4om2b0ng - แรปทะลุกรุง! ไรม์จากชีวิตคนไม่มีสิทธิ์(เลือกตั้ง)ในมหานคร - Decode
Reading Time: 3 minutes

กรุงเทพมหานคร

เมืองแห่งรอยยิ้มที่คนจนต้องหาที่นอน

ชีวิตคนรายวันไม่ต่างจากหมาที่ยอม

เพราะว่าเขาทำอะไรไม่ได้ต้องเคลียร์ปัญหาที่กอง

เมืองงดงามของคนรวยที่เขาอมตัง

เมืองแห่งแรงงานที่ตากแดดสู้กันจนดำ

สำหรับคนจนคือคนงานให้มึงจงจำ

กูไม่ได้โทษว่าฟ้ามันมาลงทัณฑ์

ทุกสิ่งที่เอื้ออำนวยก็ให้คนรวยแล้วให้คนจนยัง

เสียงเพลง ‘ชีวิตคนกรุง’ ของออม ปิติกร พลีจิตร หรือ AKA ชื่อในวงการแรปว่า 4om2b0ng (ออมทูบอง) ขับร้องขึ้นมาในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2022 ใกล้เข้ามาถึง

“สำหรับผมการทำเพลงมันจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ตรง ๆ ของเรา รวมถึงประสบการณ์ของคนอื่นมาผสมรวมกัน แต่ละเพลงมันต้องมีเรื่องราว”

ออมในวัย 19 ปีกล่าวเช่นนั้น ออมคือตัวแทนความทับซ้อนของประชากรแฝงที่อยู่ในกรุงเทพฯ 

เขาเคยเป็นคนไร้บ้าน / เป็นคนที่เลือกออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ / เป็นคนจนเมือง แรงงานหาเช้ากินค่ำ / พ่อของเขาเป็นแรงงานข้ามชาติ / และออมเป็นคนที่สู้ชีวิตอยู่ในมหานครแห่งนี้โดยลำพังด้วยลำแข้งของตัวเอง 

ความทับซ้อนและเรื่องราวชีวิตของเขา สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเมืองแห่งนี้ ที่ยังไม่ได้รับการกล่าวขานถึง ออมเล่ามันออกมาผ่านบทเพลงของเขา และบทสนทนาต่อจากนี้ที่เราคุยกัน

มีหนุ่มพม่ากับนางสาวไทย…ไม่นานมีลูกชื่อออมทูบอง

“ชีวิตในเมืองกรุงเอาตัวรอดยากนะเว้ยพี่

“ต่อให้ชีวิตผมจะย้ายไปอยู่ตรงไหนในเมืองนี้ สุดท้ายต้องทำงานอยู่ดี ถ้าเกิดมาเป็นคนจนต้องดิ้นรนทำงานอย่างเดียว ไม่เหมือนกับคนที่เขาเกิดมาพร้อมและได้ทุกอย่าง ผมไม่ได้โทษโชคชะตา เพราะคนที่เกิดมามีพร้อมพ่อแม่เขาอาจจะหามา ลูกเขาเกิดมาก็มีทุกอย่างรองรับ แต่อย่างผมพ่อแม่หามาไม่ทันผมเกิด จึงต้องทำงานไปเรื่อย ๆ ”

ออมเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของตัวเอง ในช่วงเวลาที่เขาเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เป็นวัยที่กำลังเข้าสู่ชั้นมัธยมต้น ชีวิตที่ไร้ต้นทุนจำเป็นต้องปากกัดตีนถีบอยู่ในเมืองกรุงตั้งแต่วัยเยาว์

“ผมเป็นลูกครึ่งพ่อผมเป็นคนพม่า ตอนเข้ามากรุงเทพฯ พ่อกับแม่เลิกกัน ผมเริ่มรู้สึกเปลี่ยวเหงา  เหมือนกับว่าตอนนั้น พ่อแม่เขาไม่เคยคิดอยากจะเลี้ยงผม สุดท้ายต้องมาอยู่กับพ่อ พ่อผมติดการพนันเอาเงินเก็บทั้งหมดไปเล่นไฮโลจนหมดตัว วันนั้นมันเป็นภาพที่ติดตา ตื่นเช้ามาพ่อพูดกับผมว่าเหลือเงินอยู่ 40 บาท”

