ภาพจำของคนหนุ่มสาวที่ตะกายฝัน อดทนกับความวุ่นวายสิ้นหวังในเมืองกรุง หวังกลับบ้านเพื่อตั้งตัว ลงหลักปักฐานในบั้นปลายชีวิต อาจแปรเปลี่ยนไปเมื่อคนรุ่นใหม่บางส่วนมองเห็นความผิดปกติของระบบทุนนิยมที่ตัดขาดชีวิต การงาน และความเป็นมนุษย์ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสคุยด้วย เขาอยากกลับบ้านตามหาตัวตนที่หล่นหายเพื่อใช้ชีวิต มีชีวิต ไม่ใช่เพียงดำรงชีวิตในเมืองใหญ่ที่ดำเนินไปเพื่อชีวิตในระบบทุนนิยม
De/code ลงใต้ไปพูดคุยกับกลุ่ม “บ้านเกิด” คนใต้รุ่นใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อหาช่องทางกลับบ้านมาใช้ชีวิต และทำฝันในบ้านที่เกิดและเติบโตมา เมืองหาดใหญ่ที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าแดนใต้ แวดล้อมไปด้วยสถานศึกษาผลิตปัญญาชน คนมีคุณภาพเข้าสู่เมือง แต่เสียงคนรุ่นใหม่ไม่เคยดังพอที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองนี้ได้ บ้านเกิดจึงรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงให้รู้ว่ามีคนรุ่นใหม่ในเมืองนี้ที่ผู้ใหญ่ไม่เคยมองเห็น
คิส-อภิชญาภา หนูเนียม อายุ 24 ปี หนึ่งในสมาชิกบ้านเกิดเล่าว่า เธอและเพื่อนสมัยเรียนมัธยมปลายอีกสองคนรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มบ้านเกิด เพราะมีความรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับเมืองและคนรอบตัว ในขณะเดียวกันการอาศัยอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่สอดคล้องกับตัวตนของพวกเขา แม้เป็นเมืองที่มีฝันและงานที่ชอบรองรับ พวกเขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เลือกทำงานด้านโปรดักชัน แฟชั่น และด้านสื่อสารมวลชน ทำให้ต้องติดอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะฝันของพวกเขาไม่สามารถทำได้ในบ้านเกิด เมืองใหญ่ตัดขาดชีวิตและตัวตนบางอย่าง แต่กลับรู้สึกเป็นตัวเอง และสบายใจกว่าการกลับบ้าน การรวมตัวนี้จึงเป็นการตามหาตัวตนที่หล่นหายและเติมช่องว่างที่หายไปในบ้านเกิด และให้รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกเหมือนกันกับพวกเขา รวมตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองที่รักและเกลียดในนาม “บ้านเกิด”
การรวมกลุ่มเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดของพวกเขาเป็นรูปแบบไม่ตายตัว คิสกล่าวกว่ากิจกรรมของกลุ่มบ้านเกิดขึ้นอยู่กับความสนใจและวาระที่ต้องส่งเสียงของเมืองนั้น กิจกรรมแรกของกลุ่มคือการจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “การศึกษาฆ่าฝันเราจริงไหม” เปิดพื้นที่ให้กลุ่มแรปเปอร์ในหาดใหญ่ได้แสดงความสามารถ เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากสารคดีเรื่อง School town king สารคดีเกี่ยวกับเด็กแรปในสลัมคลองเตยที่เพิ่งได้รางวัลสุพรรณหงส์ สาขาสารคดียอดเยี่ยมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
