“วิปรัฐบาล มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565” ไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกมา แฮชแทก #สมรสเท่าเทียม ก็ขึ้นติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ หลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรผ่าน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉลุย ทั้ง 4 ฉบับ
ความน่าสนใจของข่าวนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะร่าง พ.ร.บ. ได้ผ่านวาระแรกแบบที่เราไม่คาดคิดว่าจะเห็น ในขณะอภิปราย ทำให้เราได้เห็นว่าสภาอันทรงเกียรตินั้น สัญลักษณ์ของการใช้อำนาจและแห่งอำนาจ ใช้สิทธิ์เหล่านั้นไปในทิศทางใดกันบ้าง
ขณะเดียวกัน บรรดาร้านรวง ทั้งแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก โดยเฉพาะองค์กรระดับใหญ่หลายแห่ง ออกมาร่วมแสดงจุดยืน ทั้งการเพิ่มสีรุ้งในโลโก้ของตน ไปจนถึงการสร้างแคมเปญทางการตลาดต่าง ๆ แต่กลับไม่มีแถลงการณ์หรือการแสดงจุดยืนต่อ พ.ร.บ. ฉบับเหล่านี้มากนัก ทั้งที่นี่ คือสิ่งที่แสดงถึงการยอมรับเรื่องเหล่านี้ในเมืองไทยให้เกิดขึ้นจริง
หรือเราควรสร้าง ความรู้ ความเข้าใจ ‘ความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ’ ให้มากขึ้นอีก? แล้วต้องสอนกันอย่างไรหรือต้องกล่าวเรื่องนี้ไปถึงเมื่อไหร่ นั่นคือคำถามสำคัญยิ่งกว่า
De/code ชวนตั้งคำถามต่อเดือน Pride month ในสังคมไทย กับ 2 นักศึกษาในปัจจุบันและอดีต โดยเฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัย ทั้งในฐานะสถานที่ผลิตปัญญาชนและพื้นที่สร้างการตระหนักรู้สิทธิมนุษยชนเหล่านี้ แต่สำหรับใครหลายคน มหาวิทยาลัย ก็ไม่ใช่เซฟโซนเรื่องเพศของพวกเขา และจุดเริ่มต้นในรั้วอุดมศึกษา ยังสามารถเชื่อมโยงเป็นวงกลม ถึงสังคมระดับการทำงานและสังคมทั่วไป ได้อย่างมีนัยสำคัญ
เดี๋ยวจะมีปัญหา อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต
“ตอนที่หนูจะเริ่มทำ ก็เริ่มคุยกับเพื่อน ๆ จนไปปรึกษาอาจารย์นี่แหละ แต่เขากลับบอกว่า อย่าไปยุ่งเลย เดี๋ยวข้างบนเขาจะมองว่ามีปัญหา” คำบอกเล่าจากประสบการณ์ของ เบิร์ด – สุรกิจ สวนดอก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ยังเรียนชั้นปีที่ 1 สิ่งที่เบิร์ดพยายามจะทำ คือการผลักดันการแต่งชุดนักศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัย ให้เหมาะกับเพศสภาพและเพศวิถีของนักศึกษาแต่ละคน ดูไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับหลาย ๆ มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังลงท้ายด้วยว่า ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
