ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายพี่
นิยามตำรวจดีที่น่ารักของ นาย
ตำรวจเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารรัฐ แต่ตำรวจต้องไม่ใช่เครื่องมือรัฐขจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง ประเทศไทยตำรวจขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหารเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) ผู้บังคับบัญชาคือรัฐบาล โดยมีผู้นำคือนายกรัฐมนตรี จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องว่าตำรวจคือเครื่องมือการบริหารของรัฐ แต่สิ่งที่เป็นคำครหาในปัจจุบันและถูกตั้งคำถามอย่างมากคือ รัฐใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง สุนัขรับใช้นาย และนายที่ไม่ใช่ประชาชน
Decode สัมภาษณ์ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ พูดคุยถึงความเป็นพลเรือนและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ตำรวจต้องยึดมั่นไม่ใช่คำสั่งนาย จนกลายเป็นเครื่องมือรัฐขจัดผู้เห็นต่างอย่างอยุติธรรมโดยสมบูรณ์
ตำรวจไทยภายใต้วินัยทหาร
ตำรวจต้องไม่เป็นเครื่องมือใคร นายของตำรวจคือกฎหมาย ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมตำรวจให้ทำงานตามกฎหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่สั่งให้ทำอย่างอื่นที่ผิดเพี้ยนไปจากกฎหมายเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าการปกครองบังคับบัญชาเป็นแบบกองทัพ ตำรวจไทยมีความเป็นทหาร ฝึกกันตั้งแต่เด็ก ๆ เอานักเรียนนายร้อยไปเรียนเตรียมทหารทำไม นี่เป็นเรื่องที่ผิดมายี่สิบกว่าปีแล้ว
พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า การรับนักเรียนนายร้อยทหารมาเรียนต่อเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ทำให้อนาคตตำรวจนายนั้นมีวัฒนธรรมการทำงานและการรับคำสั่งแบบทหารมาใช้ในองค์กร เสนอให้ยกเลิกการรับนักเรียนนายร้อยทหาร ปฏิรูปการสอบเข้าตำรวจ โดยให้ผู้สมัครมีคุณสมบัติเรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย หรือด้านอื่น ๆ เข้ามาแทนวุฒิม.6 เพราะจะได้ตำรวจที่มีความเป็นพลเรือน มีความหลากหลายและเข้าใจ เข้าถึงประชาชน
“เรื่องความคิดของบุคลากรที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน เพราะเขามีทัศนคติว่า ความมั่นคงคืองานของตำรวจ ความรุนแรงกับประชาชนสมัยก่อนไม่ได้ใช้มาก เมื่อก่อนเวลามีการชุมนุมตำรวจไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้ง่าย ๆ เหมือนปัจจุบันจะไปห้าม หรือสั่งให้เขาเลิกชุมนุมไม่ได้ แต่ตั้งแต่มี พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยสนช.ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเกิดขึ้น เดิมทีถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่าการชุมนุมผิดไปจากการแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ควรต้องไปฟ้องศาล แต่ทุกวันนี้ตำรวจใช้วิธีจับเลย” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายพี่ วินัยทหารไม่ใช่หลักคิดของกระบวนการยุติธรรม
วัฒนธรรมองค์กรเรื่อง คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ทำไม่ได้ ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายพี่ เอามาใช้กับตำรวจได้หรือ ตำรวจต้องมีหัวใจของความยุติธรรม
หัวใจของปัญหานี้คือ การใช้ความคิดแบบทหารมาปกครองบังคับบัญชา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด ตำรวจเป็นงานพลเรือน ทหารทำงานเป็นกองพล ทหารถ้าไม่สั่งงานทำไม่ได้ ในขณะที่ตำรวจต่างกัน ถ้านายไม่สั่งคุณก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ คุณออกตรวจตามพื้นที่ต้องดูแลความเรียบร้อย เหมือนเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรค โดยไม่ต้องไปรายงานนายก่อน แต่ตำรวจของเราอยู่ในระบบทหาร คำว่าทหารไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องแบบ มันมีทั้งยศและวินัยแบบทหารที่สั่งขัง จับผิดได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมไม่สั้น ฟันไม่ขาว รองเท้าไม่เงา
วินัยของตำรวจไทยเป็นวินัยเดียวกับกองทัพบก ต่างกันนิดหน่อยเท่านั้น วินัยทหารที่สำคัญมากข้อหนึ่งคือ ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยงคำสั่งผู้บังคับบัญชานั้นผิด ต่อให้คำสั่งนั้นชอบหรือไม่ ถ้าไม่ทำตามคือผิด
