยายามในการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามที่ได้พูดไว้นั้น สมชัยบอกว่า “ไม่เกิดขึ้นจริง” แม้ว่าที่ผ่านจะมีทั้งกลไกราชการ มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีคนดูแลเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้เลย กลับพบว่า รัฐบาลใช้วิธีทำโครงการแบบ BIG ROCK เพื่อสร้างผลสะเทือนทำให้เกิดในการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ เห็นการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวชัดเจนมากขึ้นในช่วงโควิด-19 สมชัยบอกว่า
ช่วงโควิดระยะแรก รัฐบาลถึงกับ “ไปไม่เป็น ไม่รู้วิธีการจัดการ”
“ตอบสนองการแก้ไขต่าง ๆ ช้ามาก อย่างเช่น การขาดแคลนหน้ากากอนามัย และปัญหาวัคซีนล่าช้า รวมถึงการกู้เงินมาเพื่อเยียวยา 1.5 ล้านล้านบาท ยังมีการตั้งคำถามว่า มันคือ กู้แล้วใช้อะไร ใช้ในการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงหรือเปล่า มันเป็นการช่วยเหลือประชาชนชั่วครั้งชั่วคราว สะท้อนวิธีคิดของรัฐบาลที่ไม่สามารถเอาเงินกู้มหาศาลทำให้เกิดการยั่งยืน และทำให้ประทเศฟื้นตัวได้ แต่ทำให้ช่วยทำให้คนมีรายได้อยู่ในปัจจุบันมากกว่า”
สุดท้ายในด้านสังคม ที่วันนี้ยังมีความขัดแย้งอยู่ โดยเฉพาะการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ที่ถามถึงผู้ปกครองของประเทศ แต่กลับไม่มีคำตอบให้ ทั้งที่พวกเขาต้องเติบโตในสังคมนี้
“หลายคนเติบโตในรัฐบาลจนเรียนจบ แต่หางานทำไม่ได้ สังคมไม่ให้โอกาสให้เขาอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ มีรายได้เพียงพอ มันเลยมีคำถามว่า โครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่ มันเปิดโอกาสที่ให้ทุกคนจริงไหม หรือเป็นโครงสร้างที่ต้องใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจจึงจะมีชีวิตที่ดี และก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้เขายังไม่พอใจกับสังคม แม้มีกติกาเลือกตั้ง 4 ปี ก็ยังไม่พึงพอใจ เลยมีวิธีการแสดงออกหลากหลาย แต่รัฐดันไปแปลความหมายว่าเขาเป็นปัญหาของสังคม และใช้อำนาจทางกฎหมายไปจัดการ เพื่อทำให้เกิดความคับข้องใจ ซึ่งถ้าจริง เขาก็ไม่อยากอยู่ที่นี่ จึงเกิดกระแสย้ายประเทศ เพราะอยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เราอาจจะขาดคนที่มีความรู้ความสามารถจะมาพัฒนาประเทศในอนาคตได้”
สุดท้าย ประเด็นการยุบสภาหรือไม่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนครบวาระ 8 ปี ในตำแหน่ง วันที่ 24 สิงหาคม 2565 สมชัยบอกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ เลือกยุบสภาก่อนศาลวินิจฉัยการอยู่ครบวาระ 8 ปี นี่จะเป็นการยุบสภาเพื่อหนีการวินิจฉัยครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลมักจะยุบสภาด้วยเหตุผล บริหารราชการไม่ได้ ไม่ราบรื่น หรือมีความขัดแย้งภายใน หรือเสนอกฎหมายสำคัญแล้วไม่ผ่าน หรือต้องการช่วงชิงกระแสนิยมที่กำลังดี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้พรรคตัวเองมากขึ้น ด้วยมั่นใจว่าจะได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง
แต่สำหรับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น หากมีการยุบสภาด้วยประเด็น 8 ปี พล.อ.ประยุทธจะยังสามารถรักษาการณ์ไปจนกว่ามีการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างน้อย 5 เดือน ซึ่งรัฐบาลรักษาการณ์จะพ้นตำแหน่งได้จนกว่าจะมีบรมราชการโองการโปรดเกล้าฯ รัฐบาลชุดใหม่