“อาจจะเพราะตอนนั้นหนูยังเด็กด้วย เรามีแค่ไฟและแรงที่อยากจะทำ แต่พลังของเสียงพวกเรายังไม่มากพอ รวมถึงกระบวนการ วิธีความคิด ทำให้เรายังไม่สามารถผลักดันเรื่องให้สำเร็จ”
ปัญหาที่เบิร์ดพบเจอและอยากแก้ไขมัน เริ่มจากการที่เบิร์ดได้เห็นเพื่อนและรุ่นน้องหลายคน ถูกบังคับ ให้ต้องแต่งกายตามคำนำหน้าหรือเพศกำเนิดของตน “พี่ลองนึกดูนะ เพื่อนหนูบางคนผมยาวแล้วอะ แต่ต้องมาใส่เชิ้ตแขนยาว ผูกเนคไทด์ พี่ว่ามันแปลกมั้ย”
ปัญหาเรื่องชุดนักศึกษาในประเทศ เป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนเสียงแตกในสังคมหมู่กว้าง บ้างก็ว่านี่คือสิ่งที่ยืนยันความเป็นระเบียบเรียบร้อยและบอกสถานะของเรา ในอีกมุมหนึ่งก็กล่าวว่า ชุดนักศึกษาไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถและสามัญสำนึกที่มีต่อสังคมได้มากขนาดนั้น
เช่นเดียวกัน การแต่งการตามเพศสภาพและเพศวิถีของนักศึกษาหลายคน ที่เมื่อเข้าสู่รั้วอุดมศึกษา ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไว้ผมหรือแต่งกายอย่างไร หากแต่อยู่ในความเหมาะสมของกาลเทศะในสังคม
เบิร์ดให้ความคิดเห็นว่า การให้นักศึกษาที่เป็น LGBTQIA+ มาแต่งชุดนักศึกษาผู้ชาย นอกเหนือจากที่ใจของเขาจะเป็นผู้หญิง แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เด่นชัด ทำให้การบังคับใส่ชุดตามเพศกำเนิดนั้น มันดูแปลกและไม่เหมาะสมยิ่งกว่าเสียอีก
เมื่อความเหมาะสมของแต่ละคนไม่เท่ากัน จะด้วยทัศนคติของคนแต่ละ generation และการเติบโตที่ต่างกัน ทว่า ความเหมาะสมที่เบิร์ดบอก อาจไม่ได้มีเพียงความสุภาพและถูกต้องตามกาลเทศะในสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ความยากลำบากของการเป็น LGBTQIA+ ในสายตาเบิร์ด คือความเหมาะสมที่รัดกุมและบีบบังคับมากขึ้น เมื่อคุณ ไม่ได้เป็นแค่ ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’
ทำไมมีแค่ผู้ชายและผู้หญิง ที่เป็นอะไรก็ได้โดยไม่ต้องลงท้ายว่า ‘เป็นคนดี’
เบิร์ดเล่าต่อว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก การถูกเลือกปฏิบัติจากการที่เป็น LGBTQIA+ ส่วนแรกที่เบิร์ดพูดถึงคือ กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ทำให้ชีวิตของพวกเขายุ่งยากมากขึ้น
“คือจริง ๆ เวลาที่จะแต่งกายข้ามเพศอย่างนี้ คือเขาอนุญาตนะพี่ แต่ว่าต้องมีการไปทำเรื่องยื่นเอกสารต่าง ๆ ซึ่งมันใช้เวลามาก แล้วก็ใบชำระค่าเทอมลงทะเบียนเรียนเทอมล่าสุด”
“มันกลายเป็นว่า การจะเป็นเพศทางเลือกในมหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์อะไรหลาย ๆ อย่างมากกว่าคนอื่น ซึ่งนี่มันชัดเจนเลยว่า เขากำลังเลือกปฏิบัติกับพวกเราอยู่” เบิร์ดเล่าถึงขั้นตอนที่จะต้องแต่งตัวตามเพศที่ตนเองเลือก จากประสบการณ์ของคนรอบตัวที่พบเจอ