ตำรวจเอาวลีนี้มาปรับใช้คือ ดื้อ ขัดขืน หรือหลีกเลี่ยงคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ทหารสั่งยิงต้องยิง คนสั่งจะเป็นคนรับผิดชอบต่อการยิงนี้เอง แต่ตำรวจทำงานใช้กฎหมายเป็นอาวุธไม่ใช่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ต้องใช้วิจารณญาณของตนเอง คุณต้องรู้ขอบเขตกฎหมาย ไม่ใช่นายสั่ง มึงยิงเลย เดี๋ยวรับผิดชอบเอง มันไม่จริง ถ้าเกินกว่าเหตุ คนรับผิดชอบคือตัวคุณเอง
ชั้นยศ โซ่ตรวนตำรวจไทย
หลักการความเป็นพลเรือนของตำรวจคืองานที่ต้องใกล้ชิดประชาชน จึงต้องใช้ดุลยพินิจเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา แต่ในความเป็นจริงตำรวจปฏิเสธคำสั่งนายไม่ได้ เพราะมีโซ่ตรวนชั้น ยศ และวัฒนธรรมรับคำสั่งของทหารอยู่ในองค์กร เราต้องทำให้ตำรวจมีอิสระมากขึ้น
วินัยกับยศคือโซ่ที่ยึดโยงไว้ ทำให้ตำรวจมีความเป็นพลเรือนมากขึ้น ตำรวจมียศไปทำไม ยศมีไว้เพื่อการรบ หมู่ผู้หมวดผู้กองของทหารเอาไว้เพื่อการรบ
ปลดโซ่ตรวนของเขาก่อน ถ้าตราบใดระบบยังเป็นโซ่ตรวนแบบนี้ การรับคนมีเหตุผลมีตรรกะหวังเข้ามาเปลี่ยนแปลงก็เท่านั้น เปลี่ยนไม่ได้
ตำรวจที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ในระบบที่ไม่ดี ตำรวจดีที่แท้จริงนั้นหมายถึงตำรวจคนนั้นต้องรักษากฎหมาย ได้โดยที่ไม่ต้องสนใจใครโดยเอากฎหมายเป็นนาย ไม่ต้องฟังนายที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่สั่งไม่ชอบธรรม เขาอาจจะเป็นเด็กดีแต่ไม่ใช่ตำรวจดี
ปฏิรูปให้ไม่มียศแล้วตำรวจจะยอมหรือ
การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทำไมต้องรอเขายอม ทำไมประชาชนชอบถามว่า ผู้มีอำนาจจะยอมไหม ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านทำไมต้องรอให้เขายอม
ตำรวจไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ต้องเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษากฎหมาย กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับไม่ใช่การเลือกมาโดยสนช.ของนายกประยุทธ์ เขาเป็นคนถือโซ่ไม่ใช่คนถูกรัด กระตุกตรงไหนมันก็ไปตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราจะไปหวังคนที่มีอำนาจให้เปลี่ยนแปลง รอมันเกิดขึ้นไม่ได้ เว้นแต่เกิดความตื่นตัวของประชาชนที่มีจิตสำนึกขึ้นมามีอำนาจแล้วเปลี่ยนแปลง
ตำรวจชั้นผู้น้อยกับแรงเสียดทานจากการตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพของปชช.
ทำไมตำรวจผู้น้อยถึงเบื่ออาชีพนี้ ลาออกก็เยอะ เพราะเขาถูกกดดัน โดยเฉพาะสังคมที่เจริญขึ้นแล้วแบบนี้ มีปัญหากับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายกับความเจริญก้าวหน้า การตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพของประชาชนเขาจะยิ่งต่อต้าน ตำรวจชั้นผู้น้อยมีความอึดอัดมาก เพราะประชาชนมีความรู้มากขึ้น คำสั่งที่ขัดกับสิทธิมนุษยชนจากนาย และเขาอยู่ตรงกลางของระบบชั้นยศนี้
ตำรวจมีความเครียดมากขึ้น คำสั่งนายยังเหมือนเดิม ความคิดของผู้บังคับบัญชายังเหมือนเดิม ยัดข้อหา ช่วยผู้กระทำผิด สั่งให้ฟ้อง เก็บส่วย เมื่อก่อนไม่ได้มีปัญหามากเท่าไหร่เพราะประชาชนไม่ได้ตื่นตัว ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่มีการเก็บหลักฐานเหมือนปัจจุบัน การสั่งลูกน้องเก็บส่วยจึงยากขึ้น ลูกน้องก็เครียดแต่ถ้าไม่ทำก็อาจถูกย้าย ถูกหาเรื่องจับผิดลงโทษ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนในหน้าที่ตบแต่งพยานหลักฐาน
ความอึดอัดแบบนี้เกิดขึ้นกับข้าราชการทุกกระทรวง ทบวงกรมอยู่แล้ว ปัจจุบันอาจถูกเปิดเผย เปิดโปง ในอนาคตอย่างไรก็ตามระบบราชการจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะถูกดันจากประชาชน ถ้าผู้มีอำนาจตื่นตัวก็เปลี่ยนแปลงปฏิรูปด้วยตัวเอง ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
นอกจากวัฒนธรรมการรับคำสั่งนายที่มีรากฐานจากทหาร ระบบชั้นยศที่แทรกแซงการทำงานของตำรวจ อีกปัญหาที่เป็นข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปตำรวจคือ การเรียกร้องให้แยกงานสอบสวน ออกจากงานตำรวจที่ขึ้นตรงกับฝ่ายบริหารคือรัฐบาล เดิมทีการสอบสวนเป็นส่วนหนึ่งของงานฝ่ายปกครอง แต่เปลี่ยนแปลงในยุคเผด็จการของจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัตน์ รวบอำนาจการจับและสืบสวนสอบสวนไว้ที่ตำรวจ แทนการจับโดยตำรวจและสอบสวนโดยฝ่ายปกครองคือ นายอำเภอ การรวบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นมรดกของเผด็จการ ที่ชอนไชกระบวนการยุติธรรมไทยจนถึงทุกวันนี้
“ตำรวจในประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้มีบทบาทเรื่องการสอบสวน เพราะเป็นเรื่องของอัยการ แต่ตำรวจไทยเป็นประเทศเดียวที่รวมทั้งงานตรวจป้องกันอาชญากรรม และสอบสวนในตัว
“ตำรวจไทยมีอำนาจยิ่งใหญ่มาก มีอำนาจกระทำการทุกอย่าง ตรวจตรา จับกุม กล่าวหา สอบรวบรวมหลักฐาน นอกจากจะป้องกันอาชญากรรมไม่ได้แล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือสอบสวนที่ใช้ในการกลั่นแกล้งคน ตำรวจกล่าวหาใคร มีบ้างไหมที่เขาจะสอบและไม่ฟ้องแทบไม่มี” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวทิ้งท้าย
ทนายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับ Decode เรื่องความสำคัญของการปฏิรูปตำรวจโดยแยกงานสอบสวน ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อความเป็นอิสระและความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม
ปฏิรูปตำรวจ แยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระจากสตช.
พนักงานสอบสวนควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแล หรือเป็นผู้ช่วยของสำนักงานอัยการ การแยกงานสอบสวนซึ่งเป็นงานของกระบวนการยุติธรรมออกจากการบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นไปได้เมื่อประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว
โครงสร้างการบริหารของตำรวจควรมีการกระจายอำนาจให้มากขึ้น เพื่อให้ตำรวจตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจกันได้ เช่น ให้ตำรวจส่วนหนึ่งขึ้นอยู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนหนึ่งขึ้นกับผู้ว่าฯ ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีตำรวจในสังกัดถึงสองแสนกว่าคน ใหญ่มากพอ ๆ กับกองทัพ ควรจะทำหน้าที่เป็นส่วนกลางมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีที่สำคัญ หรือคดีที่ฝ่ายท้องที่ ฝ่ายท้องถิ่นละเลย เพื่อไม่ให้เกิดการรวมศูนย์ เพราะปัจจุบันนี้คนที่นั่งตำแหน่งสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะสามารถควบคุมตำรวจสองแสนคนได้ ในที่สุดก็จะเลือกเฟ้นคนที่สามารถรับใช้นักการเมือง รับใช้รัฐบาลมานั่งในตำแหน่งสำคัญ
คนดีที่ทำงานอย่างมืออาชีพก็ไม่มีโอกาสก้าวหน้า ไม่มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของตนรับใช้ประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผมว่านี่คือสิ่งที่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร เมื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐบาลไม่มีใครอยากผ่าตัด ปฏิรูปตำรวจ เพราะเขาต้องการใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือรับใช้ทางการเมือง รับใช้ผลประโยชน์ของเขา กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นจึงไม่มีการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมา
หลักของสังคมที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตำรวจต้องไม่ฝักใฝ่การเมืองกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ตำรวจต้องทำงานอย่างเป็นมืออาชีพเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ตำรวจคือผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติ การนำกฎหมายไปรับใช้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งไม่ได้
คนมักจะพูดกันว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของตำรวจ ผมอยากจะให้คิดใหม่ว่าจริง ๆ แล้วตำรวจเป็นเครื่องมือของกฎหมาย เมื่อเป็นเครื่องมือของกฎหมาย การบังคับใช้ การปฏิบัติต่อประชาชนก็ต้องเป็นไปอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน
กลไกรัฐที่เกี่ยวกับความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล มีความแนบแน่นกับอำนาจอยู่แล้ว แม้อำนาจนั้นจะเกิดจากการรัฐประหาร
ผมคิดว่าสถานการณ์แตกแถวจะเกิดขึ้นได้ เมื่อพลังของประชาชนมีความเข้มแข็ง ดังนั้นกลุ่มชนชั้นนำจะเกิดการแตกแถวได้เมื่อมีแรงบีบจากภายนอก เหมือนเราบีบแตงโม เนื้อในจะไม่แตก ถ้าภายนอกบีบไม่พอ
ในหลาย ๆ ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงจากพลังของมวลชนที่เติบโตเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี อินโดนีเซีย หรือประเทศไทยช่วง “14 ตุลา” เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะมวลชน ยังมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ประเทศไทยยังมีสถาบันต่าง ๆ ที่ควบคุมด้านความมั่นคงอยู่หลายสถาบัน และบางสถาบันไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทนายสมชายกล่าว