สารคดีและกิจกรรมนี้เชื่อมโยงกับเด็กในหาดใหญ่ที่ถูกปลูกฝังให้ตั้งใจเรียนเพื่อเติบโตมาเป็นเจ้าคนนายคนตามแบบอย่างที่มีให้เห็นในเมืองใต้และถูกยกย่องมานาน หาดใหญ่มีสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ และเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยการศึกษาเชิงพาณิชย์ที่รายล้อมไปด้วยสถาบันกวดวิชาทั่วหาดใหญ่ เราถูกเคี่ยวเข็ญให้สอบเข้าโรงเรียนรัฐที่ติดต้น ๆ ของประเทศ จบแล้วเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เพื่อจบมาร่ำรวย มีชื่อเสียงตามฉบับทุนนิยมที่บอกเราให้ตรากตรำตนเป็นคนที่ทุนนิยม
ความเชื่อนี้ส่งต่อและไหลเวียนในระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่เด็กหาดใหญ่ แต่หมายรวมถึงคนรุ่นใหม่ในประเทศนี้ด้วย แต่ทำไมเด็กหาดใหญ่บางส่วนไม่อยากอยู่ในเมืองนี้ ความฝันหลายคนถูกตัดตอนและบอกว่าทำไม่ได้ คิสกล่าวว่า อาจเป็นความผิดของโครงสร้างสังคมนี้ที่ไม่กระจายความฝัน ไม่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทำให้อาชีพและการจ้างงานกระจุกตัวอยู่ในกทม. กลายเป็นความอึดอัดและปัญหาของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้านแต่ไม่มีงานรองรับ ในขณะเดียวกันบ้านก็ไม่โอบรับตัวตนที่เติบโตขึ้น สิ่งเหล่านี้เมืองและสังคมกลับผลักให้เป็นปัญหาของปัจเจก ปัญหาของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ปรับตัว บ้านเกิดจึงรวมตัวเพื่อบอกว่าความอึดอัดที่คนรุ่นใหม่เผชิญไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องเจออย่างโดดเดี่ยว ปัญหานี้ไม่ใช่สิ่งที่ปัจเจกต้องแบกรับ แต่คือสิ่งที่โครงสร้างทางสังคมบีบรัดให้เราต้องรู้สึกขัดแย้ง
อะไรทำให้บ้านเกิดรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้และต้องเปลี่ยนแปลง
เราคิดว่าโครงสร้างสังคมทำให้เราไม่สามารถเข้ากันได้กับสภาพแวดล้อมเดิม กับตัวตนใหม่ที่เราประกอบสร้างขึ้นจากเมืองใหญ่ แม้กระทั่งครอบครัวเราเองก็ตาม แม่ยังมองว่าเราเป็นคนเดิม ทั้งๆ ที่เปลี่ยนไปแล้ว เรามีความคิดและทัศนคติเห็นไม่ตรงกัน เราไม่ได้ต้องการให้เขาคิดตรงกับเราขนาดนั้น แต่เราอยากให้มีพื้นที่รับฟังกัน
อาจเป็นเพราะช่วงวัยที่ต่างกัน คนรุ่นก่อนและคนรุ่นเดียวกันที่นี่มีแนวคิดเรื่องเรียนจบ ทำงาน แต่งงานมีลูก ทำงานอะไรก็ได้ไปวันๆ ตามระบบทุนนิยม รอวันหยุดเสาร์ อาทิตย์เพื่อไปเที่ยว แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ เรามองว่าสิ่งนั้นมันลิดรอนความเป็นตัวตนของเรามาก ทำให้ตัวตนของเราหายไป เราไม่สามารถเป็นตัวเองได้ เรายึดติดอยู่กับหน้าที่ โครงสร้างทางสังคม เราแค่ต้องทำไป ไม่ต้องรู้ว่าเราชอบอะไร บางคนเขาไม่รู้ หรือเลือกไม่ได้ต้องทำตามไปอย่างที่ว่ากันมา
ถ้าการเมืองดี บ้านเกิดเราจะดี ?