ออมเริ่มต้นทำงานอยู่ในโรงงานเย็บผ้าตั้งแต่ขึ้น ม.1 โดยเขาจะทำงานในชื่อของพ่อ ส่วนพ่อของเขานั้นจะไปรับงานที่อื่น เพื่อที่จะได้มีเงินเพียงพอในการกินอยู่ ในเมืองกรุงออมไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ชีวิต เรียนรู้เล่นสนุก ทำตามฝันเหมือนเด็กคนอื่นในวัยไล่เลี่ยกัน

“พอถึงจุดหนึ่งเหมือนความเหนื่อยในตัวมันสะสม ผมไม่อยากทำงานแล้ว เลยตามเพื่อนไปเที่ยวเล่น หนีออกจากบ้านไปอยู่บ้านเพื่อน 1-2 เดือน จนกระทั่งโดนเขาไล่ออกมากลายเป็นเด็กพเนจร”

สำหรับออมสิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากโชคชะตา แต่เกิดจากการที่เขาไม่เคยได้รับโอกาส และสวัสดิการเท่าเทียมกับคนอื่นในเมืองแห่งนี้ 

“ผมมีบัตรประชาชน แต่สวัสดิการผมไม่เคยได้ พอพ่อผมเป็นพม่าสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะเอื้อมาถึงผมเลยยาก ขนาดตอนไปโรงเรียนพ่อเป็นพม่า ทำให้ผมไม่มีบัตรนักเรียน ไปทัศนศึกษากับเพื่อนไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรเขาไม่ให้ไป เหมือนกับว่าตอนผมไปสมัครเรียน ผมมีแต่เอกสารของแม่ แต่ไม่มีเอกสารของพ่อ เขาจึงไม่สามารถยืนยันผมเป็นนักเรียน”

นอกจากนี้ออมกล่าวว่าปัจจุบันเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย เขาจำเป็นต้องควักเงินของตัวเองทั้งหมดในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

“ทุกวันนี้ผมไม่เคยได้ใช้สิทธิอะไร ทั้งการรักษาพยาบาลหรือรัฐสวัสดิการอื่น ๆ ผมไม่มีอะไรเลย เวลาป่วยไปหาหมอจ่ายเงินเอง ผมว่าควรมีสวัสดิการให้กันหน่อย

“มันอิจฉานะพี่ แต่ละคนได้รับโอกาสนู่นนี่ แต่มันทำอะไรไม่ได้วะ ความรู้สึกผมคือ ‘มึงอิจฉาได้นะ แต่แค่นี้พอ พรุ่งนี้มึงต้องทำงานของมึงให้ดี’ ผมพยายามเอาความอิจฉานี้ มาผลักตัวเองขึ้นไป”

แต่ในอีกมุมหนึ่งออมมองว่า เมืองแห่งนี้ก็ให้โอกาสเขาหลายอย่างเช่นกัน

“สิ่งที่ผมได้จากเมืองนี้ คือการที่ผมได้เป็นตัวเอง ได้ทำอะไรที่อยากลองทำในเมืองแห่งนี้ เพราะบางสังคมหาได้เฉพาะใน กทม. สำหรับผมการอยู่ที่นี่เหมือนได้เริ่มต้นใหม่ เพราะว่าตอนที่ผมอยู่ต่างจังหวัด ผมโดนสังคมที่มีการเหยียดมา”

การเหยียดที่ออมกล่าวถึงนั้น มาจากการที่เขามีพ่อเป็นคนเมียนมา แต่กับสังคมที่กรุงเทพฯ ออมกล่าวว่าเพื่อนของเขาที่นี่มองเป็นเรื่องปกติ และเขาได้เริ่มรู้จักเพลงแรป มีกลุ่มเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน เมื่อตอนที่เขาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ สำหรับออมหากไม่ได้เข้ากรุงเทพฯ คงไม่มีโอกาสนั้น

