สองปีที่แล้ว เจเจตามหาหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพราะต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยช่วงสำคัญ นั่นคือตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา เขาอยากรู้ว่าโครงข่ายอำนาจของชนชั้นนำ มีบทบาทต่อการเมืองการปกครองของไทยอย่างไร นักศึกษารัฐศาสตร์วัย 24 อย่างเขามีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือ ภายหลังจากอ่านรีวิวหนังสือเล่มนี้ทางเฟซบุ๊กของมิตรสหายบางท่าน เขาจึงหาหนังสือมาอ่านและพบชุดคำตอบทางประวัติศาสตร์ที่ต้องการ
“ตอนที่เป็นนิสิตผมไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่หลังจากอ่านเล่มนี้แล้ว ผมชอบอ่านหนังสือมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ผมคิดถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตว่ามันต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างมันยังไง เหมือนประโยคหนึ่งของนักปรัชญาชาวสโลวีเนียที่ผมชอบมาก ‘The future will be Utopian or there will be none’ คืออนาคตจะเป็นของพวกยูโธเปียน หรือไม่ก็คือไม่มีอนาคตเลย”
ต่ำสุดต้องมีเสรีภาพ เราผิดตรงไหนก็แย้งมา
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันบอกว่า จุดยืนของสำนักพิมพ์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์วารสารฟ้าเดียวกันราว ๆ ปี 2546 เขาเปิดพื้นที่ของความรู้ด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม กลุ่มคนอ่านที่ติดตามงานของสำนักนี้จึงเป็นสายแข็ง ที่สนใจความรู้ที่วิเคราะห์วิพากษ์ในเชิงโครงสร้างอย่างไม่อ้อมค้อม หนังสือหลายเล่มของฟ้าเดียวกันจึงถูกจับตาจากผู้ปกครองมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างเช่น “สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย” ที่วางแผงในปี 2548 และในขวบปีถัดมาถูกสั่งห้ามขายรวมทั้งถูกยึดยกแผง โดยอาศัยอำนาจของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ภายหลังจากนั้นธนาพลต้องรับมือกับการตรวจยึดหนังสือมาโดยตลอด รวมทั้ง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” หนังสือที่เจเจเพิ่งจะอ่านจบไป ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นที่สำนักพิมพ์เมื่อปลายปี 2563 ด้วยเหตุผลว่าเป็นหนังสือที่อาจส่งผลกระทบและเป็นภัยต่อความมั่นคง
ล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและผู้เกี่ยวข้องในการผลิตหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ” และ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” ถูกฟ้องร้องในฐานความผิดละเมิด ด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง โดยศาลจะนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 หากคำตัดสินออกมาว่าผิดตามคำฟ้องร้อง จะทำให้หนังสือทั้งสองเล่มมีสถานะเป็นหนังสือต้องห้ามไปทันที (ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊คสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 11 พฤศจิกายน 2564)
