มหากาพย์เหมืองหินฝั่งอันดามัน ชัยชนะในอดีตความพ่ายแพ้ที่กำลังเริ่มต้น - Decode
Reading Time: 4 minutes

สถานการณ์โครงการเหมืองหินในภาคใต้ฝั่งอันดามันกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับนายทุนเหมืองหิน ในพื้นที่เขาโต๊ะกรัง อ.ควนกาหลง จ.สตูล  และเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล  ยืดเยื้อกินเวลานาน เมื่อชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ และกังวลปัญหาผลกระทบต่าง ๆ จากการเข้ามาของเหมืองหิน

“สิ่งที่ทำให้เราไม่หยุดคัดค้านเหมืองหิน เพราะเราเห็นข่าวพื้นที่อื่นอยู่ทุกวัน ว่าเหมืองมันมีผลกระทบต่อชีวิตมากขนาดไหน”

“หากเราไม่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของเราเอง สุดท้ายถ้าโครงการฯ มันผ่าน เราจะต้องรับผลกระทบที่มันรุนแรง จนไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไร”

เสียงจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการรักษาภูเขาในชุมชนของตัวเองไว้ เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับชาวบ้านในพื้นที่เขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา พวกเขาเลือกลุกขึ้นสู้กับนายทุนเหมืองหิน ในวันที่ปล่อยให้เหมืองหินเกิดขึ้นในพื้นที่กว่า 10 ปี

แม้จะต่อสู้ชนะจนภาคเอกชนไม่สามารถต่อสัมปทานเหมืองหินได้จนถึงตอนนี้ เป็นชัยชนะของภาคประชาชน ที่แลกด้วยความเสียหายที่ไม่มีวันชดเชยหรือย้อนคืนกลับมา ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ความเสียหายต่อบ้านเรือน สุขภาพ และความสูญเสียเชิงอำนาจของคนในพื้นที่

De/code ลงพื้นที่ 3 ภูเขา 3 เรื่องราว ถอดบทเรียนชัยชนะการต่อสู้ของภาคประชาชนเขาคูหา ที่ในวันนี้พวกเขาเป็นทั้งแบบอย่างการต่อสู้ และเป็นทั้งภาพบาดแผลที่ทำให้เห็นผลกระทบจากการมีเหมืองหินในพื้นที่ชุมชน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาคูหาในอดีต กำลังฉายภาพซ้ำมาในพื้นที่เขาลูกเล็กลูกใหญ่เมื่อภาคประชาชนอ่อนแอ เรื่องราวการต่อสู้ของผู้หญิงตัวคนเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะต่อต้านการเข้ามาของเหมืองหินได้ 

และในอีกพื้นที่หนึ่ง ณ เขาโต๊ะกรัง แม้วันนี้เหมืองหินยังไม่เกิดขึ้น แต่คนในพื้นที่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เลือกที่จะลุกขึ้นมาร่วมคัดค้านเหมืองหินผ่านรุ่นสู่รุ่น เพราะพวกเขารู้ดีและเห็นบทเรียนจากอดีต ว่าการมีอยู่ของเหมืองหิน ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนของพวกเขาอีกต่อไป

การยืนหยัดของผู้หญิงตัวคนเดียวปกป้องเขาลูกเล็ก ลูกใหญ่

“เคยคุยกับคนที่เขาสู้กับเราและออกไป เขาบอกว่าสู้ไปก็เท่านั้นปากต่อปากไปเรื่อย ๆ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม้แต่เรายังอยากถอนตัว มันเหนื่อยเหมือนเดินหน้าสู้อยู่คนเดียว คนอื่นเขาท้อกันไปหมดแล้ว”

เรียม พลับใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวกับเราด้วยสีหน้าแสดงความเป็นกังวล เธอเป็นตัวแทนในพื้นที่เพียง 1 จาก 2 คน ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ในกรณีการทำเหมืองหินเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ติดที่ดินทำมาหากินของเธอ

“สู้กันมาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2555 อดีตกำนันถูกเล่นงานจนถูกปลดออก เราจึงมาดำรงตำแหน่งแทน”

