โคราช (จ.นครราชสีมา) ตั้งเป้าหมายในการกระจายวัคซีนที่รวดเร็ว ปลอดภัย และประทับใจ โดยต้องการฉีดให้ 1 ล้านโดส ภายใน 100 วัน หากทำได้ตามที่วางแผนไว้ โคราชจะเป็นต้นแบบให้อีกหลายจังหวัดได้ดำเนินตาม
โจทย์สำคัญของโคราชคือ การกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีนร้อยละ 70 จากประชากรจำนวน 2.7 ล้านคน อยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคน โดยวันที่ 19 พ.ค. 64 จะเริ่มฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 7,000 คน และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 64
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้คือ การไม่เชื่อมั่นในกระบวนการฉีดวัคซีน HackVax Korat จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยแนวคิดสำคัญคือ “การจัดการระบบให้คนมาฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดกลไกการบอกต่อ ดึงดูดให้คนมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้น และเปิด open souse design ให้รัฐบาล โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถดึงข้อมูลนำไปประยุกต์ใช้ได้”
HackVax คือการรวมตัวของนักนวัตกรรม นักออกแบบ นักสื่อสาร ทีมแพทย์ ร่วมกับนักวิจัยจาก MIT De/code ชวนอ่านเรื่องราวจากเหล่าผู้ก่อตั้ง HackVax
พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักนวัตกรรม นักศึกษาปริญญาเอกที่ MIT Lab สหรัฐอเมริกา
การนำโมเดลกระจายวัคซีนจาก MIT Media lab สหรัฐอเมริกา มาปรับใช้ที่โคราช
“ผมเอาโมเดลจากที่ Boston มาใช้กับ HackVax ต่อให้บริบทต่างกัน เทคโนโลยีต่างกัน แต่ด้วยคำถามเดียวกัน มันสามารถทำให้เราไปสู่คำตอบ ในการสร้าง Flow การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้
“เราใช้การตั้งคำถามว่า แต่ละกระบวนการใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ละก้าวจากจุดบริการหนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งมันใช้จำนวนก้าวเดินกี่ก้าว เพื่อที่เราสามารถจะสร้างกระบวนการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่สุด
“มันไม่ใช่แค่การมีวัคซีนที่ดีอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่มีการออกแบบการจัดการที่ดีด้วย มันคือเรื่องของการสื่อสาร เราจะทำอย่างไรให้คนมีความเชื่อมั่น และถ้าเขามีประสบการณ์ที่ดีในการฉีด ก็จะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนอื่นๆ มาช่วยกันฉีดต่อด้วย เราต้องคิดให้มันครบวงจร”
กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุดทด ผู้ประกอบการ Startup-SMEs จ.นครราชสีมา
การฉีดวัคซีนในมุมมองของภาคธุรกิจ ที่ความพึงพอใจของลูกค้าคือสิ่งสำคัญอันดับแรก
“ในมุมมองภาคเอกชน ตัววัคซีนมันคือปลายทางของอุโมงค์เรื่องนี้ ที่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว สิ่งที่ MIT เขาคิดค้นขึ้นมา มันไม่ใช่แค่การตั้งสถานีฉีดวัคซีน แต่เราต้องคิดถึงเรื่องการขนส่ง การสร้างความเชื่อมั่น หลังจากที่เขามาฉีด เราจะทำอย่างไรให้มันเกิดไวรัล”
“โปรเจค HackVax มันคือการมองไปถึงก่อนที่จะพาคน มาถึงที่ฉีดวัคซีนจะออกแบบอย่างไร และหลังจากคนฉีดไปแล้วจะเป็นอย่างไร เรื่องพวกนี้มันมีรายละเอียดอีกเยอะมาก ที่โปรเจคเราครอบคลุมอยู่”
“สิ่งหนึ่งที่อยากจะสื่อสารออกไปให้กับทุกๆ โรงพยาบาลคือ อย่าประมาทกับกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชาชน คือมาถึงก็ฉีดเลย เราควรสร้างความเชื่อมั่น และสื่อสารให้ตรงกลุ่ม”
นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ คุณหมอจาก รพ.มหาราช นครราชสีมา
โรงพยาบาลต้องออกมาจาก Comfort zone และจับมือกับภาคเอกชน
