Timeline เหตุการณ์
อัพ VGB
แถลงสถานการณ์ COVID-19 โดย ศบค.
8 เมษายน
ออกทริปมอเตอร์ไซค์กับเพื่อน ระหว่างทางเจอมอเตอร์ไซต์กลุ่มอื่นล้ม จึงแวะช่วยเหลือ และพูดคุยกันระหว่างทาง โดยหนึ่งในนั้นเป็น ดีเจจากร้านอาหารย่านทองหล่อ
คนที่จองโรงแรม จัดงาน การเดินทางไปต่างจังหวัด ยังทำได้เหมือนเดิม แต่ขอให้เข้มงวดตามมาตรการป้องกันโรค
15 เมษายน
ทราบข้อมูลว่า ดีเจเพื่อนคนดังกล่าวติดเชื้อโควิด 19
หากตรวจพบว่าตัวเองมีเชื้อโควิด แต่ยังไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ได้ 1.ท่านต้องหยุดงานทันที และอยู่ที่บ้าน 2. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอย่างเด็ดขาด 3.สังเกตอาการตนเอง ถ้าท่านมีไข้เกิน 37.5 องศา ร่วมกับมีอาการไอหรือหอบต้องรีบไปพบแพทย์ทันที หรือติดต่อที่หมายเลข 1422 1668 1669 1330
16 เมษายน
กักตัวอยู่ในบ้านพัก
ผมไม่ต้องการให้มีใครตายสักคน เพราะคนที่เสียใจคือคนในครอบครัวของท่าน ผมเป็นคนรักครอบครัว และผมก็รู้ว่าท่านรักครอบครัวอย่างไร วันนี้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ต้องรักคนไทยทั้งประเทศ
17 เมษายน
มีไข้สูงเกิน 37.5 องศา แต่ยังไม่ไอ เจ็บคอ หรือเหนื่อยหอบ จึงกักตัวอยู่ในห้องต่อ
เรามีเวลา 14 วัน ช่วยกันดึงตัวเลขผู้ติดเชื้อมาให้มันลดลงได้ ด้วยมือของคน 60 กว่าล้านคน 14 วันนี้เห็นผลแน่นอนครับ
20 เมษายน
มีไข้สูงเกิน 38 องศา มีอาการท้องเสียรุนแรง ต่อมามีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ออก
เริ่มติดต่อสายด่วน 1330 (สายด่วนของ สปสช.) ได้รับคำตอบว่า ให้ไปติดต่อ รพ.เองต่อมาโทรไปยังหมายเลข 1422 (ศูนย์ช่วยเหลือของกรมควบคุมโรค) แต่ทางศูนย์แจ้งว่า ไม่มีผลตรวจโควิดยืนยันจึงไม่รับตัว ให้ติดต่อ รพ. ราชวิถี ที่เป็น รพ. ตามสิทธิบัตรทอง
ติดต่อ รพ.ราชวิถี แจ้งว่าไม่รับการรักษา และให้ไปติดต่อ 1669 (ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ) แต่ทางศูนย์เอราวัณแจ้งว่าให้รอคิว และจะติดต่อกลับ แต่ปรากฏว่าไม่มีการติดต่อให้การช่วยเหลือใด ๆ
จนประมาณ 23.20 น. อาการเริ่มแย่ลง จึงไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊ค เพื่อขอความช่วยเหลือ จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนด้วยกันเอง ในการติดต่อโรงพยาบาลเปาโล เกษตร ที่มีเตียงว่าง และจะส่งรถมารับในวันที่ 21
รุนแรงเป็นอย่างยิ่งสำหรับการระบาดของโควิด19 อย่างไรก็ตามเพราะความไม่ประมาทของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้บริหารจัดการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร เพื่อรองรับการระบาดที่เกิดขึ้น
นำมาซึ่งการเตรียมตัวที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งสิ้น 28,000 เตียง ซึ่งจำนวนเตียงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ภาพรวมแม้สถานการณ์การระบาดระลอกปัจจุบันจะรุนแรง แต่ก็อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลได้วางแผนรับมือไว้ นำมาซึ่งการเตรียมความพร้อม เพื่อธำรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพการควบคุมโรค และรักษาชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ”
21 เมษายน
โรงพยาบาลนำตัวไปตรวจเชื้อโควิดและพบเชื้อ เชื้อดังกล่าวเริ่มทำลายปอดซึ่งเสียหายไป 80%
ถ้าป่วยแล้ว เราจะนำท่านเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด เราไม่อยากให้เห็นการรายงานผู้เสียชีวิตเลย แม้สักรายเดียว แต่ขณะเดียวกันเราก็อยากให้ท่านแจ้งตามเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ (1668 1330 1669)
23 เมษายน
ใส่ท่อออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลา 23.20 น.