โดยหลังจากที่ออมเลือกออกมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวข้างนอก ในช่วงแรกเขาอาศัยอยู่บ้านเพื่อน ก่อนถูกให้ออกมา ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีงาน เขากลายเป็นคนไร้บ้านอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะกระเสือกกระสนเอาตัวรอด ด้วยการหางานทำและทำตามความฝันไปพร้อม ๆ กัน

“ผมออกจากโรงเรียนไม่มีที่ไป ไม่มีงาน ไม่เหลืออะไรเลย ไปอยู่บ้านเพื่อน ก่อนกลายเป็นคนเร่ร่อน ตอนอายุ 15-16 อยู่แบบนั้นมา 2-3 เดือน ถึงได้งานทำ

“ช่วงนั้นผมก็แต่งเพลงไปทำงานไป ผมเคยถามพ่อว่าทำงานนี้มากี่ปี พ่อบอกว่าเกือบ 10 ปี ความคิดผมเลยผุดขึ้นมาว่า จะนั่งทำงานอยู่ตรงนี้ 10 ปีเลยเหรอวะ ผมเลยคิดว่าถ้าเราเกิดมาอยู่ในสภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ น่าจะมีเวลามากกว่านี้ เวลาที่จะทำอะไรเป็นของตัวเอง”

ขณะที่เราคุยกับออม เป็นเวลาหลังจากที่เขาเลิกงาน ออมจะมาอาศัยห้องของเพื่อนเป็นสถานที่อัดเพลง โดยงานประจำของออมในทุกวันนั้น จำเป็นต้องขับมอเตอร์ไซค์ส่งของไปทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำให้เขาเห็นความเป็นไปในเมืองแห่งนี้ทุกวัน เขาเก็บสะสมวัตถุดิบที่พบเจอ มาใช้ในการแต่งเพลง แฟนเพลงเจำนวนหนึ่งมองว่าเพลงของออมนั้น ให้อารมณ์ดิบ(real) สื่อสารเรื่องราวอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา

ชีวิตในกรุงเทพฯ ของผม แม่งคือเมืองที่ต้องเอาตัวรอดว่ะพี่ ทำงานได้วันละ 300 ใช้ชีวิตแทบจะไม่พอ ผมก็อยากอยู่ต่างจังหวัดนะ แต่ผมคงกลับไปอยู่ต่างจังหวัดไม่ได้แล้ว อยากไปต่างจังหวัดมากแค่ไหน ยังไงก็ต้องอยู่กรุงเทพฯ เพราะว่าชีวิตเราตั้งต้นไว้ตรงนี้ ต่างจังหวัดมันไม่มีที่ทางให้ผม ถ้าอยู่กรุงเทพฯ มันคงช่วยสานต่อความฝันผมได้ง่ายกว่า”

เข้าเมืองมาทำงานเพราะทุกคนก็หลีกหนี ชีวิตที่มันจนโหดร้ายรู้ไหม

“บางคนถ้าไม่จน เขาไม่เข้ามากรุงเทพฯ หรอกพี่ แต่ถ้าจนมันเหลือทางเลือกเดียวคือต้องมาทำงานกรุงเทพฯ หนีความจน แต่พอเข้ามาคิดว่าจะสบาย สุดท้ายต้องมาแข่งกับคนที่อยู่ในเมืองอยู่ดี”

โดยบุคลิกออมเป็นคนเงียบขรึมและพูดน้อย หลายคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในกรุงเทพฯ หลายเรื่องอยู่เหนือในความสนใจ หรือไกลเกินไปที่ออมจะแสดงความคิดเห็นได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องราวของกรุงเทพฯ ในเนื้อเพลงของเขา ออมสามารถเล่าให้เราฟังถึงทุกสิ่งที่สะท้อนอยู่ในเพลงและชีวิตเขา

“มีท่อนหนึ่งผมร้องว่า…เมืองแห่งรอยยิ้มที่คนจนต้องหาที่นอน…ท่อนนี้ผมพูดถึงคนไร้บ้าน แต่ผมใช้เป็นคำว่าคนจนแทนมันจะได้มองเห็นกันทั่วถึง เพราะทุกวันนี้คนไร้บ้านใน กทม. เยอะมาก”

โดยเมื่อถามออมว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดในกรุงเทพฯ. มากที่สุด เขาตอบว่าคือเรื่องคนไร้บ้าน เพราะในมุมมองของออม เขามองว่าคนที่เลือกเป็นคนไร้บ้าน คือคนที่ไม่มีที่ให้ไป อย่างน้อย ๆ ออมบอกว่ากรุงเทพฯ ควรมีที่ให้เขาอยู่เป็นหลักแหล่ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ออมคิดว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพมากพอที่จะทำได้ ถ้าพวกเขาตั้งใจที่จะดูแลจริง ๆ

“ผมเองในช่วงชีวิตหนึ่ง เคยไปเร่ร่อนตอนหนีออกจากพ่อ บางครั้งผมไปนอนตามหน้าเซเว่น มีรุ่นพี่อยู่ในเซเว่นก็เข้าไปขอของใกล้หมดอายุมากิน ผมเลยรู้สึกสำหรับคนไร้บ้าน พวกเขาคือคนไม่เหลืออะไรจริง ๆ ผมหนีออกไปและกลับเข้ามาเพราะอยู่ไม่ไหว แต่สำหรับพวกเขามันอาจจะไม่มีที่ให้ไป วันนั้นผมคิดว่าถ้าพ่อเขาไม่สนใจ ผมคงเป็นคนไร้บ้านต่อไป”

โดยนอกจากเรื่องคนไร้บ้านแล้ว ออมในฐานะผู้ใช้แรงงานในกรุงเทพฯ เขากล่าวถึงการเอารัดเอาเปรียบของนายจ้างที่กระทำต่อลูกจ้าง จากที่เขาได้รับฟังเรื่องราวจากคนใกล้ตัวมา

“คนที่เขาทำงานกับผมเคยพูดกับผมว่า เขาเคยไปยืนรองานอยู่ที่ ซ.กลีบหมู ซอยนั้นจะมีแต่คนงานไปยืนรองานกัน ตัวเขาเป็นช่างเชื่อมที่ค่าแรงปกติควรจะได้วันละ 700 บาท แต่คนที่รับไปทำงานบอกว่าให้ได้แค่ 400-500  ไม่งั้นก็ไม่มีงานเขาต้องยอมที่จะไปทำ”

และในขณะที่นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างแล้ว จากประสบการณ์ตรงของออมเขาพบว่าลูกจ้างก็เอาเปรียบลูกจ้างด้วยกันเอง 

“ตอนผมทำงานอยู่โรงงานเย็บผ้ากับพ่อ แรงงานคนไทยใช้แต่คนพม่า คนไทยทำผิดก็ด่าคนพม่า มีครั้งหนึ่งหัวหน้างานเป็นคนไทยพอเงินเดือนออก หัวหน้าคนนี้จะหยิบซองเงินเดือนของทุกคน บางครั้งหัวหน้างานก็แอบหยิบเงินออกไปร้อยสองร้อย ช่วงนั้นที่ทำงานเราเห็นคนไทยเอาเปรียบคนพม่า ผมคิดว่าทำไมการที่คนแค่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน คนไทยก็จะคิดเพียงแค่ว่าคนพวกนี้โง่”

สิ่งนี้สะท้อนภาพสังคม ที่มีการเอาเปรียบกันเป็นทอด ๆ ตั้งแต่ระดับบนจนมาถึงระดับล่าง นายทุนใหญ่เอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ผู้ประกอบการมาขูดรีดกับแรงงานอีกทอดครึ่ง แม้แต่แรงงานด้วยกันเองก็ยังเอาเปรียบกัน เพื่อที่จะอยู่รอดในสังคมเมืองแห่งนี้ เมืองที่ไม่ได้ทำให้คนโอบรับซึ่งกันและกัน แต่ทำให้คนต้องแข่งขันกันทุกวิถีทางเพื่อที่จะอยู่รอด

