“Real But Not like” ราชบัณฑิตฯ VS วุ้นแปลภาษา - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เสื้อผ้าตัวนี้จึ้งมั้ย พส.”
“สภาพ”
“ทำไมบูกี้เหรอ”
“เปล่า แต่เดี๋ยวนี้หุ่นสับขึ้นนะ แบบใหม่แบบสับ”
“เลิกฉีดยาก่อน พส.”

บทสนทนาสมมติดังกล่าว เต็มไปด้วยศัพท์ใหม่ที่หลายคนอาจคุ้นเคยหรือไม่เคยได้ยิน แต่หากเราไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านั้น แล้วเราจะไปหาจากไหน?

De/code เลยพาทุกคนท่องตำรากับเจ้าของเพจวุ้นแปลภาษา นามสมมุติว่า วุ้น ผู้เปรียบดั่งพจนานุกรมของวัยรุ่นสมัยนี้ นอกจากนี้เราจะยังได้ไปท่องตำรากับ รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ราชบัณฑิตประจำสำนักศิลปกรรม สาขาภาษาไทย ผู้เปรียบดั่งพจนานุกรมต้นแบบของภาษาไทย

การตีพิมพ์ของพจนานุกรมเล่มใหม่

“ชอบอ่านหนังสือ แล้วตอนเด็ก ๆ มีโอกาสได้อ่านหนังสืออยู่บ่อย ๆ แล้วพอเปิดพจนานุกรมดู เรารู้สึกว่าบางคำ มันไม่ตรงกับที่ใจคิด ก็เลยคิดไว้ในใจแล้วก็ไม่ได้ทำ เพราะยุคนั่นมันมีแต่เว็บไซน์เราทำไม่เป็น จนมี Facebook ก็เลยทำเพจขึ้นมา”

วุ้น (นามสมมุติของเจ้าของเพจวุ้นแปลภาษา) เขาได้เริ่มทำเพจจากเหตุการณ์ข้างต้น ความทรงจำเล็ก ๆ ในวัยเด็ก กลับเป็นไวรัลในตอนนี้

และอย่างที่วุ้นแปลภาษาได้พูดไปว่า มีบางคำที่ไม่ตรงกับที่ใจคิด คำบางคำในพจนานุกรมอาจมีความยาวมากเกินไป เลยทำให้ปัจจุบันมีการย่อคำให้น้อยลง แต่ความหมายยังเหมือนเดิม เช่น สู่สุคติ สู่ขิต ขิต นอกจากคำเหล่านี้ก็ยังมีคำอื่น ๆ อีกมากมาย จะเห็นได้ว่าสังคมในปัจจุบันมักจะย่อคำให้น้อยลง เพราะการใช้คำที่มันยาว อาจทำให้เราเสียเวลามากกว่า หลายคนเลยนิยมใช้คำย่อแทน เพื่อเป็นการประหยัดเวลา

หลังจากเราได้ถามถึงการเกิดของพจนานุกรมเล่มใหม่ ในโลกออนไลน์ของวุ้นแล้ว เราจึงได้ถามดร.นิตยา เกี่ยวกับความคิดเห็นการเกิดขึ้นของคำใหม่ ๆ

“ก็ได้ เพราะว่าเป็นการสื่อสาร เพียงแต่ว่าบางคำ ทางราชบัณฑิตบัญญัติไปแล้ว แต่ถ้าคนไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร ที่จริงเราเปิดกว้าง แต่คนนึกว่าเราบังคับ” ดร.นิตยา กล่าว

อาจารย์ยังได้ยกตัวอย่างคำศัพท์บางคำที่อาจเคยมี แต่คนไม่ใช้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไป เช่นคำว่า วัฒนธรรม ในความจริงแล้ว กว่าจะมาเป็นคำว่า วัฒนธรรม แต่ก่อนเป็นคำว่า พฤทธิธรรม แต่ความที่คนไม่นิยมใช้เลยมีการปรับเปลี่ยนเป็น วัฒนธรรมอย่างที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน

อดีต ปัจจุบัน และภาษาที่เปลี่ยนไป

ภาษาในอดีตกับปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกัน ภาษามักวนเวียนรอบตัวเราทุกวัน มันเปลี่ยนแปลงไปแทบตลอดเวลา แล้วเหตุใดภาษาจึงเปลี่ยนไป วุ้นเจ้าของเพจวุ้นแปลภาษา บอกเราว่า

“อดีตกับปัจจุบันภาษา ก็เปลี่ยนไปพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ตามสถานการณ์ ตามสังคม” วุ้นยกตัวอย่างคำที่เปลี่ยนไป “อย่างคำว่า ยิ้ม สมัยก่อน ก็แค่ยิ้ม แต่ทุกวันนี้คำว่ายิ้ม นี่คือถ้าพูดในความหมาย อีกแบบหนึ่ง มันก็จะแปลเป็นอีกแบบได้ เช่น เธอๆ ไปยิ้มกันมั้ย”

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อาจจะเกิดได้จากการหลีกเลี่ยงในภาษาที่อาจจะไม่สุภาพ เช่น จากการเปลี่ยนการใช้คำว่า เสือกเป็นเผือก ก็จะเห็นได้ว่า คำว่าเผือก จะมีความสุภาพมากกว่า หรืออาจเกิดได้จากเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ในปัจจุบันหลายๆ เพจก็จะมีภาษาเป็นของตัวเอง เช่น เพจVeenที่เรียกว่า ภาษาทิพย์ เกิดจากบุคคลที่ชื่อว่า แม่หญิงลีและทิพย์ ที่พูดกันในตอนไลฟ์สด หลายคนเห็นเลยนำไปใช้บ้าง จนแพร่หลายในที่สุด เช่น คำว่าสภาพที่หลายคนรู้จัก ตัวอย่างเช่น สภาพน้องเอาอะไรมาไม่สวย เป็นต้น หลังจากนั้นบริบทในการใช้ก็เพิ่มขึ้น เป็นการใช้เวลาไม่เห็นด้วยหรือต่อท้ายเพื่อเพิ่มความขำขัน ตัวอย่างเช่น ไม่ธรรมะยังไง สภาพ

ไม่ได้หายไปไหน เปลี่ยนไปตามสังคม

อย่างที่ทุกคนรู้ เมื่อภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วภาษาแบบเดิมนั้นก็จะค่อย ๆ หายไปในที่สุด อาจเหลือเพียงเค้าโครงไว้ แต่รูปแบบตัวเต็มนั้นอาจจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว

“มันหายไปตลอด เหมือนทุก ๆ อย่างในโลก มันก็เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา มันไม่ได้หายไปไหน แต่ว่ามันจะเปลี่ยนไปตามสังคมมากกว่า” วุ้นแปลภาษา กล่าว

ภาษาไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ก็มักเปลี่ยนไปอยู่เสมอๆ ไม่ได้เปลี่ยนโดยตัวภาษา แต่มักเปลี่ยนจากผู้คน สังคม หรือสถานการณ์ในตอนนั้นตามที่วุ้นได้กล่าวไว้

หลังจากที่เราได้มุมมองความเห็น ของวุ้นแปลภาษาไปแล้ว เราจึงถามในมุมของคนที่ถือว่า เป็นคนกำหนดเค้าโครงภาษา ดร.นิตยาได้บอกกับเราว่า

“เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าภาษาเพื่อการสื่อสาร มันก็เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่โบราณ อาจารย์พึ่งจะทำงานวิจัยเสร็จไป เรื่อง Future Thailand พูดถึงเรื่องภาษาไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราคำนึงถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยโบราณ ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นปรากฏการณ์ปกติ อย่างเมื่อก่อนเราไล่ตั้งแต่โบราณ ก่อนที่จะมีคนไทย เราก็มีภาษาขอมโบราณ มอญโบราณ บาลีสันสกฤต มันก็มีภาษาพวกนี้เข้ามาปนกับภาษาไทย จนกระทั่ง คนไทยปัจจุบันดูไม่ออกเพราะว่าเป็นไทยไปแล้ว”

