เดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของผู้หญิงทั่วโลก พวกเราย้อนระลึกถึงเส้นทางการต่อสู้ของสิทธิสตรี พี่สาวทั้งหลายร่วมขับเคลื่อนความเจ็บปวดไม่เท่าเทียมแห่งชายหญิงให้ทัดเทียมกัน
หนึ่งในความคับข้องใจของเพื่อนหญิงทั้งหลาย คือการเป็นแรงงานหญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติในร่มเงาของชายเป็นใหญ่ ค่าแรงที่ไม่เท่าใครเขา การสบประมาทมองข้ามความสามารถ และสิ่งที่ไม่เคยหายไปแม้จางลงบ้างคือการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยเฉพาะแรงงานราชการในไทย หญิงอย่างเราไม่เคยเป็นเราได้เต็มที่ เหยื่อหลายรายต้องหรี่เสียงและเงียบไป เพราะกลัวแรงกดดันทางสังคม งานและความมั่นคงจะหายไป
De/code พูดคุยกับเจล นามสมมุติ ข้าราชการสาววัย 26 เปิดใจเล่าถึงภาวะป่วยไข้ทางกายและใจ จากการคุกคามทางเพศของเพื่อนชายในที่ทำงาน เธอเป็นแรงงานพลัดถิ่นย้ายมาใช้ชีวิตต่างพื้นที่ ตามเงื่อนไขตำแหน่งงานที่สอบบรรจุได้ สองปีที่เพื่อนชายรุกล้ำความเป็นส่วนตัวทำให้เธอป่วยเป็นโรควิตกกังวลและตื่นตระหนก (Panic Disorder) กลายเป็นคนเก็บตัว กลัวคนรอบข้างและเผลอโทษตัวเองซ้ำว่าเป็นเธอเองที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น
“เขาบอกว่าเราไปให้ท่าเขา เรานั่นแหละเป็นคนให้ความหวัง”
เพื่อนชายบอกเจลอย่างนั้นหลังฉวยโอกาสหอมแก้มเธอในงานเลี้ยงองค์กร ครั้งนั้นเธอเมาไม่ได้สติ จำไม่ได้ว่าโดนกระทำ แต่เพื่อนร่วมงานคนอื่นเล่าให้ฟังว่าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพื่อนบอกว่า “ดูเอ็งก็ดูสมยอม”
“ไม่ เราไม่ได้ยอม แต่เราไม่รู้ตัวเอง ผิดเองแหละเราประมาทเอง”
เธอเล่าเช่นนั้นให้ฉันฟัง หลังจากวันนั้นเพื่อนชายยิ่งเข้าใกล้มากขึ้น เริ่มพูดสองแง่สองง่าม วนเข้าใต้สะดือทุกครั้งที่มีเธอในวงสนทนา เจลยิ่งอึดอัดแต่เงียบไว้ ใช่ เราประมาทเอง เจลย้ำกับฉัน
“เมื่อคืนพี่ฝันถึงน้องด้วยนะ ฝันว่าช่วยให้น้องพอใจด้วยปากพี่นี่แหละ ฮ่า ๆ” เขาบอก
คำพูดนี้ล้ำเส้นเกินไปที่เธอจะรับได้ เจลบอกให้เขาหยุดพูด และเริ่มออกห่างจากเพื่อนร่วมงานที่เธอรังเกียจ
เขาบอกว่า “จะมาหาที่ห้องนะถ้ามีโอกาส”
เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะเขารู้จักที่พัก เขารู้ว่าเธออยู่คนเดียวในที่แห่งนี้ ที่นี่ไม่มีใครที่เธอสนิทหรือขอความช่วยเหลือได้ ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เธอเล่า เธอเก็บเงียบไว้ ไม่บอกคนที่บ้านไม่บอกใครเพราะกลัวพวกเขาเป็นห่วง เดี๋ยวมันคงผ่านไป กว่าจะสอบติดงานนี้ได้เธอเครียดตั้งหลายเดือน อ่านหนังสือหลายรอบ บนศาลตั้งหลายที่ ถ้าเธอออกไปพ่อคงไม่ได้สวัสดิการรักษาพยาบาล พ่อคงเสียใจและเธอคงเสียดาย เพราะเธอรักงานนี้เหมือนกัน
