กรุงเทพมหานครเมืองหลวงที่เป็นปลายทางของความฝัน ไม่ได้เป็นบ้านเกิด แต่หยาดเหงื่อ เลือด และน้ำตาของผู้คนนับล้านก็ถูกเมืองนี้ดูดกลืน เป็นเมืองของชนชั้นเทวดาที่เราอาจแหงนหน้าเห็นตึกระฟ้า เห็นโรงเรียนอินเตอร์ค่าเทอมเป็นแสน เห็นบ้านจัดสรรมูลค่าหลายสิบล้าน มีเม็ดเงินที่ผ่านบัญชีเจ้าสัววินาทีละเป็นล้าน เมืองที่กินอาณาเขตเล็ก ๆ แต่มีโลกหลายใบที่คู่ขนานกันราวกับอยู่คนละโลก เมืองที่หรูหราสมชื่อ “เมืองของเหล่าทวยเทพ” แต่นนทกยักษ์ล้างเท้าเทวดาก็ถูกเหยียบย่ำตั้งแต่เกิดจนตาย มหานครแห่งความฝันแต่ก็เป็นมหานครแห่งความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกัน การเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ จึงมิใช่เพียงแค่การแต่งหน้าทาปากเมืองเสียใหม่ เพราะการสูบกินของเหล่าชนชั้นปรสิต ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่เน่าจากรากสู่ใบ
หากกรุงเทพมหานคร เมืองที่ส่งต่อความเหลื่อมรับต่อเนื่องมานับศตวรรษ ไม่มีการแก้ไขอะไร ชีวิตเราจะเริ่มต้นกันอย่างไร
เราทุกคนเกิดมาในสังคมที่เราแบกความเหลื่อมล้ำมหาศาล ค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต หนึ่งชีวิตจากข้อมูลล่าสุด โดย อ.กฤษฎา ธีระโกศลพงษ์ ได้ระบุว่าหนึ่งชีวิตในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 21,688.75-23,687.75 บาทต่อเดือน และหากกลุ่มที่มีสมาชิกพึ่งพิง อาจมีรายจ่ายเฉลี่ยสูงถึง 30,118-32,117 บาทต่อเดือน และไม่ว่าช่วงวัยไหน ก็พบว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชน มีเพียง ประมาณร้อยละ 70 หรือร้อยละ 80 ของรายจ่ายเท่านั้น อันหมายความว่ามีคนเกินครึ่งในสังคม ที่มีชีวิตติดลบเป็นตัวแดงตลอดทั้งชีวิต สาเหตุหลักคือ ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการต่ำ อำนาจต่อรองในชีวิตต่ำ
กรุงเทพมหานคร กลายเป็นทางออกของผู้คนจำนวนมหาศาลทั้งประเทศ เชื่อมร้อยด้วยพื้นที่ปริมณฑลที่รองรับการเติบโตของเมือง คนหนุ่มสาวเดินทางสู่สถานศึกษาซึ่งเชื่อว่าดีกว่า สถานที่ทำงานที่มีตัวเลือกมากกว่า ค่าจ้างที่ดีกว่า สวัสดิการที่ดีกว่า ขนส่งสาธารณะที่ดีกว่า โอกาสในเครือข่ายสังคมที่หลากหลายกว่า แต่กรุงเทพฯ คือภาพจำลองของประเทศไทย สังคมชนชั้น พีระมิดที่สูงชัน ความหวังที่เราจะตะกายขึ้นไปข้างบนก็ตีบตันอย่างมาก จากพุ่มพวง ดวงจันทร์ ถึง ตั๊กแตน ชลดา กี่เพลงลูกทุ่งหลายทศวรรษที่พูดถึงความฝันของแรงงานอพยพในเมืองใหญ่ แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
หากมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาในมหานครแห่งนี้ ทุกอย่างอาจจะดูมีพร้อม มีโรงเรียนสาธิต มีศูนย์เด็กเล็กของเอกชน มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เสริมความรู้ แต่มันไม่ได้ออกแบบมาให้กับทุกคน แม่ส่วนมากของมหานครแห่งนี้ต้องลาออกจากงานประจำที่ตนทำ การเลี้ยงหนึ่งชีวิตนอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว มันคือการแลกด้วยเวลา และเมื่อแลกเวลา มันก็คือการทิ้งความฝัน ผมเคยสนทนากับมิตรสหายที่มีลูกในมหานครแห่งนี้ หลายคนเริ่มชีวิตด้วยความฝัน แต่ความฝันที่ถูกกดทับจากระบบทุนนิยมและเมืองที่ทอดทิ้งลูกเกิดใหม่ ตัวตนของพวกเธอถูกทำให้เล็กลง ๆ จากความฝันในการเป็นนักเขียนบท ผู้กำกับ นักประพันธ์ เมื่อเวลาผ่านไป เมืองใหญ่แห่งนี้ดูดกลืนความฝัน จนเธอเหลือแค่การเป็น แม่ เมีย และลูกสาว เท่านั้น
