ดีที่ฉันยังรักษาสัญญาไว้ได้ ที่บอกไว้ว่าจะกลับมาเล่าบทความอีก 2 ชิ้นที่ค้างกันอยู่ ถ้าบันทึกก่อนหน้า คือการเล่าตัวฉันให้รู้จักมากขึ้น ครั้งนี้ ฉันอยากจะเล่าเรื่องราวของครอบครัวมากขึ้น ครอบครัวที่ชื่อว่า ‘คนริมโขง’
ที่ใครเขาบอกกันว่าฉันมีค่า ไม่ใช่แค่ฉันเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน หรือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ผู้คนไหลผ่านไปมาตลอดเวลาเพียงแค่นั้นหรอกนะ
ถึงฉันจะไม่ได้ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมหรูหรา ข้อมือประดับด้วยนาฬิกาแพงหรือเพชร พลอย มากมาย แต่ชาวบ้านหน่ะ เขาบอกว่าในตัวของฉันมีค่า จากสิ่งของแวววับ ที่มีราคาสูงสำหรับพวกเขาอยู่ อย่างที่ อภิสิทธิ์ เกียมขุนทด, ณัฐวดี สระเเก้ว, นวนันท์ คลานุวัฒน์ เล่าไว้ใน บันทึกเล่นคำ : ก่อนที่การร่อนทองจะเหลือเพียงแค่เรื่องเล่า
‘เล่นคำ’ ฟังดูแล้วต้องนึกถึงการใช้เสียง คำ หรืออักษร ซ้ำกันในคำประพันธ์ เพื่อให้เกิดเสียงไพเราะ มีความหมายลึกซึ้ง
หากคนในแถบลุ่มเเม่น้ำโขงได้ยินคำนี้ ผู้คนต่างก็ตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะออกจากบ้าน เพราะคำว่า ‘เล่นคำ’ หมายถึง ‘การร่อนทอง’ โดยเป็นคำที่มาจากสำเนียงภาษาถิ่นอีสาน ที่เล่นคำมาจาก ‘ร่อนคำ’ และ คำ ก็คือ ทองคำนั่นเอง
ในตอนที่แสงสีส้มจากดวงอาทิตย์ยามบ่ายตกกระทบผิวน้ำจนสะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ เดินทางมาถึงหมู่บ้านบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ทัศนียภาพของแม่น้ำโขงทอดยาวตามแนวลำน้ำและแนวฝั่ง ช่างสวยงามและเงียบสงบเหลือเกิน
นอกเหนือจากการหาผัก หาปลาแล้ว การร่อนทองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้ชาวบ้านสามารถหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งการร่อนทองนี้มีมาตั้งแต่ในอดีต เป็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่า หากได้ทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิตด้วยทองคำแท้ ที่ทุ่มเทหามาได้จากการร่อนทอง จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง พบเจอแต่ความสุข และมีอายุยืนยาว
“ฟังก่อน ท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง บ้านม่วงและบ้านหนอง มาร่อนทองตรงโคกอ่าง มาร่อนทองตรงโคกอ่าง”
เสียงของ แม่ตั๊ก กล่าวบทเกริ่นสรภัญญะ จะพาเราไปรู้จักหนึ่งในวิถีชีวิตคนริมโขง นั่นคือ การ ”ร่อนทอง” หรือ “เล่นคำ”
แต่ถ้าถามว่าช่วงนี้การร่อนทองของชาวบ้านเป็นอย่างไรบ้างนะหรือ