บุญรอด อารีย์วงษ์ นักประชาปฏิบัติการ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่หลายคนจะคุ้นหูคุ้นตากันในบทบาทของ Youtuber จากช่อง Poocao Channel รายการออนไลน์ที่ทำร่วมกันเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเป็นคนดี ที่ LGBTQIA+ ‘ต้อง’ มีในสังคมไทย ว่า
“มันเป็นค่านิยมที่แปลกประหลาดมาก คือจริง ๆ คนทุกคนเขามีสิทธิ์ที่จะเป็นอะไรก็ได้อย่างที่เขาอยากจะเป็น ไม่ว่าเขาตั้งใจเป็นอะไร จะเพศไหน จะสีผิวไหน หรือจะเป็นใครก็ตาม”
“น่าคิดที่ว่า คำพูดเหล่านี้เนี่ย มักจะถูกใช้กับเพศที่ 3 เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเจตนาคนพูดเขาจะดีหรือไม่ ในขณะที่เพศชายหรือเพศหญิงเนี่ย เขาไม่มีคำพูดแบบนี้ใส่กันนะ เขาจะเละเทะ จะตั้งใจเรียนหรือไม่ตั้งใจเรียนก็ได้ แต่พอเป็นเพศที่ 3 ต้องเป็นคนดี ต้องจิตใจดี ต้องเรียนเก่ง ไม่ใช่ว่าทำเรื่องเหล่านี้แล้วจะได้รับการยอมรับด้วยนะ เพียงแค่คนเขาก็จะไม่ว่ามากขึ้นเท่านั้นเอง”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินประโยคที่ว่า ขอให้เป็นอะไรแต่ให้เป็นคนดี ต่อกลุ่ม LGBTQIA+ คำถามคือ ทำไมการเพิ่มข้อบังคับหรือเงื่อนไขเหล่านี้ต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ถึงจะทำให้เขามีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตอย่างปกติได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีทั้งในจอละครและฉากชีวิตจริงในเมืองไทย
ภาพของพ่อแม่ที่ออกมาสนับสนุนลูกที่ตัดสินใจเป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น ขณะเดียวกันที่ลงท้ายประโยคว่า เป็นคนดีก็พอแล้ว ทำไมคำเหล่านี้ถึงไม่ตกไปอยู่กับเพศอื่น หรือต้องมีผลการเรียนที่ดีถึงจะทำให้เห็นว่า การตัดสินใจที่จะเป็นสิ่งแปลกในค่านิยมของสังคม จะไม่ทำให้พวกเขาหลุดกรอบจากสิ่งที่สังคมตั้งค่าไว้
กลับกัน ทั้งที่ผลการเรียนที่ดี ขึ้นอยู่กับปัจเจกหรือความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียนของทุกคน นั่นยิ่งสะท้อนการแต่งการตามเพศสภาพที่เบิร์ดกล่าวถึง การต้องยื่นเอกสารต่าง ๆ เพื่อวัดคุณสมบัติของการเป็นนักศึกษาที่ดี มีผลต่อการตัดสินว่าเขา จะไม่เป็นสิ่งแปลกของสังคมมากไปกว่านั้นในสายตาของมหาวิทยาลัย
บุญรอด เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงาน ลูกค้าที่เข้ามาจ้างงานบางคน ตั้งใจที่เข้ามาด้วยความไม่น่ารัก จากสายตาที่มองเหยียดหยามถึงความเป็น LGBTQIA+ ทวีหนักขึ้น เมื่อราคาตัวตนของพวกเขา แปรผันเป็นราคาของชิ้นงานที่จ้าง บุญรอดกล่าวว่า การที่เขากดราคาเรา เพราะเราเป็น LGBTQIA+ เพราะเขามองว่าเรา มีความสามารถไม่เท่าคนอื่น ทั้งที่ความจริง จากมุมมองของบุคคลที่ 3 ลูกค้าน่าจะมองจากผลงานของพวกเขาก่อนไม่ใช่หรือ จึงจะมาจ้างงาน?
