“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
“ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย ความเท่าเทียมหลากหลายจงเจริญ”
อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราจะเห็นกลุ่มคนความหลากหลายทางเพศ ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทุกมิติเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการขจัดความเข้าใจผิดที่ว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานหรือเป็นเพียงแค่เทรนด์ในห้วงเวลาหนึ่งแล้วจากไป ถ้าย้อนดูตามประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีตัวตนอยู่บนโลกมานาน แต่ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของเขาถูกกลบทับหรือลบไปด้วยความคิดแบบเพศทวิลักษณ์ ที่คิดว่าเพศมีเพียงชายและหญิง รวมไปถึงวิธีคิดแบบเชิดชูรักต่างเพศ (heteronormativity) อีกด้วย
ความคิดแบบเพศทวิลักษณ์ ทวิลักษณ์แห่งเพศ หรือ Gender Binary เป็นระบบความคิดที่ยึดโยงว่าโลกใบนี้มีเพียงแค่สองเพศ ไม่หญิงก็ชาย ไม่ชายก็หญิง เป็นเพียงขั้วตรงข้ามสองขั้วที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นบทบาท ความสัมพันธ์ ความสามารถ งานอดิเรก และประเด็นยิบย่อยอันเป็นกรอบครอบชีวิตทุกคน โดยอ้างว่านั่นคือสิ่งที่เหมาะสมและควรจะเป็น ความคิดเหล่านั้นถูกพร่ำบอกไปมาจนราวกับว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวในที่สุด
หลังจากที่ได้รู้นิยามของความคิดแบบเพศทวิลักษณ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว De/code ขอชวนผู้อ่านมองย้อนกลับไปที่วัยเด็กและตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่คุณเคยอยู่ไปพร้อมกับ มุก – มุกดาภา ยั่งยืนภราดร บรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ซอย ว่าเข้าข่ายคำจำกัดความที่กล่าวมาหรือไม่ ย้อนรอยอดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปแค่ไหน และทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้
สถานศึกษา สังคมแรกของผู้ใหญ่ตัวเล็ก
โรงเรียนนับว่า เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่ทำให้เด็กเติบโตไม่ใช่เพียงในด้านการเรียนการสอนเท่านั้น แต่รวมไปถึงด้านร่างกายและจิตใจ เราใช้เวลาในการศึกษาขั้นพื้นฐานไปกว่า 15 ปี ห้วงเวลาเหล่านั้นทำให้โรงเรียนเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างพัฒนาการของมนุษย์แต่ละคน การเรียนการสอนหรือบรรยากาศในโรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังให้คน ๆ หนึ่งเติบโตมามีทัศนคติ วิธีการมองโลก หรือวิธีคิดแบบเฉพาะเจาะจงได้ คำถามมีอยู่ว่า การศึกษาจะสามารถเป็นรากฐานสำคัญของการปลูกฝังและทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ เราไปลองวิเคราะห์กัน
คำถาม: ทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องเพศสภาพศึกษา
“เรื่องเพศเป็นเรื่องของชีวิต เราทุกคนเกิดมามีเพศของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ การที่เราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจลักษณะความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม แน่นอนว่ามันจะทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น และในขณะเดียวกันก็สอนให้เรารู้จักที่จะเคารพและยอมรับตัวตนของคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศในรูปแบบอื่น ๆ ออกไป อาจจะไม่ได้เหมือนกับเรา ไม่ได้ตรงกับค่านิยม หรือบรรทัดฐานของสังคม แต่ไม่ได้แปลว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นทำให้เราด้อยค่ากว่าคนอื่น” มุกตอบ