โดยอดีตกำนันที่เรียมกล่าวถึงนั้นคือสามีของเธอ ปัจจุบันเธอเล่าว่า สามีถอดใจเลือกหันหลังกลับไปหางานทำใน กทม. เพราะรู้ดีว่าสู้ต่อไปก็เปล่าประโยชน์

“สามีบอกเราว่า ‘อย่าไปยุ่งเลยให้เขาทำไปเถอะ’ เขาถอดใจนานแล้ว เพราะชาวบ้านไม่มีใครร่วมด้วย จะไปต่อต้านยังไง”

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การต่อต้านเหมืองหินในพื้นที่เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ขาดพลัง เพราะถูกลดทอน จากการยืดเยื้อต่อสู้เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี จนชาวบ้านถอดใจ สิ่งนี้สะท้อนออกมาจากเสียงของเรียม ผู้ใหญ่บ้าน

สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในตัวเธอตอนนี้คือ การไม่ยอมแพ้ แต่เมื่อขาดการสนับสนุนจากภายใน แม้จะมีการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ

“สิ่งที่ทำให้เราไม่หยุดขับเคลื่อน เพราะเราเห็นข่าวพื้นที่อื่นอยู่ทุกวัน ว่าเหมืองมันมีผลกระทบมากขนาดไหน เรากลัวผลกระทบแต่ถ้ามันเกิดขึ้นก็ต้องทำใจ”

โดยพื้นเพแล้ว เรียมเป็นคนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ย้ายมาอยู่ที่ตรงนี้ เนื่องจากเป็นที่ดินของสามี เธอบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอว่า ตอนอยู่ที่บ้านเกิดเคยได้รับผลกระทบจากโครงการลักษณะนี้ 

“เรารู้ว่าปัญหาฝุ่นละอองจะมีมาก” เธอรับรู้ถึงผลกระทบที่ชี้ชัดว่าไม่อาจหลีกเลี่ยง “จึงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นที่นี่”

โดยเหมืองหินที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่เขาลูกเล็กนั้น ตอนนี้ทางบริษัท สตูล ไมน์นิ่งจำกัด อ้างถึงกรมป่าไม้ว่า อนุญาตให้บริษัทของตน สามารถเข้าทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ภายในพื้นที่ดังกล่าวได้ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ถึง 8 ตุลาคม 2574  ซึ่งเหมืองนี้จะอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 580 เมตร และห่างจากโรงเรียน อนามัยฯ วัด ในระยะทาง 1 กิโลเมตร

“สู้น่ะสู้ แต่บางครั้งเหมือนเราเตรียมใจรอแล้ว”

การต่อสู้ครั้งนี้อาจจะหนักเกินไปสำหรับคนคนหนึ่ง เธอมีลูกอีก 2 คนที่ต้องเลี้ยงดู โดยลูกคนเล็กมีอาการผิดปกติทางร่างกาย ที่จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีเรื่องของการหาเลี้ยงปากท้อง ที่เธอต้องตื่นมากรีดยางในตอนกลางคืน และเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านในกลางวัน

“ถึงเวลาเราต้องทำงาน พักเราก็มาทำตรงนี้ เท่าที่รู้ตอนนี้รู้เพียงว่าเขาจะได้ทำแล้ว สิ่งที่ทำได้เพียงอย่างเดียว คือไปยื่นหนังสือที่กรมป่าไม้ และสผ.”

หนังสือร้องเรียนของเรียมมีใจความว่า  การยื่นสัมปทานเหมืองหินของบริษัท สตูลไมน์นิ่ง จำกัด นั้นการทำ EIA เป็นไปด้วยความไม่ชอบธรรม เพราะพื้นที่ป่าตรงนั้นอุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าหายาก ทั้งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับ  เธอจึงต้องการขอสำเนารายงาน EIA เพื่อนำมาข้อมูลใน EIA มาเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมจริงภายในพื้นที่ต่อไป  

โดยวันที่ 7 เมษายน 2565 นายพิรุณ  สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตอบกลับหนังสือร้องเรียนของเธอมาว่า 

ประเด็นคัดค้านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมคำขอประทานบัตรที่ 1/2559  ทางหน่วยงานจะนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่พิจารณาต่อไป 

