Editorial's pick by #PlayRead แนะนำหนังสือ 10 เล่มเพื่อหัวใจและสมองแข็งแรง - Decode
Reading Time: 4 minutes

Editorial’s pick by #PlayRead
กองบก. De/Code เลือกหนังสือชวนอ่านต้อนรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2564

เช็ต H.E.A.R.T

5 ปกหนังสือ (ใหม่) ปลอบโยนหัวใจที่แตกสลาย.เข้าใจจักรวาลความสัมพันธ์ของเพื่อนรัก คนรัก คนที่ไม่ได้รัก และในฐานะของผู้คนที่ยังมีความหวังไว้ในครอบครอง…เรายังมีสิทธิฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า มาเป็นคนใหม่ที่เข้าใจตัวเอง ผู้คน สังคมครอบครองความรัก มิตรภาพ ความหวังและการสูญเสีย

01 ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

“ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว” หนังสือรวม 13 เรื่องราวของมนุษย์ผู้มีหวังว่าชีวิตที่ฝันจะมาถึงในเร็วนี้ เรื่องราวความลำเค็ญของราษฎรบนถนนราชดำเนินในช่วงโควิด-19 คนขายบริการที่อยู่ร่วมกับสังคมศีลธรรมอันแสนดี นักเรียนยากจนที่ต้องว่ายน้ำให้รอดในสระน้ำแห่งความเหลื่อมล้ำ ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ในแบบฉบับของหนังสือ (ที่แรกคือ The101.world) เล่าเรื่องราวในรูปแบบสารคดี – น่าสนใจ น่าอ่าน มันเป็นงานเขียนที่มีวรรณศิลป์สอดร้อยกับความจริงในสังคม ทำให้เห็นมุมเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนในสังคม แต่ละอาชีพ แต่ละพื้นที่มีระบบและโครงสร้างแบบไหนที่อยู่เหนือตัวพวกเขา ความคิดความฝันถึงวันนั้นของพวกเขาด้วยมันเป็นความหวังแบบไหน “ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว” อาจจะคล้าย ๆ ไม่มีใครที่จะผูกขาดเช่นกันว่าพวกเขาควรเป็น ควรฝัน ควรหวังแบบไหน

หนังสือ: ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
นักเขียน: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
สำนักพิมพ์: SALMON

02 แปดขุนเขา

หนังสือที่พูดถึงมิตรภาพระหว่างเด็กชายสองคนที่ก่อเกิดบนภูเขาแห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ ทั้งคู่เติบโตขึ้นพร้อมกับความผูกพันที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าคนหนึ่งจะไม่เคยจากขุนเขาบ้านเกิดไปไหนเลย ส่วนอีกคนเดินทางท่องโลกด้วยเหตุผลที่เขาตอบคนอื่นว่าปรารถนาจะเห็นยอดเขาสวยๆ ในที่ไกลๆ เดินทางเติบโตไปพร้อมกับร่องรอยความทรงจำในฤดูหนาวที่ฝากไว้กับธารน้ำแข็ง ก่อนถูกแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงในฤดูร้อนละลายความทรงจำ

ระหว่างทางคุณจะได้พบกับชายชราชาวเนปาลคนหนึ่ง ผู้บอกเล่าเรื่องราวของแปดขุนเขาล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ก่อนทิ้งปริศนาไว้ว่า ระหว่างคนที่ท่องไปทั้งแปดขุนเขา กับคนที่ไปถึงยอดเขาพระสุเมรุ ใครได้เรียนรู้มากกว่ากัน

Le otto montagne (แปดขุนเขา) เขียนโดย เปาโล คนเญตติตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2016 ได้รับรางวัล Premio Strega 2017 ของอิตาลี และรางวัล Prix Médicis étranger 2017 ของฝรั่งเศส แปลและตีพิมพ์ใน 39 ประเทศ

