หลังจาก “คณะก้าวหน้า” เปิดให้ประชาชนลงชื่อเพื่อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ล่าสุด วันที่ 12 ธันวาคม 2564 สมยศ พฤกษาเกษม แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เผยว่ามีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่าสองแสนชื่อ ซึ่งแม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หนึ่งล้านชื่อ แต่ก็มากพอที่จะสะท้อนให้เห็นว่ามีคนคิดต่างเห็นต่างต่อเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และตราบเท่าที่ความเห็นต่างนั้นมิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ สังคมไทย โดยเฉพาะรัฐบาลควรจะรับให้ที่ทางหรือรับฟังความเห็นอันแตกต่างนั้นอย่างไร
De/code ชวนหาคำตอบของคำถามดังกล่าวสนทนาถึงความเป็นไปของการถกเถียงว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์กับ ‘รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มบทสนทนาจากคำวินิจฉัยที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเนื้อเดียวกับสังคมไทย “ผมคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีคำถามตามมาเยอะนะครับ คือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเนื้อเดียวกับสังคมไทยมาตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา เป็นการให้คำอธิบายแบบเหมารวมมาก เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ละช่วงนั้นมีสถานะและบทบาทที่แตกต่างออกไป ฉะนั้นพอกล่าวว่าสถาบันเป็นเนื้อเดียว ผมคิดว่าตรงนี้เป็นการทำให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ถูกกลบ” จึงเห็นว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องอธิบายเพิ่มคือที่บอกว่าเป็นเนื้อเดียวนี้นั่นหมายถึงอย่างไร
แล้วคิดว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่กระทำได้?
เราต้องยอมรับจริง ๆ ว่าสถาบันการเมืองไหน ๆ ล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อโลกมันเปลี่ยน ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจของมหาชนก็เปลี่ยน สถาบันมันก็ต้องขยับตำแหน่งแห่งที่คือจะแช่แข็งไว้แบบเดิมไม่ได้ เพราะการห้ามไม่ให้เปลี่ยน การกระทำแบบนี้น่าจะเป็นผลร้ายมากกว่า หมายความว่าเรากำลังจะทำให้ไม่เกิดการปรับตัวเกิดขึ้น และผมก็มองว่าจริง ๆ แล้วความเข้มแข็งหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกนี้คือสามารถปรับเปลี่ยนและดำรงอยู่ได้กับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างเท่าทัน เช่นเมื่อคนในโลกไม่เชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์มาจากสรวงสวรรค์ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเริ่มเปลี่ยนไป สลัดทิ้งหมวกแห่งความเชื่อนั้นและหาหมวกใบใหม่มาสวมแทน คือขยับไปดำรงสถานะอีกแบบหนึ่ง ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยไม่ได้อ้างอิงถึงความศักดิ์สิทธิ์ หรือความวิเศษแบบที่เคยเป็นมาเหมือนยุคก่อน
แต่ถ้าสมมติสถาบันไหนยังบอกว่าตัวเองเป็นโอรสสวรรค์ ก็จะกลายเป็นสถาบันที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะเช่นนั้นผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือแทนที่จะปิดปากคน เราควรสนทนาหรือแลกเปลี่ยนกันว่า อะไรที่เป็นไปได้ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่ามันดีกว่าการห้ามไม่ให้คนพูดถึง
ทว่าสังคมไทยไม่ได้พยายามเดินไปสู่เส้นทางนั้น ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็คือความพยายามที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่แบบแช่แข็ง ไม่ยอมให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนอีกฝ่ายก็มีความเห็นว่ามิควรแตะต้องหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นการยกเลิกมาตรา 112 การหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพูดกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดเสีย ทั้งที่ผ่านมา คือตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่แบบคงที่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากแต่มีการปรับปรุงแก้ไขเกิดขึ้นเนือง ๆ เช่นพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย (Veto) ก็เปลี่ยนแปลงมาแต่ละยุคสมัย บางครั้งก็บอกว่าหกสิบวัน บางครั้งก็บอกว่าเก้าสิบวัน และจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะในสังคมไทย แต่ที่อื่น ๆ ในโลก สถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนหนึ่งก็ขยับปรับเปลี่ยนกัน
สังคมไทย โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐจึงอาจต้องทบทวนว่าการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปนั้นเป็นความหวังดีในการรักษาสถาบันไว้มากกว่าการล้มล้าง เพราะปฏิรูปยังหมายถึงการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนที่เขาเห็นว่ามันอาจจะมีปัญหา
มหาชนจะถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ไหม อย่างไร?