เมื่อชีวิตหนึ่งทิ้งความฝัน เมืองแห่งนี้ไม่ได้ใจร้ายกับ เพศหญิงเท่านั้น แรงงานทุกเพศสภาพ และทุกเพศสภาวะ เผชิญกับเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างกันนัก เราถูกทำให้ต้องคุกเข่า ค้อมหัวต่อผู้มีอำนาจ ไม่ว่าในที่ทำงาน ในระบบราชการ เมืองที่ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด เติบโตมากที่สุด แต่ผู้คนไม่มีอำนาจในการต่อรองในที่ทำงาน แม้แต่น้อย กฎหมายแรงงานถูกบังคับใช้อย่างเชื่องช้า ระบบการทำงานที่สามารถเลือกปฏิบัติ กดขี่ ขูดรีดได้อย่างเต็มที่ด้วยข้ออ้างที่ว่า “หากคุณไม่ทำ” ก็จะมีคนอื่นมาทำ “หากคุณต่อรองมากเกินไป เราก็จะไปจ้างคนอื่น” “เพิ่งจบใหม่จะเรียกร้องอะไรมาก” “นั่งรถทัวร์โง่ ๆ มาถึงจะเอาค่าจ้าง 2-3 หมื่นเลยไม่เกรงใจนายจ้าง” คำว่า นายจ้าง และ ลูกจ้าง คำประหลาดทางสังคมวิทยาภาษาศาสตร์ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การนิยามคำ ผู้คนถูกแยกออกจากกันที่เมืองแห่งความฝันนี้ ได้ยินเสียงบรรเลงเพลงกู่ร้องถึงความสำเร็จของผู้คนในเมืองใหญ่ เสียงนั้นเหมือนใกล้เราเข้ามาทุกที แต่ไม่เคยเป็นเสียงเฉลิมฉลองของเรา จากรายงานเล่มเดิมของ อ.กฤษฎา ธีระโกศลพงษ์ ได้ระบุว่า คนทำงานได้ค่าจ้างเฉลี่ย 23,000 บาท ในวัย 25-34 ปี แต่เมื่อ อายุประมาณ 50 ปี ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 35,000 บาท หรือหมายความว่า กว่า 20 ปีของการทำงานแรงงานคนหนึ่งอาจมีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียงแค่ หมื่นกว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น แม้จะพยายามไขว่คว้าฝันขนาดไหน 20 ปี ในชีวิตทำงานเพียงแค่ “ไม่ตาย” ก็เป็นรางวัลแล้ว เราสมควรได้แค่นี้หรืออย่างไร ?
เมื่อเดือนก่อน ผมได้พาคุณแม่ไปหาหมอตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามประสาผู้หญิงส่วนใหญ่ของมหานครนี้ ที่ทำงานหนักเป็นแรงงานนอกระบบทั้งชีวิต ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ ไม่มีเหรียญตรา แต่การทำงานหนักในเมืองที่ไม่มีสวัสดิการ โรคประจำตัวกลายเป็นเพื่อนสนิทที่ใกล้ชิด เราใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทุกเดือนลมร้อนของโรงแรม คิวที่ยาวเหยียดใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมงต่อครั้ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ผลข้างเคียงจากวัคซีน ทำให้โรคหลอดเลือดในสมอง และพาร์กินสันกำเริบขึ้น ผมพยายามอุทธรณ์สิทธิ์ เพื่อรับการเยียวยาผลข้างเคียง เงินที่ได้นำไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนช่วงที่ โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายโรคประจำตัวของแม่ผมค่าใช้จ่ายตามโรงพยาบาลเอกชนครั้งหนึ่งก็เกือบหมื่นบาท มันจึงเป็นเรื่องชั่วคราว เมื่อโรคระบาดคลี่คลาย เรานำตัวยาที่ได้รับการรักษาเพื่อปรึกษาสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ ปัญหาใหญ่คือ แม้จะเป็นยาตามบัญชียาหลัก แต่ โรงพยาบาลนี้ไม่มีตัวยาตัวนี้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งตัวที่วุ่นวายอย่างมาก สำหรับผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เพียงเพื่อการรับยาที่โรงพยาบาลสังกัด กรุงเทพมหานครก็มีเหมือนกัน