ทางสผ. ตอบกลับมาเพียงเท่านี้ ก่อนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขอคัดสำเนา EIA เป็นค่าใช้จ่ายรวม 1,766 บาท 

สิ่งที่ทาง สผ. ตอบกลับมาไม่ได้ช่วยต่อเติมความหวังให้เธอสักเท่าไหร่ เรียมกล่าวกับเราในตอนท้ายของการพูดคุยว่า

“ยังมีความหวังที่ได้กำลังใจจากเครือข่ายอื่นเข้ามาช่วย อยากบอกเจ้าของโครงการว่าอย่าเห็นประโยชน์ส่วนตัวที่จะมาทำลายที่ทำมาหากินของชาวบ้านเลย”

ความหวังจากคนรุ่นใหม่ ปกป้องเขาโต๊ะกรัง

“พวกเรารู้ข่าวเรื่องเหมืองหินตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น  ตอนรู้ข่าวตกใจกลัวเพราะบ้านคุณยายเราอยู่ติดภูเขา ภูเขาลูกนี้มีความสำคัญ เพราะเด็กนักเรียนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้

“รับฟังเสียงพวกเราบ้าง เราออกมาคัดค้านเพื่ออนาคตและรุ่นน้องของพวกเรา ไม่อยากให้เขามาระเบิดภูเขาตรงนี้ มันมีประโยชน์ทั้งกับชาวบ้านและนักเรียน การทำเหมืองหินมันไม่ใช่ประโยชน์เพื่อส่วนรวมแน่นอน ผลประโยชน์เป็นของบริษัทไม่ใช่ของประชาชน

“เรามีความหวัง เพราะการขับเคลื่อนของพวกเราในโรงเรียนจะเป็นรุ่นต่อรุ่น โดยจะให้ ม.6 เป็นแกนนำหลักขึ้นมาปีต่อปี แต่รู้สึกใจหายนะ เมื่อก่อนชุมชนเราอยู่ด้วยกันรักกัน ในชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ผู้คนทะเลาะกันแตกแยกกัน ตั้งแต่โครงการเหมืองหินเข้ามา”

เสียงจากฟิรดาวน์ หมันจีด และอัสมา ปะดุกา ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ วันนี้เยาวชนในพื้นที่เขาโต๊ะกรังยังคงแข็งขันในการลุกขึ้นมาต่อต้าน

โดยสถานการณ์เหมืองหินเขาโต๊ะกรังตอนนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการต่อสู้ ยังคงมีความหวังแต่ไม่อาจประมาทได้ เพราะบริษัทเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกันกับที่สัมปทานเหมืองหินเขาลูกเล็กลูกใหญ่ พร้อมที่จะรุดหน้าดำเนินการอยู่ทุกเมื่อ ตอนนี้โครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการแก้ไขปรับแก้ EIA

“การจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมบัติหรือทรัพยากรของคนในพื้นที่ ควรจะมาจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว เรายังต้องอยู่กับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมไปอีกนาน ไม่ได้เหมือนบางคนที่อาจจะแก่แล้ว แต่อยากระเบิดภูเขากอบโกยเงินทองไป ไม่นานพวกคุณก็ตายกันหมดแล้ว แต่เราที่เป็นคนรุ่นใหม่ ควรจะได้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง”

อานัส ธีระเทพ จิตหลัง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดและเติบโตมาใน จ.สตูล เขาเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่เลือกออกมาขับเคลื่อนประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อบ้านเกิดของเขา

“เขาโต๊ะกรังเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการที่เราจะเรียนรู้ได้อีกมาก มันมีความสำคัญทั้งในแง่ของทรัพยากร โบราณวัตถุ ผมให้ความสำคัญในแง่การมีอยู่ของเขาโต๊ะกรัง รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวโยงกับภูเขาลูกนี้”

อานัสยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ สำหรับโครงการเหมืองหินเขาโต๊ะกรังที่กำลังจะเกิดขึ้น ข้อที่ 1 คือยุติแผนการก่อสร้างเหมืองทั้งหมด เขามองว่ามันไม่คุ้มกัน “อย่าใช้ข้ออ้างในเรื่องของการพัฒนา แต่สร้างผลเสียที่จะตามมาอีกหลายอย่าง” อานัสกล่าว

