นักวิชาการปรัชญาและศาสนามอง พระ #เดินทะลุฟ้า ถูกจับสึก เพราะการเมือง ไม่ใช่เหตุผลไร้ต้นสังกัด - Decode
Reading Time: < 1 minute

จากพระแครอท พระปราศรัย พระเดินทะลุฟ้า พระขอบิณฑบาตรนักโทษคดี 112 จนถึงพระถูกจับสึก วันที่วงการพระสงฆ์ถูกห้ามยุ่งการเมือง?

จากกรณีพระสงฆ์ 2 รูปที่ร่วมกิจกรรม #เดินทะลุฟ้า ถูกจับสึกที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามช่วงเช้าวันนี้ คู่ขนานกับการสลายการชุมนุมของ #หมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งหลังจากสึกแล้ว พระทั้ง 2 รูปถูกนำตัวไปยัง ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี รวมกับผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไปเกือบ 70 คน

นราธิป ทองถนอม ได้สัมภาษณ์พระมหาสมชาย ปัญญาภารโน เลขานุการเจ้าคณะแขวงดุสิต ทราบว่าการจับสักครั้งนี้ว่า เจ้าหน้าที่นำพระภิกษุมาตั้งแต่เวลา 06.00 น. และได้ติดต่อต้นสังกัดเพื่อรับรองสถานะ แต่ต้นสังกัดไม่รับรอง พระทั้งสองจึงมีสถานะเป็นพระเร่ร่อนและได้นิมนต์ให้สึก โดยเป็นการสึกโดยความสมัครใจ ไม่มีการกระชาก

“การจับสึกครั้งนี้เป็นที่รู้อยู่แล้วว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง”

ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ De/code อธิบายว่าการจับสึกครั้งนี้พระที่วัดต้องทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของพระ แต่กลับไปร่วมมือกับรัฐ เพราะในแง่หลักประชาธิปไตย พระสงฆ์สามารถไปร่วมชุนมุมที่สงบได้ และไม่ผิดหลักวินัยสงฆ์

“การชุมนุมของหมู่บ้านทะลฟ้าสันติที่สุดในสามโลกแล้ว”

ผศ.สุรพศบอกว่า การจับสึกนั้นพระสงฆ์ต้องก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น ปล้น ฆ่า หรืออาบัติ ปราชิก ซึ่งการสึกครั้งนี้โดยมีเหตุผลต้นสังกัดไม่รับรองมันสะท้อนไปไปถึงกฎหมายของพระสงฆ์ คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่ออกมาเพื่อสร้างอำนาจบางอย่างให้กับมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะ ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย

ออกกฎระเบียบคุมพระ

ย้อนกลับไปในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราจะเห็นภาพพระสงฆ์ที่ร่วมชุมนุมซึ่งถูกเรียกว่า แครอท เห็นภาพพระสงฆ์ร่วมขบวนเดินทะลุฟ้า และภาพพระสงฆ์ขอบิณฑบาตรผู้ถูกคดี 112 จนคนมองว่านี่เป็นการเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ใช่กิจของสงฆ์ และในปี 2563 มส.เองก็ออกมติห้ามพระสงฆ์ยุ่งกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนให้พิจารณาทางพระธรรมวินัย

ผศ.สุรพศมองว่านี่เป็นปัญหาเชิงระบบ และโครงสร้างของวงการสงฆ์ประเทศไทย ยกตัวอย่าง มส.มีมติให้พระเทศนาให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นกัน

“การเทศนาแบบนั้นเป็นการเมืองในเชิงอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม แต่ถ้าเป็นแก๊งค์แครอท หมู่บ้านทะลุฟ้า สนับสนุนประชาชนฝั่งประชาธิปไตยกลายเป็นการกระทำที่ผิด ไม่ใช่หน้าที่ของพระ ซึ่งอันนี้ขัดทั้งหลักการประชาธิปไตย และไม่มีความชอบธรรมทางพระธรรมวินัยมารองรับ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาเชิงระบบของพระสงฆ์ ทำให้ความหมายของการยุ่งการเมืองมันบิดเบี้ยว”

พระเกี่ยวการเมืองได้ไหม

“คล้าย ๆ กับทางโลก ทหารทำรัฐประหาร ไม่ใช่การเมือง การเมืองคือการที่นักการเมืองลงเลือกตั้ง ประชาชนชุมนุมบนท้องถนน แต่ตัวเองทำรัฐประหารไม่ถือเป็นการเมือง เช่นเดียวกับพระสงฆ์ถ้าเทศนาสนับสนุนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จัดกิจกรรมสนับสนุนไม่ถือเป็นการเมือง แต่ความจริงทางรัฐศาสตร์คือการเมืองทั้งสองแบบ แบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยซึ่งอำนาจรัฐให้อำนาจพระสงฆ์ยุ่งการเมืองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย และกำหนดบังคับให้พระต้องทำหน้าที่การเมืองในสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย”

ผศ.สุรพศ บอกว่า กิจของสงฆ์ที่ถูกระบุให้เทศนารักชาติ หรือทำกิจกรรมถวายราชกุศลเป็นกิจกรรมทางการเมืองในช่วงสมัยยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาในปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในยุคคณะราษฎรก็มีการแปลงแปลงระบบสงฆ์อีกครั้งจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งนำระบบพระสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใน ร.5 กลับมาใช้ใหม่

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับประเด็นนี้ De/code พยายามติดต่อผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา เพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้