After ‘วา’เลนไทน์ ความยุติธรรมคือความหวังเดียวที่เหลือของวาฤทธิ์ สมน้อย - Decode
Reading Time: 3 minutes

“100 วันที่ผ่านมาแม่เป็นอย่างไรบ้างครับ”

“ใจหายนะ มันไม่น่าเชื่อว่าวันนี้เราจะสูญเสียเขาไป ทุกครั้งที่เห็นรูปเขาบางครั้งกลั้นน้ำตาไม่ไหว ยังจำความรู้สึกวันที่คลอดเขา ความรู้สึกที่อยากเห็นหน้าลูกจนต้องลากสายน้ำเกลือ ออกจากห้องคลอดจนพยาบาลวิ่งตาม  ยังจำความรู้สึกที่เลี้ยงเขาในทุก ๆ วัน ยังจำความรู้สึกที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ทุกคนรักเขา ยังเชื่อว่าลูกเราไม่ใช่คนที่เลวร้ายอะไร เขาแค่อยากทดลองใช้ชีวิตในแบบที่เขาเจอ

“มันยังไม่ชินหรอกกับสิ่งที่เจอ ยังรู้สึกอยู่เลยว่ามันใช่เหรอ น้องไม่อยู่แล้วจริง ๆ เหรอ พยายามไม่เชื่อตัวเองว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น บางครั้งเหม่อว่าน้องไปไหนพอตั้งสติได้อีกทีหนึ่งก็…น้องไม่อยู่แล้ว ยังคิดอยู่เสมอว่าน้องไม่ได้ไปไหน น้องยังอยู่กับแม่ แม่ยังจำความรู้สึกช็อกที่รู้ว่าน้องถูกยิงและไปหาน้องที่ รพ. ณ วันนี้มันยังเป็นแบบเดิม ไม่ได้มีความรู้สึกเปลี่ยนไปเลยว่าจะดีขึ้น

“แม่ไปเห็นรอยที่น้องโดนยิงแล้วมันพูดไม่ออก เขาคงเจ็บโดนยิงและล้มลงไป วาเป็นคนที่อดทนมากนะ แม่ไปเห็นกระทั่งกระสุนที่ยิงน้อง ตอนที่โดนยิงแม่บอกหมอว่าไม่ให้ผ่ากระสุน อย่างไรต้องเอาชีวิตลูกไว้ก่อน เรื่องคดีความเอาไว้ทีหลัง จนน้องเสียชีวิตเขาผ่ากระสุนออกมา เราเห็นกระสุนแล้วมานั่งคิดในใจว่า คนยิงเขาคิดอะไร โกรธแค้นอะไรถึงกราดยิงขนาดนั้น ลูกเราไปทำอะไรให้เขา เขาไปเรียกร้องเพราะพ่อแม่เขาได้รับผลกระทบ ตัวเขาโดนผลกระทบ มันเป็นสิทธิของคนไทย แต่เขาโดนจำกัดสิทธิด้วยชีวิตของเขา”

13 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเวลา 100 วันแล้วที่วาฤทธิ์เสียชีวิต และเป็นเวลา 180 วันนับตั้งแต่เขาโดนยิง จนถึงบัดนี้สังคมไทยยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้  เวลาทุกวินาทีที่กระบวนการยุติธรรมไทยปล่อยให้ล่วงเลยผ่านไปอย่างไร้คำตอบ คือความเจ็บปวดของ นิภาพร สมน้อย และครอบครัว ที่ตอนนี้การทวงคืนความยุติธรรม คือสิ่งเดียวที่พวกเขาจะมอบให้กับวาฤทธิ์ได้ 

De/code เดินทางไปพูดคุยกับนิภาพรอีกครั้งเรื่องความคืบหน้าของคดีความ ในบ้านหลังเดิมของครอบครัววาฤทธิ์ ที่เมื่อปีที่แล้วในวันเดียวกันนี้ บ้านหลังนี้กำลังจะจัดงานวันเกิด

