“สวัสดีครับผมชื่อต้าร์อยู่ ป.2 น้องสาวผมชื่อแก้วอยู่ ป.1 ส่วนคนเล็กสุดเป็นเด็กพิเศษครับชื่อแสน ตอนนี้น้อง ๆ ร้องหาแม่กันทุกวัน แม่บอกว่าเดี๋ยวก็กลับมาแล้ว…ผมอยากถามแม่ว่า แม่อยู่ที่นั่น แม่สบายดีไหมครับ”
ภายใต้ห้องสี่เหลี่ยมขนาด 3×3 ที่ยัดทุกสรรพสิ่งทั้งเสื้อผ้า อาหาร เตียงนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้าร์ แก้ว แสน สามพี่น้อง อาศัยอยู่รวมกัน ในวันที่แม่ของพวกเขาต้องจากบ้านไปเพราะโควิด ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับคนเป็นพ่อ ในทุกค่ำคืน เด็ก ๆ ต่างร้องคิดถึงแม่ อยากให้แม่ของพวกเขานั้นกลับมาหา
“แม่สบายดี และคิดถึงพวกเราทุกวัน”
ตุ๋ม อภินัยประเสริฐ เป็นหนึ่งในกรณีแม่ที่ติดเชื้อโควิด แต่ลูก ๆ ของเธอไม่ติดเชื้อ จนทำให้เธอไม่สามารถอยู่ดูแลลูกได้เหมือนดั่งเคย
“ตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่ Hospitel ของ รพ.รามาธิบดี แยกออกมาจากลูกแบบนี้ก็เป็นห่วงและคิดถึง จะกินอยู่อย่างไร ยิ่งคนเล็กเป็นเด็กพิเศษ ต้องดูแลเขามากกว่าเด็กคนอื่น” ตุ๋มกล่าว
เธอมีลูกทั้งหมด 3 คน ทั้งสามเป็นเด็กร่าเริงไม่ต่างกัน โดยคนสุดท้องเป็นเด็กที่มีภาวะออทิสติก จึงทำให้ตุ๋มเป็นห่วงเรื่องการเป็นอยู่
“ปัญหาตอนนี้เรามาติดโควิด เจ้าของบ้านเช่าเขาไม่อยากให้เราอยู่ แต่จะให้เราไปไหน ไม่มีที่ไปตังก็ไม่มี เราก็ขอเขาว่า ‘ขออยู่ตรงนี้ก่อน ขอให้หนูออกจากที่รักษาตัวก่อน เพราะมาไล่หนูอย่างนี้ แล้วลูกหนูจะไปอยู่อย่างไร’”
โดยก่อนหน้าที่ตุ๋มจะติดโควิด เธอทำงานรับจ้างรีดผ้า มาถึงช่วงโควิดระบาดงานน้อยลง รายได้ลดลง ยิ่งมาติดโควิดซ้ำอีก ทั้งครอบครัวต่างก็ต้องแบกรับความเดือดร้อนร่วมกัน รวมทั้งเรื่องอนาคตของเด็ก ๆ ทั้ง 3 คน
“คนเล็ก 5 ขวบแล้ว ยังไม่สามารถพาเขาไปเข้าเรียนได้เลย ด้วยภาระทางชีวิตเรา ส่วนลูกอีก 2 คน ตอนนี้โรงเรียนให้เรียนออนไลน์ ก็ไม่สามารถเข้าระบบเรียนออนไลน์ แบบเพื่อน ๆ คนอื่นเขาได้”
ทั้งครอบครัวตอนนี้ ตุ๋มเล่าว่ามีโทรศัพท์ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เครื่องเดียว คือเครื่องที่เธอกำลังใช้โทรศัพท์คุยกับเรา (ทั้งครอบครัวมีโทรศัพท์ 3 เครื่อง หนึ่งเครื่องเป็นแบบปุ่มกด อีกเครื่องอยู่ในสภาพที่ใกล้พังเต็มที และเครื่องที่ 3 คือที่ตุ๋มใช้งาน) เธอจำใจต้องหยิบติดมา เพราะจำเป็นต้องใช้ในการโทรคุยกับหมอ (Telemedicine) ซึ่งเครื่องของเธอที่ใช้อยู่นี้ก็ใช่ว่าจะดี ตุ๋มเล่าว่ามันไม่สามารถรองรับระบบการเรียนออนไลน์ ที่ทางครูส่งมาให้ลูกเธอเรียนได้
