ศิลปินแห่งชาติโดยภาษีประชาชน - Decode
Reading Time: 3 minutes

การถอดถอน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2554 ตามมติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เกิดกระแสวิพากษ์และตั้งคำถามต่อหน้าที่และความรับผิดชอบของ “ศิลปินแห่งชาติ” ที่ยึดโยงกับประชาชนผู้เสียภาษี ถ้าสังเกตจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนของงบฯกระทรวงวัฒนธรรม 4,288 ล้านบาท เป็นงบประมาณในการคัดเลือกและประกาศยกย่องศิลปินแห่งชาติ 2.9 ล้านบาท การถอด สุชาติ สวัสดิ์ศรี จึงกลายเป็นสายล่อฟ้าทางการเมืองจากสภาฯสู่วงน้ำชา

หากว่า สังคมเป็นอย่างไร ศิลปะดนตรีก็เป็นอย่างนั้น
หากว่า ศิลปะ ดนตรีเป็นอย่างไร ก็สะท้อนภาพของสังคมอย่างนั้นด้วย
หากว่า ศิลปินยังคงทำหน้าที่สะท้อนสังคม

De/code ชวน ดร.เลิศชาย ศิริชัย อดีตคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งได้อภิปรายว่าด้วยเรื่องศิลปินแห่งชาติในรัฐสภาไว้อย่างน่าสนใจ มาพูดคุยถึงสรรพคำถามเหล่านั้นเพื่อเผยเปิดถึงความเข้าใจ ความเป็นไป และอนาคตในการดำรงอยู่ของสถาบันศิลปินแห่งชาติ


ศิลปินใต้ระบบอุปถัมภ์

ศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้นด้วยเหตุผลกลใด?

ย้อนรอยกลับไปปี 2528 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย ผศ. เฟื้อ หริพิทักษ์-สาขาทัศนศิลป์, นายมนตรี ตราโมทย์ และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี-สาขาศิลปะการแสดง, และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช-สาขาวรรณศิลป์ ซึ่งการเกิดขึ้นของรางวัลนี้ ดร.เลิศชาย ระบุว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการผลักดันของสังคม แต่เกิดจากการผลักดันของศิลปินที่ต้องการพื้นที่ทางสังคม ซึ่งพยายามรวมกลุ่มกันเสนอต่อนักการเมือง และการเกิดขึ้นมาก็ได้ยึดเอาการอุปถัมภ์ศิลปินสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นต้นแบบ ซึ่งยุคสมัยนั้นราชสำนักเป็นผู้ดูแลศิลปิน เพราะศิลปินเป็นผู้ผลิตงานศิลปะ ให้การศึกษาแก่ราษฎรพร้อมกับการทำหน้าที่ถ่ายทอดอำนาจบารมีของราชสำนักออกไป การได้ก้าวไปเป็นศิลปินของราชสำนักจึงนับว่าเป็นใบเบิกทางสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะศิลปินยุคนั้นไม่มีรายได้อย่างอื่น ถ้าไม่เป็นไพร่ก็เป็นพระ คนจึงพยายามผลิตวิชาความรู้เพื่อให้ได้แทรกตัวเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าขุนมูลนาย

 “ปัจจุบันสถาบันศิลปินแห่งชาติยังคงเกี่ยวพันกับระบบอุปถัมภ์ จะเห็นได้ว่าในระเบียบกำหนดไว้ว่าคนที่ได้รับรางวัลจะต้องเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพักหลังทรงมอบหมายให้กรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นผู้พระราชทานรางวัลแทน กลายเป็นว่าที่ยืนของศิลปินแห่งชาตินั้นยิ่งใหญ่ แลดูมีศักดิ์ศรี และอีกประการที่เห็นได้ชัดอีกคือการกำหนดวันศิลปินแห่งชาติเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ซึ่งพระองค์มีความสามารถด้านศิลปะและชูชุบศิลปิน ตรงนี้แสดงถึงว่ายังยึดโยงอยู่กับราชสำนัก”

