“ทางเท้า ทางเท้า ทางเท้า” นี่คือปัญหาหลักที่ไม่ว่าใครต่อใคร ที่ได้มาใช้ชีวิตในเมืองหลวงของประเทศไทยนั้น ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเมืองนี้ ไม่เคยเป็นมิตรคนเดินเท้าเลย
ฟุตบาทกระดกน้ำกระเด็น เสาไฟกลางเลน ช่องแคบใต้สะพานลอย ไปจนถึงทางม้าลายที่ไม่เคยเอื้อต่อคนข้ามถนน เมืองที่มุ่งแก้ปัญหาบนท้องถนน แต่กลับลืมโครงสร้างที่คนทุกคน สามารถเข้าถึงและได้ใช้มันในทุก ๆ วันอย่าง การเดินเท้า
De/code ตั้งคำถามอีกครั้งกับโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 กับ นันทิดา จิตภักดีรัตน์ ฑูตอารยสถาปัตย์กรุงเทพฯ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ความเข้าใจใน Universal Design ผ่านระดับสายตาจากที่นั่งบน Wheelchair
เมื่อการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลไม่ใช่แค่เรื่องของทางเท้า แต่เป็นการออกแบบในทุก ๆ เรื่องที่คำนึงถึงทุกคน ตั้งแต่ไฟจราจรจนถึงแปรงสีฟัน และที่สำคัญการออกแบบเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนพิการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ที่เมืองนี้จะต้องทำให้พวกเรา ‘กล้า’ ออกมาใช้ชีวิต
‘อารยสถาปัตย์’ อารยธรรมที่กรุงเทพจะไปถึง?
นันทิดากล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายส่งเสริม ‘อารยสถาปัตย์’ ที่ชื่อ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 โดยมีกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ข้อบังคับที่ว่าด้วย การออกแบบเพื่อคนทุกคน ที่เราคุ้นเคยกันว่า ’Universal Design’ และเป็นข้อกฎหมายที่ดีติดอันดับต้น ๆ ของโลก
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราพึ่งจะคุ้นเคยกัน การออกแบบอารยสถาปัตย์เข้ามาในประเทศเป็นเวลาหลัก 10 ปี แต่ข่าวที่เรายังพบเห็นคือการออกแบบที่ไม่ได้เอื้อต่อคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะขนาดนั้น โดยเฉพาะผู้พิการ ที่ยังมีความขัดแย้งอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางลาดที่ชันเกินไป จนผู้พิการที่นั่ง Wheelchair ไม่สามารถใช้เส้นทางนั้นได้ กลายเป็นว่าเรื่องของการออกแบบอารยสถาปัตย์ ถูกทำให้เกิดขึ้น แต่ยังมีน้อยนักที่จะใช้ได้จริงเสียมากกว่า
นันทิดาหรือสาลี่ เป็นผู้พิการนั่ง Wheelchair คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งชีวิต ในวัยเด็กที่ไม่ค่อยมีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และพบว่าเป็นโรค SMA หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มนั่งรถเข็นในวัย 12 ปี และได้รับการยืนยันว่าเป็นประเภท Type 3 เมื่อไม่นานมานี้
มองย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในวันที่การใช้ชีวิตของคนพิการยังมีความลำบากกว่าในปัจจุบัน ไม่แปลกที่ครอบครัวใดมีผู้พิการ การที่จะอนุญาตให้คน ๆ นั้นได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป นับว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่นับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่ท้องถนน เพียงแค่ออกจากบ้านก่อนไปขึ้นรถโดยสารต่าง ๆ ก็มีอุปสรรคมากมาย จึงกล่าวไม่ผิด ถ้าเรียกสภาพแวดล้อมเมืองหลวงในช่วงเวลานั้น และยังปรากฏให้พบเห็นบ้างในปัจจุบัน ว่าไม่ต่างจากกรง ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนอีกหลาย ๆ กลุ่ม สามารถออกไปใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ
นันทิดาเล่าต่อว่า ถึงอย่างนั้นเธอก็มาสนใจในด้านของอารยสถาปัตย์เมื่อช่วงอายุใกล้ 30 ปี หลังจากได้พบกับเพื่อนพิการคนแรก นั่นทำให้เธอได้เห็นถึงความสำคัญที่จะสื่อสารและผลักดันการออกแบบเมืองเพื่อทุกคน ได้มาร่วมงานและเป็นฑูตอารยสถาปัตย์กรุงเทพฯ ในมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เธอกล้าออกมาใช้ชีวิต คือวันที่กรุงเทพมหานครมีรถโดยสารสาธารณะชานต่ำพอดิบพอดี นั่นทำให้เธอตัดสินใจที่จะออกเดินทางในกรุงเทพมหานครด้วยตัวคนเดียวและภายหลังได้ชวนเพื่อน ๆ มาร่วมออกเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะไปที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เริ่มต้นจากสำเพ็งและไปที่อื่น ๆ ที่รถโดยสารเหล่านี้จะไปถึง
“และแทบจะเป็นทางเดียวที่คนพิการใช้วิลแชร์จะสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ นั่นแหละคือความสำคัญอย่างแรกของอารยสถาปัตย์ มันเป็นความกล้าที่เมืองจะต้องมอบให้พวกเขาได้ออกมาใช้ชีวิตเสียก่อน”
ในสายตาของนันทิดา Universal Design มีคำนิยามที่กว้างและครอบคลุมเกือบทุกสิ่ง แต่ถ้าหากให้นิยามโดยสั้น คือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันจากสิ่งนั้น ในสายตาของคนไทยส่วนใหญ่ มักจะมองเรื่องของการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ในแง่ของสาธารณูปโภคเท่านั้น อย่างเช่น ทางม้าลาย ทางเท้า หรือทางขึ้นลงอาคาร
แต่นันทิดาบอกว่าจริง ๆ แล้ว อารยสถาปัตย์คือเรื่องของคนทุกคน ในประเทศไทยหากพูดถึงการออกแบบอารยสถาปัตย์ เรามักจะนึกภาพของผู้พิการที่จะได้รับประโยชน์ซะส่วนใหญ่
กลับกัน นันทิดากล่าวถึงสังคมไทยที่มีทั้ง ผู้สูงอายุ พ่อแม่ลูกอ่อน จนไปถึงคนหนุ่มสาว ที่ทางเท้าดี ๆ จะทำให้พวกเขาออกมาใช้ชีวิตได้มากขึ้นและสะดวกสบาย จนไปถึงการออกแบบแผงวางของในร้านสะดวกซื้อที่จะเอื้อให้เด็ก ๆ สามารถหยิบของได้ง่ายขึ้น หรือการออกแบบแปรงสีฟันให้ด้ามจับมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้คนที่หยิบจับหรือกำมือไม่สะดวกสามารถแปรงฟันได้ด้วยตัวเอง
เพราะฉะนั้นการมีอารยสถาปัตย์ คือส่วนประกอบของเมืองที่ผู้คนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เดินทางด้วยตนเองอย่างสะดวก ปลอดภัย และนั่นอาจหมายถึงนิยามหนึ่งของ เมืองที่ดี
การเดินทางของเพื่อนใหม่ในสังคมเก่า
“ตัวพี่เองก็เคยเจอทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีสำหรับคนในสังคมต่อผู้พิการนะ แต่ส่วนใหญ่เวลาที่พี่จะข้ามถนนหรือทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็จะมีคนช่วยอยู่หลาย ๆ ครั้ง” นันทิดาเล่าถึงสายตาของคนอื่นในสังคมต่อผู้พิการ Wheelchair
ถึงแม้สภาพเมืองจะไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการมากนัก แต่สายตาของสังคมในช่วงเวลานี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นันทิดาเล่าว่า สังคมไทยก็มีการตื่นรู้และให้ความสำคัญกับคนพิการมากขึ้น การช่วยเหลือ ความเอื้อเฟื้อ เป็นสิ่งที่นันทิดา ยังพบได้เสมอและในบางสถานที่ยังจำเป็นเนื่องจากสภาพแวดล้อมยังไม่ได้รับการปรับให้เอื้อสำหรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ในยามที่ออกเดินทางจากบ้านด้วยสองล้อไฟฟ้าของเธอ
ในช่วง 5 ปีหลัง นันทิดากล่าวว่า กลุ่มคนพิการเริ่มออกมาเดินทางและใช้ชีวิตในเมืองกรุงกันมากขึ้น ด้วยการพัฒนาในหลาย ๆ อย่างผ่านการเรียกร้องและผลักดันกันมายาวนาน ไม่ว่าจะรถเมล์ชานต่ำ ฟุตบาทในบางจุด หรือทางเชื่อมหลาย ๆ แห่ง ที่มีการปรับให้ผู้พิการสามารถไปยังสถานที่นั้น ๆ ได้