“วาเกิดวันวาเลนไทน์ ทุกวันที่ 14 กุมภาฯ เราจะจัดวันเกิดให้วาทุกปีร่วมกับคนในครอบครัว แต่ปีนี้ต้องมานั่งจัดงานทำบุญ 100 วัน มันสะเทือนใจหักมุมไปเลย ทำไมต้องมาเกิดกับครอบครัวเรา มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้นไม่ว่ากับครอบครัวไหนก็ตาม”

กระบวนการยุติธรรมที่เงียบงัน

“วันนั้นแม่ไปสน.ดินแดง ตำรวจเขาถามแม่มาคำหนึ่งว่า ‘แม่สงสัยใครว่าเป็นคนร้าย’ แม่นึกในใจจะสงสัยใครได้ วันที่ลูกโดนยิงเราอยู่บ้าน มันเป็นคำถามที่ไม่ควรที่จะถาม คุณควรที่จะถามตัวคุณเองมากกว่าว่าคุณสงสัยใคร คุณมีหลักฐานแล้ว เด็กล้มลงในพื้นที่ของคุณ ทุกคนรู้ว่าคดีนี้มันแปลกแต่ทำอะไรไม่ได้”

นิภาพรกล่าวกับเราด้วยความเป็นกังวล เธอกลัวเป็นอย่างมากที่คดีความของวาฤทธิ์จะเงียบหาย โดยเธอได้เปรียบเทียบกับคดีทางการเมืองอื่น ๆ ที่ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำ และจบลงด้วยการหาตัวคนกระทำผิดมาลงโทษไม่ได้

“ฝ่ายเห็นต่างที่ถูกกระทำ มันก็จะเงียบหายเหมือนกับที่เกิดขึ้นในปี 2553 เคสของวาแม่ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่วันนี้ 180 วันแล้วคดีความยังไม่ไปถึงไหน แม่ไม่เคยไม่ได้รับความชัดเจนจากทางทีมจนท.ตำรวจ ทราบแต่เพียงว่าเรื่องส่งไปที่อัยการ แต่อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง” 

โดยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.30 น. นิภาพรจะเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าเรื่องคดีที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำหรับเธอหน่วยงานนี้คือความหวังสุดท้าย

“แม้กระทั่งการบอกว่าจับคนร้ายได้ แม่ยังไม่เคยได้ยินจากปากตำรวจ ได้ยินจากมีนักข่าวมาบอกแม่ มีเพียงครั้งเดียวที่เขาโทรมา วันที่ 28 ตุลาคมที่น้องเสียชีวิต แม่นั่งรอลูกที่ห้องสุดท้าย เขาโทรมาบอกว่า ‘แสดงความเสียใจด้วยนะครับ’ เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ตำรวจโทรหาแม่”

นิภาพรกังวลว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นหน้าสน.ดินแดง และก็เป็นทางสน.ดินแดง ที่เป็นเจ้าของคดีดังกล่าว ในการรวบรวมพยานหลักฐานส่งสำนวนให้อัยการ หากเป็นไปได้เธออยากให้มีหน่วยงานกลาง เช่น กองปราบฯ DSI เข้ามาทำคดีนี้ให้เกิดความชัดเจน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

“เขาบอกไม่ใช้ความรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกินกว่าจะใช้คำว่ารุนแรงแล้ว มันคือความเคยชิน ตอนที่แม่เห็นคลิปเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิดเหมือนใจมันจะขาด ไม่คิดว่าจะต้องมาเห็นลูกตัวเองตาย เขาไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะได้พูด มันโหดร้ายมากนะ โกรธมากที่เขาเอาลูกแม่ไป 

“ตอนแรกแม่ไม่อยากที่จะบอกว่าคดีมันเงียบ ตำรวจเขาไม่ทำอะไร แม่ไม่อยากจะรู้สึกอย่างนั้น พยายามคิดตลอดว่าเขาคงจะหาสำนวนคดีที่กำลังจะยื่น จุดที่น้องโดนยิงมันอยู่ตรงข้ามกับสน.ดินแดง น้องล้มลงตรงนั้น มันจะหาหลักฐานกันไม่ได้เลยเหรอว่าวิถีกระสุนมาจากไหน”

‘เอ็ม’ พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์

“ผมไม่เห็นคนยิง แต่เท่าที่ตาเห็นและได้ยินเสียง คิดว่ามันมาจากแถว ๆ หน้าประตูของ สน. ตรงบริเวณห้องจราจร ตรงนั้นมันจะเป็นเหมือนคอกอยู่ ผมได้ยินเสียงกระสุนปืนทั้งหมด 3 นัด นัดแรกกับนัดสองเฉี่ยวหัวผม นัดที่สามโดนวาฤทธิ์ น้องโดนยิงบนรถและล้มลงมาจากรถตกอยู่บนพื้น  เลือดไหลนองเต็มพื้นถนนเป็นเวลา 10 กว่านาที ที่วาฤทธิ์นอนอยู่ตรงนั้นกว่ารถพยาบาลจะมา”

เสียงจากเอ็ม ธนรัตน์ สายวงศ์ อายุ 19 ปี โดยเอ็มรู้จักกับวาฤทธิ์ที่ม็อบ เขากล่าวว่าโดยนิสัยของวาฤทธิ์นั้นเป็นคนร่าเริง และไม่ใช่สายบู๊ สายลุย เหมือนกับวัยรุ่นคนอื่น ๆ โดยในวันเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ  3 ทุ่ม วาฤทธิ์มาขอติดรถมอเตอร์ไซต์ของเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพื่อให้ไปส่งบริเวณสถานีรถไฟฟ้า

“วันนั้นเขามาขอเพื่อนอีกคนให้ไปส่งที่สถานีรถไฟฟ้า แต่ไปได้ไม่ถึงครึ่งทางก็โดนยิง ก่อนที่น้องจะไปโดนยิง น้องบอกจะกลับบ้าน  พวกผมไม่เคยแม้แต่ได้คิดเลยว่าจะมีคนดักซุ้มยิงอยู่ มารู้ตัวอีกทีน้องก็ร่วงไปอยู่ที่พื้นแล้ว”

โดยเอ็มกล่าวกับเราในตอนท้ายสั้น ๆ ว่า พร้อมที่จะร่วมไปเป็นพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์เสมอ และอยากคืนความเป็นธรรมให้กับวาฤทธิ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เขาจะช่วยได้

นอกจากกระบวนการยุติธรรม เราไม่หลงเหลืออะไรให้หวังอีกต่อไป

16 สิงหาคม 2564 วาฤทธิ์ถูกยิงหน้า สน.ดินแดง

21 สิงหาคม 2564 เข้าแจ้งความต่อตำรวจด้วยข้อหาพยายามฆ่า (เพราะตอนนั้นน้องยังไม่เสียชีวิต)

30 กันยายน 2564 แถลงผลการจับกุม ชุติพงษ์ ทิศกระโทก ผู้ก่อเหตุ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา (อ้างอิงจาก: https://voicetv.co.th/read/4dlzeP4nM)

28 ตุลาคม 2564 วาฤทธิ์เสียชีวิต

4 พฤศจิกายน 2564 มีการร้องทุกข์เพิ่มเติมจากการพยายามฆ่า เป็นข้อหาการฆ่าผู้อื่น

20 ธันวาคม 2564 ตำรวจแจ้งว่าส่งสำนวนคดีไปที่อัยการแล้ว

24 กุมภาพันธ์ 2565 หน่วยงานแอมเนสตี้ / นิภาพร สมน้อย / ทนายความ จะขอเข้าพบอัยการ

ข้อมูลข้างต้นนี้ เป็นข้อมูลที่ทาง De/code ได้รับมาจาก ทนายต้า ศุภมาศ กัญญาภัคโภคิน ทนายความที่เข้ามาช่วยดูแลติดตามความคืบหน้าคดีนี้ ของหน่วยงานภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เธอกล่าวว่าคดีนี้ยังมีความหวังที่จะจับตัวคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เพราะมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจน

“ต้องฝากความหวังไว้ที่กระบวนการยุติธรรม เพราะพยานหลักฐานในคดีนี้เฉพาะที่ได้ภาคประชาชน และจาก กมธ.การเมือง (คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร) ได้ยื่นไปก่อนหน้านั้น ซึ่งยังไม่รวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะตำรวจ อัยการจะใช้อำนาจในการสืบสวนสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ให้สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ เราต้องเชื่อมั่นเช่นนั้น ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมนี้จะนำความยุติธรรมมาให้วาฤทธิ์”

นอกจากนี้คดีของวาฤทธิ์ทนายต้ากล่าวว่า เป็นคดีที่สังคมจับตามอง ด้วยพื้นที่เกิดเหตุอยู่บริเวณด้านหน้า สน.ดินแดง ภาพที่มีคนยิงปืนออกมาจากตัวอาคาร สน. ดินแดง มีคนตายหน้า สน.ดินแดง สังคมยังคงเคลือบแคลงสังสัย สน.ดินแดงซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ต้องสร้างความกระจ่างให้สังคม ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้

“ตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวน ในการหาพยานหลักฐานทุกอย่าง เพื่อมาประกอบในสำนวนคดีนี้ได้ อยากให้เขาใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้เขาใช้ เพื่อให้ความยุติธรรมมันเกิดขึ้น”

โดยแถลงการณ์ล่าสุดที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกมาชี้แจงคดีดังกล่าวต่อสาธารณชนนั้น ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 หลังจากจับกุมตัวคนร้ายได้ 1 เดือน โดยกล่าวว่ากำลังเร่งรวบรวมหลักฐานเพิ่มเพื่อหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังไม่ได้ความคืบหน้าทางคดีใด ๆ จากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

และอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องที่ผู้ก่อเหตุได้รับการประกันตัว  ทนายต้ากล่าวว่าเป็นกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งในเรื่องสิทธิการได้รับการประกันตัวนั้น คนทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา เขาต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน “สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์”  ผู้ต้องหาคดีของวาฤทธิ์ก็เช่นกัน

“หลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าว เขายังบริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีการพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวน หรือตำรวจสามารถที่จะคัดค้านการสอบสวนได้ หากเห็นว่ามีพฤติการณ์ เช่น ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ จะมีภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งคดีนี้เรายังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าตำรวจได้มีการคัดค้านการปล่อยตัวหรือไม่”

ในความคิดเห็นของผู้เขียนเมื่อมองย้อนกลับมาที่ผู้ต้องหาทางการเมืองคนอื่น ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วย ม.112 ทั้ง ๆ ที่คดีความยังไม่ถึงที่สุด ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้รับการประกันตัว เป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบจากกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้

“เป็นความลำบากใจเหมือนกัน แต่ก็ต้องเชื่อในกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่มีทางอื่น เราต้องเชื่อและหวังว่ากฎหมายจะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะคดีของวาฤทธิ์ แต่รวมถึงคดีอื่นด้วย แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เราต่างก็รู้ว่าตอนนี้สังคมไม่ปกติ มีหลายสิ่งหลายอย่างตั้งแต่เราเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ เราพบสิ่งที่อธิบายเป็นเหตุผลไม่ได้ มีสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบอก

“แต่เราต้องพยายามมีความหวังต่อหน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรมว่าท่านจะตอบคำถามสังคมได้ หวังว่าพวกท่านจะเรียกความเชื่อมั่นต่อสังคม เพราะหากสังคมยังเคลือบแคลงใจในกระบวนการยุติธรรม คนไม่เชื่อมันว่ากฎหมายจะยุติธรรมสำหรับเขาได้ สังคมจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”

