เมื่อการเว้นระยะห่างทางสังคมกลายเป็นความจำเป็น การเรียนการสอนออนไลน์ จึงได้วนกลับมาอีกครั้งพร้อมกับภาคการศึกษาใหม่ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะยังมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แต่การปรับตัวให้ตามทันนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน หากให้ประเมินประสิทธิภาพการเรียนรู้และคุณภาพการศึกษาในรูปแบบใหม่คงหาข้อมูลจากที่ไหนไปไม่ได้นอกจากผู้เรียนและผู้สอนที่รับผลกระทบโดยตรง
Decode ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับนักศึกษาจาก 2 สาขาวิชาชีพและหนึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันถอดรหัสการเรียนการสอนแบบออนไลน์ว่า แนวทางนี้มีประสิทธิภาพมากเพียงใดในยุคชีวิตวิถีใหม่ โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาพูดถึงภาพรวมของสถานการณ์ในปัจจุบันให้เราได้ฟังเป็นคนแรก
“การศึกษาคือตัวเลขที่ประเมินมูลค่าไม่ได้”
อาจารย์อรรถพลกล่าวว่า เป้าของนโยบายรัฐมุ่งไปที่การคุมสถานการณ์ ไปที่เรื่องการเซฟธุรกิจขนาดใหญ่จนมองไม่เห็นคุณภาพชีวิตของคนหรือคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวไปด้วย รัฐพยายามจะกดตัวเลขให้ลดลงตั้งแต่การระบาดรอบที่แล้ว แต่ถามว่าใครได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เพราะเศรษฐกิจพังหมด ระบบการศึกษารวนหมด การระบาดรอบใหม่หนักกว่ารอบเก่าแต่เราใช้วิธีการเดิม ตลอดเวลา 11 เดือนที่ผ่านมา เมืองไทยไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศและมองหาทางเลือกที่มันหลากหลายมากขึ้น ในขณะที่รัฐก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความกลัวให้กับคน เขาให้เราหันไปสนใจแต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ๆ โดยที่ไม่จริงจังกับการดูแลให้คนรักษาระยะห่าง ระมัดระวังเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน รณรงค์เรื่องการใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ควบคุมราคาสิ่งของจำเป็นพวกนี้ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และที่สำคัญเลยคือไม่เลือกปฏิบัติ โดยจากทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็เกิดจากการบกพร่องจากภาครัฐเอง แต่เวลารับมือสถานการณ์มันผลักภาระมาที่ปัจเจก
“ลึก ๆ ไปเขาไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ในพื้นฐานของการมองเรื่องความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพของคน ถ้าเลือกได้เขาคงอยากจะปิดไปเรื่อย ๆ แต่มันยื้อไม่ได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจมันพังมากขึ้นทุกวัน การมีเงินมาช่วยโครงการอะไรทั้งหลายแหล่งสุดท้ายมันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่มันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ”
เสียงสะท้อนจากผู้เรียน
“จากปัญหาหลาย ๆ อย่างที่พบจากมาตรการเรียนออนไลน์ บางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ไม่เข้าท่าที่ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดแบบปกติได้ แต่โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยต้องย้ายมาเรียนออนไลน์แทน ทั้ง ๆ ที่ภาคการศึกษาก็ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าภาคเศรษฐกิจ”
พลอย นักศึกษาศิลปศาสตร์ชั้นปีที่ 1 จะมาพูดถึงชีวิตน้องใหม่และอุปสรรคในการเรียนออนไลน์จากคนที่บ้านอยู่ห่างจากรั้วมหาวิทยาลัยกว่า 100 กิโลเมตร
