“เสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่…จริง ๆ เราก็ยอมเสียสละมาแล้วรอบหนึ่ง ยอมออกมาจากต้นน้ำลำธาร เสียสละเพื่อให้ต้นน้ำลำธารยังอยู่ ถ้าครั้งนี้เสียสละอีกครั้งพวกเราเองก็ไปไม่รอด ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเหมือนกัน ไม่ใช่อะไรก็จะมาเอากับชาวบ้านอย่างเรา ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่ใช่พยายามทำให้ธรรมชาติปรับตัวให้เข้ากับความต้องการเราตลอด ปรับธรรมชาติให้เป็นเขื่อน ต้องการน้ำเก็บไว้ตอบสนองความต้องการของตัวเองทั้งหมด ปัญหามันไม่มีทางจบ”
เสียงของเผือกยืนยันหนักแน่นกับเราว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเขาจะต่อสู้เพื่อบ้านเกิดอย่างถึงที่สุด บ้านเกิดที่มีชื่อว่า “พุระกำ” หรือภาษาถิ่นว่า “กุยเคลอะ” ที่แปลว่าวังต้นไทร เป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงอยู่ติดลำน้ำภาชี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ชาวบ้านที่นี่ก่อนการมีอยู่ของหมู่บ้านพุระกำ มีถิ่นฐานกำเนิดเดิมอยู่ที่ต้นน้ำบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน แต่หลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก ในช่วงเวลาที่มีการสู้รบกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศกับฝ่ายรัฐบาลไทย ในช่วงประมาณปี 2518 ได้มีคำสั่งจากทางการขอให้ชาวบ้านอพยพลงมาอยู่ข้างล่าง
โดยชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ลงมาทาง จ.ราชบุรี เพื่อมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านพุระกำ และอีกส่วนหนึ่งได้ลงไปอยู่ทาง จ.เพชรบุรี (หมู่บ้านบางกลอย) อาจกล่าวได้ว่าคนสองกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ อีกทั้งหลายคนก็ยังใช้นามสกุลเดียวกัน และมีการไปมาหาสู่กัน
“คนพุระกำ คือเด็กดีของรัฐ” คือคำที่สามารถอธิบายความเป็นมาของชาวพุระกำในความสัมพันธ์กับรัฐไทย รัฐให้เขาหยุดบุกรุกป่า เขาก็หยุดทำไร่หมุนเวียนและทำการเกษตรในที่ที่รัฐจัดสรรให้ รัฐให้เขาช่วยอนุรักษ์ป่า พวกเขาก็อาสามาช่วยรัฐทำแนวกันไฟ รัฐมีโครงการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เข้าไป เขายินดีทำและไม่เคยลืมในบุญคุณของโครงการเหล่านั้น
จนการอพยพลงมาตัวเปล่าเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ชาวพุระกำพยายามอย่างมากในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและอนาคตให้คนรุ่นต่อไป ในวันนี้พวกเขามีบ้าน มีรถยนต์ มีรายได้จากการทำเกษตรในระดับที่พอเลี้ยงตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พวกเขาใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงทั้งหมดนี้ขึ้นมา ด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาและความช่วยเหลือจากรัฐ
แต่มาวันนี้รัฐนำโดยกรมชลประทาน กำลังขอคืนทุกอย่างกลับมาจากชาวบ้านพุระกำ ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง” งบประมาณโครงการเบื้องต้น 1,882.35 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.เก็บกักน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมและสำหรับการอุปโภคบริโภค 2.เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยใน จ. ราชบุรี 3. เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าไม้บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำ และ 4.เพื่อใช้เป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า
โครงการอ่างเก็บน้ำดังกล่าวใช้พื้นที่ทั้งหมด 2,097 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่ามรดกโลกที่จะสูญเสียไป 1,290 ไร่ พื้นที่โครงการในพระราชดำริและอื่น ๆ 411 ไร่ และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทั้งหมดอีก 396 ไร่ (อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของกรมชลประทาน) ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้านพุระกำที่สร้างมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมาทั้งหมดจะหายไปในพริบตา