ถึงอย่างนั้น ปัญหาของประเทศไทยที่ขึ้นชื่ออีกอย่าง คือเรื่องของน้ำท่วม และยิ่งในช่วงนี้ที่กำลังเข้าสู่หน้าฝน รวมถึงสภาพอากาศในช่วงปีนี้ ที่อากาศหนาวในหน้าร้อน หรือฟ้าฝนที่จู่ ๆ ก็โปรยหนักลงมาแบบไม่ทันตั้งตัว
นันทิดาเล่าว่า ในความพิการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งผู้พิการ Wheelchair หูหนวก หรือตาบอด ลึกลงไปกว่านั้น ปัญหาของแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างด้านนันทิดาเอง ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ต้องใช้รถเข็นไฟฟ้า จากธรรมดาที่มีความยากลำบากในการขึ้นเนินหรือเดินทางไปไหนมาไหน การเดินทางที่ไม่สามารถหลบฝนได้ทันท่วงทีนัก นันทิดายังต้องพกอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อย่างถุงพลาสติกไว้ห่อแบตเตอรี่หรือแผงควบคุม เพื่อไม่ให้รถเข็นมีความเสียหายจากการเปียกฝน
สิ่งที่นันทิดาเล่า เป็นเพียงแค่ปัญหาจะมุมมองของนันทิดาเพียงคนเดียว อาการที่แตกต่างออกไปของผู้พิการท่านอื่นก็จะมีปัญหาในการเดินทางที่เปลี่ยนไปเช่นกัน
แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือการออกแบบอารยสถาปัตย์ในเมือง ยังไม่ได้มีความครอบคลุมต่อคนทุกกลุ่ม หรือคิดต่อยอดให้ครบวงจร ถ้าหากเราว่ามีทางเท้า แต่เราไม่มีจุดแวะพักให้กับคนใช้ทางเท้า อย่างผู้สูงอายุหรือพิการ ท้ายที่สุด การได้ออกมาใช้ชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ ก็ยังมีอุปสรรคและยากต่อการใช้ชีวิตอยู่ดี
แล้วการออกแบบแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าครอบคลุม การปรับบางจุดในสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ สามารถแก้เมืองพิการ ให้ทุกคนเป็นคนทั่วไปได้อย่างไรบ้าง
ทางเท้ารัฐ VS ทางเท้าเอกชน เส้นชัยที่กรุงเทพฯ ไม่เคยไปถึง
การสัมภาษณ์ในบทความนี้ มีจุดนัดพบที่ไอคอนสยาม เหตุผลประการที่หนึ่ง คือเป็นละแวกที่เธอคุ้นเคย และสอง นันทิดากล่าวว่าที่นี่คือตัวอย่างของ Universal Design ที่ใช้หลักการของ Friendly Design ด้วย
ตั้งแต่หน้าห้างบริเวณที่ติดถนน นันทิดาตั้งคำถามกับสถานที่ราชการหรือสถานที่สำคัญหลายแห่ง ว่าทำไมทางลาดเดินเข้าอาคาร ซึ่งผู้พิการต้องใช้เส้นทางนั้น มักจะไปอยู่ด้านหลังหรือด้านข้างตัวอาคารเสมอ ซึ่งบางแห่ง มักจะถูกใช้เป็นเส้นทางขนของซะส่วนใหญ่ นี่ข้อสังเกตแรกที่เราพบเห็นได้ ว่าสถานที่ไหนบ้างที่ใส่ใจในเรื่องของอารยสถาปัตย์
ทางเดินหน้าห้างไอคอนสยาม ที่มีทางลาดชันขณะพอดี รวมถึงรายละเอียดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อทางเดินที่ว่านี้ มีความยาวเกิน 5 เมตรจะต้องมีจุดพักเสมอ จากการเดินโดยรอบทั้งในห้างและนอกห้างนี้ ทุกครั้งที่ทางเดินลาดชัน ซึ่งผู้พิการต้องใช้นั้น มีจุดพักอยู่เสมอ
ซึ่งทางเดินที่ดีนั้น ยังมีรายละเอียดยิบย่อย ที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้นั่ง Wheelchair ไม่ว่าจะเป็นความเรียบของพื้น หากมีสิ่งกีดขวางนูนต่ำ การติดเทปสีเหลืองคาดดำ เพื่อบอกให้ทราบถึงพื้นที่ต่างระดับเพียงเล็กน้อยนี้เอง การติดป้ายบอกที่พื้น ถึงความต่างระดับที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุ คนพิการสายตาเลือนราง คนใช้รถเข็นรวมถึงคนทั่วไปไม่เดินเตะหรือสะดุดหกล้ม และให้ผู้ใช้ได้จัดการและปรับความเหมาะสมในการที่จะเดินทางต่อ หรือกระทั่งการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ของการออกแบบฝาท่อเพื่อให้รถ Wheelchair สามารถข้ามผ่านไปได้โดยที่ล้อไม่ติด