มุกได้อธิบายให้เราฟังว่าการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศล้วนทำงานเพื่อนำไปสู่การยอมรับ (acceptance) ทั้งสิ้น ซึ่งในหนังสือ Beyond the Gender Binary: แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน ของ อลก เวด-เมนอน (แปลโดย มุกดาภา ยั่งยืนภราดร) ได้กล่าวไว้ว่า tolerance หรือ ‘ทนได้’ นั้นต่างจาก ‘ยอมรับ’ โดยการต้องทนกับอะไรสักอย่างหมายถึงการรักษาระยะห่างกับสิ่ง ๆ นั้น เป็นการพูดว่า “โน่นน่ะเหรอ ไม่เกี่ยวกับฉันสักหน่อย” แทนที่จะบอกว่า “นี่น่ะเหรอ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันนะ และฉันก็อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อจะได้เข้าใจและช่วยทำอะไรได้ดีขึ้นบ้าง”
ถ้าขยับออกมามองในเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจะพบว่าหลายประเทศมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง (protection) คนเพศหลากหลายจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติในทุกมิติ เช่น การเลือกซื้อที่อยู่อาศัย การรับเข้าทำงาน รวมไปถึงแนวปฏิบัติแบบยอมรับ (recognition) หรือการที่กฎหมายยอมรับสถานะคนเพศหลากหลายในฐานะพลเมือง และให้สิทธิเสรีภาพเขาในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย
มือขวาพลิกหน้ากระดาษ อ่านหัวข้อ: ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
หากให้ลองเปรียบเทียบกับโลกภายนอก ในต่างประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า Sex and Relationship Education ซึ่งนอกจากจะเพิ่มเนื้อหาลงไปในหนังสือแล้วยังมีการพัฒนาบุคลากรให้สอนและทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเพื่อให้สามารถนำไปคุยกับผู้ปกครองได้ ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย เราจะพบว่าได้มีการแก้หลักสูตรวิชาสุขศึกษา (Health and Physical Education) ชั้นป.1 – ม.6 ให้ทันโลกมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แบบเรียนสุขศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้มีการปรับแก้ไขเนื้อหาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถี ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ภายใต้หัวข้อ การวางตัวที่เหมาะสมตามวัฒนธรรม ซึ่งหากนำไปเทียบกับหนังสือฉบับก่อน ๆ ที่มีการพูดถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศคือคนผิดเพศนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือแบบเรียนไทยกำลังมีพัฒนาการในเชิงบวก แต่นั่นเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนรู้และมีความเข้าใจมากขึ้นอย่างแท้จริง
“ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เราศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในหนังสือเรียนสุขศึกษาและพลศึกษา ฉบับปรับปรุงล่าสุด มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่จากที่อ่านมาเราเชื่อว่าหนังสือเรียนสามารถไปได้ไกลกว่านี้ในแง่ของเนื้อหาและคำอธิบายที่ร่วมสมัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการพูดถึงอัตลักษณ์ LGBTQI+ มันไม่ควรจะเป็นการพูดแค่ว่าในปัจจุบันนี้เรามี LGBTQI+ อยู่ คืออะไรบ้าง บอกว่าเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากตะวันตก อะไรแบบนี้ แล้วจบ มันไม่ได้นำไปสู่เรื่องราวหรือประสบการณ์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศจริง ๆ ไม่นำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมหรือทัศนคติหลายอย่างที่กดทับเพศหลากหลายอยู่ รวมถึงหลายคำอธิบายเองก็ดูจะละเลยบริบททางสังคมประวัติศาสตร์ไปไม่น้อย ตรงนี้ยังไม่ได้รวมไปถึงกลุ่มที่หายไปจากหน้าหนังสือเรียนอย่าง Aromantic หรือคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางใจ และไม่ฝักใฝ่หรือไม่สนใจความรักเชิงชู้สาว เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นความปรารถนาหนึ่งในชีวิตที่ต้องเติมเต็มดังเช่นผู้ที่มีแรงดึงดูดทางใจ คิดว่ามันยังมีข้อจำกัดอยู่เยอะมากในคำอธิบายหรือวิธีการที่หนังสือเรียนยกตัวอย่าง