ทุกข้อมูลทุกนาที เราพยายามทำเต็มที่ ที่สุดแล้วป่วยหนักต้องเข้ามารักษา และเราจะดูแลอย่างเต็มที่ ความมั่นใจภาคของประชาชน อยู่ที่การทำงานของพวกเรา
ในนามของ ศบค. ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนทุกท่านทุกสายที่โทรเข้ามา ในเบอร์โทรศัพท์ 1668 1669 และ 1330 ตอนนี้สายเข้ามาจำนวนมากทีเดียว ขอผู้ที่โทรเข้ามาในรายที่ป่วยจริง ๆ ที่มีผลบวก จากการติดเชื้อยืนยันให้ท่านฝากเบอร์โทรศัพท์ ฝากข้อมูลที่สำคัญ
14 พฤษภาคม จากความตายของอัพ VGB สู่การตัดสินใจของครอบครัว ยื่นฟ้องศาลปกครองเป็นคดีแรกภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์โควิด
คำฟ้อง เมื่อความล่าช้าจากรัฐคือความตายของผู้คน
ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.)
ผู้ถูกฟ้องที่ 2 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ผู้ถูกฟ้องที่ 3 สำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้ถูกฟ้องที่ 4 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
และผู้ถูกฟ้องที่ 5-31 กรรมการผู้บริหารของ ศบค.
ตามร่างคำฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 17 เมษายน 64 ถึงวันที่ 22 เมษายน 64 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 31 คน จงใจประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้นายกุลทรัพย์ ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนทำให้ถึงแก่ความตาย อันเป็นความเดือดร้อนที่ผู้ถูกฟ้องในฐานะมารดา ได้รับจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 31 คน
“ตอนนี้เราเป็นคนแรก ที่ยื่นฟ้องรัฐในเรื่องโควิด อยากให้กรณีของเราคนอื่นรู้ว่า การบริหารบ้านเมือง เราไม่ต้องทนทำตามเขาหมด ถ้าอันไหนดีเราว่าดี อันไหนที่ไม่ดี เราควรออกมาใช้สิทธิในการเรียกร้อง”
อุ๋ย กุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของ กุลทรัพย์ วัฒนผล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อัพ VGB” อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต ตัดสินใจร่วมกับครอบครัว ลุกขึ้นมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐ ต่อกรณีการตายของน้องชาย โดยแม่ของอัพได้มอบอำนาจให้อุ๋ยเป็นตัวแทนในการฟ้องคดี
ในร่างคำฟ้องระบุเหตุผลว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 31 คน ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองในเรื่องดังต่อไปนี้
1.ประมาทเลินเล่อ ในการควบคุมสถานการณ์ จนเกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทย ระลอก 3 คลัสเตอร์ทองหล่อ รวมทั้งยังปล่อยปละละเลย ให้ประชาชนเดินทางกลับไปยังจังหวัดต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
2. ผู้ถูกฟ้องทั้ง 31 คน ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการบริหารจัดการศูนย์ติดต่อ ให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนตามสายด่วนที่ประกาศแจ้งไว้ โดยขาดประสิทธิภาพในการบริการแก่ประชาชนเพื่อรองรับจำนวนประชาชนผู้ที่ติดเชื้อ จนทำให้ประชาชนไม่สามารถติดต่อได้ทันท่วงที
3. ผู้ถูกฟ้องทั้ง 31 คนปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยให้ รองโฆษก ศบค. ออกแถลงถึงวิธีการปฏิบัติของผู้ติดเชื้อ ให้ประชาชนปฏิบัติตามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 64 ว่าห้ามเดินทาง ห้ามสัมผัสคนใกล้ชิด ทำให้ประชาชนที่รับฟังข้อมูลข่าวสารมาปฏิบัติ ไม่เดินทางออกไปด้วยตนเอง แต่ให้รอการติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานของ ศบค. จนทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต
ในส่วนค่าเสียหายที่ทางครอบครัวเรียกไป เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4.5 ล้านบาท โดยคิดจากจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่อัพเป็นคนดูแลบ้านและแม่ เดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลาจนกว่าจะอายุ 60 ปี (เสียชีวิตตอนอายุ 35 ปี) รวมเป็นเวลา 25 ปี และค่าปลงศพอีก 30,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้อุ๋ยบอกว่าเทียบไม่ได้กับชีวิตของน้องชายที่เสียไป และรายได้จริง ๆ ของน้องมากกว่านี้
“เราไม่ได้ฟ้องเพราะน้องตายจากโควิด แต่เราฟ้องเพราะกระบวนการของรัฐมันล่าช้า”
กระบวนการที่ครอบครัวกล่าวว่าล่าช้า ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลว่า รัฐปฏิบัติงานล่าช้าจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ศาลปกครองได้รับคำฟ้องของทางครอบครัวแล้ว แล้วในทางกฎหมายความเป็นไปได้ของการได้รับเงินชดเชยมีมากน้อยแค่ไหน เราพูดคุยกับทนายแป๊ะ ดร.เอกรัฐ ฐปนานนท์ ทนายความอิสระที่รับว่าความคดีดังกล่าว
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้อยู่เหนือสิทธิของประชาชน รัฐต้องถูกตรวจสอบได้
ทนายแป๊ะบอกเหตุผลในการยื่นมือเข้ามาทำคดีนี้ เพราะเห็นภาพจาก Facebook Live ของอัพที่ไม่มี โรงพยาบาลเข้ารับการรักษา เหตุการณ์นั้นมันสะท้อนภาพสังคม จนทำให้ทนายแป๊ะตั้งคำถามว่า ทำไมมันเกิดขึ้นกับกระบวนการในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ที่เป็นเรื่องของชีวิตผู้คน
“ในชั้นแรกเรายื่นฟ้องไปแล้ว มีหลายฝ่ายออกมาพูดว่า ศบค. อยู่ในสถานการณ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีอำนาจและสิทธิตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ศาลปกครองจะรับฟ้องหรือไหม เพราะในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง มีข้อยกเว้นการกระทำต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อยู่ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะไม่มีความผิดทางแพ่งทางอาญา แต่ตอนนี้ศาลปกครอง มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว”
โดยในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รายละเอียดในหัวข้อความรับผิด และการลงโทษกล่าวไว้ว่า
ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่สามารถฟ้องคดีมายังศาลปกครองได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกัน หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เกินแก่เหตุ
แต่ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ความรับผิดทางละเมิด คือการที่เจ้าหน้าที่จงใจหรือประมาททำต่อบุคคลอื่น ให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และอื่น ๆ ผู้นั้นต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ที่ตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ (ข้อมูลจาก: พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙)
การที่ศาลปกครองรับคำฟ้องอาจจะด้วยเหตุผลเข้าข่าย “เป็นการกระทำผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ” ดังที่ทนายแป๊ะกล่าว
“กระบวนการต่อไปก็ส่งคำฟ้องให้กับฝ่ายรัฐบาล ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 33 คน ยื่นคำให้การแก้ว่าจะประสงค์ให้การแก้ ไม่เห็นด้วยกับคำฟ้องของเราอย่างไร
“หลังจากนั้นกระบวนการต่อไปจะส่งให้เราคัดค้าน เมื่อรัฐบาลแก้คำให้การมา เราประสงค์จะคัดค้านคำให้การเขาอย่างไร จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และมีคำพิพากษา”
ทางด้านปรีดา นาคผิว ทนายความของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน ได้เพิ่มเติมข้อมูลในเรื่องกระบวนการที่ประชาชนฟ้องรัฐไว้ว่า
“3 เสาหลักใหญ่ ในการบริหารประเทศคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ประชาชนเป็นหัวใจหลักของทั้ง 3 ฝ่าย ฉะนั้นถ้าฝ่ายบริหารไปกระทำการใดที่ไปกระทบต่อ สิทธิเสรีภาพความปลอดภัยของประชาชน ต้องถูกตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะกรณีใดๆ”
ปรีดามองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการบริหาร ที่รัฐหยิบมาใช้ช่วงโควิด แต่ไม่ใช่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะอยู่เหนือทุกสิ่งอย่าง เพราะอย่างไรแล้วภาพใหญ่คือการใช้อำนาจในการปกครองดูแลประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด รัฐต้องถูกตรวจสอบได้
แต่! ภาครัฐก็สามารถใช้แง่มุมเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาโต้เถียงได้เหมือนกัน ตามที่ปรีดากล่าว
“ถ้าฝ่ายรัฐบอกว่าเขาใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการบริหารจัดการ ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ต้องไปศาลยุติธรรม ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจสรุปได้เอง จะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลยุติธรรมอื่นๆ เช่น ศาลแพ่งพิจารณา ถ้าศาลยุติธรรมเห็นด้วยว่าอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลปกครองก็ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป”
แต่หากเห็นไม่ตรงกัน ปรีดาเสริมในประเด็นนี้ว่า ถ้าศาลยุติธรรมมองว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม มีข้อโต้แย้งกัน มันจะขึ้นไปสู่ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” ซึ่งคณะกรรมการจะมีประธานศาล ทุก ๆ ศาลมาพิจารณาร่วมกัน
ถ้าตัดสินอย่างไรถือว่าเป็นที่สุดแล้ว แต่ไม่ว่าจะไปสิ้นสุดที่ขั้นตอนใด หลักใหญ่ใจความทั้งหมดอยู่ในสิ่งที่ปรีดากำลังจะพูดต่อไป
“อย่างไรก็แล้วแต่ ประชาชนต้องมีที่ไป เสาหลักฝ่ายตุลาการต้องมีที่ให้ประชาชนร้องทุกข์ ไม่มีกรณีไหนที่เกิดขึ้นแล้ว ประชาชนไม่สิทธิไปฟ้องที่ไหน มันเป็นไปไม่ได้”
เพราะฉะนั้นปรีดาสรุปในประเด็นนี้ว่า มันไม่สำคัญว่าจะไปจบลงที่ศาลไหน แต่หัวใจสำคัญคือ เราต้องไปดูในรายละเอียดคำฟ้อง การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ประชาชนมองว่าล่าช้า นั้นล่าช้าจริงไหม ?
มากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต คือความสูญเสียของครอบครัว
“ถ้าพูดถึงเจ้าอัพในฐานะพี่ชาย เขาเป็นคนร่าเริง เป็นคนที่แข็งแรง ชอบช่วยเหลือ เป็นคนมีเพื่อนเยอะ ทุก ๆ วันจะมีคนมาที่บ้าน มานั่งเล่นนั่งคุยกันที่บ้าน เขาค่อนข้างเป็นคนอัธยาศัยดี”
นอกจากกระบวนการฟ้องร้องที่ตอนนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ในอีกมุมมองของเรื่องนี้ คือการที่ครอบครัวสูญเสียสมาชิกคนสำคัญ อุ๋ยเริ่มต้นเล่าเรื่องราวจากมุมมองพี่ชายที่มีต่อน้องชาย โดยครอบครัวนี้มีพี่-น้อง 3 คน อุ๋ยเป็นพี่ชายคนโต อัพเป็นน้องคนกลาง และมีน้องชายอีกคน โดยแต่ละคนมีอายุห่างกัน 5 ปี จึงทำให้อุ๋ยกับอัพ ค่อนข้างสนิทกันจากระยะห่างทางอายุ
หลังการจากไปของอัพ อุ๋ยเล่าให้ฟังว่า “ทุกวันนี้คุณแม่ยังทำใจไม่ได้ ปกติเวลาไปไหนเราไปด้วยกัน หาอะไรกินด้วยกัน ตอนนี้สมาชิกในครอบครัวเราก็หายไปคนหนึ่ง”
นอกจากความสูญเสีย การตายของอัพยังก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคม และเกิดกลุ่ม “เส้นด้าย” ขึ้นมา เพื่ออุดรอยรั่วลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่การเข้าถึงการรักษาของประชาชนคนทั่วไปยังคงล่าช้า
โดยกลุ่มเส้นด้าย อุ๋ยพี่ชายของอัพร่วมมือกับคริส โปตระนันทน์ และภาคประชาชนส่วนอื่นๆ ในการเป็นคนประสานงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน รับส่งผู้ป่วยติดเชื้อให้ไปถึงการรักษารวดเร็วขึ้น การเกิดกลุ่มเส้นด้ายหรือกลุ่มอื่น ๆ ในช่วงนี้ จึงเป็นเหตุผลยืนยันว่าสังคมนี้ ยังคงต้องหวังพึ่งภาคประชาชนช่วยประชาชนด้วยกันเองอย่างขาดไม่ได้