“เหมือนอยู่คนละโลก” เมื่อเสร็จภารกิจที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่เราใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ย่านวงเวียนใหญ่ ห่างไปสามร้อยเมตร ผมพาแม่เดินในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่โตมโหฬาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โรงพยาบาลคนแน่นขนัดล้นออกไป เจ้าหน้าที่พยาบาลที่ดูยุ่งและเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา รอคอยยาวนานบนวีลแชร์ แต่ห้างสรรพสินค้าที่เดินห่างกัน 5 นาที เปิดแอร์เย็นฉ่ำ ผู้คนเบาบาง ร้านค้าใหญ่โตสะอาดสะอ้าน ขายกระเป๋าและเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นราคาเท่าเงินเดือนพยาบาลทั้งเดือน พื้นที่ที่ใหญ่ราว 10 เท่าของโรงพยาบาล
“เหมือนอยู่คนละโลก”
แม่ผมเอ่ยเบา ๆ กับผม เมื่อกวาดสายตาในห้างหรูหลังเรารอคอยพบหมอยาวนานมากกว่า 5 ชั่วโมง
ปัญหาของกรุงเทพมหานคร คือ ข้าราชการ ชนชั้นนำ ผู้ว่าฯ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่พวกเขาอยู่อีกโลกหนึ่ง ไม่ได้จริงจังกับชีวิตที่พวกเราประสบพบเจอกันทุกวัน พวกเขามักคิดว่าสภาวะเหล่านี้เป็นสภาวะชั่วคราว เมื่อคนมีฐานะดีขึ้น ก็สามารถถีบตัวเองออกจากสภาวะชั่วคราวได้ กรุงเทพฯ จึงมีภาพผิวเผินว่า หากมีสวนสาธารณะที่เพิ่ม ถนนวงแหวนและทางด่วน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนอินเตอร์ รถไฟฟ้า ทางปั่นจักรยาน หมู่บ้านที่มีสวนป่าของตัวเอง มันก็คงเพียงพอ เพราะมันเหมือนเป็นเมืองบนฟ้าที่ดูใกล้เราเหลือเกิน แม่วันนี้มันจะเหลื่อมล้ำมากมายขนาดไหน แต่หากมีสิ่งเหล่านี้ วันหนึ่งเราก็จะเป็นเจ้าของมัน
แต่ทั้งหมดมันคือคำลวง หากไม่มีค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนอย่างทั่วถึง และไม่มีประชาธิปไตยในที่ทำงาน ไม่มีเงื่อนไขการส่งเสริมให้คนธรรมดารวมตัวในแนวราบเพื่อตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำทั้งในตลาดแรงงาน ในที่ทำงาน และในพื้นที่สาธารณะ เราก็ไม่มีทางตะกายไปอยู่ที่เมืองบนฟ้าได้
วิธีการที่ง่ายที่สุดอาจไม่ใช่การสร้างเมืองบนฟ้าสำหรับคน 1% แต่คือการทำให้สังคมเสมอภาคขึ้นมาในทุกมิติ นำทรัพยากรที่มีจากบาทแรกจนบาทสุดท้าย สนับสนุน สวัสดิการ เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัย ขนส่งสาธารณะ จำกัดการสะสมความมั่งคั่งของกลุ่มทุน จำกัดการละเมิดสิทธิแรงงาน ในพื้นที่เมือง เชื่อในเสียงของคนธรรมดาที่รวมตัวกัน
ที่สำคัญที่สุด นอกจากจุดยืนการพัฒนาด้านสวัสดิการพื้นฐานแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะถึงเราก็ยังต้องการ ตัวแทนของเราที่จะยืนยันเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ เพราะเมืองที่เสมอภาค เมืองที่ก้าวหน้าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หาก กรุงเทพฯ กลายเป็นรอยต่อของรัฐเผด็จการที่ผูกพันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เป็นรอยต่อของรัฐอำนาจนิยมที่จำกัดพื้นที่สาธารณะในการเข้าถึงของผู้คน จำกัดสิทธิในการส่งเสียงเพื่อสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชน เรายังต้องการตัวแทนที่มีความกล้าหาญที่จะยืนยันเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
การเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ครั้งนี้อาจไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่งสำหรับผู้ปรารถนาความเสมอภาค เราต้องการคนที่สามารถพลิกฟ้าเมืองเทวดาให้เท่าเทียม และท้าทายกับทุกความเหลื่อมล้ำในมหานครแห่งนี้