“ช่วงหลังรัฐประหารเรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ประเทศไทยที่เราเคยรู้จัก ความอึดอัดมันเริ่มมาจากรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้เกิดการหวนกลับทางการเมือง ดึงสังคมไทยสู่การเมืองแบบเก่า แต่ปี 2557 มันคือการดึงวัฒนธรรมทั้งอัน และมีวาทกรรมด่าทอคนชังชาติ นำเรื่องสถาบันมาใช้ปิดปากคน ยกยอวัฒนธรรมไทยแบบแช่แข็ง นับตั้งแต่ปี 2557 มันคือสังคมไทยที่ไม่ชินที่สุด”
De/Code ชวน ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุย ตีความและให้ความหมายใหม่กับปรากฏการณ์ย้ายประเทศ ที่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของระเบียบการเมืองแบบเก่า
จากปึ 2557 คสช. พยายามจะดึงสังคมไทยกลับสู่อดีตแบบเข้มข้น ทำให้โลกใบเก่าย้อนกลับมาผวนเป็นนโยบาย
จนกระทั่งปี 2563 ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พยายามจะดึงสังคมไทยออกมาจากขนบแบบเดิม ทำให้สังคมไทยมีความทัดเทียมกับสังคมโลก
บนสรุปของเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังไม่จบลง แต่มีหลายคนถอดใจ หมดหวังกับการเอาไม้ซีกไปงัดกับไม้ซุง
“คนเรามันมีเส้นทางต่างกัน แต่ถ้าคุณยังเป็นห่วงสังคมไทยอยู่ การเปลี่ยนจากข้างในมันง่ายกว่าจากข้างนอก ไม่ใช่มันไม่มีอุปสรรค แต่มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าแม้ว่ามันจะเจ็บปวด”
เราพูดคุยกันในวันที่จันจิรา ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนี ถึงแม้ตัวเธอจะอยู่ห่างไกลออกไป 8,672 กิโลเมตร แต่เธอยังคงแสดงออก ติดตามความเป็นไปของสังคมไทยอยู่ตลอด เห็นจากโพสต์ใน Facebook ของเธอ และบทสัมภาษณ์ที่เธอแสดงทัศนะเรื่องการเมืองและสังคมให้กับสื่อหลายสำนัก รวมถึงเรื่องราวต่อไปนี้ที่เราได้คุยกับเธอ
คิดเห็นอย่างไรต่อปรากฏการณ์ย้ายประเทศ
ดิฉันคิดว่ามีมิติที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนตัวตน เส้นทางการเดินทางของสังคมไทยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มันสะท้อนถึงโอกาสในชีวิต เท่าที่ตามอ่านความคิดเห็นคนในกลุ่ม มีความรู้สึกว่าโอกาสในชีวิตของคนรุ่นใหม่มันน้อยลง อุตส่าห์ลงทุนกับเรื่องการศึกษามาตั้งมาก ทำไมคุณภาพของงานไม่ได้เท่าคุณภาพของการศึกษาที่ลงทุนไป
รวมถึงคุณภาพชีวิตโดยรวม แม้ว่าจะเป็นชนชั้นกลางทำงานมีเงินเดือน แต่ก็ไม่สามารถตั้งตัวได้ เพราะเงินเดือนแต่ละเดือนใช้จ่ายไปกับค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ว่ามันสะท้อนลักษณะของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทย
ปัจจัยด้านใดบ้างที่ทำให้คนตัดสินใจย้ายประเทศ
ปัจจัยที่ 1 เศรษฐกิจ เรากำลังเห็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่ (New Middle Class) ที่ไม่เหมือนชนชั้นกลางรุ่นเก่าทำงานบริษัท มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พอเพียงกับชีวิตทำงานถึงอายุ 60 ก็เกษียณ
แต่ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ เขาหางานที่เติมเต็มความหมายให้กับชีวิต คล้ายกับว่างานลักษณะนี้ต้องการระบบเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นระบบที่มีเนื้องานไม่จำเจ
เป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ ๆ แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทย ผูกติดกับเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นชนชั้นกลางรุ่นใหม่เลยรู้สึกว่า งานที่มีอยู่เดิมไม่เพียงแต่น้อยลง แต่ว่ามันไม่ตอบสนองความต้องการที่จะเติมเต็มความหมายในชีวิต การทำตามความฝัน ทำงานที่สร้างสรรค์
