บุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าของการรับมือการผู้ป่วยโรคโควิด 19 และเป็นประชากรกลุ่มแรกของไทยที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่คนไทยได้รับในเวลานี้ นับตั้งแต่เริ่มฉีดปรากฎผลข้างเคียง อาการแพ้ และข่าวลือคนตายจากการฉีดวัคซีน จนเกิดการตั้งคำถามต่อความปลอดภัยประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นในการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาล
De/code พูดคุยกับหมอ 2 ท่าน ต่อความเห็นการฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinovac ที่คนไทยเลือกไม่ได้ว่าเหตุใดเราควรฉีด และทวงถามถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในร่างกายที่หายไปจากรัฐเผด็จการ
ทุกคนกลัวหมดเลย แต่ฉีดเพราะไม่มีทางเลือก หมอบี นามสมมติ แพทย์ประจำโรงพยาบาลชนบทแห่งหนึ่ง เล่าถึงความกังวลของตนและเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ต้องฉีด Sinovac หมอบีเล่าว่าการตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้ของเพื่อนร่วมวิชาชีพขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้ถึงประสิทธิภาพและความเหมาะสมกลุ่มประชากรของวัคซีน บทสนทนาเรื่อง Sinovac และผลข้างเคียงต่อภาวะหลอดเลือดตีบตัน ทำให้บุคลากรชุดกราวน์กังวล แต่ต้องยอมฉีดเพราะเลือกไม่ได้
หมอในฐานะบุคลากรด่านหน้าคิดเห็นอย่างไรต่อการฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinovac
ตอนแรกที่มีการฉีดวัคซีน Sinovac ยังไม่มีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งเริ่มมีผลข้างเคียง (Side Effect) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เริ่มมีอาการคล้ายๆ กับลิ่มเลือดอุดตันในสมอง เกิดขึ้น 6 รายที่ระยอง นั่นคือการรายงานครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ที่ยุโรปมีคนฉีด AstraZneca เป็นลิ่มเลือดอุดตันในปอด ตาย 1 คน ตอนนั้นแทบทั่วยุโรประงับการฉีดยาตัวนี้สอบสวนโรค พอเขายุติการฉีดและสอบสวนมันเกิดความยุติธรรมกับประชาชนที่สามารถชั่งความเสี่ยงก่อนฉีดได้ แต่กรณีไทยเกิดขึ้นถึง 6 คน รัฐควรจะหยุดฉีดและสอบสวนก่อน ผมรู้สึกว่าการไม่ยอมสอบสวนโรคก่อน ไม่ยุติธรรมกับพวกเรา และยังปิดข่าวอีก
รัฐเอาบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าไปฉีดก่อน เหมือนเอาบุคลากรที่มีกำลังในการทำงานไปเสี่ยง ผมว่าไม่ยุติธรรมเลย ไม่มีการปกป้อง ใครเป็นอะไรก็ไม่มีการสอบสวนโรค บางรายตายด้วยซ้ำ ตายโดยไม่รู้สาเหตุหลังฉีดวัคซีน
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนทุกตัวแม้มีประสิทธิภาพที่ต่างกันย่อมมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่คือผลข้างเคียบที่รับได้ ได้แก่ ผื่นคัน บวมแดง แต่ผลข้างเคียงที่ไม่ควรเกิดขึ้นและยอมรับไม่ได้คือการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน รัฐบาลควรรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาสื่อสาร แต่หมอพยาบาลได้แต่โพสต์ลงโซเชียลเป็นเสียงบ่นในฐานะปัจเจก
พอบุคลากรทางการแพทย์สะท้อนความผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ประชาชนก็สั่นคลอนความเชื่อมั่น แต่รัฐบาลกลับอธิบายว่าคนที่เป็นโรคเหล่านี้เกิดจากอาการเครียด เกิดจากโรคคล้ายลิ่มเลือดในสมองแต่ไม่ใช่โรคลิ่มเลือดในสมอง หรือเป็นอุปทานหมู่
การบังคับฉีด Sinovac ในบุคลากรด่านหน้า