ความฝันที่หล่นหายของเผือก
“ทุกวันนี้เราเสียสละมามากแล้ว เสียสละมาตลอด ยังจะมาโดนไล่ที่อีกเหรอตอนนี้ (หัวเราะ) มันยุติธรรมแล้วใช่ไหม เราอยู่กับป่ามาหลายรุ่น รัฐทำกิจกรรมอะไรเราก็ช่วยตลอด พยายามมีส่วนร่วมกับรัฐ และเราก็ไม่เคยได้มีการไปบุกรุกถางที่ป่าเพิ่มเลย เราอยู่แค่ในที่ที่รัฐจัดสรรให้ ทุกวันนี้เราไม่เคยไปเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมเลย”
เผือก สงคราม กัวพู่ ชายหนุ่มอายุ 33 ปี ท่าทางเงียบขรึมแต่มีท่าทีจริงจังกล่าวกับเรา ในวันที่ทีมสื่อมวลชนเดินทางเข้าไปที่บ้านพุระกำ เผือกคือตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้ปกป้องหมู่บ้าน โดยเผือกจบการศึกษา ภาควิชาพืชสวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เขาเป็นชายหนุ่มผู้มีความฝันว่า
“ตั้งแต่เด็กผมมีความฝันอยากทำเกษตรอินทรีย์ อยากเรียนให้จบและกลับมาพัฒนาการเกษตรในหมู่บ้าน เพื่อให้สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและตัวเรายั่งยืน”
เผือก สงคราม กัวพู่
แต่แล้วความฝันของเผือกต้องถูกพับไว้ เมื่อมีการเข้ามาของโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง สำหรับเขาแล้วนั้นแม้ว่าทางกรมชลประทานจะกล่าวไว้ใน EIA ว่า โครงการนี้จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อมีโครงการเท่ากับ 69,656.39 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือเพิ่มขึ้นไร่ละ 6,743.12 บาท แต่เผือกก็มองว่าเป็นการกระทำที่มันไม่ยุติธรรมต่อพวกเขา
“ใช่! มันไม่ยุติธรรม เหมือนเราต้องถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามปรับตัวตามที่ภาครัฐต้องการแล้ว แต่วันนี้เขาก็จะมาโยกย้ายเรา”
การโยกย้ายที่รัฐยังตอบไม่ได้ว่าจะอพยพชาวบ้านพุระกำไปอยู่ที่ใด กรมชลประทานบอกได้แต่เพียงว่า “ได้เสนอให้มีการจัดพื้นที่แปลงจัดสรรอพยพ โดยเตรียมการพื้นที่จัดสรรใหม่ให้ราษฎรมีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม”
ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ทางกรมชลประทานกล่าวมานั้น เผือกตัวแทนชาวบ้านพุระกำบอกว่า พวกเขามีพร้อมหมดแล้วในตอนนี้
“รายได้เฉลี่ยการทำเกษตรของครอบครัว คิดเป็นตัวเงินจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนต่อปี ชีวิตเราทุกวันนี้พอดีแล้ว อยู่กับครอบครัวแบบเรียบง่าย อยู่ตรงนี้เราไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย”
และด้วยความที่ชาวบ้านพุระกำ แต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการทำเกษตรกรรม อยู่ในระดับที่พึ่งพาได้ จึงไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องไปบุกรุกป่า ตามข้อมูลจากทางกรมชลประทานที่กล่าวว่า การย้ายออกของชุมชนในบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำจะช่วยลดปัญหาการบุกรุกป่า โดยอ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่กลายสภาพเป็นพื้นที่แนวกันชนป้องกันการบุกรุก
“บรรพบุรุษเราอยู่ในป่า เราดูแลป่าอยู่กับป่าจนได้รับเป็นพื้นที่มรดกโลก เราทำทุกอย่างตามที่ภาครัฐต้องการจะให้อนุรักษ์ป่าให้ได้มากที่สุด แต่ท้ายที่สุดวันหนึ่งกลับเป็นรัฐเสียเองที่กลับจะมาสร้างเขื่อนขึ้นมาให้มันกระทบทั้งป่า ทั้งคน”
ที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ชาวบ้านพุระกำ โดยชาวบ้านจะปลูกต้นสนไว้ใช้สำหรับการต่อเติมสร้างบ้าน แทนการตัดไม้ในป่า
การสร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับเผือก ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาน้ำได้จริง ๆ เขามองว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนขึ้นมานั้น จะทำให้น้ำไม่มีการระบายเป็นแอ่งน้ำปิดตาย ทำให้น้ำไม่หมุนเวียนเกิดการหมักหมม ของอินทรียวัตถุที่เข้ามาถมมันจะเน่าเหม็น คุณภาพน้ำลำน้ำภาชีที่เคยมีคุณภาพน้ำที่ดี ก็จะยิ่งแย่ลงไปถ้าหากเกิดโครงการนี้