Paolo Cognetti (เปาโล คนเญตติ)
เกิดปี 1978 ที่เมืองมิลาน สำหรับนักอ่านวรรณกรรมชาวอิตาลี ชื่อนี้คือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพ
คนเญตติหลงใหลวรรณกรรมอเมริกัน หลงรักนครนิวยอร์กและขุนเขา เป็นนักปีนเขา ทั้งเทือกเขาแอลป์ และหิมาลัย หันเหเส้นทางชีวิตจากนักคณิตศาสตร์สู่การเป็นนักเขียนในวัยยี่สิบต้นๆ ผลงานของเขาได้รับการยกย่องในหมู่นักวิจารณ์ และเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักอ่าน ปัจจุบันใช้ชีวิตสลับไปมาระหว่างในเมืองใหญ่กับกระท่อมบนภูเขาสูงกว่า 2 พันเมตร

หนังสือ: แปดขุนเขา
แปลจากหนังสือ : Le otto montagne
ผู้แต่ง : Paolo Cognetti (เปาโล คนเญตติ)
ผู้แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์ อ่านอิตาลี

03 นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ

ชวนทุกคนมาตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตของเราเองว่า “โบยตีตัวเองจนแหลกเหลว” หรือ “โอบกอดเศษเสี้ยวซากปรักหักพัง” งานเขียนทั้งตัวหนังสือและภาพของ “ฮาวัน” ชาวเกาหลีใต้ ภาพของเขาน่าสนใจเพราะมันจึก เหมือนมีคนมาพูดแทงใจดำ หรืออาจทำให้เราคิดมากกว่าเดิมแรงใจของฉันมีไว้เพื่อใคร เป้าหมายอยู่ที่ไหน ทำไมทำอะไรไปก็ยังไม่ดีพอคนอื่นๆ ก็ตัดสินอยู่เรื่อย ๆ

ความน่าสนใจของเล่มนี้ ไม่ใช่เพียงภาพวาด หรือการเปลี่ยนชีวิตของผู้เขียน แต่นี่อาจกำลังทำให้เรารู้จักโครงสร้างของสังคมเกาหลีมากขึ้น วัฒนธรรม ค่านิยมของคนที่นั่นสร้างและหลอมตัวตนให้ผู้คนเป็นอย่างไร มันอาจทำให้เราเห็นโครงสร้างของสังคมไทยที่มีผลต่อชีวิตเราได้ชัดขึ้น

หนังสือ: นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ
นักเขียน: ฮาวัน (เรื่องเเละภาพ)
นักแปล: ตรองสิริ ทองคำใส
สำนักพิมพ์: Springbooks

04 SUNSET ไม่มีใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์

เพื่อนรัก คนรัก และคนที่ไม่ได้รัก จักรวาลความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ในหนังสือ SUNSET ‘ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์’ หลากหลายเรื่องสั้นถูกจัดวางผ่านบทสนทนาและพัฒนาการทางความรู้สึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนถึงหนึ่งที่เรียกว่า ‘จุดจบของความสัมพันธ์’

“บางทีความรักของเรามันคงหมดลงหรือเปลี่ยนรูปไปจนไม่เหลือสถานะ ‘ความรัก’ มันจบลงและเขาได้พบความรักครั้งใหม่ ก็เพียงเท่านั้น ”

หนังสือที่ผู้เขียน ปอ เปรมสำราญ แทนที่ความเจ็บปวดของการจากลาเป็นความอบอุ่น ด้วยการยอมรับความจริงอย่างเข้าใจ กับทุกความสัมพันธ์ที่เราทำได้เพียงเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แบ่งปันจดจำ ทำความเข้าใจ ยอมรับ และปล่อยผ่าน วัฏจักรความสัมพันธ์ที่เราล้วนเติบโต เบ่งบานและร่วงหล่นเช่นเดียวกันกับพระอาทิตย์ ที่ขึ้น ส่องสว่าง และลับขอบฟ้าไป

หนังสือ: SUNSET ไม่มีใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์
นักเขียน: ปอ เปรมสำราญ
สำนักพิมพ์: P.S.