บุญรอด อารีย์วงษ์
ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ที่เบิร์ดและบุญรอดต้องพบเจอในสังคม รวมถึงสิ่งที่ปรากฎในสื่อต่าง ๆ คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอีกหลายคน ทั้งในบ้าน สถานศึกษา ที่ทำงานและสังคมทั่วไป
มายาคติอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในสังคมไทยที่ยึดโยงกับศาสนาและค่านิยม คือการที่พวกเขาเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องมีความเป็น ‘คนดี’และ ‘คนเก่ง’ ต่อท้ายอยู่เสมอ มายาคติเหล่านี้ คือสิ่งที่กลุ่ม LGBTQIA+ ต้องแบกรับและใช้ชีวิตตามครรลองของสังคม การต้องพยายามมากว่าเพศชายหรือหญิง ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะเข้าใกล้ความสำเร็จอย่างคำคมที่เราเคยได้ยิน แต่เป็นการกดทับและสร้างความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้น ให้กับพวกเขาเหล่านี้ต่างหาก
อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือการเรียกชื่อด้วยคำนำหน้าด้วยเพศกำเนิดตามที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน เบิร์ดให้ข้อสังเกตในจุดนี้ว่า จริง ๆ แล้วคำสรรพนามที่สามารถใช้เรียกแทนกันไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่นายหรือนางสาวก็ได้ หากว่าไม่รู้จริง ๆ การเรียกชื่อในห้องเรียนหรือการประกาศใด ๆ การเรียกชื่อจริงก็ยังถือว่ามีความสุภาพและเหมาะสมมากกว่า
กลับกันการเรียกชื่อด้วยสรรพนามอย่าง นายและนางสาว มันก่อให้เกิดสายตาที่จ้องจะจับผิดต่อคนโดยรอบ จากการที่ร่างกายไม่ตรงตามลักษณะกายภาพทางเพศพื้นฐานที่เราเรียนกันในตำรา ซึ่งบางที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าเขาคิดอะไรในใจ แต่สายตาที่มีท่าทีเหยียดและคุกคามนั้น สามารถกลายเป็นแผลใจที่เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องแบกรับไปตลอด
“ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ พี่ว่ามันคือการให้เกียรติ ลึก ๆ พี่เชื่อว่าเรารู้กันอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติมันอาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้น มันจะเกิดบรรยากาศที่มันเอื้อให้เกิดการเคารพในสิ่งที่แต่ละคนเลือกที่จะเป็นมากขึ้นด้วย” บุญรอด กล่าว
ค่านิยมของสังคม ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถพลวัตหรือเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ ไม่ว่าจะเรื่องความเหมาะสมหรือความดี และความพอดีของเรื่องนี้ ในสายตาของทั้งเบิร์ดและบุญรอด ควรจะเกิดมาจาก การให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าเลือกปฏิบัติ
ทำไม? การให้เกียรติที่ดูจะทำได้ง่ายแต่ทำไมในสังคมเรา ถึงกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด
หรือปัญหาต้นทางที่เราต้องแก้ไขคือ ทัศนคติของคนในสังคม มากกว่ากัน
ไม่ขอเป็นเดือน ไม่ขอเป็นดาว ขอให้มองเป็นคนก็พอ
หากพูดถึงมหาวิทยาลัยในประเทศไทยแล้วละก็ ภาพจำที่ปรากฎตามสื่อที่บอกเล่าถึงความเป็นมหาวิทยาลัย จะต้องมี ‘กิจกรรม’ ต่าง ๆ ปรากฎขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ ในขณะเดียวกัน กิจกรรมในมหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เท่าเทียมและความไม่หลากหลายทางเพศในสังคม
“การประกวดดาวเดือนมันชัดอยู่แล้วว่ามันคือการสร้างพรีวิลเลจให้ใครสักคน”
“ทำไมคนที่เป็นเกย์หรือเป็นทอม ถึงลงประกวดเดือนไม่ได้ ทำไมคนที่เป็นกระเทยถึงลงประกวดดาวไม่ได้ ทำไมคนที่เป็น LGBTQIA+ ถึงเป็นได้แค่ดิน(ดาวเทียม)”
