ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงหลายปีมานี้ นิยายวายได้กลายเป็นกระแสหลักของสังคม ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณสิบปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด
จากนวนิยายเฉพาะกลุ่มที่คนอ่านต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ และถูกกดทับทางสังคมอยู่นานหลายปี สุดท้ายก็กลายเป็นนิยายกระแสหลัก ที่ขายดีจนต้องมีชั้นวางหนังสือบนร้านหนังสือของตัวเอง และทำให้เกิดซีรีส์ที่สร้างกระแสสังคมจำนวนมาก
แต่ท่ามกลางขาขึ้นของวัฒนธรรมวายโดยเฉพาะ Y ที่ย่อมาจาก Yaoi หรือนิยายชายรักชาย กลับมีข้อถกเถียงเรื่องเพศของตัวละคร เมื่อสำหรับกลุ่มเสพสาววายบางคนกลับมองว่า วาย คือเพศๆ หนึ่งซึ่งไม่เท่ากับกลุ่มที่มีเพศวิถีซึ่งเรียกว่าเกย์
ในช่วงกลางปี 2563 ได้มีการถกประเด็นนี้ ในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แอคเคาท์ athrun33 ได้ทวีตลงทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า
“กูแค่อยากเป็นสาววายที่ชอบ genre นึงของนิยายหรือซีรีส์เท่านั้นเอง ไม่ได้อยากเดบิ้วเป็นนักสิทธิ LGBT เลิกคิดว่าสาววายทุกคนต้องสนับสนุน LGBT ได้แล้ว”
ทวิตดังกล่าวมีการกดรีทวีตถึง 2,553 ครั้ง และมีจำนวนการกดไลค์ทั้งสิ้น 420 ครั้ง แต่ก็ตามมาด้วยข้อถกเถียงอันยาวนาน ว่าวายนั่นเท่ากับเกย์จริงหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย และคนที่เห็นด้วย โดยเมื่อใช้คีย์เวิร์ค “สาววาย” รวมกับคำว่า “เกย์” จะพบว่ามีการถกเถียงกันมาตลอดตั้งแต่กลางปี 2563 จนกระทั่งมาถึงปี 2564
ทว่าคำกล่าวนั่นสำหรับหลายคนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ย้อนแย้ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่สาววายทุกคนที่จำเป็นต้องออกตัวสนับสนุน หรือเห็นด้วยต่อประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพราะสำหรับสาววายบางกลุ่ม ความวาย ≠ เกย์
อ่านเอาฟิน! ไม่ต้องพูดถึงความหลากหลายทางเพศ
แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านิยายวายส่วนมาก จะเป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในแนวโรมานซ์ ซึ่งหลายเรื่องไม่ได้ต้องการความสมจริงอะไรขนาดนั้น ความสัมพันธ์หลายความสัมพันธ์ของนิยายวาย ไม่ได้อยู่บนฐานที่สมจริงเสียเท่าไหร่ และไม่ได้จำเป็นต้องแสดงภาพชีวิต ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชีวิตจริง
จากการสอบถามคนที่อยู่ในวงการนักอ่านนิยายวาย แต่ยังสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ก็แสดงความคิดเห็นว่านิยายวายจริง ๆ ตั้งอยู่บนฐานของแฟนตาซีบางอย่าง
หลินเป็นสาววาย เริ่มอ่านนิยายวายตั้งแต่อายุสิบสามปี กระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเธอก็ยังอ่านนิยายวายอยู่ นั่นทำให้เธอเติบโตและเห็นพัฒนาการของวัฒนธรรมนี้มาโดยตลอด โดยจากประสบการณ์ การอ่านนิยายวายของเธอแล้ว เธอคิดว่านิยายวายไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของความหลากหลายทางเพศมากขนาดนั้น
“จริง ๆ ส่วนมาก คนเขาไม่ได้อ่านเอาสาระ เขาอ่านเอาฟิน!”