สิ่งที่เราจับตามองเป็นหลักคือ representation หรือการนำเสนอภาพแทนของกลุ่ม LGBTQIA+ ในหนังสือเรียน แต่ตอนอ่านเองก็นั่งดูข้อมูลส่วนอื่น ๆ ไปด้วย ปัญหาที่พบนอกจากเรื่องการนำเสนอภาพแทนอัตลักษณ์เพศหลากหลายแล้ว หลัก ๆ อีกอย่างน่าจะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์หรือสุขภาวะทางเพศ ที่จำกัดอยู่แค่ในบริบทของชายหญิงมาก ๆ ซึ่งในแง่หนึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาเรื่อง representation ด้วยเหมือนกันนะ การเลือกพูดถึงหรือไม่พูดถึงเพศหลากหลายในประเด็นต่าง ๆ มันทำให้เราย้อนกลับมาถามอีกว่า ถ้าสมมติเราเป็นเด็กที่ยังอยู่ในกระบวนการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ตั้งใจมาหาคำตอบจากหนังสือเรียนที่ควรเป็นแหล่งความรู้แหล่งแรก ๆ ซึ่งเขาสามารถเข้าถึงได้ แต่ไม่มีตรงไหนที่อธิบายให้เขาเข้าใจเลยว่า ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเป็นอย่างไร การเตรียมตัวก่อนมีเพศสัมพันธ์ต้องทำอย่างไร ไปจนถึงเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ อีก สุดท้ายคำถามมันกลับมาที่ว่า เรากำลังผลักให้เด็กหลายคนต้องไปขวนขวายเอาเองจากแหล่งอื่นอยู่ใช่ไหม แล้วเด็ก (ซึ่งก็อยู่ในช่วงเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกและคนรอบข้างอยู่ด้วย) จะรู้สึกอย่างไรที่หนังสือเรียนไม่มีคำตอบให้กับสิ่งที่เขาต้องการจะรู้เลย” มุกอธิบาย
อาจกล่าวสรุปได้ว่า การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสภาพศึกษาไม่ใช่แค่หัวข้อใหญ่อย่าง ความหลากหลายทางเพศ เพียงเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงการสร้างทัศนคติเชิงบวก ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับสังคมซึ่งมากกว่ากรอบความรู้ในวิชาสุขศึกษา และประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาไปจนถึงจุดนั้นได้
ตกกับทัศนคติ
ลองออกมาจากนอกตำราแต่ยังอยู่ในสถานศึกษา ทัศนคติยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะทัศนคติ และความคิดของบุคลากรที่อยู่ภายในโรงเรียน เพราะหากความท้าทายของโลกตะวันตกคือศาสนา ประเทศไทยจะยังคงติดอยู่ที่กับดักด้านวัฒนธรรมความเป็นไทยอันดีงาม ซึ่งสามารถเห็นได้จากร่องรอยหลักฐานความเป็นไทยที่เป็นกรอบครอบไว้ตั้งแต่อดีต
“หน้าหนังสือเรียนจะไม่ช่วยอะไรเลยถ้าทัศนคติของคนที่เป็นครู อาจารย์ ยังดึงรั้งให้เด็กยึดติดอยู่กับวิธีคิดแบบเดิม ๆ” มุกว่า
“หากลองยกตัวอย่างบรรทัดฐานหรือค่านิยมที่ไทยมาก ๆ ที่สื่อออกมาในสถานศึกษา คงหนีไม่พ้นการแยกโรงเรียนหญิงล้วน-ชายล้วน รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอนที่ยึดโยงกับเพศผู้เรียน ซึ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิดแบบเพศทวิลักษณ์อย่างชัดเจน
เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วน ส่วนน้องชายก็เรียนชายล้วนมา เวลามาคุยกันว่าเราเรียนวิชาอะไรและน้องเรียนวิชาอะไรมันทำให้เห็นชัดเจนเลยว่ามันถูกออกแบบมาให้เฉพาะเจาะจงกับเพศของผู้เรียนมาก ๆ อย่างถ้าเป็นวิชานาฏศิลป์ เราจะได้เรียนรำไทย พวกรำวงมาตรฐานอะไรแบบนี้แหละ มีซ้อมสอบมีอะไรกันจริงจังมาก แต่พอเราไปถามน้อง น้องจะไม่เคยได้แตะการเรียนรำอะไรพวกนี้เลย ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นพลศึกษาน้องจะได้เรียนฟุตบอล ในขณะที่ถ้าเป็นโรงเรียนของเราคือไม่มี ถ้าลองมองการออกแบบหลักสูตรเหล่านี้ ก็จะพบว่าในหลายครั้งมีฐานคิดอยู่บนการแบ่งบทบาททางเพศมาก ๆ ว่ากีฬาแบบไหนเพราะกับเพศไหน วิชานี้ต้องสอนอะไรให้ผู้ชายหรือผู้หญิงบ้าง” มุกเล่า