ข้อที่ 2 เขาเสนอว่า ควรจะคืนสิทธิการพัฒนาเขาโต๊ะกรังให้กับคนในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ได้พัฒนาทรัพยากรของเขา จากต้นทุนที่พวกเขามี

“ในฐานะที่ผมเป็นนักศึกษาและสนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ สิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่ถ้าหากว่ายังไม่หยุด มันคือการกำลังสร้างประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งความอัปยศบนหน้าแผ่นดิน

“อย่างน้อยตลอดชีวิตผม ผมจะไม่ปล่อยในการเล่าว่า เขาโต๊ะกรังใครเป็นคนระเบิด ยุคที่ระเบิดใครเป็นผู้ว่าฯ ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง ผมจะสืบต่อประวัติศาสตร์นี้ไปจนกว่าชีวิตของผมจะหมด ผมเชื่อว่ามีคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่หวงแหนทรัพยากร อยากให้อนาคตของเขามีทรัพยากร เช่น เขาโต๊ะกรังหรือเขาลูกอื่น ๆ อยู่คู่กับชุมชนของเขาต่อไป”

แต่ความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ต้องเผชิญ พวกเขาต้องรับแรงกดดันจากการเมืองท้องถิ่น อานัสกล่าวว่า เพราะนักการเมืองในท้องที่ส่วนใหญ่ คือคนที่มักจะรู้จักหรือเห็นหน้าค่าตากัน และยิ่งหากกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นไปจับมือกับนักการเมืองระดับประเทศ ผลักดันโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ ถ้าคนรุ่นใหม่เลือกออกมาเคลื่อนไหว จะต้องพบเจอกับแรงกดดันจากนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้

“แต่ถ้าหากเราเมินเฉยไม่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของเราเอง สุดท้ายถ้าโครงการมันผ่าน เราจะต้องรับผลกระทบที่มันรุนแรง จนไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไร”

สามารถอ่านเรื่องราวโครงการเหมืองหินเขาโต๊ะกรังฉบับเต็มได้ที่: เดิมพันของชุมชนโบราณ ‘เขาโต๊ะกรัง’

ถอดบทเรียน ชัยชนะของประชาชนเขาคูหา

เขาคูหาผ่านการยึดครองและถูกระเบิดเพื่อทำเหมืองมาหลายต่อหลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2500 ถึง 2515 โดยภาครัฐและประชาชน สำหรับนำหินมาใช้สอยภายในชุมชน ก่อนที่ในปี 2515 ถึง 2538 ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการระเบิดหิน ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากฝุ่น แรงสั่นสะเทือน แต่ภาคประชาชนยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนร้องเรียน

จนกระทั่งในปี 2538 ถึง 2553 เขาคูหาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเหมืองหินเต็มตัว โดยเฉพาะในช่วงปี 2548 ถึง 2552 ผลกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งการระเบิดหินก่อนหมดสัมปทาน จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักขึ้น จากความไม่พอใจดังกล่าวนำมาสู่การรวมตัว และคัดค้านในช่วงเวลาที่จะมีการต่อสัมปทานเขาคูหาอีกครั้ง 

การต่อสู้ครั้งนั้นชัยชนะอยู่ในฝั่งประชาชน แต่เป็นเพียงชัยชนะชั่วคราว เนื่องจากอายุสัมปทานยังคงเหลืออยู่ และเหมืองหินกลับมาสู่เขาคูหาได้ทุกเมื่อ และทุกวันนี้กลุ่มสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ยังคงขับเคลื่อนปกป้องภูเขาลูกนี้อย่างต่อเนื่อง

“จุดเริ่มต้นการต่อสู้ เรารวมตัวกันตอนปี 2552 ในช่วงหมดประทานบัตร และเขาต้องการที่จะขอต่ออายุประทานบัตร มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น วันนั้นผมตั้งคำถามไป 2-3 ข้อ ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้คนอื่นเห็นว่าการขอประทานบัตรเหมืองหิน ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้”