“สิ่งที่หลายคนวิเคราะห์ว่า อาจมีการยุบสภาก่อนศาลวินิจฉัย หากตรวจสอบหรือได้รับสารจากวงในว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่เป็นคุณต่อตัวเอง และศาลจะพิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งหลายคนมองว่ามันต้องจบตอนนี้แล้ว มันหลายเหตุผลที่หนุนความคิดนี้ มีความเป็นไปได้ว่า เสียงส่วนใหญ่คือจบ ไปต่อไม่ได้ รอศาลตัดสินเมื่อไหร่ก็ต้องหยุด ตั้งแต่ 24 สิงหาคม และรักษาการณ์ไม่ได้ ครม.ต้องหารองนายกฯ มารักษาการณ์ ถ้ารู้ว่าตัวเองไปแน่นอน” สมชัยกล่าวทิ้งท้าย
นักดนตรี ภาพจำของการมอบความสุขให้กับผู้คน แต่ในทุกภาวะวิกฤต พวกเขาเหล่านี้แทบจะเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่รัฐ หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้เสมอ
หากย้อนกลับไปถึง 8 ปี พัทธ์ธีรา สุริยธรรมา ยังคงเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในช่วงเวลานั้น พัทธ์ธีรายังไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่คงไม่ต้องย้อนไปถึง 8 ปี เพียงช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การบริหารท่ามกลางสถานการณ์โควิด ในฐานะของนักดนตรีนั้น ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ
“แต่ก่อนเรายังเล่นกลางคืนที่ร้านอยู่ แต่พอโควิดมา ทุกร้านเลิกจ้างเราหมดเลย แต่ไม่ใช่แค่เรานะ นักดนตรีเกือบทุกคนโดนเลิกจ้าง โชคดีหน่อยก็พักงาน แต่บางคนคือเลิกไปเลย”
“เราว่าสิ่งที่มันเศร้า คือหลายคนมองดนตรีเป็นความสุขสำหรับเขา แล้วยิ่งเป็นช่องทางทำกินสำหรับเขาด้วยแล้ว ยิ่งหนักขึ้นไปอีก”
จากกรณีที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอิสระเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ศิลปินกลางคืน นักร้อง นักดนตรี ศิลปินกลางแจ้ง ลิเก หมอลำ เป็นต้น กำหนดให้ผู้ประกันตนในกิจการดังกล่าว ได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 5,000 บาทต่อคน โดยเริ่มโอนเงินให้ในวันที่ 29 ธันวาคม 2564
ถึงอย่างนั้น การรับเงินเยียวยาในฐานะอาชีพอิสระอย่าง นักดนตรี ในประเทศไทย พัทธ์ธีรากล่าวว่า ในบ้านเราทำให้การรับเงินเยียวยา ยุ่งยากขึ้นไปอีก ระบบที่ใช้งานและเข้าถึงยาก ทำให้หลาย ๆ คนล้มเลิกที่จะได้เงินก้อนนี้ และเลือกที่จะจำนำหรือขายเครื่องมือทำกินของตน
“อย่างสิงคโปร์ เงินมันเข้ากระเป๋าของคน ๆ นั้นเลย แต่อย่างที่เราในประเทศไทย เหมือนเราต้องไปร้องขอแบบอ้อนวอนมาก ๆ ซึ่งหลาย ๆ คนก็ไม่ได้ อย่างที่เห็นในช่วงโควิดรอบแรก ๆ ตามเพจบางร้านเขาแจกข้าวฟรีให้กับนักดนตรี มันกลายเป็นประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง”
หลังจากที่เราผ่านพ้นโควิดระลอกที่ 4 มา พัทธ์ธีรากล่าวว่า หลาย ๆ ร้านเริ่มปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่าย อย่างการจ้างนักร้องที่สามารถเล่นกีต้าร์ได้ นั่นทำให้ต้นทุนในการจ้างนักร้องลดลงกว่าครึ่ง ส่งผลให้นักดนตรีที่ผ่านมาหลายคนก็ไม่ได้ถูกจ้างงาน นักดนตรีหน้าใหม่ที่อยากหากินในเส้นทางนี้ก็ไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ
เธอกล่าวว่าในช่วงเวลาหนึ่ง เธอสามารถที่จะยึดอาชีพนักดนตรีในการทำมาหากินได้เลย เธอเริ่มหารายได้เองจากการเล่นดนตรี ทั้งในช่วงเวลากลางวันและช่วงเวลากลางคืน แต่ในปัจจุบัน พัทธ์ธีราหันมาทำงานประจำ ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเธอไม่มีความสุขในการทำงานประจำ ทว่า อาชีพนักดนตรี นักร้อง ที่เป็นความสุขของเธอ อาจไม่ได้นำมาซึ่งความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในชีวิต
“พอเถอะ 8 ปีที่ผ่านมาเราก็พิสูจน์หลาย ๆ อย่างแล้ว เราเชื่อว่าถ้าการเมืองดี หลาย ๆ อาชีพ โดยเฉพาะนักร้องนักดนตรี มันสามารถยึดเป็นอาชีพได้ นั่นหมายความว่าแต่ละคนก็สามารถที่จะมีความสุขจากงานที่ตัวทำได้เหมือนกัน”
ไข่ไก่ วัตถุดิบสุดแสนจะธรรมดา ทำได้ตั้งแต่ต้ม ทอด เจียว เพียงอย่างเดียว หรือนำไปประกอบเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ทว่า ในปี 2565 นี้ ไข่ไก่ กำลังจะกลายเป็นวัตถุดิบที่หลายคนเริ่มเข้าไม่ถึง เพราะราคาที่แพงขึ้นทุกขณะ
วาสนา คะณาดา พนักงานร้านชำแห่งหนึ่งในย่านตลิ่งชัน เล่าว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าอะไรของก็แพงไปหมด ไม่ใช่แค่วัตถุดิบ แต่ของสำเร็จรูปหลาย ๆ อย่างก็ขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
“โดยเฉพาะไข่ไก่ อย่างของที่ร้านเราใช้เบอร์สอง เรารับมา 4 บาท เราขายตกฟองละ 5 บาท ซึ่งไข่เนี่ย ทุกคนมันก็ต้องกิน จะไข่เจียวหรือเอาไปทำอย่างอื่นก็ตาม”
ราคาไข่ไก่ ตามตลาดทั่วไปมีการปรับขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลาไม่ถึงปี บางไซส์ของไข่ ราคาขึ้นถึงแผงละ 6 บาท เนื่องจากพบว่าราคาของไข่ไก่จากฟาร์มจะมีการปรับตัวเกือบทุกเบอร์ เฉลี่ยแผงละ 5-6 บาท เนื่องจากไข่ไก่ตามฟาร์มมีปริมาณน้อยลง
“อย่างลูกค้าหลาย ๆ คนที่มาประจำ แต่ก่อนมันปรับเป็นปี เป็นเดือน เดี๋ยวนี้เริ่มปรับเป็นอาทิตย์ ปรับเป็นวัน คนเขาเตรียมตัวกันไม่ทัน เราก็บอกลูกค้าตั้งแต่เข้ามาเลย ว่าวันนี้ไข่แพงขึ้นนะ ข้าวแพงขึ้นนะ แต่ทำไงได้สุดท้ายก็ต้องซื้อไปอยู่ดี”
วาสนาเล่าว่าตัวเองเป็นชาวอีสาน เธอเริ่มเข้ากรุงเทพฯ ได้สัก 3 ปี เพราะลูกสาวติดมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ จึงตามขึ้นมา จนได้มาเจอเจ้าของร้านชำ และทำงานส่งลูกสาวเรียนไปด้วย
เธอเล่าย้อนถึงอดีต แต่ก่อนเธอเป็นสาวชาวไร่ ปัญหาเรื่องวัตถุดิบทางการเกษตรราคาตก เป็นปัญหาที่เธอพบเจอมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และรายได้เริ่มน้อยลงไปทุกวัน ๆ
“บางทีเราก็คิดนะ ข้าวของตอนเราเป็นคนขาย ทำไมเราได้ถูกจัง เงินได้อยู่นิดเดียวเอง แต่พอเราเป็นคนซื้อ แต่ละอย่างนี่แพงจริง ๆ”
“ลูกค้าหลายคนที่มาซื้อของที่ร้านชำก็เป็นพวกพนักงาน แรงงานนี่แหละ เงินที่พวกเขาเอามาจ่ายก็เป็นค่าแรงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ตามข้าวของที่แพงขึ้นทุกวัน ๆ”
วาสนากล่าวทิ้งท้ายว่า 8 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าหลาย ๆ คนเห็นกันอยู่ สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คงไม่พ้นคนที่ต้องมาซื้อไข่ไก่ทุกวัน ทุกสัปดาห์ โดยที่ค่าแรงพวกเขาไม่ได้ขึ้นมานานหลายปีแล้ว
ไข่แพงในยุคลุงมีอยู่จริง และคนหายไปเพราะพิษเศรษฐกิจในยุคลุง ก็มีอยู่จริงเช่นกัน
ตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2562 ไม่ใช่ทุก ๆ อย่างจะถูกโควิดทำให้หายไปเพียงอย่างเดียว แต่โอกาสหลาย ๆ อย่างก็ถูกโควิดทำให้เห็นชัดขึ้นด้วย หนึ่งในนั้นคืออาชีพแรงงานแพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์ ที่รับส่งอาหารและผู้คน