ด้วยความที่เป็นการประกวดอะไรสักอย่าง เป็นที่แน่นอนว่าเกณฑ์ต่าง ๆ มักจะทำให้คนแต่ละคนไม่เท่ากันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การจัดประกวดดิน(ดาวเทียม) ขึ้นมา จากลักษณะของการใช้คำที่ห่างไกลกับดาวและเดือนลิบลับ ซึ่งคล้ายกับการจัดประกวดเพื่อให้พื้นที่กับชาว LGBTQIA+ คือการเลือกปฏิบัติและกีดกันยิ่งกว่าการไม่ให้เข้าร่วมการประกวดใด ๆ เสียอีก
ถึงแม้การประกวดเหล่านี้จะมีการกดทับและการกีดกันเป็นสารตั้งต้น ทว่าการผลักดันให้กลุ่มเพศทางเลือก สามารถลงประกวดในรายการเหล่านี้ ทั้งในมหาวิทยาลัยหรือสังคมทั่วไป หลายคนเชื่อว่านี่คือ อีกเส้นทางหนึ่งในการผลักดันความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
แต่ในสายตาของบุญรอด ท้ายที่สุดการประกวดเหล่านี้ก็ไม่พ้นจากการมอบสิทธิพิเศษให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ดี การประกวดมีหลากหลายแบบ เชื่อว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องมาผลักดันเรื่องเหล่านี้ผ่านการประกวดความสวยงาม ซึ่งจะเป็นการกดทับกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มอยู่ดี
กิจกรรมในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมการประกวดดาว เดือน ดิน ที่สร้างการกดทับเท่านั้น หรือกระทั่งอย่างที่หลายคนเข้าใจ ว่ากลุ่มคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับเรื่องนี้มากที่สุด คือกลุ่มคนรุ่น Baby Boomer กลับกัน สิ่งที่เบิร์ดพบเจอ คือกลุ่มคนรุ่นราวคราวเดียวกันต่างหาก ที่ยังไม่เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ หลายครั้ง ที่เป็นอุปสรรคด้วยเช่นกัน
เบิร์ดเล่าว่า สมัยที่เรียนอยู่ได้เข้าร่วมกับสโมสรนักศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย เบิร์ดพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้ผ่านองค์กรนักศึกษาที่มีอำนาจมากที่สุดในรั้ว ทว่า สิ่งที่เบิร์ดได้รับกลับมา คือการที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ ไม่ได้มีท่าทีคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เบิร์ดต้องการจะทำ นั่นทำให้การจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงระบบของมหาวิทยาลัยที่เบิร์ดอยู่ ดูจะเป็นไปไม่ได้มากขึ้น
รวมถึงเบิร์ดนำเสนอแง่มุมของกิจกรรมมหาวิทยาลัยที่เราอาจไม่ได้เห็นความสำคัญกับมันมากนัก อย่างการแข่งขันกีฬา ที่มีเฉพาะเพศชาย และมีกีฬาที่เปิดรับเพศหญิงแข่งขันบ้าง แต่ LGBTQIA+ กลับไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงให้ร่วมแข่งขันในประเภทใดเลย ซ้ำร้ายหลาย ๆ ครั้ง ยังโดนบังคับให้ไปอยู่ฝ่ายเชียร์ไปโดยปริยาย
ภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQIA+ กลับกลายเป็นความตลก กิจกรรมที่เป็นภาพจำของพวกเขา ก็เลยเป็นกลุ่มสันทนาการ ที่มีเอเนอร์จีเยอะและดูตลกอยู่ตลอดเวลา กลับกัน จุดนี้ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ใคร มักจะพูดอะไรใส่โดยไม่ยั้งคิดเสมอ
“อย่างตอนพี่เรียนอยู่ พี่ก็เข้าร่วมตลอดนะ แต่เพราะทำกิจกรรมกับเพื่อนด้วยแหละ รวมถึงคณะที่พี่เรียนมันคือนิเทศศาสตร์ กิจกรรมเหล่านี้ มันเลยเหมือนเป็นการฝึก ทั้งทักษะการพูด การแสดง รวมถึงความกล้าแสดงออก” บุญรอดเล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัย
“แต่พี่ว่า สิ่งที่ทำให้มันเกิดภาพจำ ที่กลายเป็นทิศทางลบ มันไม่ได้เกิดจากการที่เด็กทำกิจกรรมแค่นี้หรอก เราต้องยอมรับว่าสื่อ มีบทบาทและอำนาจในการชี้นำสังคม รวมถึงการผลิตซ้ำ ทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ กลายเป็นตัวตลกในสายตาของคนอื่นอยู่เสมอ”
การกดทับของความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมไทย จะกล่าวว่ามีจุดเริ่มต้นจากในรั้วมหาวิทยาลัยหรือช่วงวัยที่เด็กกว่านั้นก็ไม่เชิง หรือสาเหตุที่มันบานปลายและกลายเป็นภาพจำของสังคมเพราะสื่อ ก็อาจจะไม่ถูกต้องมากนัก สิ่งเหล่านี้ประกอบสร้างขึ้นในสังคมพร้อม ๆ กัน อย่างที่เราไม่ทันสังเกต
