ร่องรอยแห่งการต่อสู้ที่ยังไร้คนรับผิดชอบเยียวยาปรากฏชัดอยู่ในแปรง แบบเสื้อ ไฟล์ภาพ และผืนผ้าใบ
นอกจากบาดแผล ยังเต็มไปด้วยความปลุกเร้า ความสร้างสรรค์ และความหวังของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนตลอดปี 63-64 ที่ผ่านมา
De/code ชวนอ่านเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยในประวัติศาสตร์กระแสรอง เรื่องราวที่ไม่ได้อยู่ในแบบเรียนกับ อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือ “พี่แว่น” ผู้สร้างสรรค์ของนิทรรศการสามัญชน
เพดานของการจัดแสดงงาน The battle wound
เพดาน การจัดแสดงของประชาชนด้วยกันเอง กลายเป็นเราต้องมาคิดเรื่องรองรับความเสี่ยง มาตรฐานของรัฐ กับมาตรฐานของเราไม่เท่ากัน อย่างบางชิ้นงานในนี้ (นิทรรศการ The battle wound) ก็คงพูดตรง ๆ ว่าถ้าเป็นผมคงไม่เอามาจัดแสดงเหมือนกัน
เรื่องเล่าของคนธรรมดา
ความจริงเรามีพิพิธภัณฑ์ที่พูดถึงวิถีชีวิต ชุมชนเจ๋ง ๆ ก็เยอะ แต่สิ่งที่ขาดไป ยังไม่มีใครพูดถึงทั้ง ๆ ที่คือเรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตไม่ต่างกัน คือเรื่องของการเมืองภาคประชาชน
รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งของและเรื่องราวพวกนั้นเลย อย่างเช่นเสื้อจ่านิวที่เปื้อนเลือด ผมเอาเสื้อแขวน เอาหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าววันนั้นแปะข้างฝา มันไม่ต้องการคำอธิบายอะไรเลย แต่บางชิ้นก็ต้องการคำอธิบายเหมือนกัน เช่น ภาพถ่าย cut out สมัย 6 ตุลา เราก็ต้องใช้วิธีการพาทัวร์
เมื่อผ่านเวลาเทคโนโลยีเปลี่ยนไป มันต้องการคำอธิบายของมัน เด็กสมัยนี้อาจไม่รู้จัก cut out แล้วก็ได้ บางอย่างอาจจะไม่เกี่ยวกันเลยแต่มันชวนแวบ ๆ เข้ามา เช่นมีคลิปวิดีโอดูดวงของหมอหยองในซุ้มที่พูดถึง 112 มันแทบไม่เกี่ยวกันเลยนะ แต่ก็ชวนแวบคิดเหมือนกัน
แว่นขยายของ ‘ความจริง’ ที่ไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว
เป็นการเติมเต็มมากกว่า เราแค่เป็นแว่นขยาย เสนอเรื่องเล่าอีกมุมที่ช่วยเติมเต็มภาพใหญ่ให้สมบูรณ์ขึ้น ข้อเท็จจริงมันไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เราแค่บอกว่ามันมีข้อเท็จจริงชุดอื่นอยู่ และไม่ได้มีชุดไหนที่ด้อยค่ากว่ากัน
อานนท์ ชวาลาวัณย์
ถ้าเป็นคนพาชมงาน แล้วมีคนแต่ละกลุ่มเดินเข้ามา จะแนะนำชิ้นไหนให้พวกเขาดู เอาแบบที่พลาดไม่ได้เด็ดขาด
ถ้าเป็นกลุ่มเยาวชนนักกิจกรรม : เสื้อพวกน้อง ๆ นี่แหละครับ ผมเก็บไว้ให้หมดเลย
ถ้าเป็นคุณป้าใส่เสื้อเหลือง ทำงานราชการ : นกหวีดผมมี เสื้อกลุ่ม กปปส.ผมก็มี
ส่วนพี่ ๆ ตำรวจ คฝ. : กระบอกแก๊สน้ำตา ที่รัดข้อมือ มีให้รำลึกความหลังเพียบ
