เรื่องราวภาคต่อ บทบันทึกของ พันธ์สิริ วินิจจะกูล อดีตนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่เขียนบันทึกเรื่องราวของตัวเอง ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519
อ่านบทบันทึกภาคแรก “บันทึกจาก นร.เตรียมอุดมฯ 3 ปีทองของฝ่ายซ้าย หลัง 14 ตุลา”
ได้ที่: https://decode.plus/20210919/
Chapter 5 เรื่องเล่าของเหล่ากบฏ
บทบรรยาย
การก่อกบฏ ดูจะเป็นข้อกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์ต้องอาญาแผ่นดิน แต่ดูเหมือนว่าในยุคนั้น มีกบฏเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ไม่เว้นแต่ละวัน อายุอานามของเหล่ากบฏ เฉลี่ยแล้วไม่เกินเบญจเพส ให้สงสัยเป็นยิ่งนัก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง มิอาจทำใจฝากอนาคต ไว้กับกบฏเด็กเหล่านี้ได้
ผู้ใหญ่จำนวนมาก หลงลืมความรู้สึกสนใจใคร่รู้ ตามสัญชาตญาณเด็ก แต่กลับทำให้พื้นที่ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ตีบแคบลง อาจเพราะขลาดเขลาที่จะหาเหตุผล หรือไม่ก็มักง่ายปิดหูปิดตาไปเสียแล้ว ไม่ต้องตอบคำถามใด ๆ ที่น่าเศร้ามาก คือการกวาดเด็กช่างสงสัยและรู้ดีเหล่านี้ มากองรวมกันแล้วให้คำจำกัดความว่าเป็นขยะ สมควรกวาดทิ้งไปเพื่อให้บ้านเมืองมีน้ำหนักเบาขึ้น
ความผิดเดียวของพวกเขา คือการเข้าไปล่วงรู้ ในสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในบทกล่อมเด็ก ไม่เพียงเท่านั้น ยังบังอาจสืบค้นสร้างเหตุผล มาโยกคลอนความเชื่อที่อยากให้เชื่อต่อ ๆ กันมา พวกเขาอาจเป็นภพชาติถัดมาของกาลิเลโอ ที่ยืนยันด้วยเหตุผลหนักแน่นว่าโลกกลม ในขณะที่คนส่วนใหญ่ พร้อมจะเชื่อผู้มีอำนาจว่าโลกแบน ต้องแบนและหวาดกลัวเกินจะถามว่าทำไม
ความรู้นอกห้องเรียนของพวกเขา ไม่ใช่แค่หนังสืออ่านนอกตำราเสียแล้ว เลคเชอร์ที่บันทึกลงในหน่วยความจำ และประมวลผลของพวกเขา มาจากเวทีไฮด์ปาร์กกลางสนามหลวง ในที่ชุมนุมประท้วง ในหอประชุมธรรมศาสตร์ ซึ่งมีทั้งนิทรรศการ และการอภิปรายเปิดความจริงนานาประการ ที่ทะลักทลายราวกรุแตก มาจากปากคำของผู้มีประสบการณ์ตรง จากไร่นา จากโรงงาน นักปราชญ์นอกกระแส และผู้ได้รับความอยุติธรรมจากทุกสารทิศ
ใช่ว่าพวกเขาจะไม่หวั่นไหว ในชั่วโมงที่จับกลุ่มกันทำงานความคิด หัวข้อยอดนิยมก็คือทำอย่างไรจึงจะไม่ “เซ็ง” คำคำนี้ ใช้แทนความรู้สึกท้อ อยากถอย ไม่อยากแปลกแยกเป็นคนส่วนน้อยอีกต่อไป อีกนิดเดียวเท่านั้น เขาก็จะได้เข้ามหาวิทยาลัย เป็นปัญญาชน เส้นทางอนาคตที่มีหลักประกันรออยู่แค่เอื้อม ทำไมจะต้องยอมเสียสละความสำเร็จส่วนตน แล้วยังถูกด่าประณาม อีกว่าเป็นพวกหลงผิด พวกหนักแผ่นดิน
พวกเขาสวมหัวใจแบบไหน ที่เลือกจะยืนยันเดินหน้าในสิ่งที่ค้นพบ อุปสรรคนั้นหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปฏิกิริยาต่อเหล่ากบฏ มีตั้งแต่การป้ายสีสวมหมวกให้เป็นคอมมิวนิสต์ จนถึงการสั่งสอนให้หลาบกลัว ด้วยการสาดวัตถุสงครามกลางที่ชุมนุม เมื่อกฎธรรมชาติของวิภาษวิธีถูกลองของ พวกเขาเลือกที่จะยืนยันอีกว่า ที่ใดมีแรงกด ก็ยิ่งมีแรงต้าน ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้
