ใครว่าโควิด-19 กระทบชีวิตของมนุษย์เพียงอย่างเดียวขอบอกเลยว่า ผิดทั้งเพ
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากกว่า 2 ปี นอกจากจะกระทบชีวิตมนุษย์แล้วยังส่งผลให้ปัญหาเรื้อรังอย่างปัญหา สัตว์จรจัด กลับมาเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง เราได้เห็นข่าวการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงสลับกับประกาศขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือสัตว์จรในช่วงเวลาวิกฤตไม่เว้นวัน เพราะความจริงที่น่าเศร้าคือจำนวนของสัตว์ไร้บ้านที่เพิ่มขึ้น ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการช่วยเหลือที่มีแต่จะน้อยลงทุกวัน
De/code ชวนคุยกับ ผศ.สพ.ญ.ดร.จุฑามาส เบ็ญจนิรัตน์ (อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม), นายอนันต์ สุนทรา (ประธานชมรม), นายชัยวัฒน์ เซี่ยงฉิน และนางสาวปิยาภรณ์ เพียรธรรม จากกลุ่มนิสิตสัตวแพทย์จุฬาฯ เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อชวนผู้อ่านทุกท่านมองวิกฤตการณ์สัตว์ไร้บ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไขรหัสวิธีการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวจากความร่วมมือของทุกฝ่าย
ตอนนี้กลุ่มกำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง
อนันต์: เราเป็นกลุ่มจิตอาสาที่ดูแลหมาแมว โดยเริ่มจากพื้นที่ในมหาวิทยาลัยก่อนแล้วจึงขยายบริเวณไปรอบ ๆ เราช่วยทำวัคซีน ทำหมัน แล้วก็ดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างการถ่ายพยาธิ ให้ยาป้องกันเห็บหมัด แล้วทำการปล่อยคืน
อ.จุฑามาส: บางคนถามว่าทำหมันแล้วเอากลับไปคืนที่เดิมทำไม ก็คือมันมีหลักการของต่างประเทศเวลาจัดการจำนวนสุนัขและแมวจร เขาจะใช้วิธีการ Trap-Neuter-Release (TNR) หรือการจับ – ดูแล – ปล่อยคืน เนื่องจากว่าถ้าเราเอาสัตว์จรโดยเฉพาะแมวออกจากพื้นที่ชุมชนตรงนั้น ตามธรรมชาติแล้วมันจะมีแมวตัวใหม่เข้ามาแทนที่และกลายเป็นวงจรภาระที่ไม่มีวันจบ แต่ถ้าเรานำแมวที่ทำหมันแล้วไปปล่อยคืน เขาจะเป็นเจ้าถิ่นที่คอยกันไม่ให้แมวตัวอื่นเข้ามาและเมื่อเขาทำหมันแล้ว แมวตรงนั้นจะไม่มีปริมาณเพิ่มขึ้น
ทำไมปัญหาสัตว์ไร้บ้านไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นวาระแห่งชาติ
อ.จุฑามาส: เพราะในมุมมองของคน มันยังมีโรคติดต่อระหว่างคนกับสัตว์อยู่อย่างโรคพิษสุนัขบ้าเพราะฉะนั้นการที่มีสัตว์จรจึงเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสะอาดซึ่งไม่เป็นที่พึงประสงค์ของคนในชุมชนสักเท่าไร ซึ่งพอเขาไม่ชอบขึ้นมาก็อาจมีการทำร้าย มีการทะเลาะ มีความรำคาญกันเกิดขึ้น และมันก็จะกลับมาที่ตัวสัตว์อีก ในส่วนที่มีคนที่ดูแลก็ดูแลไป เราคงจะเคยเห็นคุณป้าใจดีที่คอยดูแลหมาแมวจรจัดกันอยู่บ้าง แต่เขาก็อาจจะไม่ไหวในสักจุดหนึ่งได้เหมือนกัน
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีวิธีการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดกันอย่างไรบ้าง
อ.จุฑามาส: จากประสบการณ์ของอาจารย์ อาจารย์ว่ามันดีขึ้นมากในระดับหนึ่งเพราะว่ามีสื่อโซเชียลต่าง ๆ เข้ามา ปัญหาหลายอย่างได้รับการพูดถึง คนมีความตระหนักมากขึ้น ทำให้การช่วยเหลือสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ในอดีตเรื่องหมาแมวแทบจะไม่มีคนแคร์เลยนะ เมื่อก่อนกทม.เขามีวิธีการจับแล้วก็ฆ่า แต่พอคนรู้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เขาเลยเปลี่ยนวิธีเป็นการเอาไปขัง ซึ่งก็เป็นปัญหาอีกแบบเพราะเชลเตอร์ (shelter) ที่เขาสร้างขึ้นมา เขาทำมันได้ไม่ดีพอ มันเลยเหมือนการถูกขังคุกแทน
“มันเป็นการบอกว่า โอเคไม่ให้ฆ่าใช่ไหม ไม่ฆ่าฉันก็เอาไปใส่ไว้ในเชลเตอร์”
