เป็นอาสา อยู่ข้างคนป่วยโควิด หยุดไม่ได้ แต่รัฐก็ไม่ไว้ใจ - Decode
Reading Time: 5 minutes

ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หากไม่มีกลุ่มคนทำงานอาสา จากหลากหลายกลุ่มทั้ง

OxyFightCovid ที่ดูแลเรื่องออกซิเจนให้กับคนป่วย  
HackvaxKorat 2021 ที่เข้ามาช่วยจัดการระบบการฉีดวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ 
Food For Fighters ที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องอาหาร
เส้นด้าย ที่ทำงานรับ-ส่งผู้ป่วย  
คลองเตยดีจัง กลุ่มที่ช่วยประคองสถานการณ์ในคลองเตย
Covid19Matching กลุ่มที่ทำงานอยู่ข้างหลัง ในการช่วยเป็นตัวกลางช้อนผู้คนเข้าสู่ระบบ 
และศาลายาเนี่ยน กลุ่มที่รับผิดชอบดูแลความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ตนเอง

รวมทั้งอาสากลุ่มอื่น ๆ ที่จะพยายามอุดรอยรั่วของระบบ แต่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด “จะไปต่อยังไงให้ไหว”คงเป็นคำถามแทงใจดำอาสาสมัครที่เสียน้ำตากับการตายรายวัน เพราะชั่วโมงนี้การส่งต่อผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงแทบจะเป็นไปได้ยาก และไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์การติดเชื้อและการเสียชีวิตในบ้าน-ข้างถนนจะบรรเทาเบาบางลง


OxyFightCovid หยุดไม่ได้ เดินต่อก็ยังไม่เห็นปลายทาง

วันนี้คิดว่ายังสามารถประคองทีม ให้ทำงานอาสาตรงนี้ต่อไปได้ ตอนทำ OxyFightCovid ผ่านมา 1 เดือน คิดว่าจะพอกันแล้วเพราะเริ่มไม่ไหว แต่พอจะหยุด ผู้ป่วยก็ติดต่อเข้ามา เราจึงหยุดทำไม่ได้ เราเห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราอยู่”

OxyFightCovid คือทีมช่วยเหลือส่งต่อเครื่องช่วยหายใจให้ผู้ป่วยโควิด19 เป็นทีมอาสาเล็กๆ แต่ภารกิจที่พวกเขาทำนั้นสำคัญ ขึ้นอยู่กับความเป็นความตาย ความเจ็บปวดของผู้คน และไม่ใช่เพียงแค่ผู้คนที่พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือเท่านั้นที่เจ็บปวด คนทำงานอย่าง ต้าร์ – คชานนท์ แข็งการ ตัวแทนกลุ่ม OxyFightCovid ก็รู้สึกไม่แตกต่างกัน

“ถามว่าไหวไหม มันเหนื่อยจนพวกเราร้องไห้กันทุกวัน มาทำตรงนี้มันไม่ใช่แค่เหนื่อยกาย มันทั้งเหนื่อยใจ เจอภาวะความเครียด หดหู่ การสูญเสีย การตายคามือ กำมือกันอยู่แล้วตาย 

“ถามใจตรง ๆ มันก็ไม่ไหว อย่างเมื่อเช้ามันไม่อยากลุกไปทำงาน อยากจะปล่อยทุกอย่างทิ้งไป แต่สุดท้ายมันปล่อยไม่ได้ เพราะโทรศัพท์ ข้อความดังเข้ามาตลอดเวลา” 

แต่ถึงจะรู้สึกเหนื่อยเพียงใด เราคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงทำให้ คนทำงานอาสามีกำลังใจทำงานต่อ ดังที่คชานนท์กล่าว

“ทุกวันจะมีผู้ป่วยที่หายแล้ว อาการดีขึ้น ตรงนี้มันเหมือนน้ำที่มาชโลมใจทีมงาน ทำให้เห็นว่าตอนแรกเขานอนรอความตายแต่วันนี้เขาดีขึ้น ตรงนี้ทำให้เติมเต็มความสุขของเรา ที่เจอเรื่องเครียด หดหู่ กดดันมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา”