พลอยกล่าวว่า เริ่มปีแรกก็เรียนออนไลน์หลายวิชา โดยวิชาที่จะมีปัญหาคือวิชาที่สั่งงานกลุ่มแต่แต่ละคนมีตารางเรียนไม่ตรงกัน บางคนเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านก็หาเวลามาเจอกันได้ยาก ในส่วนกิจกรรมของปีหนึ่งที่เคยจัดทุกปีบางกิจกรรมก็ถูกยกเลิก บางกิจกรรมก็ย้ายไปจัดแบบออนไลน์แทนทำให้มีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่น้อยลง ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยก็น้อยลงไปด้วยหรือแทบไม่มีเลย มหาวิทยาลัยยังได้ออกกำหนดการว่าเรียนออนไลน์ 100% โดยประกาศล่วงหน้าประมาณสองถึงสามอาทิตย์ก่อนเปิดเทอม การประกาศล่วงหน้ามันก็ดีแต่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันเร็วไป อาจจะดีกว่านี้ถ้ามหาวิทยาลัยรอดูสถานการณ์ก่อนเผื่อจะมีโอกาสเรียนแบบผสมได้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาให้สำหรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งตรงนี้คนที่อยากได้ทุนก็ต้องเขียนเรียงความคำร้องต่าง ๆ ให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาเป็นรายบุคคลไป แต่พลอยคิดว่าส่วนมากคนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกันหมด การให้ทุนตรงนี้มันไม่ทั่วถึงเท่ากับการลดค่าเทอม
ในเรื่องของสภาพแวดล้อม บ้านของพลอยอยู่ต่างจังหวัดในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรม บ้านข้าง ๆ ก็จะมีเสียงตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่เสียงจากเครื่องมือทำการเกษตรก็จะเป็นเสียงจากไก่ที่เลี้ยงไว้ นอกจากมลภาวะทางเสียงยังมีสภาพอากาศ เมืองไทยเป็นเมืองร้อน แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปิดแอร์ตลอดเวลาได้เพราะค่าไฟที่จะแพงตามขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้เลย นอกจากนี้ก็มีเรื่องอุปกรณ์การเรียนที่พบว่าเป็นปัญหาเพราะที่บ้านมีสมาชิกที่อยู่ในวัยเรียนทั้งหมดสามคน ช่วงเวลาปกติก็ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนอะไร แต่พอมาเรียนออนไลน์กลายเป็นว่ามันไม่เพียงพอและต้องไปหาอุปกรณ์มาเพิ่มเพื่อที่จะได้เรียนได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของใครหลายคนที่ภาครัฐควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
“ส่วนตัวแล้วเราคิดว่า การเรียนออนไลน์มันไม่ใช่การแก้ปัญหา จะทำแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน มันลดประสิทธิภาพในการเรียนลง การโต้ตอบกับผู้สอนน้อย ความเข้าใจก็น้อยตาม พอประเมินผลก็เลยไม่ได้ประสิทธิภาพไปด้วย ทั้งยังผลักภาระให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็ต้องซื้อ ไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ต้องเติม ไม่มีที่เรียนดี ๆ ก็ต้องไปหา เปลืองไฟอีก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ยิ่งเดือดร้อนมาก ๆ เลย”
เอิงเอย นักศึกษาสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 2 กล่าวเสริมเรื่องอุปกรณ์ พร้อมร่วมเล่าเรื่องราวในมุมมองของนิสิตแพทย์ทางไกล
เอิงเอยอธิบายว่า การเรียนคณะสัตวแพทย์ต้องมีการใช้ห้องปฏิบัติการ เทอมที่แล้วใช้วิธีให้ไปเรียนที่คณะ 1 วันคืออังคารวันเดียวที่เหลือเรียนออนไลน์ นิสิตบางคนบ้านอยู่เหนือสุดใต้สุดประเทศไทยแต่ต้องเสียเงินเช่าหอเพื่อมาเรียนที่คณะวันเดียว แล้วพอไปเรียนที่คณะก็ไม่ได้มีเว้นระยะห่างทางสังคมอะไรเลย ในขณะเดียวกันก็มีการเรียนแบบดูสไลด์ชิ้นเนื้อผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันต้องใช้โปรแกรมนึงแล้วทีนี้นิสิตบางคนก็มีโปรแกรมบางคนไม่มี ทำให้หลายคนเสียโอกาสในการเรียนตรงนี้ไป นอกจากนี้ยังมีแล็บกรอส (ห้องปฏิบัติการที่ใช้ศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์) ซึ่งเป็นแล็บที่ควรต้องดูอวัยวะของจริง แต่เพราะออนไลน์เลยดูได้แค่รูปและเป็นมิติเดียว
