จีโอพาร์ค 2559 สู่เส้นทางประวัติศาสตร์-ความหลากหลายของระบบนิเวศ
จังหวัดสตูลได้รับประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ (Satun Geopark) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 และได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกโดยยูเนสโก เป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ด้วยพื้นที่ จ.สตูล เป็นผืนแผ่นดินที่เป็นหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์หรือแม้กระทั่งพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
แต่ในปีเดียวกันกับที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ ชาวบ้าน อ.ควนโดน และ อ.ควนกาหลง จ.สตูล ได้รับรู้ว่าภูเขาในเขตพื้นที่ชุมชนของพวกเขา กำลังแปรสภาพจากภูเขาที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และโบราณวัตถุอีกมากมายที่รอการสำรวจ แต่กลับกำลังถูกทำให้กลายเป็นเหมืองหิน การสูญเสียครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านในพื้นที่ แต่คือการสูญเสียทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ทั้งในแง่การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางระบบนิเวศ
De/code ได้นำเอาเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อปกป้องเขาโต๊ะกรัง มาถ่ายทอดไว้ในบทความชิ้นนี้ และชวนไปสำรวจทรัพยากรที่ล้ำค่าในเขาโต๊ะกรัง จากเสียงของนักสำรวจที่กล่าวว่า
“ผมยังไม่เคยเจอเขาลูกไหนที่เก็บกักน้ำได้ดีขนาดนี้ เท่าที่ผมเคยไปสำรวจมา”
เมื่อรัฐเป็นกลาง ประชาชนจึงต่อสู้เพียงลำพัง
“หน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เขาพยายามทำตัวเป็นกลาง แต่จริง ๆ การทำตัวเป็นกลาง ทำให้คำว่าถูกกฎหมายและผิดกฎหมายหายไป คำว่าถูกต้องกับไม่ถูกต้องมันอยู่คนละฝั่ง ไม่มีหรอกคำว่าถูกต้องกับไม่ถูกต้องอยู่ตรงกลาง”
อับดุลกอฟฟาร์ หลีเยาว์ ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงเขาโต๊ะกรัง เขาเป็นคนหนึ่งที่ออกมาคัดค้านการขออนุญาตทำเหมืองหินแห่งนี้ กอฟฟาร์เรียนจบปริญญาโทด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม และเคยทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษา ด้านการจัดทำรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมหรือ EIA รวมทั้งเคยเป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อมอยู่ที่กรมควบคุมมลพิษ เขารู้ดีว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมา หากมีเหมืองหินเขาโต๊ะกรังเกิดขึ้นในชุมชน
“ผลกระทบอันดับแรกคือเรื่องสุขภาพ การระเบิดภูเขาจะมีแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาว”
โดยในพื้นที่ใกล้เคียงเขาโต๊ะกรัง ห่างไป 300 เมตรคือโรงเรียนอรุณศาสตร์วิทยามูลนิธิ ที่มีนักเรียนจำนวน 1,700 คน นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังมีมลพิษทางด้านเสียงจากการระเบิดเขาที่อย่างไรก็กระทบกับการเรียนของเด็กนักเรียน เพราะที่นี่จะมีการเรียนการสอนหลักสูตรปกติในช่วงกลางวัน และมีการเรียนศาสนาในช่วงกลางคืน