ปัจจัยที่ 2 การเมือง การเมืองแบบที่จะผลักให้เศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ได้ มันต้องเป็นการเมืองแบบเปิด หมายความว่าการเมืองที่ส่งเสริมให้คนคิด ส่งเสริมให้คนมีความหลากหลาย ในแง่ความฝัน ส่งเสริมให้คนเรียนหนังสือที่แหวกไปจากธรรมเนียมเดิมๆ
ปัจจัยที่ 3 วัฒนธรรม ค่านิยมในสังคม ความฝันที่ต้องการจะย้ายประเทศมันสะท้อนโลกทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งมันเข้ากันไม่ได้กับความคิดแบบเดิม เพราะฉะนั้นในทางวัฒนธรรม มันมีคนจำนวนหนึ่ง ภาษาอังกฤษเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Misfit คือกลุ่มที่เข้ากับวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิม ความคาดหวังของสังคมไทยไม่ค่อยได้
มีโพสต์หนึ่งเขาเป็นนางแบบคนอีสาน พอเริ่มโตอยากเล่นละคร อยากเข้าวงการ แต่คนดูถูกว่าหน้าอย่างนี้เป็นไม่ได้หรอก ปรากฏว่าพอไปแคสงานที่เมืองนอก ได้งานโฆษณาของเดวิด เบคแคม
ดังนั้นแล้วแรงปะทะทางวัฒนธรรมมันเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะว่าโลกแบบเก่าแทนที่มันจะค่อย ๆ เดินตามโลกแบบใหม่ มันกลับพยายามย้อนกลับไป ดังนั้นเราจะเห็นโลกในประเทศไทย 2 ใบ เป็นจักรวาล 2 อัน ที่มันค่อย ๆ แยกห่างจากกันเรื่อย ๆ
เศรษฐกิจหรือการเมือง ปัจจัยใดมีส่วนทำให้คนตัดสินใจย้ายประเทศมากกว่ากัน
มันแยกออกจากกันไม่ได้ เศรษฐกิจและการเมืองมันส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจเราที่ถอยหลังทุกวันนี้มันก็มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจากการเมือง เริ่มจากภาวะผู้นำของตัวบุคคล ทีมที่ผู้นำเลือกมาบริหารบ้านเมือง
ในแง่ชนชั้นนำไทยมันมีลักษณะอนุรักษนิยมมาตลอด แต่ช่วงหลังๆ มันเป็นอนุรักษนิยมที่ขาดวิสัยทัศน์ อย่างในช่วงปี 2530 ที่เศรษฐกิจบ้านเมืองเราดี ตอนนั้นชนชั้นนำก็อนุรักษนิยม มีความเป็นชาตินิยม หวงแหนชาติไทย เพียงแต่ว่าเขามีวิสัยทัศน์ คืออยากเห็นประเทศเจริญ มีความคิดเรื่องส่วนรวม
แต่ชนชั้นนำไทยในตอนนี้ เรากำลังเห็นภาวะที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า Elite capture คือประเทศที่ถูกชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ จับจองเป็นของตัวเอง และทำให้ผลประโยชน์ของพวกเราทุกคน กลายเป็นผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง
ดังนั้นเศรษฐกิจและการเมือง มันแยกออกจากกันไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจที่เป็นแบบตอนนี้ มันถูกครอบงำด้วยชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มเล็ก ๆ และชนชั้นนำกลุ่มนี้ก็มีความฝันของเขาเอง ซึ่งเป็นความฝันที่ต้องการปกป้อง ผลประโยชน์ของพวกพ้อง ดังนั้นก็ดึงคนประเทศนี้เป็นตัวประกัน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้
มันเลยทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเดินหน้าต่อไม่ได้ และระบบการเมืองที่ถูกชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ จับจองครอบงำอยู่ มันทำให้การเมืองคับแคบลงเรื่อย ๆ มีการใช้กลไกทางกฎหมาย ใช้อำนาจมืดในการปิดช่องทางการแข่งขันทางการเมืองของกลุ่มอื่น ๆ เราจะเห็นว่าการขัดขาคู่แข่ง เกิดขึ้นทั้งในสมรภูมิทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองถูกครอบงำโดยชนชั้นนำกลุ่มเดียวกัน
ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังแรงงานของวัยหนุ่มสาว แต่หากวันข้างหน้าไร้ซึ่งหนุ่มสาวที่มีศักยภาพ มันย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของพวกเขา มิใช่หรือ
เรากำลังพูดกันถึงคนที่มีวิสัยทัศน์ แน่นอนมีกลุ่มคนที่เขาเป็นห่วงหากมองไปยังอนาคตข้างหน้า ถ้าสังคมมันถูกฉุดรั้งไปเรื่อย ๆ เอาแค่ 5 ปีต่อจากนี้ เราจะเห็นคนที่มีศักยภาพสามารถไปเรียนต่อเมืองนอกได้ หรือแม้แต่บางคนที่ยอมไปด้วยวิธีการดิ้นรนหางาน เอาเข้าจริง ๆ ตอนนี้เมืองนอก มันไม่ต้องเป็นตะวันตกเสมอไป อย่างไต้หวันคนไทยไปทำมาหากินตั้งรกรากอยู่ก็มีมาก
กลับมาที่คำถามว่ามันเป็นความกังวลของเขาไหม ดิฉันคิดว่าผลประโยชน์ตรงหน้า มันบังวิสัยทัศน์เหล่านี้ และเอาเข้าจริง ๆ ชนชั้นนำยุคก่อนหน้านี้เห็นประเด็นนี้ มันเคยมีคนออกมาพูดทำนองว่า ‘ถ้าไม่พอใจก็ออกไปจากบ้านหลังนี้’ ช่วงนั้นก็มีอดีตชนชั้นนำก่อนยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเตือนว่า การไล่คนไทยออกจากบ้านแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่ามันมีคนไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพในการออกไปได้ และฝ่ายที่สูญเสียมากที่สุดคือสังคมไทย
สังคมจะเป็นอย่างไร หากปรากฏการณ์ไหลออกของคนวัยทำงานยังเกิดขึ้นต่อไป
ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับคนที่ออกแบบนโยบายแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่มองเห็นอนาคตและเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมกับกลุ่มที่มองเห็นผลประโยชน์พวกพ้อง มองเห็นแต่วันพรุ่งนี้ไม่มองอนาคต
คนกลุ่มหลังเป็นอันตราย เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นในสังคมไทยตอนนี้ มันคือสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า ระเบียบทางการเมืองถดถอย
สังคมมันต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ถ้าผลประโยชน์มันอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง คนก็ไม่สนับสนุนไม่มีความชอบธรรม แต่ว่าเครื่องมือที่ชนชั้นนำเหล่านี้มีคือความรุนแรง กฎหมายในการรังแกคน เมื่อคนไม่เห็นด้วย เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ก็ถูกใช้ เพื่อจะบังคับให้คนสนับสนุน
ดิฉันคิดว่าสังคมไทยคงไม่ไปถึงจุดที่จะล่มสลาย แบบสงครามกลางเมือง แต่เราจะเป็นสังคมที่ค่อยๆ ถอยหลังไปเรื่อย ๆ ในลักษณะสังคมแบบ ปากีสถาน อียิปต์ ที่ไม่ได้ดีมากแต่ก็ไม่ได้เลวร้าย
เหมือนเราต้องฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงไว้กับชนชั้นนำ
ชนชั้นนำที่เราพูดถึงมันก็มีหลายกลุ่มเช่น ชนชั้นนำในกองทัพ กองทัพมันก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน มันก็มีคนที่มีวิสัยทัศน์ในกองทัพ เราอาจจะต้องผลักดันให้คนเหล่านี้ออกมาทำอะไรมากขึ้น หรือว่าฝ่ายตุลาการ มันก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน เรามีชนชั้นนำในฝ่ายพรรคการเมือง – ภาคธุรกิจ คนเหล่านี้จำเป็นต้องนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองที่มันผูกกับผลประโยชน์ของสังคม
ถ้าสังคมยังเป็นแบบนี้เรื่อย ๆ คนเริ่มทยอยออก ประเทศไทยมันก็จะอยู่แบบนี้ ดังนั้นถ้าสังคมไทยไม่ดีขึ้น ผลประโยชน์ของเราทุกคนก็ไม่ดีเช่นกัน มันจึงต้องผลักให้คนที่มีวิสัยทัศน์ ที่เห็นผลประโยชน์ของตัวเองเท่ากับผลประโยชน์ของสังคม ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม
การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ย้ายประเทศหรือไม่