การเรียนจากภาพพวกนี้ไม่ช่วยอะไรเลยเพราะเวลาเราวินิจฉัยโรคเราก็ต้องดูจากอวัยวะจริงไม่ใช่รูป เราต้องดูถึงความแข็งตัวของอวัยวะ ความเหนียว เนื้อเละไหม ต้องจินตนาการเอาเองว่าถ้าอาจารย์บอกอันนี้ stiff ก็ต้องคิดเอาเองว่าจิ้มแล้วจะแข็ง แต่แข็งแบบไหน นิสิตก็ไม่รู้เพราะไม่ได้จับอวัยวะจริง
“เรียนแล็บแบบไม่ทำแล็บจริง มันไม่เกิดการเรียนรู้เลย ของแบบนี้จินตนาการมันไม่พอจริง ๆ ถ้าเรียนจบไปแบบไม่ได้ทำแล็บ ก็นึกไม่ออกว่าจะเป็นหมอได้ยังไง”
เอิงเอยเสนอว่าแล็บควรต้องได้เรียนแบบลงมือปฏิบัติแล้วก็แบ่งเรียนไป ทำทีนึงไม่เกินกี่คนต่อห้อง ทยอย ๆ กันมา กำหนดวันไปเลยก็ได้ว่ากลุ่มนี้ สมมติ 10 คน ให้ทำทั้งวันของทั้งเทอมเลยก็ได้ หรือครึ่งเทอมอะไรประมาณนี้
ติ๊ด ติ๊ด Breaking News
ในขณะที่ทาง Decode กำลังเรียบเรียงข้อมูลจากสองนักศึกษาอยู่นั้น มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้มีการออกประกาศใหม่แกะกล่องว่าด้วยมาตรการและคำแนะนำการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เรามาดูกันว่าเสียงตอบรับจากนักศึกษาทั้งสองคนของเราเป็นอย่างไรกันบ้างหลังจากที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้จากทางมหาวิทยาลัย
เอิงเอย: คิดว่ามหาวิทยาลัยยังจัดการไม่ค่อยดี จู่ ๆ มาบอกจะเปิดเรียนแล้วทั้งที่ประกาศเก่ายังไม่ครบ 1 เดือน ซึ่งต้นเทอมแจ้งว่าจะออนไลน์ 100% กลายเป็นว่าไม่มีเวลาเตรียมตัวเลย มหาวิทยาลัยต้องไม่ลืมว่าบ้านทุกคนไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ และควรมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนที่ไม่มีที่พัก การที่ลงท้ายประกาศมาว่าแล้วแต่ดุลยพินิจของคณะอีกทีมันเป็นความล่าช้าอย่างหนึ่งที่ต้องรอคณะไปคิดอีก แต่ส่วนคณะเรารอบนี้จัดการโอเคค่ะ รีบประชุมสรุปกันไวอยู่ แล้วก็มีขอรับความเห็นนิสิตก่อนประชุมด้วย มาตรการที่ออกมาถือว่าดีพอสมควร คือให้เรียนออนไลน์ไปจนมิดเทอมจบ สอบออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นค่อยเข้าคณะมาทำแล็บอย่างเดียว
พลอย: ประกาศจากมหาวิทยาลัยเหมือนมียันต์กันไว้อยู่ ถ้าจะเรียนออนไลน์ก็อยู่บ้านไปไม่ได้บังคับ แต่ถ้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอาจารย์ก็ต้องอัดคลิปไว้ให้สำหรับคนที่เรียนทางไกลด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคณะอีก ถ้าถามว่าอะไรที่คิดว่าไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อเด็กมากที่สุดก็เป็นการกลับคำประกาศจากตอนแรกที่บอกว่าเรียนออนไลน์ล้วน ตอนนี้นักศึกษาหลายคนคืนหอกันเยอะมาก บางคนเสียค่าประกันห้องไปเลย ซึ่งตรงนี้ทางมหาวิทยาลัยไม่มีมาตรการอะไรมารองรับ
สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะจากผู้เรียน
เอิงเอย: ถ้าจะดีเราว่าทางมหาวิทยาลัยควรต้องคอยสอบถามนิสิตให้ว่าต้องการอะไร ควรจะถามทั้งผู้สอนและผู้เรียนเลยว่า platform ไหนดีสุด วิธีสอบควรเป็นอย่างไร ควรมีประชุมร่วมกันไปเลยให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้วค่อยจัดการสอนจริง ถ้าแก้ที่ต้นตอเรามองว่าแก้ที่รัฐบาล รัฐบาลไม่ออกนโยบาย มาตรการอะไรมาเลยที่เป็นชิ้นเป็นอัน มันเดือดร้อนทั้งอาจารย์ นิสิต บุคลากรทางการศึกษาที่ต้องวุ่นวายหาวิธีมารองรับการสอน