บทบาทของราชบัณฑิตกับการเปลี่ยนแปลงของภาษาในปัจจุบัน

หลังจากนั้นเราได้ถามถึงความแตกต่างของเพจวุ้นแปลภาษากับราชบัณฑิต ด้วยความที่ถือว่าเป็นพจนานุกรมทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นของคนยุคใหม่หรือคนทุกยุค

“ราชบัณฑิตเขาจริงจัง ราชบัณฑิตเป็นการแปลความหมายตรงๆ แต่ว่าของวุ้นแปลภาษาเป็นการแปลความรู้สึก คนเรารู้สึกอย่างไรกับคำนั้น แล้วก็มีอะไรที่มันนอกเหนือจากที่ราชบัณฑิตไม่ได้แปล ก็เดี๋ยวเราแปลให้” – วุ้นแปลภาษากล่าว

เราจึงได้ย้อนกลับไปถามดร.นิตยา เกี่ยวกับบริบทของราชบัณฑิต ว่าการมีอยู่ของราชบัณฑิตในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนไป จากทั้งกระแสสังคม และบริบทในโลกยุคออนไลน์ที่เข้ามาหรือไม่?

“เราไม่ได้แปล เราเรียกว่ามีศัพท์บัญญัติกับทับศัพท์ พระองค์วรรณท่านก็บอกไว้ว่า เผื่อมันมีคำจากต่างประเทศเข้ามา มีหลักอยู่สามอย่าง”

โดยหลักทั้งสามอย่างดร.นิตยา ได้บอกกับเราว่า

หลักที่1 พยายามหาคำไทยก่อน ถ้าคุณสามารถใช้ภาษาไทยแล้วคุณสื่อได้โดยตรงจะดีที่สุด

หลักที่2  ถ้าเกิดหาภาษาไทยยังไม่เหมาะใช้ไม่ได้ ก็ลองบาลีสันสกฤต ที่คนทั่วไปรู้จัก

หลักที่3  แต่ถ้าไม่ได้เลยจริงๆ ก็ใช้คำทับศัพท์แทน เอาคำอ่านภาษานั้น แต่ใช้ภาษาไทยเขียน อย่างเช่น นิวยอร์ก นี้คือทับศัพท์ แต่ถ้าเป็นอย่างคอมพิวเตอร์ สมัยนี้เขาทับศัพท์กันทั้งนั้นเพราะมันสื่อแล้ว ถ้าสมัยก่อนมันอาจจะไม่สื่อ ไม่รู้เรื่อง

นอกจากนี้ดร.นิตยา ยังได้แนะนำแอปของราชบัณฑิตที่ทั้งตัวเราและหลายคนอาจยังไม่รู้

“เข้าไปโหลดแอปพลิเคชัน แล้วก็เข้าไปที่ราชบัณฑิตยสภา เรามีอยู่4อัน 1.พจนานุกรมฉบับล่าสุด 2.อ่านอย่างไรเขียนอย่างไร 3.ภาษาอาเซียน 4.ชื่อบ้านนามเมือง เช่น ชื่อเมืองต่างจังหวัด เราอ่านไม่ออกใช่มั้ย เราเขียนเป็นอักษรโรมันไว้ ถอดไว้ให้เสร็จเลยว่า จะออกเสียงยังไง”

Not All Of ราชบัณฑิตยสภา

ทุกคนคงมีภาพจำต่อราชบัณฑิตที่อาจจะดูว่า จริงจัง มีความเคร่งเครียด หรือดูบังคับกับการใช้ภาษาที่ผิดแปลก ด้วยความสงสัยเหล่านี้ เราจึงได้ถาม ดร.นิตยา เธอได้ตอบด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า

“ที่ราชบัณฑิตสภามีราชบัณฑิตอยู่ร้อยกว่าคน แต่ละคนก็จะมีความเห็นต่าง ๆ กัน คุณจะพูดว่าเป็นความเห็นของราชบัณฑิตยสภาไม่ได้ ในตอนนี้ที่อาจารย์พูดก็เป็นของนิตยา”