กิตติคุณ เกิดผล เป็นแรงงานแพลตฟอร์มคนหนึ่ง เขาเริ่มมาประกอบอาชีพนี้ ในช่วงกลางปี 2562 เนื่องจากร้านอาหารที่เขาประกอบอยู่ ได้รับผลกระทบ จึงตัดสินใจมาเริ่มขับรถรับส่งผู้คน
อาชีพไรเดอร์ หรือคนขับรถส่งอาหาร-ผู้คน ถือเป็นอาชีพใหม่ที่มาแรงในสังคมไทย เพราะนอกจากจะสามารถทำงานที่ไหน หรือทำตอนไหนก็ได้ รายได้ที่มาจากน้ำพักน้ำแรง ยิ่งทำมากยิ่งได้มาก
นั่นเป็นความจริงที่ฉาบไว้ภายนอกของอาชีพนี้ เพราะนอกจากรายได้ที่มาก รายจ่ายก็มากด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่มีสวัสดิการใดมารองรับ ทั้งในแง่ของกฎหมายและสวัสดิการจากบริษัทเอง นั่นทำให้อาชีพไรเดอร์ จึงเป็นอีกอาชีพที่ความมั่นคงน้อยมาก ๆ
แต่กิตติคุณมองมุมกลับ อาชีพไรเดอร์ ซึ่งกิตติคุณเน้นรับส่งผู้คนนั้น สามารถสร้างรายได้ให้เขาพอสมควร “เอาเข้าจริง ๆ รายได้มันสามารถที่จะทำให้เรายึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักได้เลยนะ”
“มันประจวบกับพอโควิดเข้ามา ร้านอาหารของเรารายได้หายไปครึ่งต่อครึ่งเลย เราก็เลยไปขับรถเพื่อที่จะมาเสริมรายได้ แต่พอช่วงนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ก็เลยยึดตรงนี้เป็นหลัก และพอร้านอาหารเปิด ก็ไปทำงานที่ร้านบ้าง”
กิตติคุณกล่าวว่า ในช่วงระยะ 8 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขามองเห็นและชัดเจน คือปัญหาเหล่านี้ประสบพบเจอกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ทั้งอัตราเงินเฟ้อจากหลาย ๆ ประเทศ สงครามรัซเซีย-ยูเครน หรือเหตุการณ์อื่น ๆ โดยเฉพาะโควิด นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทั่วโลกต้องหยุดชะงัก
“มันถึงเวลาที่ต้องปรับกันมากกว่า เราเชื่อในเรื่องของการปรับ ยิ่งโลกยุคนี้จากโซเชี่ยลด้วยอะไรด้วย ถ้าปรับช้าเราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าไม่ปรับ ผลลัพธ์ที่ได้มันก็ไม่เปลี่ยนหรอก”
หากในอนาคต ที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ยังมีเสียงหนาหูถึงเรื่องราวของทางออก 8 ปีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นไปได้หลายทาง กิตติคุณให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “อนาคตก็ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ถึงอย่างนั้นก็ให้มันเป็นไปตามหลักการและเหตุผล เราเชื่อว่าอะไร ๆ จะคัดกรองสิ่งที่เหมาะสมกับสังคมเอง”
ท้ายที่สุด คงต้องมาลุ้นและเฝ้าดู ว่าสิ่งใดกันจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสังคม อย่างที่กิตติคุณกล่าวในข้างต้น
8 ปี สวัสดิการพื้นฐานในประเทศไม่เพียงพอ
ไม่มีตาข่ายรองรับความฝัน หรือชีวิตของผู้คนทุกช่วงวัย
“สิ่งที่พังในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา คือ ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น และถูกทำให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงโควิด-19 ทำให้เห็นว่า สวัสดิการพื้นฐานในประเทศนี้มันไม่เพียงพอเลย ไม่เพียงพอที่จะเก็บความฝัน หรือชีวิตคน ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ เด็กเกิดใหม่ นักเรียนนักศึกษา คนว่างงาน คนหนุ่มสาว”
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงสังคมในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2557