ยิ่งเป็นการย้ำเตือนเราว่า ต่อให้มีการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้มากแค่ไหน หรือการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษา แต่ถ้าสังคมไม่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน
สังคมไทย ก็ไม่อาจเป็นสังคมที่เปิดรับความหลากหลาย และสร้างความเท่าเทียมทางเพศได้
มหาวิทยาลัย ควรเป็นเซฟโซนทางเพศของทุกคน
“สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น ในมุมมองของหนูคิดว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังห่างไกลกันอยู่” มุมมองของเบิร์ดต่อความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศที่พึงจะเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย
สิ่งที่จำเป็นต่อเบิร์ด ในการสร้างมหาวิทยาลัยที่ยอมรับความรับหลากหลายทางเพศ และเกิดความเท่าเทียมทางเพศได้จริง เบิร์ดมองที่การสร้างค่านิยมใหม่เสียก่อน เชื่อว่า หลังจากที่เราสามารถบอกเล่าความคิดและความจำเป็นของคนกลุ่มหนึ่งให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าใจได้ เราจะกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และหลังจากนั้น ข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ ก็จะปรับแก้ตามไปด้วย
“จริง ๆ มันก็ทุกเรื่องแหละพี่ สิ่งที่หนูเจอมันก็ยังมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่ดี รวมถึงก็อยากให้มีการปรับ แต่มันคงต้องเริ่มที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันก่อนนะ” ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำสรรพนามในการเรียกในห้องเรียน การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ให้กลุ่ม LGBTQIA+ สามารถเข้าร่วมและไม่มีภาพจำอย่างเดิม รวมถึงการสร้างสาธารณูปโภคอย่าง ห้องน้ำ Unisex ที่สร้างความสบายใจในการทำธุระส่วนตัวของคนทุกคน
ปัจจัยเหล่านี้ที่หลายคนอาจไม่เห็นว่าเป็นปัญหามากนัก แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีอีกหลายคน ที่ต้องเพิ่มความยากลำบากในชีวิตมากขึ้นไปอีก ลำพังแค่การอาศัยในประเทศนี้ก็มีข้อจำกัดมากมายอยู่แล้ว
ด้วยความที่บุญรอด เรียนและทำงานในรั้วแม่โดม การให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับนักศึกษา ไปจนถึงการสร้างการตระหนักรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน นี่คือสิ่งที่บุญรอดยืนยันว่า มันสามารถเกิดขึ้นได้จริง
“พี่ว่ามันอยู่ที่กลุ่มคนมากกว่า ใช่ว่าการให้เป็นวิชาบังคับแล้ว ทุกคนต้องเข้าเรียนทุกคนจะรับรู้ได้เท่ากัน เหมือนกับวิชาอื่น ๆ นั่นแหละ มันยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างไปเรื่อย ๆ ถ้าถามว่าวันไหนอาจจะตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเยอะ ยิ่งใน 2-3 ปีหลัง ยิ่งชัดเจน”
“แต่หลายอย่างก็อาจจะทำให้มันครอบคลุมขึ้นไปอีก อย่างการสร้างห้องน้ำ การใช้คำสรรพนาม พี่เชื่อว่าท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้ สังคมจะค่อย ๆ ช่วยกันสร้างขึ้นมา เหมือนกับที่เราเห็นในปัจจุบัน”
ไม่ใช่การรณรงค์ ไม่ใช่การเรียกร้อง ที่อยากเห็นคือเรื่องนี้เป็นเรื่องทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การสร้างความเท่าเทียมทางเพศและการยอมรับความหลากหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สังคมไทย จะต้องเรียนรู้และปรับตัวกันต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่มองเหมือนกัน คือปลายทางของการเรียกร้องเหล่านี้ ไม่ใช่การตระหนักรู้ที่มากขึ้น แต่เป็นการทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’