และสำหรับน้อง ๆ มัธยมที่ไม่สนใจการเมือง กำลังอ่านสอบเข้าจุฬาฯ ยุ่งกับชีวิตตัวเองอยู่ : จดหมายน้อยเขียนความในใจมาในแผ่นเล็ก ๆ เล่าว่าตอนเขาเรียนมัธยม แม่เอานกหวีดมาให้ แขวนไปโรงเรียนจะได้เป็นคนดี พอไปถึง ครูที่เคยมีท่าทีไม่ดีกับเขาพอเห็นเขาแขวนนกหวีด ก็มีท่าทีเปลี่ยนไป มาโอ๋เอ๋กับเขาเหมือนสนิทกัน พอโตขึ้นเขาไปงานหนังสือที่จัดในธีมรำลึก 14 ตุลาพอดี ก็ได้เอกสารงานนั้นมา แต่ไม่เคยเปิดอ่านเลย จนมาถึงวันที่เขารู้สึกว่าทุกอย่างมันพังทลายลงมาตรงหน้า คำถามมากมายไหลบ่าลงมาประเดประดังใส่ตัว เขาเลยตัดสินใจส่งของมาให้เรา มีนกหวีด จดหมายน้อย และเอกสารงาน ’14 ตุลา’
คนที่ส่งของมาให้เราจัดแสดง เขาคาดหวังอะไร
เขาหวังว่าเรื่องราวของเขาจะถูกบันทึก ของแต่ละชิ้นมันมาจากเรื่องราวส่วนตัวของแต่ละคน แต่ละคนมีประวัติศาสตร์ของตัวเองที่อยู่ในตู้เสื้อผ้า มันมีอยู่จริงสำหรับคุณ แต่อาจไม่มีอยู่เลยสำหรับคนอื่น พอพวกเขาส่งต่อเรื่องราวมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันบนผนัง
“มันคือเรื่องราวของแต่ละคน ที่อาจเคยอยู่ในสถานที่เดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่รู้จักกัน และพวกเขาได้พบกันอีกครั้งในงานนี้ ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันอีกครั้ง”
ยิ่งลบยิ่งจำ “การลบไม่ได้ช่วยให้ลืมจริง ๆ “
การลบอาจจะทำให้เรายิ่งจำ คนยิ่งกระหายใคร่ที่จะรู้มากขึ้น การปล่อยไว้ไม่ให้ความสนใจ อาจจะทำให้เรายิ่งลืมด้วยซ้ำ ยิ่งเป็นยุคสมัยที่มี digital footprint เต็มไปหมดด้วย การลบไม่ได้ช่วยให้ลืมจริง ๆ
การพูดคุยกับพี่แว่น ผู้สร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์สามัญชนที่ปะติดปะต่อเรื่องราวของผู้คนให้มาพบกันอีกครั้ง ชวนให้เรานึกถึงงานนิทรรศการอีกงานหนึ่งที่พยายามทำหน้าที่นั้นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าครั้งนี้ เรื่องราวของพวกเขา อาจไม่ใช่เสียงที่คนบางคน อยากให้เราได้ยิน
6 ตุลา ในปี 2564 ด้วยข้อจำกัดจากภาวะโรคระบาดยาวนาน ไม่เพียงแค่สถานที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ความรู้สึกของคนที่ซึมลึกต่อสถานการณ์ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่หากพูดถึง 6 ตุลา จะชวนให้หดหู่ เศร้าเหงากว่าทุกครั้ง โจทย์ของการจัดงานนิทรรศการรำลึกในปีนี้จึงท้าทายกว่าทุกปีที่ผ่านมา
แล้วทำไมเราจึงไม่เปลี่ยนไปพูดถึงความหวังก่อนหน้า เมื่อไม่มีสถานที่จัด ทำไมไม่ส่งตรงงานนิทรรศการถึงบ้านซะเลย นี่คือ ‘สาส์น’ตั้งต้นของกล่องฟ้าสาง นิทรรศการจัดส่งถึงบ้านที่คงอยู่ในมือใครหลายคนเป็นที่เรียบร้อย