พลอย: ในส่วนข้อเสนอแนะของมหาวิทยาลัยเราได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าให้ทางมหาวิทยาลัยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการลดค่าเทอม ในส่วนของภาครัฐเราคิดว่าหน้าที่ของภาครัฐไม่ใช่แค่ออกมาตรการอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ เพิ่มงบประมาณเพื่อช่วยจัดสรรอุปกรณ์ให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์โดยผ่านทางโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้การสรรหาอุปกรณ์เป็นภาระตกอยู่ที่ผู้สอนหรือผู้เรียนเพียงอย่างเดียว
หลังจากที่เราได้ฟังเสียงของนักศึกษากันไปแล้ว Decode จึงกลับมาพูดคุยกับอาจารย์อรรถพลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาและร่วมตอบข้อสงสัยในใจหลาย ๆ คนที่มีต่อการเรียนรูปแบบทางไกลนี้
ทุกการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยคือโดมิโน
มหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวจากสังคม มหาวิทยาลัยอยู่ท่ามกลางชุมชนรายล้อม การที่มีหอพัก มีแม่ค้าที่ขายของรอบหอพัก แม่ค้าโรงอาหาร พอวันหนึ่งนักศึกษาไม่อยู่มันกระทบทั้งหมด บางทีพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่เช่าของมหาวิทยาลัย การที่มหาวิทยาลัยบอกว่า ฉันใจเด็ดมาก ฉันจะปิด โดยที่ไม่ได้สนใจธุรกิจรายย่อยมันทำให้ระบบทั้งหมดพัง โดยแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีวิธีการขบคิดเรื่องนี้เข้มข้นต่างกันไปแล้วแต่ความคิดของผู้บริหาร
“มันน่าตกใจเพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ของผู้บริหาร แต่มหาวิทยาลัยคือประชาคม มันคือเด็กนักศึกษา คือคณาจารย์ คือบุคลากร คือคนที่เกี่ยวข้อง”
ตอนนี้คนในระดับปฏิบัติการต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วมหาวิทยาลัยต้องให้ความช่วยเหลือ อย่างเช่นวิชาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการต้องทำยังไง อาจจะเป็นแค่ 7 วันที่มาอยู่หอในมหาวิทยาลัยเฉพาะบางโซนที่กั้นให้เขาโดยเฉพาะไปเลย โดยแต่ละคณะและมหาวิทยาลัยต้องตัดสินใจเองจะรอแค่คำสั่งส่วนกลางไม่ได้ ซึ่งในตรงนี้ถ้ามันเกิดขึ้นเทอมแรกเรายังพอเข้าใจถ้าเขาไม่พร้อม แต่นี่เป็นเทอมที่ 3 แล้วแสดงว่า ผู้บริหารไม่มีการมองเรื่องพวกนี้อย่างละเอียดรอไว้เลย
เรื่องของอุปกรณ์มหาวิทยาลัยอาจจะมีการช่วยบ้าง เช่น มีส่วนลดในการซื้อไอแพด การเช่ายืมอุปกรณ์ ส่วนเรื่องค่าเทอมที่จ่ายไปครูก็เห็นด้วยกับนักศึกษาหลาย ๆ คนว่าลด 10% เนี่ยมันแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันต้องคิดทบทวนเยอะ ๆ บางที่อาจจะให้เป็นทุนแต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องมาวิ่งสมัครทุนทั้งที่เขาก็อยู่ต่างจังหวัดอยู่ มันน่าจะคิดได้หลายมุมกว่านี้ มหาวิทยาลัยน่าจะฟังเสียงของนักศึกษาให้มากกว่าเดิม ตอนนี้มันกลายเป็นว่า นโยบายออกมาก่อนแล้วค่อยมีแบบสำรวจความคิดเห็นไปโต้กับนโยบายทีหลัง มันทำให้การตัดสินใจเลยจุดที่ต้องใช้ความรอบคอบไปแล้ว แต่เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแทน
“เราต้องเปลี่ยนความคิด เราต้องไม่มองคุณภาพการศึกษาและสุขภาวะที่ดี (Well-being) ออกจากกัน”