“อยากให้เขากลับไปดูโครงการอ่างเก็บน้ำ เขื่อนมากมายที่เคยทำไว้ กลับไปพัฒนาโครงการเก่าที่มีอยู่แล้ว ให้มันเต็มประสิทธิภาพก่อนดีกว่าไหมก่อนที่จะมาสร้างเพิ่ม พื้นที่รับน้ำทั้งลุ่มน้ำเท่ากับกะละมังใบหนึ่ง แต่พื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำเท่ากับขันหนึ่งใบ มันจะแก้ปัญหาได้อย่างไร”
สำหรับชาวพุระกำทุกคนตอนนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง จะผ่านหรือไม่ผ่านคือเดิมพันของชีวิต โดยในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ทางคณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (กป.วล.) ได้ให้กรมชลประทานกลับมาทบทวน EIA
“เรามีความหวังว่าเขื่อนมันจะไม่เกิด เลยไม่เคยคิดว่าถ้าไม่อยู่ที่นี่แล้วจะอพยพไปอยู่ที่ไหน ชีวิตของบรรพบุรุษเรา เคยต้องอพยพมาจากใจแผ่นดิน บางครั้งเรารู้สึกน้อยใจเหมือนกันว่า เราถูกทำให้เป็นคนอีกระดับหนึ่งเหมือนถูกลดคุณค่าลง”
การมีอยู่ของโครงการนี้ วันนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบชาวบ้านได้เลยว่า โครงการจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่การมีอยู่ของมันก็สั่นคลอนขวัญและกำลังใจในชีวิตของชาวบ้านพุระกำลงไปทุกวัน ๆ
“การที่เขาค้างคาโครงการไว้แบบนี้ มันทำให้ชาวบ้านรู้สึกเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต ไม่กล้าต่อเติมบ้าน ลงทุนเพาะปลูกที่มั่นคงถาวร กว่าจะตั้งหลักกันได้มันเหนื่อยนะครับ ใช้เวลากัน 30 กว่าปีกว่าเราจะปรับวิถีชีวิตเดิมของเราได้ เราแค่ต้องการอยู่ที่นี่ ไม่อยากย้ายไปไหนแล้ว ขอให้เราอยู่ช่วยดูแลป่า ต้นน้ำลำธาร น้ำถ้าเราไม่ไปกั้นมันก็ไหลลงไปในเมืองอยู่แล้ว ให้คนในเมืองได้ใช้อยู่แล้ว”
เสียงจากเผือกในวันที่เขาต้องพับความฝันการอยากทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่เขาตั้งใจ และต้องใช้เวลาชีวิตในวัยหนุ่มที่ยังมีไฟของเขา หมดไปกับการติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องโครงการ ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ
“ถ้าไม่มีเรื่องเขื่อน ผมคงได้ใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทไปกับการเกษตร”
เขากล่าวกับเราบริเวณที่ดินทำกินของเขา ที่ถูกขนาบสองฝั่งซ้ายขวา ด้วยภูเขาและป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์
เขื่อน คน ป่า กับเดิมพันในพื้นที่มรดกโลก
ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาตั้งของกรมชลประทาน ได้ให้ความเห็นไว้ว่าในกรณีที่ไม่มีโครงการดังกล่าวนี้ อาจจะทำให้สัตว์ป่าได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต จากการถูกรบกวนของมนุษย์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้สัตว์ป่าในบริเวณนี้มีความหลากหลายชนิดไม่มาก และมีจำนวนน้อย
ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน การได้คุยกับเจ้าของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี คงช่วยไขคำตอบให้กับเราได้
“ความหลากหลายของสัตว์ป่าในบริเวณที่จะสร้างเขื่อนนั้น พบรอยเท้าเก้ง กวาง ค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ยังเจอร่องรอยของสมเสร็จ เสือโคร่ง วัวแดง และกระทิง”
ชุมพล แก้วเกตุ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ได้เปิดโอกาสพูดคุยกับสื่อมวลชน ในช่วงเช้าของวันที่ 19 มกราคม 2565 ณ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ในฐานะเจ้าของพื้นที่โครงการ ที่มีความคุ้นเคยและเข้าใจบริบทในพื้นที่มากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง
“ชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคารพกติกาดีมาก เราจัดที่ดินให้เขากี่ไร่ ส่งเสริมอาชีพอะไร เขาก็ทำตาม ค่อนข้างจะเรียบร้อย ไม่ได้มีปัญหากับฝ่ายปกครอง”
ชุมพลกล่าวเมื่อเราถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อชาวบ้านพุระกำ โดยสำหรับการล่าสัตว์นั้น หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชียอมรับว่า ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง เพราะยังมีชาวบ้านบางกลุ่มยังคงพึ่งพาอาหารจากป่าอยู่
ซึ่งในพื้นที่ป่าดังกล่าวนั้นมีชาวบ้านกระจายอยู่ในหลายหมู่บ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามตีกรอบให้พวกเขาเคารพกติกา และอยู่ในกรอบที่ทางรัฐตั้งไว้ให้
“มนุษย์เป็นผู้ล่า ถ้าเราเอามนุษย์ออกไปหมดก็จะเหลือเขื่อนกับป่า คนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สำหรับกรมอุทยานแห่งชาตินั้นถือว่าค่อนข้างน้อย แต่คนที่จะลำบากคือชาวบ้านต้องมาแลกกันว่าคุ้มค่าไหม”
ชุมพล แก้วเกตุ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
แต่สิ่งที่ชุมพลดูจะแสดงความกังวลต่อโครงการที่จะเกิด คือถ้ามีเขื่อนขึ้นมามันจะส่งผลต่อสถานะของพื้นที่มรดกโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีเขื่อนอยู่ก่อนหน้าที่จะประกาศเขตมรดกนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่การที่จะมาก่อสร้างเขื่อนหลังจากที่ได้รับประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในเงื่อนไขของการรับรองพื้นที่มรดกโลก
“การเป็นพื้นที่มรดกโลกจะทำให้โครงการนี้ล้มเลิกไปไหมผมไม่รู้ แต่ความยากในการก่อสร้างโครงการนี้มันจะยากขึ้นอีกเท่าตัว และเท่ากับว่าตอนนี้เหมือนเรากำลังสูญเสียป่าไปสองทาง สูญเสียเพื่อสร้างเขื่อน ทั้งอาจจะต้องสูญเสียให้กลับชาวบ้านที่ไม่พอใจโครงการนี้ กลับเข้าไปอยู่ในป่าอีกครั้ง”
โดยในตอนท้ายของการพูดคุย ชุมพลได้กล่าวย้ำถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกับชาวบ้านพุระกำ และแสดงความกังวลว่า หากย้ายชาวบ้านลงไปอยู่ข้างล่าง อาจจะก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันในอนาคต หากชาวบ้านไม่พอใจในการย้ายและกลับเข้าไปอยู่ในป่า เพราะพวกเขากลุ่มชาติพันธุ์มีชีวิตติดอยู่กับป่า
“ชาวบ้านที่อยู่ทุกวันนี้ถือว่าลงตัวกับพื้นที่ พวกเขาให้ความร่วมมือดีมาก ช่วงฤดูไฟป่าถ้าเกิดไฟป่า เขาก็ออกมาช่วยพวกเราดับไฟ ทำแนวกันไฟช่วยกัน มีโครงการปลูกป่าต้องการอาสาสมัครเขาก็ออกมาช่วย เราถือว่าชาวบ้านพุระกำ ค่อนข้างเคารพกติกาดี”
โครงการนี้สมควรจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่สมควรพิจารณาชั่งน้ำหนักถึงผลดี-ผลเสียที่จะตามมา จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อมีโครงการเท่ากับ 69,656.39 บาท/ครัวเรือน/ปี ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับผลประโยชน์จริงหรือไม่พิสูจน์อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อการเป็นพื้นที่มรดกโลกมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ตามข้อมูลใน EIA หากเกิดโครงการนี้ขึ้น กรมชลประทานเสนอแนะให้มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ เพื่อนำมายกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยไหม และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มคนที่จะสูญเสียที่ดินทำกินทั้งหมดเช่นชาวพุระกำและในหมู่บ้านอื่น สิ่งที่ชาวบ้านพุระกำจะสูญเสียไป สำหรับพวกเขามันอาจจะไม่สามารถประเมินมูลค่าได้เลย เมื่อมันคือทั้งชีวิตของพวกเขา
ความฝันใกล้บ้าน กับการเดินทางไกลบ้านของมิแน๊ะ
“สมัยเด็ก ๆ ความเจริญยังเข้าไม่ถึง ในหมู่บ้านมีรถมอเตอร์ไซค์แค่คันเดียว เราต้องเดินมาโรงเรียนระยะทาง 10 กิโลเมตร เดินทางมาโรงเรียนวันอาทิตย์เพื่อมาอยู่หอพักประจำ พอวันศุกร์จึงเดินทางกลับบ้าน ไม่อยากให้โครงการนี้ผ่านเลยค่ะ กว่าหมู่บ้านจะเป็นหมู่บ้านได้ขนาดนี้ เกิดจากทั้งแรงชาวบ้าน แรงจากรัฐที่คอยมาช่วยเหลือกันจนหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านในวันนี้ เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้หายไป”