ผู้เขียนชวนพลิกกล่อง เปิดฝา ลอกเทปกาว มาลองแกะความคิดของหนึ่งในทีมผู้ออกแบบกล่องฟ้าสาง เบสท์ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้ก่อตั้งและ Creative Director ของ Eyedropper Fill อะไรอยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ ระหว่างทางพบเจออะไร มีสิ่งไหนอีกที่ไม่ได้เก็บใส่เอาไว้ ไปเปิดกล่องความคิดของเขาพร้อมกันกับเรา
กาลเวลาของคนต่างรุ่น
ตอนที่ออกแบบกล่องฟ้าสาง สังคมรอบข้างยังคง ‘BURN OUT’ ทั้งจากโควิดและพิษเศรษฐกิจ เราจึงไม่ต้องการจะพูดถึงเพียงแค่ความตายและการสูญเสีย แต่เราอยากสื่อสาร อยาก ‘empower’ ผู้คนร่วมยุคสมัยผ่านงานชิ้นนี้ เราอยากเล่าว่าพวกเขา ‘มีชีวิตอยู่อย่างไร’ มากกว่าพวกเขาตายอย่างไร
กลุ่มเป้าหมายของเราจึงเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาจรับรู้แต่ยังไม่เข้าใจ อาจสนใจแต่ยังไม่มีโอกาสสัมผัสถึง กล่องฟ้าสางจึงก้าวมาทำหน้าที่ตรงนั้น เชื่อมช่วงเวลาคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เข้าหากัน หน้าที่ของเรา คือการสร้าง ‘กล่องความทรงจำ’
ก่อนจะถึงวันฟ้าสาง รุ่งอรุณที่รุ่งเรืองของประชาธิปไตย เคยฉายชัดมาแล้วในช่วง 2516 – 2519 เราชวนให้ผู้ร่วมนิทรรศการสัมผัส ฟัง อ่าน และ ดมกลิ่น เราอยากจะชวนพวกเขานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปด้วยกัน
ภาพ: ณัฐนนท์ ณ นคร
คนรุ่นนี้เห็นอะไรในการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลา
เรารู้สึกว่าทำไมมัน ‘บริสุทธิ์’ ขนาดนี้ เราทั้งโมโห ทั้งเศร้า และอดเปรียบเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ ความตายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพียงเพราะแค่มีความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้น อีกจุดที่น่าสนใจคือเราเห็นการปะทะกันของข้อมูลชัดเจนมาก ท่ามกลางกองข้อมูล เรื่องเล่า หนังสือพิมพ์ ไปจนถึงเอกสารราชการ ความเป็นมนุษย์มันหล่นหายไป มันข้ามรายละเอียดในความเป็นมนุษย์ของผู้คนไปเยอะมาก
ตอนที่ทำงานนี้ทีมข้อมูลได้สัมภาษณ์พบเจอผู้ร่วมในเหตุการณ์หลายท่าน หลายคนบอกว่าเขารู้สึกแพ้ในตอนนั้น พอมีเด็กรุ่นใหม่มาให้ความสนใจ เห็นความสำคัญ เขารู้สึกราวกับว่าได้ปลดล็อกอะไรบางอย่างไปเหมือนกัน ไม่นึกว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้าใจพวกเขาขนาดนี้ เขารู้สึกว่า เพื่อนของเขาไม่ได้ตายเปล่า
ถ้าจะมีสักสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดขณะทำกล่องฟ้าสาง ก็คงต้องบอกว่าความเข้าใจกัน เข้าใจว่าพวกเขาเจออะไรมา มันสำคัญมากจริง ๆ