3 เดือนที่ผ่านมา OxyFightCovid ค่อยๆ เติบโตขึ้น จากการรับเคสวันละ 1-2 เคส จนถึงปัจจุบันคชานนท์บอกว่าต้องรับถึง 10-20 เคสต่อวัน “สถานการณ์มันหนักขึ้น โดยเฉพาะเคสสีแดง ที่มีโอกาสไม่รอดชีวิตสูง”

โดยทรัพยากรของทางกลุ่ม ตอนนี้มีรถแอมบูแลนซ์ 5 คัน รถขนย้ายอุปกรณ์ 2 คัน และรถของเครือข่ายอีกประมาณ 10 คัน ทางกลุ่มสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ตามกำลังของทรัพยากรที่มี ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมตอนนี้ ยังมีเคสอีกมากมายที่พวกเขารองรับได้ไม่ทั้งหมด ดังนั้นทางกลุ่มจึงต้องเลือก แม้ไม่อยากเลือกก็ตาม

“ทุกวันนี้เราต้องเลือกว่าจะไปช่วยใคร เราทำกันจนข้ามข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ตอนนี้ที่กลุ่มเราดูผู้ป่วยสีแดง ทำได้เพียงเอาถังออกซิเจนไปช่วย แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาอื่น ๆ ได้  สุดท้ายเราก็ไม่รู้ว่าเสียงที่เราพูดออกไป มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดได้บ้าง


HackvaxKorat 2021 จัดการระบบข้อมูล ไม่ใช่ฟังแต่ผู้ไม่เชี่ยวชาญ

ถ้าจะไปต่อ เราคงต้องเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน หน่วยงานรัฐต้องยอมรับว่าวันนี้ รัฐไม่ได้ช่วยประชาชนอย่างเดียว แต่วันนี้ภาคประชาชนต้องเข้ามาช่วยรัฐทำงาน และหาจุดยืนร่วมกัน”

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุดทด ผู้ประกอบการ Startup-SMEs จ.นครราชสีมา ตัวแทนจากกลุ่ม HackvaxKorat 2021 กลุ่มอาสาสมัครที่เริ่มต้นทำเรื่อง การจัดการระบบให้คนมาฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพในจังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะขยายโมเดลดังกล่าวมาใช้ ณ สถานีกลางบางซื่อ โดยถอดต้นแบบโมเดลมาจาก  MIT Media lab สหรัฐอเมริกา

“ตอนนี้เราขยับมาทำงานที่ลึกขึ้น  ทีมเริ่มเห็นความซ้ำซ้อนในเรื่องของการรับข้อมูล กล่าวคือ ผู้เดือดร้อน 1 คน จะติดต่อเข้ามาทางทุกเพจ 4-5 เพจ  มันเลยกลายเป็น 4-5 เคสที่เกิดขึ้น และทุกคนก็จะบอกว่าเดือดร้อนพร้อมกันหมด แต่จริงๆ แล้ว พอข้อมูลมารวมกันตรงกลาง มันเป็นคนเดียว เมื่อเป็นแบบนี้จาก 5 ก็จะเหลือ 1  ช่วยให้เราเข้าไปช่วยเหลือได้ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด”

ข้อเสนอของ Hackvax มารุตกล่าวว่า ตอนนี้ในประเทศเราระบบฐานข้อมูลยังไม่ถูกพัฒนามาเพื่อรองรับ สถานการณ์วิกฤตขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงมีความจำเป็นต้องดึงเอาระบบเทคโนโลยี ใช้ Database ทำให้ข้อมูลรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และนำข้อมูลกลับมาไว้ ณ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากเป็นเช่นนี้ทุกคนที่เดือดร้อน ข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวมมาอยู่ ณ ศูนย์กลาง ทำให้การเข้าไปช่วยเหลือ ไม่เกิดความซับซ้อน