ธนาพลยืนยันว่าแนวทางของฟ้าเดียวกันยังคงเหมือนเดิม ความคาดหวังของบรรณาธิการอย่างเขาเป็นความคาดหวังที่เรียบง่าย โดยบอกว่าในทางธุรกิจย่อมต้องการให้สำนักพิมพ์ยังไปต่อได้ ต้องการทำงานผลิตหนังสือให้เป็นอาชีพที่มั่นคงทั้งกับตนเองและเพื่อนร่วมงาน ส่วนในแง่แนวทางของหนังสือ เขาไม่ได้คิดว่าหนังสือของฟ้าเดียวกันต้องเป็นสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมหรือถูกต้องเสมอไป แต่ต่ำสุดที่เป็นความคาดหวังของเขาคือการยืนยันในหลักการเรื่องเสรีภาพ
“มันอาจจะผิดก็ได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องมีเสรีภาพในการคิด การเขียน การอ่าน”
ด้วยหลักการนี้เขาพบว่าหนังสือที่เป็นบทวิเคราะห์บางเล่ม เช่น “รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นเล่มที่พิมพ์มาจะครบ 15 ปีแล้ว แต่นักอ่านยังคงเวียนกันมาเสาะหา เมื่อถามว่าเขาคิดอย่างไรกับการที่หนังสือของฟ้าเดียวกัน ถูกเพ่งเล็งและตรวจยึดครั้งแล้วครั้งเล่า ธนาพลวิเคราะห์ว่า
“เพราะหนังสือเป็นอะไรที่จับต้องได้ ยิ่งถ้ามันมีส่วนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีคนเดินถือหนังสือเหล่านั้นในม็อบ มันอาจดูอันตรายกว่าปกติ ผมคิดว่าโดยตัวของหนังสือที่เป็นสื่อเก่า เป็นอะไรที่มีกฎหมายการพิมพ์ที่เอามาใช้ง่าย ๆ ควบคุมอยู่ นอกจากนั้นด้วยความเป็นวัตถุที่จับต้องได้ และอยู่บนพื้นที่สาธารณะบนแผงหนังสือ คนอาจรู้สึกว่ามันขวางหูขวางตาก็ได้
“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองกลัวที่สุด คือถ้ากุมความคิดได้ก็กุมความเคลื่อนไหวได้ แล้วถ้าคุมความคิดได้ย่อมคุมคนได้ นี่คือสิ่งที่ตอบคำถามว่าทำไมเขาต้องคุมหนังสือ เดี๋ยวนี้มันอาจจะเป็นออนไลน์ ถ้าเราเห็นตัวเลขของคนที่โดนคดี หลัก ๆ มาจากออนไลน์มากกว่ามาจากหนังสือเยอะ แต่จริง ๆ มันคือเรื่องของความคิด ต่อให้ปิดอินเตอร์เน็ต มันก็จะมีตัวอื่นอีก”
และบังเอิญว่าความขวางหูขวางตาที่ว่าดูเหมือนจะยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อคนอ่านหน้าใหม่ ๆ ของฟ้าเดียวกันเริ่มมีอายุลดน้อยลง และเป็นกลุ่มคนที่สนใจสถานการณ์ความเป็นไปของการเมืองไทย แม้ว่าบรรณาธิการฟ้าเดียวกันจะไม่ได้รู้จักกับผู้อ่านของเขาเป็นการส่วนตัว แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เขาสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของคนอ่านกลุ่มใหญ่ที่เป็นหนุ่มสาววัยรุ่น พวกเขาเสาะหาหนังสือของฟ้าเดียวกันเพื่อการอ่าน และทำความเข้าใจสังคมอย่างจริงจัง
“คนอ่านอายุน้อยลง ยี่สิบต้นหรือสิบปลายที่ยังเป็นเด็กมัธยม สังเกตได้จากคนอ่านในงานสัปดาห์หนังสือ นอกจากคนอ่านจะอายุน้อยลงในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วยังมีจำนวนเยอะขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
แทบจะเป็นระดับปรากฏการณ์ ที่หนังสือของฟ้าเดียวกันทั้งประวัติศาสตร์การเมือง หนังสือปรัชญา และหนังสือที่เป็นทฤษฎีเชิงวิพากษ์ของนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ได้กลายเป็นที่สนใจของนักอ่านหนุ่มสาวจนเป็นกระแสหลัก