ก่อนที่สังคมในอุดมคติจะปรากฏเป็นจริง พวกเขาได้ก่อร่างสร้างแบบจำลองของมันขึ้นมา เป็นสังคมของผู้ที่มีจิตหนึ่งใจเดียวกันต่อการเปลี่ยนแปลง แม้จะรู้ดีว่าจะต้องข้ามผ่านบททดสอบโหดหิน ยิ่งยาก ยิ่งจับมือกันแน่น ยิ่งหวาดหวั่นก็ยิ่งก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ราวกับจะล่วงรู้อนาคตว่า หากได้มีชีวิตรอดจนวัยวันร่วงโรย เพื่อนกลุ่มนี้แหละ ที่จะยังคงกอดคอ จับมือแก่เฒ่าไปด้วยกัน
หมุดแรกของการเดินทางไกล
บทบันทึก
ถ้าสังเกตดูดี ๆ หน้าเวทีของหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีคอกไม้ยกระดับรูปโค้งเป็นพื้นที่ครึ่งวงกลมเล็กๆ นัยว่ามีไว้เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการแสดงหน้าเวที คอกเล็ก ๆ นี้กลายเป็นคอกบรรจุเด็ก เด็กมัธยมจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เป็นกัลยาณมิตรกัน เพราะลงทะเบียนเรียนวิชาเดียวกัน วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ช่วงที่สนุกสนานที่สุด คือช่วงการแสดงดนตรีเพื่อชีวิต พวกเราเป็นหน้าม้าแฟนคลับที่เหนียวแน่น รับลูกโยนสร้อยเพลงได้ทุกเพลง ทุกวงดนตรี ปรบมือได้ทุกจังหวะ แบบไม่ต้องมีพื้นฐานทางดนตรี ความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ส่วนหนึ่งก็มาจากเนื้อเพลงเพื่อชีวิต ร้องไปก่อนจำไปก่อน ค่อยมาย่อยความหมายที่ลึกซึ้งทีหลัง ถ้าหากจิตร ภูมิศักดิ์ยังมีชีวิตอยู่ รับรองว่าจะไม่ปล่อยให้โดดเดี่ยว ตอนถูกจับโยนบก และจะไม่ยอมให้วีรบุรุษของพวกเรา ต้องจากไปแบบไร้รูปไร้เสียงเช่นนั้น
ใช่ว่าจะถนัดแค่ร้องรำทำเพลง กบฏเด็กอย่างเรานั้นเรียกง่ายใช้คล่อง ด้วยตระหนักว่าความรู้ และจุดยืนทางการเมืองยังอ่อนด้อย จึงอาสาช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงงานใหญ่ งานประจำที่เรียกได้ว่าฝีมือชั้นเซียน คืองานติดโปสเตอร์ ทักษะการคัดลายมือ และเขียนรูปประกอบแบบมือสมัครเล่น ล้วนมีที่มาจากข้อความรณรงค์ ในม้วนโปสเตอร์แผ่นแล้วแผ่นเล่า
กบฏเด็กนั้นมีระบบการจัดตั้งติดโปสเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพทีเดียว นอกจากจะได้โชเฟอร์ขับรถเชฟมือดี ก็ยังมีหน่วยฟันเฟืองคุ้มกัน เวลาถูกจู่โจมในช่วงคับขัน มือทากาวมือปิด ทำภารกิจแข่งกับเวลา ในช่วงนาทีทองที่ต้องปิดให้ได้มาก ในจุดที่มีผู้พบเห็นเรตติ้งต้น ๆ โปสเตอร์เหล่านี้ กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ที่บันทึกโดยวีรชนนิรนาม ที่ในเวลานั้นไม่ประสงค์จะออกนามและแสดงตัว อาจเป็นเพราะมือสองข้างที่แข็งแห้งเกรอะกรัง บวกกับเสื้อผ้ามอมแมมเปื้อนกาวแป้งเปียกอยู่เป็นนิจนั้น คือเป้าหมายอันโอชะของ อันธพาลการเมืองกระทิงแดง ผู้ติดอาวุธครบมือโดยมีกฎหมาย บ้านเมืองรู้เห็นเป็นใจ
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
ค่ำวันหนึ่งของเดือนมีนา ระหว่างการชุมนุมประท้วงฐานทัพอเมริกัน ขณะที่พี่ผู้นำนักศึกษาจากจุฬาฯ กำลังไฮด์ปาร์คอย่างเข้มข้น ระเบิดลูกแรกตกตูมข้างเวทีเหมือนหยั่งเชิง พี่ไม่ยอมวางไมค์ กลับคุมผู้ชุมนุมไม่ให้แตกตื่น “ก้มลงครับ หมอบลงครับ อย่าตื่นตกใจ แตกกระจาย ” กลุ่มคอกเด็กปฏิบัติตามอย่างพร้อมเพรียง นั่นคือการฝึกซ้อมแรก ก่อนเผชิญหน้าลูกจริง