คนที่บ้านเกิดของเราหลาย ๆ คน มองการเมืองเป็นเรื่องเล็ก ๆ และไกลตัว ชีวิตที่เป็นอยู่ในบ้านเกิดนี้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องดิ้นรน อะไรทำให้พวกเขายังใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ เพราะเขามีบ้านอยู่ มีรถใช้ เดินทางเองได้ หรือเพราะเขาไม่เห็นความพังของระบบทุนนิยม ความแออัดของพนักงานออฟฟิศบนรถไฟฟ้า รถติดแบบกรุงเทพฯ 2-3 ชม. เหรอ ทำไมเราถึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองขนาดนี้
ทำไมบ้านเกิดเราไม่มีขนส่งสาธารณะพื้นฐาน ทำไมทุกบ้านต้องมีรถส่วนตัว เพื่อเดินทาง ทำไมเราไม่มีขนส่งสาธารณะไปกลับบ้านของเรา แม่จะเป็นห่วงเวลากลับบ้านว่า “อย่ากลับบ้านดึกนะ คนแถวนี้อันตราย” ทำไมเราต้องมาหวาดระแวงกับถนนที่ไม่ดี มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแล อีกทั้งชาวบ้านแถวนั้นก็ไม่ตระหนักรู้ มองว่าไม่ใช่ปัญหาและเขายังใช้ชีวิตอยู่ได้
คนต่างจังหวัดบางคนในบ้านเกิดเราสนแค่เรื่องตัวเอง สนใจแค่ปากท้อง เพราะคิดว่าชีวิตที่เป็นอยู่ดีอยู่แล้ว และรัฐมีส่วนบีบให้เขาสนใจแค่นั้นจริง ๆ คุณต้องสนใจตัวเองนะ ไม่งั้นคุณจะไม่มีกิน ถ้าสวัสดิการพื้นฐานรัฐยังให้เขาไม่ได้ เขาก็ต้องทำเอง หาเงินไปวัน ๆ ทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น
อัครพล ทองพูน อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจหักดิบกลับมาอยู่หาดใหญ่ หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นเรื่องความสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะที่จำเป็นต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองหาดใหญ่ เพราะการมีขนส่งสาธารณะทำให้เมืองเป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง เป็นเมืองเดินได้ กระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของคนในเมืองมากขึ้น
เทศบาลนครหาดใหญ่เป็นเมืองที่มีงบประมาณสูงอันดับ 2 ของประเทศ รองจากเทศบาลนครนนทบุรี งบประมาณปีล่าสุดของหาดใหญ่คือ 1,700 ล้านบาท นับเป็นงบประมาณมหาศาลที่สามารถจัดสรรพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้ แต่เมื่อดูรายละเอียดการใช้งบประมาณในปีที่ผ่านมาพบว่า เงินส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับการจ้างบุคลากรในองค์กรสูงถึง 642 ล้านบาท คิดเป็น 38.3% งบดำเนินการ 501 ล้านบาท (29.9%) งบกลาง 282 ล้านบาท (16.8%) และจริงๆแล้ว ในงบดำเนินการและงบกลาง ก็มีค่าตอบแทนบุคลากรซ่อนอยู่อีก สรุปได้ว่า เราใช้เงินไปกับการ “จ้างบุคลากร” เยอะมาก จนสุดท้ายแล้วทำให้เหลืองบลงทุน ที่สามารถนำมาพัฒนาเมืองได้จริงๆเพียง 215 ล้านบาท หรือ 12.8% เท่านั้น
การบริหารงบประมาณดังกล่าวทำให้การพัฒนาด้านอื่น ๆ ของเมืองเกิดขึ้นได้น้อย งบประมาณอุดหนุนด้านการศึกษา การพัฒนานวัตกรรมเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ หรือประชากรที่มีคุณภาพของเมืองให้เกิดการจ้างงานจึงน้อยตามไปด้วย นอกจากนี้พบว่ารายจ่ายแฝงของบุคลากรซึ่งเป็นรายจ่ายประจำจำนวนมากนี้มี ‘บุคลากรผี’ แฝงตัวรับเงินเดือนซ่อนอยู่จำนวนมาก
บุคลากรผี คือลูกจ้างประจำของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่มีชื่อ แต่ไม่เคยปรากฎตัวทำงาน พวกเขาคือคนที่คนวงในรู้กันว่าเป็นคนของนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจท้องถิ่นเลี้ยงไว้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง บ้างเป็นรายชื่อที่มีไว้เพื่อรับเงินเพิ่มของใครบางคนในที่ทำงาน รายจ่ายสำหรับคนเหล่านี้มีที่มาจากภาษีของคนในพื้นที่ที่จ่ายไปเพื่อหวังให้เมืองพัฒนา