เป็นฟางเส้นหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฟางเส้นสุดท้าย มันต้องย้อนไปดูสังคมไทยในแง่พื้นฐาน เศรษฐกิจมันพัฒนาเร็ว ในช่วงยุค 1980-1990 มันไปกระทบกับวิถีชีวิต ทำให้คนมีความฝันใหม่ๆ มีการศึกษาที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้โลกของคนไทยจำนวนหนึ่งมันเปลี่ยน เพียงแต่ว่ามันมีคนที่กลัวกับการเปลี่ยนแปลง และพยายามจะดึงสังคมไทยกลับสู่อดีต
ดังนั้นปรากฏการณ์คนอยากย้ายประเทศมันจึงเป็นแค่ ยอดภูเขาน้ำแข็งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย มันคือการปะทะกันของโลกใบเก่า-ใบใหม่
การรัฐประหารปี 2557 เป็นจุดเริ่มต้นของฟางเส้นสุดท้าย เพราะว่าเป็นจุดที่ผู้สนับสนุนโลกใบเก่า พยายามจะดึงสังคมไทยกลับสู่อดีตแบบเข้มข้น ลองนึกถึงสมัยที่รัฐประหารใหม่ ๆ มันจะมีนโยบายแบบค่านิยม 12 ประการ มีสมุดพกศีลธรรม ถ้าไปดูแบบเรียนเราจะเห็นแบบเรียนที่อนุรักษนิยมมาก มีการพูดถึงเพศทางเลือกในแบบที่เหยียด
การรัฐประหารปี 2557 มันทำให้โลกใบเก่าย้อนกลับมาผวนเป็นนโยบาย และมันกระทบชีวิตคนรุ่นใหม่ ดูกลุ่มอย่างนักเรียนเลวที่ออกมาประท้วง นี่คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ จากการแยกกันของจักรวาล 2 อัน ในขณะที่เขาอยู่ในโลกออนไลน์ ที่สามารถสื่อสารกันได้ทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันโลกในโรงเรียนของพวกเขามันถูกดึงกลับไป และโลกในโรงเรียน มันคือโลกที่ถูกกำหนดโดยนโยบายที่ออกมาหลังช่วงรัฐประหาร
ประสบการณ์ส่วนตัว ก่อนที่จะย้ายมาใช้เวลาที่เยอรมันมากขึ้น ช่วงหลังรัฐประหารเรารู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ประเทศไทยที่เราเคยรู้จัก ดิฉันโตมาในยุคชาติชาย ชุณหะวัณ สำหรับเราสังคมไทยมันก็ไม่ได้ดีที่สุด แต่เรารู้สึกโอเคกับการอยู่ในประเทศนี้ ไม่เคยรู้สึกอยากจะออกไปอยู่เมืองนอก
ความอึดอัดมันเริ่มมาจากรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้เกิดการหวนกลับทางการเมือง ดึงสังคมไทยกลับสู่การเมืองแบบเก่า แต่ปี 2557 มันคือการดึงวัฒนธรรมทั้งอัน และมีวาทกรรมด่าคนชังชาติ นำเรื่องสถาบันมาใช้ปิดปากคน ยกยอวัฒนธรรมไทยแบบแช่แข็ง มันทำให้รู้สึกอึดอัด นับแต่ปี 2557 มันคือสังคมไทยที่ไม่ชินที่สุด
สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่วางแผนออกมาใช้ชีวิตต่างประเทศ
เราคงไปสั่งสอนอะไรพวกเขาคงลำบาก เพราะเราเองก็มาอยู่เมืองนอกแล้ว ขอพูดจากประสบการณ์ตัวเองแล้วกัน คือการออกมาอยู่ต่างประเทศ มันก็มีเรื่องดีในแง่หน้าที่การงาน คุณภาพชีวิตอย่างสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ใน กทม. มันทำให้เราแทบไม่มีช่วงเวลาที่ได้ผ่อนคลาย
แต่สิ่งที่แลกมันก็มีเยอะ ถ้าคุณทำงานในสายที่ไม่ใช่สายการศึกษาหรือการเมือง ถ้าคุณออกมาแล้วคือออกมาเลย การเปลี่ยนสังคมไทยจากข้างนอกมันยากกว่าที่จะอยู่ในประเทศ เพราะฉะนั้นต้องถามตัวเอง เพราะเราคงไม่สามารถไปบอกใครได้ว่า จะออกหรือไม่ออกแบบไหนดีกว่ากัน ต้องถามใจตัวเองว่า คุณตัดรากของตัวเองจากประเทศไทยได้ไหม
คนเรามันมีเส้นทางต่างกัน แต่ถ้าคุณยังเป็นห่วงสังคมไทยอยู่ การเปลี่ยนจากข้างในมันง่ายกว่า ไม่ใช่มันไม่มีอุปสรรคนะ แต่มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าแม้ว่ามันจะเจ็บปวด
ถ้าถามคนที่ไปประท้วงเมื่อปี 2563 แม้ว่าการประท้วงจะไม่ได้จบลงด้วยการได้ผลทางการเมือง แต่ถามว่าพวกเขาภูมิใจไหมในการต่อสู้ ดิฉันคิดว่าพวกเขาภูมิใจ