เช้าวันที่ 21 มีนา 2519 เราอยู่ที่ธรรมศาสตร์ กับกลุ่มเด็กในคอกหน้าเวทีหอใหญ่ ภารกิจวันนี้คือการเดินขบวนขับไล่ฐานทัพอเมริกัน ต้นทางของระเบิดนาปาล์มและนานาสารพัด ที่ไล่ล่าผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อว่า กลายเป็นภัยแดง ภาพเด็กหญิงชาวเวียดนามวิ่งเปลือยกายหนีลูกระเบิด อันลือลั่นในเวลาต่อมา จุดประกายของความคุกรุ่นในใจของคนวัยเดียวกัน ที่คำว่าบ้าน คือที่สุดของความรักและความผูกพัน แต่ถูกทำลายล้างอย่างทารุณ แค่นี้ก็เพียงพอในการตัดสินใจร่วมขบวน
กบฏเด็กกลุ่มเรา ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยสวัสดิการแจกน้ำให้ผู้ชุมนุม ทุกคนเตรียมพร้อมทะมัดทะแมง แม้จะไข้ขึ้นแต่งานนี้พลาดไม่ได้ เพื่อนรักเอามืออังหน้าผากด้วยความเป็นห่วง แล้วฝากเราขึ้นรถขนน้ำ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นภาระมาก หากเป็นลมเป็นแล้งไป เพื่อนจะรู้หรือไม่ว่า ชัยภูมิบนรถขนน้ำในวันนั้น บันทึกภาพความน่าสะพรึงกลัว ครั้งแรกของชีวิต เส้นบาง ๆ ของความเป็นความตายอยู่แค่เอื้อม
แดดสายในเดือนมีนาคมนั่นร้อนระอุ แต่ในใจกลับรู้สึกเต็มตื้น เมื่อเห็นเพื่อนพ้องน้องพี่เคลื่อนขบวนไปช้า ๆ เห็นกลุ่มคอกเด็กวิ่งว่องไว เวียนกันเข้ามาเอาน้ำไปแจก ปฏิบัติการแนวหน้าครั้งนี้ เริ่มต้นและดำเนินไปด้วยความเชื่อมั่น นี่คือหนทางที่เราเลือก
เมื่อขบวนเคลื่อนมาแถวหน้าสยามสแควร์ ใกล้จุดหมายเต็มที เสียงระเบิดก็ดังกึกก้องสะเทือนเข้าไปในอก เห็นควันลอยขึ้นมาพร้อมความชุลมุน วินาทีแรกหลังจากเรียกสติกลับคืนมา แม้ไม่อยากคิดแต่ภาพที่เห็นนั้นยืนยัน ความผิดของพวกเรานั้น ฉกาจฉกรรจ์ถึงกับต้องเอาชีวิตกันเชียวหรือ เหลียวมองหาเพื่อนเด็กที่หยุดวิ่งวน ภาวนาให้พวกเขาวิ่งมาเอาน้ำสิ วิ่งมาให้ครบทุกคนนะ
สมาชิกกลุ่มเด็กคนหนึ่ง ได้สะเก็ดระเบิดฝังในกะโหลก ต้องนอนอ้อนยายอยู่หลายเดือน สำหรับพี่ ๆ คนที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร มันยิ่งย้ำเตือนให้เรายืนอยู่ที่นั่น เพลงตายสิบเกิดแสนล่องลอยมา พร้อมกับคำถามเสียงดัง ๆ ว่า อีกกี่สิบกี่แสน ที่จะต้องลุกขึ้นมาทดแทนผู้สูญดับ
บททดสอบของฆาตกรรมกลางเมืองในวันนั้น ได้ปักหมุดแรกของการเดินทางอันยาวไกล เมื่อเริ่มต้นด้วยระเบิดและควันปืน หนทางข้างหน้าจึงหนีไม่พ้นความจากพราก กบฏเด็กในยามนั้น เมื่อเสียงเพลงเพื่อชีวิต เสียงดนตรีเสียงกลองค่อย ๆ เงียบหาย พวกเราก็ยังฮัมเพลงกันเบา ๆ “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว ชวนหนุ่มสาวมาเดินทางไกล หนทางนั้นอาจยืดเยื้อ ยาวนานก็ไม่เป็นไร อนาคตนั้นแสนสดใส สุดท้ายชัยเราจึงได้มา”
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
Chapter 6 รถไฟสายอุดมการณ์
บทบรรยาย
สมาชิกห้องหกสิบ ล้วนตระหนักดีว่า หนึ่งปีของการเป็นน้องใหม่นั้น ไม่เพียงต้องเก็บรับประสบการณ์จากรุ่นพี่ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นรุ่นพี่ในปีถัดไปด้วย การเป็นรุ่นพี่ ไม่ใช่แค่ทำพิธีรับน้องผูกข้อมือ แล้วละเลงหน้ากันให้ดูไร้เดียงสาปัญญานิ่ม สำหรับรุ่นพี่ห้องหกสิบแล้ว มันคือการส่งมอบภารกิจสำคัญประเภท Mission Impossible ซึ่งเทปคำสั่งสอนชี้แนะและฝากฝัง จะสลายตัวในทันที ที่น้องได้ก้าวมาเป็นรุ่นพี่เต็มตัว