“ตอนนี้โรงเรียนปิดเทอมอยู่” คือเสียงของแก้ว ที่ยังไม่รู้ว่าเพื่อนคนอื่นกำลังได้เรียนหนังสืออยู่ แต่เธอกลับไม่มีโอกาสได้เรียน
“ตอนนี้เรียนออนไลน์ ผมเรียนไม่ได้ด้วยครับเพราะไม่มีมือถือ คงเรียนไม่ทันเพื่อน” คือคำกล่าวของต้าร์ ลูกชายคนโต
“ลูกหนูก็อยากจะเรียนออนไลน์เหมือนลูกคนอื่นเขานะ แต่หนูก็ไม่รู้วิธีที่จะหาทางช่วยลูกอย่างไร” คือความเจ็บใจของคนเป็นแม่ที่อยากให้ลูกได้มีโอกาสเรียน
นอกจากความเป็นห่วงเรื่องการศึกษา ตุ๋มเล่าต่อว่าวันที่เธอดูข่าวแม่คนอื่นเสียชีวิตจากโควิด และทำให้ลูกกลายเป็นเด็กกำพร้า อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธอรู้ผลว่าตัวเองติดโควิด มันจึงยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่า
“ตอนเห็นข่าวเรากลัวมาก เก็บเอาไปคิดทุกวัน ตอนแรกที่รู้ว่าติดคือรับไม่ได้ร้องไห้ทุกวัน เคยคิด ‘ถ้าหนูไม่อยู่แล้วลูกหนูเขาจะอยู่อย่างไร ถ้าขาดหนูไปคนนึง ลูก ๆ หนู เขาก็อยู่กันไม่ได้หรอก’ บางทีก็สงสัยเหมือนกันว่าคนเป็นโรคนี้ในสังคมนี้ มันมีสิทธิ์ตายกันทุกคนเลยใช่ไหม?”
ซึ่งจริง ๆ แล้วอัตราการเสียชีวิตจากโควิดในไทยอยู่ที่ 0.86% หากคนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข ได้อย่างเท่าเทียม โอกาสของการรอดชีวิตแท้จริงแล้ว ควรขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ในสังคมแห่งนี้โอกาสรอดชีวิตบางส่วน กับขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม
โดยในช่วงเวลาที่สายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ต้องแยกจากกันชั่วคราวนั้น คนที่ต้องรับหน้าที่ทั้งหมด ทั้งการหารายได้และเลี้ยงดูลูกจึงตกไปอยู่ที่คนเป็นพ่อ
ชาติชาย เชยอรุณ ระหว่างหางานรับจ้างทั่วไปภายในชุมชน
“ถ้ามันไม่พอ คนเป็นพ่อต้องหาให้มันพอ”
“มันเครียดนะบางทีผมยังแอบไปร้องไห้คนเดียว ที่ต้องทั้งเลี้ยงลูกและหาเงิน คิดอยากให้รถชนตายเหมือนกัน พูดกันตามตรงบางทีผมก็มีโมโหลูก”
ชาติชาย เชยอรุณ อายุ 41 ปี พ่อเลี้ยงเดี่ยวจำเป็นในช่วงเวลาอย่างน้อย ๆ 14 วัน ที่ตุ๋ม รักษาตัวอยู่ รพ. โดยชาติชายมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทั้งขนเหล็ก ขนของต่าง ๆ ตามแต่จะมีคนจ้าง