 ดร.นิตยา ยังได้เล่าสิ่งที่อาจเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มองราชบัณฑิตในแบบเดิมว่า

“มีราชบัณฑิต 3 คน มี อาจารย์กาญจนา อาจารย์นววรรณ แล้วก็ตัวอาจารย์ เพราะงั้นความเห็นของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การวิจัยของเราต่างกัน ความสนใจของเราต่างกัน ข้อมูลของเราก็ต่างกันด้วย แต่มันดีตรงที่ว่ามันทำให้เรา มองเห็นภาพรวม ว่าที่เราพูดอย่างนี้มีคนไม่เห็นด้วย แล้วเราทำยังไงก็ต้องคุยกัน ทำให้เรามองเห็นภาพกว้างขึ้น เพราะตอนนี้คนก็ไปนึกถึงราชบัณฑิตที่อาจจะรู้จักบางท่าน ที่ท่านให้ความคิด แต่คนอื่นเขาไม่ได้ออกไปให้ความเห็น แต่คุณก็เลยไปตีความว่า ใครจะออกความเห็นมากๆ คุณเป็นของราชบัณฑิตยสภา มีตั้งร้อยกว่าคน ร้อยความเห็น”

ช่องว่างต่างวัยของภาษาที่แปรเปลี่ยน

ดร.นิตยา ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องเจเนอเรชั่นต่อภาษา เพราะในตอนนี้กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอได้บอกกับเราว่า

“เราคำนึงถึงเจเนอชันต่าง ๆ มาก เพราะว่าเจเนอเรชันเป็นเรื่องที่ต้องพูดกัน จากระบบสถิติทางการทะเบียนจากกรมการปกครอง เขาบอกมาเลยว่า Gen T กับ Gen B ซึ่งกำลังมีอำนาจอยู่ในขณะนี้ มีจำนวนรวมกัน 14,600,000 คน พวกนี้กำลังเป็นพวกที่มีอิทธิพลอยู่ ในขณะนี้ Gen X มีอยู่ 16 ล้านคน Gen Y มี 18 ล้านคน Gen Z มี 15 ล้านคน”

อีก 20 ปีจะเกิดอะไรขึ้น?

“พวกGen T เขาจะมีอายุ 95ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่เสียชีวิตแล้ว ถ้ายังมีชีวิตอยู่ร่างกายจะอ่อนแอลง แล้วก็มีส่วนน้อยที่ยังเป็นผู้นำทางความคิดของคน Gen B มีอายุ 76 ถึง 94 อันนี้บอกได้เลยว่า ส่วนหนึ่งเสียชีวิตแล้ว ที่มีชีวิตอยู่ร่างกายก็อ่อนแอลง แต่ว่ายังมีส่วนหนึ่งที่ยังเป็นผู้นำทางความคิด Gen X อายุ 60 ถึง 75 ปี เขาจะเป็นผู้นำทางความคิดเช่นกัน แบบGen B ในปัจจุบัน ทีนี้พวก Gen Y อายุ 40 ถึง 59 เขาก็จะเป็นผู้นำทางความคิดที่ Gen X เป็นอยู่ ส่วน Gen Z จะมีอายุต่ำกว่า 40 พวกหนูเนี่ยอีก 20ปี จะอายุประมาณเนี่ยแหละ 40 เป็นพลังของสังคมเช่นเดียวกับที่ Gen Y เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นอีก 20 ปีข้างหน้า หลักเกณฑ์ของภาษา ลักษณะของภาษา ก็เป็นของพวกหนู คำที่เคยใช้อยู่คำนี้ ถ้าไปเปิดพจนานุกรมมันจะมีวงเล็บข้างหลัง มันจะมีคำว่า โบ แปลว่า โบราณ จะมีคำว่าเลิก แปลว่า เลิกใช้”