อ.สมชาย : ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐแน่ ๆ แต่คำถามคือพระราชอำนาจในแต่ละเรื่องควรจะมีอยู่อย่างไร เท่าไร อันนี้ผมคิดว่ามันปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ และในทางสาธารณะผมเข้าใจว่ายังไม่เห็นใครพูดถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบการปกครองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เลย ทั้งหมดยังยึดอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็มีหลักการสำคัญ ๆ อยู่ อย่างเช่น หลัก King can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่อาจกระทำความผิด หรือในทางการเมืองคือพระองค์มิทรงกระทำอันใด เช่น เมื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่เป็นผลมาจากการที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกต่างหาก เพราะฉะนั้นหากนายกรัฐมนตรีไปกระทำสิ่งที่ผิด พระมหากษัตริย์ก็ไม่เกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิดด้วย
หลักและกรอบคิดว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ชัดเจนเช่นนั้นเสมอมา เแต่เมื่อผ่านช่วงเวลาก็ย่อมมีข้อเสนอว่าบางเรื่องควรปรับแก้ เรื่องบางเรื่องควรปรับเปลี่ยน หรือคงอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สามารถจะถกเถียงกันได้ ใครที่ไม่อยากปรับแก้ก็ถกเถียงมาว่าเพราะเหตุอะไร ใช้เหตุผลเป็นแกนกลางของการโต้ค้าน ซึ่งแน่นอนว่าอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างความคิดที่วางอยู่บนฐานรัฐธรรมนูญสองแบบ คือคุณค่าพื้นฐานที่ว่าเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ กับคุณค่าที่เราก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ย่อมสามารถกระทำได้ แต่จุดตัดของสองคุณค่านี้คือการห้ามแสดงความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นข้อฉงนสนเท่ห์ว่าถึงที่สุดแล้วเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจริง ๆ หรือเปล่า เป็นปัญหาที่นำมาสู่คำถามของคนจำนวนมากว่าสุดท้ายแล้วเราอยู่ในระบอบการปกครองแบบไหน ในบรรทัดฐานทางกฎหมายปัจจุบัน เราควรแสดงความเห็นได้ตราบเท่าที่กรอบความเห็นนั้นไม่ได้นำพาไปสู่การปกครองประชาธิปไตยที่ไม่มีกษัตริย์เป็นประมุข
และปัญหามันถลำลึกไปอีกเมื่อรัฐพยายามห้ามคนไม่ให้แสดงความเห็น ไม่ให้สองหลักการนี้ปะทะกันด้วยเหตุและผล ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่อันตราย ถ้าในความเห็นผมมองว่าเราควรต้องประคับประคองระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ด้วยการเปิดพื้นที่กลางของการถกเถียงอย่างปลอดภัยในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ อาทิข้อเห็นต่างต่องบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคนบอกว่างบมากเกินไปแต่บางคนบอกไม่มาก แทนที่เราจะไปปิดปากคนที่บอกว่ามาก ก็ควรปล่อยให้มีการถกเถียง ส่วนคนที่เห็นว่าไม่มากผมก็คิดว่าเขาควรมีสิทธิ์ที่จะบอกว่ามันเหมาะสมอย่างไรตามที่เขาคิด
แต่ทำไมการถกเถียงหรือแสดงความเห็นบางครั้งถึงกลายเป็นความผิดไปได้?
ในทางกฎหมายผมมองว่าขอบเขตการแสดงความเห็นก็ชัดเจนระดับหนึ่งนะครับ แต่ในช่วงจังหวะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่ง ทำให้เส้นกรอบดังกล่าวพร่าเลือน เนื่องจากการแสดงความเห็นหลายครั้งที่ไม่ควรจะถูกตัดสินว่าเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้าย แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการ ไปจนถึงคำพิพากษาบางฉบับกลับทำให้ความหมายที่มันควรจะชัดเจนและกรอบวงที่พอจะเข้าใจได้กลับขยายกว้างไปไกลขึ้น ยิ่งตอนนี้ขยายออกไปมากจนทำให้การว่าความเอาผิดเกิดขึ้นง่าย ปรากฎการณ์เช่นนี้ก็สะท้อนกลับมาว่ากระบวนการยุติธรรมของเราไม่คงเส้นคงวา จึงทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาเรื่องนี้มันเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีสำหรับมาตรา 112 นั้นต้องยอมรับว่ามีปัญหาที่พึงพิจารณาทั้งในแง่ตัวบทและการบังคับใช้ ในเชิงตัวบทคือความผิดตามมาตรานี้มันไม่ควรอยู่ในหมวดความมั่นคง รวมไปถึงบทกำหนดโทษอันรุนเเรงส่วนด้านการบังคับใช้นี้ดูเหมือนทวีความรุนแรงขึ้น คือเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมจะตั้งข้อกล่าวหากับใครก็ได้ที่แสดงความเห็นหรือแสดงออกอันเกี่ยวข้องกับเสนอแนะต่อการปรับเปลี่ยนรายละเอียดว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็พร้อมที่จะโดนแจ้งความหรือดำเนินคดีตามมาตรา 112
การปิดกั้นการถกเถียงจะส่งผลต่อสังคมไทยแค่ไหน?