“เราใช้อยู่ในสังคมที่ผุพัง แล้วก็สิ้นหวังมากขึ้น เพราะว่านโยบายหลายอย่างที่ออกมา เป็นนโยบายสวัสดิการในเชิงสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมันมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก อย่างที่เราเห็นในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการเยียวยาที่ถูกส่งตรงไปยังกลุ่มเจ้าสัว กลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มพวกนี้น่าสนใจมากว่าพวกเขาได้รับผลประโยชน์เชิงนโยบายมากขึ้น พร้อมกันกับที่พวกเขาสามารถสะสมความมั่งคั่งขึ้นได้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา”
แต่ภายใต้ความพังนั้น 8 ปีที่ผ่าน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ก็เห็นการขยับขึ้นของประเด็นรัฐสวัสดิการที่แต่เดิมถูกพูดถึงในวงวิชาการเท่านั้น แต่วันนี้ ประเด็นเหล่านี้ถูกเขยิบเข้าสู่วงของกลุ่มเอ็นจีโอ และคนรุ่นใหม่ ซึ่งหากมองเป็นเส้นกราฟ ถือว่ามีแต่ขาขึ้น แม้อาจแผ่วกระแสลงบ้าง แต่กระแสนี้จะไม่หมุนย้อนกลับแล้ว
“อยากย้อนกลับไป 10 ปีก่อน การพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นการพูดในวงแคบ ๆ ของวงการวิชาการ ซึ่งในวงวิชาการเองก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ตอนนี้ขยายสู่ภาคประชาชน และกลุ่มเอ็นจีโอ คนที่ขับเคลื่อนเพื่อกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่นเดียวกับเอ็นจีโอที่เมื่อก่อนเวลาพูดประเด็นอะไรก็จะแยกขาด พูดแต่ประเด็นของตัวเอง แต่ตอนนี้เอ็นจีโอแบบเก่าก็เริ่มหายไป แทนที่ด้วยนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ อันนี้พูดถึงในช่วงแรก จากนั้นรัฐสวัสดิการก็เข้าไปสู่กระแสของคนรุ่นใหม่ เข้าไปสู่กระบวนการเรียกร้อง ถ้าเราดูก็ตั้งแต่ ปี 2562/63/64 ไล่มา”
“ส่วนตัวผมเองในด้านวิชาการ รัฐสวัสดิการเป็นที่นิยมมาก ผมได้รับการรับเชิญไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้แทบจะทุกจังหวัดในประเทศ คนรุ่นใหม่สนใจและตอบรับอย่างดีมาก ที่สำคัญในม็อบคนรุ่นใหม่พูดเรื่องนี้มากขึ้น เด็กที่มหาสารคาม ปัตตานี ยะลา เขาสามารถพูดเรื่องนี้ได้ในภาษาของเขาเอง”
“หากยังจำกันได้ช่วงที่เยาวชนปลดแอกชูสัญลักษณ์ค้อนเคียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ มีการพูดเรื่องรัฐสวัสดิการนู่นนี่ไป แม้แต่คนที่เคยขวาแต่ก่อน เอากลไกตลาดอย่างมาตลอด หรือค่อนไปทางอนุรักษ์หรือทางเศรษฐกิจมาก ก็ออกมาพูดว่า ฉันไม่เอาคอมมิวนิสต์นะ แต่ฉันเอารัฐสวัสดิการ”
“ผมเห็นเวฟอะไรต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่วัน ที่เราพูดถึงการ เรียนฟรีมีเงินเดือน และ ล้างหนี้กยศ ถึงแม้ยังมีคนไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้ กยศ.อยู่เยอะในโลกออนไลน์ ซึ่งในโลกออนไลน์และโลกจริงมันค่อนข้างคู่ขนานกันมาก แตกต่างกันมาก แต่มันก็กระแสว่า “ฉันไม่เอาล้างหนี้ แต่ฉันเอาเรียนฟรีอย่างเดียว” ซึ่งแต่ก่อนมันไม่ใช่โมเมเนต์แบบนี้ ซึ่งคิดว่าเพดานของเรามันขยับมากขึ้น ๆ และมันไม่สามารถหมุนกลับมาได้”
“เป็นสิ่งเดียวที่ผมเห็นว่าในความพังของประเทศ แต่การต่อสู้ของประชาชนก็เขยิบมากขึ้นเช่นกัน”