นอกจากจะใช้ทางเท้าซึ่งเป็นการเดินทางหลักในแต่ละวัน เธอยังใช้บริการการเดินทางสาธารณะทั้ง 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถ ราง (รถไฟ) หรือทางเรือก็ตาม ถึงแม้คนกรุงเทพทุกคน อาจจะไม่ได้พบเจอกับสถานการณ์ที่ต้องใช้การเดินทางทั้ง 3 รูปแบบในทุก ๆ วัน แต่นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราเห็นความใส่ใจของแต่ละพื้นที่ แต่ละบริการ ที่ใส่การออกแบบอารยสถาปัตย์ไว้ในนั้นด้วย
นันทิดาชวนนั่งเรือข้ามฝาก จากฝั่งท่าเรือไอคอนสยามไปท่าเรือสี่พระยา เพื่อให้เห็นการออกแบบในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างไร ทั้ง 2 ฝั่งจะมีตัวเชื่อมเป็นทางลาด เพื่อให้การขึ้นและลงเรือมีความสะดวกสบายและไม่เสี่ยงต่อการตกน้ำของทรัพย์สินและร่างกาย การออกแบบทางเชื่อมเหล่านี้มีทั้งระดับของพื้นโป๊ะเรือที่มีความสูงพอ ๆ กับเรือและทางเชื่อมที่เป็นลักษณะโค้ง ทำให้การขึ้นและลงเรือนั้นมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น นันทิดาได้ชวนให้ไปดูวิธีการขึ้นรถเมล์ชานต่ำที่เธอใช้ในทุก ๆ วันที่ออกจากบ้าน ตั้งแต่การต้องออกมาเรียกเลยป้าย เพื่อที่จะให้รถเมล์เห็นเธอและขึ้นได้ทัน เธอจำเป็นที่จะต้องมีไม้เพื่อใช้ในการโบกรถ และเธอจึงให้คนขับรถและกระเป๋ารถเมล์นำทางเชื่อมเพื่อที่จะโดยสารไปยังที่ต่อไป
เมื่อมองที่การบริการของเอกชนที่ท่าเรือข้ามฝากทั้ง 2 ท่า การบริการที่มาพร้อมกับการให้ความรู้พนักงานในบริษัท เพื่อที่จะตอบโจทย์และดูแลประชาชนมากที่สุด ในขณะที่บริการของรถเมล์ชายต่ำก็ดีและมีคุณภาพไม่แพ้กัน แต่คำตอบที่ต่างกันของทั้ง 2 ที่นี้ คือสภาพแวดล้อมพื้นที่สาธารณะโดยรอบ ที่หลายครั้ง ผู้พิการยังต้องพึ่งพาโชคเพื่อที่จะโดยสารไปยังที่ต่าง ๆ
คำถามสำคัญคือ แล้วผู้มีอำนาจในการจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะผู้ว่าฯ คนใหม่ ที่เราใกล้จะได้เลือกตั้งกันแล้วนั้น ควรจะทำอะไร และมีสิ่งใดที่ผู้ว่าฯ พึงรู้เพื่อที่จะสร้างการออกแบบเหล่านี้ ให้ใช้ได้และมีคนใช้จริง ๆ
คนพิการเปลี่ยนไม่ได้ แต่ผู้ว่าฯ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมเมือง ที่พิการได้
“เอาเข้าจริง ๆ เมืองนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญรถบนท้องถนน มากกว่าคนเดิน การแก้ปัญหาที่เราเห็น มันเลยปรากฏมาในรูปแบบของสะพานลอยไง” นันทิดากล่าวถึงการจัดลำดับความสำคัญของเมือง ผ่านสาธารณูปโภคอย่าง สะพานลอย ที่ไม่ต่างจากกำแพงหรือกรงขังสำหรับหลาย ๆ คน ทั้งผู้พิการ คนชรา และคนทั่วไป และน่าเสียดาย ยังมีผู้สมัครบางท่าน ที่อยากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการติดตั้งลิฟต์เพิ่มในแต่ละสะพานลอย ทั้ง ๆ ที่การสร้างทางม้าลายและข้อบังคับให้สังคมต้องเคารพผู้คนที่สัญจรทางเท้า น่าจะง่ายกว่า
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพขีวิตคนพิการ (พก.) ระบุจำนวนคนพิการที่มีคุณสมบัติสามารถเลือกตั้งได้ในเขต กทม. ในเดือนพฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้น จำนวน 76,429 คน และจำนวนที่มากที่สุดในนั้นคือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือผู้พิการ Wheelchair
นันทิดาจึงได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอ เพื่อให้การออกแบบเหล่านี้ ตอบโจทย์และให้คนกล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น ทั้งผู้พิการและคนทั่วไป ที่ล้วนจะได้ผลประโยชน์จากการออกแบบที่มิตรกับทุกคน