ผมคิดว่าตอนนี้ปัญหาใหญ่คือเราอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่อนุญาตให้เกิดความเห็นที่แตกต่าง เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็เห็นปรากฏการณ์ที่ทำร้ายคนหลาย ๆ กลุ่มอย่างทำร้ายเยาวชนที่ติดคุก ซึ่งเขาเป็นคนที่จะอยู่กับสังคมนี้ไปอีกนาน เป็นการทำร้ายสังคม ทำร้ายกระบวนการยุติธรรม คนเริ่มไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ถามว่าคดีที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนก็พอจะรู้ว่าผลบั้นปลายจะเป็นอย่างไร จึงเหมือนว่าเรากำลังเดินไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่คนจำนวนมากไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเป็นกลางหรือความอิสระในการตัดสิน คือถ้าสังคมปล่อยให้ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ สังคมนั้นอันตราย มันคงยากที่จะทำให้เกิดความสงบ ซึ่งระยะยาวเป็นปัญหาแน่ ๆ อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรถูกคำนึงถึง
และหากถามผมว่าจะออกจากวังวนของปัญหานี้ยังไง ส่วนตัวผมไม่มีข้อเสนอแนะนะครับ เพราะบอกตามตรงว่าตอนนี้เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการออกจากปัญหานี้อย่างสันติ คนที่คิดต่างก็ถูกกล่าวหา จับเข้าคุก มีการเริ่มคุกคามต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือเริ่มมีการตรวจสอบเอกชน ผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่เปิดช่องทางให้มีการถกเถียง ยิ่งคำพิพากษารัฐธรรมนูญล่าสุดที่ออกมาก็แสดงว่าเป็นการปิดตายช่องทางในการถกเถียงเรื่องนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือผมเกรงว่าภาวะแข็งตึงเช่นนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบที่ลงใต้ดิน และรัฐจะมีความยุ่งยากมากขึ้นในการรับมือ ความเสียหายก็อาจมากขึ้น เช่นจากเดิมที่คนออกไปชุมนุมแบบสงบในกรอบเวลาและสถานที่ที่รัฐธรรมนูญรองรับ แต่ก็ยังถูกปิดกั้น ถูกกระทำจากรัฐ จนวันหนึ่งคนเหล่านี้อาจจะไม่ไปแบบนั้นอีก เปลี่ยนมาทำการต่อต้านในยามวิกาลหรือผ่านรูปแบบอื่นที่ยากจะตามตัว ไม่ไปตามแบบที่รัฐธรรมนูญวางสิทธิ์ไว้แล้ว
อย่างไรเสียผมก็อยากเห็นรัฐที่รับฟังความเห็นที่ต่าง เพราะมันจะช่วยทำให้สถานการณ์ผ่อนคลาย การจักการเฉพาะหน้าตอนนี้เลยคือใครที่ถูกกล่าวหาเรื่อง 112 ให้เขาประกันตัวออกมาเถอะ เขาไม่ได้ให้เขาสู้คดีตามกระบวนการที่ควรจะเป็น
ก่อนที่อาจารย์สมชายจะทิ้งท้ายการสนทนาว่า การแก้ไขอะไรก็ตามในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนโดยตรง แต่ว่ามันจะเป็นผลที่ติดตามมา อย่างเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ให้ปรับแก้เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้หมายความว่าแก้ได้แล้วงบประมาณจะไหลมาสู่ประชาชนโดยตรง แต่จะช่วยให้เรามีงบไปจัดสรรจัดการทรัพยากรส่วนอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น การผลักดันยกเลิกเรื่อง มาตรา 112 จะเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรึเปล่า ก็คิดว่าพูดแบบนั้นคงไม่ได้ แต่ในบั้นปลายจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม