ไม่ว่าจะพอป ร็อก คันทรี คลาสสิก เฮฟวี แรป หรือเพลงแนวใด ๆ เพลง ยังคงเล่นคลอไปพร้อมกันกับก้าวเดินซ้ายขวาในชีวิตทุกคน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ร้านค้าปลีกเพลงในอดีตได้กลายเป็นแพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ด้วยตลาดที่กว้างขึ้นจึงมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้น การปรับตัวจึงถือเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้ทำการปรับกลยุทธ์ พร้อมเปลี่ยนวิธีการเดินเกมให้เท่าทันยุคสมัย แต่หากให้ถามว่าชะตากรรมเหล่านั้นหนักอึ้งอยู่ที่บ่าใครเป็นพิเศษ คำตอบคงหนีไม่พ้นผู้เป็นฐานรากของวงการหรือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เอง De/code ได้นัดหมายพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์กับ เอส–วสกร เดชสุธรรม นักร้องนำวงกล้วยไทย ผู้บริหารค่ายเพลง Blackat Records และ Banana Record เพื่อร่วมถอดรหัสปัญหาว่าด้วยกรอบทุนนิยมที่ครอบทุกคนในสังคมได้อย่างไร พร้อมชวนมองสิ่งที่ควรจะเป็นเพื่อโลกที่เป็นธรรม แก่ผู้สร้างสรรค์ไปด้วยกัน
“ผมเชื่อว่าเพลงยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ระดับต้น ๆ ของโลก เพลงยังทำงานอยู่ในทุกสื่อ ไม่ว่าคุณจะทำงานวงการภาพยนตร์ วงการโฆษณา หรือแม้แต่คุณจะขายข้าวกะเพราข้างทาง ถ้าคุณมีโซเชียล คุณก็มีเพลงเข้ามาประกอบ ดังนั้นผมเชื่อว่าเพลงยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และเพลงจะยังสร้างมูลค่าให้กับโลกและประเทศเสมอ” เอสกล่าวอย่างมั่นใจเมื่อเราถามว่าบทบาทของอุตสาหกรรมเพลงที่มีต่อทุกคนคืออะไร
ผู้ถือผูกขาด ผู้สร้างตึงเครียด
กรอเทปย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เอสเล่าให้เราฟังว่าครั้งหนึ่งมีคนจะมาจัดคอนเสิร์ตให้ศิลปินท่านหนึ่งแต่ทางค่ายเรียกค่าลิขสิทธิ์เพลงหนึ่งเพลงราคาร่วมแสน “การที่จะไปเล่นคอนเสิร์ตเพลงตัวเองแล้วจ่ายเงินเป็นล้านบางทีมันก็ไม่คุ้มค่า” เอสว่า แต่ ณ ปัจจุบันค่ายใหญ่มักทำการแยกตัวออกมาเป็นค่ายย่อยหลายแห่ง ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้เป็นรูปแบบใหม่เสมอ ลิขสิทธิ์เหล่านั้นอาจมีการเซ็นสัญญาแบบปีต่อปี หรือซิงเกิลแต่ละซิงเกิล แต่เหนือสิ่งอื่นใดทางค่ายยังเป็นคนถือครองตัวมาสเตอร์ของผลงานเหล่านั้นเหมือนเดิม หากศิลปินจะนำออกมาใช้เองก็ยังไม่สามารถทำได้
ในอัลบั้มที่ 3 ของกล้วยไทย หลังจากได้มีการเริ่มโปรโมตและปล่อยซิงเกิลเพลงแรกออกสู่สาธารณะ ทางค่ายได้เรียกวงกล้วยไทยเข้าไปคุยและประกาศยุบค่ายในเวลาต่อมา เนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ในจังหวะนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นช่องโหว่ของปัญหาที่ว่ามา เพราะแม้ค่ายจะถูกยุบไป สัญญาที่ติดไว้ยังคงมีเวลาเหลืออีก 6 ปี ทำให้กล้วยไทยไม่สามารถเอาผลงานของตนไปใช้ทำอะไรได้จนกว่าจะหมดสัญญา
แต่นับเป็นโชคดีของวงกล้วยไทยเพราะทางวงสามารถขออนุญาตยกเลิกสัญญา 6 ปีนั้น และเอามาสเตอร์จากทางค่ายไปทำขายเองแบบอินดี้ เอสได้กล่าวเสริมว่าหากเป็นวงที่ใหญ่และมีชื่อเสียงอาจทำไม่ได้ และต้องตกที่นั่งลำบากแทน
คำถาม: หรือกฎหมายวิ่งไม่ทันโลกที่หมุนไป
“ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบัญญัติกฎหมายออกมาน่าจะมีการคุยกับทางค่ายต่าง ๆ มาก่อนหน้านั้นแล้วว่า ถ้าสมมติมีเคสนี้ ข้อได้เปรียบจะอยู่ที่ทางค่าย แต่ ณ ปัจจุบัน การผลิตผลงานเพื่อที่จะปล่อยออกสู่สาธารณะ หรือว่าการหารายได้ สร้างรายได้จากโซเชียลต่าง ๆ มันมีรูปแบบเกิดขึ้นมารวดเร็ว ทำให้กฎหมายอาจยังตามไม่ทัน” เอสตอบ