ซึ่งความฟินนี้ก็มาได้หลายทาง หนึ่งในนั้นคือ ความเป็นไปไม่ได้ กล่าวคือ ยิ่งเป็นไปได้ยากในโลกจริงเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกฟินมากเท่านั้น
ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่แค่ในนิยายวาย แต่อาจรวมไปถึงนิยายโรมานซ์ชนิดอื่นในสังคมไทยด้วย เรามีความสุขกับการเห็นคนต่างชนชั้นมีความรักระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกเศรษฐีตกหลุมรักคนมีฐานะยากจน (แต่มีความขยัน) หรือในนิยายพีเรียดหลาย ๆ เรื่องที่ผู้ดีมีความรักกับสามัญชน นิยายวายก็เช่นกัน
คนอ่านสามารถมีความสุขกับการได้เห็นสิ่งที่เป็นได้ยากในโลกจริงมาปรากฏบนหน้ากระดาษ
จุดที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือช่วงหนึ่งนิยายวายบางเรื่อง มีการให้ตัวเอกเรียนอยู่ในคณะที่มีความเป็นชายสูงอย่างวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งการทำให้ตัวเอกเรียนวิศวะนี้ ช่วยขับเน้นความเป็นชาย อย่างน้อยก็ตามบรรทัดฐานของสังคม และทำให้ตัวละครไม่ได้เป็น “เกย์” ซึ่งสาววายบางคนไม่ชอบกับการเรียกตัวละคร ที่เป็นพระเอกหรือนายเอกว่าแบบนั้นมาก ๆ
สาววายบางกลุ่ม ‘วาย’ จึงไม่เท่ากับเกย์ เพราะวายเป็นการที่ผู้ชายรักกัน แต่เกย์นั่นรวมไปถึงกลุ่มผู้ชายออกสาวด้วย แต่ตัวละครในนิยายวายใช่ผู้ชายอกสามศอก ที่แค่บังเอิญหลงรักผู้ชายอีกคนจริง ๆ หรือเปล่า?
“ไม่ได้เป็นเกย์ แต่รักผู้ชายคนนี้คนเดียว” ความเป็นชาย เป็นหญิงในนิยายวาย
ในบทความหนึ่งที่ลงในนิตยสารสารคดีเดือนมิถุนายนปี 2564 ชื่อ “Y Culture กับอรรค บุนนาค ว่าด้วยวรรณกรรมและ Soft Power ในชีวิตจริง” อรรถ บุนนาค ได้อธิบายไว้ว่าตัวนิยายวายนั้น มีความยึดติดอยู่กับกรอบของชายหญิงค่อนข้างมาก เห็นได้จากการแบ่งบทบาทรุกและรับที่ค่อนข้างชัดเจน จนเราสามารถแยกได้ว่าใครเป็นพระเอก และใครเป็นนายเอก
จากการพูดคุย หลินซึ่งเป็นสาววายก็มองเห็นจุดนี้ไม่ต่างกัน โดยเธออธิบายว่าตัวละครพระเอกจะมีลักษณะเป็นผู้ชาย ขณะที่ตัวละครนายเอกซึ่งเป็นตัวละครที่มาแทนนางเอกในนิยายแนวโรมานซ์ปกติ จะมีลักษณะรูปร่างที่ค่อนข้างบอบบาง น่าทะนุถนอม ไปจนถึงนํ้าเสียงที่อ่อนหวาน
“มันมีลักษณะทางกายภาพของตัวละครที่บ่งบอก ร่างเล็กร่างหนา รวมถึงเสียงบางทีก็จะเป็นเสียงหวาน และนิสัยจะออกเป็นผู้หญิง”
ตัวละครในนิยายวายสำหรับหลินหลายๆ ครั้งจึงจะมีลักษณะออกไปทางตัวละครหญิง ที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้ชาย และปัญหาที่ตัวละครเหล่านั้นเผชิญ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเรื่องอย่างการยอมรับจากสังคมแต่อย่างใด หลายครั้งตัวละครที่เป็นชายรักชายก็ยังมีบทพูดที่ปฏิเสธความหลากหลายทางเพศเสียด้วยซํ้า โดยจะพบได้มากในช่วงที่อุตสาหกรรมสื่อวายไทยเพิ่งตั้งไข่เมื่อสิบปีก่อน
