เหยื่อบิ๊กไบก์ของความบิดเบี้ยว ยุติธรรมผิดเพี้ยน ในระบบตำรวจที่คนรังเกียจ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ถ้าเราบอกคุณว่ากล้องวงจรปิด ณ จุดเกิดเหตุเสีย คุณจะรู้สึกอย่างไร

คุณจะรู้สึกตกใจ

หรือได้แต่พูดกับตัวเองว่า กะแล้วเชียว

 

การสูญเสีย แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย กรณีถูกตำรวจ ยศ ส.ต.ต. ขับบิ๊กไบก์พุ่งชน ขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต ทำให้สังคมหันมาตั้งคำถาม พร้อมวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทยกันอย่างหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ 

De/code ต่อสายพูดคุยกับ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อชวนถอดรหัสความจริงของกระบวนการยุติธรรมไทยจากจุดเริ่มต้นของคดี #หมอกระต่าย

นับหนึ่ง มองหาข้อเท็จจริงผ่านเลนส์อัยการ

“เราต้องฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนว่าความจริงมันคืออะไร ข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบคือเขาขับรถตามหลังรถคันหน้าด้วยความเร็ว และแซงเลี้ยวออกขวาในระยะกระชั้นชิดเลยเกิดการชนขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้มันจะส่งผลต่อการวิเคราะห์ต่อไปว่า ด้วยความเร็วและระยะกระชั้นชิด ทำให้เขามองไม่เห็นหมอกระต่าย และทางม้าลาย ดังนั้นถ้าเราไปกล่าวถึงขนาดว่าเห็นทางม้าลายแล้วไม่หยุด ก็อาจจะผิดไปจากสถานการณ์จริง” ดร.น้ำแท้ กล่าว

ดร.น้ำแท้ยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้กระทำผิดย่อมมีความผิดอย่างแน่นอนเพราะคึกคะนองและขับรถด้วยความประมาท แต่ถึงกระนั้นก็อยากจะย้ำว่าตำรวจคนดังกล่าวก็เป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และความคิดที่ดีพอ หากมองไปให้ถึงเจตนาก็จะพบว่าเขาเองก็คงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเช่นเดียวกัน

“มันเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาท ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างการทุจริต คดโกง หรือเก็บส่วยสินบนทำลายหลักฐาน บิดเบือนความเป็นธรรมตามแบบฉบับที่เห็นกันอยู่ทั่วไป มองอีกมุมนึงผมว่า ตำรวจเด็กคนนี้ก็เป็นเหยื่อนะ เป็นเหยื่อของระบบตำรวจที่คนรังเกียจความบิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนในกระบวนการยุติธรรม”

 

นับสอง พยานหลักฐานที่อันตธานหายไป

“ความยุติธรรมจะเข้าถึงไม่ยาก ราคาไม่แพง ใช้เวลาไม่นาน ถ้าพยานหลักฐานและความจริงทุกอย่างถูกรักษาไว้ครบถ้วน” ดร.น้ำแท้ กล่าว

ทว่าความจริงที่น่าเศร้าคือเราอยู่ในประเทศที่คนไม่แปลกใจเมื่อเจอคำว่า กล้องวงจรปิดเสีย อีกต่อไปแล้ว

ช่องโหว่รูปแบบเดิม ๆ ที่เห็นกันจนชินตา จนเกิดคำถามที่ว่า ทำไมสังคมไทยจะต้องรอให้ใครมาให้ความเมตตากรุณาต่อเราว่าจะมีหรือไม่มีกล้อง ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรมีใครมีอำนาจตามอำเภอใจ ทำให้พยานหลักฐานใดยังคงอยู่หรืออันตรธานหายไปตามใจชอบได้

ทำอย่างไรสังคมไทยถึงจะรักษาพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อส่งถึงมืออัยการพิจารณาได้ ไม่ให้ใคร เจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายเดียวมาพูดได้ง่าย ๆ ว่า กล้องเสีย  ในขณะที่เราทำได้แค่เพียงยอมจำนนกับข้ออ้างดังกล่าวว่า ทั้ง ๆ ที่พยานหลักฐานถูกทำลายไปด้วยมือที่เราต่างก็รู้ว่าเป็นฝีมือของใคร

“ผมไม่กลัวเรื่องโจรทำลายหลักฐาน เพราะมันเป็นสิ่งที่โจรต้องทำเพื่อเอาตัวรอดอยู่แล้ว แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐบิดเบือนทำลายหลักฐานมันเป็นเพราะผลประโยชน์เต็ม ๆ”