“ทางด้านกายภาพของพื้นที่เอง เสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบซึ่งสำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี เป็นพื้นที่สีแดงทั้งภูเขาและชุมชน โดยสภาพปกติมันไม่มีปัญหา แต่ ณ วันหนึ่งถ้ามันมีแรงสั่นสะเทือน คุณมาเจาะน้ำบาดาลเอาไปใช้ทำเหมือง โพรงด้านล่างเอาไม่อยู่มันจะทรุดลงไป”
จากผลกระทบเฉพาะต่อชุมชนที่กอฟฟาร์เล่ามา จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาและชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยต่อการสร้างเหมืองหิน แต่การต่อสู้ของพวกเขาพบความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง
“เราอยู่กันมาอย่างสงบสุข วันดีคืนดีชาวบ้านมารู้ทีหลังว่ามีประกาศจะขอระเบิดหิน คำว่าประกาศให้ชาวบ้านรู้ของเขา คือเอาเอกสารไปแปะไว้ที่ว่าการอำเภอ บ้านกำนัน ถามว่าชาวบ้านทำไร่ ทำนา ปีหนึ่งจะไปอำเภอซักกี่ครั้ง”
โดยการติดประกาศขอพื้นที่ทำเหมืองหินทำในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง แต่การยื่นคำขอกลับอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของนายทุนกับแกนนำชาวบ้านบางส่วนที่สนับสนุนการมีเหมืองหิน
หลังจากจุดเริ่มต้นในปี 2559 ที่ชาวบ้านรู้ประกาศการทำเหมืองหิน การคัดค้านก็เริ่มต้นขึ้น ชาวบ้านรวมตัวกันไปคัดค้านทุกหน่วยงานตั้งแต่ระดับ ตำบล, อำเภอ, จังหวัด จนถึงส่วนกลาง แต่กอฟฟาร์บอกว่าผลของมันกลับไม่ได้รับการเหลียวแล
“ปัญหาของเขาโต๊ะกรังมันเกิดจากความไม่กล้าของหน่วยงานรัฐ ถ้าหน่วยงานรัฐมีความกล้าเรามีความหวัง 100%”
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีเหมืองหินเขาโต๊ะกรังประกอบไปด้วยสำนักงานอุตสาหกรรม / กรมป่าไม้ / กรมศิลปากร ทั้ง 3 หน่วยงานมีผลต่อสถานะ โครงการเหมืองหินเขาโต๊ะกรังอย่างมาก กอฟฟาร์อธิบายให้เราฟังถึงช่องทางการคัดค้านที่หน่วยงานรัฐต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้
หน่วยงานแรกคือกรมศิลปากร ที่มีการเข้าไปสำรวจภายในถ้ำเขาโต๊ะกรัง แต่ผลออกมากลับพบว่าไม่เจอแหล่งโบราณคดีใด ๆ ชาวบ้านจึงไปร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เกิดการสำรวจอีกครั้ง
“เอาหลักฐานเรื่องถ้ำ ที่ชาวบ้านสำรวจไปให้เขาดู”
กอฟฟาร์เล่าถึงกระบวนการต่อสู้ที่ผ่านมา จึงทำให้กรมศิลปากรต้องกลับไปสำรวจอีกครั้ง และพบเจอแหล่งโบราณคดีห่างจากจุดทำเหมือง 80 เมตร แต่การพบเจอครั้งนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การคัดค้าน หรือสำรวจในพื้นที่ที่เหลือของภูเขาทั้งลูก ที่มีโอกาสสูงจะเจอโบราณวัตถุอื่น ๆ ในพื้นที่เขาโต๊ะกรัง
หน่วยงานต่อมาคือกรมป่าไม้ โดยกฎหมายของกรมป่าไม้ระบุว่า ถ้ายังมีการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ กรมป่าไม้ยังไม่สามารถให้อนุญาตใช้พื้นที่ได้ อีกทั้งพื้นที่ตรงนั้นยังเป็นป่าชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้กระทำการใด ๆ
“สิทธิ์ที่ไม่ให้ใช้พื้นที่เขาโต๊ะกรังอยู่ที่กรมป่าไม้ ถ้าเขาบอกว่าเขาโต๊ะกรังมีทรัพยากรสมบูรณ์ ไม่อนุญาตทุกอย่างก็จบ แต่ทุกคนกลัวโดนฟ้อง คุณจะกลัวอะไรเมื่อมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ แต่ทุกคนไม่เลือกอยู่ฝั่งชาวบ้าน ทุกหน่วยงานเลือกอยู่ตรงกลาง”
