ผลพวงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวนและพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์และเป็นจุดตัดสินใจที่ผู้ซื้อรถใหม่จะพิจารณามากขึ้นในปีนี้
แม้ที่ผ่านมารถไฟฟ้าจะมีตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ไปจนถึงผู้ที่อาศัยในเขตเมือง บวกกับแผนการยกเลิกการใช้ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในหลายประเทศ และการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
คำถามสำคัญนอกเหนือจาก เราจะมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อที่จะฟื้นฟูธรรมชาติในวันที่โลกแปรปรวนขึ้นทุกขณะหรือยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับเราได้อย่างไร คือการจัดการต่อ ’แรงงานเก่า’ เมื่อสิ่งตกค้างจากยุคสมัย คือคนหนึ่งคนที่อาจหาเลี้ยงทั้งครอบครัว
De/code คุยกับ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อนวัตกรรมใหม่เข้ามา จำเป็นจริงหรือ? ที่แรงงานเก่าเหล่านี้ต้องหายไป ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านแรงงานอย่างเป็นธรรม จากเทรนด์รถไฟฟ้า(EV) ที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวได้อย่างไร
ไม่ใช่แค่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว แต่คือการตามโลกให้ทัน
“จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เท่าที่อาจารย์ตามมาก็ได้เกือบสักประมาณ 5 ปี สิ่งที่เราเห็น คือเราเห็นความชัดเจนมากขึ้นของนโยบาย” อาจารย์กิริยากล่าว
จากทิศทางในตอนแรก ในวันที่เทรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาในไทย มีเพียงแต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้มีนโยบายระบุชัดเจนว่า ไทย ควรจะดำเนินการอย่างไรในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและเริ่มชัดเจนขึ้นในปี 2564 ก็ได้นโยบาย ”30@30” ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า เราตั้งใจที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว
นโยบาย 30@30 เป็นนโยบายภายใต้กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีแผนที่จะผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2030 หรือพ.ศ. 2573 นั่นทำให้หนึ่งในสามของรถยนต์ในประเทศไทยจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV
หากนับเป็นตัวเลขจริงจะเท่ากับ เราสามารถที่จะมีรถยนต์เก๋งหรือรถกระบะที่เป็นไฟฟ้า 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้า 34,000 คัน รวมถึงส่งเสริมในการสร้าง รถสามล้อ รถไฟฟ้าระบบราง และเรือโดยสารอีกด้วย
ซึ่งแผนดังกล่าว อาจารย์กิริยาให้ความเห็นที่ว่า ความชัดเจนเหล่านี้มันมาจากตัวเลขที่ปรากฎออกมาใน road map หนึ่งถึงสองปีนี้เราจะมีจำนวนรถเท่าไหร่ หรือเลิกใช้เครื่องยนต์สันดาปได้เท่าไหร่ มีสถานีชาร์จในจุดไหนบ้าง
“แผนที่เกิดขึ้น เขาเริ่มจากการที่ต้องการให้มีอุปสงค์ก่อน เพราะฉะนั้นในปีที่ผ่านมาเราจะเห็นโปรโมชั่นการออกรถไฟฟ้าคันแรก ซึ่งก็จะลดราคาไปประมาณ 100,000 บาท หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นลำดับถัดไป”
นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่การตามให้ทันโลกเพียงอย่างเดียว “เราพบว่าประเทศไทย มีแรงงานยานยนต์จำนวนมาก ซึ่งเรามีจุดแข็งในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ การปรับเปลี่ยนให้ทันโลกเพื่อที่จะสร้างความสามารถการแข่งขันในการผลิต จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศไทยต้องปรับตัว” และนั่นหมายถึงว่าการมีอยู่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานจำนวนมากเช่นกัน
จากจุดเริ่มต้นในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเศรษฐกิจสีเขียวมาปรับใช้ในบ้านเรา พลังงานสะอาดที่จะเข้ามาแทนที่พลังงานเก่าที่ปล่อยมลพิษจำนวนมาก