“ไม่มีใครช่วย ก็ต้องยืนให้ได้ด้วยตัวเอง ตอนนี้มีรับจ้างแบกเหล็กให้เขาไปขาย แต่ก็แบ่งเวลาทำงานลำบาก ต้องรอให้ลูก ๆ หลับก่อน ถึงจะออกมาทำงานได้”
โดยชาติชายจะออกไปหาเงินในช่วงเช้ามืดที่ลูกยังไม่ตื่น หรือบางทีจะไปรอรับแจกเงินตรงใต้ทางด่วน แต่รายได้ของเขาคนเดียวตอนนี้ อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูลูก
“คิดวนไปวนมา ว่าจะทำอย่างไรต่อ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้คือ จะหาให้ลูกได้มีกินอย่างไร 4 ชีวิตตอนนี้ ต้องใช้เงินวันละ 3-4 ร้อยบาท ถ้ามันไม่พอยังไงผมก็ต้องหาให้มันพอ ต้องดิ้นรนให้ถึงที่สุด”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของบ้านเช่า ที่เจ้าของบ้านกำลังจะไล่ครอบครัวนี้ออกไป เพราะกลัวติดโควิด ทั้ง ๆ ที่ ตัวชาติชาย และลูก ๆ ไปตรวจคัดครองและไม่พบเชื้อกันหมดแล้ว
“เจ้าของบ้านเขาก็จะไล่ เพราะแม่ติดโควิด เหมือนปัญหากำลังเข้ามารุมล้อมผมพร้อม ๆ กัน ทั้งต้องเลี้ยงลูก ที่อยู่อาศัย หาเงิน บางครั้งผมยังแอบร้องไห้คนเดียว เราเห็นสภาพลูกแล้ว บางวันก็ไม่ได้กินข้าว นอกจากมาม่า”
โดยตอนนี้ ณ ชุมชนหลังอาคารสงเคราะห์ยมราช (ซอยสวรรคโลก 1) ชาติชายบอกว่าติดโควิดกันหลายคน และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด จากการลงพื้นที่ชุมชนพบว่า มีทั้งผู้ป่วยติดเตียง คนแก่ คนผลตรวจติดเชื้อและต้องอาศัยอยู่ร่วมกับคนชุมชนระหว่างรอเตียง ครอบครัวของชาติชายคือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกับต้าร์ แก้ว แสน 3 เยาวชน ผู้ตกหล่นจากการดูแลของรัฐ
ในวันที่เด็กเดียวดาย รัฐหยิบยื่นความช่วยเหลือใดมา
“ตอนนี้ตัวเลขเยาวชนที่เข้ามาที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนมีทั้งหมด 30 เคส มี 3 เคสที่แม่เสียชีวิต ส่วนอีก 27 เคส คือ พ่อ-แม่ติดแต่ยังรักษาตัวอยู่ รพ.”
อุไร เล็กน้อย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงสถานการณ์ตอนนี้ที่ทางกรมฯ บอกว่ายังรับมือไหว โดยอย่างในกรณีของเด็กหญิงวัย 9 ขวบและ 11 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพัง และหลังจากที่แม่เสียชีวิตจากโควิด ทำให้เด็ก 2 คน กลายเป็นเด็กกำพร้านั้น อุไรกล่าวว่า
“ตอนนี้เด็กอยู่ในกระบวนการรักษาของ รพ.บางพลี โดยมีนักสังคมสังเคราะห์ใน รพ. ช่วยดูแลจนกว่าน้องจากออกจาก รพ.
“หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการสังคมสงเคราะห์ของเรา โดยเริ่มจากสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าเด็กมีญาติไหม ถ้าญาติรับเด็กไปอุปการะ ก็จบกระบวนการของเรา แต่ถ้าไม่รับจะเข้าสู่กระบวนการหาครอบครัวอุปถัมภ์ คือมีคนที่เขาสนใจจะดูแลเด็ก ขอไว้เป็นบุตรบุญธรรม แต่ถ้าไม่มีครอบครัวอุปถัมภ์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการหาสถานสงเคราะห์ ที่เราจะรับดูแลจนเด็กอายุ 24 ปี”
แต่อย่างไรก็ดีอุไรมองว่า อยากให้สถานสงเคราะห์เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะอยากให้เด็กได้เติบโตอยู่ในระบบครอบครัวมากกว่า เนื่องจากต่อให้สถานสงเคราะห์มีปัจจัยพื้นฐานดีเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถทดแทนความอบอุ่นที่ได้รับจากครอบครัว
โดยแนวโน้มในอนาคตทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่ามันจะวิกฤตมากขึ้นเพียงใด สิ่งที่ทางกรมฯ ทำได้ตอนนี้ จึงเป็นการสำรวจพื้นที่สถานสงเคราะห์เดิมว่า จะสามารถรองรับจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดได้อีกจำนวนเท่าใด
ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลก อ้างอิงผลการศึกษาจากวารสาร The Lancet ระบุว่า มีเด็กทั่วโลกราว 1.5 ล้านคนกลายเป็นกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่, ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่เป็นผู้ดูแล เสียชีวิตจากโรคโควิด19 ในช่วงตั้งแต่ 14 เดือนแรกที่เกิดการระบาด
หรืออย่างในประเทศอินเดียที่มีเด็กกำพร้าจากโควิด ไม่น้อยกว่าหนึ่งพันราย ได้มีการประกาศช่วยเหลือออกมาอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ทั้งเงินช่วยเหลือรายเดือน เดือนละ 4,000 รูปี จนถึงอายุ 18 ปี รวมทั้งทุนการศึกษา ในขณะที่ประเทศไทย อุไรกล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือในตอนนี้ว่า
“เราอาจจะต้องบูรณาการทรัพยากรจากส่วนอื่นมาช่วยกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนเช่น เรามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, และสถาบันราชประชาสมาสัย ที่เข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา สามารถเรียนที่ รร.ราชประชานุเคราะห์ ทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”
เมื่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่สามารถจะดูแลและช่วยเหลือเด็กได้ทุกคน และทุกด้านได้แต่เพียงผู้เดียว การอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ดูจะเป็นทางเลือกที่ไปกันได้ กับบริบทของสังคมไทย
หากรัฐไม่ไหว ฝากให้คนอื่นช่วยดูแล
“ป้าคิดว่ารัฐลงทุนในเรื่องของการช่วยเหลือเด็ก และครอบครัวน้อยเกินไป ทุกวันนี้มีเด็กจำนวนมากที่ถูกทิ้ง ถูกเทจากรัฐ ‘เด็กที่ติดเชื้อ พ่อแม่เสียชีวิต ไม่ได้เรียนหนังสือ’ สิ่งเหล่านี้มันล้วนเกิดจากการไม่ลงทุน อย่างมีวิสัยทัศน์ของรัฐบาล”
ป้ามล–ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับเด็ก และเห็นโครงสร้างระบบการดูแลเด็กและเยาวชนของประเทศนี้มานาน ทิชากล่าวกับเราถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่กระทรวง พม. ภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลและรับผิดชอบเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดว่า
“ไม่อยากให้ พม. เลือกทางเลือกสถานสงเคราะห์เพื่อรองรับเด็ก ถ้าวันนี้หากแม่เขาหรือคนที่เลี้ยงดูเกิดเสียชีวิต การนำเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ มันคือการเปิดแผลที่ทั้งลึก ทั้งกว้างมาก”