และหน่วยงานสุดท้ายคือสำนักงานอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมากอฟฟาร์กล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมมีการเข้าไปสำรวจพื้นที่ แต่พบความคลาดเคลื่อนหลายอย่างเช่น การบอกว่าบริเวณเขาโต๊ะกรังเป็นป่าเบญจพรรณ ทั้งที่พื้นที่ภาคใต้มีแต่ป่าดิบชื้น การสำรวจบ้านเรือนในพื้นที่ใกล้เคียงภูเขา ที่สรุปออกมาว่ามีบ้านอยู่ 11 หลังคาเรือน ทั้งที่จริงมีบ้านอยู่เป็นร้อยหลังคาเรือน และยังมีการกีดกันโรงเรียนออกไปอยู่นอกระยะได้รับผลกระทบ โดยที่โรงเรียนอยู่ใกล้กับภูเขาในระยะเพียง 300 เมตร
ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาจนถึงขั้นที่ชาวบ้านยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง คือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่กอฟฟาร์แสดงความคิดเห็นว่าเป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม
“การจัดรับฟังความคิดเห็น เขาเชิญแต่ชาวบ้านที่เห็นด้วยและกันชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยออกไป ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พร้อมอาวุธ แต่การสรุปผลเวทีรับฟังความคิดเห็น กลับบอกว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันฟ้องศาลปกครอง”
โดยเหมืองหินเขาโต๊ะกรังจะอนุญาตให้ทำได้ ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากกรมป่าไม้, กรมศิลปากร, และสำนักงานอุตสาหกรรม
“ต้องผ่านการอนุมัติทั้ง 4 ช่องทางนี้ ถึงจะสามารถทำเหมืองได้”
โดยอีกหนึ่งช่องทาง คือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของเจ้าของโครงการ ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ผ่านมามีการจัดทำ EIA ครั้งแรกเมื่อปี 2560 แต่ชาวบ้านมีการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่กล่าวว่าชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมดเห็นด้วยกับโครงการ จึงมีการทำหนังสือคัดค้านไปที่ สผ. และ สผ. ก็มีหนังสือทักท้วงไปยังสถานประกอบการ จึงกลายเป็นว่า EIA ฉบับดังกล่าวนั้นยังไม่มีการส่งเข้าพิจารณาและเงียบไปโดยปริยาย
2565 การกลับมาของ EIA ฟาสต์แทร็ก?
“หลังจากที่การทำ EIA ฉบับแรกเงียบไป มันมาโผล่อีกทีคือ EIA ปี 2565 โดยเขาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 หลังจากนั้นไม่นานเขาจึงยื่น EIA ส่งให้ สผ. โดยมีการให้กลับมาแก้ไขเพิ่มเติม แต่เราไม่รู้เลยว่าที่ให้แก้ไขนั้นมีอะไรบ้าง เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร”
ความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ตอนนี้คือ EIA ผ่านการพิจารณาจากสผ. ไปแล้ว 1 ครั้ง กอฟฟาร์กล่าวว่าการยื่นแก้ไขครั้งที่ 2 มีโอกาสที่จะผ่านสูง
“เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เขาให้แก้ไขรอบแรกมากน้อยแค่ไหน แต่โดยปกติ EIA ของประเทศไทย การว่าจ้างนิติบุคคลทำ EIA อย่างไรเขาต้องทำให้ผ่าน เพราะมันคือการว่าจ้าง ถ้าไม่ผ่านเขาจะไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา”
กอฟฟาร์ตั้งข้อสังเกตว่า โดยหลักการทำ EIA ของเมืองไทยมักใช้นิติบุคคลว่าจ้างให้จัดทำ ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่จะมีหน่วยงานกลางทำรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมให้ ดังนั้นเมื่อการทำ EIA ในเมืองไทยมีผลประโยชน์ในแง่ของตัวเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเดือดร้อนของประชาชนจึงถูกลดทอนความสำคัญไป