ห้องหกสิบไม่ได้ใช้วิธีการแบบรุ่นน้องรหัส แต่แบ่งตามกลุ่มภารกิจ รุ่นพี่หนึ่งคน อาจมีน้องในความรับผิดชอบมากกว่าหนึ่งหรือสอง ถ่ายทอดวิทยายุทธ์ และกลเม็ดเคล็ดวิชาของหน่วยกิจกรรม หรือชมรมที่ตนเองสังกัดอยู่ รวมทั้งช่วยเป็นที่ปรึกษา เมื่อมีปัญหาความคิดและหัวใจ บ่อยครั้งที่น้องก็รู้สึกว่าพวกพี่ ๆ นั้น มีปัญหาคับอก ต้องช่วยกันยกออกอยู่เนือง ๆ
ต้นกำเนิดจากห้องหกสิบ ได้ขยายเป็นกลุ่มตะวัน ที่ทำกิจกรรมทั้งในและระหว่างโรงเรียน ถึงฤดูกาลเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน พวกเขาคือพรรคตะวัน พวกเขาแทรกตัวอยู่ในชมรมวิทย์ ชมรมสังคมศึกษา ชมรมอาสาสมัคร ชมรมห้องสมุด จัดกิจกรรมทางวิชาการระดับชาติ เช่น นิทรรศการสังคมนิทรรศน์และวิทย์สัมพันธ์ จัดกลุ่มศึกษาเพิ่มพูนความรู้ รณรงค์ประเด็นบ้านเมืองและสังคม จนมีกัลยาณมิตรข้ามโรงเรียน ร่วมกันสร้างเครือข่ายนักเรียน ซึ่งมีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ยิ่งกว่าการขายตรงเครื่องสำอาง
และเมื่อช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านมาถึง กบฏรุ่นพี่ต้องมั่นใจว่า น้องทุกคนจะแข็งแกร่งพอ ที่จะยืนหยัดท้าพายุที่โหมซัดของสถานการณ์ทางการเมือง ที่เข้าใกล้จุดวิกฤติ ในขณะที่รุ่นพี่แต่ละคน มีจุดหมายใหม่ของภารกิจ ที่ต้องแยกย้ายกันไปขยายผล เหมือนเมล็ดพืชที่พร้อมดีดตนเอง สู่พื้นที่ใหม่ให้ได้ฝังรากและเติบโต
ช่วงเวลาแห่งการลาจาก ผสมปนเปไปด้วยความรู้สึกห่วงหาอาวรณ์ แม้จะมั่นใจในเส้นทางที่เลือก แต่ก็ไม่อาจไว้ใจกับสถานการณ์ ที่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำได้ทุกเมื่อ พวกเขาไม่เคยผ่านบรรยากาศ ของสงครามโลกแบบพ่อแม่ แต่ในภาวะนั้น เทียบเคียงได้กับนักรบ ที่ต้องกล่าวคำอำลากันและกัน ก่อนแยกย้ายสู่สมรภูมิแนวหน้าของแต่ละคน ไม่มีใครมั่นใจเลยว่า จากกันคราวนี้ อีกนานเพียงใดจึงจะได้พบกันอีก
กลางปี 2519 ฤดูกาลเปิดภาคของนิสิตนักศึกษาใหม่ เด็กกลุ่มหนึ่งเวียนกันไปส่งรุ่นพี่ ที่สถานีรถไฟสายเหนือใต้และอีสาน ผู้คนที่เดินผ่านไปมาหยุดดูด้วยความชื่นชมกึ่งสงสัย พวกเขาพร่ำพูดซ้ำซากเกี่ยวกับคำมั่นสัญญา ในภารกิจบางอย่างพร้อมน้ำตาที่ไหลร่วง
ถ้าเจ้าขุนทองจากไปตอนฟ้าสาง ดวงตะวันตอนนี้ ก็กำลังสาดแสงแรงกล้าเลยทีเดียว
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
พวกเราต่างมาประสานมือกัน
บทบันทึก
ตึกสันทนาการมหิดล เป็นเหมือนจุดนัดที่ตีคู่มากับสยามสแควร์ แต่เอกซ์คลูซิฟสำหรับวัยรุ่นกบฏ ถ้าคำจำกัดความของสถานที่แห่งนี้ อธิบายได้ด้วยรูปภาพ เราจะหลับตาเห็น หม้อต้มแป้งเปียกขนาดยักษ์ ถนนคนเดินแสดงขั้นตอนการเขียนโปสเตอร์ เด็กผมยุ่งเสื้อยับกับตาโรย ๆ แบบอดนอน กลุ่มศึกษาสถานการณ์บ้านเมือง กับสีหน้าเคร่งเครียด คละเคล้าไปด้วยบรรยากาศการเล่นหัวสนุกสนาน ต่างคนต่างพ้นคำนำหน้าเด็กชายเด็กหญิงมาหมาดๆ