รพ.บางแห่งบังคับฉีดทุกคน การฉีดวัคซีนควรเป็นการยินยอม (Consent) ควรเป็นการยอมรับระดับนึง รัฐบาลโจมตีว่าพวกที่ไม่ฉีดวัคซีนคือพวกไม่มีจิตสำนึก แต่ไม่ใช่ ประชาชนไม่ไว้ใจและมีข้อกังขาต่อวัคซีนที่รัฐเลือก
“ผมว่าวัคซีนนี้ไม่ใช่เรื่องการแพทย์แล้ว มันเป็นเรื่องการเมืองชัด ๆ เลย”
มันกลายเป็นเรื่องการเมืองแล้ว เหมือนรัฐบาลเอาบุคลากรทางการแพทย์เป็นเครื่องยืนยันความเชื่อมั่น เขาไม่มองใครเป็นคนเลย เขามองเราเป็นแรงงานในฐานะตัวเลขด้วยซ้ำ
วิกฤตนี้เป็นเรื่องที่สั่นคลอนวงการแพทย์มาก เพราะถูกการเมืองเข้ามาท้าทายกลายเป็นว่าคุณค่าวิชาชีพของเราถูกกลืนโดยอุดมการณ์ทางการเมืองหมดเลย อาจารย์แพทย์หลายคนเลือกให้ข้อมูลตะแบงรัฐบาล โดยที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับคนอื่นแทนที่จะปกป้องคุณค่าทางวิชาชีพ”
หมอบีเป็นตัวแทนของบุคลากรทางการแพทย์ และตัวแทนคนไทยที่ไม่ยินยอมต่อการบังคับฉีดวัคซีน กังขาต่อประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของ Sinovac พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ใช่กลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน (Anti-Vaccine) เช่นเดียวกับคนไทยหลายคนที่รู้ว่าวัคซีนคือทางออกของวิกฤตและชีวิตที่ปลอดภัย แต่ความลังเลไม่เชื่อมั่นต่อวัคซีนนี้มีที่มาจากความไม่เชื่อมั่นในการจัดการของรัฐบาล
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือรู้จักในนาม ‘หมอดื้อ’ ร่วมพูดคุย ทำความเข้าใจเรื่องวัคซีน และความจำเป็นที่เราต้องฉีด แม้สถานการณ์ตอนนี้จะเลือกไม่ได้ แต่ไม่หยุดตั้งคำถามว่า ทำไมคนไทยไม่มีสิทธิเลือกวัคซีนที่ดีกว่านี้ได้
ปรากฏการณ์แพ้วัคซีน Sinovac และการตายรายวัน คุณตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
Sinovac มีปรากฏการณ์แพ้ และช็อคเกิดขึ้นเหมือนวัคซีนตัวอื่น ๆ และมีอาการทางด้านสมองเกิดขึ้นเกือบ ๆ แทบทุกราย คือ มีความผิดปกติของหลอดเลือด หรือที่เรียกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต คือเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนนั้นๆ ผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงไม่ได้ ระยะเวลาตั้งแต่ 2 เมษายน 2564 ถึงบัจจุบัน มีคนไข้ที่ได้รับผลข้างเคียงจาก Sinovac เยอะมากเห็นความผิดปกติของวัคซีนตัวนี้มากกว่าตัวอื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในรายชั่วโมง หรือหนึ่งวันที่ฉีด แต่ล่าสุดที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่พยาบาลที่รพ.จุฬาฯ พบว่าเกิดอาการหลังฉีดไปแล้ว 7 วัน
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ ชาบริเวณแขนข้างที่ถูกฉีด หรืออาจเกิดขึ้นกันแขนทั้ง 2 ข้าง ลามไปบริเวณปาก นิ้วมือ หรือทั้งหน้า อาจชาเฉยๆ หรือชาและเจ็บเหมือนเข็มตำ บางรายร่วมด้วยกับอาการอ่อนแรง อาจชาครึ่งซีกในบางรายที่เป็นมาก มองเห็นไม่ชัดข้างใดข้างนึง ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มอาการที่พบในกลุ่มผู้ป่วยไมเกรน ผู้หญิงที่เป็นไมเกรน หรืออยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน จึงควรหลีกเลี่ยงฉีดวัคซีน Sinovac
อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้สามารถแก้ไขและหายเองได้ แต่ถ้าปล่อยนานไปและให้ยาสลายลิ่มเลือกหรือรักษาไม่ทัน จะเกิดเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตไปเลย
การไม่มีสิทธิเลือกฉีดวัคซีนด้วยตัวเอง ส่งผลต่อชีวิตคนไทยอย่างไรบ้าง