“EIA ของประเทศนี้มันไม่ได้ให้น้ำหนักชาวบ้านเป็นที่ 1 เขาไปให้ความสำคัญกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
“โดยหลักการต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่มันเป็นเพียงการเขียนให้สละสลวย ต่อให้จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ที่มีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างไร ท้ายที่สุดแล้ววิศวกรก็สามารถเขียนมาตรการป้องกันปัญหาตามที่ชาวบ้านคัดค้านได้”
และการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นใน EIA ฉบับนี้เอง นำมาสู่หนึ่งในประเด็นความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ที่ตอนนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของเหมืองหินเขาโต๊ะกรัง และฝ่ายที่ยังคงคัดค้าน
บรรยากาศบริเวณเขาโต๊ะกรังในช่วงเช้า ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่า การเข้ามาของเหมืองหินจะทำลายบรรยากาศที่สวยงามของพื้นที่
เดิมพันเหมืองแลกภูเขา ของฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน
“ชาวบ้านคนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือแกนนำ เขาวางแผนอยากเป็นเถ้าแก่ แต่ไม่ได้นึกถึงสิ่งที่จะสูญเสียไป”
กอฟฟาร์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขาโต๊ะกรัง จากเดิมที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านคัดค้าน และอยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างสงบสุข แต่การเข้ามาของโครงการนี้ยิ่งเวลาผ่านไป กลุ่มคนที่คัดค้านเริ่มลดปริมาณน้อยลง บางคนพลิกกลับไปอยู่ในฝั่งที่สนับสนุนเหมือง บางคนก็ต้องถอนตัวจากการคัดค้านกลับไปทำมาหากิน เพราะไม่สามารถยืนระยะต่อสู้ได้อย่างยาวนาน ยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปทรัพยากร เรี่ยวแรงที่ใช้ในการคัดค้านของชาวบ้านยิ่งลดน้อยถอยลง
“ผมเชื่อว่าชาวบ้านทุกคนรักธรรมชาติ แต่ว่าพอมีเงินเข้ามาด้วยความลำบากของคน ให้มาแค่ 200 เขาก็ยกมือสนับสนุนให้แล้ว คนหาเช้ากินค่ำเขานึกถึงแค่ปากท้องวันต่อวัน แต่พวกที่หวังไกลคือกลุ่มคนที่คิดว่าถ้ามีเหมือง กูคงได้เป็นเถ้าแก่สิบล้อในโรงงาน”
โดยปัจจัยที่ทำให้เดิมพันเหมืองแลกเขาโต๊ะกรังครั้งนี้มีความหมายกับทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายสนับสนุนเหมืองเองมองว่า มูลค่าเขาโต๊ะกรัง สามารถทำรายได้ให้กับพวกเขาอยู่ที่ระดับ 7.5 พันล้านบาท แต่สำหรับฝั่งคัดค้านนั้นมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบที่จะตามมานั้นประเมินค่าไม่ได้
“ฝั่งนายทุนเขาเป็นนักลงทุน ถ้าเขาเห็นตรงนี้มีผลประโยชน์ ยังไงเขาต้องเอาให้ได้มันคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ไม่คุ้มค่ากับการสูญเสียทรัพยากรของทั้งประเทศ ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย แม้เขาโต๊ะกรังจะเป็นเพียงเขาลูกเล็ก ๆ แต่ถ้าวันนี้มันหายไป ความสมดุลตรงนั้นก็หมดไป และเมื่อภูเขาลูกที่ 1 ทำได้ มันก็มีแนวโน้มที่จะลามจากภูเขาลูกที่ 1 เป็น 2 3 4 …ตามมา”