จากเด็กเหงาที่แปลกแยกในหมู่เพื่อนร่วมห้อง ตอนนี้เรามีสหายกลุ่มใหญ่ ที่มีความหมายมากกว่าเพื่อน มีภารกิจที่ไม่ใช่แค่การพากเพียรเรียนหนังสือ แต่คือการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติสู่อนาคตที่ดีกว่า ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเหล่าคนทุกข์ ที่เป็นเบี้ยล่างของความไม่เป็นธรรม มันอาจเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อหรือฝันเฟื่อง ถ้าเราไม่ได้มีโอกาสไปพบเห็นร่วมเป็นร่วมอยู่ กับตัวแสดงเป็น ๆ ที่โลดแล่นออกมาจากนิทานคนทุกข์
รูปธรรมของการร่วมเปลี่ยนแปลง คือการใช้ศักยภาพของตนเอง ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในโลกทัศน์ และชีวทัศน์ใหม่ ให้กว้างขวางออกไปในหมู่เพื่อนนักเรียน ถ้าพี่ ๆ มีบ้านมะละกอหรือบ้านแสงจันทร์ เป็นที่สิงสถิตในการถกปัญหา ศึกษาทฤษฎีการเมืองและพัฒนาสังคม พวกเรารุ่นน้องก็เดินตามรอย หาทำเลสัปปายะเป็นอาศรม สำหรับกลุ่มศึกษาและฝึกฝนการใช้ชีวิตรวมหมู่กับผู้อื่น และดัดแปลงทัศนคติเพื่อส่วนรวม
สอนกันมาดีขนาดนี้ ก็ยังถูกกล่าวหาว่ามั่วสุมกระทำสิ่งไม่ชอบ ผู้ใหญ่บางคนคิดแทนเด็ก ๆ ว่าอาจกระทำการไม่เหมาะสมในที่ลับตา หารู้ไม่ว่าใจใส ๆ ของพวกเรานั้น ยังไม่ทันได้แปดเปื้อนราคีคาว แบบที่พวกเขาเลอะเทอะกันมา จะเป็นโชคหรือเคราะห์ก็ตามแต่พวกเรา ได้เจอกับกฎเหล็กของชีวทัศน์ใหม่เสียก่อน ก่อนที่จะได้ลองอะไร ๆ แบบที่วัยรุ่นทั่วไปเขาลองกัน
โรงเรียนอะไรกันหนอ ที่มีหลักสูตรเข้มข้นเร่งรัดขนาดนั้น ยังไม่ทันข้ามปีที่ได้เป็นน้องใหม่ ก็ได้รับมอบหมายงานสำคัญเกินตัว ได้ข้ามผ่านเส้นแบ่งความเป็นความตายมาแล้ว “หากฉันรู้สักนิด” ว่าภารกิจนั้นมันแค่เพียงเริ่มต้น ก็ยังฉงนใจอยู่ว่า จะเดินหน้าหรือไม่ สู่มหาวิทยาลัยชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า
แต่สถานการณ์บ้านเมืองก็บีบบังคับไม่ให้ได้คิดนาน หลังจากผ่านค่ายชนบท ที่ถูกขีดฆ่าหมายหัวมาอีกหลายค่าย ได้หลบลูกระเบิดในอีกหลายที่ชุมนุม เราได้แต่บอกตัวเองว่า จากก้าวนี้มีแต่เดินหน้า ถ้าเพื่อนไม่ถอยเราก็จะไม่ปล่อยให้ตัวเองคอยถ่วง
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
ค่ำวันนั้นที่ตึกสันทนาการ พลพรรคชาวตะวันได้มารวมตัวกัน มาตามสัญญาณที่บอกให้ทุกคนตระหนักว่า วันเวลาที่พวกเราได้เติบโตมาด้วยกันนั้น กำลังถึงจุดเปลี่ยน ดูเหมือนแต่ละคนได้พกพาบางสิ่งมาด้วย บางสิ่งที่ไร้รูปรสกลิ่นเสียง มันเต็มปริ่มอยู่ข้างใน แม้จะได้แบ่งปันกันแล้ว ก็ยังคงเต็มปริ่มอยู่อย่างนั้น
ค่ำวันนั้น พวกเรานั่งล้อมวงกัน โดยมีเปลวเทียนส่องสว่างอยู่ต่อหน้า มองดูคล้ายเพื่อนร่วมน้ำสาบาน กำลังให้คำมั่นต่อกัน เทียนแท่งน้อยนั้นจุดรอแสงตะวันในคืนเดือนมืด มีแสงดาวแห่งศรัทธาเป็นกำลังใจ แสงนวลตานั้นมีเปลวแลบเลีย หลอมละลายแท่งเทียนกลายเป็นหยด หยดน้ำตาเทียนที่แปลงร่างจากแท่งตรงกลมเกลา หยดแล้วหยดเล่าไหลย้อยจนเปลี่ยนรูป แต่พวกเราจะจดจำกันได้เสมอ
เสียงเพลงคลอเบา ๆ เป็นเพลงนิรนามโดยผู้แต่งนิรนาม เนื้อหาว่าด้วยวงกลม ไม่รู้ว่าทำไม แค่วงกลมที่ว่า ก็ทำให้บ่อน้ำตาแตกทลายได้ขนาดนั้น วงกลมที่มือต่อมือล้อมวนกันไปไม่มีจุดจบ ถ่ายเทความรักและผูกพัน คำมั่นของหัวใจที่ใหญ่เกินตัว วงกลมของชีวิตและความใฝ่ฝัน วงกลมของดวงตะวันยามแปดนาฬิกา
“พวกเราต่างมาประสานมือกัน ล้อมให้เป็นวงกลมใหญ่ ล้อมเป็นวงให้กลมและยิ่งกลม พวกเราจะไม่โดดเดี่ยว พวกเราต่างมาประสานมือกัน และก้าวหน้าพร้อมกัน ไม่มีทุกข์และไม่มีเศร้า ความสุขยืนยงชั่วนิรันดร์”