โดยแท้จริงแล้วอยากให้พอเลือกได้บ้าง ถ้าเลือกไม่ได้เลยจะมีปรากฏการณ์ผลข้างเคียงของวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มของ AstraZenaca, Pzifer และ Moderna ซึ่งกลุ่มนี้เกิดเป็นลิ่มเลือด ไม่ใช่เส้นเลือดหดตัว
AstraZenaca ชอบเกิดลิ่มเลือดในอายุที่น้อยกว่า 35 หรือ 50-60 ปี ซึ่งลักษณะเป็นลิ่มเลือดที่เกิดในเส้นเลือดดำหรือแดง เกิดที่ท้องหรือสมอง อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ไม่ใช่หนุ่มสาว แต่มีเส้นเลือดในสมองหรือเส้นเลือดหัวใจผิดปกติ ในอาการที่ต้องเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ หรือผ่าตัดใส่ขดลวด ถือว่ามีความเสี่ยง แต่ถ้าสามารถควบคุมอาการนั้น ๆ ได้ดี และมียาป้องกันลิ่มเลือดหรือเส้นเลือดตีบอยู่แล้ว อาจจะต้องชั่งความเสี่ยง ถ้ามีโอกาสเกิดโรคและติดเชื้อได้ เพราะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์รอบตัว ต้องพบปะผู้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจนำเชื้อมาสู่ตัวได้ บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องฉีด ก่อนฉีดต้องบอกสถานพยาบาลว่ามีโรคประจำตัวเหล่านี้อยู่ กำลังรับประทานยาอะไรบ้าง ถ้ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็สามารถตัดสินใจรักษาได้เลยโดยไม่ต้องกังวล หรือตรวจใหม่อีกครั้ง
วัคซีน Sinovac ที่มีอยู่ในตอนนี้และเราเลือกเองไม่ได้ มีประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกันครอบคลุมสายพันธ์ใหม่ ๆ ที่ระบาดในไทยตอนนี้ได้ไหม
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ป้องกันสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้
และยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่ให้ความมั่นใจเรื่องการป้องกันสายพันธุ์ South African สายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์ฟิลิปปินส์ที่อีกสักพักคงจะคุ้นหูมากขึ้น
หมอธีระวัฒน์กล่าวว่า จุดอ่อนของวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นจากไวรัสต้นแบบตั้งแต่ปีที่แล้ว (2020) ในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมไปแล้ว วัคซีนประเภทนี้เพียงแต่มองเห็นเชื้อ แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อนั้นได้ จึงต้องป้องกันไม่ให้เป็น แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วก็ตามในสายพันธุ์อังกฤษเดิม แต่เมื่อเริ่มมีการผันแปรรหัสพันธุกรรมกับสายพันธุ์บราซิล หรือสายพันธุ์แอฟริกัน พบว่ามีการติดเชื้อใหม่ได้เช่นกัน แต่อาการอาจจะรุนแรงน้อยกว่า ไม่ต้องเข้า ICU ดังนั้นไม่ควรคิดว่าในเมื่อวัคซีนที่มีตอนนี้ยังไม่ครอบคลุม มีผลข้างเคียงก็ไม่ต้องฉีด วัคซีนยังคงจำเป็น
ประสิทธิภาพของวัคซีน และข้อเท็จจริงของเลขเปอร์เซ็นที่ถกเถียง
Pfizer Morona ก็ยังมีผลข้างเคียงเช่นกัน ในขณะนี้เรายังไม่ได้รับตัวเลขจริงของผลแทรกซ้อน จึงพูดไม่ได้เต็มปากว่าดีกว่าไหม แต่ก็พบผลข้างเคียงเพียงน้อยนิดเช่นเดียวกับ 2 วัคซีนที่เราได้มา (Sinovac และ Astrazneca)
ส่วนเรื่องตัวเลขประสิทธิภาพตัวเลข 50% อีกตัวดีกว่า 90% อยากให้ลืมตัวเลขเหล่านี้ไป เพราะแท้จริงตัวเลขนี้เป็นการประเมินจากประชากรขั้นต้นที่สามารถควบคุมและติดตามได้ทุกคน แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริง คนที่ฉีดมีอายุ, ความเสี่ยง, ปัจจัยโรคประจำตัว และโอกาสที่สัมผัสตัวเชื้อในระดับที่ต่างกัน อีกทั้งสายพันธุ์ที่เข้ามาไม่ได้มีตัวเดียว ถ้าจะบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าอีกตัวปัจจัยในการทดลองต้องเหมือนหรือใกล้เคียงกัน แต่ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ทำไม่ได้