ในต่างประเทศก็มีการสร้างเชลเตอร์เช่นเดียวกันแต่เขาจัดการต่อด้วยการหาบ้าน เขาจะมีช่วงเวลาและถ้าไม่ได้บ้านเขาก็จะฉีดยาให้หลับหรือที่เรียกว่าการุณยฆาต
ฝรั่งเขาสนใจด้านสวัสดิภาพสัตว์มากกว่า เขามองว่าถ้าอยู่แล้วมันทรมาน อยู่แล้วเหมือนขังคุกทั้งเป็น หรืออยู่ในกรงแคบ ๆ ตลอดชีวิตเนี่ย ฝรั่งมองว่าสู้ให้หลับไปจะดีกว่า แต่พอเป็นคนไทย พอยต์ตรงนี้มันจะทำไม่ค่อยได้เพราะว่าคนไทยมีความเชื่อในด้านศาสนา การฆ่าสัตว์ไม่ว่าจะแบบไหน คนไทยจะมองว่าเป็นการทำบาป ผิดศีล
อาจารย์สอนสวัสดิภาพสัตว์ให้เด็กสัตวแพทย์ทุกปี อาจารย์จะถามทุกครั้งว่าเด็กมีความกล้าที่จะทำการุณยฆาตไหม อาจารย์รู้สึกว่าเปอร์เซ็นต์เด็กที่จะกล้าทำเพิ่มมากขึ้นนะ ก็อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจหลักการตรงนี้แล้ว
ชัยวัฒน์: แถวบ้านผมตั้งแต่เด็กจนโต นอกจากเรื่องฆ่าแล้วก็ยังมีเรื่องทำหมัน ผมบอกกับที่บ้านว่าอยากเป็นสัตวแพทย์ เขาก็บอกมาว่า “เป็นแล้วอย่าไปทำหมันสัตว์นะ เดี๋ยวชาติหน้าเป็นหมัน” คนแถวบ้านยังมีความเชื่อว่าการเอาหมาแมวไปผ่าตัดทำหมัน หรือวางสลบมีโอกาสรอดน้อย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ไหนจะความเชื่อเรื่องยาคุมที่คิดว่าสามารถลดการขยายพันธุ์ของสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พอเอาเข้าจริงหมาหรือแมวพวกนั้นก็ยังตั้งท้องได้เหมือนเดิม
ปัญหาสัตว์จรในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นอย่างไรบ้าง
อ.จุฑามาส: ส่วนตัวคิดว่าว่ามันแย่จริง ๆ สุนัขที่ถูกทอดทิ้งที่เราเห็นในข่าวก็ค่อนข้างเยอะ มีคนมาช่วยค่อนข้างเยอะ แต่มันก็มีอีกกี่ตัวที่คนไม่รู้อีก มากแค่ไหนเราไม่สามารถทราบได้ บางตัวอาจถูกทิ้งอยู่ในบ้าน หลายตัวกลายเป็นสุนัขหรือแมวจรจัดไปเลยทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนมีบ้านเพราะเจ้าของเสียชีวิต ในขณะที่พวกเชลเตอร์หรือพวกคนที่รับสัตว์จรจัดไปดูแล เขาก็ออกมารับบริจาคกันเยอะกว่าเดิมเพราะตอนนี้เศรษฐกิจก็แย่ จนเขารับภาระเหล่านี้ไม่ไหว
อนันต์: เราไปช่วยคุณป้าคนหนึ่งที่สามย่าน เมื่อก่อนเขาก็ทำอาชีพขายอาหารตอนกลางคืน แล้วนำเงินที่ได้มาเลี้ยงแมว 20 – 30 ตัวที่บ้าน แต่พอสถานการณ์โควิด มันมีล็อกดาวน์ ป้าแกก็ขายของไม่ได้ ชุมชนบริเวณนั้นเป็นชุมชนแออัด คนในชุมชนก็ติดรวมถึงป้าด้วย มีช่วงหนึ่งที่แกต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนาม 14 วันก็ไม่มีคนให้อาหารแมว ล่าสุดป้าก็โทรมาบอกว่าลูกไม่ให้อยู่กรุงเทพแล้ว ให้กลับไปอยู่บ้านเพราะอยู่ที่นี่ก็ขายของไม่ได้ ถึงอยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ป้าเป็นโควิดแล้วเชื้อลงปอดทำให้แกไม่แข็งแรงเหมือนเดิมด้วย แกก็เลยติดต่อทางเรามาว่า พอจะช่วยป้าได้ไหม เพราะว่าถ้าแกไปแล้วไม่มีคนมารับไปต่อ แมวก็คงจะต้องตาย
อ.จุฑามาส: แมวเขามีโอกาสโดนทำร้าย โดนกำจัดเพราะว่าแมวจรเวลามันอยู่ด้วยกันเยอะ ๆ มันสร้างความสกปรก บางทีตัวผู้ทะเลาะกันแย่งตัวเมียเสียงดัง คนเขาก็จะรำคาญ ซึ่งถ้าคุณป้ายังอยู่คนเขาก็จะเกรงใจคุณป้า เราก็เลยบอกคุณป้าว่า เราคงไม่สามารถช่วยเหลือทุกตัวได้เพราะบางตัวดุมาก ๆ การช่วยเหลือก็ต้องใช้ทั้งเงินและพื้นที่ที่เพียงพอ สุดท้ายเราช่วยมาได้แค่ 9 ตัว ซึ่งมันเป็นความเศร้าอย่างหนึ่งของการทำงานตรงนี้
การแบกรับของผู้ช่วยเหลือ หนักหนาแต่ไม่ตรงจุด
หากถามว่าปัญหาสุนัขหรือแมวจรจัดเกิดมาจากอะไร หลายคนอาจตอบว่าเพราะขาดการทำหมัน แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียทีเดียวเพราะการทำหมันในสุนัขหรือแมวจรเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในขณะที่การมีอยู่ของสุนัขหรือแมวจรต่างหากคือหัวใจหลักของปัญหานี้ สัตว์ไร้บ้านล้วนเคยเป็นสัตว์มีบ้านที่ถูกทอดทิ้งแล้วไม่ได้ทำหมัน พอไม่ได้ทำหมันก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเพราะฉะนั้นถ้าจะลดปริมาณสัตว์จรจัด ต้องเริ่มที่การรณรงค์ไม่ให้มีการทอดทิ้งเกิดขึ้นตั้งแต่แรก
อ.จุฑามาสอธิบายให้เราฟังอีกว่า ณ ปัจจุบันได้มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วนั่นคือ “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่น” แต่มันกลับไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็นเพราะในความเป็นจริงไม่มีคนบังคับใช้อย่างจริงจัง
เราจะสามารถแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไรได้บ้าง
อ.จุฑามาส: รัฐควรหันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจังได้แล้ว ถึงเขาจะบอกว่าทำแล้วแต่อาจารย์ว่าเขายังทำน้อยไป รัฐมีแต่เอาไปทำหมันซึ่งมันเป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็จริง แต่ก็ทำได้ไม่ทั่วถึง แถมยังเป็นการแก้ที่ปลายเหตุอีกต่างหาก สิ่งที่รัฐทำได้คือเริ่มที่การปรับปรุงเชลเตอร์ของตัวเองให้ดีขึ้นและต่อด้วยการสร้างแคมเปญรณรงค์ไม่ทิ้งสัตว์หรือแคมเปญ #Adoptdontshop
อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐทำได้แต่ไม่ทำสักทีคือระบบขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว ที่พอรัฐบอกจะทำและจะคิดเงินแล้วคนก็โวยวาย รัฐบาลเองก็สติแตก ทั้ง ๆ ที่ความจริงคุณควรจะมีงบ ควรจะรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียน “ใครมาลงก่อน 2 ล้านคนฟรี” อะไรก็ว่าไป เพราะในต่างประเทศที่มีการนำระบบขึ้นทะเบียนมาใช้อย่างจริงจัง ประชาชนก็จะคิดก่อนที่จะนำสัตว์มาเลี้ยงซึ่งจะเป็นการกรองไม่ให้เกิดสุนัขจรหรือแมวจรเพราะถูกทิ้งตั้งแต่แรกได้
ในส่วนของประชาชนเราอาจจะเคยเห็นต่างชาติเปลี่ยนจากคำว่าสุนัขจรหรือแมวจรเป็นสุนัข – แมวชุมชน (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพี่เตี้ยมช. ทั้งนี้ต้องดูนิสัยของสัตว์แต่ละตัวด้วยว่าสามารถเข้าใกล้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน – อนันต์เสริม) โดยการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่า ‘โอเค สงสาร สามารถให้อาหารได้นะ’ แต่ถ้าเป็นไปได้เราก็ควรจะพาไปทำหมันด้วยซึ่งมันก็อาจจะเป็นสัตว์ไร้บ้านเหมือนเดิมแต่ไม่ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ปิยาภรณ์: มันยังมีบางกรณีที่บอกว่า ‘ป้าให้อาหารนะ แต่นี่ไม่ใช่หมาป้า’ เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นมา มันทำให้เรารู้สึกว่าการที่เราไปให้อาหารเขาตลอด แต่เราไม่ดูแลเขามันก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยากเพราะฉะนั้นการทำให้เขาเป็นสุนัขหรือแมวชุมชนให้คนรู้จัก มันจะตามมาซึ่งความรับผิดชอบและการดูแลจากส่วนรวมแทนการให้อาหารเพราะสงสาร แล้วปล่อยผ่านเมื่อมีปัญหาตามมา
ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาสัตว์ไร้บ้านคือปัญหาของทุกคน
แม้การทำหมันจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่จุดสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้แต่กลับถูกละเลยมาโดยตลอด คือ การตระหนักและความรับผิดชอบต่อสังคมที่คนเลี้ยงสัตว์ทุกคนพึงมี ที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้จากต้นตอ
หากกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่สัตว์จรจัดไม่เป็นวาระแห่งชาติ คือ การร่วมมือกันของทุกฝ่าย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนจะหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมที่ไม่มีสัตว์ตัวใดต้องถูกทอดทิ้งอีกต่อไป