ดร.น้ำแท้ เสริมว่า เป็นที่รู้กันดีว่าพยานหลักฐานถูกทำลายมากที่สุดโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากเป็นโจรกระทำความผิด โจรจะรีบหนีไม่มีเวลาทำลายหลักฐาน แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดจะมีการปิดล้อมสถานที่และทำลายหลักฐานทั้งหมดเสียเองก่อน กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เร็วกว่าคนอื่นเพื่อเก็บพยานหลักฐานยังถูกกันไว้ให้รออยู่ภายนอกก่อน เมื่อมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนได้ส่วนเสียในอาชญากรรม แม้กระทั่งอัยการเองก็ไม่สามารถได้รับความจริงจากการสืบสวนสอบสวน ซึ่งหากให้ยกตัวอย่างแบบเห็นภาพชัด ก็ขอให้ทุกคนจินตนาการถึงการปิดพื้นที่ทำลายกล้องวงจรปิดและยกอุปกรณ์เล่นการพนันออกไปจากบ่อนในคดีบ่อนพระราม 3 เมื่อปี 2563

หากมองไปที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วที่ปฏิบัติตามระดับมาตรฐานสากลไม่ว่าจะเป็นในทวีปยุโรป อเมริกา หรือประเทศในทวีปเอเชียอย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น เราจะพบว่า พยานหลักฐานทุกอย่างในที่เกิดเหตุจะไม่ถูกบิดเบือนหรือทำลาย แต่จะถูกรักษาไว้อย่างดี เพราะมีการรับรู้ของเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีการตายจะมีการแจ้งไปที่แพทย์นิติเวช หากมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ต้องเก็บจะแจ้งไปที่พิสูจน์หลักฐาน รวมไปถึงแจ้งอัยการ ฝ่ายปกครองและตำรวจให้เข้าไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะได้รู้เห็นหลักฐานว่า มันมีอะไรบ้างเพื่อป้องกันการสูญหาย หรือบิดเบือนทำลายจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดตามอำเภอใจโดยลำพัง

“ถ้าเราหยุดวงจรการบิดเบือนทำลายพยานหลักฐานในชั้นสืบสวนสอบสวนตั้งแต่เกิดเหตุนี้ได้ คุกจะไม่ได้มีไว้ขังคนจนอีกต่อไป แต่จะสามารถดำเนินคดีคนรวย เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีอิทธิพลที่กระทำความผิดได้ เพราะความจริงมันถูกรักษาไว้ให้อัยการและศาลพิจารณาอย่างครบถ้วน”

 

นับสาม กระแสสังคมและการปะทุของอารมณ์ครั้งที่ xxx

“ในเรื่องของอาชีพ ด้วยความที่หมอเป็นคนที่มีจิตอาสา เป็นคนที่มีจิตใจดี มันเลยเทียบไม่ได้กับผู้กระทำความผิดที่มีคุณค่าแตกต่างกันมากในสายตาสังคม”

ในมุมมองของดร.น้ำแท้ มองว่าทั้งคู่ล้วนตกเป็นเหยื่อ เพราะในขณะที่หมอตกเป็นเหยื่อของความคึกคะนองและความประมาท ตำรวจที่เป็นผู้กระทำผิดเองก็เป็นเหยื่อของสังคมที่รังเกียจระบบกระบวนการสืบสวน สอบสวนที่บิดเบือนทำลายพยานหลักฐานเช่นเดียวกัน

“สังคมไทยเบื่อหน่ายกับการทุจริตคดโกงของเจ้าหน้าที่มามากพอแล้ว พอเริ่มคดีเราก็ได้ยินคำว่า กล้องวงจรปิดเสีย ไม่มีกล้อง สังคมก็เกิดความรู้สึกว่า ‘มันทำลายหลักฐานอีกแล้วหรอ’ พอพบว่าผู้กระทำผิดเป็นตำรวจ สังคมก็เหนื่อยหน่ายกับความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ความไม่ตรงไปตรงมาที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป จนในท้ายที่สุดก็เกิดกระแสความรังเกียจถาโถมมาลงที่ตำรวจเด็กคนนี้

“ผมอยากให้เรามองความเป็นจริงว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงมันคืออะไร ถ้ามันเป็นเรื่องของเด็กหนุ่มคนหนึ่งประมาท คึกคะนอง ขับรถเร็ว ไม่เห็นทางม้าลายเพราะแซงจากท้ายรถขึ้นมาแล้วชนคนตาย สิ่งที่มันสอนเราก็คือว่ากระแสสังคมเกิดความรังเกียจและกังวลกับความอยุติธรรมและไม่ตรงไปตรงมาขอเจ้าหน้าที่รัฐที่หน้าที่สืบสวนสอบสวนในเบื้องต้น ถ้าเรามัวแต่ประณามคนในระดับปัจเจกจะทำให้เราลืมมองว่าความเป็นจริงมันคืออะไร การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น

“เราควรจะมองไปให้ถึงระบบการสืบสวนสอบสวนที่บิดเบือนเลวทรามทำลายพยานหลักฐาน ที่เป็นต้นเหตุให้คนเกิดกระแสความรังเกียจตำรวจผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรง เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เมื่อผู้กระทำความผิดมีอำนาจหรือทรัพยสินกระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถรักษาพยานหลักฐาน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนในสังคมได้เลย”

 

นับสี่ รอลงคดีอาญาไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ

ในขณะเดียวกันสังคมยังคงตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่าด้วยเรื่องการรอลงอาญา เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ดร.น้ำแท้จึงอธิบายให้เราฟังว่า ในทางกฎหมาย การรอลงอาญาเป็นมาตรการหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมปรกติที่มีพื้นฐานจากวิธีคิดที่ว่า การลงโทษหรือการขังคนเหล่านี้ในความผิดที่ไม่ใช่ความผิดที่มีเจตนา ร้ายแรง หรือเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อสังคมล้วนไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ ทว่าการให้โอกาสเขาในการปรับปรุงตัว แก้ไข บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ อาจจะทำให้การแก้ไขเยียวยาพฤติกรรมที่ได้ผลดีกว่าการเอาคนไปจองจำ เพราะถึงที่สุดเขาก็ต้องถูกปล่อยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอยู่ดี

“มันจะมีตัวอย่างกรณีแทนที่เราจะเอาคนที่ขับรถชนคนตายไปขัง เราพาเขาไปยืนคอยถือธงโบกรถให้คนข้ามถนนอยู่กี่เดือนก็ว่าไป คนพวกนี้ก็จะรังเกียจคนที่ขับรถประมาท ผ่าไฟแดง หรือคนที่ไม่ยอมจอดตรงทางม้าลาย คนเหล่านี้ก็จะตระหนักได้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยทำลงไปมันน่ารังเกียจ สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้จากภายในและเราก็จะได้คนดี ๆ คืนมาให้สังคมโดยที่ไม่ต้องไปเปลืองข้าวหลวง” ดร.น้ำแท้ กล่าว

 

นับสุดท้าย ปฏิเสธความโปร่งใสประเทศไทยจึงถอยหลัง

ดร.น้ำแท้ กล่าวว่า คนไทยได้ผ่านจุดที่ถกเถียงกันว่าการทุจริตบิดเบือนพยานหลักฐานเหล่านั้นมันมีอยู่จริงหรือไม่กันไปนานแล้ว ทว่าสิ่งที่ตนอยากจะให้สังคมตามต่อไปคือ เมื่อมีปัญหาคาตาอยู่ตรงหน้าแล้วทำไมยังไม่เกิดการแก้ไขเสียที  และแม้ว่าจะมีคนพูดมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นก็เป็นเพราะว่าปัญหามันอยู่ที่ผู้มีอำนาจที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือ รัฐบาล หรือหน่วยงานราชการที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่ไม่ประสงค์จะแก้ไขมัน

“ระบบที่ไม่โปร่งใสและบิดเบือนทำลายพยานหลักฐานได้ง่าย ๆ จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตเก็บส่วยหากินได้ง่ายจากการปกป้องคนผิด หากทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส คนทำผิดจะถูกดำเนินคดีอย่างเสมอภาคกัน การทุจริตคดโกงหากินจะทำได้ยาก นี่คือสาเหตุที่เราปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ได้สักที ไปตามหาตัวเถอะครับว่า ใครเป็นไอ้โม่งขัดขวางการปฏิรูป มีไม่กี่คนหรอกครับที่อยู่เบื้องหลังที่ขัดขวางทำให้การปฏิรูปต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ” ดร.น้ำแท้ กล่าวทิ้งท้าย

เราต่างรู้กันดีว่า การข้ามถนนเป็นวิถีชีวิตปรกติของคน เหมือนกับความปลอดภัยในการใช้ชีวิตที่เราทุกคนพึงมี ทว่าเมื่อมีเหตุใด ๆ เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทันทีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กอย่างความปลอดภัยบนท้องถนนไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างคดีอาชญากรรมร้ายแรง แล้วคนไทยจะมองหาความมั่นใจในชีวิตได้อย่างไร หากกระบวนการค้นหาความจริงในชั้นต้นไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับใครได้ นอกจากคนที่ได้ผลประโยชน์จากมัน

หัวใจสำคัญของความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย คือการปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐทำลายหลักฐานได้โดยง่ายโดยไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการอื่น ในขณะที่ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างคนส่งส่วยสินบนและเจ้าหน้าที่คนรับส่วยสินบน เจ้าหน้าที่ก็คงไม่มีวันหันมาสอบสวนดำเนินคดีคนจ่ายส่วยเพื่อทุบหม้อข้าวตัวเอง ความบิดเบี้ยวเลวทรามของกระบวนการค้นหาความจริงดังกล่าวไม่ควรถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปรกติที่เราทุกคนต่างชินชา วาทกรรมที่ถูกพร่ำบอกว่า ยังไงคนเราก็ตายไปและไม่สามารถกลับคืนมาได้ ไม่ใช่ข้ออ้างของการปล่อยให้สิ่งเหล่านี้สืบต่อไปโดยปราศจากคำถาม ให้เราน้อมรับความจริงใหม่ที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยความจำนน

 เพราะไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม

ตาชั่งวัดความยุติธรรมต้องไม่เอนเอียง