4om2b0ng ถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 2022

“การเลือกตั้งที่กำลังมาถึง ผมไม่ได้รู้สึกอะไรด้วย เพราะว่าที่ผมรู้สึกจริง ๆ ผมคิดแต่เพียงว่าวันนี้ตัวเองจะกินอะไร พรุ่งนี้จะรอดหรือเปล่า ผมคิดแค่ว่าวันนี้เอาตัวเองรอด แบบที่พอเจอปัญหาผมก็พร้อมลุกได้เสมอ”

สำหรับออมเขาไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ ฟังดูหมดหวัง แต่ถ้ามองในมุมของเขาไม่แปลกอะไรนัก เพราะถ้าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง วันนี้ชีวิตออมคงได้เรียนต่อ / ได้ทำงานที่ตัวเองรัก / ได้อยู่ในสังคมที่ไม่ต้องแข่งขันอย่างโหดร้ายขนาดนี้ไปตั้งนานแล้ว

โครงสร้างของเมืองแห่งนี้ ส่งผลต่อชีวิตออมไม่มากก็น้อย และเขาในฐานะผู้ประสบภัยจากเมืองหลวง ย่อมมีสิทธิ์ที่จะหมดหวังจากโลกในสายตาของเขา

“บางครั้งผมไม่เข้าใจนะ เขตแถวบ้านผมเขาหาเสียงทำไมกันวะ! ถ้าจะแค่นั่งบนรถและโบกมือไปมา ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้การที่เขาหาเสียง หรือติดป้ายต่าง ๆ ไม่ได้มาช่วย แถมยังมาเพิ่มความลำบากให้ชีวิตคนกรุงอีกด้วยซ้ำ”

ออมมีสิ่งหนึ่งที่เขาอยากบอกออกมา แม้เสียงของเขานั้นอาจจะดังไปไม่ถึงผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

“การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังมาถึง ผมอยากให้ผู้ลงสมัครทุกคนมองผู้คนให้เยอะ มองคน มองที่ดวงตาของพวกเขา กรุงเทพฯ ที่คุณชอบบอกว่าชีวิตมันลงตัว ลองหันกลับมาดูหน้าตาประชาชนแต่ละคนสิ หน้าซึม ตาจ๋อยกันทั้งนั้น  

“ผมเห็นผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงปัญหากรุงเทพฯ เขามักจะพูดถึงเรื่องของชนชั้นกลาง สนใจแต่เรื่องในตัวเมือง มันจะมีสักกี่คนที่ลงมาถามชีวิตคนคนหนึ่งจริง ๆ ผมอยากให้พวกเขามองผู้คน ให้มากกว่าการมองที่ตัวพื้นที่”

ก่อนที่เสียงเพลงของออมจะจบลง…ในฐานะตัวแทนเสียงของประชากรแฝง คนจนเมือง และอีกหลายความทับซ้อน ที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญเมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองแห่งนี้ พวกเขาถูกแปะป้ายหลายอย่าง แต่ยังไม่มีวันที่พวกเขาจะถูกแปะป้ายว่าเป็นคนเมืองกรุง ผู้ได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกันกับ ผู้คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองแห่งนี้

“เหมือนกับว่าทุกคนต่างมีความฝันว่าเข้ามากรุงเทพฯ เห้ย! ทำงานในกรุงเทพฯ ได้เงินเยอะ เราโดนฝังกันมาว่ากรุงเทพฯ เจริญที่สุด เข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วจะได้รับโอกาสมากมาย แต่สำหรับผมมันไม่ดีขนาดนั้น ยังคงอยากให้ที่อื่น ๆ  ให้ความเจริญมันไปทั่วถึง ให้ทุกคนมันได้เข้าถึงเหมือนกัน”