“จะต้องมี ‘จะนะ’…จะมีเรา”
เลจะนะบุกกรุง!!” – ทวงถามความคืบหน้าทำ SEA หลังล่าช้าครึ่งปี
และโชว์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่คู่ควรกับนิคมอุตสาหกรรม
“อะโบ๊ยหมะ ครั้งที่ 7 ตอน เลจะนะบุกกรุง!!”
แม้ชาวจะนะจะจัดงานนี้มาถึงครั้งที่ 7 แล้ว แต่นี่คือครั้งแรกที่พวกเขาพา “ครัวทะเล ไซส์มินิ” มาบุกกรุงเทพฯ ขายอาหาร ขายวัตถุดิบสดๆ และทำกับข้าวด้วยของท้องถิ่น เพื่อให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้เห็นว่าที่ทะเลจะนะนั้น “อุดมสมบูรณ์” และพูดคำว่า “อะโบ๊ยหมะ” (คำอุทานเวลาเจออะไรที่มหัศจรรย์) เกินกว่าจะต้องแลก หรือถูกทำลายลงเพราะอุตสาหกรรมจะนะ
กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (3 มิ.ย.65) หลังจากที่เมื่อวานนี้ชาวจะนะจำนวน 38 คน เดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการพิเศษคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) พร้อมกับชาวจะนะที่มาให้กำลังจำนวนมาก ยื่นคำร้องไม่ให้อัยการสั่งฟ้องตามที่ตำรวจได้สั่งฟ้องก่อนหน้านี้ จากข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน,ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน และขัดขวางการจราจร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เพราะชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการสร้างอุตสาหกรรมจะนะ แต่กลับมีการสลายการชุมนุมชาวจะนะที่มารวมตัวกัน ก่อนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา
ทำให้กิจกรรม “อะโบ๊ยหมะ ครั้งที่ 7 ตอน เลจะนะบุกกรุง!!” ไม่ได้มีความหมายแค่การมาโชว์ให้คนกรุงฯ เห็นศักยภาพของทรัพยากรเท่านั้น แต่ยังเป็น “ทวงคืน” และเตือนความจำกันว่า
“การปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดและทะเลจะนะอันสมบูรณ์ไม่ใช่อาชญากรรม”
และการติดตามการตั้งคณะกรรมการ SEA หรือ การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ที่รัฐบาลได้รับปากไว้ แต่เวลาล่วงมาแล้วครึ่งปีก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ยืนยันได้จากเสียงคนในพื้นที่ “นูรี โต๊ะกาหวี” ตัวแทนจากจะนะ และหนึ่งในผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ก๊ะนีพูดในวงเสวนา “SEA กับการกำหนดอนาคตจะนะ” ว่า แม้ชาวจะนะได้รับชัยชนะมาแล้วขั้นหนึ่ง คือ การที่รัฐต้องหยุดดำเนินการใดๆ จนกว่า SEA จะเสร็จสมบูรณ์ แต่ทว่าตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา กระบวนการที่รับผิดชอบโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) นั้นไม่คืบหน้าเท่าที่ควร มีเพียงการประชุมออนไลน์ 1 ครั้งเท่านั้น ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นนักวิชาการ หรือเป็นกรรมการที่จะจัดทำ SEA ร่วมกัน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านกระตือรือร้นที่จะร่วมมือ
“เราไม่เร่งรัดให้ทำจนเกิดข้อบกพร่อง แต่เราวางไว้ว่า เรามาช่วยกันกันทำดีกว่า อยากให้เขามารับรู้ว่าเรามีทรัพยการอะไรบ้าง แต่การพูดคุยแค่ 1 ครั้ง มันไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ชาวบ้านดำเนินการ SEA ฉบับชาวบ้านใกล้เสร็จแล้ว อย่างตอนที่กรีนพีซ (Greenpeace) ลงพื้นที่ไปทำ Mini SEA ทำให้เรารู้ว่าทรัพยากรที่เราหาอยู่หากินมันมีค่าแค่ไหน เรารู้คุณค่าทางจิตใจ แต่อย่างงานที่เราทำ เราไม่เคยรู้ว่าเราทำได้เท่าไหร่ปีละกี่ร้อยล้าน แต่พอรู้ มันคือความว้าวของคนในชุมชนมากๆ”
ตั้งแต่เดือน ตุลาคมที่ผ่านมา กรีนพีซได้ลงพื้นที่จะนะ เพื่อทำ Mini SEA กรีนพีซ โดยมีการประเมินสองส่วน คือ ดูมูลค่าของอาชีพที่มีอยู่ในพื้นที่ และดูประเด็นเชิงสังคมมมีมูลค่าเท่าไหร่ และอีกมุมคือการใช้โมเดลทางวิศวกรรรมดูว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางทะเล น้ำบนดิน และอากาศจะมีอะไรบ้าง
ณัชนันท์ ตัญธนาวิทย์ Greenpeace เล่าว่า ตอนนี้ตัวข้อมูลเก็บเสร็จแล้ว ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการรันโมเดล ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นนอยากใช้ข้อมูลส่วนนี้ไปคุยกับพื้นที่ ให้รู้ว่ามูลค่าของอาชีพคนท้องถิ่นเป็นอย่างไร และใน supply chain หรือห่วงโซ่จะมีผลกระทบอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นชุดข้อมูลที่ให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะพัฒนาพื้นที่ตัวเองไปทางไหน
“สิ่งที่น่าสนใจคือกระบวนการที่ทำ คือ ทำให้ชาวบ้านได้รู้จักพื้นที่ตัวเอง เช่น การศึกษาของเขาไม่สูงมาก แต่สามารถหารายได้ได้มากกว่าคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งมากกว่าการที่เขาต้องไปทำงานในโรงงานที่จะเกิดขึ้นอีก หรือข้อมูลที่ว่ามลพิษขั้นต่ำที่ชาวบ้านรับได้จากการปล่อยของโรงงานปล่อยนั้นมีแค่ไหน”
หนึ่งในสาเหตุที่ว่า “ทำไม SEA ล่าช้า” ไม่มีคำตอบชัดเจน แต่การใช้เวลานานครึ่งปีเพียงแค่การแต่งตั้งคณะกรรมการนั้นคือว่าล่าช้าไปมาก และอาจส่งสัญญาณถึงความล่าช้าที่เพิ่มมากขึ้นในการทำ SEA ในอนาคต ซึ่งมีความกังวลว่า หลังจากนี้อาจมีการกลับมติครม.ที่จะให้ทำ SEA ด้วยหรือไม่
ด้าน ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู จาก TDRI ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การทำ SEA ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วทำกันทั้งสิ้น หลังพบแล้วว่าการทำ EIA รายโครงการเดี่ยวๆ นั้นกระทบต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แต่สำหรับ SEA คือ กระบวนการการมีส่วนร่วม คิดถึงมิติ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งการเรียกร้องนี้ มันทำให้ไปสู่การจับกุมได้อย่างไร การทำSEA ต้องเป็นการทำให้เห็นว่าชาวบ้านต้องการอะไร มีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
นอกจากกิจกรรมเสวนาแล้ว ยังมีการอ่านบทกวีกำลังใจจากโรสนี นูรฟารีดา, สิริวตี และธรรมรุจา ธรรมสโรช รวมถึงเยาวชนจะนะ ซึ่งกลุ่มเยาวชนได้พูดถึงค่ำคืนที่ชาวจะนะถูกจับกุม ถูกสลายการชุมนุม แต่จะต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อให้จะนะอยู่ต่อไป
จะต้องมี “จะนะ”…จะมีเรา
และในเดือนกันยายน 2565 นี้ สำนักงานอัยการพิเศษคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) นัดหมายให้พวกเขามาฟังคำสั่งว่าสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 23 กันยายน 2565