แต่สิ่งที่ไทยจำเป็นจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมนี้จริง ๆ คือการที่เราจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก และสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการจ้างงานและรายได้ที่หมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
แรงงานเก่า กลุ่มเสี่ยงที่จะหายไปในทุกการเปลี่ยนผ่าน
ภายใต้ความท้าทายและโอกาส ที่ไทยจะเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สิ่งที่ต้องตั้งคำถามตามมา เมื่อหัวใจสำคัญรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์สันดาป คือเครื่องยนต์ที่มีจำนวนอะไหล่ถึง 30,000 ชิ้น ในขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีชิ้นส่วนสำคัญคือแบตเตอรี่เป็นหลัก ในวันที่ชิ้นส่วนกำลังจะไม่เป็นที่ต้องการถึง 9 ใน 10 ส่วน แล้วแรงงานที่เหลือจะต้องไปอยู่ทีไหนกัน
“แรงงานที่ได้รับผลกระทบเราก็ต้องแยกออกมาเป็นแต่ละแบบ ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็ไม่ใช่กลุ่ม Tier 1 หรือ Tier 2 ที่เขาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังจำเป็นอยู่หรือในกลุ่มพวกแบรนด์รถดัง ๆ แต่เป็นแรงงาน Tier 3 หรือพวกกลุ่ม SME ยานยนต์ กลุ่มเหล่านี้จะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ”
“ซึ่งเราจะเห็นว่าห่วงโซ่นี้มันมีผู้เล่นอยู่เยอะมาก ตั้งแต่เจ้าใหญ่ เจ้าเล็ก พอการเปลี่ยนผ่านมันคัดกรองคนที่จะได้ไปต่อ แล้วคนที่ไม่ได้ไปต่อเขาต้องไปอยู่ที่ไหน”
อาจารย์กล่าวว่า จากการประเมิน มีแรงงานที่จะหายไปการลดชิ้นส่วนเหล่านี้ถึง 300,000 กว่าคน แต่แรงงานเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า แรงงานสังกัดอยู่ที่ใด หากอยู่ในบริษัทใหญ่ นั่นหมายความว่าบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่ายังไงก็ต้องปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
แต่กลับกันกลุ่ม SME ที่มีทุนค่อนข้างน้อย และผลิตชิ้นส่วนไม่กี่ชิ้น หากชิ้นส่วนนั้นเป็นชิ้นส่วนที่ต้องยกเลิกไปอย่าง ถังน้ำมัน ท่อไอเสีย ก็เท่ากับว่าไม่สามารถที่จะปรับตัวได้เลย เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จึงมีทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ
ถึงแม้ในปัจจุบัน ภาพของผลกระทบในการยกเลิกการจ้างงานแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ จะไม่ได้ชัดเจนมากนัก เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านที่ว่านี้ เรายังดำเนินอยู่ในขั้นของนโยบายและอยู่ในช่วงนำร่อง ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เราเห็นคือความพยายามในการที่จะลดพนักงานลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด 19 เช่นกัน
“มันไม่ได้มาในรูปแบบของการ Lay off แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เห็น จะมาในรูปแบบของการไม่มีโอที พอชั่วโมงรายได้เขาหายไป นั่นหมายถึงเงินของแรงงานเหล่านี้หายไปด้วย ซึ่งในส่วนของแรงงานยานยนต์ รายได้จากโอทีนั้น พอ ๆ กับเงินเดือนของเขาเลย เช่น สมมติว่าเงินเดือนตามตำแหน่งอยู่ที่ 15,000 บาท ปกติจะได้โอทีเกือบ ๆ เท่าเงินเดือน แต่พอไม่มีเงินจากโอที ทำให้รายได้เขาหายไปถึงครึ่งเลย”
จึงกลับมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า เราจะก้าวหน้าเข้าสู่สังคมพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นทิศทางของโลกอนาคตได้จริงหรือ ในเมื่อโลกอนาคตที่ว่า อาจต้องทิ้งแรงงานเก่าหลายแสนคน
เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ หนึ่งคำตอบจากหลายทางเลือก
“ในเรื่องนี้มันเน้นไปที่ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านครั้งใดก็ตาม กลุ่มแรงงานเขาจะไม่ลอยเคว้ง ไม่ใช่ว่าเขาไม่ตกงาน แต่พวกเขาจะได้รัฐสวัสดิการตรงนี้มาโอบอุ้ม”
ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน เรามีความชัดเจนแล้วที่จะเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาป ไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่เรายังไม่มีความชัดเจนในแง่ของการเปลี่ยนผ่านแรงงาน ว่าหลังจากเราเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มตัวแล้ว แรงงานเก่าที่เสี่ยงจะตกงาน จะไปอยู่ที่ใด
“เวลาเราพูดถึงโลกร้อน ไม่ว่าใครก็เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่พอทีนี้เราเข้าสู่การแก้ไขปัญหาหนึ่ง แต่กลับทิ้งปัญหาสำคัญอย่างเรื่องแรงงานไว้ ซึ่งมันจะมีทั้งแรงงานในกลุ่มพลังงานฟอซซิล ปัญหามันไม่ควรจะไปตกอยู่ที่แรงงานในอุตสาหกรรมเก่าเพียงอย่างเดียว”
เพราะฉะนั้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านแรงงานอย่างเป็นธรรมขั้นแรก เมื่อเราจะเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว คือเราจำเป็นที่จะต้องคิดถึงในแง่ของสังคมด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว “คุณจะต้องนำพาคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมเก่าไปด้วย นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นธรรม”
ถึงแม้ในความเป็นจริงเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานส่วนมาก หลายคนทำงานตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจนเวลาผ่านไปมีอายุที่มากขึ้น การ Reskill หรือ Upskill อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อตัวแรงงาน ถึงอย่างนั้นการให้สวัสดิการจากบริษัทเองก็ตาม หรือรัฐสวัสดิการจากภาครัฐ จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะมอบให้กับแรงงานในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
อาจารย์กิริยาเล่าถึงตัวอย่างของการมอบสวัสดิการจากการสำรวจในงานวิจัยของอาจารย์ในอดีต แรงงานบางส่วนโดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุพอสมควรและทำงานกับบริษัทมานานมีความพร้อมที่จะออกจากงานหากได้รับเงินชดเชยที่สูงมากพอ โดยจะนำเงินไปลงทุนทำการเกษตรที่บ้านเกิด ทั้งการลงทุนเพื่อครอบครัว หรือการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ไปจนถึงการลงเล่นในการเมืองท้องถิ่น
กลับกันแรงงานที่ยังหนุ่ม มักเรียกร้องการเพิ่มอัตราการ Reskill หรือ Upskill ให้เข้ากับสายงานมากกว่า เนื่องจากเงินก้อนที่ได้หากต้องออกจากงานเดิม นั้นอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของทั้งครอบครัวในระยะยาว การเพิ่มทักษะให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน จึงเป็นทางเลือกที่แรงงานหนุ่มเหล่านี้เลือกมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินชดเชยจำนวนมาก ก็ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะสามารถมอบให้กับแรงงานทุกคนได้ ในขณะเดียวกัน อาจารย์กิริยาให้ข้อมูลว่า กลุ่มแรงงานเหล่านี้เมื่อถึงช่วงอายุ 45-50 ปี ก็มักจะออกจากงานก่อนกำหนดหรือ Early retire เนื่องจากสภาพร่างกายที่ใช้งานหนักมาอย่างยาวนาน
และเมื่อมองที่การ Reskill หรือ Upskill ในประเทศไทย อาจารย์กิริยามองว่า บ้านเรายังมีปัญหากับการจัดการแรงงานในส่วนนี้
อาจารย์ยกตัวอย่างระบบที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ของประเทศในโซนยุโรป อย่างประเทศเยอรมนี เมื่อแรงงานเสี่ยงที่จะตกงานเพราะต้องพบกับการเปลี่ยนผ่านทางแรงงานมากขึ้น ในประเทศเขามีหน่วยงานซึ่งจัดทำเว็บไซต์สำหรับการหางานที่สอดคล้องกับทักษะและความสนใจของตนเองได้ รวมถึงมีหน่วยงานเข้ามาดูแลในการที่จะต้องหางานใหม่อีกด้วย
“จริง ๆ ตัวเว็บไซต์นี้ก็เหมือนกับพวกหลาย ๆ เว็บหางานในไทยนี่แหละ อย่างพวก Jobthai หรือ JobDB แต่พอมันเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ มันชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไหนที่ขาดแรงงานบ้าง การค้นหางานใหม่ การเพิ่มหรือฝึกฝนทักษะใหม่มันเลยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความต้องการของแรงงานมากขึ้น”