หาดใหญ่ไม่พัฒนาส่วนหนึ่งเพราะขาดการรวมกลุ่มของภาคธุรกิจและภาคเอกชน ธุรกิจหาดใหญ่แข่งขันกันแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมหรือกลุ่มธุรกิจกรายย่อยเหมือนเมืองอื่นๆ ทำให้ภาคธุรกิจไม่มีกำลังต่อรองและยากต่อการขับเคลื่อนเมือง เมื่อกลุ่มทุนใหญ่จากต่างถิ่นเข้ามา เช่น ห้าง Central Festival ธุรกิจรายย่อยจึงสู้ไม่ได้ ห้างร้านดังอดีตจึงปิดตัวลงหลายราย เมื่อคนตัวเล็กขาดพลัง เมืองจึงเดินหน้าได้ยาก ในขณะที่เมืองขนาดเล็กกว่าหาดใหญ่อย่างขอนแก่นมีการรวมกลุ่มของนักธุรกิจ ช่วยประคับประคองและพัฒนาเมือง ผลักดันจนเกิดขนส่งสาธารณะคือ ขอนแก่นซิตี้บัส ที่วิ่งไปตามจุดสำคัญของเมือง มีความสะดวกสบาย ติดแอร์ ตรงเวลา ราคาเข้าถึงได้ และกำลังนำร่องไปสู่โครงการรถไฟฟ้ารางเบาต่อ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและปลุกเมืองขึ้นมาได้
การทำธุรกิจแบบตัวใครตัวมัน สนใจผลดีเฉพาะตนช่างขัดนิสัยคนใต้ที่บอกว่ารักพวกพ้อง รักบ้านเกิดอย่างที่คนเมืองนี้พยายามบอกเรา นอกจากนี้คุณอัครพลยังกล่าวเสริมถึงปัจจัยหลักที่ทำใหญ่หาดใหญ่พัฒนาไม่ทันเมืองรอบข้างและล้าหลังเกิดจากการถูกทำให้หยุดชะงัก (Distrup) จากโลกออนไลน์และการเติบโตของเมืองรองรอบ ๆ เมืองหาดใหญ่ จากเดิมตลาดกิมหยงเป็นสถานที่ค้าขายสินค้านำเข้า หรือคนในพื้นที่เรียกสินค้าหนีภาษีราคาถูก แต่เมื่อมีการค้าขายออนไลน์เกิดขึ้น และตลาดไม่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงจึงซบเซาลง อีกทั้งความเจริญของเมืองรองรอบหาดใหญ่ เช่น ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และยะลา ทำให้นักท่องเที่ยวไหลไปที่นั่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึงเงินที่หาดใหญ่เคยได้ก็หายไปเช่นเดียวกัน และคลื่นใหญ่ที่ซัดซ้ำคือโควิด
เมื่อจุดดึงดูดเดิมที่หาดใหญ่ภูมิใจหายไปจนเหลือแต่ซากอารยธรรมที่เรียกว่าโรงแรม สะท้อนให้เห็นว่าเมืองเราพึ่งพานักท่องเที่ยวมากเกินไป เราไม่มีอะไรที่เป็นจุดเด่นของเราจริง ๆ เราไม่มีคนพัฒนา ไม่มีนวัตกรรมอะไรจะเปลี่ยนเมืองได้เลย อัครพลกล่าว
บ้านเกิดแบบไหนที่จะโอบรับคนรุ่นใหม่ได้
เราต้องการเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคนไม่เฉพาะแค่คนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่มีความคิดก้าวหน้า จบการศึกษาเฉพาะด้านจากเมืองอื่นไม่มีงานที่รองรับพวกเขาในเมืองนี้ ใบปริญญาที่พวกเขาจบมา หาดใหญ่ไม่ต้องการ เราไม่มีบริษัทหรืองานที่ต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะทางที่คนรุ่นใหม่เหล่านั้นร่ำเรียนมา เมืองที่ไม่มีงานรองรับ เมืองที่ต้องการเพียงแรงงานทั่วไปจึงผลักคนที่มีศักยภาพออกจากเมือง ทางเลือกที่บังคับให้คนรุ่นใหม่ต้องเลือกจึงมีแค่ 2 ทาง คือเลือกทำงานที่ไม่ตรงสาย รายได้ต่ำกว่าความสามารถที่เขามี เพื่อแลกกับการอยู่บ้าน หรือออกไปจากเมืองนี้ เลือกทำงานที่ตรงสาย รายได้สูงกว่า แต่ตามมาด้วยการแลกกับชีวิตต่างแดนและไกลบ้าน
“ถ้าเมืองไม่สามารถดึงบุคลากรที่มีศักยภาพเหล่านี้กลับมาได้ หาดใหญ่จะเกิดภาวะสมองไหล ทำตามกระแสไปแต่ไม่พัฒนา คนรุ่นใหม่ที่มีไฟที่ไหนจะกลับมาบ้านที่ไม่โอบรับความฝันของเขา” อัครพลกล่าว