“ไม่ได้เป็นเกย์ แต่รักผู้ชายคนนี้คนเดียว คือ Mindset แบบ Yaoi เลยนะ มันเป็นเทรนด์ช่วงหนึ่ง นิยายวายเกือบทุกเรื่อง จะมี Mindset ประมาณนี้”
นิยายวายไทยจริง ๆ จึงไม่ได้มีรากของความเปิดกว้าง ต่อความหลากหลายทางเพศขนาดนั้น แม้กลุ่มผู้เสพหรือสาววายจะต้องพบกับการกดทับทางสังคมอยู่นานหลายปีก่อนหน้านี้ แต่ช่วงเดียวกันกับการที่สาววายถูกกดทับทางสังคม ความวายยังดูจะออกแนวเป็นการที่ผู้ชายอกสามศอกที่ชอบผู้หญิง ไปหลงรักความเป็นหญิงในตัวผู้ชายบางคน
มักจะไปขัดกับความคิดเห็นแนววายคือ ชายรักชาย ไม่ใช่เกย์ซึ่งรวมไปถึงผู้ชายที่มีท่าทางออกไปทางผู้หญิงอย่างกะเทย เมื่อบทบาทของตัวละครในเรื่องที่ว่ากันว่าเป็นผู้ชายอกสามศอก มารักกันโดยที่ไม่สนเพศสภาพ ก็ยังติดอยู่ในกรอบของความเป็นชาย-ความเป็นหญิง
ด้วยเหตุนี้เองนิยายวายจึงไม่ได้เป็นนิยายเกย์ ที่พยายามจะเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือความลื่นไหลของอัตลักษณ์ อย่างพวกทฤษฎีหลังโครงสร้างหรือทฤษฎีของ gender studies ที่พยายามจะบอกว่าเพศนั่นเป็นสิ่งที่ลื่นไหล ไม่ตายตัว แต่เป็นนิยายที่เล่าเรื่องความรักระหว่างคนสองคน โดยที่เรื่องเพศไม่ได้มีความสำคัญอะไรต่อการดำเนินเรื่องหรือปมปัญหาแม้แต่น้อย
นิยายวายกับการเปิดรับต่อความหลากหลาย
เมื่อนิยายวายไม่สร้างความตระหนักรู้แก้ผู้อ่าน นิยายวายก็ไม่มีหน้าที่ต้องทำตัวเป็นสื่อ ที่พยายามจะสร้างความตระหนักรู้ ผู้อ่านบางกลุ่มก็ไม่ได้อ่านนิยายวาย เพราะต้องการที่จะเสพดราม่าชีวิตของคนหลากหลายทางเพศ แต่ต้องการความบันเทิงเท่านั้น
แต่หลังจากที่นิยายวายผ่านร้อนผ่านหนาวมานานนับสิบปี จนมาถึงยุครุ่งเรืองที่สร้างกำไรให้กับผู้ผลิตจำนวนมาก ก็เริ่มที่จะมีการพูดคุยถกเถียงเรื่องการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ในนิยายวายอย่างจริง ๆ จัง ๆ มากยิ่งขึ้น และเห็นได้ชัดจากการที่สาววายเสียงแตก ในการสนับสนุนเรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกของทวิตเตอร์
ซึ่งเมื่อมีการแชร์ความเห็นต่างๆ ในทวิตเตอร์มายังอีกหลายกลุ่ม ก็ทำให้คนที่ไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมวาย อดสงสัยไม่ได้ด้วยเช่นกัน ว่าทำไมคนที่อ่านนิยายวายจึงมีกลุ่มที่ไม่ได้สนับสนุน เรื่องการสมรสเท่าเทียมหรือความหลากหลายทางเพศของ LGBTQ+ แถมแสดงท่าทางรังเกียจด้วยซ้ำ