อาจารย์กิริยาเล่าว่า ของประเทศไทยเรามีเว็บไซต์แบบนี้เช่นกันอย่างเว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ” ของกรมการจัดหางาน แต่ด้วยระบบของเว็บไซต์รวมถึงความต้องการของตลาดและความสอดคล้องของแรงงาน ทำให้รูปแบบนี้ ไม่ได้ประสบผลสำเร็จนักในประเทศไทย
นอกจากนี้รัฐสวัสดิการที่อาจารย์มองเห็นว่าเป็นไปได้และเราควรที่จะทำคือการจัดตั้งกองทุนสำหรับแรงงาน เมื่อทุกการเปลี่ยนผ่านเราปฏิเสธถึงความที่เสี่ยงที่จะต้องมีการตกงานได้นั้น การจัดตั้งกองทุน คือทางออกที่จะอุ้มชูแรงงานจำนวนมาก ไม่ให้ลอยเคว้งจนเกินไป
“รัฐบาลจึงควรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานไว้เพื่อใช้สำหรับฝึกทักษะแรงงาน เหมือนกับที่รัฐบาลช่วยนักลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แรงงานต้องการรับทราบแผนการผลิตธุรกิจของบริษัทเพื่อจะได้วางแผนชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น การจัดตั้งกองทุนนี้ ก็เพื่อที่จะช่วยให้แรงงานหลายกลุ่มสามารถมีรายได้พอที่จะประคับประคองหลังจากที่รัฐได้ช่วยเหลือในการเพิ่มทักษะ ที่เหมาะสมกับงานใหม่ของพวกเขา”
เปลี่ยนพลังงาน เปลี่ยนวิถีชีวิต?
ไม่ใช่แต่รถยนต์ส่วนตัวของประชาชนทั่วไป ที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานไฟฟ้า ภาครัฐของไทยเองก็กำลังมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถเมล์ ให้เปลี่ยนเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน
จากกรณีของรถเมล์สาย 8 แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ถึงแม้จะเป็นส่วนของการใช้บริการ ไม่เหมือนกับแรงงานในด้านการประกอบสร้าง ก็มีเสียงวิตกกังวลไม่น้อย ที่ยังกังวลถึงแรงงานที่จะเสี่ยงจะตกงาน อย่างกระเป๋ารถเมล์หรือพนักงานขับรถเมล์
“ในส่วนตัวอาจารย์มองว่า แรงงานอย่างพนักงานขับรถเมล์หรือกระเป๋ารถเมล์ไม่ใช่กลุ่มที่น่าห่วง เรามองเรื่องการเปลี่ยนผ่านในแง่ของทักษะ ซึ่งกลุ่มนี้หากรถเมล์ EV เข้ามาจริงก็น่าจะทำงานในสายงานเดิมต่อได้ ยกเว้นว่าในเงื่อนไขของบริษัทจะเลิกจ้างไปหรือมีการปรับเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินที่จ่ายแบบอัตโนมัติ ซึ่งเรามองว่ายังคงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้”
และหากเปรียบเทียบกับแรงงานในการโดยสารสาธารณะอื่น อย่างเรือโดยสารในเส้นแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มแรงงานทั้งคนขับหรือพนักงานเก็บเงิน ก็ยังได้ทำงานในตำแหน่งเดิม สิ่งที่เราต้องมองจากกรณีนี้ อาจจะต้องเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บเงิน หรือการปฏิบัติงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของยานพาหนะโดยสาร
แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดการณ์ หากการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้จะนำไปสู่การตกงาน อาจารย์ยังคงมองว่า การเยียวยา บรรเทา รวมไปถึงการฝึกฝนด้วยทักษะเพื่อเข้าสู่งานใหม่ ด้วยสวัสดิการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน คือสิ่งที่ต้องมีให้กับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนหรือในอุตสาหกรรมใดก็ตาม
แล้วเราจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างไรให้เป็นธรรม แล้วเป็นธรรมที่ว่าจะต้องมีใครในส่วนร่วมนี้บ้าง
ทำ ให้การเปลี่ยนผ่านต้องเป็น ธรรม
คำถามที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัย นอกจากราคาที่ยังค่อนข้างสูงสำหรับการซื้อรถ EV ของหลาย ๆ ส่วนประกอบต่าง ๆ ในการทำนุบำรุงรถ EV อย่างอู่ซ่อม ร้านซื้อขายอะไหล่ชิ้นอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จ ที่ยังมีน้อยและสามารถขับได้แค่ในเมืองเท่านั้น เช่นนี้แล้ว เราจะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างไร?