05 เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจจนิยมและลัดดาแลนด์

“เมื่อโลกซึมเศร้า” ไม่ได้เป็นหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” แต่เป็นหนังสือที่ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ต้องการสร้างความเป็นการเมืองให้กับสุขภาพจิตใหม่ (to re-politicize mental health)โดยมีนัยยะของการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อต้านทุนนิยมอยู่ในนน

ภายใต้โลกสัจนิยมแบบทุน (Capitalist Realism) ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกมีสุขภาพจิตที่แย่ลงเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกาประชากรมากกว่า 20% ใช้ยาทางจิตเวช จนมีคำกล่าวว่าการป่วยทางจิตมีความเป็นอเมริกันยิ่งกว่าโคคาโคล่าหรือธงดาวและริ้ว (ธงชาติสหรัฐฯ)

เมื่อหันมามองสังคมที่เราอยู่ ก็ใกล้จะเป็นสังคมแห่งโรคซึมเศร้าเข้าไปทุกทีเมื่อมีผู้คนรอบข้างที่รู้จักต่างซึมและเศร้ากันมากขึ้น

หนังสือ“เมื่อโลกซึมเศร้า” จึงอยู่ในลิสต์ความน่าจะอ่านของ de/code ที่สนใจการตั้งคำถามต่อ“โรคซึมเศร้า” ใน “โลกทุนนิยม”

การเป็นโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเกี่ยวข้องกับส่วนรวม ?
Mark Fisher นักทฤษฎีวัฒนธรรม บอกว่า ‘เรื่องส่วนตัวไม่เคยใช่เรื่องส่วนตัวจริงๆ (The personal is impersonal) หมายความว่าเรื่องส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องของส่วนรวมด้วย

สุขภาพจิตตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างสิ่งที่อยู่ภายใน/ความเป็นส่วนตัวและสิ่งที่อยู่ภายนอก/ความไม่เป็นส่วนตัว เมื่อมีการปะทะะหว่าง 2 สิ่ง คือเมื่อเรื่อง “ส่วนตัว” ปะทะกับ “เบื้องหลัง” ที่เป็นทุนนิยม หลายคนจึงเกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจได้ง่ายกว่าผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม Mark Fisher เองก็เป็นโรคซึมเศร้าและต่อสู้มาตลอด จนสุดท้ายเขาก็พ่ายแพ้และปลิดชีวิตตัวเองลงในปี 2017

หนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจจนิยมและลัดดาแลนด์
ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม
สำนักพิมพ์: Illuminations Editions



เช็ต HARDER

5 ปกหนังสือ (ใหม่) ฮาร์ดคอร์เจาะลึกถึงแก่นสารทางความคิด อำนาจ ความขัดแย้ง เสรีนิยม และอิทธิพลจีน

06 สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว

เริ่มต้นจากการก่อตัวและเติบโตในขบวนการของ “เยาวรุ่น” (เยาวชน+วัยรุ่น) ตั้งแต่มัธยม ถึง”มหาลัย” ไปจนถึงเฟิร์สจ็อบเบอร์ ลงถนนชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ ชูสัญลักษณ์ที่(เยาวรุ่น)ลืมไม่ได้ (ผู้ใหญ่)จำไม่ลง คือ “โบว์ขาว” แทนความหมายของ “ความหวัง” ในการต่อสู้กับยอดพีระมิดของระบอบ และต้องปะทะกับขั้วสุดของ“คนรุ่นสงครามเย็น

ความไม่ลงรอยของคนสองรุ่นนี้ จึงมีช่องว่างของความไม่เข้าใจกันไม่มากก็มากที่สุด จากสมการทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิม อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พาเราไปทบทวนประวัติศาสตร์ต่อจิ๊กซอว์ เพื่อสร้างความเข้าใจของคนต่างรุ่นในสังคม จากความแตกต่างและแตกร้าวที่เกิดขึ้นในหน่วยย่อยที่สุดคือ ครอบครัว มาถึงวันนี้ยังพอมีทางเชื่อมประสานตราบเท่าที่อยากเห็นสังคมที่ดี อย่างน้อยเล่มนี้ก็อาจจะเหมาะกับพ่อแม่ที่ลูกกำลังโตเป็นวัยรุ่น หรือแม้แต่เรา ๆ ที่สนใจใคร่รู้ ลองเงี่ยหูฟัง “เสียง” กันและกันโดยไม่ตัดสิน