โดย ณ ปัจจุบัน จังหวัดสตูล ถูกระเบิดภูเขาทำเหมืองหินไปแล้ว 2 ลูก และกำลังขอระเบิดภูเขาเพิ่มอีก 3 ลูก นอกจากนี้ยังมีภูเขาที่ถูกประกาศให้กลายเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ที่สามารถยื่นขอประทานบัตรเหมืองหินได้ทั้งหมด 8 พื้นที่ ได้แก่ เขาจำปา-เขาเณร-เขาโต๊ะชั่ง, เขาจุหนุงนุ้ย, เขาพลู, เขาละใบดำ, เขาละมุ, เขาลูกช้าง, เขาลูกเล็กลูกใหญ่, และเขาวังบุมาก คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1,276 ไร่
“สตูลเป็นจังหวัด Geopark แต่คนมาเที่ยวเจอแต่เหมืองหิน มันดูจะขัดแย้งกันไหม เราเกิดมามีภูเขาลูกนี้ล้อมรอบ วิถีชีวิตทุกคนเพิ่งพาอาศัยเขาโต๊ะกรัง มันคือแหล่งฟอกอากาศ ซับน้ำ และสำหรับโรงเรียน เขาโต๊ะกรังเปรียบเสมือนห้องเรียน ให้นักเรียนได้เดินสำรวจ เป็นห้องเรียนจริงในพื้นที่” กอฟฟาร์กล่าวทิ้งท้าย
สำรวจเขาโต๊ะกรัง เรากำลังสูญเสียทรัพยากรอันล้ำค่า
เขาโต๊ะกรังเป็นภูเขาหินปูนยุคออร์โดวิเชียนอายุประมาณ 400 ล้านปี ลักษณะของเขาโต๊ะกรังเป็นภูเขาลูกโดด คือเป็นภูเขาที่ไม่ได้เชื่อมกับเขาลูกอื่นในลักษณะที่เป็นเทือกเขายาว ๆ หากดูจากภาพถ่ายดาวเทียมลงมา เขาโต๊ะกรังจะมีลักษณะเหมือนโดนัท คือมีรูอยู่ตรงกลาง อันเกิดจากปรากฏการณ์หลุมยุบ สิ่งที่ตามมาคือสภาพธรณีวิทยาของเขาโต๊ะกรังกลายเป็นพื้นที่ซึมซับน้ำได้ดี ชาวบ้านบริเวณโดยรอบได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ที่อุดมสมบูรณ์กว่าพื้นที่อื่น ๆ ใน จ.สตูล
“เขาลูกนี้เก็บน้ำได้ดี เท่าที่ผมเคยสำรวจมายังไม่เคยเจอเขาลูกไหน ที่ตามโพรงถ้ำมีน้ำไหลออกมาเยอะมาก และไหลต่อเนื่องแม้ในหน้าแล้ง ทุกทิศที่ผมเดินสำรวจเจอแอ่งน้ำออกมาหมด นอกจากนั้นด้านทิศตะวันตกของภูเขา เหมือนเรากำลังเดินไปในป่าพรุ ที่มีทั้งดินโคลน มีต้นไม้ลักษณะรากยืดยาวลงไปในดิน สำหรับผมพื้นที่ตรงนี้มันคล้ายระบบนิเวศป่าโกงกางอย่างมาก ทั้งที่มันไม่ได้ติดทะเล”
ครูนก ธรรมรัตน์ นุตะธีระ ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู จ.สตูล และเป็นผู้ร่วมผลักดันคนหนึ่งที่ทำให้ จ.สตูล กลายเป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก (Geoparks) เขาเคยเดินสำรวจเขาโต๊ะกรัง พบเจอทรัพยากรธรรมชาติ ฟอสซิลโบราณที่เขาสนใจ และแสดงความเสียดายหากมันจะต้องหายไป สำหรับเขาการสูญเสียโบราณวัตถุที่เขาสนใจก็เรื่องหนึ่ง แต่ครูนกแสดงความกังวลในเรื่องการขาดแคลนน้ำ ที่มันจะส่งผลตามมาในพื้นที่หากไม่มีเขาโต๊ะกรัง
“ถ้าถามผมว่าเขาโต๊ะกรังมีความสำคัญอย่างไร ผมจะตอบเรื่องน้ำสำคัญที่สุด ถ้าเขาโต๊ะกรังหายไป ปัญหาที่ตามมาคือน้ำ ดังนั้นถ้าระเบิดหินภาคเอกชนได้ผลประโยชน์ไปแล้ว แต่ภาครัฐนั่นแหละที่จะต้องเสียเงินอีกมากมายมาทำเรื่องการจัดการน้ำ เพราะพื้นที่แห้งแล้งแน่นอน”
ครูนกอธิบายเรื่องความสำคัญของแหล่งน้ำต่อว่า ที่ผ่านมาชุมชนรอบเข้าโต๊ะกรังไม่เคยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ เพราะเขาโต๊ะกรังคือต้นกำเนิดแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ชุมชนอย่างมาก
“ผมไม่เคยเห็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำ ที่มันใกล้ชิดกับชุมชนขนาดนี้”
แหล่งน้ำซับซึมบริเวณเขาโต๊ะกรัง
โดยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่เขาโต๊ะกรัง ก็ไปเชื่อมโยงกับระบบนิเวศถ้ำที่หลากหลาย ครูนกเล่าให้ฟังถึงตอนที่เขาเดินเข้าไปสำรวจถ้ำภายในเขาโต๊ะกรัง
“ถ้ำที่นี่คือถ้ำเป็น เพราะมีความชื้นจากแหล่งน้ำ ทำให้ระบบนิเวศในถ้ำหลากหลายมาก”
หนึ่งในความอุดมสมบูรณ์ที่ครูนกเล่าให้ฟังต่อ คือปริมาณของค้างคาวกินแมลง ที่ครูนกเคยเข้าไปสำรวจและพบเจอค้างคาวนับหมื่นตัว ในถ้ำเพียงถ้ำเดียวจากทั้งหมด 20 ถ้ำภายในเขาโต๊ะกรัง และถ้าไม่มีค้างคาวเหล่านี้ ปัญหาแมลงระบาดจนกระทบต่อแหล่งเกษตรกรรมของชาวบ้านจะเกิดตามมา
ไม่เพียงเท่านี้ครูนกเล่าให้ฟังต่อว่า มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นและหายากอย่าง หอยทากจิ๋ว เป็นหอยที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย ( 5 มิลลิเมตร) และหอยทากจิ๋วที่เจอบริเวณเขาโต๊ะกรัง ก็มีเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่เคยค้นพบจากแหล่งอื่นมาก่อน
นอกจากนี้พื้นที่บริเวณเขาโต๊ะกรัง ครูนกบอกว่าเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณ ที่บริเวณหน้าถ้ำเคยสำรวจพอเจอหลุมศพสองหลุมที่วางซ้อนกัน สิ่งนี้บอกให้รู้ว่าเป็นศพของคนต่างรุ่น ชี้ให้เห็นความเป็นมาอันยาวนานของพื้นที่บริเวณนี้
“คำถามที่ต้องถามคนดำเนินการให้อนุญาตคือ คุณมีทรัพยากรธรรมชาติที่สุดยอดอยู่ และทำไมคุณไม่เอาเขาโต๊ะกรังเข้าไปในเขต Geopark ด้วย คุณมีของดีแต่คุณกลับไม่เอามันออกมาให้คนอื่นได้เห็น”
หอยทากจิ๋ว
ถ้ำภายในเขาโต๊ะกรัง
มีเหตุผลมากมายที่รองรับการสมควรมีอยู่ของเขาโต๊ะกรัง ทั้งจากผลกระทบต่อชุมชนและโรงเรียน การสูญเสียแหล่งกำเนิดน้ำที่สำคัญของพื้นที่ การสูญเสียแหล่งโบราณวัตถุที่สำคัญ ที่ยังรอการสำรวจอีกมากมาย
ถ้าหากมีเหมืองหินเกิดขึ้นค่าสัมปทานที่รัฐจะได้รับคุ้มค่าแล้วหรือไม่กับสิ่งที่สูญเสียไป ทั้งเขาโต๊ะกรังเองก็มีศักยภาพมากพอ ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งทะเลหมอก ฟอสซิล ถ้ำ ไว้สำหรับจัดการท่องเที่ยวเรียนรู้ได้อีกมาก
แต่สิ่งนี้กลับไม่เพียงพอให้โครงการเหมืองหินนี้ยุติลงได้ ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสังเกต และมีความเกรงกลัวว่า จะมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังผู้ประกอบการที่เป็นเพียงฉากหน้า เพราะคำว่าเหมืองหินเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น การขนส่ง การระเบิดหิน มีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ในธุรกิจนี้ และในการคัดค้านที่ผ่านมาหลายครั้ง ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาเคลียร์พื้นที่ มาไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านหยุดเคลื่อนไหว
ถึงตรงนี้การคัดค้านเหมืองหินเขาโต๊ะกรังยังดำเนินต่อไป ชาวบ้านยังคงพยายามใช้ทุกช่องทางในการต่อสู้ “ตอนนี้ก็ยังไม่มีช่องทางไหนที่เขาได้รับการอนุมัติ ทุกช่องทางยังคงมีช่องโหว่ให้ชาวบ้านได้สู้ต่อ”
การต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้เพื่อท้องถิ่นของตัวเอง แต่คือการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม
ภาพจาก: อับดุลกอฟฟาร์ หลีเยาว์ / ธรรมรัตน์ นุตะธีระ
อ้างอิงข้อมูล: http://www.dpim.go.th/qry-stones/qsource.php?pid=91