แต่หากมองการขับเคลื่อนประเด็นรัฐสวัสดิการในสภา ในเชิงกฎหมายนั้น รศ.ดร.ษัษฐรัมย์บอกว่า เห็นชัดเจนมากว่ามันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการที่ถูกผลักโดยภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง เช่น พรรคอนาคตใหม่ หรือ ก้าวไกล เคยเสนอ พ.ร.บ.แรงงาน ซึ่งมีการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญต้องให้นายกฯ เซ็นต์ว่าสามารถเข้าสภาได้ไหม ซึ่งนายกฯ ก็ไม่เซ็นต์ ก็ปฏิเสธไป บอกว่า ไม่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น กฎหมายก็ตกไป ส่วน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่เสนอโดยภาคประชาชนก็ดี พรรคการเมืองก็ดี ก็ไปติดล็อกตรงนี้”
“ถ้ากลไกสภาต้องทำงานใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ มันแทบไม่สามารถผลักดันอะไรที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าได้เลย”
“แน่นอนว่า คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งนี้ เพราะเขามาด้วยการรัฐประหาร อย่างที่เกริ่นไป มันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่เพียงแค่ พล.อ.ประยทุธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่ควรออกจากตำแหน่งไป แต่หมายถึงองคาพยพต่าง ๆ ที่เขาได้วางไว้ เช่น สว. รัฐธรรมนูญ กลไกลการสืบทอดอำนาจ กลไกที่เอื้อต่ออำนาจนิยม หรือว่าแคปเปญด้านอนุรักษ์นิยมที่เขาได้วางไว้ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไปพร้อมเขาด้วยเช่นกัน”
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามตารางชำระหนี้ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ณภัทร เพ่งจินดา จะปลอดหนี้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ที่วางตารางชำระไว้ 15 ปี แต่วันนี้ ณภัทรกำลังเข้าคิวเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จาก กยศ. ขอไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน จ.ตราด หลังหนี้ของเธอเหลือต้องชำระอีกราว ๆ 140,000 บาท จากยอดเงินทั้งหมดประมาณ 162,000 บาท
“ความคาดหวังของเราก็คือ ไม่อยากถูกฟ้อง และได้รับการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างให้เราสามารถผ่อนจ่ายได้เป็นรายเดือน อย่างเดือนละ 2,000-3,000 บาท เราพอรับไหว ”
ณภัทร เริ่มกู้เงิน กยศ.เมื่อปี 2547 ในส่วนของค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี ส่วนค่าเทอมนั้น ได้ทุนเรียนฟรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ด้วยต้นทุนจากครอบครัวที่เธอบอกว่า “ก็ไม่มี” พยายามส่งเงินมาช่วยอีกเดือนละ 3,000 บาท เงิน 7,000 บาท ถูกใช้ไปกับค่าหอ และกินอยู่
“ถ้าไม่ได้ทุน ก็ไม่ได้เรียนแน่นอน”
ณภัทรบอกว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว การเรียนจบปริญญาตรีเป็นเป้าหมายของใครหลาย ๆ คน นักศึกษาสายอาชีวะ สาขาการก่อสร้างอย่างเธอก็มองไกลถึงปริญญาตรีเช่นกัน เพราะหวังว่ามันจะช่วยให้หางานง่าย และมีรายได้ดีกว่าวุฒิที่มีอยู่ก่อนหน้า ดังนั้นเมื่อได้ทุนเรียนฟรีกับสถาบันที่มีคุณภาพแล้ว เธอจึงตัดสินใจกู้เงิน กยศ. เพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้า และอยู่รอดในชีวิตนักศึกษาได้ แถมยังได้ช่วยลดภาระพ่อแม่ที่ก็ลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ความรู้สึกตอนนั้น แตกต่างจากความรู้สึกเมื่อเรียนจบพร้อมกับหนี้ก้อนใหญ่เกือบ 2 แสนบาท ณภัทรบอกว่า รู้สึกถึงภาระที่ใหญ่โต ชีวิตติดลบตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม แต่ก็ตั้งใจชำระเงิน ซึ่งเริ่มจ่าย 500 บาททุกเดือน โดยแบ่งจากเงินเดือนเพียง 10,000 บาท นาน 1 ปี (ทำงานนี้อยู่ 5 ปี เงินเดือนขึ้นปีละ 100 บาท) แล้วหยุดส่งไป ราว 2-3 ปี จากนั้นผู้ค้ำประกันได้รับจดหมายทวงหนี้ เธอจึงพยายามหาเงินก้อนอีกเกือบ 60,000 บาทไปจ่าย เพื่อทำให้สถานะบัญชีปกติ