แต่ปัจจุบันพบว่า เพียงแค่ช่องทางการติดต่อขอความช่วยเหลือของรัฐอย่างเดียว ก็กระจัดกระจาย และทำให้เกิดความซับซ้อนของการรวบรวมข้อมูลอย่างมาก เพราะมีทั้งเบอร์สายด่วน  1668 กรมการแพทย์, 1442 กรมควบคุมโรค, 1330 สปสช., 1646 แพทย์ฉุกเฉิน กทม., 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ, 1667 ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด19 เป็นต้น และช่องทางดังกล่าวก็ไม่สามารถช้อนคนเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด 

“ผู้นำ ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ต้องเปิดใจรับฟังคนทำงานอาสามากขึ้น ไม่ใช่ฟังแต่กลุ่มเดิม ๆ ที่แก้ไขปัญหาอยู่ ซึ่งมันแก้ไขไม่ได้ เพราะโลกวันนี้มันไม่ใช่โลกของคนอายุเยอะ ๆ แล้ว”

ในฐานะตัวแทนกลุ่มอาสาที่เน้นเรื่องการจัดการระบบข้อมูล มารุตมองว่า รัฐต้องมองภาพที่ใหญ่ขึ้น อย่ามองปัญหาเพียงแค่ในประเทศตนเอง เพราะจะทำให้จมอยู่กับปัญหาและหาทางแก้ไม่ออก

เพราะวันนี้ปัญหาที่เรากำลังเจอ ประเทศอินเดียและอาเจนติน่า กำลังผ่านไปได้แล้ว รวมถึงประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เจอปัญหาในปีก่อน เพราะฉะนั้นมันมี Know-how ของประเทศเหล่านี้อยู่ ที่ทางรัฐบาลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ แต่ถ้าไม่มีความสามารถในการเข้าถึงหรือเข้าใจ มารุตเองบอกว่า 

“ถ้าภาครัฐกำลังจมอยู่กับปัญหา หันมาถามพวกเราก็ได้ พวกเราจะพยายามช่วยหาองค์ความรู้ที่สูงกว่า ในระดับโลกมาช่วย เราสามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น และนำองค์ความรู้มาปรับใช้ได้ รัฐควรหันมาฟังพวกเราหน่อย ไม่ใช่ฟังแต่ผู้ไม่เชี่ยวชาญ

Food For Fighters ต้องไปต่อเพราะกองทัพเดินด้วยท้อง

ไปต่อไหม ? เราคงไปต่อ ปีที่แล้วเราทำข้าวกล่องไป 30,000 กล่อง ก็เยอะมากแล้ว แต่ปีนี้เฉพาะแค่เดือนเดียวเราทำข้าวกล่องไป 200,000 กล่อง เรารู้สึกว่ามันบ้าไปแล้ว”

Food For Fighters กลุ่มที่ก่อตั้งโดย เตเต้ – พันชนะ วัฒนเสถียร ตั้งแต่การระบาดของโควิดรอบแรก กลุ่มมีการเปิดระดมทุนจัดหาข้าวกล่อง ส่งไปให้บุคลากรทางการแพทย์ จนมาถึงการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน Food For Fighters ทำหน้าที่เป็น Food Supply กระจายอาหารให้กับ ชุมชนแออัด รพ.สนาม และทุกๆ พื้นที่ ที่ขาดแคลนอาหาร

โดยสิ่งที่ Food For Fighters กำลังทำอยู่นั้น เตเต้กล่าวว่ามันสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐใน 2 ข้อดังนี้

“1. มันสะท้อนความล้มเหลว การขาดความมั่นคงทางอาหารใจกลาง กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในชุมชนแออัดที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

“2.ไม่ว่ารัฐจะออกนโยบายอะไรมา จะเป็นลักษณะตำรวจจับโจรคือ ตำรวจจะช้าเสมอ เวลาผู้มีอำนาจจะคิดอะไรขึ้นมา คิดง่ายเกินนโยบายออกง่ายไป แต่กระบวนการทำนั้นไม่เคยชัดเจน และไม่เคยมี จนท.รัฐ เข้าไปอย่างทันท่วงที”