แม้จะมีการจัดพื้นที่ของการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และผลักดันการแก้ไขปัญหาว่าด้วยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ระหว่างศิลปินและระบบทุนนิยมที่ถือสิทธิ์ของผลงานแทนผู้สร้างสรรค์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นช้างตัวใหญ่ที่อยู่ในวงการเพลงไทยมาช้านาน แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดสัญญากับค่าย หรือการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ให้ทั่วถึงที่เราจะพูดถึงกันต่อไปกลับไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นประจักษ์
อย่างไรก็ตามแม้เวลาล่วงเลยผ่านไปหลายปี เหล่าศิลปินยังคงคาดหวังให้ภาครัฐดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ช่องโหว่ที่ไม่เป็นธรรม เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้กับผู้สร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในโลกทุนนิยม
การซื้อสื่อในยุคก่อนไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์หรือวิทยุ หากใครมีทุนอยู่ในมือมาก ความสามารถในการซื้อเวลาเป็นของตัวเองเพื่อโปรโมตเพลงก็เพิ่มขึ้นไปตาม ๆ กัน ด้วยวิถีทุนนิยมที่มีให้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวันเหล่านี้เองทำให้พื้นที่สำหรับผู้ผลิตผลงานตัวเล็ก ๆ ที่ต้องการปล่อยงานออกสู่สาธารณะหดหายไป
แม้โซเชียลเน็ตเวิร์กจะเข้ามาแทนที่ในแง่การประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ต้องหวังพึ่งแค่เวลาบนจอแก้วหรือวิทยุเหมือนแต่ก่อน แต่ทุนนิยมยังคงได้เปรียบไม่ต่างจากเดิม เมื่อคุณสามารถใช้เงินในการดันผลงานหรือซื้อยอดวิวเพื่อที่จะเอาไปขายงานต่อได้ เป็นวังวน ทุนมาก ยอดดูมาก ซ้ำไปซ้ำมา
“คุณต้องการล้านวิว คุณจ่ายกี่บาท สมมติคุณจ่ายหมื่นบาท แสนบาท แล้วมันคุ้มค่าที่จะเอายอดเคลมตรงนี้ไปขายโฆษณา มันก็คือการลงทุนอยู่ดี เพราะฉะนั้นผมว่าทุนนิยมยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน การมีเงินจะยังสามารถซื้อมูลค่าของตัวสินค้าได้ไม่ต่างจากเดิม” เอสเสริม
แล้วเรา จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรได้บ้าง
ฝากถึงเพื่อนศิลปิน: หัวใจของการจดลิขสิทธิ์
“เราไม่จำเป็นต้องไปจดลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนสมัยก่อนแต่มันยังมีความจำเป็นอยู่ตรงลักษณะที่ว่า หากมีการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือมีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น จะต้องมีการเก็บข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนเอาไว้ที่ตัวเองว่าเราปล่อยไปเมื่อไร เพื่อเป็นหลักฐานของการมีตัวตนในการปล่อยเพลง”
เอสอธิบายกับเราว่า อยากเชิญชวนให้เพื่อนศิลปินทุกคนได้ไปจดลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองเพราะ ในวันนี้ได้มีบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์เกิดขึ้นหลายแห่ง ศิลปินรุ่นใหม่อาจไม่มีข้อมูลว่าควรจะเริ่มตรงไหน ควรจะไปที่ไหน ทำไปเพื่ออะไร และการทำสิ่งเหล่านั้นจะเกิดการปันผลประโยชน์อะไรตรงไหนได้บ้าง ซึ่งจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเองในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน
เอสยกตัวอย่างบริษัทลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MCT ที่มีการร่วมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หากศิลปินไปสมัครสมาชิกจะมีการเก็บค่าลิขสิทธิ์เมื่อผู้ใช้นำเพลงไปเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์โดยอัตโนมัติ
โดยหลักการทำงานของระบบคุ้มครองลิขสิทธิ์แบบรวบรัดมีอยู่ว่า เมื่อมีการอัพโหลดเพลงลงแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีการหักส่วนแบ่งไปสู่ลิขสิทธิ์โลกที่ทำร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร (กล่าวคือ เนื้อร้องและทำนอง) ซึ่งตรงส่วนนี้เองศิลปินจะโดนหักส่วนแบ่ง 8% และไม่สามารถได้รับเงินกลับคืนมาหากไม่ได้ไปสมัครสมาชิกกับทางบริษัทที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์
“อยากให้ทุกคนไปสมัครสมาชิกตรงนี้กันเพื่อจะคุ้มครองสิทธิ์ของตัวเอง แน่นอนว่าบริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทคนกลางเหมือนกันครับ เขาก็จะหักส่วนแบ่งของเขาอยู่ แต่ว่าโดยตัวศิลปินเองไม่สามารถที่จะเอาเงินก้อนนี้กลับมาได้เพราะว่ามันเป็นการทำสัญญาร่วมกันระหว่างทั่วโลกว่าการดูแลจัดเก็บลิขสิทธิ์จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เนี่ยมันต้องผ่านตัวคนกลางเท่านั้น อยากให้ลองศึกษาเพื่อเป็นการคุ้มครองผลงานตัวเองกัน”
ฝากถึงผู้ฟัง: เลือกสนับสนุนผู้สร้างสรรค์
แม้ผลวิจัยของสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้มาจากการศึกษาคน 16,000 คน ในชาติยุโรป 5 ชาติจะชี้ว่า การโหลดเพลงเถื่อนนั้นไม่สามารถทดแทนการซื้องานดนตรีถูกกฎหมาย แต่กลับส่งผลให้เพลงขายดียิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การเห็นแผ่นผีซีดีเถื่อนเกลื่อนเมืองอาจเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำใครหลายคน และหดหายลงไปด้วยโลกออนไลน์ที่เข้ามาแทนที่ ทั้งนี้การปลอมแปลงหรือทำซ้ำยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เราในฐานะผู้บริโภค อาจไม่เห็นความต่างระหว่างสองสิ่งนี้มากนัก ไม่ว่าจะด้วยความสะดวก หรือด้วยเหตุผลใด ๆ ที่ทำให้เราเลือกสนับสนุนทางเลือกที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่ในฐานะศิลปินผู้เป็นคนผลิตผลงานเพลงที่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนตั้งแต่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้เป็นเม็ดเงิน รวมไปถึงมูลค่าทางความคิดที่ไม่สามารถตีเป็นราคาให้เห็นล้วนเป็นสิ่งที่สร้างผลงานเหล่านั้นขึ้นมา หากสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถย้อนกลับไปที่ผู้สร้างสรรค์ได้ สักวันเราอาจจะต้องมาเจอกับคำถามที่ว่า ทำไมผลงานสร้างสรรค์ถึงลดลงอย่างน่าใจหายอย่างนี้ ก็เป็นได้
“ทุกครั้งที่ผมฟังเพลงจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างอย่าง YouTube ผมจะมองหา Official Artist ไว้ก่อน สมมติผมชอบเพลงนี้แล้วถ้าผมจะแชร์เนี่ย ผมจะหาต้นฉบับให้เจอก่อน ผมจะไม่แชร์จากคนที่มาลงทำซ้ำเด็ดขาด ผมจะเลือกฟัง แชร์ และกดถูกใจแค่เฉพาะออฟฟิเชียลวีดีโอ หรือออฟฟิเชียลเพลงของศิลปินนั้น ๆ เท่านั้น”