คิสตอบคำถามเดียวกันนี้ว่า ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าเขาคาดหวังในพลังความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ คาดหวังว่าเราจะทำอะไรให้เมืองนี้ แต่เมืองนี้ให้อะไรกับเราบ้าง เมืองนี้ให้เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกไหม ก็ไม่ เมืองนี้ให้อนาคตและตัวตนของเราไหม ก็ไม่อีกเช่นกัน แล้วเมืองจะคาดหวังอะไรให้เราตอบแทน
พื้นที่ในเมืองหาดใหญ่มีเยอะ แต่ไม่มีที่ของเราจริง ๆ ก่อนหน้าที่เราจะรวมกลุ่มกัน เรารู้สึกว่าเสียงของเรา เสียงของคนรุ่นใหม่ในเมืองนี้ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราว่าคนที่คิดแบบเรามีเยอะ แต่เขาโดดเดี่ยวคิดอยู่คนเดียว ยิ่งไม่มีพื้นที่ให้เขามันเลยยิ่งยาก จากการทำงานพบว่าไม่ใช่แค่รวมตัวกันของคนที่เกิดในเมืองนี้ แต่คือความหลากหลายที่มารวมกัน
เรายอมรับในความหลากหลาย เราโอบรับให้เขามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รับฟัง และมอบพลังให้พวกเขาเหล่านั้น กลุ่มบ้านเกิดจึงเป็นการรวมตัวตนที่หลากหลายคือสิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมา เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีตัวตนที่หลากหลาย ถ้ามีความหลากหลาย เราเชื่อว่าจะทำให้บ้านเกิดและเมืองของเรามีชีวิตชีวามากขึ้น
งานแรปเป็นงานแรกที่บ้านเกิดจัด เราเปิดพื้นที่ให้น้องคนหนึ่งที่สูญเสียครอบครัวจากสามจังหวัด เหลือตัวคนเดียวในโลกนี้และพลัดหลงมาอยู่ในเมืองหาดใหญ่ ตัวตนและความฝันของเขาถูกกดทับจากโอกาสและเมืองที่ไม่เห็นค่าในความชอบและความฝันของเขา งานวันนั้นเป็นเวทีแรกที่เขาได้แสดงออก เรื่องราวของเขาเชื่อมโยงกับเราและคนในงานที่เติบโตในเมืองนี้ แววตาและคำชมที่เขาได้รับจากงานวันนั้นอาจเป็นกำลังใจให้เขารู้ว่าในเมืองนี้ยังมีพวกเราอยู่ข้าง ๆ
ภาพวาดในหน้ากระดาษของเมืองหาดใหญ่ที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นใหม่เป็นยังไง
ถ้าอยากให้เอาอะไรเข้ามาในเมืองนี้ เราอยากให้มีขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น เราคิดว่าหาดใหญ่เป็นเมืองที่ดีระดับนึง มีศักยภาพที่จะทำให้ขนส่งสาธารณะดีขึ้นได้ เมืองนี้มีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัยดัง ควรจะมีขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้มากกว่านี้ แม้จะมีรถสองแถว แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมขนาดนั้น รัฐจึงควรเข้ามาจัดการ
กระจายอำนาจ ให้คนมีความฝัน มีงานที่รองรับ กระจายอำนาจคือทางออกของความสับสนและเจ็บปวดของคนหนุ่มสาววัยเรา เราคงอธิบายอย่างเป็นหลักการไม่ได้ และใครต่อใครที่มีความรู้คงบอกรัฐไปแล้ว
เราอยากบอกให้คนในบ้านเกิดเรารู้ว่า พวกเราไม่ผิด คุณไม่ผิดที่ตัวตนหล่นหายไปในบ้านนี้เมืองนี้ เราอยากส่งเสียงให้เขารู้ว่าโครงสร้างประเทศนี้ทำลายตัวตนเราไปยังไง บ้านเกิดเราตายลงไปช้า ๆ ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เราคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ควรเข้ามาจัดการสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้เหมือนกันทุกจังหวัด ค่อย ๆ เปลี่ยนก็ได้ไม่ต้องเร็วมาก แต่ขอให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วคนในพื้นที่ก็จะเรียนรู้ถึงคุณค่าของสิทธิและเสียงของตัวเอง รู้ว่าเมืองพัฒนาได้จริงในระบบรัฐที่ดี การจัดหาสวัสดิการพื้นฐานเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องจัดหาให้ดี มีคุณภาพ ไม่ใช่บอกให้ชาวบ้านพยายาม อดทนเอาเอง
อย่ามาบอกให้อดทน ผู้ใหญ่ชอบบอกให้เราอดทน อดทนกับอะไร ทนกับระบบและเมืองพัง ๆ เหรอ