ซึ่งสาววายหลายๆ คนที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เข้าใจดีในเรื่องที่ว่าทำไมสาววายจึงไม่เท่ากับกลุ่มคนที่จำเป็นต้องสนับสนุนความหลากหลาย โดยเฉพาะคนที่โตมาตั้งแต่สมัยที่นิยายวาย พยายามจะเล่าเรื่องผู้ชายที่หลงรักคนๆ หนึ่งที่บังเอิญเป็นผู้ชาย
“เอาจริง ๆ นิยายวายเพิ่งโอบรับเกย์กับ LGBT ไม่นานมานี้เอง ให้สักไม่เกิน 5-6 ปี แต่ละช่วงมันจะมีนิยายวายดีๆ ที่สำรวจ sexual identity แต่ไม่เยอะเลย แถมคนมันจะไม่อินเอาด้วย”
ในวันนี้ที่นิยายวายเริ่มที่จะมีมุมมองสนับสนุน LGBTQ+ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าสำหรับหลินที่เป็นทั้งสาววายและผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอีกเช่นกัน ที่มองว่าสองส่วนนี้แยกจากกันได้ และแม้นิยายวายจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่สุดท้ายนิยายวายก็ยังเป็นนิยายวาย ไม่ได้เป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม แต่เป็นเพียงผลงานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และมีลักษณะที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองตลาดแบบหนึ่ง
“บางครั้งถ้าเราต้องการอ่านแบบไม่คิดมาก ก็จะเลือกจากรสนิยมที่ชอบ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกจาก trope ที่ชอบ เช่น arranged marriage ที่มันไม่ต้องมีพล็อตซับซ้อน ไม่ต้องคิดมาก ตัวละครมันจะเป็นแบบไหนก็ได้ นายเอกจะสาวสุดก็ตามใจ แค่ไม่มีฉากข่มขืนก็พอ”
ด้วยจุดนี้เองที่หลินมองว่าสุดท้ายนิยายเกย์ที่เขียนขึ้นเพื่อสนับสนุน LGBTQ+ ก็จะไม่กลายเป็นหนึ่งเดียวกับนิยายวาย แม้ว่านิยายวายจะโอบรับต่อความหลากหลายมากขึ้นก็ตาม
“ถ้าให้พูดตรง ๆ นิยาย LGBT กับนิยายวาย มันคงไม่ทาบเส้นกันอะ ถ้าให้ความเห็นส่วนตัวนะนิยาย LGBT จะผันตัวไปเป็น YA (Young adult) ส่วนนิยายวายจะยังคงเป็นนิยายวาย เหมือนนิยายรักประโลมโลกชีคทะเลทราย มาเฟีย ซีอีโอ กับนิยายที่ explore ความรักและความสัมพันธ์รอบข้างที่แยกออกจากกัน”
เช่นกันกับนิยายวายที่ดูแล้วน่าจะยากที่จะทับเส้นกับนิยายเกย์ สาววายก็เสียงแตกเป็นสองกลุ่ม และมักจะมีการโต้เถียงกับผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอยู่เป็นระยะ ดังจะเห็นได้ในทวิตเตอร์จำนวนมากที่สาววายพยายามจะแยกว่าวายไม่เท่ากับการเป็นเกย์ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีทั้งสาววายและไม่ใช่สาววาย ก็พยายามจะอธิบายว่าชายรักชายมีความหมายเท่ากับเกย์
“สาววายไม่ได้มีหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อ LGBT แต่ถ้าสาววายยังเป็นมนุษย์ และถ้าเราพูดถึงประเด็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มันก็ควรมีหน้าที่ที่ต้องทำแบบนั้น”