เก็บสิ่งที่ปรากฏ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ดร.นิตยา ได้เล่าย้อนอดีตไปตอนที่ไปดูงานที่สถาบันที่ญี่ปุ่น ได้ไปดูงานแล้วพบว่าการทำงานของที่ญี่ปุ่นกับที่ไทยต่างกัน ในญี่ปุ่นนั้นจะกักเก็บภาษาทั้งหมดไม่ว่าจะถูกหรือผิด แล้วหลังจากนั้นก็จะเก็บไว้ในฐานข้อมูล แล้วเมื่อมีใครต้องการใช้ก็สามารถไปขอที่สถาบันนั้นได้ แต่ในทางกลับกันของราชบัณฑิตก็เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เช่นกัน เพียงแต่ทางราชบัณฑิตไม่ได้นำมาเผยแพร่ หลังจากนั้นดร.นิตยา ยังได้พูดประโยคที่สะท้อนเกี่ยวกับราชบัณฑิตได้ดีว่า

“Real But Not Right”

บางอย่างถึงแม้จะจริง แต่ก็ไม่ถูกสำหรับบางคน ดร.นิตยาได้เล่าถึงตอนที่เคยเขียนสัมภาษณ์ให้สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ดร.นิตยาเขียนว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ แต่สำนักข่าวนั้นกลับเขียนเป็น ‘อินเตอร์เน็ต’ เราจะเห็นความขัดแย้งของทั้งสองคำอยู่ เพราะอินเทอร์เน็ตนั้นอิงมาจากราชบัณฑิต แต่อินเตอร์เน็ตเป็นคำที่เราใช้กันอยู่แล้ว ทำให้สำนักข่าวแห่งนั้นจึงต้องเปลี่ยนคำ หลังจากนั้นเวลาดร.นิตยาใช้คำที่อิงจากราชบัณฑิตที่อาจจะต่างจากคำที่พวกเราใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะวงเล็บว่า (ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิต)

จาก Real But Not Right ที่ดร.นิตยายกตัวอย่าง ผู้เขียนก็คิดว่ายังมี Real But Not Like อีกด้วยเพราะมีหลายคำมากที่ราชบัณฑิตคิดค้นขึ้นมา แต่มีบางคำที่คนไม่ชอบก็ไม่ใช้กัน ดังนั้นแล้วการเป็นความจริงก็ไม่แปลว่าคนจะชอบ แล้วจะนำไปใช้หรือไม่ ก็แล้วแต่ผู้คน สังคม และยุคสมัยเช่น ชื่อของสหรัฐอเมริกาที่ถูกเปลี่ยนไป มีทั้งคำที่คนใช้กันอย่างแพร่หลาย และการเปลี่ยนคำของผู้มีอำนาจ ในการแปลตรงตัวของ The United State of America แปลว่า ประเทศรวมแห่งอเมริกา หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนเป็น สหกรณรัฐอเมริกา แต่พระอุปัชฌาย์จารย์ของพระองค์เห็นว่าไม่เหมาะสม จึงเปลี่ยนเป็น สหกาลีรัฐอเมริกา แต่พระองค์ทรงเห็นว่ายังไม่เหมาะสม จึงพ้องเสียงจากคำว่ากาลีเป็นปาลีแทน ก็เลยเป็น สหปาลีรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งการปฏิวัติใน พ.ศ.2475 หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ได้บัญญัติคำใหม่มาแทน คือ สหรัฐอเมริกา ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่า แม้บางคำที่ผู้คนใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็ไม่ได้แปลว่า มันจะไม่เปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายมันก็เปลี่ยนไปอยู่ดี เพราะผู้มีอำนาจ สังคม และยุคสมัยในตอนนั้น

สุดท้ายแล้วแม้ภาษาจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด เราก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะภาษาที่เราใช้ปัจจุบันก็เปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมเป็นปกติอยู่แล้ว ภาษาล้วนมีวันสูญหายไป ขึ้นอยู่กับว่าสังคมหรือเหตุการณ์ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น และสิ่งที่สำคัญกว่าการสูญหายของภาษาเดิม คือการที่เราจะนำคำเหล่านั้นไปใช้อย่างไร ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ที่พบเจอ

อ้างอิงข้อมูลจาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_61721