ภาพจาก: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
Chapter 7 ทุ่งสังหารกลางเมืองหลวง
บทบรรยาย
ปีการศึกษาเก่าใหม่เชื่อมต่อกันราวไร้รอยต่อ กิจกรรมนักเรียนนักศึกษา ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นแบบไม่มีวันหยุด เพื่อนตะวันกระจายกันไปในที่ต่าง ๆ โดยมีลางบอกเหตุหลายต่อหลายครั้ง ว่าความรุนแรงครั้งใหม่กำลังก่อตัว
ใช่ว่าพวกเขาจะไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ การใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ฝ่ายต่อต้านในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซีย หรือยุคที่นักศึกษาจีนถูกรถถังไถทับจนราบแบบ ไม่มีเวลาให้ถามหามนุษยธรรม ในช่วงเวลาที่เขม็งเกลียวแบบนั้น ปฏิบัติการจิตวิทยาแย่งชิงพื้นที่ความชอบธรรมนั้นดุเดือด ขบวนการนักเรียนนักศึกษากลายร่างเป็นปีศาจ(เด็ก)ที่เป็นภัยสังคม แบบต้องกวาดล้างให้สิ้น ด้วยวาทกรรมและการไล่ล่าที่เป็นจริง หลาย ๆ ครั้งที่พวกเขาอดคิดไม่ได้ว่า จะรับมือกับการปราบปรามสุดโหดได้หรือไม่ ความเป็นจริงที่น่าเศร้าก็คือ ความโหดหินทมิฬมารที่กำลังจะเกิดขึ้น มันเกินความคาดหมายในการเตรียมพร้อมรับมือ
ข่าวการลอบสังหารผู้นำชาวนา กรรมกร และนักศึกษาถี่ขึ้นทุกวัน ไม่มีใครไม่กลัว แต่ดูเหมือนจะปลอบตัวเองว่า ยังไม่ถึงคิวของเรา เรื่องราวของขบวนการใต้ดินได้รับการเล่าขานหนาหู คล้ายกับจะเสนอทางเลือก ทางหนีทีไล่หากต้องจนมุม แต่มโนภาพของขบวนการใต้ดินที่ว่า ในสายตาของกบฏเด็กในเมืองนั้น เปรียบได้กับสังคมอุดมคติที่เหล่านักปฏิวัติสรรค์สร้างมันขึ้นมา สถานะของนักปฏิวัตินั้นเทียบเคียงได้กับ นักบวชผู้บำเพ็ญเพียรจนบารมีแก่กล้า สละได้ทุกสิ่งเพื่อส่วนรวมและการปฏิวัติ กบฏเด็กอย่างพวกเขานั้น ยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายด่านอรหันต์ อาจกล่าวได้ว่า พวกเขาไม่มีจินตนาการของการปราบปรามแบบหฤโหด ขณะเดียวกันก็ไม่มีจินตภาพว่า ตนเองจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของขบวนการใต้ดินที่ปฏิวัติแม้แต่น้อย
ในเมื่ออาวุธของการโฆษณาชวนเชื่อ อยู่ในมือของผู้ปกครองเต็มอัตราศึก ก็มีแต่พวกเขากันเองเท่านั้นที่รู้ดีว่า เบื้องหลังภาพที่ถูกละเลงสีสาดโคลนใส่ คือหัวใจมุ่งมั่นในอุดมคติและความหมายของชีวิต พวกเขาจึงยิ่งต้องเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นไม่หวั่นไหว ถ้าหากการแสวงสัจจะและสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า เป็นสิ่งน่ารังเกียจเหยียดหยาม จนกระทั่งต้องถูกกำจัดทิ้ง จะเหลือคุณค่าอันใดสำหรับชีวิต ที่เพิ่งจะเริ่มต้นและงอกงามมาเมื่อไม่นาน