นอกจากนี้เธอยังบอกว่า ตอนนี้งานอาสาของเธอเดินทางมาถึง การต้องขอรับบริจาคถุงบรรจุศพแล้ว สำหรับเธอมันคือเรื่องที่เจ็บปวด และความสาหัสของเรื่องนี้คือ 

“ทุกครั้งที่ รพ. ต้องการของอะไรก็แล้วแต่ จะมีความเกรงใจผู้บังคับบัญชา ไม่กล้าขอรับบริจาค นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ใหญ่ คนที่อยู่ข้างบน อาจจะไม่เคยได้ยินเสียง จากคนทำงานตัวเล็ก ๆ เลย”

เส้นด้าย – ได้ที่ไม่ใช้เส้น แต่จำเป็นต้องใช้เงิน

“เส้นด้ายยังไปต่อแบบหืดขึ้นคอ และไม่หยุดเพียงเท่านี้ ไม่ว่าต่อไปจะมีหรือไม่มีโควิด เส้นด้ายจะพยายามเป็นเส้นด้าย ที่เชื่อมกับหลายภาคส่วนที่ต่อกันไม่ติด

“แต่อย่างไรก็ดีเราไม่อยากเป็นอาสาที่จะแก้ไข อุดรูรั่วไปเรื่อยๆ เราพยายามพูดเรื่องนโยบาย ถ้าเปลี่ยนนโยบาย จะแก้ไขปัญหาได้ในหลายอย่าง”

คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่าจุดเริ่มต้นของกลุ่มเส้นด้าย มาจากการตายของชายที่ชื่อว่า ‘อัพ VGB’ อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต ที่เสียชีวิตจากโควิดเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของเส้นด้ายคือ อุ๋ย กุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของอัพ VGB ร่วมกับคริส โปตระนันทน์ และเครือข่ายคนอื่นๆ ในบทบาทการเป็นรถรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ จากวันนั้น 27 เมษายน ถึงวันนี้ 14 กรกฎาคม เวลาเกือบ 3 เดือนที่เส้นด้ายยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป 

มีช่วงที่เคสน้อยลงจนเราคุยกันในทีมว่า ไม่ต้องมีเส้นด้ายอีกต่อไปแล้วก็ได้ แต่หลังจากวันที่ 27 มิถุนายน ปรากฏว่ามันหยุดไม่ได้ รพ.เอกชนที่เรามีเครือข่ายด้วย เตียงเต็มจริง ๆ ตอนนี้” 

คริส ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า เส้นด้ายเองพยายามช่วยแก้ไขปัญหาเตียงเต็ม ด้วยการเข้าร่วมโครงการ Home isolation กับกรมการแพทย์ 

แต่อย่างไรก็ดี อาสายังคงจำกัดอยู่ที่การเป็นกลุ่มคนทำงานเล็ก ๆ ที่จะพยายามอุดรอยรั่วของระบบ แต่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ดั่งที่คริสกล่าว

“ถ้าต้องการแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องไปเปลี่ยนที่นโยบายของรัฐ อย่างเราทำเรื่องรถรับส่งคนไปตรวจโควิด พักหลังเราโดนปฏิเสธการตรวจเยอะมาก ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปปรับนโยบายการตรวจได้ ทำได้เพียงแค่ส่งเสียงออกไป

“จนตอนนี้ทางรัฐ มีการอนุมัติใช้การตรวจแบบ Rapid antigen test แต่อย่างไรก็ยังจำกัดใช้ในสถานพยาบาลอยู่ เราจึงเสนอว่า การตรวจแบบ Rapid antigen test รัฐต้องซื้อและส่งให้ทุกคนสามารถตรวจที่บ้านได้ ถ้าทำได้ จะลดภาระงานของเส้นด้ายได้มาก”

คริสเน้นย้ำว่า เส้นด้ายจะยังคงพยายามเป็นเส้นด้ายที่ช่วยตึงผ้าทุกผืน ให้เข้ามาใกล้ชิดและช่วยเหลือกันได้