ทิชาให้เหตุผลว่า เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ใช่เด็กกำพร้าตั้งแต่กำเนิด พวกเขาเคยอยู่ในระบบของครอบครัว การนำเข้าสู่สถานสงเคราะห์จะทำให้เด็กเหล่านี้ปรับตัวลำบาก โดยทิชายกเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เคยเกิดขึ้นในปี 2547 ตอนนั้นทำให้เกิดเด็กกำพร้าจำนวนมาก และภาครัฐในสมัยนั้นเลือกใช้วิธีเปิด รร.ศึกษาสงเคราะห์ เพื่อรับเด็กมาดูแล ซึ่งทิชารู้สึกว่า
“ลึก ๆ เราไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ กับการเอาเด็กไปอยู่ในสถานที่หนึ่ง ซึ่งมันขาดความเป็นครอบครัว ขาดความเป็นธรรมชาติ ที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับการซัปพอร์ต เพื่อเติบโตอย่างปกติที่สุด”
เมื่อกลับมาที่เหตุการณ์ปัจจุบัน ทิชามองว่า จริง ๆ แล้วในประเทศไทย เรามีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ทำงานเรื่องเด็กหลายแห่งและทำงานมานาน กระทรวง พม. เอง ควรที่จะมีการจัดให้หลาย ๆ หน่วยงานได้มาพูดคุยร่วมกันในเรื่องนี้ เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคน
“กระทรวง พม. อย่าเพิ่งเชื่อมั่นในทรัพยากรของตัวเอง หรือถ้าหากคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ก็แค่สนับสนุนให้องค์กรอื่นเขาได้ทำ ซึ่ง พม. เองก็รู้อยู่แล้วว่า ภายใต้ลักษณะงานเช่นนี้ มีกลุ่มหรือหน่วยงานใดที่เชี่ยวชาญบ้าง เพียงแต่ พม.อาจจะยังอ่อนไหว ที่จะออกจากกรอบแล้วมานั่งคุยกับหน่วยงานอื่น ๆ ”
โดยทิชายกตัวอย่าง “มูลนิธิสหทัย” ที่มีโครงการครอบครัวอุปการะ เป็นการจัดหาครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้ต้องเข้ารับการเลี้ยงดูในสถานสงเคราะห์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน โดยทางมูลนิธิจะติดตามและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กเหล่านี้ในทุกด้าน
ในตอนท้าย ทิชาเองเธอก็เสียดายว่าจริง ๆ รัฐมีบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิ ที่ทำให้เกิดเด็กกำพร้าจำนวนมาก แม้จะผ่านมานาน แต่เธอก็อยากสะกิดต่อมความจำ ให้รัฐไม่หลงลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้น กลับกันทุกวันนี้เธอมองว่า เพิ่งจะเห็นข่าวคราวการเคลื่อนไหวทำงานเชิงรุก ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้ว จะเป็นการขยับตัวที่ช้าเกินไปหรือไม่ ?
“ก็คิดถึงทุกวัน เราอยากกลับไปหาลูกเร็ว ๆ กลับไปอยู่กับเขา ทำกับข้าวกินด้วยกัน ทำในสิ่งที่เคยทำกับเขาทุกวัน”
“แม่ไม่อยู่ผมได้กินแต่มาม่า ปลากระป๋อง อยากให้แม่รีบกลับมาทำไข่เจียวให้พวกผมกิน แม่ยังไม่ได้บอกผมเลยว่าจะกลับมาวันไหน อยากให้แม่กลับมาบ้านไวไว”
เรื่องราวของตุ๋มตัวแทนของแม่คนหนึ่งที่ต้องพรากจากลูกชั่วคราวเพราะโควิด และต้าร์ตัวแทนของเด็กคนหนึ่ง ที่รอการกลับมาของคนเป็นแม่อันเป็นที่รักของเขา
ความผูกพันและสายใยระหว่างแม่ลูก เป็นสิ่งไม่ยากนักไม่ว่าเราจะเป็นประชาชนคนธรรมดา หรือนายกรัฐมนตรีจะทำความเข้าใจ เพราะเราล้วนแต่เคยเป็นเด็กน้อยคนนั้น คนที่โหยหาอ้อมกอดของแม่หรือคนที่รัก ต้าร์อาจโชคดีอีกไม่นานแม่เขาคงได้กลับมาหา แต่กลับลูกคนอื่น ๆ อาจไม่โชคดีเช่นนั้น
สุดท้ายแล้วการแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าจากโควิดที่ดีที่สุด ก็คือการที่รัฐเร่งแก้ไขปัญหาโควิดอย่างจริงจัง เพราะยิ่งปล่อยให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเท่ากับว่าคือการฆ่าคนให้ตายทางตรง และปล่อยให้คนที่เขารักตายทางอ้อม เมื่อวันที่พ่อแม่หรือใครคนหนึ่งต้องจากไป โลกของพวกเขาคงไม่มีวันเหมือนเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
– https://www.infoquest.co.th/2021/109303
– https://timesofindia.indiatimes.com/city/lucknow/healing-touch-govt-clears-aid-for-2224-covid-orphans/articleshow/83969399.cms