เช้ามืดวันที่ 6 ตุลา 2519 ปฏิบัติการล้อมฆ่าก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ลูก ๆ ของพ่อแม่นับพันครอบครัว ไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่มีโอกาสสั่งลา เสียงกระสุนปืนสลับระเบิดอื้ออึงไม่ขาดสาย วิทยุยานเกราะกลายเป็นกระบอกเสียง ปลุกเร้าให้ฆาตกรรมหมู่กลายเป็นความชอบธรรม ผู้คนจำนวนหนึ่งยืนล้อมวงดูการสังหาร ทารุณกรรมชีวิตแล้วชีวิตเล่า ด้วยแววตาวิปริตและริมฝีปากที่เหยียดยิ้มกระทั่งหัวเราะแบบสะใจ ภาพที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่า บรรดาอมนุษย์ได้มีชัยเหนือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แม้ปากจะพร่ำพ่นล้างโทษกรรมตนเองตลอดเวลา ว่าเป็นผู้ถือมั่นในศาสนา ซาตานเหล่านี้ได้นำผ้าเหลืองมาห่มคลุม เพื่ออ้างสิทธิผูกขาดความดี ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของพวกเขา คือการพร่ำบอกหลอกตนเองทุกเมื่อเชื่อวันว่า กรรมที่ก่อขึ้นก็เพื่อจรรโลงบ้านเมืองให้ปลอดพ้นภัย แต่ความรู้สึกผิดตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ก็คือความจริงที่ว่า พวกเขาได้ยอมให้ภัยในจินตนาการถูกปลุกเร้า จนถึงขีดสุดกระทั่งสามารถ ทำลายชีวิตผู้อื่นอย่างเหี้ยมโหดทารุณได้
โศกนาฏกรรมแห่งยุคสมัยในวันนั้น ได้พรากลูกจากพ่อแม่ จากคนรัก จากเพื่อนสนิท กวาดทิ้งมันสมองอัจฉริยะด้วยอคติ และโมหะแบบทำลายล้าง ราคาของการสูญเสียนั้นนับไม่ได้ ชดใช้ไม่หมด
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
วันฆ่านกพิราบ
บทบันทึก
กลางเดือนสิงหา 2519 ข่าวขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ จับความได้ว่าเด็กนักเรียน 14 คน ถูกจับกุมด้วยความผิดฐานมั่วสุม และมีหนังสือต้องห้ามไว้ครอบครอง ในจำนวนนี้มีคนเดียวเท่านั้น ที่อายุเกินเกณฑ์เด็กมาหนึ่งปี ที่เหลือนั้นถูกต้อนเข้าสถานพินิจ เด็กชายและเด็กหญิงบ้านเมตตาและบ้านปรานี
ในเบื้องต้นพวกเราถูกพามาที่สถานีตำรวจสำเหร่ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เองก็ยังงง เพราะเด็กคนหนึ่งในนั้นอายุเพียงแค่ 12 ปี แต่เมื่อบุกทลายเข้าไปแล้วก็ต้องจับ ข่าวนี้จึงสะพัดไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปานสายฟ้าแลบ เพื่อน ๆ พี่ ๆ แห่กันมาเต็มโรงพัก ร้องไห้สงสารเด็กถูกรังแก ข้าวปลาอาหารของฝากมากมาย พวกเราตอบแทนมิตรไมตรีและความห่วงใยด้วยการกอดคอกันร้องเพลง “แดนตะราง” ลั่นโรงพัก จนตำรวจต้องปรามไม่ให้ส่งเสียงดัง เราก็เลยใช้วิธีเขียนเนื้อเพลงไว้ที่กำแพงห้องขังแทน
เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นเพื่อนตะวันรุ่นพี่อีกครั้ง หลังวันร่ำลาสู่รั้วมหาวิทยาลัย จำได้ว่าเราร่อนกระดาษเล็ก ๆ ที่พอหาได้เขียนข้อความสั้น ๆ ให้กำลังใจตัวเองและผู้มาเยี่ยม ผ่านลูกกรงลงมาจากชั้นสอง เห็นพี่ ๆ ทำตาแดง ๆ อยู่รำไร แต่ใจพ่อกับแม่ที่เห็นลูกต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ในชุดสถานพินิจนั้นแหลกยับไปแล้ว
เราใช้ชีวิตในสถานพินิจได้สี่วัน ก็ได้ประกันตัวออกไป ด้วยวงเงินหนึ่งพันบาท จนบัดนี้ก็ไม่ได้มีโอกาสสืบค้นว่า ถูกตั้งข้อหาอะไร ออกจากสถานพินิจ โดยมีขบวนแห่และพวงมาลัยรับขวัญ ระหว่างทางกลับบ้านถือโอกาสผ่านเข้าธรรมศาสตร์ พร้อมความรู้สึกวาบสันหลัง เมื่อเห็นทหารล้อมกรอบมหาวิทยาลัย ที่มีผู้ชุมนุมขับไล่ประภาส ไม่ได้เฉลียวใจเลย ว่านั่นเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับวันจริง วันดีเดย์ที่กำลังคืบคลานเข้ามา
ถึงจะได้รับขวัญกลับบ้านด้วยไข่ต้ม และอ้อมอกที่อบอุ่นของพ่อแม่ แต่อะไรบางอย่างก็แวบขึ้นมา รบกวนจิตใจอย่างอธิบายไม่ได้ คล้ายกับว่า รับขวัญกลับบ้านแบบนี้ คงต้องมีครั้งต่อไป ความรู้สึกนี้รบกวนจิตใจอยู่ไม่นาน จนกระทั่งวันนั้น วันฆ่านกพิราบ