“แต่สิ่งสำคัญงานอาสาจะเดินต่อไปได้จำเป็นต้องมีทรัพยากร คนไทยจำนวนมาก คุ้นเคยกับระบบอาสาที่ไม่รับเงิน (non trade volunteer)  อาสาเดินไม่ได้ถ้าไม่มีทรัพยากร ดังนั้นโมเดลการหารายได้เป็นสิ่งสำคัญมาก” และเป็นโจทย์ความอยู่รอดของคนทำงานอาสา

ศาลายาเนี่ยน (SALAYANION) จะเดินสะดวก หากรัฐไม่แทรกแซง

“ถ้าจะไปต่อ เราคงไปต่อกันให้มีความสมดุล เพราะกลุ่มเราวันธรรมดา ทุกคนต่างมีงานประจำ เสาร์ – อาทิตย์ถึงจะมารวมตัวกัน ทุกคนล้วนมีภาระหน้าที่ต่างๆ ถ้าจะเดินหน้าต่อไป คงต้องคำนึงถึงท่อน้ำเลี้ยง เงินทุนทรัพยากร ที่จะมาช่วยบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ”

กลุ่มศาลายาเนี่ยน เริ่มต้นจากกลุ่มคนรู้จักกันในแวดวงการศึกษา ที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทวีวัฒนา ศาลายา มีการรวมกลุ่มกันหลวม ๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยอาจารย์เก่ง – กฤษณะพล วัฒนวันยู ตัวแทนกลุ่มกล่าวถึงการทำงานในตอนนี้ว่า

“สถานการณ์ของกลุ่มตอนนี้ถือว่าหนักมาก นอกจากเรื่องผู้ติดเชื้อ เรื่องเศรษฐกิจก็น่าเป็นห่วง ตอนนี้ร้านค้า ร้านอาหารริมทาง หน้ามหาวิทยาลัยมหิดลหายไปกว่าครึ่ง ร้านที่เปิดอยู่คนก็มาใช้บริการน้อยลง”

ทางกลุ่มศาลายาเนี่ยน พยายามลงพื้นที่ช่วยเหลือ แต่ก็พบอุปสรรคหลายสิ่ง ทั้งเรื่องของทุนทรัพย์ และเวลาการทำงานของกลุ่มที่ทำได้เต็มที่ในช่วงเสาร์ – อาทิตย์ และอีกหนึ่งอุปสรรคก็คือ ระบบราชการ

“ผมคิดว่าระบบราชการ ระเบียบต่างๆ ไม่มีความยืดหยุ่น ยึดอยู่แต่ของเดิมๆ อย่างกลุ่มเราเอาข้าวไปแจก รัฐก็เข้ามาแทรกแซงบอกว่าห้ามรวมตัวกัน

“ เหมือนรัฐเขากลัวอะไรมากเกินไป เขาอยากคุมให้ได้แต่คุมไม่ได้ และเขาก็ไม่ยอมรับความจริงว่ามันล้มเหลว”

กฤษณะพล ให้ความคิดเห็นเสริมว่า รัฐควรส่งเสริมให้ภาคประชาชน ชุมชนได้มีโอกาสบริหารจัดการในพื้นที่กันเองบ้าง และรัฐควรจะต้องขอบคุณภาคส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยด้วยซ้ำ เพราะรัฐไม่สามารถทำได้ เพราะงานตัวเองทุกวันนี้ก็ล้นมืออยู่แล้ว

ภาครัฐเองต้องเปิดใจรับฟัง พัฒนาตัวเองไปด้วย อย่าคิดว่าประชาชนจะเป็นคนที่เห็นต่าง หรือเป็นศัตรู เราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน หลายๆ อย่างภาครัฐจะมีมุมมองที่แข็ง และมันก็ไม่เอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ”