8 ปีที่ผ่านมาของณัทร คือ ความพยายามที่จะใช้หนี้ กยศ. ท่ามกลางภาระด้านอื่น ๆ ของชีวิต นั่นคือ การเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง ลูกสาว และพ่อแม่ ยังไม่นับรวมความบอบช้ำจากเลขตัวแดงจากธุรกิจในแวดวงรับเหมาก่อสร้างที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 และมาช้ำหนัก ๆ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
“เราพยายามจะใช้หนี้ตลอด แต่พอเขาเรียกเก็บเป็นก้อนใหญ่ เราก็ไม่ไหว ถามว่าเศรษฐกิจมีผลแค่ไหน มันมีผลแน่นอน ยิ่งในช่วงโควิด-19”
เธอบอกว่า ด้วยจำนวนหนี้ที่ “ต้องจ่ายในคราวเดียว” สูงเกินไป ทำให้เธอผลัดผ่อนการจ่ายมาเรื่อย ๆ (ดอกเบี้ย/ค่าปรับ/ค่าติดตาม เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ) ไม่เคยมีความคิด หรือเจตนาจะไม่จ่าย หรือไม่คืนเงิน เพราะถือเป็นความรับผิดชอบ แม้จะเห็นด้วยกับการผลักดันแคมเปญ ล้างหนี้กยศ. ในเชิงที่ว่าการล้างหนี้ให้นักศึกษาใหม่ ๆ ที่ควรเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเป็นโอกาสของทุกคนที่ควรได้รับ พ่อแม่ไม่ต้องดิ้นรนมากเกินไป ส่วนตัวเองก็ไม่เสียใจที่ต้องจ่ายเงินคืน กยศ. เพราะกู้แล้วต้องใช้คืน เพราะความจริงด้านหนึ่งของชีวิตนั้น ตัวเองก็มีโอกาสได้เพราะเงินก้อนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านกระบวนไกล่เกลี่ย แน่นอนว่าณภัทรยังเป็นต้องเป็นลูกหนี้ กยศ.ต่อไปอีกสักระยะ เธอบอกว่าความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ใช่เพียงแค่วินัยของผู้จ่ายเพียงอย่างเดียวที่ช่วยปลดหนี้ได้เท่านั้น แต่เรื่องของเศรษฐกิจบ้านเมืองก็มีส่วนที่ทำให้คนทำมาหากินได้ มีเงินเพียงพอเหลือมาชดใช้หนี้ด้วย แต่จากการทำงานมาช่วง 10 ปี เห็นได้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น
ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5:4 รับคำร้องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี และ สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา คาดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้
ถึงอย่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในตำแหน่ง เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม รวมถึงการเสนอยุบสภา ‘ทำไม่ได้’ เพราะนั่นเป็นอำนาจเฉพาะตัวนายกฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ก็ทำแทนไม่ได้
8 ปีในไทม์ไลน์โลก มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายและการปรับตัวจากการแพร่ระบาดก็ส่งผลให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ การสืบทอดอำนาจและองคาพยพจะยังคงมีอยู่และปัญหาของประชาชนจะถูกแก้ไขหรือไม่
หนึ่งเดือนข้างหน้า เราคงต้องมาติดตามกันว่าเลข 8 ที่ว่า จะหยุดอยู่แค่แนวตั้ง หรือจะทิ้งตัวเป็นแนวนอน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ว่ายังอีกไกล อาจไม่นานเท่าอย่างที่เราคิด