“ได้อยู่ แต่บางวันก็หาไม่ได้หรอก น้ำมันขึ้น ไม่รู้เขื่อนเขาจะปล่อยน้ำมาเมื่อไหร่” เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ช่วงที่น้ำลด ถ้าว่างเมื่อไรผู้คนก็จะจับกลุ่มไปร่อนทองกัน หลังจากกรีดยางหรือทำสวนตอนเช้าเสร็จแล้ว ช่วงเวลาประมาณ 8-9 โมง ก็จะเริ่มชวนเพื่อน ๆ แม่บ้าน หรือลูก ๆ หลาน ๆ ที่มีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป ให้ออกไปหาร่อนทองกันจนถึงช่วงบ่าย หรือเย็น และวันนี้เห็นว่าแม่ตั๊ก จะพาน้อง ๆ ไปร่อนทองกันด้วย
“จับแน่น ๆ นะ ระวังตก” แน่ละ ถ้าจับไม่ดีละก็มีหวังร่วงลงไปแน่ พาหนะที่ชาวบ้านใช้เดินทางไปไหนมาไหน พร้อมกับเสียงแต๊ก ๆ ๆ ที่ดังอย่างเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือรถแทรกเตอร์ หรือรถไถ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ‘รถแต๊กแต๊ก’ ตามเสียงของเครื่องยนต์
ยามบ่ายในช่วงเดือนเมษายน ตามปกติแล้วถือเป็นช่วงหน้าแล้งที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงไปจนริมหาดมีพื้นที่กว้างมากกว่าเดิมหลายเท่า เป็นโอกาสให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสามารถลงมาอาศัยแม่น้ำโขงในการเล่นน้ำคลายร้อน ปูเสื่อนั่งคุยกัน ตั้งแผงขายสินค้า จับปู จับปลา ล่องแก่ง และร่อนทอง
นับจากจุดที่สิ้นสุดของแนวพุ่มไม้ไปจนถึงริมฝั่งน้ำ มีพื้นที่เพียงแค่ประมาณ 1-2 เมตร ที่ถือเป็นระยะชายหาด เราอึ้งมากที่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยซากไม้ พุ่มของต้นไคร้น้ำ และโขดหินเล็ก ๆ สามารถเรียกว่าชายหาดได้ น่าเศร้าที่ชายหาดอันกว้างใหญ่จมหายไปกับสายน้ำที่ขึ้นสูงผิดปกติ ระยะปลอดภัยที่น้ำไม่ลึกให้คนสามารถเดินย่ำน้ำร่อนทองได้มีแค่เพียงบริเวณโขดหินขนาดเล็กให้พอนั่งได้
“ถ้าน้ำมันปกติดีเหมือนเมื่อก่อนสัก 3-4 ปี พอช่วงแล้ง มันก็แล้งยาว คนเลยร่อนทองได้ บางคนที่ตั้งใจมานะ ก็ร่อนเจอเท่าเม็ดมะเขือพวง แต่ถ้าไปดูที่เขาร่อนตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีแล้ว” แม่ตั๊กเล่า
“ฟังก่อนท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง
บ้านม่วงและบ้านหนอง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง
งานบ่ได้ทำ จึงพากันมาร่อนทอง
เอาหินมานั่งหยอง บ้างร่อนทองแกว่งไปมา บ้างร่อนทองแกว่งไปมา
เจ็บขาก็ต้องทน ถึงสิจนก็ต้องเจียม
เอาจอบและเอาเสียมมาขุดดินถิ่นน้ำโขง มาขุดดินถิ่นน้ำโขง
ยามเย็นตะเว็นลง ดีใจล้นได้เห็นทอง
มื้อนี้สมใจได้เอาทองเมือบ้านเฮา ได้เอาทองเมือบ้านเฮา”
สรภัญญะที่แม่ตั๊กเกริ่นให้ฟังในตอนเช้า ถูกขับกล่อมขึ้นมาอีกครั้งอย่างเต็มท่วงทำนอง เพื่อเป็นบทเพลงสันธนาการให้กิจกรรมร่อนทองไม่เงียบเหงา และมีความครื้นเครงมากยิ่งขึ้น
พรานปลารุ่นเกือบสุดท้าย แต่แม่น้ำโขง อาจเป็นรุ่นสุดท้าย
ก่อนที่ในแม่น้ำโขงจะมีเขื่อนอยู่ทุก ๆ ที่แบบทุกวันนี้ เด็กมากมายตามริมแม่น้ำโขงก็มักจะตามพ่อและแม่ออกไปที่ริมแม่น้ำตั้งแต่ตอนเช้าเพื่อไปหาปลาที่มีอยู่เกือบทุกพื้นที่ของแม่น้ำ และก่อนจะออกจากบ้านก็ไม่ลืมที่จะจุดไฟตั้งหม้อไฟเอาไว้ เพราะลงไปถึงแม่น้ำประเดี๋ยวเดียวก็จะได้ปลาติดไม้ติดมือกันมาแล้ว