อาจารย์กิริยากล่าวว่า “จริง ๆ ภายใน 1-2 ปี ภาครัฐเองก็พยายามที่จะหาจุดในการลงสถานีชาร์จ เพื่อให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ แต่ในปัจจุบันที่ยอดการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังคงน้อย อาจจะยังต้องรอให้จำนวนผู้ใช้มีมากขึ้น เมื่อถึงจำนวนที่ต้องการ พวกอุปกรณ์เหล่านี้จะได้พร้อมใช้งานในทันที”
จากการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป เข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะทำให้ยิ่งเห็นชัดว่า เทรนด์ที่เรากำลังเข้าสู่ในครั้งนี้ คือผลกระทบที่จะเปลี่ยนแปลงทุก ๆ คนไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
“จริง ๆ การเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของเอกชนอย่างเดียวนะ มันคือการร่วมมือกันของทุกฝ่าย การบูรณาการที่ว่าจะต้องมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงระบบการศึกษา ที่จะต้องปรับทิศทางแนวโน้มให้เข้ากับความต้องการของตลาด การร่วมจากทุกภาคส่วนนี้ นอกจากจะเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม อัตราการตกงานของแรงงานจบใหม่จะลดลงได้ด้วย”
ฉะนั้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านนี้ จึงต้องใช้การร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อที่จะให้ความสอดคล้องของแต่ละบริบทนั้น ไปด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่จะเสี่ยงโดนปัดตกออกจากขบวนของการเปลี่ยนผ่าน
การจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมในประเทศไทยนั้น อาจารย์มองว่าสิ่งแรกที่เราที่ต้องทำคือการวางแผนอย่างชัดเจน
“เราต้องมองให้ออกว่าเรากำลังจะทำอะไร และผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ มันจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องมองทั้ง 2 ฝั่งเพื่อที่จะมองเห็นภาพกว้างของการเปลี่ยนผ่านนี้ ถ้าเรายังมองมันไม่ออก นับว่ายากที่จะเราก้าวผ่านเรื่องนี้อย่างเป็นธรรม”
และสิ่งสำคัญ คือเราจำเป็นที่จะต้องมีสารเสวนา หรือการพูดคุยกับแรงงาน ว่าทิศทางของการ
เปลี่ยนผ่านนี้จะสอดคล้องกับทักษะและความต้องการของพวกเขามากน้อยขนาดไหน เพื่อที่จะให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นผลดีมากกว่าท้ายที่สุด เราสามารถเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่เข้าไปแค่ในเชิงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันเรากลับไปไม่ถึง และทำให้การจ้างงานและทักษะของแรงงานบ้านเราลดลง
ในส่วนของสารเสวนา ไม่ได้มีประโยชน์แค่เฉพาะในการที่นายจ้างหรือภาครัฐ สามารถที่จะรับรู้ความต้องการแรงงานเพื่อที่จะจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้
แต่ความสำคัญแท้จริงแล้ว คือการที่แรงงาน สามารถที่จะมีสิทธิ์มีเสียง ในการที่จะเจรจาทั้งการเยียวยา ค่าแรง ไปจนถึงการฝึกฝนทักษะเพื่อให้เข้ากับยุคใหม่อยู่เสมอ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องมานั่งภาวนา ว่าพวกเขาจะตกงานหรือไม่ เพราะพวกเขาก็ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลกเช่นกัน
ถึงปัจจุบันเรายังไม่เห็นภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากนัก แต่ก็เป็นเรื่องจริง ที่รถยนต์ประเภทนี้จะเข้ามาแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปแน่นอน ทั้งจากภัยโลกร้อน ปรากฎการณ์โลกรวน ไปจนถึงฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากควันดำของรถยนต์สันดาปโดยตรง
การเข้าไปสู่โลกใหม่อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเข้าไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ การมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมจึงไม่ควรลืมมิติทางสังคม อย่างแรงงานเก่าเหล่านี้ เพื่อสร้างสังคมที่ทุกมิติสามารถเติบโตไปได้ พร้อม ๆ กัน