“ขณะนี้ใครอยากเป็นศิลปินแห่งชาติก็ต้องเป็นเด็กดี เพราะตัวรางวัลนี้ถูกควบคุมโดยระบบราชการ กรรมการสรรหา กรรมการตัดสิน ก็จะเป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายเสียส่วนใหญ่ ไม่มีคนข้างนอก ไม่มีนักวิชาการเฉพาะสาขาที่อยู่นอกเครือข่าย ปัญหาของสถาบันศิลปินแห่งชาติจึงอยู่ที่ขาดการยึดโยงกับประชาชน ระบบอุปถัมภ์สร้างพิมพ์ไว้ว่าคนที่จะได้ต้องเป็นแบบไหน ผลคือเราจึงไม่เห็นศิลปินแห่งชาติที่จะสร้างงานเพื่อท้าทายการเปลี่ยนแปลง เฉพาะสาขาวรรณศิลป์ ก่อนได้ตำแหน่งหลายคนเป็นคนเขียนงานเพื่อชีวิต เพื่อสังคม แต่เมื่อได้ตำแหน่งนี้แล้ว น่าเสียดายว่าไม่ค่อยมีงานในแบบดังกล่าวออกมา

อาจเพราะศิลปินรู้สึกสำนึกผูกพันอยู่กับระบบอุปถัมภ์ และลืมว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยภาษีอากรของประชาชน”

ศิลปินแห่งชาติ-ชาติแบบไหน

เมื่อเอ่ยคำว่าชาติ คนก็มักพากันถามต่อว่าชาติที่ว่าคืออะไร ซึ่งไม่ต่างกัน คำว่าศิลปินแห่งชาติเองก็มีปัญหาตรงคำว่าชาติ ชาติที่ไม่แน่ใจว่าหมายรวมถึงอะไรบ้าง

ดร.เลิศชาย เล่าประสบการณ์ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ตอนผมเขียนวิพากษ์ว่าด้วยการถอดถอนศิลปินแห่งชาติลงบนเฟซบุ๊ก ก็มีคนมาแสดงความคิดเห็นว่าชาติในความหมายของศิลปินแห่งชาตินั้นกินความรวมถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นศิลปินต้องภักดีต่อสามสถาบันดังกล่าว ถ้าไม่ภักดีก็ไม่สมควรเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งการแสดงทัศนะเช่นนี้มีนัยยะในแบบที่รัฐบาลพยายามทำ คือการอธิบายชาติในแบบที่มีคำตอบอยู่แล้ว เป็นชาติแบบชาตินิยมซึ่งก็คือการมองชาติแบบความมั่นคง ดังนั้นการที่ใครจะรักชาติก็ต้องเชื่อผู้นำ ต้องว่านอนสอนง่ายแบบนี้เรียกว่ารักชาติ ศิลปินแห่งชาติจึงต้องมีลักษณะดังกล่าว และถ้าช่วยปกป้องรัฐบาลด้วยก็ยิ่งดี พอมองชาติแบบนี้เหมือนเราอธิบายว่าอีกฟากไม่ใช่คนรักชาติ การอธิบายแบบนี้มันทำให้ศิลปินแห่งชาติต้องรักษาเนื้อรักษาตัวตามนี้”

ขณะที่คุณณัฐวุฒิ ให้ความเห็นว่า “รัฐไทยเองมีความพยายามจะมองว่าชาตินั้นคือรัฐ และรัฐบาลแต่ละยุคสมัยก็พยายามกำหนดว่าชาติในยุคสมัยของตนควรเป็นแบบใด ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ควรมีเครื่องหมายเท่ากับ รัฐเองก็ไม่เท่ากับรัฐบาล จึงต้องเปิดใจยอมรับว่าชาติไม่ใช่แค่นั้น แค่นี้ เพราะจริง ๆ คำว่าชาติก็เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในกรอบไม่ถึงร้อยปี  ทางที่ดีจึงควรเปิดรับความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้คำว่าชาติ”

คำถามแห่งยุคสมัย

ดร.เลิศชาย ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า “ที่ผ่านมาประชาชนค่อนข้างมองศิลปินไปในทางดี ผมไม่เคยเจอการตั้งคำถามใหญ่ ๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศิลปินแห่งชาติหนัก ๆ เหมือนกรณีอื่น ๆ ในสังคม ที่ผ่านมาอาจมีเสียงซุบซิบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นลุกขึ้นมาเปิดโปงอย่างจริงจัง ผมยังนึกว่ามันเป็นสถาบันที่มีที่ยืนในสังคมทั้งที่ตัวของมันมีคำถามที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