เรื่องราวของ พรานปลารุ่นเกือบสุดท้าย จาก เป็นอีกสิ่งที่เมื่อนึกถึงทั้งมีรอยยิ้มและน้ำตาคลอ ในเวลาเดียวกัน
ถึงฉันจะคุยโม้โอ้อวดว่าตัวเองมีค่ามากมาย ร่ำรวยแร่ทอง ที่มาพร้อมกับตัวฉันในสายน้ำอย่างไร แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่า สิ่งของที่มีค่าในสุดในตัวฉัน คือความอุมดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหารที่ฉันมอบให้กับ ครอบครัว ที่มาสร้างบ้านอยู่ใกล้กันตลอดมา
อาชีพหนึ่งที่ชาวบ้านประกอบกันมากที่สุดเมื่อสมัยก่อน คือ พรานปลา
พรานปลา หมายถึง ผู้หากินในทางฆ่าสัตว์ เมื่อนำมารวมกับปลาจึงมีความหมายว่าผู้ที่หากินจากการฆ่าปลา โดยส่วนใหญ่แล้วพรานปลานั้นจะอาศัยการครูพักลักจำมาจากรุ่นผู้ใหญ่ บางคนก็บอกว่าก็บ้านของพวกเขาอยู่ที่นี่อยู่ตรงริมน้ำโขง ก็อยู่กับน้ำกับปลามาตลอด
แต่ที่ต้องเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์นั่นก็เพราะ ด้วยสภาพความหลากหลายของระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ที่มีทั้งแก่ง(พื้นที่น้ำเชี่ยวมีหินน้อยใหญ่) ที่มีความอันตรายในการเดินเรือแต่มีปลารวมกันอยู่เยอะ
ทั้งเกาะดอน(โขด) แหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาจากการที่มีต้นไคร้มาเกาะและคก(ส่วนน้ำลึกที่เว้าเข้าไปจากชายฝั่ง) ที่ปลาใหญ่มักจะอาศัยอยู่ และอีกหลายระบบนิเวศทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ ไม่เพียงแต่การเดินทางเข้าไป แต่ต้องรู้ด้วยว่าควรใช้เครื่องมืออะไรกับพื้นที่ตรงไหน
“ปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม เมื่อก่อนปลามันจะทยอยขึ้นมาทั้งปลาเล็ก ปลาน้อย ปลาใหญ่หลายชนิด ชาวบ้านม่วงการงานจะหยุดไม่ได้ทำช่วงนั้น เพราะข้าวนาปีทำช่วงมีฝน ส่วนมากก็จะลงน้ำโขง ในหมู่บ้านเนี่ยไม่มีคนเลยนะ คนจะลงน้ำโขงกันหมด ทั้งผู้หญิง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ชาย ทั้งคนแก่ หาปลากันในแม่น้ำโขง”
จริงที่สุด พูดถึงเรื่องเหล่านี้เมื่อไหร่ ทำให้ฉันอดเศร้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้จริง ๆ …
อย่างที่ฉันได้เขียนไว้ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะกำลังประสบปัญหาน้ำขึ้น น้ำลงไม่ตรงตามฤดูกาล ซึ่งเหตุมาจากการสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมากตลอดสายธารของเเม่น้ำโขง ทำให้ความสมดุลทางระบบนิเวศหายไป
ปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดไม่สามารถวางไข่ได้ตรงตามฤดูกาล แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำก็ได้รับผลกระทบไปพร้อมกับพืชพรรณและสมุนไพรที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่เรียกกันว่า “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน” และเหมือนชาวบ้านจะพากันไปพบนักวิชาการต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขและฟื้นฟูตัวฉันให้กลับมาได้อย่างเดิม
ผศ.ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้พูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาและปัญหาที่ตามมาหากไร้การแก้ไขปัญหาระบบนิเวศในแม่น้ำโขงเอาไว้ว่า
“ต้องพูดถึงการฟื้นฟูแม่น้ำโขง แต่การจะฟื้นฟูแม่น้ำโขงขึ้นมามันเป็นเรื่องที่ต้องสู้กันยาวระหว่างนักสร้างเขื่อนกับนักอนุรักษ์และชาวบ้าน เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จริง ๆ แล้วเขื่อนจีนต้องปล่อยน้ำลงมาเพื่อรักษาระบบนิเวศให้น้ำท่วมและแล้งตามธรรมชาติ แต่เขื่อนที่ถูกออกแบบมาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องพวกนี้เลย รวมถึงเขื่อนไซยะบุรีต้องยกเลิกการใช้เขื่อนเพราะความเสียหายจากเขื่อนนี้รุนแรงมาก”
“ระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำโขงจะเสียหายรุนแรง ตอนนี้ก็เสียหายอย่างรุนแรงอยู่แล้ว และจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อลุ่มน้ำโขงทั้งหมด เช่น น้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่ลำน้ำโขงมากขึ้น ความแห้งแล้งจะมาเยือน ความมั่นคงทางอาหารจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน”
ว่ากันตามตรง ฉันรู้สึกได้ทันที หลังจากที่ทางตอนเหนือของฉัน ได้มีการปิดกั้นทางน้ำ หรือที่ผู้คนเรียกกันว่า ‘เขื่อน’ สิ่งที่ฉันกลัวที่สุด อาจไม่ใช่การที่ตัวฉันจะแค่หายไป แต่ถ้าวันหนึ่งจะกลับมาฟื้นฟู ถึงอย่างนั้นอาจจะสายไปแล้ว หากแก้ตั้งแต่วันนี้ให้กลับไปเป็นตัวฉันเมื่อ 10 ปีก่อน หลายคนบอกว่า อาจจะต้องใช้เวลาถึงร้อยปีเลยทีเดียว
10 เท่าของกาลเวลา เนิ่นนานและไม่อาจรักษาได้ในชั่วอายุคนรุ่นเดียว
ในปัจจุบันคนที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิดที่สุดคงหนีไม่พ้นคนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำอย่างชาวบ้าน เมื่อทรัพยากรที่เคยเป็นหลักใหญ่ในชีวิตของพวกเขาอย่างแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปสิ่งที่เคยมีอย่าง ปลา กุ้ง หอย และ พืชผักสวนครัว ลดน้อยลงไปจนยากที่จะหามาประทังชีวิตได้พวกเขาจึงต้องระหกระเหิน ออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ภายในเมืองนานทีปีหนจึงจะได้กลับบ้านมาสักครั้งหนึ่ง
ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย เผลอ ๆ การนับคนที่ยังเหลืออยู่ อาจจะนับได้เร็วกว่าคนที่ออกไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่แล้ว เมื่อพวกเขาไม่สามารถประกอบอาชีพอย่างเดิมของคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทรัพยากรทางธรรมชาติของพวกเขาไม่เหลือให้ประกอบอาชีพต่อ