ในขณะเดียวกันการแยกเพศด้วยลักษณะภายนอกอย่างการแต่งกายก็สะท้อนความคิดแบบไม่ชายก็หญิงไม่แพ้กัน ซึ่งในประเด็นนี้เอง De/code ได้ร่วมพูดคุยกับ น็อต คณะเสรีเทยพลัส เพื่อมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในรั้วสถานศึกษาให้เราฟัง
“เราอยู่ในโรงเรียนที่ครูชอบอ้างกฎระเบียบในการกำหนดบทบาทและการแสดงออกของนักเรียน ดังนั้นบทลงโทษทั้งหมดทั้งมวลเลยขึ้นอยู่กับทัศนคติของครู เอาง่าย ๆ ในโรงเรียนมัธยมมันก็จะมีตามภาษาชาวบ้านว่ากะเทยเด็กหรือตุ๊ดเด็กเนอะ ซึ่งการแต่งตัวก็จะสาว ๆ ใส่กางเกงสั้น ๆ รัด ๆ หน่อยเลยจะโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ โดยครูเขามักจะให้เหตุผลว่า เธอแต่งตัวไม่เรียบร้อยเลย เป็นผู้ชายก็ต้องแต่งตัวให้มันแมน ๆ สิ”
อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดเลยคือการทรีตเด็กที่เป็นเพศหลากหลายเป็นความบันเทิง ซึ่งเราเข้าใจว่าบางคนก็เป็นคนตลกจริง ๆ และพร้อมจะเป็นเสียงหัวเราะให้เพื่อน แต่บางคนที่เงียบ ๆ ก็จะกลายเป็นว่าโดนอาจารย์แซวแทน ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นการมองภาพเหมารวม (stereotype) แบบแคบมาก ๆ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ เพราะมันเป็นเหมือนกรอบที่เขาคิดไว้ว่าใครควรจะมีบทบาทและการแสดงออกแบบไหนถึงจะถูกต้องในสายตาเขา” น็อตเล่า
จากเรื่องที่มุกและน็อตเล่ามาสะท้อนให้เราเห็นว่าระบบหลายอย่างในโรงเรียนที่ตอกย้ำแนวคิดไม่หญิงก็ชายมักควบมากับการวางบทบาททางเพศให้กับทุกคน คำถามต่อไปจึงมีอยู่ว่า แล้วมันจะเป็นอย่างไรหากเด็กไม่รู้สึก fit in ทั้งชายและหญิง เพราะเขานิยามตัวเองว่าเป็น non binary หรือปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศล่ะ เขาอยู่ตรงไหนในวิธีการแยกเหล่านี้
“เราเคยเจออาจารย์คนหนึ่งสมัยมัธยมปลายพูดใส่หน้าว่าโตไปอย่าไปเป็นเลสเบี้ยนนะ คนรักเพศเดียวกันเป็นพวกวิปริต แล้วมันเป็นคำที่บาดลึกอยู่ในใจเรามากมาจนถึงตอนนี้ เขาใช้คำว่าวิปริตเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่แรงมาก ๆ และเราคิดว่ายังมีอาจารย์หรือบุคลากรในสถานศึกษาอีกหลายคนที่ยังเชื่อว่ารักร่วมเพศมันเป็นสิ่งที่ผิดบาป ปลูกฝังคำว่าวิปริตผิดผี หรือผิดเพศ ตอกย้ำใส่หน้าเด็กอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ตรงส่วนนี้เองไม่ใช่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงในรั้วมหาวิทยาลัยด้วย เรารู้สึกว่านี่คือความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมปัจจุบัน เรียกว่าเกิดขึ้นวันต่อวันเลยก็ยังได้” มุกว่า
“เราเรียนอยู่คณะแพทย์มันเลยจะมาพร้อมกับคำว่า หมอต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือ อาจารย์มักจะมาย้ำกับเราประจำว่าอย่าทำตัวออก(สาว)มาก อย่าทำตัวแบบนี้ได้ไหม เป็นผู้ชายก็ควรทำตัวแมน ๆ สิ (อีกแล้ว) ทำแบบนี้แล้วคนเขาจะเชื่อถือได้ยังไง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่เมคเซนส์และเป็นแนวคิดที่ล้าหลังมาก” น็อตเสริม
มุกสรุปให้เราฟังว่า หากเรามองว่าสถานศึกษาเป็นที่ที่เด็กจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมและอยู่ภายใต้การอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ ดังนั้นการที่เขาบ่มเพาะวิธีการใช้ชีวิต บ่มเพาะปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อคนอื่นในรั้วโรงเรียน พลวัตเหล่านั้นจะย้อนกลับมาสู่ตัวผู้เรียนเองด้วย สิ่งที่คายออกมาโดยสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาการเรียนการสอน หรือการปลูกฝังทัศนคติใด ๆ สุดท้ายแล้วมันจะแฝงฝังอยู่กับตัวนักเรียน ทั้งวิธีคิดวิธีมองโลก-มองเพศแบบแคบ ๆ ไม่ก็บรรทัดฐานทางเพศแบบคร่ำครึ ถ้าเรามองว่าโรงเรียนเป็นสถาบันที่หล่อหลอมคนออกไปเป็นประชากรในสังคมในอนาคต เท่ากับว่าในแง่หนึ่ง สิ่งที่คุณถูกปลูกฝังในโรงเรียนจะกระจาย และขยายวงออกไปสู่สังคมภายนอกเมื่อผู้เรียนเติบโตขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่เราต้องตั้งคำถามกับความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแนวคิด การกำหนดบททางเพศที่กล่าวว่าใคร เพศใด ต้องทำอะไร ถึงจะถูกต้องเหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็นอีกด้วย
“มันเป็นคำถามเล็ก ๆ ที่จะโยงไปถึงคำถามใหญ่กว่าที่เลยพ้นเรื่องเหล่านี้ไป อย่างที่เกริ่นไปตอนแรก เวลาที่ผู้เรียนอ่านหนังสือเรียนแล้วมันพูดถึงแต่การแยกไม่ชายก็หญิง ไม่หญิงก็ชาย หรือเป็นเพศนี้ต้องทำแบบนั้น แบบนี้ แล้วคนที่มีความหลากหลายทางเพศเขาต้องรู้สึกแบบไหนหรือว่าเขาจะรู้สึกยังไง หรือแม้แต่เด็กคนอื่น ๆ ที่แข็งขืนต่อกรอบการแสดงออกทางเพศซึ่งสังคมกำหนดไว้ แล้วเขาต้องโดนก่นด่า โดนประณามหยามเหยียด โดนทำโทษทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาจะรู้สึกแบบไหน เราคิดว่ามันมีผลในด้านจิตใจค่อนข้างเยอะ และอาจส่งผลว่า เมื่อคน ๆ หนึ่งเติบโตไป เขาจะสามารถยอมรับในตัวตนของตัวเอง หรือแสดงออกซึ่งลักษณะทางเพศของตัวเองได้ขนาดไหนด้วย”
หลังจากที่ทุกท่านอ่านมาถึงจุดนี้แล้วเราขอชวนตั้งคำถามว่า
เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่
เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรให้มากขึ้น
เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะพัฒนาไปด้วยกัน
“เราเชื่อเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก เราเชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์หรือมีเพศสภาพต่างกัน เกิดมาต่างชนชั้น เกิดมาต่างสีผิวหรืออะไรก็ตาม เราคิดว่าควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจก่อนว่า เราทุกคนควรได้รับความเคารพ หมายถึงการเคารพตัวเองและเคารพผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยก”
“เรายังไม่ต้องคิดไปไกลเลยว่า โห มันคือเรื่องการขับเคลื่อนสังคม เป็นขบวนการใหญ่โตอะไร จริง ๆ จุดเริ่มต้นของพลังขับเคลื่อนสังคมที่ว่าเนี่ย มันก็คือการทำความเข้าใจง่าย ๆ ว่าคนที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา เขาอาจจะแตกต่างไปด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะเอามาใช้เพื่อตัดสินคนอื่นว่าใครด้อยค่ากว่าเรา หรือว่าเขาควรถูกปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียมแค่เพราะว่าเขาไม่เหมือนเรา หรือใช้ชีวิตเลยไปจากเส้นขีดที่สังคมพยายามตีกรอบไว้” มุกกล่าวด้วยความเชื่อมั่น และหวังให้คนลองเปิดใจ
หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความหลัง พร้อมมองความหวังที่ส่องทอในประเทศไทย เราได้พบว่าการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อทุกคนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงตามแรงกดดันเพียงบางจุดเพื่อให้สุ้มเสียงของใครบางคนเงียบหายไปชั่วขณะแต่ไร้ซึ่งใจที่โอบรับความหลากหลายอย่างแท้จริง แต่การสร้างสังคมที่ยอมรับและให้คุณค่าความเท่าเทียมต่อทุกคนในฐานะมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันกับเราต้องมาจากการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องของคนตั้งแต่ระดับปัจเจกที่มีแนวคิดและวิสัยทัศน์กว้างไกล พร้อมเปิดรับและทำความเข้าใจสิ่งใหม่ที่ตนอาจไม่คุ้นเคย
เพราะบรรทัดฐานที่มีมานานอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป
โลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายเกินกว่าจะตีกรอบไว้เพียงชายหญิง