โดยหลังจากเวทีรับฟังความคิดเห็น เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เล่าให้ฟังต่อว่า คนที่ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันจนถึงปัจจุบัน ได้นัดพบกันและพูดคุย วันนั้นจึงเป็นตัวตั้งต้นของการปกป้องเขาคูหา

โดยการขับเคลื่อนของสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหานั้น เอกชัยเล่าให้ฟังว่าอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อในการต่อสู้ที่ทำให้สามารถรักษาเขาคูหาไว้ได้

ข้อที่ 1 คือการเก็บรวบรวมข้อมูล เอกชัยกล่าวว่า 

“การรวบรวมข้อมูลไม่ใช่ข้อมูลเพียว ๆ แต่เป็นข้อมูลความเสียหายและตัวบุคคล ไม่ใช่ข้อมูลเพื่อข้อมูล แต่คือข้อมูลที่มีพลังในการเคลื่อนไหว เรามีข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลของพื้นที่ มีคนที่พร้อมจะยืนยันว่าบ้านเขาเสียหายอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีพลัง ไม่ใช่ข้อมูลที่อยู่ในหน้ากระดาษเฉย ๆ”

ข้อต่อมาประการที่ 2 คือการนำข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะ ในช่วงเคลื่อนไหวกลุ่มของเอกชัย ใช้ทั้งสื่อท้องถิ่น ทำให้กระแสกระจายไปสู่คนในท้องที่ ร่วมด้วยการใช้สื่อกระแสหลัก โดยในยุคนั้นเน้นที่สื่อทีวี เพื่อให้สื่อเหล่านี้ทำข่าว ทำสกู๊ปเจาะลึกปัญหาให้

และข้อสุดท้ายคือการใช้กลไกของรัฐ เอกชัยอธิบายให้ฟังว่า

“เราใช้ตามระบบรัฐธรรมนูญ มีการร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชน ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ช่วยนำเรื่องนี้ไปพิจารณาเข้า ครม. ฝ่ายบริหารจึงแตะเบรกและโยนเรื่องกลับมา”

ทั้ง 3 ข้อคือกลยุทธ์หลักของภาคประชาชนเขาคูหา ในการใช้ต่อสู้คัดค้านเหมืองหิน นอกจากนี้เอกชัยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีปัจจัยหนุนเสริม ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกป้องชุมชน

“คนในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ว่าพร้อมจะทำหน้าที่ปกป้องแค่ไหน แต่พวกเราเองสู้ไม่ได้หรอก ถ้าหากไม่มีเพื่อนจากภายนอก”

โดยเพื่อนจากภายนอกที่เอกชัยกล่าวถึงนั้น คือนักเคลื่อนไหวในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีประสบการณ์สามารถชี้นำแนวทางการเคลื่อนไหว มีนักวิชาการเพราะว่าข้อมูลบางอย่างต้องใช้ทักษะเฉพาะในการเก็บข้อมูล และเครือข่ายนักกฎหมายที่จะทำให้มั่นใจว่า ชาวบ้านจะสามารถต่อสู้กับนายทุนหรือรัฐด้วยข้อกฎหมาย และไม่ถูกช่องโหว่ทางกฎหมายเล่นงานได้

“ความสำเร็จของเขาคูหา ไม่ใช่ความสำเร็จของปัจจัยภายใน แต่คนในพื้นที่เป็นก้อนเนื้อสำคัญ ที่จะต้องพร้อมพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย แต่ถ้าปัจจัยข้างในอ่อน แม้คนข้างนอกจะเข้ามาหนุน ก็ไม่สามารถหนุนได้ แต่ถ้าปัจจัยข้างในแข็ง แต่ไม่มีเพื่อนจากภายนอกก็จบเหมือนกัน เราเองแม้เข้มแข็งก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเรี่ยวแรงพอ”

ถึงแม้เขาคูหาจะเป็นตัวอย่างชัยชนะการต่อสู้ของภาคประชาชน แต่มีหลายความสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ เอกชัยกล่าวถึงข้อมูลความเสียหายกรณีบ้านแตกร้าวโดยพบว่า มีการร้องเรียนกับอำเภอ 2 ครั้ง ครั้งแรกมีผู้ร้องเรียน 316 ราย ครั้งที่ 2 280 ราย แต่ได้รับการเยียวยาจริงจากการฟ้องศาล 8 ราย อีก 100 ราย ได้รับการเยียวยาจากกลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการระดับจังหวัด 