เมื่อมองไปถึงเรื่องอนาคตที่ไม่รู้ว่าใกล้หรือไกล หากปัญหาเรื่องของเขื่อนที่มีอยู่ในแม่น้ำโขงยังไม่ได้รับการแก้ไขจากทางภาครัฐ ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
เพราะหากมองย้อนดูถึงวันที่เขื่อนไซยะบุรีถูกเปิดใช้งานขึ้นในเดือน ตุลาคม 2562 จนถึงทุกวันนี้มีเวลาห่างกันไม่ถึง 5 ปี ระบบนิเวศจากที่ยังดีอยู่จากช่วง 10 ปีที่แล้ว กลับเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในไม่กี่ปี เช่นนั้นแล้ว หากปล่อยปัญหาเรื่องของเขื่อนนี้ยังคงอยู่ต่อไป พวกเธออาจจะไม่มีทางได้เห็น ’พรานปลา’ ออกไปหาปลาในแม่น้ำโขงอีกเลย
ความสัมพันธ์ของฉันกับพวกเขานะหรือ อืม… บางคนก็เรียกฉันว่าเป็นแม่ อย่างชื่อของฉันแหละ แม่น้ำโขง ธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงพวกเขามาหลายชั่วอายุคน แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จักกัน ก็คงเป็นคนห่างไกล เพราะต่อให้เกิดอะไรขึ้น ชีวิตเรายังคงดำเนินต่อไปอยู่ดี
แต่ในมุมมองของฉันนะหรือ ฉันอยากอยู่ในฐานะเพื่อนพวกเธอเสียมากกว่า
ฉันสนุกทุกครั้งที่ได้รับบทเป็นประธานงานแข่งเรือยาว เสียงเชียร์ดังลั่น ทำฉันอยากไปเป็นผู้เข้าแข่งขันเสียเองเลย ฉันดีใจที่ข้าวปลาอาหารจากตัวฉัน ทำให้พวกเขาติดอกติดใจ และมีความสุขกับมื้ออาหารนั้น ๆ ไม่ว่าจะกินกับครอบครัว กับแฟน หรือกินคนเดียวก็ตาม สิ่งของมีค่าของพวกเขาที่ฉันไม่อาจรู้สึกถึงคุณค่ามันมากนัก สามารถให้พวกเขาได้ประกอบอาชีพใหม่อย่าง ‘คนร่อนทอง’
ทั้งหมดคือสิ่งที่ เพื่อน อย่างฉัน ยินดีมอบให้และเต็มใจที่จะได้รับคำขอบคุณกลับมา
น่าเสียดายที่ครั้งนี้ อาจเป็นบันทึกสุดท้ายที่พวกเธอจะได้อ่าน ฉันไม่มั่นใจว่าจะเขียนต่อไปได้อีกนานหรือไม่ สภาพร่างกายและอาการป่วยของฉัน เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ ตัวยาหลายอย่าง เริ่มไม่ได้ผล ซ้ำร้ายกลับได้แผลบางอย่างกลับมามากขึ้น
ถึงอย่างนั้น ยินดีที่ได้รู้จักทุกคน คำกล่าวต้อนรับในช่วงสุดท้าย คงไม่ช้าเกินไปที่เราจะได้รู้จักกัน ฉันคงดีใจมาก ๆ ที่พวกเธอหลายคนอยากจะรู้จักฉันเพิ่ม แต่เชื่อฉันเถอะ อย่ารู้จักฉันในฐานะเรื่องเล่าของใครสักคนเลย ถึงวันนั้น ตัวฉันอาจไม่อยู่ให้เธอได้ทำความเข้าใจเพิ่มแล้ว หวังว่าเราจะได้พบกัน
สวัสดีเพื่อนใหม่ หวังว่าเราจะได้ทำความรู้จักกันอีก วันหลังมาเล่าเรื่องของเธอให้ฉันฟังบ้างละ
อ้างอิงเนื้อหา
บันทึกเล่นคำ : ก่อนที่การร่อนทองจะเหลือเพียงแค่เรื่องเล่า
โดย อภิสิทธิ์ เกียมขุนทด, ณัฐวดี สระเเก้ว, นวนันท์ คลานุวัฒน์
พรานปลารุ่นเกือบสุดท้าย
โดย กวิน สุวรรณณัฐวิภา, คณิน นวลคำ, กิตติธัช ทนันชัย