หนังสือ: สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว
นักเขียน: ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
สำนักพิมพ์: มติชน

07 ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธสนความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่

“เสรีภาพโดยรวมจะปลดปล่อยพลัง เพื่อสิ่งที่ดีมากกว่าสิ่งที่เลว” – ฟรีดริช ฮาเย็ก
ข้อความบนปกหลัง ของหนังสือ ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่เชื่อมั่นในพลังของปัจเจกชน สังคมเสรีภาพ ระบบเศรษฐกิจเสรีปูมหลังของเขาเคยหลบหนีการกดขี่ของนาซี บอนไซความศรัทธาและความล้มเหลวที่น่าหดหู่ของสังคมแบบวางแผน ปลุกแนวคิดเสรีภาพคืนชีพ จนกลายเป็นรากฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่เล่มนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจเสรีภาพมากขึ้น เพราะเป็นเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงของสังคมสมัยใหม่ พาเราสำรวจรากฐานของเสรีภาพ วิเคราะห์วัฏจักรขาขึ้น-ตกต่ำทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นความผิดพลาดของลัทธิสังคมนิยมที่อาจพาประเทศลื่นไถลไปสู่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ! ครบเครื่องทางวิชาการ ขณะที่อีกด้านก็กระตุ้นต่อมรับอรรถรสจากวิวาทะทางนโยบายระหว่างฮาเย็ก Vs เคนส์ มวยถูกคู่แห่งศตวรรษที่ 21

หนังสือ:ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่
ผู้เขียน Eamonn Butler (เอมอนน์ บัตเลอร์)
ผู้แปล พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
สำนักพิมพ์ : บุ๊คสเคป
สำนักพิมพ์ต้นฉบับ : Harriman House Ltd.

08 ยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ: การขยายอิทธิพลของจีนใต้สี จิ้นผิง

ล้วงคำตอบว่า อะไรคือ”อาวุธวิเศษ” ของ สี จิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์จีน? จากจีนแผ่นดินใหญ่ถึงนิวซีแลนด์ ข้ามประเทศแกะประเด็นจากกิจกรรมในยุค สี จิ้นผิง อาจทำให้เรามองเห็นศักยภาพในการบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยและสมดุลของระบบการเมืองของรัฐที่ตกเป็นเป้าหมาย

หนังสือ ยุทธศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ: การขยายอิทธิพลของจีนใต้สี จิ้นผิง
ผู้เขียน แอนน์-มารี แบรดี
ผู้แปล เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
บรรณาธิการ รัชกร สมประสงค์
สำนักพิมพ์ สามย่าน

09 บัณฑิต กับ นักบุญ

การจะทำความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในอินเดียปัจจุบันจำเป็นต้องตรวจสอบจุดยืนของมหาตมะ คานธี นักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงเจ้าของวาทกรรม “ต่อต้านโดยสันติวิธี” ในอดีตด้วย

หนังสือ “บัณฑิตกับนักบุญ” โดยอรุณธตี รอย ตรวจสอบการอภิปรายถกเถียงระหว่างมหาตมะคานธี และอัมเบดการ์ นักกฏหมาย – นักปฏิรูปสังคมที่มีทัศนะแตกต่างเรื่องวรรณะในช่วงของการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

แน่นอนว่าบัณฑิตหมายถึงอัมเบดการ์ และนักบุญคือคานธี

“…การจะทำลายระบบวรรณะแล้วรับเอาระบบสังคมตะวันตกแบบยุโรปนั้น หมายความว่าชาวฮินดูจะต้องละทิ้งหลักการที่รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งคือจิตวิญญาณแห่งระบบวรรณะหลักการของบรรพชนนั้นเป็นหลักการอมตะ การเปลี่ยนแปลงคือการสร้างความโกลาหลไร้ระเบียบ…”- คานธี

“ไม่มีระบบสังคมใดที่จะเสื่อมทรามยิ่งไปกว่าระบบวรรณะอีกแล้ว มันคือระบบที่ทำให้ประชาชนง่อยเปลี้ย ด้านชา พิกลพิการจากกิจกรรมอันเป็นประโยชน์”- อัมเบดการ์