และต่อจากนี้ คือบันทึกจากสนามรบ ที่สองมือเปล่าเผชิญหน้า กับการติดอาวุธเต็มอัตราศึก
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
เช้าวันที่หกตุลา เอ็ม 79 ลงแถวสนามบอลบริเวณใกล้ตัวมาก พวกเราพากันเคลื่อนออกจากจุดชี้เป้า จากนั้นเสียงปืนถี่กระชั้นขึ้น พวกเราพากันมาหลบใต้ตึกโดม เสียงปืนเหมือนเสียงประทัดแตกเป็นชุด ไม่ใช่แบบที่ได้ยินในหนังโทรทัศน์เลย ได้กลิ่นความตายพร้อมกับการพยายามเคลื่อนย้ายคนเจ็บ วนไปมาเพราะออกจาก มธ. ไม่ได้ ทุกประตูทางออกถูกปิดกั้น หน่วยพยาบาลทำหน้าที่สุดชีวิต เพื่อรักษาชีวิตเพื่อน ๆ และชีวิตของตนเอง
สักพักมีการพังรั้วริมแม่น้ำลงได้ พร้อมประกาศให้เด็กกับผู้หญิงลงน้ำไปก่อน ไม่มีคำพูดใดๆ เล็ดลอดจากปากมาหลายชั่วโมงแล้ว ฉันบอกลาเพื่อนตะวันด้วยสายตา แล้วลงน้ำพร้อมแจ๊ดและเพื่อนผู้หญิงอีกคน น้ำริมฝั่งยังไม่สูงมาก แต่เชี่ยววนกระแทกแรง เมื่อเข้าใกล้ท่าน้ำ มีกลุ่มชาวบ้านช่วยดึงตัวปลิว ขึ้นฝั่งที่ร้านจั๊วสัญชาตญาณบอกให้เข้าบ้าน
เมื่อประตูบ้านเปิด ก็เรียกคนอื่น ๆ ที่ขึ้นจากน้ำมาพร้อมกัน เข้าไปด้วยสิบกว่าคน เห็นพ่อร้องไห้เป็นครั้งที่สองหลังออกจากบ้านปรานี ส่วนแม่วิ่งวนเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ลูก ๆ สวมหัวใจเหล็กปกป้องทุกคนในบ้าน
จนกระทั่งกลุ่มตำรวจติดอาวุธ มาทุบประตูตามล่าพี่ชายผู้นำนักศึกษาถึงบ้าน เสียงพานท้ายปืนกระแทกถี่กระชั้น และเสียงตวาดข่มขู่ชวนขนหัวลุก เมื่อประตูเปิดออก ก็กวาดทุกคนออกจากบ้าน รวมทั้งพี่ชายอีกคนซึ่งเรียนอยู่บางมด และไม่ได้เป็นผู้นำ นศ.ออกไปด้วย เสียงตะโกนอื้ออึง ร้องเชียร์ให้กวาดออกมาให้หมด แม่ทำได้มากที่สุด คือกอดลูกสาวไว้แน่นสุดชีวิต เอื้อมคว้าลูกชายกลับมาไม่ได้ เสียงปืนตามมาอีกติด ๆ พี่สาววิ่งออกไปตามดูพี่ชาย ซึ่งถูกทุบด้วยพานท้ายปืน แล้วลากออกไป แต่ยื้อตัวไว้ไม่ได้
ภาพข่าวในทีวีที่หลุดรอดออกมาในช่วงแรก สั่นสะเทือนความเชื่อยาวนาน ในการเป็นสยามเมืองยิ้ม เพราะนั่นเป็นยิ้มและเสียงหัวเราะ ที่โหดเหี้ยมเกินคำบรรยายใด ๆ
ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ทุกภาพทุกบททุกตอน ของความวิปโยคเยือกหนาว ในวันที่หกตุลาสองห้าหนึ่งเก้า สลักลงในความทรงจำ ในใจที่ถูกยิงจนพรุนแล้วโดนฟาดซ้ำ ด้วยเก้าอี้จนแตกละเอียด เป็นการประหารวัยเยาว์ ที่เพิ่งได้ค้นพบชีวิตและความใฝ่ฝันของตนเอง
เสี้ยวนาทีก่อนเช้ามืด วันที่ 6 ตุลา 2519 ความใฝ่ฝันของวัยวันนั้นช่างยิ่งใหญ่ ฉันจะช่วยคนจน ฉันจะสร้างสังคมที่ดีกว่า ฉันจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ความใฝ่ฝันของฉัน พังทลายชั่วพริบตา ทันทีที่การฆ่าเริ่มต้น ฉันไม่ได้นึกถึงความตาย ในห้วงเวลาที่เลือดของผู้คนไหลนอง ความรู้สึกที่เยือกจับขั้วหัวใจ คือความพลัดพรากครั้งแรกของชีวิต ต้องจากพ่อแม่พี่น้อง เผชิญหน้ากับฆาตกรรมกลางเมือง โดยยังไม่ได้บอกลา เป็นความพลัดพรากที่ถูกกระทำโดยไม่ยินดี ถูกบังคับให้พรากจากความใฝ่ฝันที่งดงาม เท่าที่ชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่งพึงมี