สรุปแล้วมีการพิจารณาและจ่ายค่าเยียวยาบ้านที่แตกร้าว 108 หลังคาเรือน จากบ้านเรือนที่เสียหาย 500 หลังคาเรือน 

“พูดง่าย ๆ คือมันไม่มีกลไกใดในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น” เอกชัยกล่าว

นอกจากนี้เรื่องของปัญหาสุขภาพ ก็ไม่มีบัญญัติอยู่ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านหลายคนป่วยเป็นภูมิแพ้  ทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวของเขาคูหาหายไปถึง 1 ใน 3 แหล่งน้ำธรรมชาติเสียหายจนไม่อาจใช้การได้  และอีกหนึ่งผลกระทบที่น่าสนใจเอกชัยกล่าวว่า

“ที่น่ากลัวกว่าคือความสูญเสียเชิงอำนาจ มีการจ่ายเงินเพื่อซื้อชุมชน ผมคิดว่าระบบการผูกโยงอำนาจให้ยินยอม เป็นเรื่องที่อันตรายและร้ายแรง เพราะเขาจ่ายทั้งระบบ จ่ายเงินให้ระบบราชการท้องถิ่น รวมถึงการซื้อพี่น้องประชาชน  เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่พวกเราคิดว่าน่ากลัว 

“ทำให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้การสยบยอม จนไม่กล้าที่จะบอกว่าเดือดร้อนอะไร และในเชิงกลไกของรัฐเท่าที่มีก็ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถทำกระบวนการที่รัฐควรจะต้องทำได้”

ในตอนท้ายเอกชัยได้ชวนมองถึงภาพใหญ่ การเข้ามาของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่แต่ละโครงการล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน

“เหมืองหินหลาย ๆ แห่ง ไปสัมพันธ์กับโครงสร้างการพัฒนาหลักเช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา / โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล / นิคมอุตสาหกรรมจะนะ / รถไฟทางคู่เส้นทางชุมพร-ระนอง ซึ่งจำเป็นต้องใช้หินเหล่านี้ในการดำเนินกิจการ

“มันคือชุดโครงการพัฒนาเดียวกัน  ชุดความคิดเก่าของการพัฒนาที่ว่าด้วยเรื่องของตัวเลข GDP การพัฒนาที่ว่าด้วยเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่ได้มีกระบวนการที่เป็นธรรม มีช่องรอดทางกฎหมายก็ใช้กฎหมาย มีช่องรอดทางอิทธิพลก็ใช้อิทธิพล จริง ๆ แล้วตอนนี้ทุนคือตัวกำกับรัฐให้ดำเนินการ โดยใช้กลไกของรัฐเป็นเครื่องมือ ภายใต้กรอบการพัฒนากระแสหลักที่ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

นอกจากนี้เอกชัยตั้งข้อสังเกตว่าเหมืองหินในจังหวัด ระนอง ตรัง สตูล ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าของคนเดียวกันที่ไปขอทำสัมปทาน เพียงแค่มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท 

ถึงอย่างไรแล้ววันนี้เอกชัยบอกว่า ภาคประชาชนยังคงมีความหวัง และจะต้องขับเคลื่อนเดินหน้าในการปกป้อง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตัวเอง และรวมตัวเป็นเครือข่ายในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อไป

ชัยชนะของภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันในอดีตอาทิเช่น กรณีเขาคูหาหรือการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนในพื้นที่ ที่พร้อมจะลุกขึ้นมาปกป้องและดูแลพื้นที่ทรัพยากรของตนเอง

แต่ชัยชนะในอดีตไม่อาจเป็นตัวการันตีอนาคต เพราะในขณะที่ภาคประชาชนมีต้นแบบการต่อสู้ปกป้องชุมชนของตัวเอง เหล่านายทุนก็มีบทเรียนพร้อมที่จะทุ่มเททรัพยากร และหาพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและคนในชุมชน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของตนเอง โดยไม่สนใจผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา