ทำไมเครือข่ายประชาชนต้อง ค้าน “พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” วันนี้ (23 พ.ค.65) นัดชุมนุมยืดเยื้อหน้าทำเนียบฯ - Decode
Reading Time: 2 minutes

นอกเหนือจากกระแสของผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.2565 แล้ว วันนี้ (23 พ.ค.65) อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต้องจับตามองคือ การนัดชุมนุมของเครือข่ายประชาชนในนามของ “ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการชุมนุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ของกลุ่ม หลังชุมนุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา 

De/code ชวนอ่านที่มาที่ไปของว่าทำไมเครือข่ายประชาชนต้องเดินหน้า และยืนยันกฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นธรรม และไม่ชอบธรรม รวมถึงจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในการร่วมกลุ่ม และชุมนุมด้วย

01 
ร่างกฎหมายที่กำลังคัดค้านกันอยู่นั้น มีชื่อเต็มๆ ว่า “ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ….” หลายคนอาจเรียกร่างนี้ว่า “พ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ” หรือ “กฎหมายเอ็นจีโอ” แต่คำนี้อาจไม่ได้ครอบคลุมความหมายอย่างที่กฎหมายระบุไว้ เพราะในร่างกฎหมายไม่ได้หมายถึงเพียงแค่องค์กรไม่แสวงหากำไรเท่านั้น แต่หมายถึง​ “การรวมกลุ่มของประชาชน” ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่แสวงกำไรต่างหาก และร่างกฎหมายนี้เป็นเพียง 1 ใน 4 ร่างกฎหมายเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรวมตัว และองค์กรไม่แสวงหากำไร เพียงแต่ร่างเป็นร่างที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น ดังนั้นเครือข่ายประชาชนฯ จึงระบุเสมอว่าต้องการคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ และ “ทุกฉบับ” ที่เกี่ยวข้อง

02 
กฎหมายนี้มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนเริ่ม?​

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ทั้งโรคระบาด และการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้รัฐแก้ไขปัญหาปากท้องมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้กฎหมายต่างๆ เข้ามาควบคุม และจับกุมผู้ที่ออกมาชุมนุม ตั้งแต่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมไปถึง ประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ด้วย จากนั้นปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้คณะกฤษฎีกาศึกษากฎหมายของต่างประเทศเพื่อหาดูว่า ประเทศต่างๆ ใช้กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่ประเทศที่ไปศึกษาก็ล้วนแต่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เช่น จีน รัสเซีย กัมพูชา อิหร่าน จากนั้นจึงมีการยกร่างกฎหมายจนผ่านมติ ครม. ช่วง ก.พ.2564 

ต่อมาในเดือน มิ.ย.2564 ครม.มีมติเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดย ปปง.ให้มีการกำหนดมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมถึงการต่อต้านการสนับสนุนการเงินแก่การก่อการร้าย จนในที่สุดเดือน ธ.ค.64 ร่างพ.ร.บ.ก็แล้วเสร็จ ครม.เห็นชอบ จนนำไปสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่ 18 ม.ค.ถึง 25 มี.ค.2565 ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ดำเนินการ

คู่ขนานกันระหว่างกระบวนการร่างกฎหมายจนถึงรับฟังความคิดเห็น เครือข่ายประชาชน และองค์กรไม่แสวงกำไรต่างออกแถลงการณ์คัดค้าน ล่ารายชื่อ “คัดค้าน” และไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือ กฎหมายนี้ “จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ซึ่งขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นถูกรับรองไว้แล้วในรัฐธรรมธรรมนูญ 

03
อะไรคือปัญหาของร่าง พ.ร.บ.นี้?

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มในครั้งนี้ เครือข่ายประชาชน ตั้งข้อสังเกต และข้อกังวลไว้หลายข้อ ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง

คีย์เวิร์ดสำคัญของกฎหมายคือ “รวมกลุ่ม+ดำเนินกิจกรรม+ไม่แสวงหากำไร” และกิจกรรมต้องอยู่ใต้ข้อกำหนดที่กฎหมายระบุไว้ด้วย

1 นิยามของคำว่าองค์กรไม่แสวงหากำไร – ถูกนิยามไว้กว้างมาก แต่กลุ่มที่เข้าข่ายนั้น คือ กลุ่มเอกชนที่ทำกิจกรรมในสังคมโดยไม่แสวงหากำไร และองค์กรไม่แสวงหากำไรแต่ถูกจัดตั้งตามกฎหมาย เช่น มูลนิธิ สมาคม ซึ่งอันนี้ไม่รวมกลุ่มที่มาทำงานแบบเป็นครั้งคราวนะ หรือกิจกรรมเฉพาะของคณะบุคคลหรือพรรคการเมือง

2 การรวมกลุ่ม – อีกหนึ่งปัญหาคือไม่มีการบอกว่า เท่าไหร่ อย่างไร แบบไหน คือ การรวมกลุ่มแบบที่กฎหมายว่าไว้ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าคุณเป็นใคร ทำอาชีพอะไร เคลื่อนไหวประเด็นไหน เมื่อรวมตัวกันจริงจัง กฎหมายก็มีสิทธิเข้ามาควบคุม สั่ง ห้าม ปรับ หรือตรวจสอบได้ เช่น การรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนของชาวบ้านกลุ่มดงมะไฟ เหมืองแร่เมืองเลย ไรเดอร์รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการจ้างงานอย่างเป็นธรรม Sex worker ที่ต้องการให้อาชีพถูกกฎหมาย เกษตรกรที่ต้องการต่อต้าน CPTTP ก็อาจถูกห้ามทำกิจกรรม หรือกลุ่มนักเรียนที่เรียกร้องสิทธิในโรงเรียนก็เข้าข่ายเช่นกัน