De/code เห็นว่าเราอยู่ในสังคมที่กำลังตาสว่างขึ้นเรื่อยๆ เรื่องชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ หนังสือ“บัณฑิตกับนักบุญ” จึงเป็นความน่าอ่านที่เหมาะสมกับช่วงเวลาให้เราได้ตรวจทานตรรกะและจุดยืนทางชนชั้นของสองนักเคลื่อนไหวอินเดียและทั้งกับตัวเราเอง

เรื่องวรรณะที่ไม่ได้ต่างจากเรื่องชาติพันธุ์หรือชายขอบที่เปิดโอกาสให้มีการกดขี่ ข่มเหง กีดกันการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์เท่ากัน

อรุณธตี รอย ผู้เขียนเปิดมายาคติเกี่ยวกับคานธีที่ไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหาวรรณะในระดับรากเหง้าแต่อัมเบดการ์ต่างหากที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชนนอกวรรณะและสมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง

หนังสือ: บัณฑิตกับนักบุญ (The DOCTOR and the SAINT)
ผู้เขียน: อรุณธตี รอย
ผู้แปล: รวิวาร รวิวารสกุล และ ชาวาร์ เกษมสุข
บรรณาธิการ: ดรุณี แซ่ลิ่ว
สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา

10 ฤดูมรณะ (The Fifth Season)

ถ้าคุณเบื่อนิยายขนบที่มีตัวละครแบนๆ แนวฮีโร่เคร่งขรึม ผู้เป็นตัวแทนของความถูกต้องชอบธรรม หรืองานแฟนตาซีทั่วไปที่มักจะพาคุณหนีจากโลกจริงไปยังดินแดนซึ่งปัญหาทุกอย่างจบลงที่ฮีโร่ฆ่าสัตว์ประหลาดได้สำเร็จ De/code ขอแนะนำ “ฤดูมรณะ”(The Fifth Season) เพราะไม่ได้เป็นนิยายในแบบที่คุณเบื่อ

“ฤดูมรณะ” (The Fifth Season) ได้รับรางวัลใหญ่ของโลกไซไฟอย่าง Hugo Award เต็มไปด้วยพลังของเรื่องราวผู้ถูกกดขี่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการเอาตัวรอด ถ่ายทอดผ่านความลึกลับของโลกอันไกลโพ้นเหนือจินตนาการ

ในสังคมที่มีความพยายามจะให้เรื่องอื่นๆ ตัดขาดจากการเมืองนั้น de/code เห็นว่าผู้เขียนนิยายเรื่องนี้น่าสนใจยิ่ง
N.K. Jemisin ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกัน มีอาชีพเป็นนักจิตบำบัดและนักเขียนบล็อกทางการเมือง

งานเขียนของ Jemisin มักจะพูดถึงเรื่องการเมือง เรื่องราวของคนผู้ถูกกดทับ เพศหญิง เชื้อชาติการต่อสู้ ฯลฯ โดยเจมิซินเคยกล่าวว่า “You can’t write a story about people without politics,” (คุณเขียนเรื่องราวของผู้คนโดยปราศจากเรื่องการเมืองไม่ได้) เพราะฉะนั้นผลงานของเจมิซินจึงมีพลังอย่างมาก

ใน “ฤดูมรณะ” (The Fifth Season) คุณจะได้สัมผัสรสชาติใหม่ที่นำโดยตัวละครผู้หญิงซึ่งต่างแข็งแกร่งในแบบของตัวเองและพลังจากผู้ถูกกดขี่ ที่สะท้อนปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ชนชั้น และเพศผ่านโลกที่ Jemisin สร้างขึ้นและพาดำดิ่งลงไปยังโลกที่ถึงคราวอวสาน

หนังสือ: ฤดูมรณะ (The Fifth Season)
ผู้เขียน: N.K. Jemisin
ผู้แปล: มุกดา จันทรศิลา
สำนักพิมพ์: ซอลท์