ภาพที่เราเห็นคือระหว่างทางการเคลื่อนไหว การต่อสู้ไม่ได้มีวันเดียว มันมีเหตุและปัจจัยรายล้อมเต็มไปหมด เมื่อเวลาผ่านไปมันถูกตีความหมายขยายออกไปได้ไกลมาก นี่ก็เป็นอีกมุมที่เราเห็นตอนประกอบกล่องขึ้นมา
เรื่องของคนตัวเล็กที่ละเอียด
ความจริงเราอยากใส่การเคลื่อนไหวในโลกภาพยนตร์ตอนนั้นเอาไว้มาก ๆ ทั้งดนตรี ละครเวที วรรณกรรม มันเข้มข้นมากในเวลานั้น และไม่ได้เป็นแค่กับในเมืองไทย บริบทสังคมโลกมันเอื้อให้ในช่วงเวลานั้น เกิดการเล่าเรื่องในทิศทางแบบนั้นด้วย แม้แต่หนังที่ท่านมุ้ยกำกับหลายเรื่องในยุคนั้นก็ใช่ มันมีเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย มีการเชื่อมต่อกันระหว่างภาพยนตร์กับขบวนการนักศึกษาอยู่เยอะมาก
ภาพจาก: ทีมผู้จัดทำกล่องฟ้าสาง
ฟ้าสางพาไปไกลกว่าที่คิด
เราพบว่ากล่องฟ้าสางสามารถกลายเป็น ‘platform’ การเรียนรู้ที่ส่งต่อได้ มีความเคลื่อนตัว เมื่อเราเปิดดูกล่องนี้จบ หลายคนก็ส่งให้คนอื่นดูต่อ เรารู้สึกว่ามันถาวร ยืนยาวกว่า เป็นได้มากกว่านิทรรศการ เลยทำให้เราอยากจะส่งต่อไปยังโรงเรียนด้วย
มีจุดหนึ่งตอนที่เราเจอข้อมูลเรื่อง ‘สามประสาน’ พลังระหว่างกรรมกร นักศึกษา ชาวนา เรารู้สึกว่ามันทรงพลังมาก จริงอยู่ที่ผ่านมา 45 ปีแล้วเราก็ยังต้องต่อสู้ในเรื่องเดิม ประเด็นเดิม แต่มันเหมือนการส่งต่อคบไฟ มันคือผลพวง คือพลังของคนที่ฝันอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
เรารู้สึกได้ว่ามันสว่างวาบมากขึ้นเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ชัยชนะไม่ใช่การพลิกฟ้าเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในวันเดียว แต่คือการประคับประคองเพิ่มเชื้อไฟให้สว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า ทั้งในเชิงความคิด และในเชิงการเพิ่มมวลชน
เรารู้สึกว่าสังคม “ตาสว่างขึ้นแล้ว” ไม่ใช่แค่ในเรื่องการเมือง แต่ทั้งประเด็นเรื่อง GENDER คนชายขอบ ปัญหาเชิงโครงสร้างและอื่น ๆ
ประวัติศาสตร์แห่งอนาคตยังมีเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยซ่อนอยู่
มีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าอีกหลายเรื่องที่เราอยากพูดถึงต่อ อยากขยาย platform นี้เข้าไปในโรงเรียนถ้าเป็นไปได้ และอยากให้กำลังใจทุกคนที่กำลังสู้ อยากให้ยืนระยะกันไปยาว ๆ อยากให้ไปด้วยกัน
และนี่คือเสียงที่ซ่อนอยู่ในกล่องฟ้าสาง ก่อนตะวันจะปรากฏตรงเส้นขอบฟ้า ก่อนความมืดมิดจะลับลา ขออุทิศบทความนี้ให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์ไทย และจิตวิญญาณที่ยังสู้อยู่ในทุกยุคทุกสมัย
ขอให้เรายังมีความหวัง และพบกันเมื่อวันตะวันมาถึง
ภาพจาก: ทีมผู้จัดทำกล่องฟ้าสาง