ในปีที่ผ่านมา ธนาพลยอมรับว่าหนังสือขายดีขึ้นทั้งหนังสือที่ตีพิมพ์มาหลายปีและหนังสือใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา แต่เขาออกตัวว่าไม่ใช่ว่าพิมพ์อะไรออกมาจะขายได้ทุกเล่ม แต่เป็นในลักษณะที่สำนักพิมพ์เปิดพื้นที่ให้องค์ความรู้และมีการผลิตงานที่เพิ่มขึ้น หมายรวมทั้งงานเขียนใหม่และงานแปล จึงทำให้คนอ่านมีตัวเลือกที่มากขึ้น ปัจจัยที่สองนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนให้ความสนใจเรื่องสังคมการเมืองเพิ่มขึ้น และหนังสือของฟ้าเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกเขาสนใจ สมมติฐานของเขาไม่น่าจะเกินจริง เพราะเป็นเหตุผลเดียวกับที่เจเจเริ่มต้นแสวงหาหนังสือของฟ้าเดียวกันมาอ่าน
“สถานการณ์บ้านเมืองมันมีช่องโหว่เยอะมาก ทำไมจารีตที่เคยยึดถือกันมามันไม่เปลี่ยนเลย แล้วมันไม่สมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าจะมีคนพยายามอธิบาย แต่เป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในสมัยก่อนไม่ใช่สมัยนี้ แล้วที่สังเกตจากเพื่อน ๆ คือทุกคนรู้สึกว่าปัญหามันผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มมาสนใจหนังสือฟ้าเดียวกันแล้ว เลยทำให้เริ่มตั้งคำถามกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นวะ แล้วก่อนหน้านี้มันเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยเริ่มต้นหาหนังสืออ่านกัน” เจเจกล่าว
จินตนาการใหม่ของ “ความเป็นไทย”
ในมุมมองของนักอ่านรุ่นกลางวัย 29 อย่างข้าวโพด นักศึกษาปริญญาโทด้านมานุษยวิทยา เธอมีความเห็นว่าฟ้าเดียวกันเป็นเหมือนหอสมุดภาคประชาชน จากประสบการณ์ในการอ่าน “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” รวมทั้งวรรณกรรมหรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่เป็นงานแปล เธอเห็นว่าเนื้อหาของฟ้าเดียวกัน เป็นงานที่มีสำนึกทางการเมืองที่เหมาะกับบริบทสังคมไทย
“หนังสือของฟ้าเดียวกันเป็นเหมือน archive ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน อย่างเรื่องเชิงประวัติศาสตร์และทฤษฎีเชิงวิพากษ์ของอาจารย์ชาวไทย ซึ่งส่วนมากเป็นฝ่ายซ้าย เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียนมักจะเขียนโดยฝ่ายขวา ซึ่งบางเรื่องเรามองว่าไม่สมเหตุสมผล แต่ฟ้าเดียวกันรวบรวมประวัติศาสตร์ของภาคประชาชน ทำให้สามัญสำนึกต่อประวัติศาสตร์ เป็นไทม์ไลน์ที่แตกต่างจากไทม์ไลน์ที่รัฐยื่นให้ในห้องเรียน”
สำหรับคนที่คุ้นชินกับตำราภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยอย่างข้าวโพด เธอคิดว่าการมีอยู่ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองบริบทปัจจุบัน เธอมองว่าหนังสือวิชาการภาษาไทยที่เสนอการตีความในสังคมไทย หรือประวัติศาสตร์ไทยแบบทางเลือก ฟ้าเดียวกันมีความชัดเจนในการสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา
“คิดว่าเป็นเรื่องปกติมากในงานการผลิตความรู้ มันก็ขึ้นอยู่กับ narrative ขึ้นอยู่กับการตีความและสร้างความรู้ชุดหนึ่งขึ้นมา ไม่คิดว่าเป็นเรื่องอันตรายอะไร เพราะสังคมควรเปิดพื้นที่ให้เกิดการตีความชุดความรู้หลาย ๆ แบบ ผู้อ่านควรจะเป็นผู้วิเคราะห์และตกตะกอนเอาเอง เลยอยากให้มีสำนักพิมพ์อีกหลาย ๆ แห่งที่เป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่ฟ้าเดียวกัน ซึ่งคิดว่าถ้าไม่มี 112 แล้ว เราอาจจะได้เห็นการตีความหลายรูปแบบมากกว่านี้”
