ไม่มีสัญญาณตอบรับจากข้อเรียกร้องที่ท่านเรียก สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ - Decode
Reading Time: 2 minutes

“มีรัฐบาลชุดนี้นี่แหละที่ไม่ให้เราเข้าถึงทำเนียบรัฐบาล ไม่อยากให้เสียงของเราไประคายเคืองหูของเขาเหมือนเขาไม่อยากได้ยิน ไม่อยากแก้ไข ไม่อยากรับรู้ด้วยซ้ำ”

ถ้อยคำหนึ่งจากแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทยในวันที่ 11 มีนาคม 2565 วันที่อดีตลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด (Brilliant Alliance Thai Global ltd.) รวมตัวเดินเท้าทวงถามความคืบหน้ากับรัฐบาล หลังศาลมีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินเยียวยากว่า 240 ล้านบาทกับพนักงาน 1,388 คนที่ถูกลอยแพ เลิกจ้างอย่างกระทันหันเมื่อ 1 ปีก่อน

แต่การเดินนั้นไปไม่ถึงทำเนียบรัฐบาล ตำรวจนำรั้วมาปิดกั้นเส้นทางของพวกเขา ก่อนทั้งสองฝ่ายใช้เวลาเจรจาประมาณครึ่งชั่วโมง จึงส่งตัวแทนเข้าพูดคุยกับรัฐบาล บัน-จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เปิดเผยหลังจากพูดคุยว่า

“ดูจะไม่มีอะไรคืบหน้าจากที่ที่คุยกันไว้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เพิ่งทำหนังสือเสนอการขอให้กำหนดนโยบายการช่วยเหลือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ความหวังที่ได้รับการผลักดันให้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นขึ้นอยู่ความเห็นชอบอและการเห็นความสำคัญในตัวแรงงานของรัฐมนตรีคนเดียว

“แม้ในใจลึกๆ ก็เข้าข้างตัวเองว่ายังมีหวัง แต่ถ้ามองความจริง เขาจะเห็นใจเราแค่ไหน ก็คงจะเงียบอีก แต่ก็ต้องติดตามต่อ”

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ พยายามประสานขอให้รัฐเร่งติดตามนายจ้างให้มาจ่ายเงินหรือทางออกอื่นที่ช่วยให้คนงานได้รับเงินชดเชยได้ เช่น การใช้เงินเยียวยาจากงบประมาณกลาง ด้วยเหตุผลจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่วนนี้ไม่ใช่เพื่อแรงงานของบริลเลียนท์เท่านั้น แต่หมายถึงอย่างแรงงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิด-19 ก็จะได้รับไปด้วย

วันนี้อดีตลูกจ้างได้รับเพียงเงินเยียวยาการว่างงานที่ได้รับจากประกันสังคม ราวๆ 9,000 บาทต่อเดือน จำนวน 6-7 เดือน เงินในส่วนนี้ไม่ถือเป็นเงินเยียวยาจากทั้งรัฐและนายจ้าง เพราะเป็นเงินที่อดีตลูกจ้างต่างส่งเข้าสมทบในกองทุนด้วยเงินจากแรงงานของตัวเอง

“รอมา 1 ปีแล้ว ไม่มีงานไม่มีเงิน ครอบครัวก็ส่งเสียไม่ได้”

De/code พูดคุยเพิ่มเติมกับคนงานว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของการเรียกร้องที่เสียงส่งไปไม่ถึง พวกเขาทำอะไรอยู่ และใช้ชีวิตแบบไหน? คู่ขนานกับการต้องเทียวไปเทียวมาเรียกร้องกับรัฐบาลให้เห็นแก่ประโยชน์ของแรงงานในประเทศที่ถูกนายจ้างต่างชาติเอาเปรียบ

บัน-จิตรณวัชรี พะนัด

“1 ปี ไม่ได้ทำงานอะไรเลย เพราะเป็นประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องต่อสู้ตรงนี้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยที่เราสมควรจะได้รับ ตั้งแต่ถูกเลิกจ้างคนงานและตัวเรา ต่างก็ตกงาน แล้วส่วนใหญ่อายุเยอะแล้ว เกิน 45 ปีโรงงานก็ไม่รับแล้ว”

ชีวิต 1 ปีของ บัน-จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทย วนเวียนอยู่กับการเรียกร้องต่อเจรจาเพื่อให้คนงาน และตัวเธอได้รับเงินชดเชย ด้วยวัย 50 ปี เธอไม่สามารถหางานใหม่ที่อยู่ในระบบโรงงานได้ ที่ผ่านมาจึงว่างงานเต็มตัว มีเพียงประกันการว่างงานประมาณ 70,000 บาทเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้จ่ายในช่วงนี้ ที่เหลือจำเป็นต้องหยิบยืมเอาจากพ่อของตัวเอง รวมถึงต้องขอให้พ่อส่งเสียค่าเทอมให้กับลูกที่กำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีด้วย

บัน มีน้ำตาลคลอหลายครั้งระหว่างที่พูดคุย ด้วยทั้งรู้สึกสะเทือนใจที่ไม่สามารถดูแลครอบครัวตัวเองได้ หนำซ้ำยังต้องให้พ่อที่แก่แล้วช่วยเหลืออีก เธอหวังว่าเงินก้อนประมาณ 200,000 บาทที่จะได้รับ หากมันเกิดขึ้นจริง เธอจะนำไปทำทุนเปิดร้านเย็บผ้า ใช้ทักษะที่มีของตัวเองเลี้ยงชีวิตต่อไป