เอสกล่าวเสริมอีกว่าจากที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่เพียงในวงการเพลงเท่านั้น แต่รวมไปถึงลิขสิทธิ์ของหนัง และรายการต่าง ๆ เช่นกัน ในยุคนี้มีหลายค่ายที่ปล่อยคลิปของตนแบบถูกลิขสิทธิ์ให้ดู สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้คือการสนับสนุนผู้สร้างสรรค์และเพิ่มยอดคนดูให้ผู้ผลิตโดยตรง แม้จะมีคนบางกลุ่มแอบลักลอบเอาเพลงคนอื่นมาทำรวมฮิต หรือเอาหนังคนอื่นมาปล่อยเพื่อเรียกยอดรับชม แต่ถ้าคนฟัง คนดู ไม่สนับสนุน ไม่แชร์ ไม่ไลค์ ไม่ไปเพิ่มยอดต่าง ๆ ให้เขา แน่นอนว่าสักวันสิ่งเหล่านั้นจะหายไปเอง
“อยากฝากให้ดูต้นตอของงานที่เรากำลังฟังหรือกำลังดูอยู่ว่าต้นฉบับมันอยู่ที่ไหน ช่วยสนับสนุนคนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริง ๆ หน่อยครับผม”
ฝากถึงภาครัฐ: ศิลปินคืออาชีพ
“อยากฝากไปถึงภาครัฐว่า คุ้มครองได้ไหม เพราะว่าทุกวันนี้ยิ่งมีปัญหาเรื่องโควิดเข้ามา คนที่ได้รับผลกระทบก่อนเพื่อนก็คือนักดนตรี แล้วคนที่ได้ปลดล็อกหลังสุดก็ยังเป็นนักดนตรีเหมือนเดิม คอนเสิร์ตก็จัดไม่ได้ ดนตรีก็เล่นไม่ได้ แต่ไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองเลยเพราะว่าเราไม่มีสิทธิ์ ไม่มีประกันอะไรต่าง ๆ สำหรับนักดนตรี อยากให้มีการคุ้มครองเหมือนมันเป็นอาชีพหนึ่งขึ้นมาจริง ๆ ที่คุณสามารถจะประกอบเป็นอาชีพได้ มีเงิน มีเบี้ยเลี้ยงเหมือนกับพนักงานบริษัท เหมือนข้าราชการ เหมือนอาชีพอื่น ๆ เสียที”
เอสกล่าวเสริมอีกว่าทุกวันนี้ศิลปินยังไม่สามารถที่จะกรอกลงไปในเอกสารต่าง ๆ ในการสมัครงานได้ว่าคุณเป็นอาชีพศิลปิน ตอนนี้จึงกำลังดำเนินการเพื่อให้ศิลปินได้ใบประกอบวิชาชีพในเร็ววันเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐจะไม่เพียงช่วยคนที่ทำงานในสายอาชีพเหล่านี้เท่านั้น แต่จะช่วยส่งเสริมวงการอุตสาหกรรมดนตรีไทยให้ไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนอีกด้วย
“ถ้าหากเราทุกคนไม่ว่าจะตัวศิลปิน ผู้ฟัง ผู้สนับสนุน รวมไปถึงภาครัฐหันมาสนใจเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องการทำให้ถูกต้อง ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ของตัวศิลปิน ผมเชื่อว่าประเทศมันจะดีขึ้น เงินต่าง ๆ ที่ถูกลิขสิทธิ์และถูกกฎหมายจะพาวงการเพลง วงการภาพยนตร์ และวงการอุตสาหกรรมบันเทิงไทยก้าวไปข้างหน้าได้ ผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้นได้จากตรงจุดนี้ครับ”
เงยหน้ามองฟ้าไม่เห็นฟ้า
เพราะท้ายที่สุดแล้วแล้วกรอบที่ครอบชีวิตทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่ใครอื่นไกลแต่เป็นทุนนิยมเสมอมา ทุนนิยมที่บอกว่าลิขสิทธิ์จะปกป้องผู้สร้างสรรค์แต่กลับเป็นเกราะคุ้มกันให้นายทุน ทุนนิยมที่บอกว่าถ้าคุณเงินหนา คุณจะได้แสง ณ พื้นที่ใต้หลังคาที่เขาสร้างไว้มากกว่า ในขณะเดียวกันผู้สร้างสรรค์ที่ผลิตความจรรโลงใจให้กับเรากลับไม่สามารถเรียกตนเองว่า ผู้สร้างสรรค์ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ตอนนี้คงเป็นเวลาที่เปิดโอกาสให้เราได้ย้อนมองตัวเองและตั้งคำถามในใจว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจเราและเข้าใจเขา เพื่อกระตุ้นให้ความเป็นธรรมในทุกด้านเกิดแก่ผู้สร้างสรรค์
แล้วสักวัน อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะร่ำรวยไปด้วยผลงานที่หลากหลาย เพียบพร้อมไปด้วยการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพื่อการเติบโตที่ไม่หยุดไว้เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ก้าวไกลไปยังสายตาชาวโลกอย่างสมเกียรติ