กรณีคุณสุชาติ ก็เลยมีคำถามเกิดขึ้นมาว่าศิลปินแห่งชาติมีไว้เพื่ออะไร

และคนที่เชี่ยวชาญแขนงอื่น ๆ ทำไมไม่ได้รับการเชิดชูบ้าง ซึ่งตรงนี้มีคนเคยถามผมนะครับว่าอย่างหมอพื้นบ้านที่เขาบริการคนในท้องถิ่น แต่ก็ไม่มีใครดูแลเขา แล้วเขาไม่สามารถเก็บค่าดูแลในระบบตลาดได้ ทำไมเขาถึงไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูและได้รับค่าการดูแลบ้าง สถาบันศิลปินแห่งชาติจึงน่าจะต้องปรับตัวและขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น”

เกณฑ์การถอดถอนกับปัญหาว่าด้วยคำว่า “เสื่อมเสีย”

คุณณัฐวุฒิ กล่าวถึงเกณฑ์ว่าใครเหมาะจะเป็นศิลปินแห่งชาตินั้นพิจารณาอยู่สามเรื่องหลัก ๆ หนึ่งคือพิจารณาคุณสมบัติส่วนบุคคล สองคือพิจารณาที่ผลงาน สามคือพิจารณาเรื่องการเป็นที่ยอมรับในฐานะศิลปิน อย่างไรก็ดีเมื่อใช้กฎหมายมากำกับด้วยการนำทั้งสามส่วนมาขยำรวมกันและออกมาภายใต้กฎเกณฑ์ 8 ข้อ พบว่าค่อนข้างมีปัญหาอยู่ 2 ข้อ หนึ่งคือการเป็นผู้มีคุณธรรม เพราะคำว่า “คุณธรรม” เป็นคำที่กว้างและยากจะกำหนดด้วยความหมายเฉพาะ จึงสำคัญว่าคุณธรรมที่ศิลปินแห่งชาติควรมีใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดด้วยความเข้าใจคำว่าคุณธรรมแบบไหน สองคือการไม่เป็นผู้ประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่นเดียวกันกับคำว่าคุณธรรม คำว่า “เสื่อมเสีย” มีปัญหาต้องที่ว่ามองอย่างไรจึงจะนับว่าเสื่อมเสีย โดยเฉพาะ

การแสดงท่าทีของศิลปินในการให้ความเห็นต่อประเด็นวัฒนธรรม ความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน และความเห็นทางการเมือง จะถูกตีความไปในเรื่องเสื่อมเสียด้วยหรือไม่ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำให้กระจ่างขึ้น

สภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

อาจมองได้ว่าความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในการถอดถอน “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” นั้นเข้าทำนองเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ไม่ว่าจะเป็นตามนั้นหรือไม่ การขยับเรื่องการถอดถอนครั้งนี้ก็นำมาสู่ภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกของสถาบันศิลปินแห่งชาติและตัวของศิลปินเอง

“แต่เดิมศิลปินแห่งชาติแสดงออกอะไร พูดอะไร คนเขาก็วิจารณ์เฉพาะตัว ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขยับจะมาถอดถอนคนที่คิดต่างทางการเมือง มันก็กลายว่าการแสดงความเห็นของศิลปินไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ดึงมาเกี่ยวโยงกับสถาบันศิลปินแห่งชาติ”

ดังกล่าวคือความเห็นของ ดร.เลิศชาย ต่อผลกระทบจากความพยายามถอดถอนคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของคุณณัฐวุฒิ ที่ระบุว่า “เกณฑ์การถอดถอนซึ่งเพิ่งออกมาในปีที่แล้ว ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่มีการต่อสู้ทางความคิด ก็ถูกตั้งคำถามอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะประเด็นความเสื่อมเสียที่สามารถอ้างใช้ในการถอดถอนศิลปินได้ มันเป็นการทำให้คุณค่าของศิลปินเสื่อมถอยซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมถอยแก่ตัวสถาบันศิลปินแห่งชาติเองด้วย