นั่นคือความหวังที่ยังไม่ถูกการันตีใดๆ ทั้งสิ้น มากไปกว่านั้น 17 มีนาคม 2565 นี้ บันและเพื่อนแกนนำอีก 5 คน ต้องเดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดูว่า เธอและเพื่อนจะถูกสั่งฟ้องคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังไปเรียกร้องสิทธิที่ตัวเองควรจะได้รับเมื่อ 19 ตุลาคม 2564 หากอัยการมีคำสั่งสั่งฟ้อง บันและเพื่อนแกนนำต้องเตรียมหาเงินไว้สำหรับการต่อสู้คดีราว 100,000 บาท ซึ่งวันนี้มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งแล้ว 60,000 บาทจากการสนับสนุนของสหภาพแรงงานด้วยกัน อีก 40,000 บาท จำเป็นต้องหากันเอง

จะทำอย่างไร? เมื่อเงินชดเชยก็ยังไม่ได้ และหากถูกฟ้องก็ต้องหาเงินมาสู้คดีเพิ่มเติม บันตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมการเรียกร้องสิทธิอันเป็นพื้นฐาน และเป็นสิ่งที่ประชาชนคนแรงงานต้องได้รับกลับมาราคาที่ต้องจ่ายสูงขนาดนี้

“แทนที่จะเห็นใจแรงงาน กลับเห็นใจนายทุน ก็ต้องมีหวังต่อไป แต่มันจะเป็นจริงแค่ไหนกันล่ะ”

โชติกา แก้วเกตุ

“เครียดตอนแรก แต่ตอนนี้ยอมรับ เพราะลุงตู่เขาฝึกเรามาแล้ว บ้านเมืองแบบนี้เศรษฐกิจแบบนี้ ใครเขาจะอยู่ล่ะ”

โช-โชติกา แก้วเกตุ พูดติดตลกราวกับไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจากสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายจ้างต้องเลิกกิจการไป ผลกระทบจึงตกมาอยู่กับคนงานอย่างเธอเต็มๆ เธอถูกเลิกจ้าง ไล่เลี่ยกับที่สามีเองก็ตกงาน กระทั่งมาติดโควิด-19 กันทั้งบ้าน พ่อแม่ และลูกชายชั้นประถม ทุกอย่างชะงักงัน ตอนนี้สามีและลูกบวชอยู่โดยยังไม่มีกำหนดสึก

“สึกมาก็ยังไม่รู้จะทำอะไร ลูกก็ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเราสอนไม่ได้”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โชถูกเลิกจ้างงาน มันเป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่เห็นได้ชัดเจนเลยว่าการเยียวยา-การชดเชยแรงงานของนายจ้างนั้นแตกต่างกันอย่างมาก และเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ตัวเธอต้องต่อสู้ จึงทำให้ 1 ปีมานี้โชพักการทำงานไปเลย
เพื่อต้องการมาร่วมเรียกร้องกับทุกๆ คนในทุกๆ ครั้ง โดยในวันนี้โชอาศัยรายได้จากการให้คนเช่าที่ขายของเอา

“หวังไหม ก็ไม่หวังเท่าไหร่ แต่ก็อยากจะสู้ให้ถึงที่สุดกับทุกๆ คน เราก็อยากช่วยกรรมการทุกๆ คนเรียกร้องให้เรา อีกอย่างคนมาเรียกร้องไม่มาก ถ้ามากันมากๆ รัฐบาลเขาก็จะเห็นว่ามีคนเดือดร้อนเยอะจริงๆ”

บุญบรรญ แน่นอุดร

26 ปีที่ทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงาน อ้วน-บุญบรรญ แน่นอุดร ไม่เคยคิดและคาดคิดว่าจะถูกเลิกจ้างแบบฟ้าผ่าเช่นนี้ เธอชวดทั้งเงินบำนาญที่กำลังจะได้รับในอีก 5 ปีข้างหน้า และเมื่อถูกเลิกจ้างกระทันหันเธอก็ชวดเงินชดเชยอีก จากค่าแรง 500 บาทต่อวันสู่ค่าแรง 300 ต่อวัน ที่ทำงานรับจ้างไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีงานทุกวันหรือไม่ อ้วนกังวลไม่น้อย เพราะต้องดูแลแม่และหลาน เธอมองว่ารัฐบาลควรช่วยเหลือประชาชน และเห็นว่ารัฐบาลมีศักยาภาพในการแก้ไข และเยียวยาประชาชน

“1 ปีมันนานเกินไป ทำไมเอกชนรัฐช่วยเหลือได้ แล้วประชาชนล่ะ? ทุกวันนี้จะไปหางาน คำถามแรกที่เขาถามเลยคือ…อายุเท่าไหร่”

ในเมืองที่ค่าครองชีพแพง ค่าแรงถูก พ่วงด้วยการจำกัดอายุการทำงาน อ้วนตั้งใจไว้ว่าหลังสงกรานต์ปีนี้ หากไม่มีอะไรคืบหน้า เธอจำเป็นต้องย้ายกลับบ้านที่ร้อยเอ็ด โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะทำมาหากินอะไรดี เพราะตลอดชีวิตคือการทำงานในเมืองหลวงแห่งนี้ และไม่เคยได้ใช้ชีวิตที่ร้อยเอ็ดเท่าไหร่นัก
.
แม้มีความหวังกับเงินชดเชยที่อาจจะได้รับนั้นประมาณ 200,000 บาท แต่มันไม่สว่างไสวเท่านั้น เธอไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าจะได้เท่าไหร่ และเมื่อไหร่ แต่หากได้มา แน่นอนว่ามันจะช่วยเติมต่อชีวิตหลังจากนี้ได้อย่างแน่นอน

อ่านเรื่องราวของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่: จ่ายค่าชดเชยเป็นความเงียบงัน การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของสหภาพไทรอัมพ์ฯ