ย้อนรอยม็อบ 15 สิงหาคม 64 ดินแดงปะทะเดือด
หนุ่ม มานะ หงษ์ทอง ชายวัยเกษียณอายุ 64 ปี อดีตช่างไฟฟ้าโรงแรมเอดิสัน พระราม 9 รูปร่างผอม สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นลายสก็อตสีแดง กางเกงยีน รองเท้าผ้าใบไนกี้ บ่าสองข้างสะพายเป้ ที่ด้านในเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่างที่แกหลงใหล
มานะเป็นชายโสดไร้ครอบครัว ความสนใจในชีวิตมีเพียงเรื่องช่าง และอุปกรณ์แกดเจ็ตต่าง ๆ เขาไม่ใคร่สนใจเรื่องการเมืองนัก ไม่เคยคิดแม้แต่จะเข้าร่วมการชุมนุมใด ๆ ทั้งสิ้น
ชีวิตหาเช้ากินค่ำของเขาหลังปลดเกษียณจากงานประจำ ตื่นในช่วงสายเพื่อนั่งรถเมล์ไปบ้านน้องสาวที่ซอยสุคันธาราม 29 รับจ๊อบซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และงานจิปาถะตามแต่ใครจะเรียกใช้ เวลาว่างใช้ไปกับการพูดคุยกับเพื่อนฝูงในละแวกนั้น เพราะเกิดและเติบโตตรงนี้
ตกเย็น 2-3 ทุ่มรอเวลาให้ถนนหนทางโล่ง ชายชราสะพายเป้ห้อยโหนรถเมล์กลับบ้านที่แฟลตดินแดง อาศัยอยู่ที่นี่มาร่วม 30 กว่าปีกับพี่สาวและหลานชาย เป็นกิจวัตรที่มานะทำเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จวบจนกระทั่งวันสุดท้ายในชีวิต 15 สิงหาคม 2565
ในวันดังกล่าวรถเมล์มาส่งแกได้แค่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะตำรวจปิดล้อมสถานที่ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม มานะเดินกลับบ้านดุ่ม ๆ ตามสไตล์คนไม่สนใจโลก จะต้องสนใจสิ่งใดเมื่อไม่เคยคิดที่จะทำร้ายใคร และไม่มีอาวุธหรือสิ่งใดที่จะไปทำร้ายคนอื่น
มานะเดินจากหน้าสำนักงาน ป.ป.ส. ข้าม ถ.วิภาวดีรังสิต อีกไม่ไกลจะถึงบ้านของเขาแล้ว แต่แกไปไม่ถึง มานะล้มลงหน้าธนาคารออมสิน ซ.มิตรไมตรี ตรงข้ามแฟลตดินแดง สอดคล้องกับข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ มานะ ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ศีรษะขณะเดินทางกลับแฟลตดินแดง ก่อนล้มหัวฟาดพื้นเลือดไหลนองอยู่ตรงนั้นนานเกือบชั่วโมง นานพอที่จะทำให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม เสียงจากแพทย์สนามคนหนึ่งผู้ถ่ายคลิปวิดีโอ และเห็นเหตุการณ์บอกว่า
“แกเดินเข้ามาและถูกลูกหลง แต่จุดที่แกล้มลงผมเห็นตำรวจยืนอยู่ จะเป็นไปได้ไหมที่เขาจะไม่เห็นลุงล้มนอนอยู่ เขาเดินผ่านลุงไป ทั้งที่เขารู้ว่าทีมแพทย์สนามอยู่ไหน แต่ทำไมเขาถึงไม่เดินมาเรียก”
ทำไมตำรวจถึงไม่เดินมาเรียก? เมื่อเห็นคนล้มลงเลือดนองอยู่ตรงหน้า บางทีถ้าในวันนั้นมานะได้รับการช่วยเหลือเร็วกว่านี้ เขาอาจจะกลายเป็นเพียงผู้บาดเจ็บ ไม่ใช่ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองต่อจากวาฤทธิ์ สมน้อย
ฉากชีวิตมานะ หงษ์ทอง เหยื่อกระสุนยาง