นอกจากเรื่องงานและความมั่นคงที่รัดรึงเจลไม่ให้ลาออก ความรู้สึกหลังถูกคุกคามค่อย ๆ ก่อตัวรุนแรงมากขึ้น เริ่มจากเธอรู้สึกผิดและโทษตัวเองที่เปิดโอกาสให้เขากระทำ กลัวความคิดเพื่อนร่วมงาน ถ้าใครรู้จะนินทาหาว่าเธอให้ท่าอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า ความคิดวนเวียนโทษตัวเองซ้ำ ๆ ในขณะที่ผู้กระทำลอยตัว เพื่อนร่วมงานและสังคมรอบข้างไม่รู้ว่าเธอเจอกับความรู้สึกนี้อยู่
“คนที่ถูกคุกคามทางเพศเขาจะสูญเสียการนับถือตัวเอง ยิ่งเมื่อเกิดกับผู้หญิงความรู้สึกนี้จะรุนแรงมาก เพราะผู้หญิงถูกกรอบเพศที่กำหนดโดยสังคม วัฒนธรรม มองว่าคุณค่าของความเป็นหญิงดี คือการรักษาความบริสุทธิ์ของร่างกาย การไม่มีมลทินมัวหมองเรื่องเพศ เมื่อการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับผู้หญิง เขาจะรู้สึกว่าตัวเขาไม่มีคุณค่าแล้ว ความเป็นมนุษย์ถูกสลายย่ำยีทันทีที่ถูกคุกคามทางเพศ”
ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านเพศสภาพและเพศวิถี อธิบายภาวะที่เกิดขึ้นกับเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ
เรื่องของเจลเป็นลูกจ้างในหน่วยงานราชการ มีหลายมิติที่กดทับเรื่องเพศและการทำงานที่ยากต่อการส่งเสียงเรียกในฐานะเหยื่อ และลูกจ้างชั้นผู้น้อยในองค์กรสีกากี อ.ชเนตตี ได้ให้คำตอบในประเด็นคำถามต่าง ๆ กับทาง De/code
คุกคามทางเพศในงานข้าราชการต่างกับพื้นที่การทำงานอื่น ?
ระบบราชการไทยคือการจำลองการทำงานในโลกยุคเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิรูประบบราชการและรวมศูนย์อำนาจมาที่กรุงเทพฯ บริหารงานผ่านกระทรวง ทบวง กรม โครงสร้างนี้มีรากที่มารวมศูนย์แบบนี้และยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน โครงสร้างและวัฒนธรรมเดิมที่ก่อรูปข้าราชการไทยจึงเต็มไปด้วยชนชั้น (Class) เป็นการบริหารที่มีรากจากระบบอำนาจนิยม ระบบอาวุโส ชนชั้น เคยเป็นพื้นที่ของผู้ชายมาก่อน จึงมีความเป็นปิตาธิปไตยสูงมาก แม้จำนวนผู้หญิงในตำแหน่งงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบสัดส่วนของผู้บริหารชาย
ระบบชนชั้น อำนาจนิยม และปิตาธิปไตย เป็นรากฐานที่รื้อถอนยาก และถูกพิพากษ์อยู่ตลอดว่าระบบราชการไทยเป็นอนุรักษนิยม (Conservative) สูงมาก ไม่ยอมรับอิสระ เสรีภาพของปัจเจก เมื่อระบบเป็นแบบนี้จึงเห็นผู้น้อยพึ่งพาผู้ใหญ่ เป็นระบบอุปถัมภ์ค้ำจุน เป็นวัฒนธรรมแบบไทย ๆ คนที่เข้ามาใหม่ มีอายุ ประสบการณ์ และลำดับขั้นงานที่น้อยกว่า กว่าจะไต่เต้าจนมีอำนาจในองค์กรต้องใช้เวลานาน ถ้าเข้าไปมีอำนาจทางเพศต่ำกว่า ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือคนหลากหลายทางเพศ โครงสร้างเหล่านี้เอื้อให้เกิดการกดขี่ ในมิติเรื่องเพศ เพราะเมื่อเป็นระบบอุปถัมภ์ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือของผู้อาวุโสที่สูงกว่า