จากการรับฟังเสียงของประชาชนและเกิดเป็นนโยบายจำนวนมาก สิ่งแรกที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำคือการร่วมมือกับภาคประชาชนหรือหน่วยงานเอกชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของกรุงเทพฯ เฉพาะแค่เรื่องของการออกแบบเมืองก็มีล้นมืออยู่แล้ว
การสร้างให้เกิดการร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา ทำประชามติ หรือการทำงานร่วมกัน สิ่งที่ดีสุดคือปลายทางของการแก้ปัญหารูปแบบนี้ เราจะได้ทางออกที่มาจากปัญหาของผู้ใช้โดยตรงและเราจะสามารถแก้ไขตรงจุดที่สุด
ที่สำคัญ ต้องลดรั้วในแต่ละหน่วยงานลงเพื่อเพิ่มความร่วมมือมากขึ้น เราต้องอย่าลืมว่า กทม. เองไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกทม. ได้ การประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ ก็ต้องมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติม เพื่อที่จะแก้ปัญหาของประชาชนได้รวดเร็วมากขึ้น
สิ่งที่แก้ไขและปรับปรุงต่อมา คือระบบที่ใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ทั้งปัญหาของผู้ใช้งานและปัญหาของพื้นที่ที่เสียหาย การเข้ามาแก้ไขจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องรวดเร็วเพื่อที่จะบรรเทาทุกข์ของประชาชนลงได้ ระบบที่ใช้ได้จริงและเข้าถึงง่าย ก็เป็นอีกส่วนที่จะทำให้กทม. เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัยมากขึ้น
นันทิดากล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญของการออกแบบเหล่านี้ คือจะต้องทำให้ใช้งานได้จริงก่อน หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มักจะไปเน้นความสวยงามของพื้นที่ ทำให้วัสดุหรือความแข็งแรง ที่ควรจะเป็นมาตรฐานในการก่อสร้าง ตกหล่นไป
และสิ่งสุดท้าย คือผู้ว่าฯ คนต่อไป ต้องมีความเข้าใจและสั่งการถึงระดับต่อไป ในเรื่องของ Universal Design ให้มากขึ้น การรับรู้และกระจายข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ จะทำให้กลุ่มผู้พิการ ไม่ใช่ได้รับการเห็นใจ แต่เป็นได้รับความเข้าใจ จากทั้งทางรัฐและประชาชน
สิ่งที่นันทิดาเสนอ เป็นเพียงมุมมองของประชาชน ที่อาจจะมีสายตาของคนที่ทำงานการขับเคลื่อนสังคม ทว่า สิ่งเหล่านี้คือเครื่องยืนยันว่า กทม. จำเป็นจะต้องมีการร่วมมือ/รับฟังต่อประชาชน เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ให้เกิดการสร้างสาธารณูปโภคที่สุดท้ายคนไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วแต่เสียหายได้ง่าย นี่อาจจะเป็นคำตอบในการที่สร้างเมืองหลวงแห่งนี้ได้ดีขึ้น ก็เป็นได้
ทำไม? การใช้ชีวิตของใครสักคนหนึ่งต้องใช้โชคช่วย
ทำไม? การเดินทางของใครสักคนหนึ่งต้องให้อากาศฟ้าเป็นใจ
ทำไม? ทางเดินของเอกชนมักจะดีกว่าทางเดินของรัฐเสมอ
แล้วทำไม? การบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดอำนวยความสะดวกสบายฯ ถึงไม่สามารถใช้ได้กับทุกที่
จึงสำคัญที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่เราจะได้เลือกกันในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะเป็นทางม้าลายให้เราข้ามไปยังเมืองที่ออกแบบเพื่อทุกคนได้หรือไม่ หรือจะเป็นสะพานลอยติดป้ายอันใหญ่ ที่จะให้แค่ใครบางคนสามารถข้ามผ่านไปได้เท่านั้น
เพราะเมืองนี้ไม่มีผู้พิการ มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ และถ้าวันใดวันหนึ่งที่สภาพแวดล้อมหรือการออกแบบเหล่านี้ สามารถสร้างความไม่แปลกแยกได้แล้วละก็ ที่นี่ ก็จะมีแต่ประชาชน ที่สามารถใช้ชีวิตอย่างทั่วไป ได้เช่นกัน