หลังจากพิธีฌาปนกิจศพมานะ หงษ์ทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ให้หลัง 1 วันเราเดินทางกลับไปที่วัดห้วยขวาง โดยมีต๊อบ พงษ์วรา ศุขสมาน ผู้เป็นหลานของมานะ และโต้ง สมศักดิ์ ศุขสมาน ผู้เป็นเพื่อนและน้องเขย เดินทางมาเก็บอัฐิ เขา 2 คนเป็นญาติเพียงไม่กี่คนที่เหลืออยู่ของมานะ ต๊อบเห็นมานะมาตั้งแต่จำความได้ ส่วนโต้งคือเพื่อนกันตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เขาทั้ง 2 คนได้เล่าเรื่องราวชีวิตของมานะ ให้เราได้เก็บบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้
“แกสนใจงานช่างมาตั้งแต่วัยรุ่น เป็นช่างแอร์ ช่างไฟ ก่อนจะเกษียณเคยทำงานอยู่โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 จนเกษียณออกมารับจ็อบทำงานช่างทั่วไปที่ซอยสุคันธาราม 29 แกมาซอยนี้ทุกวัน เพราะที่นี่คือบ้านเกิดของแก”
โต้งผู้เป็นเพื่อนเริ่มเล่าเรื่องราวที่จำจดได้ โดยในทุกวันมานะจะเดินทางมาที่บ้านของน้องสาวซึ่งก็คือภรรยาของโต้ง โดยที่แฟลตดินแดงสำหรับมานะนั้นเป็นเพียงแค่ที่หลับนอน แต่ที่ซอยสุคันธาราม 29 แกมีทั้งเพื่อน ญาติพี่น้อง และความทรงจำอยู่ในซอยนี้
“นิสัยแกเป็นคนเงียบ ๆ ใครให้ทำอะไรก็ไปทำหมด ไม่ค่อยเรียกร้องแล้วแต่ใครเขาจะให้ เป็นคนไม่มีลูกเมีย ผมไม่เคยเห็นแกสนใจ หรือฝักใฝ่ทางการเมืองเท่าใดนัก”
โดยในช่วงที่มีม็อบ โต้งเคยคุยกับมานะว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าผ่านไป ซึ่งมานะเองพยายามที่จะไม่เดินทางกลับบ้านเกินกว่าเวลา 3 ทุ่ม แต่ด้วยความที่บุคลิกเป็นคนไม่ค่อยสนใจใคร มานะจึงไม่คิดว่าการเดินทางกลับบ้านจะหมายถึงความตาย
“วันที่ทราบข่าวแกโดนยิง ผมนั่งกินข้าวกันอยู่กับพ่อ ข่าวออกว่าพบชายชรานอนสลบอยู่ ในพื้นที่เหตุการณ์สลายการชุมนุม ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าใช่แกรึเปล่า แต่คุ้นจากเสื้อที่เห็น”
ต๊อบผู้เป็นหลานของมานะกล่าวต่อจากโต้งผู้เป็นพ่อ จนมาทราบข้อมูลแน่ชัดว่ามานะถูกยิง หลังจากทราบข่าวมานะต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU 3-4 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครสามารถเข้าเยี่ยมได้ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สังคมลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับมานะ เมื่อเรื่องเงียบอย่าได้หวังว่าหน่วยงานรัฐของไทยจะขยับตัวทำอะไร
โต้ง สมศักดิ์ ศุขสมาน (ซ้าย) ต๊อบ พงษ์วรา ศุขสมาน (ขวา)
“หลัง 4 เดือนแกกลับมาอยู่บ้าน อาการดีขึ้นฟื้นขึ้นมาลืมตาได้ แต่ยังพูดคุยสื่อสารไม่รู้เรื่องเพราะถูกเจาะคอ ฝ่าสมอง แต่แกไม่เคยโทษสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เคยที่จะร้องไห้ ลูกหลานมีแหย่แกบ้าง เวลาพาไป รพ. อุ้มผิดท่าและเจ็บ แกจะด่าเลย ‘เจ็บ ๆ ไอเหี้ยเจ็บ’ คำด่านี่แกพูดชัดเลยแต่คำอื่นพูดไม่รู้เรื่อง”
ต๊อบพูดด้วยเสียงหัวเราะเมื่อย้อนไปนึกถึงความทรงจำ…แต่แล้วก็มาถึงวันที่มานะจากไปอย่างไม่ทันได้เตรียมตัว
“วันตายจำได้ว่าหลานชายอีกคนเรียกแกกินข้าว แกหลับเรียกไม่ตื่น พอเช็กดูจึงรู้ว่าไม่หายใจ ตัวแข็ง เลยโทรแจ้ง 1669 พอจนท.มาถึงเขาบอกว่าเสียชีวิตแล้ว”
การตายของชายโสดไม่มีลูกเมีย คงไม่สลักสำคัญหรือนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ผู้ใดนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจากไปของมานะ ส่งผลต่อคนรอบข้างที่ใกล้ชิดไม่น้อย