“หนูว่าท้ายที่สุด อยากให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติไปเลย ถึงวันนั้นนั่นแหละ ที่จะเรียกว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงแล้ว” เบิร์ดกล่าว
ถึงแม้ว่าในวันนี้เบิร์ดใกล้จะเรียนจบในระดับอุดมศึกษา และเทอมสุดท้ายนี้ เบิร์ดต้องเข้ารับการฝึกงาน แต่เบิร์ด ยังกล่าวถึงความตั้งใจของตน ที่ต้องการจะผลักดันสิทธิ์ต่าง ๆ ที่พึงจะได้ จากการวางแผนกับกลุ่มเพื่อนที่รู้จัก เพื่อให้น้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไป ได้เจอสิ่งที่พึงจะได้รับตั้งแต่แรก
“หนูว่าหน้าบ้านกับหลังบ้านมันไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราเห็นกันไปทั่วในเดือนนี้อาจจะเป็นแค่การตามเทรนด์ กรอบสีรุ้งในโลโก้ตามภาพโปรไฟล์เหล่านั้น อาจจะไม่มีความจริงใจอยู่ก็ได้” สิ่งที่เบิร์ดต้องการ โดยเฉพาะสิ่งที่พบเห็นได้มากในเดือนนี้ คือให้ทุกองค์กรที่ออกมาสนับสนุน มอบความจริงใจแก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจริง ๆ ผ่านสิทธิ ระบบระเบียบ และสวัสดิการต่าง ๆ
“Pride month จริง ๆ มันไม่ต้องมีก็ได้” บุญรอดกล่าวขึ้น ทำให้ผู้เขียนต้องเลิกคิ้วขึ้นข้างหนึ่งเมื่อได้ยิน
“ก็ในเมื่อถ้าเราสนใจและใส่ใจกันจริง ๆ ไม่ใช่ในทุกเดือน แต่ในทุกวันเราก็คิดเรื่องนี้กันอยู่แล้ว นั่นคือปลายทางที่เราอยากเห็นมากกว่า”
ในสายตาของบุญรอด ไม่ว่าจะการใส่การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศหรือออกแคมเปญสนับสนุนเรื่องนี้มากเพียงใด ยิ่งการมีอยู่ของเรื่องนี้มีมากเท่าไหร่ เท่ากับว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมนั้น ก็ยังมีอยู่ให้เห็นเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น
กลับกันการให้ Pride month เป็นเพียงงานเฉลิมฉลองมากกว่าที่จะเป็นงานที่กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักรู้ความสำคัญของเรื่องนี้ นั่น คือสิ่งที่บุญรอดอยากเห็น เพราะนี่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สังคมไทย ก้าวผ่านความเหลื่อมล้ำทางเพศมาได้ไกลแล้ว
สิ่งที่บุญรอดและเบิร์ดต้องการเห็น จึงไม่ต่างจากให้เรื่องราวเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งปกติในสังคม หากชายหญิงทำได้ หรือชายหญิงเองก็มีปัญหา ใช่ว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่าง ๆ จะพึงมีไม่ได้เช่นกัน สำคัญที่สุด คือการให้เกียรติความเป็นคน ทั้ง ๆ ที่เราก็เหมือนกัน
จนถึงทุกวันนี้ บุญรอดและเบิร์ดก็ยังพบปัญหาที่คนรอบข้างในสังคมมอบให้ จากการที่เป็น LGBTQIA+ ไม่ว่าจะจากสังคมการทำงาน สังคมมหาวิทยาลัย สังคมคนรู้จัก ไปจนถึงสังคมทั่วไป การกดทับซ้ำซ้อนหลายชั้น จากการเป็นสิ่งที่ตนเองเลือกและพอใจ กลับกลายเป็นปัญหาที่คนอื่นยัดเยียดให้อยู่เสมอ
ถึงแม้เราจะมองไม่เห็นปลายทางแน่ชัด หรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แท้จริงคืออาการตาพร่ามัว จากการรอคอยสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้นานเกินไป ทว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป คือความจริงที่เราทุกคน จะได้เห็นกันด้วยตาของตัวเอง
จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในเดือนแห่งความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศนี้ หากการตระหนักรู้และการสร้างจุดยืนทางสังคมกับองค์กรขนาดใหญ่ เป็นการสนับสนุนจริง ๆ ไม่ใช่แค่การสร้างแผนการตลาด โดยใช้ความหวังของผู้คนเป็นเครื่องมือ การสร้างพื้นฐานเรื่องเหล่านี้ในมหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้สังคมไทยก้าวข้ามมายาคติและอคติทางเพศเหล่านี้ได้
เกียรตินิยมอาจเป็นแค่มายา แต่ความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศนี่สิ ของจริง