เสียงจากมิแน๊ะ จันทกร กัวพู่ บัณฑิตจบใหม่อายุ 25 ปี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสียงสุดท้ายที่เราได้พูดคุยก่อนเดินทางกลับออกมาจากบ้านพุระกำ
“หลังเรียนจบที่ รร.รุจิรพัฒน์ ก็ได้ทุนจาก รร.สารสาสน์ บางบอน จึงได้เข้ามาเรียนที่ กทม. ตั้งแต่ ม.4 ถึง ม.6 หลังจากเรียนจบได้รับโอกาสไปทำงานเป็นผู้ช่วยครู พร้อมกันกับศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง”
มิแน๊ะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ โดยหลังจากเรียนจบ เธอยังคงมีความสนใจโลกข้างนอก และเลือกไปทำงานที่ร้านอาหาร จ.กระบี่ จนในปัจจุบันเธอตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด
“ไปอยู่ที่อื่นกับอยู่พุระกำมันต่างกัน เรื่องของสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ธรรมชาติ ในเมืองอาจจะมีความสะดวกสบาย แต่สภาพอากาศมันไม่ดีเท่าบ้านเรา”
สำหรับมิแน๊ะ เธอไม่มีปัญหาในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย “เราเอาตัวรอดพอที่จะสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองได้” แต่สิ่งที่เธอเป็นห่วงนั้นคือคนรุ่นพ่อแม่เธอ ที่ทั้งชีวิตเคยอยู่แต่ในพื้นที่แห่งนี้และทำแต่เกษตรกรรม ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในเมือง และพวกเขาจะอยู่อย่างไร
“ไม่มีใครอยากสูญเสียบ้านเกิดหรอกค่ะ”
เธอกล่าวกับเราพร้อมบอกว่าถ้าเลือกได้เธอเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ ในวันที่เธอกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เธอยังคงอยากทำงาน ทำตามความฝันในพื้นที่บ้านเกิดเธอ
“อยากรับราชการ ทำงานตรงส่วนไหนก็ได้ ขอเพียงแค่ได้อยู่ใกล้บ้านให้ได้มากที่สุด”
มิแน๊ะ จันทกร กัวพู่
สำหรับมิแน๊ะ ความฝันเธอไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การได้ทำงานราชการเพื่อความมั่นคงของครอบครัว การได้อยู่ใกล้บ้านในพื้นที่ที่พ่อแม่เธอบุกเบิกสร้างขึ้น เรื่องราวของเธออาจเป็นเพียงเรื่องราวชีวิตของคนตัวเล็ก ๆ แต่สำหรับเรากว่าเส้นทางเดินชีวิตของเธอจะมาถึงวันนี้ เธอต้องบากบั่นและก่อร่างสร้างตัวด้วยความพยายาม เช่นเดียวกันกับชาวบ้านพุระกำอีกหลายคนที่ใช้เวลาทั้งชีวิต สร้างหมู่บ้านของพวกเขาขึ้นมา จนเรียกได้ว่าวันนี้กลายเป็นหมู่บ้านที่มั่นคง และสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างลงตัว
“ยังมีความหวัง ถ้าวันนี้ชาวบ้านไม่ยอม เขาน่าจะทำอะไรไม่ได้ ยังเชื่อว่ารัฐจะฟังเสียงประชาชน เชื่อว่ารัฐคงไม่ทำร้ายประชาชน ไม่เคยท้อ เพราะถ้าคนในชุมชนร่วมมือกัน หนูเชื่อว่าเขื่อนมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องจับมือกันให้แน่น”
มิแน๊ะกล่าวในตอนท้าย ที่ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดว่าในตอนจบของเรื่องนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง จะเกิดขึ้นหรือไม่ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ(เขื่อน)ในพื้นที่มรดกโลก, การร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านพุระกำ จะสามารถเป็นไม้ซีกที่จะนำไปใช้งัดกับไม้ซุงอย่างกรมชลประทานได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามและเป็นเดิมพันชีวิตของ มิแน๊ะ เผือก รวมทั้งชาวบ้านพุระกำทุกคน
จากซ้าย: จันทกร กัวพู่, เสนีย์ จอกาย, สงคราม กัวพู่ สามคนพุระกำรุ่นใหม่ ที่ต่อต้านการเกิดขึ้นของโครงการอ่างเก็บน้ำฯ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
- ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้านพุระกำ: ข้อมูลจากวุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
- รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาตั้ง: จัดทำโดย บริษัท ไทยเอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด สิงหาคม 2562