รวมทั้งศิลปินในอนาคตที่จะเข้ามาเป็นศิลปินแห่งชาติก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ หรือการถูกรัฐกำหนดความเป็นศิลปินของคุณ ซึ่งอันนี้อันตรายมากต่อแวดวงศิลปะในระยะยาว”

คงกล่าวได้ว่าขณะนี้ศิลปินแห่งชาติหลายท่านกำลังย่ำยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ใจหนึ่งอาจอยากอยู่เงียบ ๆ รอให้กระแสคลี่คลาย และดำรงตนเป็นศิลปินแห่งชาติที่ดีตามแบบฉบับรัฐต่อไป แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คงเห็นปลายทางของความท้าทายต่อสถาบันศิลปินแห่งชาติเอง เพราะกรอบกติกาซึ่งผูกโยงกับคำว่าคุณธรรมนั้นอาจจำกัดการแสดงความเห็น และประชาชนซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนอาจตั้งคำถามต่อสถาบันศิลปินแห่งชาติมากขึ้น

อิสระของศิลปินแห่งชาติ

สืบเนื่องจากประเด็นการถอดถอนคุณสุชาติ ซึ่งสังคมให้น้ำหนักไปที่เหตุจากการแสดงออกทางการเมืองเป็นหลัก ดร.เลิศชาย ให้ทัศนะว่า “ศิลปินที่เห็นต่างยังเป็นศิลปินแห่งชาติได้ ถ้าบอกให้เชื่อผู้นำก็แสดงว่าชาติคือผู้นำ ดังนั้นแสดงว่าคุณไม่เคารพเขาจริง การคัดศิลปินแห่งชาติจึงควรมีความหลากหลายและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคม ศิลปินแห่งชาติก็อาจคิดไม่เหมือนกันได้ แต่ต้องฟัง และยอมรับกันและกัน”

ส่วนคุณณัฐวุฒิ ก็มองว่า “ถ้าตัดตัวบุคคลออกไป ศิลปะเป็นเรื่องของความอิสระ ศิลปะเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ ไม่ควรถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย หรือระเบียบต่าง ๆ เราจึงควรตั้งคำถามว่าเมื่อเขาได้รับเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรัฐไปควบคุมการแสดงออกของเขาหรือไม่อย่างไร เพราะตรงนี้สำคัญมาก หัวโขนที่ครอบอยู่หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะทำให้เกิดการจำกัดสิทธิของการแสดงออกของศิลปิน และนำไปสู่ความสงสัยว่าคณะผู้ถอดถอนต้องการสื่อสารอะไรกับสังคม มันเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งของการไม่ยอมรับต่ออำนาจรัฐ และมีการแสดงออกเหมือนกรณีอื่น ๆ แต่กลับกันมันทำให้คนรู้สึกว่าการที่ศิลปินออกมาแสดงออกหรือส่งเสียงสัญญาณทางสังคมกลับมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

ให้ประชาชนมีส่วนเลือก

ต่อคำถามว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมในการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติด้วยหรือไม่ คุณณัฐวุฒิให้ความเห็นว่า “การคัดเลือกนำเสนอโดยองค์กรต่าง ๆ ถามว่าประชาชนมีส่วนร่วมได้ไหม ตามระเบียบระบุว่าประชาชนสามารถนำเสนอคนที่เหมาะสมจะเป็นศิลปินแห่งชาติได้ แต่ต้องเสนอผ่านองค์กรต่าง ๆ อาทิ สถาบันทางศิลปะ สมาคมนักเขียนฯ ด้านหนึ่งดูเหมือนเป็นการเปิดโอกาส แต่จริง ๆ มันก็มีข้อจำกัดอยู่ในตัว จึงควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอโดยตรงคงดีกว่า

เพราะหลายครั้งศิลปินที่ภาคประชาชนเห็นว่าเด่นทั้งศิลปะและการส่งเสียงแทนพี่น้องประชาชนด้วยกลับไม่ได้รับคัดเลือก