“การบริหารจัดการคือ Pain point ของการฉีดวัคซีน โรงพยาบาลมีองค์ความรู้ และบุคลากรในการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เราได้มาจับมือทำงานกับ HackVax เพื่อให้เกิดการสื่อสารในองค์ความรู้ ในการบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนรวดเร็วที่สุด
โรงพยาบาลต้องออกมาจาก Comfort zone และมาจับมือกับภาคเอกชน ให้เกิดความร่วมมือ ยกตัวอย่างเช่น อ.เมือง โคราช เรามีประชากรทั้งหมด 4 แสนคน ถ้าโรงพยาบาลมหาราชที่เดียว ฉีดได้วันละ 6,000 คน 1 เดือน เราจะฉีดได้ 180,000 คน แต่ถ้าที่อื่นฉีดได้อีกวันละ 6,000 คน รวมกันหลายๆ ที่ ผมเชื่อว่าใช้เวลา 1 เดือน ประชาชนใน อ.เมือง ทุกคนจะได้รับวัคซีน “เมื่อไหร่ที่ประชาชนได้รับวัคซีนเร็ว ความมั่นใจจะเปลี่ยนไปเลย เราต้องลดสีดำในใจของคน และเพิ่มสีขาวเข้าไปในใจของประชาชน หน้าที่ลดสีดำมันคือหน้าที่ของแพทย์ ในการลดคนไข้ให้เสียชีวิตน้อยที่สุด ให้ความรู้ความมั่นใจ แต่หน้าที่เพิ่มสีขาวคือ การที่ทุกคนต้องได้รับวัคซีน ฉะนั้นแล้วเมื่อไหร่สีขาวชนะสีดำได้ สถานการณ์มันคงสดใสขึ้น”
หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นของทีม HackVax จากคนหลากหลายอาชีพ แต่ละมุมมองกันไปแล้ว เพื่อให้เห็นภาพของกระบวนการดังกล่าวมากขึ้น เราจึงได้เข้าไปสำรวจในเว็ปไซต์ https://hackvax.org/
และ Hack Vax Open Design คือกระบวนการที่ทำให้เราเห็นการออกแบบ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้มาฉีดวัคซีน ทั้ง 4 กระบวนการดังนี้
Process 1: Understanding the User Journey คือการโฟกัสกระบวนการฉีดวัคซีน ณ สถานที่ฉีดก่อนเป็นอันดับแรก อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ การกำหนดขั้นตอนทั้งหมดในการฉีดวัคซีน และแต่ละขั้นตอนใช้เวลากี่นาที/ คน โดยคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คนที่จะมาใช้บริการ
Process 2: Scaling Up the Site คือการมุ่งเป้าไปที่กระบวนการ รองรับผู้มาใช้บริการให้ได้มากขึ้น เป็นการออกแบบทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการมีทางเลือกในสถานการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ เช่น หากระบบ online ล่ม หรือถ้ามีผู้ประสงค์ต้องการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้ลงทะเบียนฉีดมาเข้ารับบริการ เราจะทำอย่างไร
Process 3: Signage & Direction คือการออกแบบป้ายต่างๆ ในการบอกทิศทางในการเคลื่อนย้ายผู้คน โดยให้ความสนใจตั้งแต่ที่จอดรถ โทนสีในการลดความตึงเครียดและสร้างความผ่อนคลายที่สุด
Process 4: Humanizing the Process คือการสร้างความประทับใจให้กับผู้มาใช้บริหาร เพื่อนำไปสู่การบอกต่อที่จะนำไปสู่การสื่อสารในวงกว้าง โดยจะมีทั้งการออกแบบการ์ดขอบคุณ, เข็ดกลัด, alcohol spray, ภาพ backdrop สำหรับการถ่ายรูป เพื่อให้เกิด viral movement ที่จะช่วยรณรงค์ให้คนมาฉีดมากยิ่งขึ้น
ในเว็ปไซต์ยังมีข้อมูลของ HackVax ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชน สถานพยาบาล อยู่อีกมาก และหาก HackVax ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้กับคนโคราช เชื่อว่าโมเดลดังกล่าวนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ในการฉีดวัคซีนที่ดี
แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ หากกระบวนการทั้งหมดถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว แต่ที่ปลายทางของอุโมงค์เรื่องนี้ตามที่พี่กอล์ฟ มารุต กล่าวไว้คือตัว ’วัคซีน’ ระหว่างการออกแบบกระบวนการที่ดีและสร้างความประทับใจ กับการที่ประชาชนสามารถมีสิทธิในการเลือกชนิดของวัคซีนได้มากกว่านี้ ปัจจัยใดจะส่งผลต่ออัตราการได้รับวัคซีนของประชาชนไทยมากกว่ากัน แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้ง 2 ปัจจัยก็ควรดำเนินไปควบคู่กัน
ข้อมูลสัมภาษณ์จาก: รายการพิเศษ ไทยพีบีเอสสู้โควิด19 (17 พ.ค. 64)
ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมจาก: https://hackvax.org/