3 สิ่งที่ทั้งองค์กระภาคประชาสังคม/กลุ่มประชาชน/คณะบุลคลต้องทำตามกฎหมายนี้ มีตั้งแต่
1.เปิดเผยชื่อ วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน
2.ต้องจัดทำและเปิดเผยบัญชีรายรับ รายจ่าย หากรับเงินจากต่างประเทศต้องทำเพิ่มคือ 
2.1 แจ้งแหล่งทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่าย 
2.2 ต้องรับเงินผ่านบัญชีที่แจ้งไว้เท่านั้น และใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ 
2.3 ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับดำเนินกิจกรรมในลักษณะแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง

นั่นคือสิ่งที่ภาคประชาชนต้องทำตามกฎหมายนี้ หากแต่องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งตามกฎหมาย ต่างระบุว่า พวกเขาเองมีกฎหมายที่กำกับดูแลอยู่แล้ว เช่น การเปิดเผยบัญชี ยิ่งมีกฎหมายนี้ ยิ่งเพิ่มความทับซ้อน และซับซ้อนมากไปอีก

นอกจากนี้ หากทำกิจกรรมก็มีข้อห้ามดำเนินงานในลักษณะดังนี้ด้วย
1.กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2.กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
3.กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ 
4.เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย
5.ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น

04
ชุมนุมเสียงเรียกร้องประชาชนไปไม่ถึงรัฐ?
 
นับตั้งแต่ร่างพ.ร.บ.ผ่านความเห็นชอบจากครม. เรื่อยมาจนถึงแถลงการณ์คัดค้าน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 และ 25 มีนาคม 2565 เครือข่ายประชาชน 2 กลุ่มหลัก คือ ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน และเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ออกมาชุมนุมเรียกร้อง และแสดงจุดยืนไม่เอาชัดเจน และขอให้ยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างดังกล่าว ซึ่งหากผ่านร่างกฎหมายสามารถมีผลได้เดือนพฤษภาคม 2565

ในวันที่ 24 มีนาคม กิจกรรมที่ De/code ได้ติดตามนั้น เป็นของขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน เครือข่ายประชาชนจำนวน 800 คนเดินทางไปที่ พม.เพื่อขอให้ พม.หยุดการรับฟังความเห็น และทวงคืนเสรีภาพของการรวมกลุ่ม มีตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เดินทางมาปราศรัย และพูดถึงว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะกระทบต่อการขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่อย่างไร ตั้งแต่ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ การทำงานบริการ กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ เพื่อทำให้เห็นว่า “ไม่ใช่” แค่กลุ่มเอ็นจีโอ หรือองค์กรที่จัดตั้งถูกกฎหมายเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่หมายถึงประชาชนทุกกลุ่มที่รวมตัวเรียกร้องสิทธิ์ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง

ช่วงท้ายของการชุมนุมมีการระบุว่าขอให้คณะรัฐมนตรีออกคำสั่งยุติร่างกฎหมายนี้ และประกาศชุมนุมยืดเยื้อในอนาคต หากข้อเรียกร้องไม่ถูกรับฟัง ซึ่ง พม.ได้ตอบรับการเรียกร้องด้วยการ “ขยายเวลา” รับฟังความคิดเห็นออกไปอีกจนถึง 1 เมษายน 2565 ระหว่างนี้ เพจ No NPO Bill ระบุว่า พม.ได้ออกจดหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ช่วยประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับกลุ่มเครือข่ายเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งทำให้การตอบโต้จากเครือข่ายประชาชนที่กำลังขับเคลื่อนระบุว่ารัฐมีความพยายามบิดเบือน และแทรกแซงกระบวนการรับฟังความเห็น ทำให้ พม.ตัดสินใจขยายเวลาอีกครั้งในการรับฟังความเห็นไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 ซึ่งประเด็นการรับฟังความคิดเห็นนั้น เป็นที่ตั้งข้อกังขาของประชาชนมาตลอด เพราะกลุ่มประชาชนที่ต่อต้าน และคัดค้านเห็นว่า การรับฟังไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ทั่วถึง หรือจัดรับฟังทางออนไลน์ที่ประชาชนบางคนเข้าไม่ถึง หรือบางคนส่งเสียงคัดค้าน แต่ไม่ได้ถูกนับรวมเข้าไปในกระบวนการด้วย 

06 
นัดชุมนุมอีกรอบ…ครั้งนี้ตั้งเป้าชุมนุมยืดเยื้อ

วันนี้ (23 พ.ค.65) ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน และเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน นัดรวมตัวกันหน้าสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อเดินไปยังทำเนียบรัฐบาล ตั้งใจปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ระบุว่า เป้าหมายคือการยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. และกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนให้ได้

“เรามีความหวังว่าถ้าพี่น้องมารวมตัวกันจำนวนมากจะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้ โดยจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อนอนค้างที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่า ครม.จะมีมติยกเลิกการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้”

ที่มา: 
เพจ NPO Bill
https://prachatai.com/journal/2022/03/97802
https://www.tcijthai.com/news/2022/3/current/12264
https://www.bbc.com/thai/thailand-60872014