“งบประมาณที่เกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติมีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ ๆ หนึ่งคืองบของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสำหรับอุดหนุนซื้องานศิลปะ ตรงนี้เราตั้งคำถามว่าการมองว่าจะซื้อ ไม่ซื้อนั้นมองจากอะไร งบส่วนที่สอง งบประมาณของการคัดเลือกตัวศิลปินแห่งชาติ ประมาณ 2.9 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มากเลยครับ แต่เพียงเราไม่เห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ ในระดับสาขา และระดับประเทศ เวลาเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกแล้วเป็นอย่างไร ส่วนสุดท้ายคืองบของกองทุนวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งจ่ายค่าตอบให้กับศิลปิน อยู่ที่วงเงิน 50 ล้านบาทต่อปี หลัก ๆ ก็ได้แก่เงินเดือน ๆ ละ 25,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล ค่าช่วยเหลือประสบภัย ค่าเยี่ยม ค่าฌาปนกิจ และอื่น ๆ”

ถอดรื้อเพื่อสร้างใหม่

ดร.เลิศชายเสนอแนะว่า “หากสถาบันศิลปินแห่งชาติยังอยากดำรงต่อไปอย่างมีเกียรติอาจต้องเริ่มต้นจากการล้มเลิกความพยายามถอดถอนคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เสียก่อน และควรแสดงให้เห็นว่าศิลปินแห่งชาติเขาสามารถมีความคิดอิสระ ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ตอบโต้กับเขาได้ ความคิดทางการเมืองก็ให้เป็นอิสระของเขาเหมือนคนทั่วไป”

“ต่อมาคือต้องขยับในการอธิบายเรื่องชาติใหม่ เพราะขณะนี้อธิบายแคบ วิธีที่ต้องเปลี่ยนคือรื้อระบบอุปถัมภ์ที่ฝ่ายรัฐราชการพยายามทำให้มีอยู่ มากไปกว่านั้นอาจต้องมีการทำวิจัย จัดเวทีเสวนา สร้างการเรียนรู้ เพื่อนำมาสู่การกำหนดคุณสมบัติใหม่ของตัวศิลปินแห่งชาติรวมทั้งกระบวนการคัดเลือกที่เหมาะสม โดยคำว่า “ศิลปิน” ที่ว่านี้ควรต้องตีความให้กว้าง ควรเปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่นอาจมีการแบ่งตามวัฒนธรรม อาทิ มลายู อีสาน เหนือ อื่น ๆ เพราะถ้าตัดสินตามศิลปะราชสำนักอาจไม่ครอบคลุม”

ด้านคุณณัฐวุฒิเสนอว่า “การส่งเสริมศิลปินรางวัลนี้ยังจำเป็นอยู่ทุกสาขา และหากภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมนี้ก็จะดีมาก ส่วนข้อแนะนำ ผมว่าควรเริ่มจากการเปิดโอกาสให้คนเสนอได้มากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะสาขาจนเกินไป ในขณะที่ตัวคณะกรรมการก็ควรให้ศิลปินผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะปัจจุบันคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติที่เป็นคนคัดเลือกแทบไม่ต่างจากคณะรัฐมนตรีย่อย และที่สำคัญคือควรให้ความเป็นศิลปินและตัวตนของเขาคงอยู่ ไม่ควรครอบงำด้วยเหตุผลทางการเมือง ทั้งนี้

การถอดถอนศิลปินแห่งชาติอาจเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่จำกัด โดยเฉพาะเรื่องประพฤติเสื่อมเสีย ต้องคำพิพากษา และประเด็นทางการเมืองไม่ควรนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการถอดถอน

ในวันที่สังคมสนใจและตั้งคำถามกับสถาบันศิลปินแห่งชาติมากขึ้น นี่จึงอาจเป็นโอกาสที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับรางวัลดังกล่าวจะได้ทบทวนถึงการมีอยู่ของศิลปินแห่งชาติอีกครั้ง โดยตัวของศิลปินแห่งชาติเองนั้นนับว่าเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอยู่แล้ว การฉวยใช้พวกเขามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งด้วยสะกิดให้สงบปาก กระซิบไม่ให้คิดเขียนความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ต่างหากที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันศิลปินแห่งชาติเอง เพราะหากว่ากันตามตรงแล้วประชาชนผู้จ่ายค่าตอบแทนนั้นยินดีเสียด้วยซ้ำกับการมีศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญในสังคม เพียงแต่การมีอยู่นั้นควรจะสามารถแสดงให้เห็นว่าศิลปินแห่งชาตินั้นเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน จริง ๆ