“เหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรในราชอาณาจักรสามารถดำเนินการไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความโปร่งใส ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
นี่คือถ้อยคำเปิดหัวของพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หรือ “พรบ.ควบคุมการรวมกลุ่ม” ชื่อเล่นที่ถูกตั้งให้กับกฎหมายอีกฉบับที่ออกมาเงียบ ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
De/code ชวนผู้อ่านร่วมกันชำแหละว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเนื้อความ “เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความโปร่งใส ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
กับ สมบูรณ์ คำแหง หรือ บังแกน นักพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน โดยคู่ต่อสู้ของเขาไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือนายทุนและรัฐบาล
“เรามีกฎหมายจำนวนมากที่ใช้ตรวจสอบและควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ป้องกันการฟอกเงิน กฎหมายประมง ทรัพยากรทางทะเล แร่ เงื่อนไขต่าง ๆ ในการจดทะเบียนตั้งเป็นมูลนิธิ สมาคมก็เข้มงวด เราถูกตรวจสอบควบคุมจากกฎหมายตัวอื่นอยู่แล้ว
เราไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบ แต่เราปฏิเสธการละเมิดสิทธิเท่านั้นเอง
บังแกนชี้ให้ดูแผลขนาดใหญ่บนร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มันชัดเจนมาก
มาตรา 6 ที่มาของคณะกรรมการ ที่จะมีอำนาจสั่งห้ามการรวมกลุ่มของพวกเราทุกคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง 6-7 คน จากกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย รมต.ตั้งตัวแทนจากกลุ่มที่รวมตัวกันมาเป็นกรรมการ อายุต้องมากกว่า 35 ปี ไม่เกิน 7 คน รวมทั้ง รมต.แต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 4 คน
สรุปคือเราจะมีกรรมการทั้งหมด ไม่เกิน 19 คน รวมรมต. และทั้งหมดนี้ มาจากรมต.แต่งตั้ง ต่อให้เป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคม ก็ต้องได้รับการแต่งตั้งจากรมต.
ความน่าสนใจมากไปกว่านั้น คือคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งได้รับอำนาจจากฝ่ายบริหาร สามารถยุติการรวมกลุ่มของประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล
“สิ่งที่คนออกกฎหมายฉบับนี้ทำ (รัฐบาล) คือการท้าทายอำนาจประชาชนทั้งประเทศ คนที่ทำอะไรแบบนี้ เขาแค่ลุแก่อำนาจเท่านั้นเอง” บังแกนกล่าว
บังแกนค่อย ๆ ไล่นิ้วไปยังจุดที่เป็นปัญหา ก่อนจะชี้ร่องรอยที่น่าสงสัยอีกจุดหนึ่ง คำคำนี้ดูกำกวม ตีความได้กว้างขวาง และไม่แน่นอน นั่นคือคำว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร”
ภาพจาก: ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ภาพจาก: ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน
มาตรา 3 “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกัน จัดตั้งในรูปแบบใด ๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง
อ่านมาถึงตรงนี้ พวกเราหลายคนอาจเริ่มคิดถึงกิจกรรมที่ชอบรวมตัวกันทำกับเพื่อนฝูงในบ่ายวันหยุด คืนวันศุกร์ หรือพักเที่ยงในวันทำงานอย่างกังวลใจมากขึ้น
กลุ่มคนรักหนังจัด event ฉายหนังเพื่อต่อต้านสงครามในยูเครน คุณอาจโดนปรับ 500,000 บาท เพราะกิจกรรมของกลุ่มคุณกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กลุ่มคนรักอาหารออร์แกนิกที่ชื่นชอบการเก็บเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นไว้ปลูกกินเอง ต่อต้านการใช้สารเคมีในประเทศ คุณอาจโดนปรับ 500,000 บาท เพราะกิจกรรมของกลุ่มคุณกระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ
เพื่อนของคุณเป็น LGBTQ+ คุณและเพื่อน ๆ ช่วยกันรณรงค์ให้พวกเขาได้จดทะเบียนสมรส ได้อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คุณอาจโดนปรับ 500,000 บาท เพราะกิจกรรมของกลุ่มคุณกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
โรงงานที่ญาติคุณทำอยู่ไม่จ่ายค่าจ้างสักทีและเหมือนเตรียมจะลอยแพคนงาน การใช้สิทธิประท้วงตามรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ตรงกับนิยาม “ความสงบ” แน่นอน
รวมกลุ่มเล่นบอร์ดเกมที่เนื้อหาแปลกใหม่ แฟนด้อมเกาหลีที่โอนเงินสนับสนุนประเด็นที่พวกเขาเชื่อ คุณลุงคุณป้าที่เชื่อในสมุนไพรทางเลือก ทุกคนอาจโดนปรับ 500,000 บาท เพราะกิจกรรมของกลุ่มคุณไปขัดต่อ “ความมั่นคง” ของรัฐ
เราอาจเริ่มเข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมบังแกนถึงบอกว่านี่คือการละเมิดสิทธิของประชาชน
ภาพจาก: ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน
สิทธิในการรวมกลุ่มมีบัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ดูเหมือนว่ากฎหมายที่อยู่ตรงหน้าเราจะไม่ใช่แค่ตัดระบบศาลออกจากสมการ แต่ยังเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารอย่าง รมต.สักคน แต่กฎหมายฉบับนี้ ยังขัดต่อกฎหมายสูงสุดเองอีกด้วย
แต่นี่ ยังไม่ใช่จุดพีคที่สุดของเรื่องราว
บังแกนเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่เราจะมาเจอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แกทำงานขับเคลื่อนประเด็นต่อต้านท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารามาก่อน (ใช่แล้ว ใกล้ ๆ แหล่งดำน้ำสวยติดอันดับอย่างหลีเป๊ะนั่นเอง) ตอนนั้นมีทุนใหญ่ในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้เล่นคนสำคัญในเกมนี้
“ถ้าใครตั้งคำถาม ก็กลายเป็นแกะดำกันทั้งนั้น” บังแกนพูดยิ้ม ๆ
ในตอนนั้นบังแกนและคนอื่น ๆ ช่วยกันชักชวนชาวบ้านรวมกลุ่มพูดคุย ระดมประเด็น ตั้งคำถาม เพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นต่างไปจากการเมืองแบบเก่า ที่แค่เข้าไปคุยกับหัวคะแนนเท่านั้นอย่างสิ้นเชิง นี่คือการกำหนดอนาคตของตัวเอง ที่ชาวบ้าน ที่เจ้าของพื้นที่มีตัวตนจริง ๆ
ภาพคนในชุมชนที่พยายามปกป้องท้องถิ่นของตัวเอง จากการลงทุนท่าเรือน้ำลึกจะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะอาจถูกตีความว่าขัดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจากนั้นไม่นาน บังแกนได้ร่วมขับเคลื่อนในประเด็นคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ เป็นจุดที่ทำให้คนทำงานภาคประชาสังคม GEN X ได้ทำความรู้จักกับเยาวชนนักเคลื่อนไหว GEN Z
“คนรุ่นใหม่ พรรคการเมืองใหม่ ๆ ทำให้เราเห็นว่าการขับเคลื่อนจากข้างล่างขึ้นบนมันเป็นไปได้ เป็นการเมืองแบบใหม่ ท่าทีใหม่ แตะเรื่องโครงสร้างเครือข่ายอำนาจ ได้เติมเต็มช่องว่างกะเทาะความคิด มันทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ถ้าพรบ.ฉบับนี้คลอดออกมา”
ภาพจาก: ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน
กฎหมายฉบับนี้จะปิดกั้นสิ่งที่กำลังงอกงาม มันเกิดขึ้นมาเพราะความหวาดกลัว กลัวที่จะเสียอำนาจ กลัวแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของเด็ก ของชาวบ้านที่เขาต้องการจะปกป้องบ้านเกิดของพวกเขา
พรบ.ควบคุมการรวมกลุ่มตัวนี้จะไม่ใช่ฉบับเดียว และฉบับสุดท้าย
ถ้านี่เป็นการฆาตกรรม นี่อาจเป็นแค่ศพแรก ไม่ใช่ศพสุดท้ายหรืออาจเป็นฆาตกรรมต่อเนื่อง
ภาพจาก: ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน
อ้างอิงข้อมูลจาก
– Facebook Page No NPO Bill
– บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร
– Facebook Somboon Khamhang