ระบบราชการทำให้รู้สึกว่าการไปสู่จุดสูงสุดในอาชีพต้องใช้ความสัมพันธ์พึ่งพิงในระบบอุปถัมภ์เป็นส่วนใหญ่ จึงเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจต่อช่วงชั้นที่ต่ำกว่า เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดการใช้อำนาจให้เรื่องบางอย่างถูกเงียบเสียงลงสำหรับผู้น้อย ผู้น้อยจะทำงานเยอะ ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกคุกคามทางเพศ เรื่องเหล่านี้จะถูกซุกไว้ใต้พรมทั้งหมด
มายาคติไทย ๆ ยกย่องอาชีพราชการและความคาดหวังจากสังคม
งานราชการ งานรัฐวิสาหกิจเป็นอาชีพที่สังคมไทยยกย่องเชิดชู เข้าไปแล้วห้ามลาออก พ่อแม่สั่งสอนว่าต้องอยู่จนได้เงินบำนาญ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอภิสิทธิ์ในสวัสดิการสูงที่สุดในสังคมไทย ถ้าออกหมายถึงคุณไม่ได้ทำเพื่อครอบครัว เพราะสวัสดิการนี้พ่วงครอบครัวพ่อแม่ บุตรธิดา สามีมาด้วย มีผลประโยชน์เชิงสวัสดิการล่อไว้ปลายทางวันเกษียณ ไม่มีอาชีพไหนดีเท่ากันงานราชการและรัฐวิสาหกิจอีกแล้ว
ชีวิตหลังเกษียณของคนไทยคือความยากจนกำลังรออยู่ เพราะฉะนั้นการเข้าไปอยู่ในองค์กรที่สังคมให้ความยกย่องอย่างสูงด้วยอำนาจและสวัสดิการ เมื่อต้องเจอกับคดีความไม่ยุติธรรมในองค์กร เรื่องเหล่านั้นจะถูกซุกไว้ใต้พรม
หญิงที่ดีไม่มีมลทิน
วันนั้นแต่งตัวยังไง ไปอ่อยให้ท่าให้ผู้ชายมีอารมณ์ล่ะสิ
โกหกสร้างเรื่อง อยากได้ค่าเสียหาย? ต่อรองให้ได้ตำแหน่งหรือเปล่า
บ่อยครั้งเมื่อเกิดปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานเหยื่อมักถูกนินทากล่าวโทษด้วยถ้อยคำข้างต้น อ.ชเนตตีเรียกว่า กระบวนการโทษเหยื่อ (Victim Blaiming) เป็นมายาคติอย่างหนึ่งว่า ผู้หญิงเป็นต้นเหตุของการคุกคามทางเพศ สังคมตั้งข้อแม้ว่าเธอเป็นต้นเหตุ และเชื่อว่าผู้หญิงเริ่มต้นก่อน เพราะเชื่อว่า
ผู้หญิงดีจะไม่มีทางถูกข่มขืน ผู้หญิงดีจะไม่อยู่กับผู้ชายสองต่อสองในห้อง ผู้หญิงดีจะไม่กลับบ้านดึก ผู้หญิงดีจะไม่ค้างแรมต่างจังหวัด ผู้หญิงดีจะไม่ขึ้นไปหาผู้ชายในห้อง เป็นต้น พอคำว่า ‘ผู้หญิงดี’ ทำงาน จึงมีแต่ผู้หญิงเลวเท่านั้นที่ถูกคุกคามทางเพศ อ.ชเนตตีกล่าว
“วันนั้นเราเมา เราประมาทเอง เราไม่ระวังตัว” เจลพูดประโยคนี้บ่อยครั้งขณะคุยกับฉัน เจลไม่โทษตัวเองอีกแล้ว คนที่ผิดไม่ใช่เธอ แต่เสียงนี้ยังอยู่
เมื่อคนหนึ่งคนถูกคุกคามทางเพศกับการตีตราซ้ำซ้อนว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี
คนที่ถูกคุกคามทางเพศจะสูญเสียการนับถือตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกับผู้หญิงความรู้สึกนี้จะรุนแรงมาก เพราะผู้หญิงถูกกรอบเพศที่กำหนดโดยสังคม วัฒนธรรม มองว่าคุณค่าของความเป็นหญิงดี คือการรักษาความบริสุทธิ์ของร่างกาย การไม่มีมลทินมัวหมองเรื่องเพศ เมื่อการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับผู้หญิง เขาจะรู้สึกว่าตัวเขาไม่มีคุณค่าแล้ว ความเป็นมนุษย์ถูกสลายย่ำยีทันทีที่ถูกคุกคามทางเพศ
ความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวพวกเธอเอง มันถูกผูกติดและคาดหวังจากสังคม เวลาผู้หญิงสูญเสียคุณค่านี้ไปเขาจะอยู่ในภาวะตัดขาดจากสังคมภายนอก เพราะกลัวสังคมภายนอกตีตรา ซุบซิบนินทา หรือมองด้วยสายตาแปลกออกไป หรือบางคนอาจถูกตีตราซ้ำซ้อนว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี อาจถูกเกลียดชังจากเพื่อนร่วมงาน คิดว่าเหยื่อใช้ร่างกายเป็นบันไดไต่เต้าในอาชีพ
สังคมคาดหวังสูงมากกับการดูแลเนื้อตัวร่างกายให้บริสุทธิ์ เพราฉะนั้นการมีประเวณีต่าง ๆ ของผู้หญิงกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถูกทำลายความศักดิ์สิทธิ์นั้นลง ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน ถูกมองว่าไม่ใช่มนุษย์ ผู้หญิงจะรู้สึกหมดสิ้นความเป็นมนุษย์ หลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย บางคนซึมเศร้าตลอดชีวิต หรือบางคนเอาตัวเองออกจากสังคมนั้น กลายเป็นบาดแผล (Truama) ที่ลึกและรุนแรงมาก
ถ้ากรณีนี้เกิดกับเหยื่อที่เป็นผู้ชายจะเป็นบาดแผล(Truama) อีกแบบหนึ่ง เพราะผู้ชายถูกสอนว่าเป็นผู้นำด้านเพศ ผู้ชายคนนั้นจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ของตัวเองด้วย ถูกติฉินนินทาคล้ายกับผู้หญิง ในด้านหนึ่งก็โอบอุ้มผู้ชายไว้ เขาอาจจะรู้สึกว่าแค่เรื่องเพศเอง ผู้ชายถูกสอนให้มีอิสระเรื่องเพศมากกว่าผู้หญิง เขาอาจจะฟื้นคืนมาเร็วกว่า ผู้ชายอาจรู้สึกว่าไม่มีอะไรสึกหรอ เพราะสังคมไม่ได้คาดหวังให้ผู้ชายบริสุทธิ์ ผู้ชายร่วมเพศได้มากมาย เจ้าชู้ได้ เปลี่ยนคู่นอนได้ สังคมไม่ได้ตำหนิผู้ชายรุนแรง บาดแผลที่เกิดขึ้นในผู้ชายอาจไม่ได้รุนแรงเท่าผู้หญิง อ.ชเนตตีกล่าว
แม้การคุกคามทางเพศจะเป็นเรื่องน่าอายและกลายเป็นบาดแผลทางใจให้เหยื่อ แต่ในยุคสมัยนี้พบว่า เหยื่อทั้งหลายไม่ว่าหญิงชายหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กล้าลุกขึ้นมาส่งเสียง เปลือยแผลและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองมากขึ้น ในพื้นที่ราชการก็เช่นเดียวกัน ลูกจ้าง ข้าราชการรุ่นใหม่ไม่เก็บเงียบ ซุกเข้าพรมอีกต่อไป เจลเองก็เช่นเดียวกัน เธอหวาดหวั่นถึงความมั่นคงแต่คงเงียบต่อไม่ได้ เพราะคนสุดท้ายที่เจอเรื่องนี้ในที่ทำงานอาจไม่ใช่เธอ
คนรุ่นใหม่ไม่อดทนต่อการถูกคุกคามในงานราชการ สิ่งนี้สะท้อนอะไร
คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงสิทธิความเป็นพลเมือง (Citizen) คือรู้ว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง รู้ว่าปัจเจกไม่โดดเดี่ยว สิ่งเหล่านี้อาจไม่ถูกปลูกฝังในคนรุ่นก่อนหน้าที่กำลังเป็นผู้บริหารในตอนนี้ เขาไม่เคยถูกสอนว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน ต้องปกป้อง และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ใครจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ เราต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และการปกป้องตัวเองหมายความว่าเรากำลังปกป้องคนอื่นด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัว
สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนรุ่นเก่ามองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้นถ้าถูกคุกคามทางเพศ เขาจะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของสองคนนั้น มันจะเกี่ยวอะไรกับสิทธิ แต่แนวคิดสตรีนิยมมองว่าร่างกายเป็นเรื่องการเมือง และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
พัฒนาการการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ทรงพลังมากในยุคนี้ เพราะคนรุ่นใหม่มีโลกการเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ตที่กว้างใหญ่ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการเรียนรู้ในระบบเท่านั้น เป็นความรู้ของพลเมืองโลกที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้คนรุ่นนี้สามารถหยุดค่านิยมเดิม ๆ เอาเรื่องร่างกายตัวเองออกจากความเป็นส่วนตัว กลายเป็นเรื่องสิทธิ ไม่เก็บเงียบอีกต่อไป และเลือกที่จะส่งเสียงออกไปดัง ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบของเราในอนาคต
อ.ชเนตตีกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงานว่า การสร้างความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กับระเบียบและกฎหมาย ซึ่งเดิมที่มีมานานแล้วแต่คนเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก หลายครั้งที่เกิดเหตุ ผู้กระทำยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นคือการคุกคามทางเพศ เพราะขอบเขตมันกว้างมากทั้งการใช้คำพูด สายตา หรือการกระทำใดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการข่มขืนเท่านั้นคือการคุกคามทางเพศ แนวทางแก้ไขของ อ.ชเนตตี คือ
- ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน ให้เกิดช่องว่างการคุกคามให้น้อยที่สุด
- จัดอบรมเรื่องความอ่อนไหวทางเพศสภาวะ การคุกคามทางเพศในระดับต่าง ๆ
- มีช่องทางร้องเรียนที่ปลอดภัย และกรรมการควรเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับองค์กร
- จัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาเหยื่อ เพื่อใช้รักษาตัว ดำเนินคดี เพราะบาดแผลนี้เกิดจากพื้นที่การทำงาน
- กำหนดตัวชี้วัดองค์กรที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ
“ตราบใดที่คนรู้สึกว่าเราสามารถใช้อำนาจเหนือผู้อื่นได้ ตราบนั้นการคุกคามทางเพศยังคงดำรงอยู่ เพราะคนไม่รู้สึกว่าเราไม่เคารพร่างกายคนอื่นยังไง ซึ่งผูกติดกับรากสังคมไทยที่เอื้อให้คนที่สถานภาพหรือบทบาทที่สูงกว่าในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ มีอำนาจเหนือเจ้าของร่างกายในชนชั้นล่างกว่า” อ.ชเตตีกล่าวทิ้งท้าย