ครูดูแลเด็กมาทั้งปี นิสิตในความดูแลครูอย่างน้อย 3 คนเป็นโรคซึมเศร้า คนที่ต้องฝึกงานเขาก็ไม่ไหว เขาเครียดเพราะเขาต้องปรับตัว ส่วนคนที่เรียนอยู่ก็มีอาการชัดเจนว่าไม่ไหวแล้ว มันจัดการความเครียดไม่ได้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนนะ มันมีเรื่องของที่บ้านด้วย เขาเองต้องเรียนออนไลน์ พ่อแม่ก็ต้องกลุ้มใจเรื่องเงิน มันมีความเครียดร่วมกับสังคมอยู่ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อเด็ก ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่การที่มหาวิทยาลัยบอกว่าเรามีสายด่วนแล้วแล้วจบ (ขำ) ทั้งหมดนี้เป็นการคิดที่ปลายทางแต่ไม่ได้คิดว่าการตัดสินใจของตัวเองจะไปกระทบใครบ้างแล้วมันมีตัวเลือกที่ดีกว่านี้หรือเปล่า
อาจารย์เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องการการสนับสนุนมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ชำนาญเรื่องการสอนแบบนี้อยู่แล้ว มันจะต้องมีการร่วมกันพัฒนาวิธีคิดในการออกแบบการสอนใหม่ เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้งแล้วเอาภาระงานเป็นเท่านี้ชิ้นได้ไหม มีส่วนไหนที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้เลย การคุยผ่านช่องทางออนไลน์อาจเป็น 2 อาทิตย์ครั้งแล้วค่อยเวียนกัน ใครพร้อมจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยก็สามารถมาได้ แต่ถ้าใครไม่สะดวกก็เจอกันแบบทางไกลเอา เป็นการเรียนแบบ Remote Learning ที่ผสมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งสิ่งนี้ต้องได้รับการจัดแจงโดยครูอาจารย์ เขาต้องมีไอเดียเรื่องการออกแบบ เราเรียกว่า Redesigning Pedagogy กันใหม่ เพื่อให้มันสนับสนุนการเรียนแบบทางไกลมากขึ้น
อยู่กันต่อจึงต้องมองการณ์ไกล
จากนี้ไปเราต้องจูนกันใหม่ อาจารย์ต้องมองว่า เรากำลังเตรียมบัณฑิต เรากำลังสอนผู้ใหญ่ เราไม่ได้สอนเด็กเล็ก ในแต่ละวิชามีเพดานมากน้อยไม่เหมือนกัน บางวิชามันเอื้อให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะ เช่น ทำเป็นโปรเจคก็ได้ หรือค้นเป็นเรื่อง ๆ แล้วมาแลกเปลี่ยนเป็นเรื่อง ๆ ก็ได้ ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยเตรียมเด็กให้เขาเข้มแข็งขึ้นในการที่เขาจะเรียนทางไกลและสามารถกำกับตัวเองในการเรียนได้ แต่นั่นแปลว่าเขาต้องเห็นคุณค่าของวิชานั้น ๆ ก่อน วิชานี้เป้าหมายคืออะไร แล้วผลลัพธ์ที่จะได้จากการเรียนคืออะไร อะไรคือสิ่งที่อาจารย์จะเตรียมนู่นเตรียมนี่ให้ อะไรที่ผู้เรียนต้องเป็นตัวหลักในการเรียนด้วยตัวเอง ต้องค้น ต้องอ่าน แล้วต้องเตรียมตัวเองมาเจอครูนะ เราต้องฟูมฟักสิ่งที่เรียกว่า Self-Reputation หรือการกำกับตัวเองให้กับผู้เรียน
ในวันนี้เราได้เข้าสู่ช่วงผ่อนคลายมาตรการจากไฟเขียวของภาครัฐและมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อย และแม้ว่าการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัดจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง แต่ปัญหาจากการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่ทุกคนยังคงปรับตัวกันอยู่นั้นไม่ใช่แค่โจทย์ระยะสั้นที่จะสามารถหาคำตอบได้ในวันนี้แล้วขีดเส้นใต้จบเพียงเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่เราทุกคนต้องช่วยกันปรับ เปลี่ยน และเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพในการศึกษาให้แก่เยาวชนทุกคนต่อไป
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เพราะระบบการศึกษาไทยบังคับให้ฉันต้อง(ห)ลอก
เปิดเทอมใหม่กู้เงินว้าวุ่น ขอแค่ได้เรียนความฝันอันสูงสุดของนศ.รุ่นโควิด-19