คลองเตยดีจัง เดินหน้าต่อ ในแบบที่ชุมชนต้องยืนได้ด้วยตนเอง

คลองเตยดีจังเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมา ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด เดิมทีทำงานกับกลุ่มเยาวชนในชุมชนคลองเตย ก่อนที่ในช่วงโควิดทางกลุ่มจะผันตัวมาเป็นอีกหนึ่งกำลังหลัก ในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในชุมชนคลองเตย อ๋อมแอ๋ม – ศิริพร พรมวงศ์ ตัวแทนกลุ่มกล่าวถึงสถานการณ์ งานของคลองเตยดีจังในช่วงที่ผ่านมาว่า

“ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก เรามีการทำฐานข้อมูลและแผนที่ชุมชนไว้ เหมือนการซ้อมไฟไหม้ แต่สุดท้ายรอบแรกไฟยังไม่ไหม้ แต่ตอนนี้ไฟไหม้จริงๆ แล้ว คลองเตยจึงกลายเป็นคลัสเตอร์แรกๆ ที่เกิดขึ้น เราจึงสามารถใช้ฐานข้อมูลเดิม ที่เราทำไว้มา mapping ช่วยเรื่องถุงยังชีพ ส่งข้าวได้”

ที่จริงแล้วอ๋อมแอ๋มมองว่า ชุมชนคลองเตยมีศักยภาพในการจัดการตัวเอง เพียงแต่ขาดทรัพยากร และไม่ถูกไว้วางใจจากภาครัฐ ในการให้งบประมาณหรือองค์ความรู้ แต่สิ่งที่คลองเตยดีจังทำแตกต่างออกไป เพราะเพียงแค่ทางกลุ่มเข้าไปเซ็ตระบบ และทำงานร่วมกับชุมชนในช่วงแรก นอกเหนือจากนั้น อ๋อมแอ๋มมองว่า ควรปล่อยใช้ชุมชนได้ตัดสินใจ และให้โอกาสพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่การทำงานอย่างแท้จริง

“สิ่งที่เราทำคือการนำทรัพยากรไปให้ชุมชน และเข้าไปอบรม workshop ให้แก่เขา การทำอย่างนี้อาจจะเห็นผลช้า แต่เราเชื่อว่า มันจะทำให้เราไม่ต้องทำงานไปตลอด”

โดยที่ผ่านมาคลองเตยดีจัง ได้รับการระดมทุนจากแพลตฟอร์มเทใจมาหนึ่งล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้  ทางกลุ่มนำไปทำการจ้างงานคนในชุมชน ทั้งงานทำความสะอาดฆ่าเชื้อ, งานทำอาหาร(ครัวกลาง), งานสำรวจข้อมูล, และงานโลจิสติกส์,  ซึ่งงานทั้งหมดบริหารจัดการโดยตัวชุมชน 

“เราเข้าไปช่วยในช่วงแรก และพอเขาทำไปเรื่อยๆ ทีมเราจะถอย และให้ชุมชนทำเอง มันเป็นเรื่องระยะยาวที่จะทำให้เขาเข้มแข็ง แต่มันก็จะเหนื่อยตรงที่เราต้องทำงานกับเขาอย่างต่อเนื่อง และต้องฝึกทักษะบางอย่างที่มันขาดหายไป”

อ๋อมแอ๋มไม่ได้ตอบคำถามเช่นกลุ่มอื่นว่า จะทำงานอาสาต่อไปหรือหยุดแค่นี้ก่อน แต่จากสิ่งที่ทางกลุ่มทำมาตลอดอย่างน้อย 7 ปี จนคลองเตยดีจัง เป็นกลุ่มอาสาหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ สิ่งนี้คงเป็นตัวการันตีว่า พวกเขายังคงทำงานต่อไป 

Covid19Matching ถ้าระบบดี จะไม่มีใครตกหล่น

“ในระยะยาว ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตนเอง แต่ในการจัดการตอนนี้ กลุ่มเรายังทำต่อไปอย่างแน่นอน”

Covid19Matching เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนในหลายภาคส่วน ทั้งในแวดวงการศึกษา สื่อมวลชน และคนรุ่นใหม่ ตั้งขึ้นมาตั้งแต่การระบาดของโควิดในระลอกแรก 

โดยทำเรื่องการจับคู่ของบริจาคจากผู้ต้องการบริจาค กับทางสถานพยาบาลต่างๆ จนกระทั่งในการระบาดครั้งล่าสุด ทางกลุ่มได้มาทำงาน ช่วยประสานงานให้ผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ได้รับการช่วยเหลือ เปรียบเสมือนกลุ่มที่ช้อนคนที่ตกหล่นจากระบบ กลับเข้าสู่ระบบอย่างที่มันควรจะเป็น

“ณ ปัจจุบันเราเจอภาวะเร่งด่วนเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่เข้าสู่เดือนมิถุนายน ไม่ว่าจะเป็นเคสหนักแค่ไหน เริ่มมีข้อจำกัดของเตียง คือต่อให้รพ.สนามเหลืออยู่ ก็ไม่สามารถรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวได้แล้ว ซ้ำร้ายกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นสีเหลือง สีแดง ยิ่งไม่สามารถหาเตียงได้เลย”

ตุ้มเม้ง – อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า สิ่งที่ทางกลุ่มทำได้ตอนนี้จึงเป็น การขอความร่วมมือจากกลุ่มอื่นๆ เช่น ทีมOxyFightCovid ในการเข้าไปให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยระหว่างรอเตียง นอกจากนี้ทางกลุ่มพยายามผลักดันการตรวจแบบ Rapid antigen test ที่ประชาชนสามารถตรวจได้เอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมากตอนนี้ 

ความคิดเห็นที่ทางกลุ่มต้องการตอนนี้ จึงเป็นการปลดล็อกให้การตรวจมันเกิดขึ้น อย่างทั่วถึง หลากหลายวิธี และต้องเข้าถึงได้ฟรีด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีโอกาสคัดกรองได้เลยว่า ใครกันเป็นผู้ติดเชื้อจริง ๆ

“หากเราสามารถสร้างระบบของการตรวจที่กระจายทั่วถึง และเท่าเทียมได้จริง ๆ เราจะพบรายชื่อผู้ติดเชื้ออีกมากที่ซ่อนอยู่”

และในฐานะคนทำงานอาสา อินทิรามีความเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาต้องแก้เชิงระบบและนโยบาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแก้ในเชิงปฏิบัติการร่วมด้วย โดยต้องไม่ลืมคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คน

“สำหรับเราอาการโควิด มันกระทำกับเราทางกาย แต่สุดท้ายแล้วมันต้องโอบอุ้มอาการทางใจของผู้คนด้วย แน่นอนว่าผู้ป่วยโควิดเอง เวลาป่วยเขารู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนถูกทอดทิ้ง  และยิ่งเข้าไม่ถึงระบบการรักษา อาการทางกายของเขามันจะกระทำกับอาการทางจิตใจ 

“รวมถึงมันอาจจะต้องมีระบบที่จะมาดูแล และรักษาจิตใจของอาสาสมัครทุกคนด้วย เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราทำงานกันทุกวัน มันควรมีเวลาได้มาเช็กกันหน่อยว่า ทุกคนยังไหวใช่ไหม ยังมีแรงใช่รึเปล่า นอกจากเราจะดูแลผู้ป่วยแล้ว  ก็ขอให้อาสาทุกคนได้ดูแลอาการทางจิตใจร่วมกันด้วย

ข้อมูลของบทความชิ้นนี้นำมาจากวงเสวนา : “อาสายังไหวไหม ไปต่อหรือพอแค่นี้?” 
ในวันที่ 14 ก.ค. 2564 ผ่านช่องทางของ Page Facebook: นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)
โดยทุกท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว
และให้ความช่วยเหลือกลุ่มอาสาต่างๆ ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
OxyFightCovid: https://www.facebook.com/OxyFightTeam 
คลองเตยดีจัง: https://www.facebook.com/khlongtoeydeejung
Covid19Matching: https://www.facebook.com/covid19matching
Food For Fighter: https://www.facebook.com/FoodForFightersTH
เส้นด้าย – Zendai: https://www.facebook.com/zendai.org