เมื่อสะท้อนกลับมายังสิ่งที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันต้องเผชิญ ในแง่ของการปิดกั้นเสรีภาพในการสร้างพื้นที่ความรู้ ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่เปิดในการถกเถียงทางความคิดกันได้ ธนาพลอธิบายว่าสังคมไทยในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบรัฐประหาร และเกินครึ่งกว่านั้นก็เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจรัฐประหารอีก เขามองว่าภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้การปิดกั้นเสรีภาพย่อมเกิดขึ้นได้ และยิ่งประชาชนตั้งคำถามต่อเรื่องนี้มากขึ้นเท่าใด ผู้ปกครองยิ่งต้องใช้ความรุนแรงมากขึ้น การยึดหรือแบนหนังสือนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการคุกคามเสรีภาพที่เกิดขึ้น
“ทำไมถึงแบนหนังสือ คือหนังสือมันก็น่าแบน ถ้ามองจากชนชั้นปกครองหนังสือมันคือจักรวาล เวลาที่อ่านหนังสือเล่มหนึ่งมันอาจจะเปลี่ยนชีวิตเราได้จริง ๆ การพิสูจน์ด้วยหลักฐาน การวิพากษ์ หนังสือเล่มหนึ่งมันมีพลังตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ รอให้วันหนึ่งคนจะหยิบมาอ่านมากขึ้น ซึ่งวันนั้นมันคือวันนี้”
หนิง นักเขียนฟรีแลนซ์วัย 31 ปี ให้ความเห็นกับการปิดกั้นเสรีภาพที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเผชิญมาตลอด เธอรู้จักงานเขียนของสำนักพิมพ์นี้มาตั้งแต่ช่วงเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ โดยจุดเริ่มต้นที่อาจเรียกได้ว่าเข้าข่าย “เบิกเนตร” ของเธอ มาจากบางประโยคในวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น โดยอาจารย์ได้ให้ข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้เขียน
“รู้สึกว่าประโยคนี้รุนแรงสำหรับเรานะ จากคนที่เคยคิดว่าประวัติศาสตร์คือประวัติศาสตร์ มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พอฟังเรื่องนี้เรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์มันขยับได้ หลังจากนั้นเรามองประวัติศาสตร์ที่ตัวหลักฐาน ความคิดเราเปิดเพราะประโยคนั้น สำหรับคนอ่านฟ้าเดียวกันรุ่นใหม่ ๆ ก็เหมือนกัน เชื่อว่าถ้าเป็นความคิดแล้วมันจะไม่วูบวาบ เพราะหนังสือของฟ้าเดียวกันมันเปลี่ยนมุมในการมองโลก มันคือความคิด เขาน่าจะไม่กลับไปมองโลกแบบเดิมแล้ว”
ธนาพลยังคงทำงานของเขาต่อไป เขาไม่ได้รู้จักกับนักอ่านของเขาเป็นการส่วนตัว ไม่รู้ว่าเจเจกำลังอ่าน “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ” ไม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับข้าวโพด เกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ทางความรู้ที่เป็นห้องสมุดภาคประชาชน เพื่อเปิดจินตนาการใหม่เกี่ยวกับความเป็นไทย และไม่เคยรู้ว่าความคิดของหนิงได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีหนังสือของฟ้าเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในการมอบความกล้าทางความคิดให้กับเธอ เมื่อถามเขาว่ารู้สึกคับแค้นบ้างหรือไม่ กับการคุกคามเสรีภาพในการผลิตงานครั้งแล้วครั้งเล่า เขาแค่ตอบด้วยน้ำเสียงมั่นคงว่า
“ไม่รู้สึกคับแค้น เฉย ๆ เป็นปกติอยู่แล้วของคนที่มีอำนาจในการทำเรื่องแบบนี้ คือคนละเรื่องกับการเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ แต่การที่สังคมอำนาจนิยมมีการห้ามหรือคุมการผลิตหนังสือ อาจจะเป็นการคอนเฟิร์มว่าเรามาถูกทางแล้วด้วยซ้ำ”