ความหวังสุดท้ายต่อกระบวนการยุติธรรม ของแม่ผู้สูญเสียลูกชายไปตลอดกาล

“แม่อยากให้เขาไปอยู่ในภพภูมิที่ดีนะ อยากให้เขาหมดห่วงไม่ต้องห่วงตากับยาย เป็นคำอวยพรวันเกิดที่แม่อยากบอกเขาปีนี้ จากปีที่แล้วเคยบอกเขาว่าอย่าดื้ออย่าซนนะ  ยังจำความรู้สึกตอนที่ไปหาเขาได้กอดเขาครั้งสุดท้าย เขาไม่ลืมตาเขาไม่มีความรู้สึกแล้ว ได้กอดเขาตอนนั้นและเดินตามศพลูก มันเป็นอะไรที่ทรมานนะ ยังจำความรู้สึกของวันเกิดปีที่แล้วได้ แม่ถามเขาว่าอยากได้อะไรเป่าเค้กไหม เขาบอกไม่เป่าก็ได้กินแค่หมูกระทะก็พอ เดี๋ยวชวนเพื่อนมากิน แต่แม่ก็ไปซื้อเค้กให้น้องสาวเขาเลือกให้ พอเขาเห็นเค้กเขาก็บอกแม่ว่า ‘โห! เค้กก้อนใหญ่จังนะ’ เขาเป็นคนชอบกินของหวาน วันเกิดปีที่แล้วเขาเห็นเพื่อน พ่อแม่มาเป่าเค้กให้เขาก็ดีใจ เขายิ้ม แม่ยังจำรอยยิ้มของเขาได้เลยจนถึงทุกวันนี้ รอยยิ้ม น้ำเสียงเขา

“แม่ก็ยังหวังว่าคดีนี้จะไม่เงียบ และจะต้องดำเนินการให้ยุติธรรมมากที่สุด จะสูญเสียน้อยหรือมาก มันคือการสูญเสีย แต่ของแม่คือแม่สูญเสียลูกที่เป็นทั้งชีวิตของแม่ แม่ไม่ได้เขากลับคืนมาแล้ว มันเงียบจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย และถ้าต่อไปมีคนที่โดนแบบน้องและเงียบเหมือนกัน มันจะเกิดเป็นความเคยชินของสังคมไทยอย่างนั้นเหรอ?”

หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า หากต้องการให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม มันคือสิ่งที่ประชาชน สังคมต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ส่งเสียง ความยุติธรรมจะไม่มีวันได้มาอย่างรวดเร็วและปกติ หากผู้ได้รับความอยุติธรรมรอคอยอยู่อย่างเงียบ ๆ เหมือนดัง 180 วันที่ผ่านมาของคดีวาฤทธิ์ 

“เสียงแม่อาจจะเป็นแค่เสียงเดียว แต่ถ้าครอบครัวแม่สามารถทวงคืนความยุติธรรมให้กับวาฤทธิ์ได้ มันคงที่จะกระจ่างโปร่งใสกันมากขึ้น”

เรื่องราวของวาฤทธิ์อาจเป็นเพียงเรื่องราวของชีวิตเด็กหนุ่มอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการเข้าร่วมเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าวาฤทธิ์จะมีความคิดเห็นอย่างไรทางการเมือง การลอยนวลของผู้กระทำผิด เป็นเหมือนใบเบิกทางให้เหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า สามารถกระทำได้ในสังคมนี้อย่างนั้นหรือ? ขอเพียงแค่ผู้ถูกกระทำมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจเหนือกฎหมายในประเทศนี้ 

อ่านบทความตอนที่ 1: ฉากชีวิตเด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย ลูกแม่ไม่ใช่ฮีโร่ประชาธิปไตย
อ่านบทความตอนที่ 3: “เป็นเด็กตำรวจ” ฆาตกรรมซ้ำ “วาฤทธิ์ สมน้อย”

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565