ดังนั้นที่กล่าวมาทั้งหมด ผมพยายามอธิบายพวกเราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เราอธิบายได้เป็นขั้นเป็นตอน และวิธีแก้ไขตั้งแต่วินาทีที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีความมั่นใจว่าอย่างไรก็ตามต้องฉีด ขอให้แน่ใจว่าเราเอาอยู่ ถ้ามีวัคซีนควรฉีดเลย ถ้ามีผลข้างเคียงเรายังเอาได้อยู่ แต่ไวรัสเรายังเอาไม่อยู่
วัคซีนล็อตที่จะฉีดในเดือนมิ.ย.นี้ ควรฉีดให้ใครก่อน
ถ้าเป็นไปได้คือฉีดพร้อมกันทุกคนเลย เพราะถ้าฉีดในกลุ่มที่ไม่สามารถยุติการแพร่กระจายได้ ในกรณีผู้ที่มีโรคประจำตัวที่กำลังตามฉีดอยู่ขณะนี้คือการฉีดเพื่อช่วยชีวิตคนเหล่านั้น อีกกลุ่มที่มีโอกาสรับเชื้อสูง คือ คนจุดกลางที่มีโอกาสรับเชื้อสูงมาก และสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เช่นกัน คนเหล่านี้คือ แม่ค้า คนขับรถสาธารณะ พวกเขามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับวัคซีน
การพูดแบบนี้อาจมองว่า เป็นการขีดเส้นว่าใครควรได้มากได้น้อย แต่เป็นเพียงการพูดตามความเสี่ยงของการติดเชื้อ ถ้าตอนนี้สามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ 100 ล้านโดส ควรจะฉีดให้ทุกคน แต่ยังทำไม่ได้เพราะยังมีจำนวนไม่เพียงพอ
คุ้มกันไหมกับการฉีดวัคซีน Sinovac กับความเสี่ยงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิด
สถานการณ์ ณ วันนี้ อาจเรียกได้ว่าคุ้ม เพราะตอนนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและสามารถแพร่เชื้อได้เยอะมาก จากการคัดกรองที่รพ.จุฬาฯ พบว่ามีผู้ป่วยประเภทนี้ประมาณ 20% คงที่อยู่ตลอด ดังนั้นถ้าอยู่ในพื้นที่ทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้ตรวจ คาดว่าคงไม่ได้ต่างกันนัก จึงต้องมีวินัยสูงสุดไม่ว่าอยู่ในจังหวัดที่ป้ายสีอะไรก็ตาม ภายในไม่กี่สัปดาห์หากเรามีวินัย สำหรับคนที่ติดเชื้ออยู่แล้วได้รับการรักษาจนหาย ต้องไม่มีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่เกิดขึ้น ประเทศไทยก็จะกลับมาเป็นสีเขียว ไม่มีคนติดเชื้ออีก – หมอธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ฉันถามหมอบีในคำถามเดียวกันว่าคุ้มกันไหม หากเลือกฉีด Sinovac แล้วเกิดผลข้างเคียงที่รักษาได้หรือเลือกตายจากโควิด หมอบีตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ชวนตั้งข้อสงสัยกับรัฐที่บังคับให้เลือก ซึ่งเห็นต่างกับเหตุผลข้างต้นไว้ว่า
“รัฐยังไม่ตอบคำถามเลยว่าคนที่ได้รับผลข้างเคียงแล้วยังไม่หาย บางคนตาย สรุปแล้วคืออะไร มันหายจริงหรือ บางคนสแกนสมองเจอรอยลิ่มเลือดในสมอง มีรอยขาดเลือดจริงๆ หมอทุกคนรู้กันดีว่าโรคลิ่มเลือดในสมองเป็นแล้วไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิม ต่อให้ใช้คำว่าฟื้นฟูจนแทบจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่มันไม่เหมือนเดิม ไม่มีวันกลับมา 100% เหมือนเดิม และการบอกว่าต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลข้างเคียงจากโรคลิ่มเลือดในสมองกับการติดเชื้อในปอดเพราะโควิด ผมว่าก็ไม่ยุติธรรม
ถ้าโรคนี้มีแค่วัคซีนตัวนี้ตัวเดียว ผมเสี่ยงฉีดนะ แต่เผอิญโรคนี้ยังมีวัคซีนตัวอื่น ๆ ให้เราฉีดให้เราพิจารณา เพราะฉะนั้นเราเลือกตัวอื่นก็ได้ ถ้ารัฐบาลหยุดทัน” หมอบีกล่าว
วัคซีนที่ดีที่สุดไม่ใช่วัคซีนที่เร็วที่สุดฉันใด การไม่ฉีดวัคซีนที่ไม่เหมาะสมกับเรือนกายเฉพาะตน ก็ไม่ใช่คนไม่รักชาติฉันนั้น