“ทุกวันนี้เราเห็นตัวเลขคนตาย 20-30 คนทุกวัน ถามว่ามันอาจจะดูเป็นตัวเลขที่น้อย แต่สำหรับคนที่สูญเสียมันไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลยนะ ถามว่า 30 คนทุกวัน ถ้าเขามาจากต่างครอบครัวก็ 30 ครอบครัว บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัวแล้วครอบครัวนั้นเขาจะทำอย่างไร”
“ผมคิดว่าวันนั้น ถ้าน้องผมได้เข้า รพ. เร็วกว่านี้อีก 1-2 วัน วันนี้น้องผมจะยังอยู่ เราไม่อยากให้มีการสูญเสียแบบนี้เกิดขึ้น ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง สำหรับพี่, แม่, ครอบครัวของเขา มีบทบาทหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคน
“แต่จุดหนึ่ง เราภูมิใจในตัวน้องเรา วันที่เขารอโรงพยาบาลมารับ ผมก็พูดตรง ๆ ว่า
‘เฮ้ย! อัพ ให้พี่ไปรับไหม’ อัพก็บอกว่า
‘พี่ไม่ต้องมาพี่มีลูกเล็ก อย่ามาเดี๋ยวหลานติด’ เราก็ตอบน้องไปว่า
‘อัพห่วงชีวิตตัวเองก่อนไหม ถ้าเอ็งไม่ให้พี่ไปรับ ให้แท็กซี่, Grab ไปรับก็ได้ ไปโรงพยาบาลเถอะ’
“เขาไม่ยอมไป น้องผมไม่ยอมไป เขาคิดว่า ‘ถ้าผมไปติดเขาแล้วครอบครัวเขาติดละ’ ตอนที่รอโรงพยาบาลเขาไม่ยอมออกมาหาแม่เลย ปิดตัวอยู่ในห้อง”
จาก Timeline ของอัพ เราจะเห็นว่าเขาได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเหตุการณ์สำคัญอยู่ในวันที่ 20 เมษายน ที่อัพเริ่มติดต่อสายด่วนตามที่ ศบค. บอกแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ จนกระทั่งช่วงดึกที่อัพออกมา Facebook Live และได้รับการช่วยเหลือจากพ่อของเพื่อน ที่หาเตียงว่างของ โรงพยาบาลเอกชน ให้ได้ในวันที่ 21 เมษายน
นับเป็นเวลา 1 วันของการรอคอยเตียง จากความช่วยเหลือของภาคเอกชน ในขณะที่นโยบายของ ศบค. แจ้งว่าผู้ติดเชื้อโควิดจะได้เตียงรักษาภายใน 24-48 ชม. หรือภายใน 2 วัน
หากมองในมุมนี้จะถือว่า 1.กรณีของอัพยังไม่เลยกำหนดเวลาที่ ศบค. ประกาศไว้ได้หรือไม่ และ 2.การที่อัพยังไม่มีผลตรวจโควิดมายืนยัน ในวันดังกล่าวที่โทรขอความช่วยเหลือ จะทำให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างถึงการไม่ส่งความช่วยเหลือไปในทันทีด้วยหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานการติดโควิดยืนยัน แม้อาการทุกอย่างของอัพจะเด่นชัดก็ตาม
โดยทั้ง 2 ประเด็นนี้ ทั้งเรื่องระยะเวลาช่วยเหลือและเรื่องผลตรวจยืนยัน ทนายปรีชา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ให้ความเห็นว่า
“ต้องไปดูพฤติการณ์แวดล้อมตรงนั้น ว่าจริง ๆ แล้วสถานการณ์แบบนี้ ควรจะรวดเร็วแค่ไหน มีการติดต่อสื่อสารแบบไหน ให้ข้อมูลประชาชนไปอย่างไร ข้อเท็จจริงต้องไปสู้กัน
“เพราะเวลาศาลวินิจฉัย จะพิจารณาตามสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มันสมเหตุสมผลไหม ที่คุณบอกว่าภายใน 48 ชม.จะมารับ ถามต่อว่า 48 ชม. คุณเอาหลักไหนมาคิด
“หลักใหญ่หน้าที่ของรัฐคือ ปกป้องคุ้มครองชีวิต ความปลอดภัยของประชาชน เพราะฉะนั้นมันมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ในการออกมาตรการหรือกฎหมายใด ๆ ศาลต้องไปช่างน้ำหนัก ดูข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ฝ่าย”
ท้ายที่สุดดั่งที่อุ๋ยพี่ชายของอัพเน้นย้ำ การฟ้องรัฐครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร มันคือสิทธิที่ประชาชนพึงกระทำได้ และมันเป็นบทเรียนให้รัฐหันกลับมาปรับปรุงวิธีการทำงาน ช่วยให้คนได้เข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น เพียงแต่บทเรียนบทนี้มีราคาแพงเกินไป เพราะมันแลกมาด้วยชีวิตของผู้คน