“บ้านเงียบลง เพราะปกติแกจะมาบ้าน ไหว้วานให้ช่วยทำนู่นทำนี่แต่มันไม่มีแล้ว สมัยเด็ก ๆ เวลาเจอ ก็มักจะชอบให้แกทำจักรยานให้ เราโตมาทำงานช่างเป็นก็เพราะแก” เสียงจากต๊อบผู้เป็นหลานต่อความรู้สึกที่สูญเสียลุงของตัวเองไป
“แกเป็นคนดีคนนึงนะสำหรับเรา อุปนิสัยอาจจะชอบกวน ๆ ไปบ้าง เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แกเป็นคนตัวเตี้ย เล็ก ๆ ผอม ๆ เพื่อนฝูงจะเรียกเขาว่าไอหนุ่มเตี้ย” เสียงจากโต้งถึงเพื่อนของเขาผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับมา
ถ้าเขาใส่ใจกับร่างมนุษย์ที่จมกองเลือดอยู่ตรงหน้า มานะอาจไม่ตาย
“ชีวิตตอนนี้มันต้องหาเงินกินข้าวก่อน เพราะที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายทั้งหมดพวกเราเป็นคนออกกันเอง”
เอ๋ เอกรินทร์ หงส์ทอง ผู้เป็นหลานชายอีกคนและเป็นคนที่คอยดูแลหลัก ร่วมกับแม่ของเขาผู้เป็นพี่สาวของมานะ สะท้อนความรู้สึกเมื่อถามเขาว่า ได้ติดตามเรื่องคดีความไปถึงไหนแล้ว คำตอบสำหรับชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ ปากท้องย่อมต้องมาก่อนการทวงคืนความยุติธรรม
“มีตำรวจโทรมาแค่ครั้งเดียว เพื่อสอบถามอาการน้าของผม พอผมบอกว่ายังไม่ฟื้น มีเพียงเท่านั้น หลังจากนั้นไม่เคยมีติดต่อมาอีกเลย”
ความโหดร้ายที่ตำรวจไทยกระทำกับมานะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปล่อยให้เขานอนรอความตายอยู่ข้างถนน หนำซ้ำเมื่อเขารอดชีวิตมาได้ ไม่มีแม้แต่การแสดงความรับผิดชอบ หรือแสดงความห่วงใยเยี่ยงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“จริง ๆ ช่วงแรกผมพยายามแล้ว โทรไปขอข้อมูลทั้งจากกระทรวงยุติธรรม ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาโยนให้เราแต่เพียงว่าต้องรอสรุปจากทาง รพ. คือเรียกร้องขอความเป็นธรรมมันส่วนหนึ่ง แต่ผมต้องดูแลและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวัน สิ่งนี้ที่เกิดขึ้นมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับลุงมานะในช่วงเวลาที่แกป่วยติดเตียง แต่มันส่งผลกระทบต่อครอบครัวทั้งหมด”
โดยในตอนนี้เอ๋เล่าให้ฟังว่า มีมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กับทางพรรคก้าวไกล ที่เข้ามาช่วยรับเรื่องคดีความให้ ซึ่งตัวเอ๋เองไม่ได้มีเวลาในการติดตามคดี เพราะต้องทำงานเป็นตากล้องเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว สิ่งที่เขาหวังมากที่สุดตอนนี้จึงเป็น
“ผมไม่ได้หวังว่าน้าผมโดนยิงแล้วจะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ผมไม่ได้อยากได้เงินจากตรงนั้น ผมมีอาชีพของผม ผมมีความสุขกับการที่ซื้อข้าวทิ้งไว้แล้วให้น้ากิน และน้าผมเขาได้ออกไปใช้ชีวิตของเขา ผมมีความสุขตรงนี้มากกว่าการที่ผมต้องเสียน้าไป ได้เงินเยียวยาแล้วยังไงต่อล่ะ? ในเมื่อน้าผมไม่อยู่แล้ว
“ผมเคยคิดว่าทำไมต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้ น้าผมเคยใช้ชีวิตปกติ แต่มีใครสักคนมาทำให้เขาไม่ปกติ มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เราต้องมาคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมคอยป้อนน้ำป้อนข้าว จนถึงตอนที่เขาเสีย มันเกิดความคิดว่ามันเร็วขนาดนี้เลยเหรอวะสิ่งที่เกิดขึ้น”
เป็นเวลา 8 เดือนแล้วที่ยังหาตัวคนกระทำผิดไม่ได้ เป็นเวลาแปดเดือนที่สังคมหลงลืมว่ามีคนคนหนึ่งบาดเจ็บจากลูกหลงการชุมนุม และเป็นเวลาแปดเดือนที่คดีความไม่คืบหน้าไปไหน ยิ่งสิ่งนี้เกิดกับคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม อย่าได้ตั้งความหวังนักว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริง หากเรื่องนี้ไม่เป็นสิ่งที่สังคมจับตามอง
“น้าผมเสียไปแล้ว ผมไม่อยากไปตีโพยตีพายกับมันอีก ผมอยากใช้ชีวิตเหมือนเดิม หมายถึงว่าเหมือนเดิมก่อนที่น้าผมจะเป็นแบบนี้ กับอีกเรื่องหนึ่งผมคิดว่า การที่มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในสังคม ถ้ามันไม่ได้มีสื่อ หรือหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ เรื่องมันเงียบหายไปเลยนะ แล้วเราจะอยู่กันในสังคมแบบนี้จริง ๆ หรือที่มีหน่วยงานรัฐแบบนี้ ถ้าเสียงคุณเบาทุกอย่างก็เงียบไป มันไม่เป็นธรรมไม่ว่ากับน้าผม หรือใครก็ตามที่ต้องเจอ
“ถ้าพวกเขาใส่ใจกับร่างมนุษย์คนหนึ่งที่นอนหมดสติอยู่ริมถนน น้าผมอาจจะไม่บาดเจ็บสาหัสและตาย”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสียชีวิตของมานะ
– ตามข้อมูลที่ เอ๋ เอกรินทร์ หงส์ทอง ผู้เป็นหลานชายได้รับมา บาดแผลของมานะ หงษ์ทอง อยู่ตรงบริเวณหน้าผาก โดยเป็นรอยยุบลงไป แต่ไม่มีบาดแผลฉีกขาดที่ทำให้เกิดเลือด ทั้งนี้คราบเลือดสันนิษฐานว่ามาจากหลังที่แกถูกวัตถุของแข็งเข้าที่หน้าผาก และมานะหงายหลังล้มลงหัวฟาดฟื้น
– โดยเอ๋ตั้งข้อสังเกตว่าวัตถุที่จะเป็นไปได้มีอยู่ไม่กี่ชนิดคือ กระป๋องแก๊สน้ำตา, กระสุนยาง ตามความคิดเห็นของเขาหากเป็นอาวุธจากฝั่งผู้ชุมนุม เช่น ลูกแก้วที่มักจะใช้โต้ตอบตำรวจ คฝ. จากระยะที่มานะล้มลงตรงนั้น เป็นระยะที่อาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่น่าจะเข้าถึงได้ เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นถูกตำรวจ คฝ. กั้นพื้นที่ไว้หมดแล้ว
– ทั้งนี้หลังการตายของมานะ แพทย์ได้ทำการตรวจโควิด และพบว่ามานะติดเชื้อโควิด19 ก่อนเสียชีวิต โดยที่ญาติคนอื่น ๆ ที่ดูแลไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติมเลย โดยทางญาติของมานะคิดว่าสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้เป็นไปได้ 2 สาเหตุคือ 1.ก่อนการเสียชีวิต 1 เดือน มานะเคยเดินทางไปที่โรงพยาบาล และ 2.อาจเกิดการติดเชื้อจากของกินของใช้ ที่ซื้อมาจากภายนอก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามกันต่อไป ว่าสาเหตุการเสียชีวิตของมานะนั้น จะส่งผลต่อรูปคดีและจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่
อ่านบทความตอนที่2: 7 เดือนผ่านไป…ประตูยุติธรรมของ ‘มานะ หงษ์ทอง’ ยังปิดตาย